“ถ้าผมไม่ตัดโซ่เข้าไปในวันนั้นก็มีคนอื่นอยู่ดี” ทัศนัย-ศรยุทธ-ยศสุนทร อาจารย์และบัณฑิต มช. รับฟังคำฟ้องคดี “ทวงคืนหอศิลป์ มช.”

23 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สองอาจารย์ภาควิชา Media Art and Design มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากสาขา Media Art and Design มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับฟังคำฟ้องตามหมายนัดหมายสั่งฟ้องคดี กรณีเหตุที่ทั้ง 3 ร่วมกันตัดโซ่และเข้าไปใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปีตามรายวิชาเรียน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 โดยมีประชาชน นักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้กำลังใจกว่า 20 ชีวิต

กระบวนการในวันนี้เป็นการมาแสดงตน เซ็นเอกสารและรับฟังคำฟ้องที่นำไปสู่การปล่อยตัวชั่วคราว และเข้าสู่การพิจารณาของศาล

ซึ่งก่อนเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทางนักศึกษาได้มีความพยายามขออนุญาตใช้สถานที่จากผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตามระเบียบ เพื่อแสดงผลงานศิลปะตามวิชาที่ลงเรียน แต่ทางผู้บริหารไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว และอาจส่งผลต่อการเรียนการสอน จึงได้ประกาศร่วมกันทวงคืนหอศิลป์ แต่พบว่าในวันที่นัดหมาย ทางหอศิลป์ฯ ได้มีการคล้องโซ่และกุญแจล็อกประตูไว้ ซึ่งปกติแล้วไม่มีการปิดกั้นในลักษณะดังกล่าว นักศึกษาและอาจารย์สามารถผ่านเข้าออกได้โดยอิสระ ทั้งยังมีการตัดน้ำตัดไฟ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์จึงได้ร่วมกันตัดโซ่เพื่อเข้าไปใช้งานพื้นที่ และมีการจัดแสดงงานศิลปะจนเสร็จสิ้น

หลังเกิดเหตุ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในขณะนั้น ได้ไปแจ้งความกล่าวหานักศึกษาและอาจารย์ ไว้ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ภายใต้การพิจารณาและมีหนังสือมอบอำนาจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียก ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และ ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ น ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าระหว่างวันที่ 16 – 24 ตุลาคม 2564 ต่อเนื่องกัน ทั้งสามคน กับพวก ร่วมกันตัดโซ่ที่คล้องประตูรั้วทางเข้า-ออกหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณหอศิลป์ฯ และอาคารสํานักงานฯ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินภายในได้รับความเสียหาย ได้แก่ โซ่และแม่กุญแจในบริเวณประตูรั้วทางเข้า กุญแจประตูหอศิลป์ (ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง) ประตูห้องควบคุมไฟฟ้า (ด้านหลังหอศิลป์) ผนังห้องภายในห้องนิทรรศการ กล้องวงจรปิด พื้นอิฐบล็อกที่จอดรถ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และให้การต่อสู้คดีแล้ว ต่อมาตำรวจได้นัดส่งสำนวนคดีให้กับอัยการจังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 โดยอัยการนัดฟังคำสั่งในแต่ละเดือนตลอดปีที่ผ่านมา จนการนัดฟังคำสั่งครั้งที่ 8 ในวันที่ 23 มกราคม 2567 นี้ อัยการแจ้งว่าจะมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่

โดยก่อนการเข้าไปรับฟังคำฟ้อง ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ได้กล่าวกับสื่อมวลชนก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไว้ว่า การมารวมตัวกันครั้งนี้เป็นความต้องการมาแสดงเจตจำนงและข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากการปิดกั้นจากการเข้าถึงสิทธิในการศึกษาและการเรียนการสอนโดยสถานศึกษา ในการใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในการแสดงผลงานของนักศึกษา 

ศรยุทธ ยังกล่าวอีกว่า ย้อนกลับไปคำตัดสินของศาลปกครองได้มีการวินิจฉัยแล้ว และยังมีคำสั่งให้คุ้มครองสิทธินักศึกษาและการกระทำในครั้งนั้นแล้ว รวมไปถึงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยก็ได้เข้ามาพิจารณาคดีเรียบร้อยแล้ว ทั้งยังได้ส่งข้อวินิจฉัยเบื้องต้นไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียบร้อย และมีการดำเนินเรื่องไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ก็ส่งเรื่องไปแล้วว่าไม่ฟ้อง 

“หน่วยงานที่ทำงานด้านความยุติธรรมที่น่าเชื่อถือของสังคมไทยทั้ง 3 หน่วยงานได้วินิจฉัยกรณีเรียบร้อยแล้ว คำถามก็คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงยังดำเนินการฟ้องอยู่ หรือว่าในสายตาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สถานะของ 3 หน่วยงานนี้มันไม่มีน้ำหนัก” ศรยุทธ กล่าว

ด้าน ทัศนัย เศรษฐเสรี กล่าวว่าการเกิดขึ้นของกรณีการฟ้องของมหาวิทยาลัยต่อทั้ง 3 คนในครั้งนี้เป็นการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปเพื่อความยุติธรรม เป็นการแจ้งความเท็จ หรือเป็นการฟ้องปิดปากหรือไม่ 

ทัศนัย ได้เล่าย้อนไปในปี 2562 ถึงการเข้ามาบริหารคณะวิจิตรศิลป์ของ ร.ศ.อัศวิณีย์ หวานจริง ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือมีนักศึกษาและผู้ปกครองหลายร้อยคนเดินขบวนประท้วงไปยังสำนักงานอธิการบดีเรียกร้องเงินจากการกิจกรรม MEDIA ARTS AND DESIGN FESTIVAL ที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมากกว่า 10 กว่าปี ที่เป็นจำนวนเงินมากกว่า 150,000 บาท ซึ่ง อัศวิณีย์ ได้ใช้ระเบียบของมหาวิทยาลัยที่ไม่ทราบว่าตัวไหนตัดงบประมาณเหลือ 5,000 บาท ทำให้ในการจัดกิจกรรมในครั้งนั้นเป็นไปไม่ได้ ทำให้เกิดการประท้วงของนักศึกษาและผู้ปกครอง

ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณาจารณ์จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เดินทางมาให้กำลังใจ อาจารย์และนักศึกษาทั้ง 3 คน ได้กล่าวว่า เรื่องการฟ้องในกรณีดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฟ้องอาจารย์มหาวิทยาลัยในการเข้าไปใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ที่จะทำให้นักศึกษาเรียนจบการศึกษาได้ 

“เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าอายมากและไม่เคยเกิดในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก่อน ของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกัน จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถอนฟ้องไปเสีย เราไม่ควรจะใช้อำนาจทางกฎหมายในการทำเรื่องแบบนี้” ปิ่นแก้ว กล่าว

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ กล่าวว่า ตึกของภาควิชา Media Arts and Design จะอยู่ในรั้วเดียวกัน หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้มีการทำงานศิลปะในตึกของภาควิชาเป็นปกติ ซึ่งมันเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นที่ฐานของนักศึกษา 

“ถ้าผมไม่ตัดโซ่เข้าไปในวันนั้นก็มีคนอื่นอยู่ดีอะครับ สิ่งที่มาจำกัดการศึกษาก็ไม่ควรมีอยู่แล้วในรั้วอุดมศึกษา เพราะความรู้ใหม่ๆ มันต้องการรั้วที่กว้างที่สุด ไม่ใช่มาล็อครั้วและทำให้มันแคบ และปิดไม่ให้พูดได้ การแสดงงานไม่ได้ก็เหมือนการปิดปากคนทำงานศิลปะ มันไม่ถูกต้อง พวกผมก็เลยตัดสินใจไปทำงานของพวกเราต่อก็แค่ตัดโซ่ เพราะตึกเราก็อยู่ในนั้นอยู่แล้ว”

ด้าน ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ก็ได้มาให้กำลังแก่ทั้ง 3 คน กล่าวว่า ตนในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น พื้นที่มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่สาธารณะและควรจะเป็นพื้นที่ที่ต้องให้เด็กมีสิทธิในการแสดงออก เพราะถ้าหากมีการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกก็เหมือนไม่ได้พัฒนาการศึกษา

“คนที่สั่งการกลับเป็นคณบดีที่ควรจะต้องดูแลลูกศิษย์ของตน ผู้ปกครองให้ความไว้วางใจในการดูแลลูกหลาน แต่กลับทำแบบนี้กับเขาดิฉันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง