‘เศรษฐา’ สานต่อ ‘ประยุทธ์’ เดินหน้าฟอกเขียวทุน ยึดที่คนจน ซ้ำเติมวิกฤตสิ่งแวดล้อม

เรื่อง: พชร คำชำนาญ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้เดินหน้าสานต่อนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน และการขายคาร์บอนเครดิตอย่าง ‘เป็นธรรม’ จนถึงการแถลงต่อองค์การสหประชาชาติในการประชุม SDG Summit 2023 ณ มหานครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ว่าจะเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 (Net Zero) ภายในปี 2608

ท่าทีของรัฐบาลเศรษฐาในขณะนี้ต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการสานต่อนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์และพรรคพวกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม เอื้อกลุ่มทุน ละเมิดสิทธิคนจน ท่ามกลางความพยายามเดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวมที่เพิ่งมีข่าวไปไม่กี่วันนี้ว่าเศรษฐาอาจเดินหน้า ซึ่งอันที่จริงนโยบายว่าด้วยโครงการพัฒนานั้นเห็นประจักษ์ในชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้วในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง จึงไม่แปลกใจกับท่าทีที่ยิ่งชัดเจนขึ้นจขากคำแถลงหลายต่อหลายครั้งของเศรษฐา และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อท่าทีเหล่านั้นผสมผสานกับพรรคร่วมรัฐบาลหน้าเดิมที่เคยเดินหน้านโยบายละเมิดสิทธิชุมชนและสนับสนุนกลุ่มทุนเมื่อสมัยที่แล้ว



การเดินหน้านโยบายเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ คือเค้าลางของหายนะของคนจนที่จะเริ่มชัดเจนขึ้นเช่นกันหลังจากนี้

เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero หากจำกันได้ในรัฐบาลที่แล้วเคยได้แถลงต่อเวทีประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกมากถึง 120 ล้านตัน ซึ่งรัฐไทยได้ขายฝันว่าภาคที่ดินและป่าไม้ของไทยมีศักยภาพมากพอในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลดังกล่าว และทำให้เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของไทยพุ่งสูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ

โดยรัฐไทยได้กำหนดตัวเลขพื้นที่สีเขียวเพื่อตอบสนองแนวคิด Net Zero ไว้ว่า ต้องมีพื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 (113.23 ล้านไร่) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 (48.52 ล้านไร่) และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท (ร้อยละ 5) 16.17 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ป่าดังกล่าวยังมีไม่ถึงเป้าหมาย จึงได้กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าก่อนถึงปี 2580 ไว้โดยละเอียด

ปัญหาคือการเพิ่มพื้นที่ป่านั้นทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่พื้นที่โครงการจัดที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทุกชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ การขึ้นทะเบียนป่าชุมชน การเร่งประกาศหรือผนวกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และแม้แต่ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ก็อยู่ในเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าว

นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งจากคำถามที่พี่น้องหลายคนก็ตั้งข้อสงสัย ว่าทำไมช่วงนี้ ‘คทช. ระบาด’ หรือทำไมต้องเร่งรัดประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติช่วงนี้

นโยบายด้านที่ดินป่าไม้ทั้งหมดหลังจากนี้จะเดินหน้าไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ต่างจากยุคทวงคืนผืนป่า ยุค คจก. แผนแม่บทป่าไม้ฯ แต่เพิ่มเติมตัวละครให้เห็นชัดขึ้นคือป่าพวกนี้กำลังจะกลายเป็นถังขยะขนาดมหึมาดูดซับของเสียของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ให้ชุบตัวจาก ‘คนบาป’ กลายเป็น ‘นักบุญ’ โดยมีผืนดิน ผืนป่าที่พวกเราดูแลกันมาด้วยหัวใจ และชีวิตของลูกหลานเราเป็นเดิมพัน คือมหกรรมการแย่งยึดที่ดินป่าไม้อย่างมูมมามที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

ชาวบ้านที่อยู่กับป่าต่างรู้กันว่าป่ามีหน้าที่ที่หลากหลาย ในขณะที่เรามองป่าเป็นนิเวศ แหล่งความมั่นคงทางอาหาร ประกอบพิธีกรรม มีคุณค่าต่อจิตวิญญาณ ป่าหลายป่าถูกฟื้นฟูขึ้นมาโดยชุมชนจากการถูกสัมปทานป่าไม้โดยรัฐและทุนจนเสื่อมโทรมยุคหนึ่งให้กลับมามีคุณค่าทางระบบนิเวศและหล่อเลี้ยงชุมชนให้ยังดำรงอยู่ได้ แต่หน้าที่ของป่าเหล่านั้นจะถูกตัดตอนลง ให้เหลือเพียงหน้าที่เป็น ‘ป่าคาร์บอน’ ให้กลุ่มทุน โดยที่กลุ่มทุนเหล่านั้นยังคงได้รับ ‘ใบอนุญาตทำลายล้างโลก’ ได้ต่อไป เพียงแค่มีเงินแล้วซื้อคาร์บอนเครดิตจากที่ดินและผืนป่าของเรา

เพิ่มเติมคือ ‘เงื่อนไข’ มากมายที่ถูกกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ว่าเราจะอยู่ในผืนป่าคาร์บอนนั้นอย่างไร ทั้งหลักการอนุญาตที่ขัดกับการรับรองสิทธิ อยู่ในที่ดินตัวเองประหนึ่งผู้เช่าที่ดินเขาอยู่ ระยะเวลาที่กำหนดแสนสั้น 30 ปี และคราวละไม่เกิน 5 ปี ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ปลูกป่า ทำกินระหว่างแถวต้นไม้ กำหนดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจำกัดเหลือเพียง ‘ปรกติธุระ’ และเพิ่มให้ว่าชุมชนในพื้นที่นั้นมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยงานป่าไม้ ที่ต้องดูแลต้นไม้ ทรัพยากรเหล่านั้นโดยอ้างเหตุผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประโยชน์ของชาติ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อ ‘กลุ่มทุน’

ใบอนุญาตทำลายล้างโลกโดยความยินยอมทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจของชุมชน จะนำไปสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น เมื่อคนบาปไม่ต้องรับผิดชอบ ชุบตัวฟอกเขียวสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี เพื่อพร้อมเปิดโครงการถลุงทรัพยากรและปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลกลับสู่ชั้นบรรยากาศอีกครั้ง เป็นวัฏจักรวงจรการฟอกเขียวและแย่งยึดที่ดินคนจน ‘ซื้อคาร์บอนเครดิตที่บ้านเรา เพื่อเตรียมสร้างเหมือง สร้างเขื่อน ทำลายวิถีพี่น้องในอีกชุมชนหนึ่ง’ ซ้ำเติมทั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิกฤตทางชนชั้นไม่จบสิ้น

สาเหตุหนึ่งที่กลไกคาร์บอนเครดิต นโยบาย Net Zero ถูกคัดค้าน เกิดจากความพยายามต่อสู้ตอบโต้กับวาทกรรม ‘สีเขียว’ หรือ ‘Green’ ที่ถูกสร้างเป็นภาพลักษณ์ที่ดูดีขึ้นมา มองความเขียวเป็นเทรนด์โลก เราต้องช่วยกันรักษ์โลก ใครเขียวก็เป็นเทพีรักษ์โลก แต่แท้ที่จริงแล้วความเขียวที่สอดไส้มาในระบบเสรีนิยมใหม่นั้นกำลังทำให้เราหลงลืมว่าในความเขียว เรายังเผชิญวิกฤตทางชนชั้นอยู่ในสังคมนี้ จะมีคนได้ และจะมีคนเสีย จะมีคนถูกเอาเปรียบ จะมีคนถูกกดขี่ ซึ่งจากตัวเลขการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามภาพนี้ก็ประจักษณ์เค้าลางชัดแจ้งว่าหายนะจะเกิดแก่ใคร

ประชาชนจะมีราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้นอีกขนาดไหน แค่เพราะเกิดมาแล้วถูกรัฐประกาศกฎหมายทับที่ดินผืนป่าตัวเอง

ผมคงไม่มีข้อเรียกร้องหรือเสียงสะท้อนใดถึงนายกรัฐมนตรีคนรวยนามว่าเศรษฐา แต่คงเป็นเสียงของผมถึงพี่น้องที่กำลังอยู่ระหว่างลังเลจะรับนโยบายคาร์บอนเครดิต รับ คทช. รับนโยบายสอดแทรกความเขียวลวงโลกเหล่านี้มากกว่าว่าจะตัดทอนบ้านเราให้กลายเป็นเพียง ‘ป่าคาร์บอน’ และมอบ ‘ใบอนุญาตทำลายล้างโลก’ ให้กลุ่มทุนหรือไม่ หรือจะออกมายืนยันร่วมกันว่าพวกเราต่างหาก ประชาชนแบบพวกเราต่างหากที่สร้าง ‘โลกเย็น’ มาหลายทศวรรษ และ ‘คนบาป’ ไม่ควรมาชุบตัวฟอกเขียวในป่าของเรา

‘เศษเงิน’ ของทุนที่ล่อตาล่อใจชาวบ้าน แลกกับ ‘สิทธิ’ ในการใช้ที่ดินผืนป่าของเราที่หายไป และหายนะวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่จะเพิ่มขึ้น คุ้มแล้วจริงๆ หรือ

หากไม่เห็นด้วย ออกมาส่งเสียงเถิด ไม่เหลือเวลาสำหรับการสยบยอมอีกแล้ว

รวมถึงร่วมกันประณามรัฐบาลไทยและหน่วยงานรัฐที่ทำตัวประหนึ่งนายหน้าค้าที่ดินป่าไม้ของเราประเคนให้ทุน มากกว่าการปกป้องสิทธิและสวัสดิภาพของประชาชนตามที่พึงกระทำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง