Sunvo ดวงอาทิตย์อัสดง จูงมือทำความรู้จักนักทำละครอิสระ ซันโว – ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์

เรื่องและภาพ : นลินี ค้ากำยาน, ปภาวิน พุทธวรรณะ


ซันโว – ธันย์รัตนราม ชีพนุรัตน์  นักการละครอิสระ แห่งเมืองเชียงใหม่ ผู้ขับเคลื่อนและอยู่เบื้องหลังชีวิตของการละครเวทีอิสระที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ  และเหล่าผู้คนที่ยังคงให้ความสำคัญกับวงการละคร  ซันโวยิ้มแป้นทักทายเราครั้งแรกที่เจอ พร้อมสั่งชาเขียวมัทฉะหวานน้อยเป็นเครื่องดื่ม แต่บทสนทนาระหว่างเรากับซันโวต่อไปนี้ แทบจะไม่มีเวลาให้เขาได้พักจิบชาเขียวมัทฉะเลย

ความผสมผสานทางวัฒนธรรมของครอบครัวและซันโว ที่ฝั่งคุณแม่เป็นคนเชียงใหม่ และคุณพ่อเป็นคนหนองคาย ทำให้ตั้งแต่เล็กจนโตซันโวต้องโยกย้าย เดินทางระหว่างสองจังหวัดนี้อยู่เสมอ เราไม่แน่ใจว่าความประกอบร่างทางวัฒนธรรมสองจังหวัดนี้ ทำให้ซันโวมีวัตถุดิบสำหรับการละครที่หลากหลายหรือเปล่า

“คล้ายกับรสมือแม่ มันเหมือนว่าที่นี้เป็นบ้านของตา ยาย แต่ข้างในใจ จิตวิญาณของเรา มันไม่ได้ซึมซับลึกเข้าไปขนาดนั้น เราย้อนกลับไปนึกถึงรากของตัวเอง คิดถึงแม่น้ำโขง มันเหมือนเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของเรา” 

“พอย้ายมาอยู่นี้ มันมีเหตุการณ์ที่ตลกดี ตรงที่ว่า มีเพื่อนหรือคนรู้จักชอบถามว่า ‘เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเชียงใหม่แล้วหรือยัง’ ซึ่งมันเป็นคำถามที่เฉพาะคนพลัดถิ่นจะถามกัน เราอยู่ประมาณ 7-8 ปีแล้ว บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่า ความเป็นตัวตนของเราและพื้นที่นี้มันสอดประสานกันและกันแล้วหรือยัง” 

ซันโว เรียนจบการละคนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในขณะที่ซันโวเป็นนักศึกษาปีสุดท้าย เขาได้เลือกทำธีสิสตัวจบคือ ‘ผู้ยิ่งใหญ่ – เสกสรรค์ ประเสริฐกุล’ 


“เราดัดแปลงจากบทละครจากหนังสือวรรณกรรมมาทำเป็นละคร ย้อนกลับไปตอนนั้นเรายังไม่ได้รู้สึกว่ามันสื่อถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือทำงานสื่อความทางการเมืองขนาดนั้น”

“แต่พอเราจบจากขอนแก่นเข้ามาใช้ชีวิตในเชียงใหม่ คนพูดเรื่องการเมืองกันโต้ง ๆ มาก มันทำให้เรากล้าพูดเรื่องการเมือง และเอามาใส่ในงานมากขึ้น ช่วงหลังมานี้เราทำละครเชิงประเด็นสิทธิมนุษยชน เรื่องแรกที่ทำคือ สะพานขาด ของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ กับลานยิ้มการละคร และยังคงทำมาเรื่อย ๆ” 

ดูเหมือนกับว่าไม่ว่าเราจะเป็นใคร ทำอาชีพแบบใดเป็นโลกใบนี้ การเมืองจะหายใจค่อย ๆ รดต้นคอของเราเสมอ เราย้อนกลับถามซันโวว่า จุดเริ่มต้นที่เริ่มเอาการละครมาจับกับประเด็นความเป็นมนุษย์มันเริ่มเมื่อไหร่ ซึ่งซันโวให้คำตอบอย่างน่าสนใจว่า

“จริง ๆ มันแยกกันไม่ออกอยู่แล้ว ศิลปะถูกสร้างโดยมนุษย์ การละครก็ถูกสร้างและถ่ายทอดโดยมนุษย์เช่นเดียวกัน เรารู้สึกว่าทุกอณูของทุกชีวิตที่เดินออกมาจากบ้านมันมีเรื่องการเมืองอยู่แล้ว การละครทุกเรื่องมันพูดถึงมนุษย์ มันคือ Human Right มันสอดแทรกซึ่งกันและกัน”

ปัจจุบันซันโวได้ทำโปรเจคขนาดย่อมของตัวเองชื่อว่า ‘Fairy Godfatger (นางฟ้าแม่ทูลหัว)’ และความตั้งใจในอนาคตของซันโว ก็อยากให้หยิบยกประเด็นเรื่องเพศทางเลือกมีพื้นที่ที่จะถูกเล่าในการละครเวทีมากขึ้น

“เราเป็น LGBTQ+ เรารู้สึกว่าสภาวะของสังคมในช่วง 5 ปีหลังมันผ่านไปเร็วมาก ผ่านไปเร็วจนเราตามไม่ทัน ไอ้สภาวการณ์ของสังคม ที่มันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมันทำให้ประเด็นต่าง ๆ น่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราตั้งใจอยากหยิบเรื่องความเป็นมนุษย์ เพศ และ การเมืองการปกครองนี้แหละ ที่มันเจอแล้วเห็นชัด ทุกคนรู้สึกร่วมกัน และก็น่าพูดในยุคสมัยนี้” ซันโวกล่าวโดยท่าทีตั้งคำถามต่อสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น 

แต่นักการละครจะอยู่อย่างไร ในสภาวะที่บ้านเมือง เศรษฐกิจโลเลเช่นนี้ แม้ไอเดียที่โดนใจ ตีแผ่สังคม แต่ไร้ซึ่งคนมองเห็น นักการละครอิสระจะหมดกำลังใจทำต่อไปหรือเปล่า

“คนทำงานละครมันเป็นศาสตร์ที่ไม่ได้เหมือนครู หมอ พยาบาล ที่จบมามีงานรองรับแน่นอน แต่ด้วยความเป็นตัวตนเรา เราไม่อยากเอาตัวเองไปผูกติดกับรัฐ อยากเลือกในทางเดินของตัวเอง บางครั้งมันไม่สามารถเลี้ยงชีพเราได้ 100% หากถามว่ารู้สึกปลอดภัยไหม มันก็ปลอดภัยแหละ แต่ก็ต้องทำงาน และหานู้นนี้ทำไปเรื่อย ๆ ฤดูมีงานมันก็มีงาน พอจะถึงฤดูที่ไ่มมีมันก็ไม่มีเลย ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับนักทำละครอิสระก็คือพวกนี้แหละ”

“เราเคยคุยกับคนหนึ่ง เขาถามว่าสังเกตไหม ในช่วงนี้ว่ามีคนลงไปทำกิจกรรมงานที่สงขลา นราธิวาส ปัตตานีเยอะมาก นั้นเป็นเพราะว่า ทุนมันพาไป บางอย่างมันใหญ่เกินกว่าที่คนอย่างเราจะสามารถตอบคำถามที่ว่า สุดท้ายการละครมันควรไปจบที่ตรงไหน แล้วใครล่ะที่อยากฟัง อยากดู ในภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองเป็นเช่นนี้”

ซันโวแชร์เรื่องราวที่ทำให้เรากระตุกคิดได้ว่า ศิลปะจะเรืองรองและถูกให้ค่า เมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตย นั้นเป็นประโยคที่จริงไม่น้อย แม้เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์การทำงาน ชีวิต และการเติบโตที่ขมปนหวานของซันโว แต่สำหรับเรา ซันโวอาจเป็นเครื่องถ่ายโอนพลังงาน และแสงสว่างที่คนรุ่นใหม่ต้องเชื่อถึงพลังที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

เราชอบประโยคนี้ที่ซันโวทิ้งท้ายไว้ตอนสัมภาษณ์มาก ‘Conflict ไม่ได้นำไปสู่การแตกหัก ทางแยกไม่ได้นำไปสู่การแตกสลาย แค่มองคนทำงานเท่ากันเถอะ มองเป็นทรัพยากรมนุษย์คนหนึ่งที่เราต่างต้องทำงานต่อไป’  หากเราจะจดจำความเป็นซันโวอย่างไร ก็คงเป็นร้อยยิ้มและพลังงานดี ๆ ที่ซันโวมีให้ต่อการทำละครอิสระของเขานั้นเอง

ปัจจุบันซันโวยังคงทำงานเป็นนักละครอิสระและพ้องเพื่อนต่อไป พร้อมผลิตผลงานดี ๆ เปี่ยมล้นคุณภาพ เรานึกดีใจที่เมืองเชียงใหม่เล็ก ๆ แห่งนี้ยังคงมีผู้คนอย่างซันโวที่ยังคงให้ค่ากับความเป็นคนที่แฝงอยู่ในศิลปะการละคร


รู้จักและติดตามผลงานของซันโวให้ใกล้ชิดขึ้น ได้ที่ 

Instragram : sususunvo 

Facebook : sunvo

เกี่ยวกับผู้เขียน  
เนลินี ค้ากำยาน, ปภาวิน พุทธวรรณะโดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอบรมโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ JBB

ข่าวที่เกี่ยวข้อง