บ้านใหม่ล้านนา พาอนุชา ร่วมงานสืบชะตาหมู่บ้าน ประกาศเจตนารมณ์ปฏิรูปที่ดิน ผลักดันโฉนดชุมชน

เรื่อง: พชร คำชำนาญ

ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

เมื่อวันนี้ (21 ธันวาคม 2565) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือรายงานว่า บ้านใหม่ล้านนา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมสืบชะตา 25 ปีแห่งการต่อสู้สิทธิในที่ดิน ประกาศเจตนารมณ์ปฏิรูปที่ดิน ผลักดันแนวทางจัดการทรัพยากรแบบ ‘โฉนดชุมชน’ ด้าน รมต. สำนักนายกรัฐมนตรีย้ำ ร่วมหารือ ‘พีมูฟ’ ศึกษาพื้นที่รูปธรรมสู่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

21 ธ.ค. 2565 ชุมชนบ้านใหม่ล้านนา ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เครือข่ายวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “สืบชะตาชุมชนบ้านใหม่ล้านนา: 25 ปี แห่งการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ชุมชนบ้านใหม่ล้านนา หมู่ที่ 14 ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมี อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในนามรองประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ร่วมมอบนโยบาย เยี่ยมชมพื้นที่รูปธรรมโฉนดชุมชน และเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดการที่ดิน ทรัพยากร และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบ้านใหม่ล้านนาอย่างยั่งยืน

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ สู่ คทช. ที่ไม่ตอบโจทย์

คำใส ปัญญามี แกนนำชาวบ้านใหม่ล้านนา เล่าว่า บ้านใหม่ล้านนาเดิมทีคือบ้านพรสวรรค์ มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนตั้งแต่ปี 2527 จนในปี 2539 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านที่เป็นผู้ทำกินอยู่เดิมและส่งฟ้องศาล จนศาลชั้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2541 ให้จำเลยมีความผิดในข้อหาบุกรุกและมีคำสั่งบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและศาลฎีกามีคำพิพากษามาถึงชาวบ้านจำนวน 47 ราย เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2556 เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ให้จำเลย 47 รายกับพวกทั้งหมดออกจากพื้นที่ โดยชุมชนบ้านใหม่พรสวรรค์ ได้ขออยู่ที่ดินเดิมไปก่อนหรือให้มีการคุ้มครองชั่วคราวจนกว่ารัฐจะจัดหาที่ดินแหล่งใหม่ให้

“พอโดนบังคับคดี เราก็ร่วมกับเครือข่าย เรียกร้องให้รัฐบาลจัดที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน พอสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีแนวทางให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  (คทช.) ดำเนินการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยใหม่หรือบ้านใหม่ล้านนา ให้ชุมชนจำนวน 63 ไร่ ซึ่งห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 2 ก.ม. โดยชุมชนได้ดำเนินการโยกย้ายมายังพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาอยู่ทั้งเรื่องการพัฒนาถนน และพื้นที่ทำกิน สร้างความมั่นคงทางอาหารอีก 17 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ยังไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้” คำใสกล่าว

กัญญารัตน์ ตุ้มปามา ชาวบ้านใหม่ล้านนา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า กว่าจะเป็นบ้านใหม่ล้านนาในวันนี้ ชาวบ้านต้องถูกดำเนินคดี ถูกกดดันทั้งทางด้านจิตใจและถูกกระทำด้านที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาสู้กว่าจะมีวันนี้ ในวันนี้ชุมชนอยากได้ทั้งความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และอาชีพที่ รายได้ ซึ่งชุมชนยืนยันว่าต้องการผลักดันการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เพราะตอนนี้แม้จะได้รับการจัดการสรรที่ดินหลังถูกบังคับคดีจากพื้นที่เก่า โดยใช้นโยบายรัฐบาล คือ การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (คทช.) แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ทุกอย่าง เพราะตนไม่รู้เลยว่ารุ่นลูกหลานต่อไปข้างหน้า นโยบายของรัฐบาลจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน เพราะนโยบาย คทช. สิทธิในที่ดินไม่ได้อยู่ที่ชุมชน แต่อยู่ที่หน่วยงานรัฐ

ตัวแทนชาวบ้านใหม่ล้านนายังกล่าวต่อว่า การจัดการที่ดินผืนนี้ต้องขออนุญาตรัฐทุกครั้ง ต้องทำโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติถึงจะได้ ไม่ใช่ว่าเราไปขอท้องถิ่นแล้วได้รับการพัฒนาพื้นที่ พื้นที่นี้อาจจะโชคดีที่มีท้องถิ่นสนับสนุน แต่ก็มีอีกหลาย ๆ พื้นที่ที่ท้องถิ่นไม่ได้เอื้ออำนวยด้วย ซึ่งหมายความว่าเขาอาจจะไม่สามารถพัฒนาอะไรในที่ดินของตัวเองได้เลย 

“ต่อไปภายหน้า ถ้ายังเป็น คทช. ไปอีก รุ่นลูกหลานจะอยู่อย่างไร ถ้าเรามีการพัฒนาของเราอย่างมั่นคงทุกด้าน ทั้งสิทธิในที่ดินทำกินอย่างแท้จริง และมีอาชีพที่มั่นคง ลูกหลานก็สามารถยืนหยัดแล้วกลับมาทำกินในที่ดินตัวเองได้ เขาก็จะหวงแหนที่ดินของเขา เขาไม่ต้องออกไปสร้างงานข้างนอก แล้วคิดว่าออกไปแล้วก็จะไม่กลับมา ถ้าสิทธิในการจัดการยังเป็นตามนโยบายของรัฐในแบบที่ไม่คืนสิทธิชาวบ้านอย่างแท้จริง เราก็ไม่รู้ว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า ใหม่ล้านนาจะเป็นอย่างไร” กัญญารัตน์กล่าว 

‘อนุชา’ มอบนโยบาย โฉนดชุมชน-บ้านมั่นคง-คุณภาพชีวิต

ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในนามรองประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ได้รับมอบหมายจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ได้กล่าวมอบนโยบายในด้านการผลักดันโฉนดชุมชน การมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านใหม่ล้านนาที่ควรจะเป็นต่อไปในอนาคต โดยปัจจุบันพีมูฟได้เคลื่อนไหวผลักดันการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน ซึ่งมีสถานะเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 และขณะนี้ได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 ก.พ. 2565 รองรับ ให้มีการนำแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน บรรจุในพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในมาตรา 10 (4)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาแนวทางของโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องมีการวิเคราะห์ ศึกษาสถานะพื้นที่ของชุมชนต่าง ๆ ซึ่งคณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินให้ชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ร่วมกับพีมูฟ เพื่อให้มีการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ


“การจัดการโฉนดชุมชนภายใต้ คทช. ให้มีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ตามพื้นฐานในการมีที่อยู่อาศัยที่ทำกินของประชาชน ทุกคนบนผืนดินไทยนั้นถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ ถ้าบุคคลไหนไร้ที่ดินทำกินนั้นถือว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิต ในวันนี้ 25 ปีของการแก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านใหม่ล้านนา ที่เป็นชุมชนดั้งเดิม ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เป็นรูปธรรมที่ดินให้กับชุมชนอื่นๆ มีชีวิตที่มั่นคงสู่ลูกหลานบนผืนดินเหล่านี้ ประชาชนทุกคนบนผืนดินไทยมีสิทธิที่ควรมีคือสิทธิในการปกป้องที่ดินที่เป็นสมบัติชาติ โดยเกษตรกรเป็นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” อนุชากล่าว 

หลังจากนั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ร่วมเป็นสักขาพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบ้านใหม่ล้านนา โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงใหม่, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และชุมชนบ้านใหม่ล้านนา ร่วมลงนาม มีเนื้อหาความร่วมมือทั้งด้านการยกระดับการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการไฟป่า หมอกควัน

ใหม่ล้านนาแถลง 25 ปี บนเส้นทางการต่อสู้จาก “บ้านพรสวรรค์” ถึง “บ้านใหม่ล้านนา”

ก่อนจบกิจกรรม ชาวบ้านใหม่ล้านนาได้อ่านแถลงการณ์ 25 ปีบนเส้นทางการต่อสู้ โดยระบุว่า ผ่านมาเกินกว่าสองทศวรรษ ที่พวกเราได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อดำรงสิทธิในผืนดินถิ่นอาศัยที่เคยได้ร่วมกันบุกเบิกก่นสร้างความเป็นชุมชน มุ่งหวังก่อรากฐานให้ชีวิตเฉกเช่นมนุษย์ทุกชนชั้น


จากหยาดเหงื่อแรงงานของเราบนผืนดินที่ก่อเกิดเป็น “บ้านพรวรรค์” คือประวัติศาสตร์ของประชาชนที่ได้ร่วมกันส่งเสียงไปยังชนชั้นผู้ปกครองในนามรัฐราชการไทย ที่ใช้กฎหมายด้านป่าไม้พรากสิทธิในที่ดินของพวกเรา ข่มเหงศักดิ์ศรีความเป็นคนด้วยคดีความอันไร้มนุษยธรรม และที่แห่งนั้นเองคือการเริ่มต้นหมุดหมายสำคัญของขบวนการต่อสู้ของพวกเราและผองเพื่อนร่วมเครือข่ายทั่วประเทศในฐานะประชาชนผู้มุ่งหวังปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไทย

ตลอดเส้นทางการต่อสู้จากรัฐบาลหนึ่งสู่อีกทุกรัฐบาล เราเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ ผู้ทรงอิทธิพลน้อยใหญ่ แบกรับคดีความ คุกตาราง ถูกติดป้ายว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินรัฐ ถูกตัดสิทธิบริการขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ เพื่อนและคนในครอบครัวหลายชีวิตจากไประหว่างเส้นทางการต่อสู้ แต่เรายังคงเติบโตหล่อเลี้ยงพลังเพื่อบรรลุเป้าหมาย บากบั่นสร้างรูปธรรมความมั่นคงในที่ดินโดยประชาชนผู้ก่นสร้างและหว่านไถในอุดมการณ์แห่งที่ดินคือชีวิต หาใช่สินค้าให้นักสะสมกำไร และเราได้ร่วมกันผลักดันสร้างระบบจัดการที่ดินอันเป็นความสัมพันธ์หน้าหมู่ เป็นอำนาจส่วนรวมให้ปรากฏต่อสังคมไทยในนามของ “โฉนดชุมชน”

วันนี้ พวกเราเดินทางมาถึงอีกหลักชัยความสำเร็จที่กำลังจารึกบนผืนดินผืนใหม่จากดอกผลแห่งหยาดเหงื่อ จิตวิญญาณของพวกเราในนามของ “บ้านใหม่ล้านนา” อันจะเป็นดั่งชีวิตใหม่ของพวกเรา ชีวิตใหม่ของลูกหลานคนรุ่นต่อไปที่จะยังคงสืบสานประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อยืนหยัดสิทธิอันชอบธรรมในที่ดินถิ่นอาศัย ดำรงศักดิ์ศรีของประชาชนผู้ไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมภายใต้อำนาจกดขี่ และวันนี้เราขอประกาศฝังหลักเสาอุดมการณ์สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมขับเคลื่อนเพื่อความเป็นธรรมให้แผ่ขยายไปยังผู้คนอีกนับล้านในสังคมไทยต่อไป

ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง