ปรับ 4,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษา 4 นักศึกษา มช. ชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo

23 มกราคม 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแขวงเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ 4 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทนtoo ซึ่งจัดขึ้นที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยทั้ง 4 คน ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 4,000 บาท โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่

การชุมนุมครั้งแรกในเชียงใหม่ช่วงเยาวชนปลดแอก นักศึกษาผู้เข้าร่วม 4 คน ถูกดำเนินคดี ศาลลงโทษปรับ ฝ่ายจำเลยอุทธรณ์

คดีนี้ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในขณะนั้น 4 ราย ได้แก่ ธนาธร วิทยเบญจางค์, ประสิทธิ์ ครุธาโรจน์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ เป็นผู้ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมี พ.ต.ท.มนัสชัย อินทร์เถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา 

การชุมนุมตามฟ้องนี้เป็นการชุมนุมครั้งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงการเริ่มต้นชุมนุมเยาวชนปลดแอก กลางปี 2563 เป็นต้นมา กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อร่วมสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คดีสืบพยานไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ฝ่ายจำเลยทั้ง 4 รับว่าได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในกิจกรรมตามฟ้อง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม โดยได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดก่อนจะเข้าร่วมกิจกรรม ขณะที่สถานที่เกิดเหตุยังเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันกับผู้ปราศรัย คนส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากาก กิจกรรมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ได้มีเหตุวุ่นวาย ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุยังมีการจัดถนนคนเดินร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยวและประชาชนอื่น ๆ เดินไปมาเป็นปกติ โดยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นก็มีตัวเลขเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับคนละ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงโทษปรับคนละ 4,000 บาท

ศาลเห็นว่าแม้ทางนำสืบ ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง แต่ปรากฏว่า เมื่อเจ้าพนักงานประกาศให้ยุติกิจกรรม จำเลยทั้งสี่มีพฤติการณ์ร่วมกันรับผิดชอบในการจัดกิจกรรมต่อไป แม้ที่เกิดเหตุจะเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อโรคหลังการชุมนุม แต่การชุมนุมก็ถือว่าได้ว่ามีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก จนเกือบเต็มพื้นที่ และผู้เข้าร่วมบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย จึงนับว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

จำเลยทั้งสี่ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม พยานหลักฐานก็ไม่สามารถระบุได้ว่าทั้งสี่เป็นผู้จัด และการตีความสถานที่แออัดต้องตีความโดยเคร่งครัด กิจกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเท ผู้เข้าร่วมยังเดินไปมาได้ ไม่ถึงขนาดหนาแน่นเต็มพื้นที่ทั้งหมด กิจกรรมยังใช้เวลาไม่นาน และไม่มีผู้ติดเชื้อภายหลังกิจกรรม จึงไม่ใช่การชุมนุมในสถานที่แออัด

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน เห็นว่าแม้เพียงเข้าร่วม-ไม่มีการเว้นระยะห่างก็ผิด ไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นผู้จัดหรือไม่

เวลา 09.00 น. จำเลยทั้งสี่ พร้อมทนายความทยอยเดินทางมาศาล จนเวลา 09.34 น. ศาลนั่งพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 และเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยอ่านในท่อนของคำวินิจฉัย

เนื้อหาโดยสรุป ในประเด็นแรก ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าสถานที่จัดกิจกรรมเป็นสถานที่แออัดอย่างไร ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายความเป็นมา รายละเอียดของการออกข้อกำหนด และมาตรการป้องกันโรค และพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ที่เห็นว่าเป็นความผิด ตรงตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ส่วนสถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่แออัดหรือไม่ เป็นประเด็นที่โจทก์ต้องนำสืบต่อไป

ประเด็นที่สอง ในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่องการห้ามการชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุม มีการกำหนดองค์ประกอบความผิดขึ้นเอง โดยมิชอบ โดยกำหนดมอบอำนาจให้แต่เพียงการประกาศเขตพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจออกข้อกำหนดลักษณะของการชุมนุมที่ต้องห้าม เห็นว่าประกาศดังกล่าวเป็นแต่เพียงการกล่าวซ้ำเรื่องการห้ามการชุมนุมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น ไม่ได้เป็นการกำหนดองค์ประกอบความผิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด

ประเด็นที่สาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อกำหนดข้อ 5 ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการมั่วสุมกันในที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดนั้น ไม่ได้ใช้บังคับเฉพาะกับผู้จัดการชุมนุม แต่ใช้บังคับต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

ข้อเท็จจริงตามพยานโจทก์เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามปาก ประกอบกับภาพถ่าย และวิดีโอจากการชุมนุม เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ได้อยู่ร่วมในการชุมนุมตามฟ้อง โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน แม้สถานที่ชุมนุมจะเป็นสถานที่โล่งกว้าง แต่มีคนจำนวนมาก และไม่มีการเว้นระยะห่าง จึงนับได้ว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่

ส่วนที่ระบุว่าไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังการชุมนุม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นผลที่เกิดในภายหลัง ไม่สามารถหักล้างการกระทำได้ และเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น

สุดท้ายในประเด็นว่าเมื่อมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว เป็นพ้นให้จำเลยพ้นผิดหรือไม่ เห็นว่าการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเพียงการให้ยกเลิกมาตรการและข้อกำหนดที่กำหนด ไม่ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่ได้ลบล้างความผิดจำเลย

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสี่ได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาไปตั้งแต่หลังศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว วันนี้จึงไม่ต้องชำระค่าปรับอีก ทั้งหมดจะได้พิจารณาว่าจะมีการฎีกาคำพิพากษาอีกหรือไม่อย่างไร

ขณะเดียวกัน ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลแขวงเชียงใหม่ยังนัดสืบพยานในคดีของ ธนาธร วิทยเบญจางค์, วัชรภัทร ธรรมจักร และ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ อีกคดีหนึ่ง ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน จากกรณีการชุมนุมม็อบ17พฤศจิกา2563 ซึ่งมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปยัง สภ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กับเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ในกรุงเทพฯ โดยคดีนี้อัยการเพิ่งมีคำสั่งฟ้องเข้ามาในช่วงกลางปี 2566

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง