IBM 1401 ความสลับซับซ้อนของการกินขี้ปี้นอนในกระแสไฟฟ้า

23 ธันวาคม 2565

ภาพ : สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

IBM 1401 ชุดการแสดงในความร่วมมือระหว่าง Glom Immersive Theatre และลานยิ้มการละคร กับการแสดงโปรดักชั่นขนาดใหญ่ส่งท้ายปี ที่ครบองค์ทรงเครื่องทั้งแสงสีเสียง ด้วยรูปแบบ Contemporary dance ที่เน้นการเต้นรำไปตามท่วงทำนอง ไม่ต้องมีน้ำเสียงบทสนทนาให้มากความ แค่อวัจนภาษาของนักแสดง 2 คน ได้แก่ สหัสวรรษ ทาติ๊บ และ เพียงรวี ศิริสุข ที่คอยถักทอเรื่องราวก็เพียงพอที่จะทำให้ 45 นาทีในโรงละครมีความหมาย

ภาพ : สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

จากแรงบันดาลใจจากผลงานเพลงในอัลบั้ม IBM 1401 A User’s Manual ของ โยฮันน์ โยฮันน์สสัน (Jóhann Jóhannsson) นักประพันธ์ดนตรีชื่อก้องโลกที่ดึงเอาเสียงเครื่องดนตรี กับ เสียงของ IBM รุ่น 1401 คอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ของโลก ที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลกับโลกในช่วงปี 1960 โดยพ่อของโยฮันน์ โยฮันน์สสันเองก็เป็นหนึ่งในทีมวิศวกรที่ทำงานกับ IBM 1401 เมื่อ IBM 1401 หมดอายุการใช้งาน ทีมวิศวกรชุดนี้เองก็ได้ทำการบันทึกเสียงเก็บเอาไว้ ด้วยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร โยฮันน์จึงนำเสียงของ IBM 1401 มาทำดนตรีเพิ่มจนเกิดเป็นอัลบั้มเพลงในชื่อเดียวกัน

ภาพ : สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

การแสดงชุดนี้จึงเป็นเหมือนกับการสำรวจเสาะหาความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร เสียงบรรเลงดนตรีและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตลอดจนความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสภาวะต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อน และบางทีก็ง่ายเกินกว่าจะคาดเดา

ในแง่ของตัวบทละคร ว่าด้วยความสัมพันธ์ของตัวละคร 2 ตัว ที่เป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตตามระเบียบและระบบสังคมที่ตีกรอบไว้ ตัวละครชายในฐานะของผู้ที่ต้องตรากตรําทำงานไปตามระบอบ ในยุคที่เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำงานและจังหวะชีวิต ตัวละครหญิงกับกรอบและบทบาทแม่บ้านแม่เรือนที่ต้องคอยดูแลสนับสนุนครอบครัว นี่อาจจะเป็นภาพฝันแสนงามในความเพียบพร้อม แต่ยิ่งเสาะหายิ่งค้นพบความสัมพันธ์ที่ยากเกินกว่าจะรับไหว เมื่อเครื่องจักรค่อย ๆ ควบคุมชีวิต ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เริ่มสิ้นสลาย กิน-ขี้-ปี้-นอน ท่วงทำนองของร่างกายก็เริ่มร่ายรำไปกับสุ่มเสียงที่ซ้อนทับปะปนกระแสไฟฟ้า ก่อนที่ทุกอย่างจะจบลงอย่างงดงาม

แม้ตัวบทจะแสนธรรมดา แต่ด้วยพลังของแสงสีเสียง โดยเฉพาะภาคดนตรีที่เข้ามามีอิทธิพลกับความรื่นรมย์อย่างแยบยล หลังดูจบก็ยิ่งชวนให้คิดถึงความเป็นอเมริกันในแบบที่ซึมลึกอยู่ข้างในตัวเรา 

ภาพ : สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

ย้อนกลับไปในปี 1931 หรือ 30 ปีก่อนที่ละครจะเปิดฉาก เจมส์ ทรัสโลว์ อดัมส์ (James Truslow Adams) เขียนหนังสือในชื่อ The Epic of America ที่เป็นบ่อเกิดของคตินิยมของความฝันอเมริกัน ‘American Dream’ ที่มุ่งเน้นความนิยมอยู่ดีมีสุข ต้องขยันมากกว่าที่จะรอคอยความหวัง การแข่งขันภายใต้โลกทุนนิยมก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คน หลายคนลืมตาอ้าปากสุขสมหวัง มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว มีเงินทุนในการจับจ่ายใช้สอย กลืนกลายเป็นคติชนที่ยากจะสลัดหลุด การดำเนินชีวิตตามวงจรนี้ใน IBM 1401 ก็เป็นส่วนหนึ่งของคติชนที่คนอเมริกันแต่ละรุ่นล้วนยึดถือ

ในเส้นเวลาเดียวกัน สงครามเวียดนาม การประท้วงต่อต้านสงคราม การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนสีผิว และการใฝ่ฝันถึงเสรีภาพก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ทศวรรษที่ 1960 เองก็มีลักษณะของความซับซ่อนในความสัมพันธ์ที่ชวนตั้งคำถามอีกมากมายเต็มไปหมด

ภาพ : สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล

แม้จะมีเวลาสนทนาสั้น ๆ กับ ประภัสสร คอนเมือง ผู้กำกับ IBM 1401 ว่างานชิ้นนี้แม้จะออกมาอลังการเหมือนเตรียมการมาค่อนปี แต่ความเป็นจริงใช้เวลาทุกกระบวนการไม่ถึงสองเดือน ด้วยความที่มีหลายฝ่ายที่เข้ามาช่วยกันเนรมิต IBM 1401 เลยออกมาได้เป็นที่น่าพอใจ ก่อนที่จะเดินออกมาจากโรงละคร ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายของ สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล นักศึกษาวิจิตรศิลป์ ที่ทิ้งทวนให้ได้ตีความก่อนเดินทางกลับ ไม่แปลกเลยที่ต้องเปิด Spotify ฟัง IBM 1401 อีกรอบหลังการแสดงจบ ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม

สามารถรับชม IBM 1401 ได้ตั้งแต่วันที่ 21-25 ธันวาคม ณ Jing Jai Warehouse จ.เชียงใหม่ รอบการแสดง เวลา 19.00 น. ของทุกวันเป็นต้นไป ภายในการไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือสื่อจนกว่าการแสดงจะจบ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่

https://www.facebook.com/profile.php?id=100040041678543

https://www.facebook.com/events/526067652739540/532732228739749

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง