9 ปีของการหายตัวไปของบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือหลานชายของ “ปู่คออี้” บิลลี่คือผู้เรียกร้องในสิทธิชุมชนซึ่งในหลายกรณีเป็นความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่อยู่อาศัยและการไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้านบางกลอย ใจแผ่นดิน และเขาคือหนึ่งใน แกนนำในการเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่กรณีการเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554
ท้ายที่สุด เขาหายตัวไปหลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัว โดยภายหลังมีหลักฐานยืนยันว่าเขาเสียชีวิตจากการพบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมัน โดยกระดูกส่วนที่เป็นกระโหลก ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกหู มีรอยไหม้และรอยแตกร้าว ซึ่งดีเอ็นเอยืนยันว่าตรงกับแม่ของนายพอละจี
“เขาเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน มีความฝันอยากกลับไปสร้างหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่บางกลอยบนใจแผ่นดิน ให้มีทั้งโรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ยังทำไม่สำเร็จก็หายไปซะก่อน นอกจากชอบช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เขาก็ทำไร่ทำสวน เป็นคนไม่ชอบอยู่เฉย ๆ ชอบศึกษาเรื่องราวหาความรู้ในการช่วยเหลือพี่น้องได้ยังไง ก็โทรคุยประสานกับเครือข่ายภายนอก เครือข่ายกะเหรี่ยง เครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมือง ก็ได้ไปเรียนรู้มา แล้วก็นำมาเล่าให้ในหมู่บ้านในครอบครัวฟัง ว่าคนข้างนอกทางภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ ทำไมเค้าอยู่ได้ ทำไมเราอยู่ไม่ได้ ทำไมต้องถูกขจัดให้ออกจากหมู่บ้าน เขาก็ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้ช่วยหมู่บ้านของเขา”
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ มึนอ – พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ ในหลายเรื่องตลอด 9 ปี ที่บิลลี่หายตัวไป รวมไปถึงความฝันที่มั่นสุดท้ายของบิลลี่และพี่น้องบางกลอย บิลลี่คิดเอาไว้ว่าถ้าได้กลับไปที่ใจแผ่นดินแล้วจะทำอะไร ด้วยวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีความผูกพันกับธรรมชาติที่มามากกว่าแค่พื้นที่ทำกิน แต่ผืนป่าคือบ้านหลังใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้
ปี 2562 มีการพบกระดูกบิลลี่ อธิบดี DSI ยืนยันว่านี่คือการฆาตรกรรม และชี้ชัดว่านี่คือบิลลี่ และในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ได้อนุมัติหมายจับชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน คดีฆาตกรรมบิลลี่ใน 6 ข้อหา วันต่อมาชัยวัฒน์และพร้อมพวกรวม 4 คน เดินทางไปมอบตัวและยืนยันพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ก่อนที่ในวันที่ 24 มกราคม 2563 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่าบิลลี่ โดยสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาเป็นเจ้าหน้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“ก็รู้สึกว่าถ้าเขายังอยู่ เขาจะวิ่งเรื่องราวที่วางแผนไว้ให้บรรลุได้ตามที่เขาต้องการ แต่เขากลับหายตัวไปซะก่อน เหมือนแบบเวลามันถูกทำให้ญาติพี่น้องในหมู่บ้านรู้สึกเสียดายเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่บิลลี่ ทุกคนก็ไม่อยากให้คนที่ทำสิ่งดี ๆ โดนจับไปโดยไม่ได้กล่าวลา ก็ในท้ายสุดทุกคนก็เสียใจกันหมด ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ตัวมึนอเองก็คงได้กลับไปอยู่กับปู่ไปอยู่กับญาติพี่น้องที่บางกลอยบนได้ เพราะเขาวางแผนไว้ว่าเขาจะเป็นคนที่คอยอยู่ข้างล่าง เค้าจะส่งเสริมให้ทุกคนสามารถอยู่กับพี่น้องพี่บางกลอยบนได้อะค่ะ”
ด้วยชะตาชีวิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบถูกทำให้เป็นคนไม่เท่าคนอยู่ตลอด การโหยหาแผ่นดินแม่ของชาวบางกลอยจึงดำรงอยู่ในเนื้อตัวของทุกคน 14 มกราคม 2564 ชาวบางกลอยไม่ต่ำกว่า 32 คน เดินเท้าเข้าป่าใหญ่ เพื่อกลับไปยังพื้นที่ตั้งหมู่บ้านเดิมที่บางกลอยบน ‘ใจแผ่นดิน’ และในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายประชาชนหลายกลุ่มได้ปักหลักชุมนุม ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการลงนามใน MOU ยุติการใช้ความรุนแรงกับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และรับรองแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามข้อเสนอของชาวบางกลอย ก่อนที่ทุกอย่างจะถูกขยี้ในวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 MOU ดังกล่าวถูกฉีก เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเปิดปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร โดยการสนธิกำลังระหว่าง กองร้อย ตชด.144 ทหาร ฉก.ทัพพระยาเสือ ทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน กองกำกับการ 5 บก.ปทส. กองร้อยน้ำหวาน อช.แก่งกระจาน กองการบิน ทส. หน่วยฯ พญาเสือ สำนักป้องกันฯ กรมอุทยานฯ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับกุมชาวบ้านบางกลอยที่กลับไปที่บางกลอยบน สามารถพาชาวบ้านลงมาได้ 13 คน และได้ปล่อยตัวชาวบ้านไป
“รู้สึกว่าพี่น้องเราไม่ได้รับความยุติธรรมเลย เหมือนกับรัฐเลือกปฏิบัติทั้ง ๆ ที่หมู่บ้านบางกลอยบนแต่ก่อนมีบ้านเลขที่ แต่ทำไมเค้าต้องไล่เรามาอยู่ข้างล่าง ซึ่งอยู่บางกลอยล่างมันก็อยู่ในเขตอุทยานเหมือนกัน ทำไมเขาไม่จัดให้อยู่ในเขตพื้นที่นอกเขตอุทยาน ถ้าเขาจัดให้อยู่ในเขตอุทยานเหมือนเดิมทำไมเขาไม่ให้อยู่บางกลอยบนละ ญาติพี่น้องจะได้อยู่กันตามที่เขาต้องการ รู้สึกเสียใจกับความยุติธรรมที่มอบให้เราแบบไม่ยุติธรรมเลย” มึนอพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าตัดพ้อถึงสิ่งที่ชาวบางกลอยทุกคนต้องเผชิญ
16 มีนาคม 2564 หลังจากภาคี #saveบางกลอย เริ่มชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
1 กุมภาพันธ์ 2565 ภาคี #saveบางกลอย กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และพีมูฟ ประกาศเคลื่อนไหวเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ โดยเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนที่ตัวแทนภาคี #saveบางกลอย จะสามารถเข้าไปเจรจากับผู้แทนรัฐบาลได้ โดยได้มีการร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าว ตรวจสอบร่วมกับกันสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากนั้นยังได้รับแจ้งว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟทวงสิทธิทั้ง 15 ข้อ ได้ผ่านการรับรองของคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว รวมถึงข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยด้วย
18 มกราคม 2566 ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ยื่นหนังสือถึงอนุชา นาคาศัย ประธานคณะกรรมการอิสระฯ ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะด้านคดีความและการทำกิน โดยยืนยันว่าหากยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีได้ ชาวบางกลอยจะกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินอีกครั้ง
“อยากบอกให้คนในสังคมรับรู้ว่า ถึงแม้พวกเราจะเป็นคนชาติพันธุ์แต่ก็เป็นคนเหมือนกัน ก็อยากให้มองว่าเราต้องได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน ไม่ต้องแบ่งแยกว่าเราเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงหรือว่าเป็นคนอื่นเราก็เป็นคนเหมือนกันทั้งแผ่นดิน แล้วก็อยากฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องบน ถ้าดูตามข่าวเขาบอกว่าเขาลงมาช่วยเหลือหมู่บ้านบางกลอยเยอะแยะ แต่ความจริงแล้วเราที่เป็นคนส่วนหนึ่งของคนบางกลอยยังไม่เห็นได้รับความเป็นธรรมหรือความช่วยเหลืออย่างที่เขาพูดมาเลย ปัญหาทุกอย่างตั้งแต่บิลลี่หายตัวไปมันก็ยังอยู่เหมือนเดิม อย่างเช่นเรื่องสิทธิที่ดินทำกินมันก็ยังเป็นปัญหาอยู่มันยังไม่คลี่คลายเหมือนกันที่เค้าพูดในข่าว ก็อยากให้เค้าระบุบอกด้วยว่าไอ้เรื่องราวที่เค้าออกมาช่วยในหลายเรื่องเนี่ย เราที่เป็นชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านบางกลอยเราไม่รู้ว่าเขามาช่วยอะไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือก็จริงแต่เขาได้เข้ามาช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นนาขั้นบันได มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ เป็นงานที่ชาวบ้านไม่ถนัด ก็อยากให้มาช่วยชาวบ้านในเรื่องที่ชาวบ้านถนัดตามวิถีชีวิต”
โดยวันนี้ (23 เมษายน 2566) จะมีจัดกิจกกรม “เส้นทาง ความหวัง ความยุติธรรม” 9 ปี บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ยังไม่ได้กลับบ้าน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และในเวลา 18.00 น. ในสถานที่เดียวกันพบกับคอนเสิร์ต “ขอเป็นนกพิราบขาว” เติมเต็มด้วยมิตรภาพ ความรัก ความหวัง กำลังใจ ระดมทุนช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย บัตรราคา 500 บาท ได้ที่ https://forms.gle/WXW56g8JqrG9aCVm7
และพรุ่งนี้ 24 เมษายน 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดสืบพยานคดี บิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ( 10 นัด )
คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ที่นายบิลลี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ได้ถูกจับกุมและเอาตัวไปโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในขณะนั้น กับพวก หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดได้ทราบชะตากรรรม ของบิลลี่อีกเลย จนกระทั่งกรมสอบสวน คดีพิเศษ (DSI) และอัยการได้ร่วมกันติดตามสอบสวนจนได้พยานหลักฐาน ที่เชื่อได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยานที่จับกุมนายบิลลี่ไปนั้นได้ร่วมกันฆาตกรรมนายบิลลี่และปกปิดอำพรางคดี โดยในนัดสืบพยาน 24 เม.ย. นี้จะเป็นการสืบพยานโจทก์นัดแรก หลังจากที่บิลบี่หายตัวไป 9 ปี ติดตามคดี บิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ได้ที่ : https://crcfthailand.org/case…/polajee-rakshongcharoen/
9 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานของชาวบางกลอยที่ต้องสูญเสียและต้องแลกกับหลายชีวิตที่ไม่มีโอกาสได้กลับไปใจแผ่นดิน ในขณะเดียวกันสิ่งที่พวกเราในฐานะของเพื่อมนุษย์จะปฏิบัติต่อกันได้คือร่วมกันจับตาความยุติธรรมและร่วมเป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารและสนับสนุนให้ก้าวต่อไปพี่น้องบางกลอยจะเดินทางถึงใจแผ่นดิน
ย้อนไทม์ไลน์จากผืนป่าแก่งกระจายถึงการหายตัวไปของบิลลี่
- จังหวัดเพชรบุรีในเขตผืนป่าแก่งกระจาน มีชุมชนเล็กๆ ที่ชื่อ “ใจแผ่นดิน” มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า หมู่บ้านใจแผ่นดินตั้งอยู่ตั้งแต่ปี 2455
- ปี 2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยไม่ได้กันพื้นที่หมู่บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยออกจากเขตอุทยานฯ
- ปี 2539-52 เริ่มโครงการอพยพราษฎรไปที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และบ้านพุระกำ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ระหว่างนี้ชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมา ทนความยากลำบากไม่ไหว จึงกลับขึ้นไปที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน
- ปี 2552 ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
- ปี 2553 เริ่มยุทธการตะนาวศรี มีการเผาบ้าน ยุ้งข้าว และขับไล่ชาวกระเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดินในปี 2554
- ต่อมา ในปีเดียวกัน ทัศกมล โอบอ้อม แกนนำร้องเรียนความเป็นธรรมให้แก่ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกยิงเสียชีวิต
- ปี 2555 ปู่คออี้ กับพวก รวม 6 คน เป็นตัวแทนยื่นฟ้องศาลปกครองกรณีการเผาบ้านและยุ้งข้าว
- ปี 2557 บิลลี่หายตัวไปที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติควบคุมตัวในข้อหามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง
- ปี 2561 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายกรณีเผาบ้านฯ ให้ปู้คออี้ กับพวกรวม 6 คน
- ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ (DSI) รับคดีการหายตัวไปของบิลลี่ไปเป็น “คดีพิเศษ” และเริ่มสอบสวนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561
- ปี 2562 พบกระดูกบิลลี่ อธิบดี DSI ยืนยันว่านี่คือการฆาตรกรรม จากการพบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมัน โดยกระดูกส่วนที่เป็นกระโหลก ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกหู มีรอยไหม้และรอยแตกร้าว ซึ่งดีเอ็นเอยืนยันว่าตรงกับแม่ของนายพอละจี
- 11 พฤศจิกายน 2562 อนุมัติหมายจับชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน คดีฆาตกรรมบิลลี่ใน 6 ข้อหา วันต่อมาชัยวัฒน์และพร้อมพวกรวม 4 คน เดินทางไปมอบตัวและยืนยันพร้อมต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
- 24 มกราคม 2563 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องชัยวัฒน์ กับพวกรวม 4 คน ข้อหาฆ่าบิลลี่ โดยสั่งฟ้องเฉพาะข้อหาเป็นเจ้าหน้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
- 14 มกราคม 2564 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง ไม่ต่ำ 32 คน เดินเท้าเข้าป่าใหญ่ เพื่อกลับไปยังพื้นที่ตั้งหมู่บ้านเดิมที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน หลังจากนั้นปรากฏป้ายผ้าข้อความ #saveบางกลอย และ ชาติพันธุ์ก็คือคน ถูกผูกไว้ในหลายจังหวัด โดยเริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสู่พื้นที่อื่นๆ
- 15 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มประชาชนได้ปักหลักชุมนุม ณ ทำเนียบรัฐบาล ร่วมกับพีมูฟ เพื่อเรียกร้องให้มีการลงนามใน MOU ยุติการใช้ความรุนแรงกับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และรับรองแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตามข้อเสนอของชาวบางกลอย
- 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 MOU ดังกล่าวถูกฉีก เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเปิดปฏิบัติการยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร โดยการสนธิกำลังระหว่าง กองร้อย ตชด.144 ทหาร ฉก.ทัพพระยาเสือ ทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน กองกำกับการ 5 บก.ปทส. กองร้อยน้ำหวาน อช.แก่งกระจาน กองการบิน ทส. หน่วยฯ พญาเสือ สำนักป้องกันฯ กรมอุทยานฯ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับกุมชาวบ้านบางกลอยที่กลับไปที่บางกลอยบน สามารถพาชาวบ้านลงมาได้ 13 คน และได้ปล่อยตัวชาวบ้านไป
- 16 มีนาคม 2564 หลังจากภาคี #saveบางกลอย เริ่มชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
- 1 กุมภาพันธ์ 2565 ภาคี #saveบางกลอย กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และพีมูฟ ประกาศเคลื่อนไหวเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ โดยเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ก่อนที่ตัวแทนภาคี #saveบางกลอย จะสามารถเข้าไปเจรจากับผู้แทนรัฐบาลได้ โดยได้มีการร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระฯ ดังกล่าว ตรวจสอบร่วมกับกันสำนักนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากนั้นยังได้รับแจ้งว่าข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟทวงสิทธิทั้ง 15 ข้อ ได้ผ่านการรับรองของคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว รวมถึงข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยด้วย
- 18 มกราคม 2566 ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ยื่นหนังสือถึงอนุชา นาคาศัย ประธานคณะกรรมการอิสระฯ ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะด้านคดีความและการทำกิน โดยยืนยันว่าหากยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีได้ ชาวบางกลอยจะกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินอีกครั้ง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...