Lanner Joy : เมืองที่ปลอดภัย คือเมืองที่คนกล้าใช้จักรยาน พูดคุยกับ บอส –  สิทธิชาติ สุขผลธรรม และการเข้าร่วมกลุ่ม Critical Mass Chiang Mai  ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เชียงใหม่จะหันมาสนใจเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนมากกว่านี้?

เชียงใหม่ในช่วง High Season (พฤศจิกายน – ธันวาคม) ของทุกปี เป็นเมืองป๊อปปูล่าของเหล่านักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ หลังจากยุคโควิด ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ ก็กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง แต่ความครึกครื้นนั้นมักนำมาซึ่งปัญหาเรื่องการใช้รถบนท้องถนน ข้อมูลจากเพจ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “สถิติในปี 2566 ในช่วง 7 วันอันตราย  จังหวัดเชียงใหม่มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จากอุบัติเหตุในการขี่รถจักรยานถึง 70%” นอกจากอุบัติเหตุ ยังมีปัญหาจราจรติดขัดทุกปีซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่เพิ่มพูนมากขึ้นทุกวัน 

เราทุกคนต่างใช้พื้นที่สาธารณะ แต่จะทำยังไงให้ท้องถนนที่เราใช้ปลอดภัยมากกว่านี้? Lanner Joy อยากแนะนำทุกท่านให้รู้จัก “บอส –  สิทธิชาติ สุขผลธรรม” กับการหนีเมืองกรุงมาอยู่เชียงใหม่ บอสคือคนๆ หนึ่งที่หลงไหลในธรรมชาติ ดูนกเป็นงานอดิเรก และได้เข้าร่วมกลุ่ม Critical Mass Chiang Mai คอมมูนิตี้ที่ชวนคนให้กล้าออกมาใช้จักรยานมากขึ้น ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งเพจ Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่ ที่ชักชวนการตั้งคำถามและสำรวจโครงสร้างพื้นฐานในเมืองผ่านการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 

บทสัมภาษณ์นี้จึงเป็นการพูดคุยกับ “บอส” จากมุมคนทำงานเกี่ยวกับ Climate Change ท่ีสนใจประเด็นเรื่องการจัดการพื้นที่สาธารณะ และการรณรงค์เรื่อง “ความปลอดภัยบนท้องถนน” เพื่อผลักดันให้คนเชียงใหม่และภาครัฐหันมาใส่ใจและจริงจังในการแก้ปัญหานี้มากยิ่งขึ้น 

เรารู้จักบอสครั้งแรกจากการได้ยินคำว่า ‘Critical Mass’ สิ่งนี้คืออะไร อธิบายให้ฟังได้มั้ย?

“Critical Mass ในภาษาอังกฤษมันเหมือนว่า เป็นจุดที่ทําจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มันเป็นไอเดียหนึ่งที่คนรับไปแล้วก็ใช้กันทั่วโลก เริ่มมาจากทางอเมริกาเมืองฝั่งตะวันตกในแคลิฟอร์เนีย แถวเบย์แอเรีย (Bay Area) ซานฟรานซิสโก ก็คืออย่างที่รู้ อเมริกามันออกแบบเมืองให้รถเป็นใหญ่อยู่แล้ว แต่มันก็จะมีกลุ่ม Advocacy หรือกลุ่มนักรณรงค์ที่สนับสนุน เรียกร้อง ผลักดันให้มีการเดินทางโดยจักรยานมากขึ้น”

“คือหลัก ๆ เค้าต้องการทําให้คนขี่จักรยานมีคนถูกเห็นมากขึ้น เพราะว่าทฤษฎีตามชื่อ “Critical Mass”  ก็คือ “มวลวิกฤต” หมายถึงการที่ผู้คนที่ใช้หรือเชื่ออะไรสักอย่างมากถึงจุดนึง ความเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้น ชื่อมันก็มาจากตรงนี้แหละ อย่างถ้าคนใช้จักรยานมาถึงจุดนึง แล้วเริ่มใช้กันมากขึ้น เร็วขึ้น มันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ในการเมืองก็มี ถ้าเกิดคนเชื่ออะไรถึงจุดวิกฤต มากถึง 30% หรือ 1 ใน 3 ที่มีความเชื่อ แล้วหลังจากนั้นความคิดมันจะแพร่เร็วมากจนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”  

“เพราะว่าอย่างม็อบช่วงปี’63 ก็เหมือนกัน พอคนมันพูดเรื่องนี้มากขึ้น จนถึงจุดนึงคนแม่งพูดกันหมดเลย แต่ก่อนหน้านั้นน่ะไม่มีใคร แบบพูดกันเงียบ ๆ พูดกันในห้องลับ อะไรอย่างเงี้ย คล้าย ๆ กัน”

แล้วจริง ๆ บอสเป็นคนที่ไหน? 

“จริงๆ เป็น คนนนทบุรี โตที่กรุงเทพฯ เรียนที่กรุงเทพฯ มาตลอด ย้ายมาเชียงใหม่เมื่อสามปีที่แล้ว (พ.ศ. 2564) ช่วงโควิดพอดี ตอนนั้นที่ย้ายมาเพราะอยู่กรุงเทพฯไม่ไหวละ รู้สึกว่าเสียงมันดัง แล้วก็เหนื่อยกับการเดินทาง”

“ตอนช่วงเรียนปริญญาโท เราเรียนที่ฮาวาย พอไปอยู่ตรงนั้นเราได้ใช้ชีวิตอีกแบบนึง เพราะกรุงเทพฯ มันจะเป็นเมืองจ๋า แล้วมันก็ไม่ค่อยมีธรรมชาติใช่มะ แต่ว่าพอไปอยู่นู้นมันก็เป็นเมืองนะ แต่ว่ามันธรรมชาติเยอะ ก็เริ่มได้ขี่จักรยานไปนู่นไปนี่ แล้วเราก็รู้สึกชอบ”

“พอกลับมาไทยปุ๊บ ไปทํางานอยู่กรุงเทพฯ แล้วมันก็อึดอัด จักรยานก็ขี่ไม่ได้ ไปไหนรถก็ติด แล้วก็ไม่มีธรรมชาติไง เราก็เลยรู้สึกว่า เออ ไม่อยากอยู่แล้ว เลยดูว่าไปไหนดี แต่เอาจริง ๆ เป็นคนชอบทะเลนะ ไม่รู้ทําไมเลือกมาเชียงใหม่ อาจเพราะเชียงใหม่มีคนหลากหลาย มีธรรมชาติ เราเป็นคนชอบดูนก ชอบเดินป่าอยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความพิเศษทางนี้” 

“อยู่กรุงเทพฯ มองไปทางไหนมันก็จะเป็นตึก แล้วก็ไม่เห็นเส้นขอบฟ้า คือมันไม่มีอะไรที่เป็นวัตถุทางธรรมชาติ มานี่มันมีภูเขา มีดอยสุเทพ เลยชอบเชียงใหม่ เมืองมันไม่ใหญ่ด้วย ตัวเมืองตรงกลางประมาณ 7-8 กิโลฯ เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่เมืองเก่า ยาวไปถึงหางดง-แม่ริมคือมันไม่ไกล มันไม่ใหญ่เท่ากรุงเทพฯ ที่แบบเมืองมันเกือบ 20 กิโลฯ แล้วมันก็ เอ่อ รู้สึกว่าไปไหนมันก็จะเหนื่อย แล้วก็ไม่ค่อยมีตัวเลือกมาก มาอยู่ที่นี่ก็เห็นคนขี่จักรยานก็เยอะ มีเพื่อนอยู่บ้าง ก็เลยมาอยู่เชียงใหม่แล้วกัน ไป ๆ มา ๆ ก็อยู่มา 3 ปีแล้ว”

แล้วการทำงานเป็นยังไง เค้าเรียกว่านักธรรมชาติวิทยาใช่มั้ย?

“เรียกว่าเนเชอรัลลิสต์ (Naturalist) แหละ จริง ๆ มันแค่คนที่ชอบธรรมชาติ ชอบสังเกตและชื่นชมมัน”

“ตอนเรียนปริญญาโท เราเรียนเกี่ยวกับวิศวกรรมทางทะเล ซึ่งส่วนใหญ่งานสายนี้จะต้องทำงานเกี่ยวกับน้ำมัน ซึ่งเราไม่อยากทำธุรกิจน้ำมัน อยู่ไทยตัวเลือกไม่เยอะนะ ตอนอยู่กรุงเทพฯ เคยทำงานอยู่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) – PTTEP” อยู่ปีนึง แล้วไม่อยากทำงาน คอร์ปอเรท (Corporate) แบบนี้แล้ว ก็เลยออกไป”

“ชีวิตจริงมันไม่เหมือนในความคิด พอเป็นวิศวกรรมทางทะเลจริง ๆ น่ะ ส่วนใหญ่งานก็จะมาทางอุตสาหกรรมหนัก (Heavy Industry) ซะเยอะ แล้วก็เราไม่ได้อยากทําสายวิทยาศาสตร์ Academic หรือสายวิชาการ อยากทํางานแนวอนุรักษ์โดยใช้พวกเทคโนโลยีเข้ามาช่วยซึ่งมันยังไม่มีโอกาสได้ทําแบบนั้นซักทีในไทย อย่างที่รู้น่ะคืองานอนุรักษ์บ้านเราเงินมันน้อย ตอนนี้ไทม์มิ่งมันยังไม่ได้ ก็เลยแบบเออเดี๋ยวรอก่อนดีกว่า ลองทําอย่างอื่นก่อน”

ไปเข้าร่วมกลุ่ม Critical Mass Chiang Mai ได้ยังไง

“เอาจริง ๆ Critical Mass ที่เชียงใหม่เริ่มจาก “รอนนี่ กันจี (KYI)” นะ กันจีเป็นคนเริ่มที่นี่ตั้งแต่เค้าอายุ 15-16 ปี แล้วเค้าก็ทํามาประมาณ 4-5 ปี เพิ่งหยุดไปช่วงโควิดนี่แหละ แล้วพอหลังโควิดเค้าก็ไปเปิดบาร์ เลยอาจจะไม่ค่อยมีเวลามารันตรงนี้”

“หลังโควิดมันก็เลยหายไป แต่ที่กลับมาอีกครั้งเพราะว่า “บริทนีย์ (Brittany Harms)” เค้าเป็นเพื่อนกันจี ก็คือเป็น Expat ทํางานที่เชียงใหม่นี่แหละ เป็นคนอเมริกัน พอกันจีเล่าให้ฟังว่าเคยทำ แล้วบริทนีย์เลยสนใจอยากทําต่อ ก็เลยโอเค เอามันกลับมาใหม่ น่าจะช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 มั้ง” 

ภาพจากเพจ Critical Mass Chiang Mai

“ก็คือ Critical Mass Chiang Mai เนี่ยคนไทยจะไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ามันอยู่ในวงกลุ่มคนต่างชาติ กันจีก็ไม่ใช่คนไทย แล้วเค้าก็พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพื่อนเค้าก็เป็นคนต่างชาติเยอะ คอนเสปต์นี้มันมาจากตะวันตกไง คือคนต่างชาติเห็น เข้าใจ มันก็เก็ทเลย อ๋อ อันนี้คือ Critical Mass อะ เค้าก็มาปั่นกันแต่ว่าคนไทยเนี่ยเค้าอาจจะยังไม่ค่อยเก็ท” 

“หลังจากนั้นมันก็มาต่อเนื่องเรื่อย ๆ จน บริทนีย์กลับอเมริกาไปละ แล้วเราก็คือ ไปกับเค้าตั้งแต่แรก ๆ เราชอบมากเพราะว่า เออ มันต้องมีกลุ่มอย่างงี้แหละในเชียงใหม่น่ะ พอเค้ากลับไป เค้าก็บอกเราว่า ให้เราทําต่อมั้ย จริง ๆ มันก็ไม่ได้ทําอะไรมาก แค่เป็นคนประสานงาน ออแกไนซ์ ประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงหาอาสาสมัครให้มาช่วยกันถนนให้หน่อย”

“คือที่มันต้องมีคนดูแลความปลอดภัย เพราะว่ากลุ่มเราพยายาม สนับสนุนให้คนที่ไม่เคยปั่นเลย หรือว่าปั่นไม่เก่งมาปั่นด้วยกัน แล้วเราจะปั่นช้ามาก เพื่อให้ทุกคนไปด้วยกันได้ แล้วก็ปลอดภัย”

ภาพจากเพจ Critical Mass Chiang Mai

เหมือนเริ่มจากที่ทําให้คนอื่นเชื่อและมองเห็นก่อน ว่าเมืองเราก็มีคนใช้จักรยานอยู่นะ

“ใช่ พยายามมายึดพื้นที่สาธารณะ แล้วก็เสนอว่า เฮ้ย มันใช้อย่างอื่นได้นะ มันไม่ได้ทําได้แค่อย่างเดียว แบบ ถนนไม่ได้มีไว้แค่ให้รถวิ่ง แต่ถนนแบบให้จักรยานขี่ก็ได้”

“เวลาปั่น Critical Mass คือเราก็จะบอกว่า คอนเซปต์หลักมันไม่เหมือนกลุ่มปั่นจักรยานที่ปั่นขี่ออกกําลังกาย สันทนาการ  คือพวกนั้นส่วนใหญ่ต้องมีตํารวจนํา มีรถเซอร์วิส คอยวิ่งเคลียร์การจราจรให้ แต่คือแนวคิดเรา ทุกอย่างมันต้องออร์แกนิค  เราลงไปยึดถนนครึ่งนึง เพื่อบอกว่าเราสามารถแบ่งถนนให้กับผู้ใช้คนอื่นได้ด้วย”

ภาพจากเพจ Critical Mass Chiang Mai

เริ่มใช้จักรยานมากขึ้นตั้งแต่ตอนที่อยู่เชียงใหม่ หรือว่าใช้เป็นปกติมานานแล้ว?

“ใช้จักรยานมาตั้งแต่ตอนอยู่ฮาวาย ประมาณสองสามปี ที่นั่นมันดีเพราะว่า รถเมล์เอาจักรยานขึ้นจอดข้างหน้าได้ด้วย คือถ้ามีรถก็จะสะดวก แต่ว่าไม่มีรถก็ไม่ตาย ไม่มีรถก็สามารถเอาจักรยานขึ้นรถเมล์ แล้วก็ไปถึงจุดหมาย แล้วก็ปั่นไปที่ที่เราต้องการได้  คือมันสะดวก ไม่ใช้เงินเยอะ ซื้อรถก็แพง นี่ซื้อจักรยานคันไม่กี่พันเองอะ มันก็ใช้ได้” 

ยกตัวอย่างโครงการหรืออีเวนต์ที่เคยจัด มีโครงการไหนบ้างที่คิดว่าชอบและมี Impactในเชียงใหม่

“จัดมาหลายครั้งแล้ว ถามว่างานไหนมีอิมแพคบ้างมั้ย เราว่าอิมแพคมันน้อยนะ หมายถึงอิมแพคในเชิงประจักษ์เราว่าน้อย คือถนนอะไรก็ยังเหมือนเดิม จํานวนคนใช้จักรยานมันก็ไม่ได้เพิ่มแบบเร็วขนาดนั้น แต่ว่า ของพวกนี้อย่างที่ว่าเนี่ย มันคงเกิดอย่างช้า ๆ แหละ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเราถามว่า เรามีอิมแพคหรือยัง เราก็รู้สึกว่าเรายังไม่มีอิมแพคขนาดนั้น”

“แต่ว่างานวันจักรยานโลก มันจะเป็นข้อยกเว้นนิดนึง คือเรารู้สึกว่า อย่างงานจักรยานโลกอ่ะคนมันจะเยอะเป็นพิเศษ อย่างรอบที่ผ่านมาก็คือ เป็นร้อย ขึ้นชื่อว่าจักรยานโลกมันก็จะรวมคนที่ปั่นจักรยานทุกแบบได้ แต่พอเป็นงาน Critical Mass แบบปั่นในเมืองกันจริง ๆ อ่ะ คนปั่นมันน้อย” 

ภาพจากเพจ Anywheel Thailand

“ที่เราบอกคนเชียงใหม่ปั่นจักรยานเยอะแยะเต็มไปหมดเลย ดูดิปั่นที่ไหนบ้าง

ก็คือ ปั่นขึ้นเขาบ้าง ปั่นระยะไกล ปั่นแข่งอะไรอย่างงี้ อันนั้นน่ะเยอะจริง แต่ว่า ถามว่าปั่นในเมืองเยอะไหม ไม่ได้เยอะขนาดนั้น แล้วส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทยด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ฝรั่ง ไม่ก็คนจีน หรือว่าคนทางเอเชียตะวันออก ที่เขาคุ้นกับการใช้จักรยานอยู่แล้วเพราะฉะนั้นอิมแพคยังไม่มี ต้องยอมรับ”

คิดจะคุยกับภาครัฐไหมในการทํางานของ Critical Mass Chiang Mai หรือเคยคุยกันในกลุ่มไหม ว่าจะดันไปให้ถึงไหน

“สําหรับเรา Critical Mass Chiang Mai อยากให้มันเป็นแพลตฟอร์มมากกว่า

คือส่วนตัวคิด แต่ว่าสําหรับ Critical Mass เราอยากให้มันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของคนที่ไม่เคยขี่จักรยาน เพราะก็ต้องบอกว่า ต่อให้มันเป็นกลุ่ม Advocacy จริง  มันก็จะมีคนที่รู้สึกอยากดันต่อ เต็มใจทําต่อ แต่บางคนก็ให้ไม่ได้มาก ก็แค่อยากมาร่วม อยากเป็นอาสาสมัคร เป็นครั้ง ๆ ไป เราก็เลยรู้สึกว่า เออ ให้แพล็ตฟอร์ม ตรงนี้มันเป็นกลางดีกว่า เป็นจุดรวมคน หรือ Community มากกว่าน่ะ”

“เราก็เลยคิดว่าเราจะแยกมาทํา Platform นึงเอง (Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่) ที่เป็น Advocacy เลย ก็คือ บ่นเรื่องนโยบาย บ่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็เพิ่งเริ่มแหละเอาจริง แล้วเพราะว่ารับช่วง Critical Mass มา ก็ประมาณ 3-4 เดือน

“ตอนแรกก็คิดจะใช้ Critical Mass เนี่ยแหละ เป็น Platform แต่ว่า คิดไปคิดมา คนมันหลากหลายเกิน ก็เลยแบบแยกมาทําอีกส่วนนึงดีกว่า”

“แต่ยังไม่มีภาคีนะ จะเริ่มทำเรื่องความตระหนักมันก็ต้องทํา พวกโซเชียลมีเดียก่อนแหละ ทําเรื่องความรู้ก่อน สร้างเพจเฟซบุ๊กแบบง่ายๆ แล้วก็เริ่มแชร์ให้เพื่อนที่สนใจประเด็นนี้ เป็นจุดที่แบบ เหมือนเราอ่านบทความอะไรมา เราขี่จักรยาน เราเจออะไรก็มาบ่น”

คิดยังไงกับธุรกิจรถเมล์สาธารณะที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ ณ ปัจจุบัน 

“ตอนนี้เหรอ มีก็ดี แต่รู้สึกว่ามันคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้เยอะ เรื่องรถเมล์มันก็รวมไปเรื่องขนส่งสาธารณะที่เป็นแค่ขานึง ส่วนจักรยานก็ขานึง เรื่องรถยนต์ส่วนตัวก็อีกขานึง คือ 3 ขานี้มันต้องไปพร้อมกันอ่ะ เพราะว่าธีมใหญ่คือเรื่องความปลอดภัยทางถนน” 

“อย่างปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) กําลังเป็นกระแสเข้ามา แต่สำหรับเราธีมหลักที่พูดได้ทันที คือเรื่องความปลอดภัยทางถนน เพราะความยั่งยืนมันเห็นผลระยะยาว อย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอะไรงี้ เราทําไปเราไม่เห็นผลระดับท้องถิ่นเท่าไหร่ แต่กับเรื่องความปลอดภัยทางถนนอ่ะ เราว่าเป็นธีมหลักที่จะมาผลักดันเรื่องนี้ได้”  

พอระบบมันทำให้คนใช้รถยนต์กันเยอะขึ้นและง่ายขึ้นก็เลยทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้ถนนในแบบอื่น ๆ 

“ใช่ อย่างเพื่อนเรามาจากจีน มาเที่ยวแล้วถามว่า เห้ย ขับรถไปเมืองเก่าได้เหรอ

คือคอนเสปต์เมืองเก่ามันไม่น่าจะขับรถเข้าได้ กลายเป็นว่าเมืองเก่าเราขับรถเข้าไปแล้วก็ที่จอดเต็มเลย คือคนมันใช้รถเพราะว่าคนรู้ว่ามันมีที่จอดด้วย”

“อันดับแรก ที่ผ่านมามันยังไม่มีคนกล้าแตะเรื่องรถยนต์ส่วนตัว คือทําแต่จักรยาน ส่งเสริมแต่ฝั่งนี้ แต่ไม่ให้ลดฝั่งโน้น มันไม่เวิร์คอยู่แล้วเนอะ อย่างที่สองคือ เรื่องนี้ใครทําก็โดนด่าแน่นอน ฮ่า ๆ อย่างรอบก่อน แบบ UDDC (Urban Design and Development Center – ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง)  ของจุฬาฯ มาทําโปรเจคตรงถนนราชดําเนินที่เขาปรับเป็นวันเวย์ ลดเลนจากสวนกันใช่ไหม ให้เหลือเป็นวันเวย์เลนเดียว แล้วเอาอีกเลนนึงอ่ะตีเส้นให้กลายเป็นคนเดินกับจักรยาน คนด่าเละเลยอ่ะ”

“อันนั้นน่ะโหดจัด แล้วตอนนั้นเราก็ไม่รู้ละเอียดนะว่า รับฟังความคิดเห็นแล้ว

ทําไมพอทําจริงโดนด่าขนาดนั้น แล้วมันเป็นช่วงโควิดด้วย รถมันไม่น่าเยอะนะ แต่ก็ยังโดนด่ากัน แต่เรารู้สึกว่าเออมันเรื่องปกติ ทําอย่างเงี้ยคนมันด่าอยู่แล้ว แต่ว่าพอมันไม่มีกลุ่มที่มาแบคอัพรัฐ รัฐโดนด่า ก็ถอย จบ” 

“ช่วงแรกของการทำโครงการมันมีแรงต้านอยู่แล้ว เลยต้องมีกลุ่มแบบนี้แหละที่มาคอยบอกว่า เฮ้ยจริง ๆ มันมีคนได้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ได้ประโยชน์ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เป็นแค่คนที่ผ่านไปผ่านมา แต่กับคนที่ออกมาด่าส่วนใหญ่ก็คือไม่สะดวกสบาย เค้าก็ต้องปรับความเคยชิน” 

“ถามว่าคนที่มาแบคอัพรัฐ หรือเสี่ยงส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ เค้าจะรู้สึกปลอดภัยขึ้นไหมถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น เขาคงรู้สึกแหละ แต่อย่างที่เราว่าพอมันไม่มีกลุ่มที่ทําให้เสียงเขาแข็งแรงเพื่อต้านกับกลุ่มที่เสียประโยชน์อ่ะ มันก็เลยจบไป” 

 อุบัติเหตุทางถนนไม่ควรทำให้เป็นเรื่องปกติ

“คือเชียงใหม่จริงๆ แล้วเป็นจังหวัดที่อุบัติเหตุทางถนนเสียชีวิตเยอะมากเลยนะ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว เยอะกว่ากรุงเทพฯ อีกนะ อย่างแค่อําเภอ แค่เขตเทศบาลเมือง ปีเนี้ยตายไปแล้ว 40 คน อุบัติเหตุทางถนนในเชียงใหม่นะทั้งจังหวัดปีละสี่ร้อยกว่าคน แต่ว่า Hotspot ก็อยู่ในเมืองนั่นแหละ 

“เรารู้สึกว่าอุบัติเหตุบนถนนเป็นอะไรที่ไม่ควรเกิด แค่คนเดินทางจากจุด A ไปจุด B คือไม่ควรตายอ่ะ มันง่ายไป ประเทศไทยเป็นประเทศทีมีอุบัติเหตุทางถนนเยอะ อันดับท็อป 5 ของโลก มาดูตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลที ต้องมานั่งนับเลขว่าปีนี้จะตายน้อยกว่าปีที่แล้วกี่คน แล้วทุกคนชินกับมัน ทั้ง ๆ ที่เรารู้สึกว่ามันจะชินได้ไงวะ คือเรื่องพื้นฐานสุด ๆ”

“เราว่าเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องที่ ต้องคุยกันจริงจัง เพราะว่าเราเสียทรัพยากร ถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจก็คือทรัพยากรมนุษย์ใช่ไหม แต่พูดกันภาษาบ้าน ๆ คือแบบ เออ แค่ขับรถทําไมต้องตายวะ แค่แบบจะเดินทางอ่ะ ทําไมต้องตาย”

“ซึ่งตรงนี้มันแก้ไม่ได้หรอกถ้าไม่จัดการเรื่องรถยนต์ส่วนบุคคลด้วย เพราะว่าจริง ๆ อุบัติเหตุ มันไม่มันไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญเนอะ มันเกิดจากความเสี่ยง อะไรก็ตามที่มีความเสี่ยง มันเลยเกิดได้” 

ภาพจากเฟสบุค Sitthichat Sukpholtham

‘การออกแบบถนน’ ปัญหาต้นนำ้ที่คนไม่ค่อยพูดถึง

“เคยได้ยินคนจะพูดว่า “คนไทยไม่มีระเบียบ คนขี่รถเครื่อง (รถจักรยานยนต์) ไม่สวมหมวกกันน็อค คนไม่คาดเข็มขัดนิรภัย” ใช่มั้ย แต่มันปลายทางสุด ๆ  ซึ่งคนไม่ค่อยพูดว่าจริง ๆ แล้วอะ อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้ จากการที่รูปแบบถนนยอมให้มีเปอร์เซ็นต์การเกิดขึ้น”

“เหมือนการออกแบบถนนทุกวันนี้ คนขับรถยนต์ต้องสะดวกสุด แล้วต้องลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุของคนขับรถยนต์มากที่สุด แต่วิธีที่เขาทําก็คือ แค่ทําให้สองข้างทางมันเคลียร์ ต้นไม้ใหญ่ ๆ เอาออก อะไรบังสายตาเอาออก ทําถนนให้เป็นเส้นตรง เรียบ ๆ พยายามลดทางโค้งให้มากที่สุด”

“ดูอย่างเส้นหน้า มช. เส้นห้วยแก้ว ยาวไปถึงคูเมือง ตรงแด่วเลยนะ แล้วก็ไม่มี เครื่องลดความเร็วอะไรเลย แม้แต่ป้ายทางม้าลายมันยังเอาไปซ่อน แบบ หลบๆ ไม่ใหญ่ ไม่เด่น แล้วยิ่งถนนใหญ่อย่างเงี้ย เค้าออกแบบให้คนขับรถยนต์สะดวก คนขับรถยนต์จะกลับรถก็ชิดเลนส์ขวา เร่งความเร็วตัดออกเลนขวาแล้วกลับรถ ตัดมาที่คนขับรถมอเตอร์ไซค์ เร่งแบบเต็มที่ 60 แต่รถเลนขวายังขับกันเป็น 100 แค่เนี้ยมันก็อันตรายมากแล้วอะ”

“เรื่องคนขับย้อนศรเนี่ย บางทีคนก็จะบอกว่า นี่ไงคนไทยไม่มีระเบียบ แต่ต้องบอกว่าถนนแม่งออกแบบไม่ให้มอไซค์ใช้มากกว่า คนขับมอไซค์ก็แค่จะไปฝั่งเดียวกันอ่ะ แล้วแบบเค้าจะไปไงวะ โห ต้องไปกลับรถแบบ 500 เมตร แล้วรถตัดสามเลนเพื่อไปกลับรถ คือมันไม่ใช่ เค้าก็เลยขับย้อนศร”

เหมือนพอเวลาอยู่ในถนนใหญ่ อะไรที่ไม่ใช่รถยนต์ก็แทบจะไม่ถูกคิดเลย

“มันไม่มีพื้นที่เลย แล้วพอมอเตอร์ไซค์ขับไหล่ทาง มันกลับรถก็ลําบาก เรารู้สึกว่า เนี่ย ขั้นแรก คือเรื่องการออกแบบมันก็ทําให้เกิดอุบัติเหตุแล้ว รถยนต์สบายสุด มอเตอร์ไซค์กับจักรยานไม่ต้องพูดถึง ลําบากมาก”

“ขั้นสองก็จะเริ่มเรื่องสเปครถยนต์อะไรพวกเนี้ย ว่าสามารถควบคุมให้รถยนต์ที่จําหน่ายเนี่ยมันมีพวก Safety Features มากขึ้น อย่างที่ไทยอ่ะ พวกสเปคมอเตอร์ไซค์เนี่ย มันลดสเปคลง เพื่อให้ถูกลง แต่ว่าความปลอดภัยน้อยลง”

“แล้วขั้นสุดท้าย ก็คือเรื่องพฤติกรรมคนขับ ซึ่งประเทศไทยแม่งทําวิจัยมา 20 ปี

สุดท้ายพอมีอุบัติเหตุทีก็แบบ ไม่สวมหมวกกันน็อก แบบ คนขับไม่มีวินัย แล้วที่ทําวิจัยกันมา 20 ปี คือแม่งไม่รู้ไปอยู่ไหนเหมือนกัน”

“นั่นแหละ ถ้าย้อนกลับมาเรื่องความปลอดภัยทางถนน จริง ๆ ต้องมาคุยเรื่องประเด็นหนึ่ง ประเด็นแรกเลยอ่ะ เรื่องการดีไซน์มากขึ้น เพราะว่าถ้าเราทําให้โอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้มันแทบไม่มี ความเสี่ยงมันหายไปหมด ซึ่งตรงนี้มันจะทําได้ต้องมีทั้ง 3 เรื่องพร้อมกันไง เรื่องรถยนต์ส่วนบุคคล เรื่องขนส่งสาธารณะ แล้วก็เรื่องจักรยาน”

คิดว่าควรจะมีกลุ่มขับเคลื่อนและทำงานในประเด็น “ความปลอดภัยบนท้องถนน” ให้ซีเรียสมากขึ้นไหม

“คิดว่าปีนี้มันต้องมีวงสนทนาเรื่องนี้มากขึ้นนะ จุดนึงที่เชียงใหม่เนี่ย ยังไม่เคยทําเรื่องจักรยานสําเร็จซะที เพราะว่ามันไม่มีกลุ่ม Advocacy เรื่องความปลอดภัยการใช้ถนน สังเกตว่าที่ผ่านมาเนี่ย มันจะไปอยู่เป็นประเด็นรอง ในประเด็นใหญ่อื่น อย่างเช่นสภาลมหายใจเชียงใหม่ อยากทําเรื่องอากาศสะอาดในเมือง ซึ่งในเมืองมลพิษก็มาจากรถยนต์ส่วนบุคคลซะเยอะ เขาก็เลยโอเค งั้นทําจักรยาน รณรงค์เรื่องจักรยานกัน เพื่อให้อากาศมันสะอาดขึ้น แต่ว่ามันกลายเป็นประเด็นรองไป”

“แต่ว่ามันไม่มีกลุ่มที่ทําเรื่องความปลอดภัยทางถนน ทําเรื่องขนส่งสาธารณะ ทําเรื่องจักรยาน แล้วที่ผ่านมา โห เชียงใหม่ สร้างเลนจักรยานกี่รอบแล้ว แล้วก็ มันเป็นโครงการที่แค่ว่าสนับสนุนการใช้จักรยาน โดยการทําเลนจักรยาน ทําเสร็จปุ๊บ ก็เหมือนว่าเสร็จแล้ว โอเค เราสนับสนุนการใช้จักรยาน จบ”

“แต่ว่าจริง ๆ เรื่องจักรยานมันแยกไม่ออกกับเรื่องความปลอดภัยทางถนน เรื่องขนส่งสาธารณะ แล้วก็เรื่องการจํากัดรถยนต์ส่วนบุคคล แต่คือที่ทํามามันทําขาเดียวตลอด ทําแค่สร้างเลน สร้างเลน สร้างเลน มันไม่มีทางเวิร์คเนอะ เพราะว่าคนจะใช้จักรยานมากขึ้น เมื่อคนรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหลัก ๆ แล้วคนจะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อรถน้อยลง ไม่ใช่มีแค่เลนจักรยาน คือต่อให้มีเลนจักรยานแต่ว่าข้าง ๆ ยังขับ 80 ยังไงคนก็ไม่กล้าปั่น”

ต่างจังหวัดที่ “ไม่ใช่กรุงเทพ” ในมุมมองของบอสคืออะไร ?

“ไม่มี Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐาน เรารู้สึกว่าประเทศไทยมันแยกเมืองหลวงกับต่างจังหวัดง่ายตรงการมีหรือไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน  เราไปอยู่ภูเก็ตมาช่วงหนึ่ง คือคนจะบอกภูเก็ตเป็นเมือง แต่ว่าดูสภาพโครงสร้างพื้นฐานก็คืออย่าเรียกว่าเป็น มันยังมีเซนส์ของความเป็นต่างจังหวัดอ่ะ น้ำไม่ไหล ไฟไม่ติด ถนนแย่อะไรเงี้ย แต่ว่าถ้ากรุงเทพฯ น้ำไม่ไหลคือนึกไม่ออกนะ โอกาสน้อยมาก ไฟดับเนี่ย โอ้โห ยากสุด ๆ แต่ว่าตําบลสุเทพ ฝนมา ลมพัด ไฟดับแล้ว” 

“เรารู้สึกว่าต่างจังหวัดมันก็คือเป็นพื้นที่ที่รัฐไม่ได้ลงทุน เราว่าต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำเลยอ่ะ ก็คือเรื่องการลงทุนจากภาครัฐ มันเริ่มแต่ตั้งการที่รัฐตัดสินใจว่าจะลงทุนแต่ที่กรุงเทพฯ ทําให้พอเวลามันนานเข้า โครงสร้างพื้นฐานมันเริ่มพัฒนา มันเอื้อให้คนใช้ชีวิตอยู่ง่าย ธุรกิจก็ทําง่าย ทรัพยากรมนุษย์พัฒนาขึ้นง่าย เงินมันก็ไหลไป”

“คือกรุงเทพฯ รถเมล์ขาดทุนเป็น 10-20 ปีแล้ว มันยังทําอยู่ รถไฟฟ้าแบบ 10-15 ปีแรกแม่งขาดทุนยับ เขาก็ยังทํา เขาไม่ได้เลิกเพราะว่าเขารู้ว่านี่คือการลงทุนในระยะยาว คือคนชอบคิดว่า รถเมล์รัฐลงทุนเชียงใหม่ไม่มีคนขึ้น ไม่คุ้ม เลิก ซึ่งแบบ เออ ถ้าพูดอย่างนี้อีก 20 ปีเชียงใหม่ก็จะเหมือนเดิม เพราะว่ามันไม่มีเงิน ไม่มีเงินจากส่วนกลางไหลมา ไหลมาที่นี่ เราก็จะยังเป็นต่างจังหวัดต่อไป”

อยากเห็นอะไรในเชียงใหม่ ?

“เยอะแยะเลย ฮ่า ๆ คือเชียงใหม่มันมีต้นทุนธรรมชาติเยอะ คือเมืองต้องผนวกเรื่องธรรมชาติเข้าไปมากกว่านี้ ไม่อยากให้เชียงใหม่มันตามรอยกรุงเทพฯ เรามาอยู่เชียงใหม่เพราะว่ามันรู้สึกว่ายังมีความหวัง เพราะกรุงเทพฯ แม่งเกินเยียวยาละ รอน้ำท่วมล้างเมืองทีเดียว”

“แล้วพอเราไม่มีความหวัง เราก็เลยไม่อยากอยู่ มาอยู่นี่เพราะเรารู้สึกว่ามันยังพอเปลี่ยนได้เนอะ เมืองมันยังไม่ขยายขนาดนั้น คือเราว่าในช่วง 10 ปีเนี่ยสําคัญมาก งานประจําอะเราทําเรื่อง Climate Change แล้วเรารู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะในเรื่องภัยธรรมชาติ ทั้งลูกเห็บ แต่หลัก ๆ คือความร้อนนี่แหละ”

“เราอยากเห็นเชียงใหม่เขียวขึ้นนะ เชียงใหม่มันมีต้นทุนเยอะอยู่แล้วอ่ะ ไม่ต้องทําอะไรมากแค่จัดสรรพื้นที่ให้ป่าจากฝั่งดอยสุเทพมันเริ่มแพร่เข้าไปในเมืองได้มากขึ้นแค่นั้นเมืองก็เขียวแล้ว แต่ว่าคือทําได้ตรงนี้มันยากมาก มันเหมือนต้องสร้าง Green Corridor  หรือทางเชื่อมผืนป่า ที่เราอาจจะต้องเวนคืนพื้นที่เป็นแนวนึง เพื่อสร้างรอยต่อให้พวกต้นไม้ พวกพืชพรรณมันเริ่มรุกคืบกลับเข้าไปได้ คือจริง ๆ มันมีประโยชน์เยอะมาก คือทุกคนรู้ว่าการมีพื้นที่สีเขียวมันดี แต่พอจะทําจริง ๆ คนก็อาจจะไม่รู้ว่าทํายังไง จะปลูกต้นไม้อย่างเดียวหรือเปล่า”

เชียงใหม่จะเป็นจังหวัดที่ร้อนมากในอีก 10-20 ปีข้างหน้า 

“แค่นี้ก็ร้อนชิบหายละ แต่อีก 10 – 20 ปีข้างหน้าจะบอกเลยว่าสองเท่านะ 

จากข้อมูลก็คือว่า วันที่ร้อนจนเกิด ฮีตสโตรค (Heat Stroke) ได้ จะเป็นหนึ่งใน สามของปี คือตอนนี้ประมาณแค่หนึ่งในหก แต่ว่าในประมาณสิบ 10 – 20 ปีข้างหน้า วันที่ร้อนจนทํางานกลางแจ้งไม่ได้ จะประมาณหนึ่งในสามของปี ซึ่ง ถ้าเชียงใหม่ยังไม่เปลี่ยน แถมเป็นจังหวัดที่พึ่งพากับกิจกรรมกลางแจ้งเยอะ ทั้งท่องเที่ยว การเกษตร ซึ่งท่องเที่ยวเนี่ยหลัก ๆ เลย กลายเป็นว่า เงินหด ถูกไหม”

“เพราะฉะนั้น คือถ้าถามว่าอยากเห็นอะไร คือเราอยากเห็นว่าใน 10 ปีนี้ คือ เมืองมันต้องเปลี่ยนทุกด้านตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานต้องเปลี่ยนเป็นสีเขียวมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น มาใช้แบบ Transit หรืออะไรก็ตามที่มันเป็นไฟฟ้า แล้วต้องเปลี่ยน Mindset คนพัฒนาเมือง แบบกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท หรือเทศบาลเองก็ดี แล้วโครงการพัฒนาทั้งหลายให้มันผนวกเรื่องการปรับตัวกับสภาพอากาศเข้าไปมากขึ้น แล้วก็มี Co-Benefit เยอะ อุบัติเหตุลดลง” 

“ซึ่งถ้าคนไม่ต้องมีรถส่วนบุคคลนี้ดีมากเลยนะ คิดดูดิ เด็กจบใหม่หลังเรียน 4 ปี สิ่งแรกที่ต้องทำคือผ่อนรถ แล้วการผ่อนรถมันก็จะเป็นภาระในระยะยาว ที่ทําให้คนตั้งตัวยากอีก แทนจะเอาเงินที่ต้องผ่อนรถเดือนละหลายพัน ไปออม ไปลงทุน ซึ่ง 5 ปี Compound ปุ๊บ ถ้าไม่นับว่าต้องผ่อนรถ ก็มีเงินเก็บเป็นแสนอย่างเงี้ย” 

โปรเจ็คหรือกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ 

“จบแล้วเหรอ โคตรยาวเลย ฮ่า ๆ  ฝากอะไรดี ฝากเพจ Chiang Mai Urban Cyclist  สร้างมาสักพักละ แต่ว่ายังไม่ค่อยโปรโมทมาก เข้าไปตามได้ หลักๆ เราจะโพสต์ว่าเราขี่จักรยานเส้นไหนบ้าง คอนเซ็ปต์ที่อยากทําปีนี้ ก็คือวันคาร์ฟรีเดย์ (Car-free Day) เป็นการรณรงค์ที่จะทำแผนที่เดินทางในเมืองว่ามันมี Route ไหนบ้าง มีจุดเช่าจักรยาน วิวเอย หรือว่าจุดที่เราจะขี่จักรยานจากบ้านเราไปขึ้นรถเมล์ เพื่อไปจุดนู้น จุดนี้ ก็เลยคิดว่าจะเริ่มจากแผนที่นี้ก่อน”

“ช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงปั่นจักรยานเก็บข้อมูล ถ่ายวิดีโอเพื่อนๆ ที่เจอกันในกลุ่ม Critical Mass ว่าปกติเค้าปั่นกันเส้นไหนบ้าง แล้วก็รวบรวมข้อมูลตรงนี้ อย่างถ้าเส้นนี้โอเคปั่นได้ ปลอดภัยในทุกระดับ ก็จะสร้างเป็น Route แล้วดูว่ามันจะเชื่อม Connectivity ระหว่างจุดที่คนไปเยอะ ๆ อันนี้คิดจะทําตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ว่ารถเมล์ก็ไม่มี ถ้าตอนนี้รถเมล์มันวิ่งไปซูเปอร์ไฮเวย์ (Super Highway) ไปรอบนอก รอบใหญ่แล้ว เราว่ามันพอจะทําแคมเปญนี้ได้”

ภาพจากเพจ Critical Mass Chiang Mai

เหมือนเป็นแคมเปญที่ทำให้คนในเชียงใหม่รู้สึกปลอดภัยที่จะปั่นจักรยานมากขึ้น โดยเริ่มจากสถานที่ในเมืองที่มีคนไปบ่อย ๆ 

“ใช่ ไม่ว่าจะไปเซ็นทรัลเฟสติวัลฯ ไปกลางเวียง หรือว่าไปย่านคาเฟ่ชางม่อย นั่นแหละ คือมันต้องเป็นแคมเปญความรู้ก่อนเนอะ ฮ่า ๆ คนมักจะรู้สึกว่า ไม่กล้าปั่นเพราะว่าไม่รู้ว่าต้องปั่นทางไหนดีที่ปลอดภัย เลยอยากให้ทำความเข้าใจผ่านแคมเปญนี้เป็นจุดเริ่มต้น” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง