สักไพรที่ใกล้ฝั่ง กับความหวังเปลี่ยน เบี้ย เป็น บำนาญ ผ่านรัฐธรรมนูญ

เรื่องและภาพ: ลักษณารีย์ ดวงตาดำ

บำนาญกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ฟังเสียงนักประชาธิปไตยวัยเกษียณแห่งเมืองไม้สัก ที่เคยลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 60 ด้วยความตื่นรู้ และในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาได้เลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่เคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาปากท้องพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยความหวัง แม้พรรคที่เลือกจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ความหวังจะต้องพังทลายลงด้วยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน นอกจากจะหมดหวังกับบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ทำใจรอรับเบี้ยชราแล้ว ยังถูกลิดรอนสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับล่าสุดอีกด้วย

“สวัสดิการมันต้องค่วย (ทั่วถึง) การมีหลักเกณฑ์พิสูจน์ว่าใครจะได้หรือไม่ได้มันไม่ใช่ความมั่นคงถาวร ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ต้องมาลุ้นว่าใครจะเข้าหรือไม่เข้าเกณฑ์ คำว่า สวัสดิการ คือสิ่งที่ทุกคนควรจะได้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ใช่หรือ เรื่องนี้ไม่เฉพาะเด็กๆ ที่รู้ ทุกคนรู้ ลุงก็รู้ แต่ไม่มีอะไรจะไปสู้ถ้าเขาจะทำอย่างนี้ หลายปีก่อนยังมีแรงไปเรียกร้องกับวัยรุ่นเขาถึงกรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้จะลุกแต่ละทียังลำบาก” – มานิตย์ ใจบาน อายุ 58 ปี

หลังจากมีการเผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ใหม่ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 66 โดยหลักเกณฑ์ใหม่ ผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะต้อง 1.มีสัญชาติไทย 2.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่ง “ได้ยืนยันสิทธิขอรับ”เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4.เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ “ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”

“ฟังดูเหมือนไม่ต่างกัน แต่ลุงว่ามีปัญหาหลายข้อ โดยเฉพาะรายได้จะพอหรือไม่พอใช้ ทำไมต้องมีใครมากำหนด กรรมการที่จะกำหนดจะดูจากอะไร ทั้งยังต้องร้องขอ ต้องยืนยันก่อน นี่มันไม่เรียกว่าสวัสดิการ เขาใช้วิธีเขียนคำซ่อนไว้ เหมือนในรัฐธรรมนูญ 60 นั่นแหละ การเขียนกำหนดอะไรที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน มันชัดเจนอยู่แล้ว” มานิตย์ ใจบาน อายุ 58 ปี

ถึงแม้ในบทเฉพาะกาลของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ข้อ 17 บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้บังคับใช้ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป ดูเหมือนว่าหลักเกณฑ์ใหม่ที่บังคับใช้นี้จะไม่กระทบกับผู้สูงวัยที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่ยังคงเป็นข่าวร้ายของวัยรอเกษียณ กับความกังวลที่จะต้องพิสูจน์คุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ เป็นระเบียบที่บีบให้สังคมผู้สูงวัยเข้าสู่ระบบสวัสดิการแบบสงเคราะห์

“ถ้าไม่ได้ลำบากยากจน แต่ไม่ได้มั่นคง แบบนี้จะได้เบี้ยอยู่ไหม อย่างลุงขับรถรับจ้างอิสระ ไม่ได้มีบำนาญ เพราะไม่ใช่ข้าราชการหรือวิสาหกิจ แต่การมีคนขับรถรับส่งคน ส่งของ มาทำงานในเมืองที่ไม่มีรถประจำทางทั่วถึง ไม่มีขนส่งดีๆ ส่งเด็กไปโรงเรียน หรือส่งคนป่วยไปหาหมอ งานของลุงนี้สำคัญกับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน พวกถีบสามล้อ สองแถวก็เหมือนกัน มีกันอยู่ไม่กี่คัน พาคนเข้าออกเมือง ทำงานแทนรัฐเหนื่อยมาทั้งชีวิตแต่ไม่ได้รับการดูแลตอนแก่ การต้องมาขอยืนยันสิทธิ์ว่าจนมากพอ ไม่ใช่ชีวิตในแบบที่เราอยากจะใช้ก่อนตายนะ” มานิตย์ ใจบาน อายุ 58 ปี

ผู้สูงอายุมีความเปราะบางทางด้านรายได้จากเงื่อนไขโอกาส ข้อจำกัดในการจ้างงานที่มักต้องการคนอายุน้อยที่แข็งแรง และเมื่อขาดหลักประกันทางสังคม ทำให้มีผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานเป็นแรงงานนอกระบบในภาคเกษตร และรับจ้างทั่วไปอีกจำนวนมาก ซึ่งการทำงานหนักในวัยที่สุขภาพร่างกายถดถอย เป็นสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้ความเป็นอยู่และสุขภาวะทรุดโทรม และแบกรับภาระค่าดูแลรักษาทั้งทางอ้อมและทางตรง

“ยายไม่มีประกันอะไรนอกจากบัตรทอง เมื่อก่อนพ่อแม่เด็กคนไหนไม่ได้อยู่ ไม่ว่าง เพราะไปทำงานในเมืองบ้าง ไปอยู่จังหวัดอื่นบ้าง ก็เอาลูกมาฝากให้ยายเลี้ยง ดูแลเด็กในหมู่บ้านจนโตมาหลายคนก็ไปเรียนไปทำงานที่อื่น ในหมู่บ้านเราคนทำงานดูแลลูกหลานให้เขาแบบนี้ก็มียาย มีตาบ้านหล่าย(อีกฝั่ง)ที่ตายไป แต่เดี๋ยวนี้ดูแลใครไม่ไหวแล้ว ดูแลตัวเองก็ไม่ไหว ในแต่ละเดือน ยายต้องไปหาหมอที่ในเมือง อีกหน่อยก็คงตามตาคนนั้นไป เด็กๆ ที่ไปอยู่เมืองใหญ่กลับมาก็ไม่ทันเห็นแล้วมั้ง”

ยายหมง กาวีพันธ์ุ อายุ 66 ปี คุณยายที่อ่อนโยนและร่าเริงซึ่งเคยอุ้มเด็กเล็กในละแวกบ้านมานับไม่ถ้วน และจูงมือเด็กๆ เที่ยวเล่นในหมู่บ้านด้วยสองมือ จนเด็กเหล่านั้นเข้าสู่วัยหนุ่มสาว มีครอบครัว และมีลูกให้ยายได้เลี้ยงดู บัดนี้ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงร่างกาย โอบพาตนเองเดินทางเข้าเมืองไปรักษาโรคประจำตัวอยู่ไม่เว้นแต่ละเดือน เนื่องจากไม่มีคู่ชีวิตและทายาท ปัจจุบันนี้อาศัยอยู่กับครอบครัวน้องชาย ได้รับเบี้ยชรา 600 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 3 เท่า

“600 บาทนี้ ยายใช้จ้างรถพาไปหาหมอแต่ละเดือน ค่ารถขาไป 200 ขากลับ 200 รวมค่าหมอด้วยก็หมดแล้ว คนไม่มีครอบครัวลูกหลาน สุขภาพก็ทำงานหาเงินไม่ไหว ถ้าไม่มีญาติให้อาศัยอยู่ด้วยจะอยู่ได้อย่างไรให้ถึงวันตายได้อย่างไม่ทรมาน บางทีต้องอาศัยพึ่งพารถข้างบ้าน ที่ลูกเขาเป็นข้าราชการ ก็เกรงใจเขานะ ไม่ได้มองเป็นเรื่องวาสนา แต่เป็นความเหลื่อมล้ำนี่แหละ ที่ต้องไปพึ่งเขา”

หากพิจารณาด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ซึ่งยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) อันมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะพบปรากฏใน มาตรา 71 วรรค 2 ดังนี้

มาตรา ๗๑ รัฐพึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สําคัญของสังคม จัดให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

-รัฐพึงส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพและความสามารถสูงขึ้น

-รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ให้สามารถดํารงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบําบัด ฟื้นฟูและเยียวยาถูกกระทําการดังกล่าว

ในการจัดสรรงบประมาณ รัฐพึงคํานึงถึงความจําเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม

โดยจากตัวบทดังกล่าว จะสังเกตเห็นการใช้คำว่า “รัฐพึงกระทำ” ไม่ใช่ “รัฐต้อง”กระทำ ซึ่งมีความครุมเครือในหน้าที่รับผิดชอบของรัฐ ทำให้ มีช่องโหว่ที่เสมือนเป็นการอนุญาตให้รัฐละเลยการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และ ตัวบทที่ “ในการจัดสรรงบประมาณนั้น พึงคำนึงถึงความจำเป็น” ย่อมเปิดช่องว่างให้กับความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ และการเข้าถึงสวัสดิการโดยถ้วนหน้าของประชาชน

“การดูแลความเป็นอยู่ กับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ น่าจะต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนได้ ใส่ไว้ในกฎหมายสูงสุดเลย ไม่ใช่แค่มีในนโยบายพรรคนั้นพรรคนี้ ไม่ว่าเป็นชาวบ้าน หรือรัฐมนตรี คนรวยหรือว่าคนจน ไม่ใช่ดูตามความเหมาะสม คราวก่อนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้(60) ก็เพราะมันไม่เขียนให้ชัดเจนว่าทุกคนจะได้การดูแล ทำให้ตอนนี้เขาอยากตัดอะไรก็ทำ ไม่เห็นหัวประชาชนอย่างเรา”

สถานการณ์จากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน พบว่า ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ที่ไม่มีบำนาญ ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาทต่อเดือน และไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นเวลากว่า 11 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 งบประมาณเบี้ยยังชีพ 78,530 ล้านบาท สำหรับ ผู้สูงอายุ 10,896,444 คนเมื่อเทียบกับงบประมาณ 322,790 ล้านบาทสำหรับข้าราชการบำนาญ 8.7 แสนคน เป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก กับผู้สูงอายุอีกกว่า 10 ล้านคน ที่มีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาพัฒนาประเทศไทยมาไม่ต่างกัน

“เกษียณจากการไฟฟ้า ไม่ใช่งานนั่งโต๊ะนะเป็นงานปีนเสาไฟฟ้า ก่อนเกษียณเคยโดนไฟช็อตกลงมาครั้งนึง ไม่ตาย แต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แข็งแรงเท่าเดิม ถามว่าแก่แล้วไปขึ้นเสาทำไม เพราะอยากได้เงินบำเหน็จบำนาญกับเขา แล้วคนหนุ่มในเมืองก็ไม่พอมาทำงานนี้ ” 

สมบูรณ์ อายุ 64 ปี ยังคงสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดีอยู่เมื่อดูจากภายนอก แต่ความผิดปกติภายในนั้น มีเพียงเจ้าของร่างกายเท่านั้นรู้ดีที่สุดว่าตลอดอายุงานหลายสิบปีบนเสาไฟฟ้าแรงสูงได้กัดกร่อนทำลายสุขภาพลงไปมากเพียงใด แต่ยังอดทนจนวันเกษียณเพราะเป็นหนทางเดียวที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสบาย

“กลายเป็นว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจเดี๋ยวนี้ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญแล้ว แต่ได้เป็นเงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่เราต้องหักเงินส่งทุกเดือน และหน่วยงานจะมีเงินสบทบอีกก้อนหนึ่ง เงินก้อน 3-8 ล้านเหมือนเยอะ ใช่ไหม คนที่ตายเร็วก็อาจพอใช้ แต่ใครยังมีภาระ ไม่ตายไว ก็ไม่พอหรอก 3 ล้านจะอยู่ไปอีก 20-30 ปีได้ยังไงถ้าไม่หาอะไรทำ”

ในผู้สูงวัยที่ได้รับงบประมาณบำนาญ ก็ยังมีชนิดและประเภทที่แบ่งแยกแตกต่างกันออกไป แม้ว่างานที่ตาบูรณ์สะท้อนผ่านประสบการณ์ในการทำงานกับภาครัฐ นั้นจะใช้ความทุ่มเทอุทิศชีวิต ใช้ทักษะ ความกล้าหาญและแบกรับความเสี่ยง มีเกียรติไม่น้อยไปกว่าข้าราชการสังกัดใดเลย 

“ได้เงินก้อน แต่สวัสดิการถูกตัดหมดนะ เบิกค่ารักษาก็ไม่ได้อีก เมื่อไม่มีเงินมาจุนเจือ คนที่ขาดรายได้ก็ไม่มีทางเลือกที่จะอยู่รอด นอกจากรับการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ รอคนเอาเงินมาแจกให้ การตัดเบี้ยผู้สูงอายุครั้งนี้ จะทำให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงกลับมาได้ผลมากขึ้นในการเลือกตั้งสมัยหน้า อย่างที่ใครเขาว่ากำขี้ดีกว่ากำตด”

สมบูรณ์ชี้ให้เห็นว่ายิ่งความเหลื่อมล้ำสูงเท่าไหร่ การสงเคราะห์แจกจ่ายยิ่งมีอำนาจจูงใจมากขึ้นเท่านั้น เป็นสาเหตุของการที่รัฐบาลรักษาการพยายามคัดค้านบำนาญถ้วนหน้า และข้อเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการมาโดยตลอด ทั้งยังดำเนินการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยข้างต้น เพื่อยกเลิกเบี้ยชรา อันเป็นความหวังของหลักประกันขั้นต่ำที่สุด ที่ประชาชนควรจะได้รับ

ในหลักเกณฑ์เดิม ไม่ว่าจะด้วย ข้อ 1.มีสัญชาติไทย 2.มีภูมิลำเนาในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามทะเบียนบ้าน ทำให้ผู้สูงวัยที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานพลัดถิ่น หรืออยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติเกือบทั้งชีวิต แต่ตัดสินใจปักหลักใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ร่วมกับชุมชนที่ทำมาหาเลี้ยงชีพมาตลอด เป็นกลุ่มผู้สูงวัยชายขอบที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้ว ยิ่งกลายเป็นกลุ่มที่ถูกเบียดขับและกดทับให้ต้องดิ้นรถเอาตัวรอดกับช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

สถานการณ์ชวนหดหู่ของเหล่าไม้สักใกล้ฝั่งที่กำลังสิ้นหวังนี้ ยังไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นฉบับประชาชน ให้ได้มาซึ่งบำนาญถ้วนหน้า ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐต้องให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส 

ให้สามารถดํารงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุแห่งสัญชาติหรือหลักเกณฑ์ใด

อ้างอิง

สำนักงบประมาณ

รัฐธรรมนูญ 60

ราชกิจจานุเบกษา ระเบียบกระทรวงมหาดไทย


คอลัมน์ แม่สีเวยเผยแพร่ โดย ลักษณารีย์ ดวงตาดำ ที่จะมาเผย 'แพร่' เรื่องราวชีวิตผู้คนในเมืองแพร่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง