เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
Summary
- แม่ฮ่องสอนถูกจัดอันดับเป็นจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรังมากที่สุดในปี 2565 และเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดอันดับต้นๆ กว่า 19 ปี
- รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ 15,496 บาทต่อเดือน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 12,816 บาทต่อเดือน
- ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ระบุว่าคนในแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญกับความจนทั้งในด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ การศึกษา และรายได้
- ความยากจนของคนแม่ฮ่องสอนมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สูง ทำให้ยากต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือถนน รวมถึงปัญหาการศึกษาและปัญหาที่ดินทำกินที่สะสมมาเป็นเวลานาน
- การประกาศพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 84.65 ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในจังหวัดและการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ
- การแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนควรเริ่มต้นด้วย 1) ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร 2) ซ่อมแซมถนนที่ชำรุดและก่อสร้างถนนเพิ่มเติม เพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัด และ 3) ยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านข้ามแดนถาวร เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นเมืองชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
“ทุเรียน ผลไม้ที่มีราคาแพงไปปลูกในจังหวัดที่ยากจน มันแบบ…มันโครตน่าแย่งชิงเลยอ่ะ”1
ข้อความข้างต้นนี้มาจากบทสัมภาษณ์ของ นฤเบศ กูโน ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องวิมานหนาม ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาและได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงบวกอย่างท่วมท้น ฉากชีวิตเรื่องราวของทั้งหมดถูกเล่าว่าเกิดขึ้นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน หนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย ฉะนั้นเรื่องราวของวิมานนามจึงไม่ใช่เพียงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครอบครองสวนทุเรียนของสองตัวละคร แต่ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างคนสองคนเพื่อแย่งชิงสรวงสวรรค์ในดินแดนแห่งความจนนี้ด้วยเช่นกัน
คำถามที่เราอาจต้องถามต่อจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับและเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในวิมานหนาม คือ แม่ฮ่องสอนเป็นดินแดนแห่งความยากจนตามที่ว่าหรือไม่? และหากเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดคนแม่ฮ่องสอนถึงตกอยู่ใต้เงาแห่งความจน? ผมอยากเริ่มต้นจากคำถามแรกเสียก่อน จากนั้นผมอยากจะลองพาผู้อ่านไปสำรวจคำถามที่สอง เพื่อหวังว่าเราจะพอได้คำตอบของคำถามที่ผมได้ตั้งทิ้งไว้ตั้งแต่ชมภาพยนตร์จบ
วิมานจน
แม้จะเคยถูกจัดอันดับให้เป็นจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทย แต่ชาวแม่ฮ่องสอนกลับต้องอยู่ในวังวนของความจนในวิมานความสุขแห่งนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดอันดับให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรังมากที่สุดในประเทศเมื่อปี 25652 และเป็นจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศมาต่อเนื่องกว่า 19 ปี
รายงานจากการประเมินของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอนระบุว่าศักยภาพการสร้างรายได้ต่อหัว (GPP per capita) ของคนแม่ฮ่องสอนก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับจังหวัดรอบข้าง โดยอยู่ที่ประมาณ 65,650 บาทต่อหัว3 เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดรอบข้างอย่างจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 135,991 บาท หรือกว่า 2 เท่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่จังหวัดตากมีมูลค่า 99,026 บาทต่อหัว ซึ่งก็ยังสูงกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ขณะที่มูลค่าผลผลิตมวลรวม (GDP) ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ประมาณ 15,797.48 ล้านบาท โดยมูลค่าส่วนใหญ่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาจากสินค้าเกษตรทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ในปี 2565 ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงกว่า 2 แสนตัน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม4 และหากเป็นข้าวโพดที่มีความชื้นเกิน 30% หรือขายเป็นฝักข้าวโพดสดราคาจะลดลงเหลือประมาณ 8-9 บาทต่อกิโล ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าเกษตรที่ราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น
ในส่วนของรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะอยู่ที่ 15,496 บาทต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนจะอยู่ที่ 12,816 บาทต่อเดือน และมีหนี้สินเฉลี่ย 123,698 บาทต่อครัวเรือน5 หากสมมติเอาว่าครอบครัวหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีรายได้และรายจ่ายต่อเดือนเท่ากับค่าเฉลี่ยของแม่ฮ่องสอน นั่นหมายความว่าครอบครัวนี้จะต้องใช้เวลากว่า 3 ปี 8 เดือนเพื่อจะปลดหนี้สิ้น โดยมีเงื่อนไขว่าครอบครัวนี้ต้องใช้จ่ายไม่เกินค่าเฉลี่ยของรายจ่ายของค่าเฉลี่ยจังหวัด ต้องไม่ก่อหนี้สิ้นเพิ่มเติมอีกเลย และห้ามออมเงินเลยแม้แต่บาทเดียว หากครอบครัวนี้หวังจะปลดหนี้ให้หมดภายในเวลาไม่เกิน 4 ปี
“พี่คงไม่กลับไปอยู่ที่บ้านแล้วแหละ พ่อแม่ก็เสียไปตั้งนานแล้ว พี่ไม่เหลือเหตุผลที่ต้องกลับไปแม่ฮ่องสอนอีกแล้ว ลูกพี่ก็เรียนที่นี่ (กาญจบุรี) จะให้พาเข้ากลับขี่รถข้ามดอยเพื่อไปโรงเรียนมันก็คงไม่ใช่เรื่อง”
ข้อความข้างบนนี้คือ คำตอบของพี่เนย (นามสมมติ) ที่กล่าวขึ้นหลังจากผมถามว่าคิดจะกลับไปอยู่ “บ้าน” หรือไม่ พี่เนยแต่เดิมเป็นคนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อำเภอสบเมย และพบรักกับสามีที่ทำงานอยู่ที่จังหวัดตาก หลังจากแต่งงานพี่เนยและสามีก็ย้ายมาลงหลักปักฐานกันที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งสองช่วยกันดูแลธุรกิจก่อสร้างที่สามีก่อตั้งขึ้น ก่อนจะมีลูกสาวตัวน้อยที่กำลังเรียนมัธยมต้นอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ตอนนี้จังหวัดกาญจนบุรีได้กลายเป็น “บ้านใหม่” ของพี่เนยไปแล้ว
แต่สำหรับบ้าน “วิมานหลังเก่า” ที่แม่ฮ่องสอน พี่เนยยังคงผูกพันธ์และมีญาติพี่น้องบางส่วนอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียงและอำเภอสบเมย เธอยังคงเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องอยู่บ่อยๆ แม้จะต้องทนนั่งรถนานกว่า 12 ชั่วโมงในการเดินทางแต่ละครั้ง
พี่เนยเล่าให้ฟังถึงชีวิตที่บ้านเก่าอย่างแม่สะเรียงว่า แต่เดิมแล้วที่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวนาปีอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง พี่เนยต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ของพ่อผ่านดอยแม่สะเรียงเพื่อไปโรงเรียน ก่อนจะเล่าต่อพี่เนยแวะแสดงกริยาส่ายหัวเบาๆ พร้อมกับพูดว่า
“ชีวิตพี่ตอนอยู่แม่สะเรียงมันไม่มีอะไรใกล้เคียงคำว่าสบายเลย”
ชีวิตวัยเด็กสำหรับพี่เนยไม่ใช่ความทรงจำที่หอมหวานเหมือนละครที่ฉายภาพชนบทอันแสนสุขแต่อย่างใด พี่เนยไม่เคยเห็นแสงไฟจากหลอดไฟเลยจนกระทั่งย้ายมาอยู่อำเภอสบเมย พี่เนยอาศัยเปลวตะเกียงน้ำมันก๊าซเป็นแสงสว่างในยามค่ำคืนและแสงนั่นจะดับลงในเวลาเพียงไม่นานหลังจากจุด เนื่องจากราคาน้ำมันก๊าดในช่วงเวลานั้นค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของครอบครัวพี่เนย ที่เธอระบุว่าอยู่ในระดับ “จน”
วิมานของพี่เนยในวัยเด็กเป็นบ้านขนาดเล็ก หลังคามุงด้วยสังกะสี และผนังทำมาจากไม้ บ้านถูกล้อมไปด้วยนาที่เป็นทั้งสนามเด็กเล่นและที่ทำงานของเธอไปในเวลาเดียวกัน น้ำประปาไม่ใช่สิ่งที่พี่เนยรู้จักในวัยเด็ก คลองต่างหากที่เป็นดั่งประปาหมู่บ้านให้พี่เนยและเพื่อนบ้านใช้อุปโภค
พี่เนยจำไม่ได้แน่ชัดว่าพ่อแม่มีที่นากี่ไร่ แต่พี่เนยกลับยืนยันว่าครอบครัวของเธอตอนนั้นอยู่ในจุดที่พูดได้เต็มปากเลยว่าจน แต่ที่นาของครอบครัวพี่เนยมีมากกว่าหลายคนในหมู่บ้านทำให้เธอได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วมีคนจนกว่าครอบครัวเธออีกมาก พี่เนยเล่าให้ฟังว่าเพื่อนๆ เธอหลายคนในละแวกไม่ได้เรียนในระดับมัธยมต้นด้วยซ้ำ หลายคนต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา บางคนเดินทางออกไปทำงานที่จังหวัดลำพูนบ้างเชียงใหม่บ้าง
“ความจนที่พี่บอกนี่ มันคือจนจริงๆ นะ ไม่ใช่จนแบบพอมีกิน”
พี่เนยยังคงเน้นย้ำถึงความจนที่ตนเองเคยพบเห็นมาในวัยเด็ก สำหรับพี่เนยแล้วแม้บ้านหรือวิมานเดิมที่เธอเคยอาศัยจะมีภาพความสุขปะปนมาบ้างเมื่อย้อนถึง แต่ภาพความจนก็ไม่หลุดหายไปจากความทรงจำของเธอเลย ความจนของครอบครัวที่พี่เนยเล่าถึง ยังมาพร้อมกับความรู้สึกลำบากที่คงค้างอยู่ในมวลความรู้สึกของพี่เนย ความรู้สึกที่พี่เนยไม่อยากให้ลูกสาวของเธอต้องมาประสบให้ขุ่นเคืองเช่นที่เธอเคยประสบ
หลังจากฟังปากคำจากอดีตคนในวิมานแห่งความจนที่ย้ายออกไปจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมา ผมอยากชวนมาฟังปากคำของคนนอกวิมานที่ได้ย้ายมาทำงานอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
พี่ตัง เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) แห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พี่ตังแต่เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนจบปริญญาโทและเริ่มทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่เชียงราย และปัจจุบันย้ายมาทำงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฉะนั้น พี่ตังจึงเป็นหนึ่งในคนที่จะบอกเล่า “ความต่าง” ระหว่างวิมานความจนแห่งนี้กับวิมานหลังอื่น
“กรุงเทพถ้าเทียบเป็นสเกลเศรษฐกิจต่างกันมาก ถ้าดู GDP รายได้ต่อครัวเรือน แม่ฮ่องสอนแทบจะยากจนที่สุด แต่กรุงเทพคือสูงสุด กรุงเทพฯ GDP มากกว่าแม่ฮ่องสอนเกือบ 250 เท่า อันนี้เทียบได้ซ้ายไปขวาเลย แม่ฮ่องสอนใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 8 เท่า แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ในขณะที่กรุงเทพฯ มีคน 10-11 ล้านคน กรุงเทพฯ มีคนมากกว่าแม่ฮ่องสอนประมาณ 40 เท่า
ส่วนเชียงรายเป็นเมืองรองที่เรารู้สึกว่าค่อนข้างสะดวกสบายเลย ถ้าเปรียบเทียบจำนวนขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และความหนาแน่น คือโอเคเลย เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีห้างสรรพสินค้า มีความสะดวกสบาย แต่แม่ฮ่องสอนไม่มีห้าง ไม่มีโรงหนัง ไม่มีพวกแฟรนไชส์”
แม้จะพี่ตังจะมองเห็นความแตกต่างในการใช้ชีวิตระหว่างทั้ง 2 จังหวัดที่ได้กล่าวไปกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่พี่ตังค์ยังตั้งข้อสังเกตลงไปที่ความเฉพาะของเศรษฐกิจจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั่นคือ
“ชาวเขา ชาวไร่ ชาวนา คนกลุ่มนี้จะเข้าถึงบริการในตัวเมืองยากและห่างไกลมาก ๆ คิดว่าเป็นส่วนที่ทำให้ GDP ค่อนข้างต่ำ ที่เกษตร (จังหวัดแม่ฮ่องสอน) สู้จังหวัดอื่นไม่ได้เพราะมีเรื่องของการขนส่ง ไม่ค่อยมีใครเขาขนอะไรมาแม่ฮ่องสอนกัน แม่ฮ่องสอนค่าขนส่งจะสูงมาก มันเป็นเมืองในหุบเขา เราไม่มีสินค้าทางการเกษตรที่มันโดดเด่น ประชากรน้อยด้วย แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ใน 3 แสนคน เป็นเกษตรกรไปแล้ว 80% ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะย้ายไปอยู่เมืองอื่นกัน”
จากข้อมูลของระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)6 ผู้คนในแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญกับความจน 4 ด้านด้วยกันประกอบด้วย 1) ด้านความเป็นอยู่ 2) ด้านสุขภาพ 3) ด้านการศึกษา และ 4) ด้านรายได้ ในจำนวนคนจนทั้ง 4 ด้าน คนจนด้านรายได้และความเป็นอยู่มีจำนวนตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของจังหวัดอื่นในภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ที่จำนวนคนจนด้านรายได้จะสูงกว่าคนจนด้านความเป็นอยู่หลายเท่าตัว
ดัชนีชี้วัดความจนด้านความเป็นอยู่ที่ TPMAP ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย 1) สภาพที่อยู่อาศัยและการย้ายที่อยู่ 2) การจัดเก็บขยะ 3) การถูกรบกวนจากมลพิษ 4) ความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและอุบัติเหตุ 5 ) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6) การเข้าถึงน้ำสำหรับบริโภคและอุปโภค 7) การเข้าถึงไฟฟ้าและใช้บริการไฟฟ้า 8) การเข้าถึงบริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต และ 7) การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การที่แม่ฮ่องสอนมีจำนวนคนจนด้านรายได้และคนจนด้านความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน อาจทำให้เราอนุมานได้ว่า คนแม่ฮ่องสอนไม่ใช่เพียงมีรายได้น้อย แต่ยังต้องทนอยู่กับชีวิตที่ยากลำบากไปพร้อมกัน ขณะที่คนเหนือในจังหวัดอื่นๆ แม้จะมีรายได้น้อยแต่ความเป็นอยู่ของพวกเขาก็มิได้ลำบากเท่ากับคนแม่ฮ่องสอน
หากเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจคำให้สัมภาษณ์ของพี่เนย เราอาจจะเห็นว่านอกจากเรื่องรายได้อันน้อยนิดของครอบครัวพี่เนย เธอยังกล่าวถึงความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของเธอและครอบครัวตลอดคำให้สัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือน้ำประปาที่เดินทางไปไม่ถึงบ้านของเธอ หรือโรงเรียนที่ต้องขี่รถข้ามดอยกว่าจะไปถึง ทั้งหมดประกอบสร้างรวมกันจนทำให้แม่ฮ่องสอนเป็น “วิมานความจน” ในความทรงจำของพี่เนยไปเสีย
คนจน คนซวย
ผมคิดว่าการได้ฟังชีวิตของพี่เนยร่วมกับข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจทำให้เราทุกคนพอจะเห็นภาพความจนของคนแม่ฮ่องสอน แต่เพราะอะไรล่ะที่ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่จนเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมา สาเหตุอะไรกันล่ะที่ทำให้คนแม่ฮ่องสอนต้องกลายเป็นคนจนที่จนแบบแสนสาหัส
คำตอบของคำถามนี้คงไม่ใช่เพราะคนแม่ฮ่องสอนไม่รู้จักบริหารค่าใช้จ่าย ไม่รู้จักเก็บเงิน หรือไม่รู้จักการลงทุน แบบที่เศรษฐีหัวแหลมขายปลาหมอ หรือ CEO บริษัทฟรีแลนซ์แห่งหนึ่งชอบพูดวนซ้ำไปว่าทั้งสามสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้คนๆ หนึ่งจนหรือรวยได้
“สาเหตุที่ทำให้คนจน มันพูดได้มากมายหลากหลายแหละ คุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์คุณก็จะตอบแบบหนึ่ง คุณเป็นพวกสังคมศาสตร์คุณก็จะตอบอีกแบบหนึ่ง แต่ผมสรุปได้สั้นๆ เลยนะ สาเหตุคือพวกเขาซวย” เป็นคนคำตอบที่ผมได้จากนักวิจัยเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งในระหว่างสนทนากันบนโต๊ะอาหาร (ไม่แน่ใจว่าแกอยู่ในสภาวะกึ่มๆ หรือเปล่า) ผมจดจำคำพูดนี้ได้ขึ้นใจ เพราะปกติเวลาสนทนาประเด็นเรื่องสาเหตุความจนกับใคร ทุกคนรวมถึงผมมักจะตอบว่าพวกเขาจนเพราะ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งทั้งสองคำตอบก็คือเรื่องเดียวกัน แต่ผมว่าคำว่าซวยมันจี้ใจดำกว่า
“ความซวย” หรือจะพูดว่าปัญหาเชิงโครงสร้างก็ตามที ทั้งสองวางอยู่ฐานทางความคิดเดียวกันคือ “มีมือที่มองไม่เห็นกดให้คนต้องจนอยู่แบบนั้น” ซึ่งมือดังกล่าวอาจหมายถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ บริการสาธารณะเข้าไม่ถึง หรือกระทั่งการอยู่ในพื้นที่ที่เดินทางลำบาก อาจเป็นเรื่องตลกร้าย แต่ความซวยทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นคือ ความซวยที่คนแม่ฮ่องสอนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน!
หากเราลองย้อนกลับไปดูข้อมูลคนจนด้านความเป็นอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องของ TPMAP ที่ผมยกขึ้นมากล่าวถึงก่อนหน้านี้ นี่แหละคือข้อมูลที่บอกว่าคนแม่ฮ่องสอน ซวยเพราะหากเรามองข้อมูลดังกล่าวในด้านกลับกัน ดัชนีชี้วัดคนจนด้านความเป็นอยู่ทั้งหมดคือ การกล่าวถึงคนที่ซวยเกิดในจังหวัดที่โครงสร้างพื้นฐาน (ถนน, น้ำประปา, ไฟฟ้า, สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ต ฯ) มีไม่เพียงพอให้พวกเขาสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นไปได้ยากลำบากมาก เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอย (ภูเขา) และพื้นที่สูง แม้จะเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภาคเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 7,987,808 ไร่ แต่พื้นที่กว่า 85% (6,821,808 ไร่) เป็นพื้นที่ “ป่า” และพื้นที่ป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ส่งผลให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานติดปัญหาทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงกฎหมาย อาจจะรวมถึงติดปัญหาเชิงศีลธรรมด้วยซ้ำหากมีการพัฒนาพื้นที่โดยวิธีการถ่างป่าสร้างถนนและเสาไฟฟ้า
จากนี้ ผมจะขอแบ่งหัวข้อย่อยลงไปอีก เพื่อพาทุกคนไปสำรวจความซวยของคนแม่ฮ่องสอน ผ่านเรื่องเล่าของพี่ตัง สมาชิกวิมานความจนหน้าใหม่ ที่เราได้ฟังปากคำของเธอไปก่อนหน้านี้ และ อาฉู่ คนแม่ฮ่องสนอแต่กำเนิดและยังเป็นเจ้าของร้านกาแฟ Lola gallery drip Coffee ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ที่ทั้ง “เห็น” และ “สัมผัส” กับความซวยของคนแม่ฮ่องสอน
1. ไฟฟ้า
“สถานการณ์ช่วงนี้ วันนึงไฟดับ 3-4 รอบ เพราะ space มันไกลการส่งไฟจากเชียงใหม่มาแม่ฮ่องสอน มันต้องผ่านหลายภูเขา พอมันเกิดภัยพิบัติ บางคนอาจจะคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก แม่ฮ่องสอนอยู่บนเขา แต่ไฟฟ้าไม่มามันก็ส่งผลกระทบ ใครที่ทำพวกของสด ใครเลี้ยงปลาในออกซิเจนก็ตายยกบ่อ มันโดนผลกระทบหมด” (อาฉู่)
อาฉู่ ในฐานะคนแม่ฮ่องสอนและในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าในการประกอบอาชีพ เริ่มเล่าให้ฟังถึงปัญหาความไม่มั่นคงของระบบไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าต่ำที่สุด เหตุที่หลายหมู่บ้านยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้ก็เนื่องจากด้วยข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ที่ยากต่อการสร้างและการซ่อมเสาส่งไฟฟ้า ประกอบกับระยะทางระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ทำให้สูญเสียกำลังส่งไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีเกิดเหตุการณ์ต้นไม้ล้มทับเสาไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยถนนที่คดเคี้ยวทำให้ยากต่อการซ่อมแซ่มเสาไฟฟ้าที่เสียหายทำให้เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นเวลานานเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไฟฟ้าจึงเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ในแม่ฮ่องสอนได้ยากมาก7
คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าไฟฟ้าสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไรและคนแม่ฮ่องสอนสามารถใช้ไฟฟ้าเพื่อต่อยอดสร้างรายได้ยังไงบ้าง แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนระบบไฟฟ้ากลับไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ ในปี 2566 มีจำนวนหมู่บ้านในแม่ฮ่องสอนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้ามากถึง 94 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีกว่า 69 หมู่บ้านที่ยังไม่การดำเนินโครงการใดๆ เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าให้หมู่บ้านเหล่านี้8
เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา แม่ฮ่องสอนต้องเร่งดำเนินโครงการนำร่องการขยายเขตไฟฟ้า เนื่องจากยังมีหลายหมู่บ้านที่ยังเข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า ในการดำเนินโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 5 หมู่บ้าน โดยมีครัวเรือนที่ยังไม่เข้าถึงไฟฟ้าในทั้ง 5 หมู่บ้านรวมกันกว่า 300 ครัวเรือน9 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นเพียงโครงการ “นำร่อง” เท่านั้น นั่นเท่ากับว่ายังมีอีกหลายหมู่บ้านและหลายครัวเรือนยังไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้
2. ถนน
“เรื่องโลจิสติกส์ การขนส่ง การบริการต่าง ๆ ผมสงสารคนแม่ฮ่องสอนมากเลยมันไม่มีทางเลือก ไม่มีสิทธิ์เลือก การเดินทางจากแม่ฮ่องสอนไปจังหวัดอื่น ๆ มันยาก มันเปลืองค่าน้ำมัน ต้องเสียอะไรหลาย ๆ อย่าง อันนี้พูดแค่ในเมือง ถ้าเป็นรอบนอกลำบากคือทุกที่ สำหรับผมมันเลือกอะไรไม่ได้แล้ว มันก็ต้องอยู่กับสภาพแบบนี้ คนแม่ฮ่องสอนแทบไม่เห็นปัญหานี้กันแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนที่ทำงานแล้วต้องเดินทางบ่อย” (อาฉู่)
ไม่ใช่เพียงไฟฟ้า แต่ถนนและระบบขนส่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเองก็แลดูจะมีปัญหา เพราะจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่สูง การก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนนจึงทำได้ยาก อาฉู่และพี่ตังได้เล่าต่อถึงผลกระทบของการเดินทางด้วยถนนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไว้ ดังนี้
“ถ้าเป็นเรื่องการเดินทาง ความเท่าเทียมเรื่องการขนส่งเรายังไม่ได้รับ เวลาจะส่งของเขาจะบวกค่าขนส่งพื้นที่ทุรกันดาร การทำมาค้าขายออนไลน์ก็ต้องเสียเยอะกว่าคนอื่น น้ำมันก็แพงกว่าที่อื่น 1 บาท ค่าครองชีพ ผมคิดว่าสูงกว่าอยู่เชียงใหม่ อย่างรถตู้วิ่งได้วันนึงแค่ 3 เที่ยว” (อาฉู่)
“ที่เกษตรสู้จังหวัดอื่นไม่ได้เพราะมีเรื่องของการขนส่ง ไม่ค่อยมีใครเขาขนอะไรมาแม่ฮ่องสอนกัน แม่ฮ่องสอนค่าขนส่งจะสูงมาก มันเป็นเมืองในหุบเขา” (พี่ตัง)
ถนนทางหลวงในจังหวัดแม่ฮ่องสอนปัจจุบันมีความยาวรวมกันเพียง 615 กิโลเมตร10 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงความยาวถนนทางหลวงในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 251711 (ประมาณ 601.670 กม. ณ เวลานั้น) สำหรับประเทศไทยการสร้างถนนทางหลวงถือว่าเป็นด่านแรกของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ต่างๆ เข้าหากัน ตั้งแต่เริ่มบุกเบิกการพัฒนาประเทศในปี 2504 ถนนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ12และจังหวัดต่างๆ13
แต่สำหรับแม่ฮ่องสอนด้วยภูมิศาสตร์ที่สลับซับซ้อนและหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ป่า จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะก่อสร้างถนน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเสนอว่าปัญหาการคมนาคมโดยเฉพาะการคมนาคมทางถนนเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาการคมนายังส่งผลกระทบท่องเที่ยว การค้า การลงทุนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นวงกว้าง โดยถนนทางหลวง 1095 สายหนองโค้ง–แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นถนนทางเศรษฐกิจเส้นสำคัญที่เชื่อมต่อจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน แต่รถขนาดใหญ่กลับไม่สามารถสัญจรผ่านได้สะดวกนัก เนื่องจากถนนมีความสูงชันและคดเคี้ยวเป็นอย่างมาก ซ้ำในฤดูฝนถนนเส้นดังกล่าวและเส้นอื่นๆ ก็ได้รับความเสียหายจากปัญหาดินถล่ม14 ปัญหานี้ทำให้ถนนไม่อาจจะทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อเศรษฐกิจระหว่างที่ต่างๆ เข้าหากันได้อย่างที่ควรจะเป็น
3. การศึกษา
การศึกษาถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 256515 พบว่า จากจำนวนการสำรวจแรงงานจำนวน 205,620 คน แม่ฮ่องสอนมีประกรที่อายุสูงกว่า 15 ปีแต่ไม่มีการศึกษาหรือจบการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมกว่า 91,296 คน จบการศึกษาระดับประถม 37,135 คน ระดับมัธยมต้น 31,167 คน และมัธยมปลาย 25,092 คน กล่าวคือคนแม่ฮ่องสอนที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนกว่า 1.2 แสนคนหรือเกินกว่าครึ่งมีระดับการศึกษาสูงสุดเพียงประถมศึกษา
จากข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีการศึกษา 256616 พบว่าเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมีสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษามากกว่าร้อยละ 90 จากจำนวนเยาวชนที่มีสิทธิ์เข้ารับการศึกษา ในขณะที่เยาวชนที่อายุมากกว่า 15 ปีกลับมีสัดส่วนการเข้าถึงการศึกษาลดลงเหลือเพียงร้อยละ 79.46 เท่านั้น นอกจากนั้นจากผลการสอบ O-Net นักเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนทุกระดับชั้นมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าทั้งคะแนนเฉลี่ยรวมของทั้งประเทศและคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในภาคเหนือ และบางปีจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีคะแนน O-Net เฉลี่ยต่ำที่สุดในประเทศไทย
ในส่วนของจำนวนสถานศึกษา (โรงเรียน, วิทยาลัยอาชีว, มหาวิทยาลัย และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนเพียง 532 แห่งทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจำนวนสถานศึกษามากถึง 1,633 แห่ง17
ขณะเดียวหลายโรงเรียนในแม่ฮ่องสอนยังประสบกับปัญหาขาดแคลนบุคคลากรและสื่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เผชิญปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีผู้อำนวยการโรงเรียน ขาดแคลนอาหารและสถานที่สอน หรือจำนวนครูที่ไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากการได้รับงบประมาณจัดสรรน้อยมาก18 องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้เปิดเผยรายงานช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาที่มีมาอย่างยาวนานในแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องว่างทางการศึกษาในเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์19
“เราเคยได้ยินมาว่าจังหวัดไหนที่มีความจำเป็นน้อย เขาจะให้งบน้อย เหมือนงบประมาณประเทศไทยจะจัดสรรให้จังหวัดต่าง ๆ ตามจำนวนประชากร เวลามีคนน้อย งบที่ถูกจัดสรรมาก็จะน้อยตาม เราจึงไม่เห็นความพัฒนาของอะไรหลาย ๆ อย่าง” (พี่ตัง)
พี่เนยตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณให้แก่จังหวัดต่าง ๆ โดยอาศัยจำนวนประชากรเป็นเกณฑ์ ซึ่งส่งผลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีจำนวนประชากรเบาบางได้รับการจัดสรรงบประมาณในจำนวนที่น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะปัญหาการศึกษาที่แลดูจะต้องการงบประมาณในการพัฒนาอยู่มาก
ในขณะเดียวกัน จากจำนวนประชากรของแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ประมาณ 284,549 คน มีจำนวนประชากรที่เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยจำนวน 43,638 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.3 จึงทำให้อาจมีความเป็นไปได้สูงที่เด็ก ๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยจะเป็นกลุ่มที่มีช่องว่างทางการศึกษาสูงที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
4. ที่ดินและพื้นที่ป่า
ถึงจะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในภาคเหนือ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 84.65 เป็นพื้นที่ป่า หรือกว่า 6 ล้านไร่ ในขณะที่ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยกลับมีเพียง 1 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัยและการทำเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของคนแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้น หลายพื้นที่ยังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ส่งผลชาวแม่ฮ่องสอนหลายคนต้องอาศัยและทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยาน
การพัฒนาพื้นที่ป่าและการขยายที่ดินทำกินมิอาจทำได้โดยง่าย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าและอุทยาน การก่อสร้างถนนหรือเสาส่งไฟฟ้าหลายพื้นที่มิอาจดำเนินการได้ เนื่องจากการดำเนินโครงการในหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ป่าที่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
นอกจากนั้นยังส่งผลให้คนแม่ฮ่องสอนหลายคนถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า ปัญหาว่าด้วยเรื่องที่ดินและคดีเกี่ยวกับป่ามีมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 30 ปี20
แม้ข้าวโพดที่เป็นสินค้าที่ผลิตได้มากที่สุดในแม่ฮ่องสอน แต่พื้นที่ปลูกข้าวโพดกลับมีอยู่เพียง 41,330 ไร่ คิดเป็นการใช้พื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด21 ทั้งที่สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลักที่ช่วยผยุงตัวเลข GDP ของจังหวัดให้ไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ประกอบกับอาชีพส่วนใหญ่ของคนแม่ฮ่องสอนก็คือการทำเกษตร แต่กลับมีพื้นที่ให้พวกเขาทำเกษตรเพียงน้อยนิด พี่ตังเองในฐานะสมาชิกหน้าใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็มองเห็นข้อสังเกตต่อการทำการเกษตรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเธอกล่าวว่า
“แม่ฮ่องสอนมี 3 แสนคน ใน 3 แสนคน เป็นเกษตรกรไปแล้ว 80% ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่จะย้ายไปอยู่เมืองอื่นกัน” (พี่ตัง)
แม้ปริมาณพื้นที่ทำการเกษตรที่มีน้อย จนอาจนำไปสู่การโยกย้ายเพื่อตามหาโอกาสในทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่แล้วในช่วงการยึดอำนาจของ คสช. รัฐบาลยังดำเนินโครงการทวงคืนพื้นที่ป่าและการไล่ “จับคน” ที่รัฐบาลมองว่า “บุกรุกพื้นที่ป่า” โดยในปี 2557 ได้มีประกาศใช้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เพื่อเข้ายึดที่ดินและไล่จับคน อาทิ เหตุการณ์เมื่ออวันที่ 25 สิงหาคม 2557 มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังบุกเข้าไปทำลายข้าวโพดที่ปลูกอยู่ในที่ดินของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรอีก 2 คน โดยเจ้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ทำให้ไม่มีการเข้ามาเจรจาพูดคุยกับเจ้าของไร่แต่อย่างใด หรือในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศว่าจะดำเนินการยึดที่ดินกว่า 1,500 ไร่ ในพื้นที่บ้านเลาวู อำเภอเวียงแหง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสันนิษฐานว่าเป็นที่ดินทำกินของครอบครัวคนแม่ฮ่องสอนกว่า 150 ครอบครัว ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์คือผลลัพธ์ของการประกาศพื้นที่ป่าทับพื้นที่คน
การประกาศพื้นที่ป่าโดยภาครัฐจึงเป็นเสมือนการเอา “ป่า” มากักขัง “คนแม่ฮ่องสอน” รวมถึงยังเป็นเหมือนการกีดกันโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มุ่งหวังให้คนแม่ฮ่องสอนได้ลืมตาอ้าปาก ราวกับว่าจะกักขังคนแม่ฮ่องสอนไว้ในวิมานแห่งความจนแห่งนี้ไปตลอดกาล
ถึงเวลาพรมน้ำมนต์ล้างซวย!
ข้อสังเกตตลอดคำสัมภาษณ์ของพี่ตังและอาฉู่ คือความกังวลที่ผู้พวกเขาทั้งสองมีต่อคนรุ่นใหม่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากโอากาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนดูจะหายากขึ้นเรื่อย ๆ ในทัศนะของพวกเขา แต่สำหรับผมคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนกำลังเผชิญกับความซวย เช่นนั้นเราจะแก้ปัญหาความซวยให้กับคนแม่ฮ่องสอนและคนรุ่นใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อย่างไร
หากความซวยเป็นเรื่องเดียวกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การพรมน้ำมนล้างซวยก็คงคล้ายกับการถอดรื้อโครงสร้างที่เป็นเป็นปัญหา เพื่อเปิดทางให้คนแม่ฮ่องสอนเดินออกจากวิมานแห่งความจนแห่งเสียที
ฉะนั้น ผมจึงใคร่ที่จะรวบรวมข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนแม่ฮ่องสอนที่กระจัดกระจายอยู่ ให้รวมกันเป็นน้ำมนล้างซวยความจนเสียหน่อย
1. ปฎิรูปที่คืนที่ดินให้กับคนแม่ฮ่องสอน
การผลิตในภาคเกษตรถือเป็นหนึ่งในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและแรงงานส่วนใหญ่ของจังหวัดก็ยังทำงานอยู่ในภาคเกษตร แต่เกษตรกรกลับมีที่ดินในการเพาะปลูกเพียงน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็น “ป่า” พูดอย่างตรงไปตรงมา เราควรตั้งคำถามว่าพื้นที่เหล่านี้ยังควรมีสถานะเป็นป่าอยู่หรือไม่?
แรกเริ่มภาครัฐควรเริ่มต้นทำการสำรวจพื้นที่ป่าภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (รวมถึงพื้นที่ป่าทั้งประเทศ) เสียใหม่ เพื่อตรวจสอบว่าพื้นที่ใดมีสภาพเป็นป่าจริงและเห็นสมควรให้มีการคงสภาพความเป็นป่าในทางกฎหมายไว้ และพื้นที่ไหนที่สิ้นสภาพความเป็นป่าแล้วหรือเห็นควรว่าพื้นที่ดังกล่าวควรได้รับการปฏิรูปภาครัฐควรเร่งจัดสรรที่ดินให้เป็นที่ดินทำกินและอนุมัติให้สามารถถือครองเป็นโฉนดได้ เพื่อให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตรออกไปให้กว้างมากขึ้น
นอกจาก การปฏิรูปที่ดินจะทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากขึ้นแล้ว การได้ถือครองโฉนดยังส่งผลให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาการผลิต ขณะเดียวกันการถือครองที่ดินแบบโฉนดยังเป็นการสร้าง “ความปลอดภัย” ในการถือครองที่ดิน เนื่องจากการถือครองแบบ สปก. ที่ดินพื้นนั้นยังถือว่าเป็นของรัฐอยู่ หากมีการประกาศพื้นที่ป่าหรือพื้นที่โครงการต่าง ๆ เอกสาร สปก. จะกลายเป็นเศษกระดาษทันที
ฉะนั้น การทำให้แม่ฮ่องสอนสามารถผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มและเกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเอง น่าจะเป็นก้าวแรกในการรื้อสร้างวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน
2. ถึงเวลาเดินทาง: การคมมนาคม คือด่านแรกแห่งการพัฒนา
แม่ฮ่องสอนเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เดินไปยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ความยากลำบากต่อการสร้างและติดปัญหาเรื่องพื้นที่ป่า อย่างไรก็ตาม หากหวังจะรื้อโครงสร้างของวิมานความจนแห่งนี้ การสร้างทางเดินให้พวกเขาสามารถเดินออกมาได้ก็ควรเป็นสิ่งที่ภาครัฐสมควรจะทำมิใช่หรือ?
สุพจน์ กลิ่นปราณีต ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนเคยเสนอให้กลับมาเปิดเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพและแม่ฮ่องสอน พร้อมกับอนุญาตให้สายการบิน Low Cost สามารถเข้ามาให้บริการได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวในจังแม่ฮ่องสอน22
แม้จะมีสนามบินอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่กลับมีเพียงสายการบินเดียวที่ได้รับอนุญาตให้บินมาแม่ฮ่องสอน ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตของพี่ตังที่ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ราคาตั๋วเครื่องบินมาแม่ฮ่องสอนที่แพงมาก ๆ ก็เนื่องจากการอนุญาตให้มีเพียงสายการบินเดียว (การบินไทย) ที่สามารถบินมาลงที่แม่ฮ่องสอนได้ และนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาแม่ฮ่องสอนก็เฉพาะช่วงเทศกาล
สุพจน์ ยังเสนอให้ภาครัฐเร่งซ่อมแซมถนนที่เสียหายและเร่งพัฒนาถนนในจังหวัดฮ่องสอนให้มีมากขึ้นและเชื่อมต่อกันมากกว่านี้ ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเคยทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงข่ายเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน ในมิติทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวง ตั้งแต่ปี 2547 โดยเสนอแนวทางการสร้างไว้ 3 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทาง C1 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 73 กิโลเมตร เส้นทาง C2 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 62.9 กิโลเมตร และเส้นทาง C3 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง 54 กิโลเมตร วันนี้อาจถึงเวลาที่ต้องนำโครงการดังกล่าวกลับปัดฝุ่นศึกษาและนำไปดำเนินนโยบายจริงได้แล้ว
ข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจจากการศึกษาของกระทรวงคมนาคม คือ การเสนอให้มีการขุดเจาะอุโมงค์ในบางที่ที่มีความสูงชัน เพื่อแก้ปัญหาความยากลำบากในการก่อสร้างถนน23
นอกจากนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เสนอให้เร่งสร้างถนนทั้งภายในจังหวัดและระหว่างแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนแม่ฮ่องสอน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในแม่ฮ่องสอน
เปิดด่าน เปิดทางให้เป็นเมืองชายแดนเต็มตัว
ถนนสำหรับคนแม่ฮ่องสอนยังมีบทบาทในการพัฒนาที่ไกลไปกว่าการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย แต่ยังหมายถึงการเชื่อมต่อและพัฒนาเศรษฐกิจข้ามชาติอีกด้วย ในการศึกษาเรื่อง การยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดแม่ฮ่องสอน24 โดย ผศ.ดร. บุศรินทร์ เลิศเชาวลิตสกุล ได้เผยให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการตัดถนน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจบริเวณ “ชายแดน” ซึ่งแม่ฮ่องสอนเรียกได้เลยว่าเป็นจังหวัดชายแดน เนื่องจากทุกอำเภอยกเว้นอำเภอปลายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอยู่ติดกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา
การพัฒนาโครงการยกระดับจุดผ่อนปรนทางการค้าให้เป็นด่านผ่านแดนถาวรในบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแนวคิดริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจากจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่นมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของแม่ฮ่องสอนได้ เนื่องจากจุดผ่อนปรนฯห้วยต้นนุ่นสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ของประเทศเมียนมาได้ โดยเฉพาะเมืองสำคัญหลายเมืองในรัฐกะยา และยังสามารถเชื่อมต่อไปจนถึงเมืองเนปิดอว์เมืองหลวงของเมียร์มาได้เช่นกัน
กระทรวงพาณิชย์ของประเทศเมียนมาได้รายงานถึงมูลค่าการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในบริเวณช่องทางแม่แจ๊ะหรือบ้านมางตรงซึ่งตั้งอยู่ติดกับจุดผ่อนปรนการค้าห้วยต้นนุ่น โดยในระหว่างปี 2559 ถึง 2561 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกต่างพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัฐกะยาในประเทศเมียนมาเริ่มให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประกอบการประกาศก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกล ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่ามูลค่าการค้าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก
การยกระดับจุดผ่อนปรนให้กลายเป็นด่านข้ามแดนถาวรยังจะเป็นการใช้ศักยภาพความเป็นเมืองชายแดนของแม่ฮ่องสอน ฉะนั้น หากหวังจะรื้อสร้างวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน การเปิดทางให้เศรษฐกิจบริเวณชายแดนเกิดขึ้นได้จริง จึงอาจจะเป็นเสมือนการติดตั้งเครื่องเร่งความเร็วในการพัฒนาเศรษฐกิจของแม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับชายแดนในอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก ที่มูลค่าการค้าโดยรวมในบริเวณชายแดนแม่สอดมีสูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี25
นอกจากน้ำมนต์ทั้ง 4 ชนิดที่ผมได้เสนอไป ยังมีน้ำมนต์หรือแนวนโยบายอื่นๆ อีกมากที่รัฐบาลทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่นควรเร่งแก้ไข อาทิ การแก้ปัญหาด้านการศึกษา หรือการเร่งมอบสัญชาติให้กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยเร็ว เป็นต้น ซึ่งการดำเนินนโยบายเหล่านี้คงอาศัยเวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก แต่เพื่อรื้อถอนวิมานแห่งความจนของคนแม่ฮ่องสอน ก็คงถึงเวลาที่ต้องเริ่มลงมือทำกันแล้วล่ะ
เราจะปล่อยไปให้คนแม่ฮ่องสอนอยู่ในวิมานแห่งความจนแบบนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่?
อ้างอิง
- [1] คุยเบื้องหลังที่มาศึกชิง ‘วิมานหนาม’ กับ ‘บอส กูโน’ ผู้กำกับ. https://www.youtube.com/watch?v=j56jS9GhCXU&t=5s
- [2] รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565 https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14557
- [3] https://maehongson.moc.go.th/th/file/get/file/202403294547c1b4df7539e29e378d32783ee893104249.pdf
- [4] ราคาเฉลี่ยจากเว็บไซด์สมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย (https://www.thaimaizeandproduce.org) ข้อมูลอัพเดทล่าสุดวันที่ 13 ธันวาคม 2567
- [5] ข้อมูลจากสำนักงานสถิติจังหวัดแม่ฮ่องสอน (https://maehson.nso.go.th/)
- [6] ข้อมูลภาพรวมคนจนเป้าหมายในปี 2565 แม่ฮ่องสอนจากเว็บไซด์ Thai People Map and Analytics Platform ภายใต้การดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (https://www.tpmap.in.th/2566/58?stateWelfareCard=all)
- [7] ดูเพิ่มเติมใน มัชฌิมาศ เขียวคำ. (2563). กรณีศึกษาการใช้ระบบกักเก็บพลังงานชนิดล้อตุนกำลังเพื่อรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบแยกโดดของอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- [8] สรุปรายงานประจำปีจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2566. https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER7/DRAWER061/GENERAL/DATA0000/00000263.PDF
- [9] https://www.maehongson.go.th/new/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-9/
- [10] ข้อมูลการคมนาคมจากเว็บไซด์จังหวัดแม่ฮ่องสอน (https://www.maehongson.go.th/new/การคมนาคม/)
- [11] ข้อมูลจากแขวงทางเหลวงเชียงใหม่ที่ 1 (http://chiangmai1.doh.go.th/chiangmai1/content/page/page/36368)
- [12] ดูเพิ่มเติมใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2566). ไฮเวยาธิปไตย : อำนาจของถนนกับพลวัติการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
- [13] ดูการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกผ่านการตัดถนนสุขุมวิท ใน อำพิกา สวัสดิ์วงศ์. (2545). ถนนสุขุมวิทกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของประเทศไทย พ.ศ. 2477-2539. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- [14] กกร.แม่ฮ่องสอนเสนอปัญหาเศรษฐกิจ แนะเร่งแก้ระบบคมนาคม. https://thecitizen.plus/node/9182
- [15] สำรวจภาวะการทำงานของประชากรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไตรมาส 4/2565. https://maehson.nso.go.th/statistical-information-service/infographic-interactive/infographic/mae-hong-son-province-labor-force-survey-quarter-4-2022.html
- [16] ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีการศึกษา 2566. https://anyflip.com/duaae/cafw/basic
- [17] ข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ปีการศึกษา 2567 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ ใน https://edustatistics.moe.go.th/school50
- [18] ดูเพิ่มเติมใน พีระยุทธ์ สุขสมบูรณ์. (2557). สภาพปัญหา และการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กบนพื้นที่สูง ที่มีความขาดแคลน: กรณีศึกษาโรงเรียนบ้านอุบโละเหนือ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. Community and Social Development Journal, 15(1), 27–36.
- [19] ขจัดช่องว่างการเรียนรู้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน. https://www.unicef.org/thailand/media/9766/file/Closing%20the%20learning%20gap%20in%20Mae%20Hong%20Son%20TH.pdf
- [20] ปรีชา พวงสมบัติ. (2558). ปัญหาของบทบัญญัติกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ดินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน. https://library.coj.go.th/th/media/43952/media-43952.html
- [21] สรุปประเภทการใช้ที่ดิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปี พ.ศ. 2564. http://www1.ldd.go.th/web_OLP/Lu_64/Lu64_N/MSH2564.htm
- [22] กกร.แม่ฮ่องสอนเสนอปัญหาเศรษฐกิจ แนะเร่งแก้ระบบคมนาคม. https://thecitizen.plus/node/9182
- [23] อ้างแล้ว
- [24] บุศรินทร์ เลิศเชาวลิตสกุล. (2567). ด่าน ถนน คนบนพรมแดน: โครงสร้างพื้นฐานชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน. พิษณุโลก
- [25] นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’ ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1121408
เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ