“จงสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย”
ถ้อยคำที่แสดงถึงปรารถนาอันแรงกล้าของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์คนเมือง หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยเชียงใหม่’ หรือ ‘มช.’ มหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทยในพ.ศ. 2507 มาถึงวันนี้ก็มีอายุครบ 60 ปีเต็ม
ย่างก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ล้วนมากไปด้วยความทรงจำรายทางมากมาย หากลองทบทวนเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เต็มไปด้วยเรื่องราวหลากมุมที่น่าบันทึกและติดตาม แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ที่บันทึกเพียงวาระนี้ได้ไม่หมด แต่ก็ยังเฝ้ารอให้ผู้คนมากหน้าหลายตาที่มีความทรงจำร่วมกับที่นี่มาร่วมต่อเติม
ระลอกคลื่นทั้งสาม ความปรารถนา ความสำเร็จ
ย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. 2484 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคขึ้น 3 แห่ง คือ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา เพื่อขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ออกจากนครหลวง โดยได้เชิญหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าปรึกษาหารือเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัย แต่โครงการนี้ก็หยุดชะงักไประหว่างลงพื้นที่สำรวจ เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
คราที่สงครามกำลังดำเนินต่อไปก็เกิดกระแสข่าวว่า ‘อเมริกามีนโยบายเปิดมหาวิทยาลัยอเมริกันในประเทศไทย’ ทำให้โรงเรียนมิชชันนารีหลากหลายแห่งต่างต้องการดึงมหาวิทยาลัยมาจัดตั้งในพื้นที่ของตน เช่นเดียวกับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์ เชียงใหม่ ดร. เคนเนท อี.แวลส์ อาจารย์ใหญ่ได้แสดงความปรารถนาให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ จึงติดต่อขอบริจาคที่ดินจากนายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งทั้งสองยินดีบริจาคที่ดินบริเวณถนนห้วยแก้ว โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองในประเทศไทยขณะนั้น ทำให้อเมริกาตัดสินใจไปจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ไต้หวันแทน แม้การเสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ครั้งแรกนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ทำให้รับรู้ได้ว่าประชาชนชาวเชียงใหม่เองประสงค์ที่จะให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัด
พ.ศ. 2492 เมื่อสงครามยุติลง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้รื้อโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้รัฐบาลได้ทำข้อตกลงสัญญาซื้อที่ดินบริเวณตำหนักสวนเจ้าสบาย (แม่ริม) ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ยินดีบริจาคที่ดินแปลงใหญ่ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าว ครานั้นรัฐบาลได้อธิบายว่าที่ดินบริเวณแม่ริมมีความเหมาะสมหลาย ๆ ด้าน พร้อมแจ้งเพิ่มเติมว่าต้องการเปิดมหาวิทยาลัยโดยเร็ว แต่ไม่ได้งบประมาณ เช่นเดียวกับงบประมาณในปีหน้าที่ต้องนำไปใช้ปรับปรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความพยายามในการเรียกร้องระลอกนี้ แม้จะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
“เราอาจจะโง่… แต่ลูกหลานเราต้องฉลาด เราต้องสู้เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนา” หนึ่งในข้อความเรียกร้องในหน้าหนังสือพิมพ์คนเมือง
การเรียกร้องครั้งที่สาม เกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2495 ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นระหว่างอำนาจเผด็จการและเหล่าปัญญาชน ในจังหวัดเชียงใหม่ นำทัพโดย ‘หนังสือพิมพ์คนเมือง’ ซึ่งมีนายสงัด บรรจงศิลป์เป็นบรรณาธิการได้มีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือ ผ่านหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน โดยตั้งหัวข้ออภิปรายว่า “ควรตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือไม่?” เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี รวมถึงพิมพ์บัตรขนาดต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายไปยังจังหวัดอื่น สังเกตุได้ว่าการเรียกร้องในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ เนื่องจากครั้งนี้ดำเนินการอย่างเป็นขบวนการ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากประชาชน และประสบความสำเร็จในการปลุกระดม หากแต่เมื่อปลายพ.ศ. 2495 หนังสือพิมพ์คนเมืองประสบกับภาวะขาดแคลนทำให้กระแสการเรียกร้องโดยหนังสือพิมพ์อ่อนลง และภายหลังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมืองถูกสอบปากคำในข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484
นอกจากบทบาทการรณรงค์เรียกร้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของสำนักพิมพ์คนเมือง ไกรศรี นิมมานเหมินท์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมือง และหนึ่งแกนนำเรียกร้องมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เสนอให้มีการใช้ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นรูปเก้งเผือกสองแม่ลูก อยู่ท่ามกลางเนินหญ้าคา และมีดอยสุเทพเป็นฉากหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับตำนานการสร้างเมืองเชียงใหม่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชัยมงคลเจ็ดประการ’ แห่งเมืองเชียงใหม่ แต่ข้อเสนอนี้ถูกปัดตกไป ทำให้ตราประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลายเป็น รูปช้างเผือกชูคบเพลิง หรือที่ชาว มช.เรียกว่า ลูกช้างในปัจจุบัน
แม้การรณรงค์เรียกร้องทั้งสามครั้งจะไม่ประสบความสำเร็จในทันใด แต่ก็ทำให้รัฐบาลรับรู้ถึงความต้องการ ภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2501 สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกถนอม กิตติขจร ได้มีการแถลงนโยบายโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาคอีกครั้ง
ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้สืบเนื่องมาจนถึงในปี พ.ศ.2502 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการยึดอำนาจของพลเอกถนอม กิตติขจร ซึ่งมีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ที่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2502 นำโดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ในขณะนั้น) หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ให้เหตุผลในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไว้ว่า
“…การตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค 8 ตามความเรียกร้องของประชาชน ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่…ด้วยเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง…”
โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มต้นพ.ศ. 2505 และวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 และออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เล่มที่ 81 ตอนที่ 7) ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ทำให้วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2507 เป็นวันเกิดตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่วันสำคัญที่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือว่าเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย คือ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ
เริ่มต้นเปิดดำเนินการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 พร้อมด้วยนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 291 คน โดยเปิดสอนในคณะพื้นฐาน 3 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ และพ.ศ. 2508 ได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โดยรับโอนมาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นับเป็นคณะ 4 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการเรียนการสอนทั้งสิ้น 21 คณะ 3 วิทยาลัย
“…เรียกชื่อมหาวิทยาลัยตามชื่อเมือง เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะมาก ขออย่าให้ใครมาแก้ไขเป็นอย่างอื่นเลย….” ข้อความจาก ‘บันทึกของปม.’ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รมว.กระทรวงศึกษาธิการ
ประเพณีบนความทรงจำที่ยากจะลืม
ด้วยตำแหน่งของมหาวิทยาลัยที่อยู่ติดกับดอยสุเทพ ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุดอยสุเทพและเป็นที่ประดิษฐาน ‘พระบรมสารีริกธาตุ’ ทำให้การขึ้นดอยเพื่อสักการะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับนักศึกษามช.รุ่นแรกพร้อมด้วยบุคลากรตัดสินใจร่วมเดินขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2507 จากดำริของ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย(ในขณะนั้น) ที่เห็นว่าเส้นทางสู่วัดพระธาตุนั้นสำเร็จด้วยแรงศรัทธาของประชาชน และเป็นผลงานที่แสดงถึงความสามัคคี ดังนั้นหากยึดถือการเดินขึ้นดอยสุเทพเป็นประเพณีก็คงจะดี อีกทั้งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยอื่นใด
“ผมมาคิดเรื่องการต้อนรับน้องใหม่ ซึ่งเป็นประเพณีต่าง ๆ กันในแต่ละมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องของนักศึกษา หากจะตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาอาจจะสวนความรู้สึกขึ้นได้ และระยะเริ่มต้นนี้อยากจะเห็นความราบรื่น รื่นรมย์และประทับใจ จึงได้ชวนนักศึกษารุ่นแรก ให้เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพด้วยเท้าด้วยกันทั้งหมดหลังจากปฐมนิเทศแล้ว ก็ได้รับการตอบสนองด้วยดี ด้วยความตื่นเต้น และได้รับความร่วมมืออย่างดี ทุกคนเดินขึ้นไป ไม่ว่าหญิงหรือชาย ช้าบ้างเร็วบ้าง เมื่อพร้อมกันแล้วก็ขึ้นไปนมัสการพระธาตุด้วยกัน แสดงถึงว่าเป็นนักศึกษาของ มช.อย่างสมบูรณ์ทางจิตใจแล้ว” นายแพทย์บุญสม มาร์ตินเคยกล่าวไว้
นับตั้งแต่นั้นมาทุก ๆ ปีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการต้อนรับนักศึกษาใหม่ด้วยการเดินขึ้นดอย หรือที่รู้จักในนามของ ‘ประเพณีรับน้องขึ้นดอย’ ระยะทางรวม 14 กิโลเมตร บรรยากาศการเดินขึ้นดอยท่ามกลางเพื่อนรุ่นเดียวกัน มีรุ่นพี่คอยช่วยเหลือ ตลอดระยะทางจากหน้า มช. ไปจนถึงยอดดอยเต็มไปด้วยแรงเชียร์จากผู้คน บ้างยื่นน้ำมาให้ บ้างยื่นยาดม ทั้งหมดนี้ส่งผลให้กิจกรรมรับน้องขึ้นดอยเป็นกิจกรรมที่ดี ๆ ในความจำของนักศึกษามช. และได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในทุก ๆ ปี
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานและได้รับความสนใจมากมาย อีกทั้งเป็นกิจกรรมที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ คือ งาน ‘ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์’
ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ คือ กิจกรรมงานดนตรีของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2529 ซึ่งขณะนั้นนักศึกษามีแนวคิดที่อยากจะทำอะไรบางอย่างเพื่อคณะ และอยากหาทุนการศึกษา แรกเริ่มกิจกรรมที่ตั้งใจจัดขึ้น คือ การเปิดฉายภาพยนตร์ แต่แนวคิดนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่าง ทำให้ต้องหันกลับมามองและตั้งโจทย์ว่าเด็กวิจิตรศิลป์ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งพบว่าเด็กวิจิตรศิลป์ส่วนใหญ่เล่นดนตรีได้ ร้องเพลงได้ เต้นได้ รวมไปถึงฟ้อนรำได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปจัดงานดนตรี และเลือกเพลงเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งหมด เพราะมีความเห็นว่าลูกทุ่งเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของชาววิจิตรศิลป์
กิจกรรมนี้เรียกได้ว่าเป็นการร่วมมือของนักศึกษาวิจิตรศิลป์อย่างแท้จริง ทั้งหางเครื่อง นักร้อง ทีมงาน ผู้จัดต่างเป็นนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ครั้งแรกจัดขึ้นที่ศาลาอ่างแก้ว โดยได้เชิญ หมู-พงษ์เทพ กระโดนชํานาญ มาเป็นแขกรับเชิญ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมากจากทั้งนักศึกษาและจากผู้เข้าร่วมงานคนอื่น ปีถัดมาไม่ได้มีเพียงนักร้องจากคณะวิจิตรศิลป์อีกต่อไป แต่มีทั้งนักร้องสโมสรนักศึกษา กลุ่มนักศึกษาที่ร้องเพลงได้ วงดนตรีของโรงเรียน ค่อย ๆ พัฒนาให้กิจกรรมสนุกมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นงานลูกทุ่งวิจิตศิลป์อย่างที่หลายคนรู้จักและตั้งตารอ
นอกจากประเพณีที่ผูกพันเหนียวแน่นจนผูกและพันนักศึกษามากมายรุ่นแล้วรุ่นเล่า กิจกรรมต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเองก็เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ทั้งชมรมกิจกรรมกลาง ชมรมที่สังกัดภายใต้คณะเองก็ยังคงร้อยเรียงไม่แพ้กัน
มช. ในวัฒนธรรมป็อป
หากพูดถึงภาพยนตร์ที่ทำให้นึกถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วหลายคนคงจะนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘เพื่อนสนิท’ เรื่องราวความรัก(ข้างเดียว) ของ หมู(ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) หรือฉายาคือ ไข่ย้อย และเพื่อนสาวที่เขาแอบชอบ ดากานดา(นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ เข้าฉายเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยดัดแปลงเรื่องราวมาจากนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง ‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ ที่เขียนโดย อภิชาติ เพชรลีลา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2543 กับการดำเนินเรื่องผ่านการเขียนจดหมายโดยไข่ย้อยที่ส่งผ่านมาถึงดากานดา เพื่อนสนิทในมหาวิทยาลัยที่มีฉากชีวิต ภาพความทรงจำอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากแต่ไข่ย้อยจะบรรจงเขียนอยู่บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ตาม
แม้จะไม่มีฉากใดที่ถ่ายทำในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เลย เนื่องจากขณะนั้นมีกฎไม่อนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องถ่ายทำในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ แต่ด้วยบรรยากาศ ฉากประเพณีรับน้องขึ้นดอย ฉากงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ และคณะจิตรศิลป์ที่ตัวละครเอกกำลังศึกษาอยู่นั้นทำให้ทราบได้เลยว่าเรื่องราวที่ประกอบอยู่ในภาพยนตร์ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หลังจากภาพยนต์เรื่องนี้เข้าฉายทำให้หลายคนรู้จักมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีหลายเสียงจากผู้ชมที่เอ่ยปากว่าอยากมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และตั้งใจสอบเข้ามาเรียนเชียงใหม่ ซึ่งตัวเลขยอดนักเรียนที่เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงนั้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ อดีตคณบดีวิจิตร์ศิลป์ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ถึงกับให้สัมภาษณ์ติดตลกว่า
“ช่วงนั้นเด็กเอ็นทรานซ์เข้าคณะวิจิตรศิลป์เยอะมาก”
เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง ‘รักน่ารัก’ เข้าฉายเมื่อ 3 เมษายน 2525 เรื่องราวของวัยรุ่นที่สอบเอ็นทรานซ์ติดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ต้องเรียนไกลบ้าน และพบกับความรักแบบน่ารัก ๆ จากรุ่นพี่ โดยนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งสมัยนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุญาตให้ถ่ายทำในมหาวิทยาลัยได้ ทำให้ได้เห็นบรรยากาศมหาวิทยาลัยจริง ๆ มีฉากกิจกรรมรับน้องรถไฟ รับน้องขึ้นดอย หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายก็ทำให้หลายคนตั้งใจสอบเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเกิดเป็นคำฮิตติดปากว่า
“แม่บอกแล้วอย่ามาเรียนมช.”
นอกจากภาพยนตร์แล้ว มิวสิกวิดีโอเพลง ’ถ้าเธอรักฉันจริง’ ของวง Three Man Down ที่ถ่ายทำในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเมื่อปล่อยออกมา ศิษย์เก่ามช.หลายคนได้ให้ความเห็นว่า ดูแล้วคิดถึงสมัยเรียนมช. อีกทั้งยังมีวาไรตี้ และคอนเทนต์อื่น ๆ ที่ได้ถ่ายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าเชียงใหม่ไม่ได้มีเพียงแค่การเรียนที่เด่น แต่ยังมีบรรยากาศ สภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่ดี มช.ไม่ได้เป็นแค่สถานศึกษา แต่ยังเป็นดังพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถมาพักผ่อนหย่อนใจ เดินเล่น ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการแสดงออกทางการเมือง
ทศวรรษที่หกเหิน เสรีภาพ และการแสดงออกไร้ซึ่งเสรี?
เมื่อมหาวิทยาลัย คือ สถาบันการศึกษาที่ควรเปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการแสดงออก เหตุใดจึงมีข่าวมากมายประโคมว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง แม้ว่าตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจะถูกรายล้อมไปด้วยบรรยากาศทางการเมืองและการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไล่ตั้งแต่วังวนของการเมืองเดือนตุลา 2516-2519 การเคลื่อนไหวช่วงพฤษภาทมิฬ 2535 การขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 รวมไปถึงการเกิดขึ้นของ “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” ก่อตั้งเมื่อปี 2540 ที่นำโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ สมเกียรติ ตั้งนโม สองอาจารย์ผู้ล่วงลับเป็นผู้ริเริ่มที่ขยายพรมแดนทางวิชาการให้ไกลมากกว่าในห้องเรียน และระลอกความขัดแย้งของขั้วทางการเมืองเหลืองแดง และการต่อต้านรัฐประหาร เรื่อยมากถึงการทะลุทะลงเพดานของสังคมไทยตั้งแต่ปี 2563 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็อยู่ร่วมในบรรยากาศนี้อยู่ตลอด ถ้าต้องบรรยายทั้งหมดอาจจะต้องยกยอดออกไปก่อน แต่ในสภาวะที่หกเหินของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีเรื่องคาใจอีกมากที่ยังคงรอคอยคำตอบที่มีเหตุผลมากพอ
ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 เกิดเหตุการณ์คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองคณบดีและเจ้าหน้าที่ เข้าไปยึดผลงานศิลปะของนักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ จนทำให้เกิดการถกเถียงกันรุนแรง ภายหลังแจ้งว่าไม่ทราบว่าเป็นผลงานใครจึงเก็บใส่ถุงดำไว้ก่อน
อีกครั้งในปีปลายปีพ.ศ. 2564 เหตุเกิดจากการที่นักศึกษาได้ขออนุญาตใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปีของสาขาวิชา Media Art and Design แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังมีการปิดพื้นที่ด้วยโซ่ ซึ่งบริเวณไม่ได้มีเพียงหอศิลป์ แต่ยังมีอาคารเรียนของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ตั้งอยู่ นักศึกษาพร้อมด้วยอาจารย์จึงทำการตัดโซ่ที่คล้องไว้ ภายหลังได้ถูกอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฟ้องอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการเข้าไปใช้หอศิลปวัฒนธรรมทรัพยากรของมหาวิทยาลัย
เช่นเดียวกับกรณีการจัดกิจกรรมดูนกของชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ที่ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ก็ถูกรปภ.ขับรถเปิดไฟฉุกเฉินขับไล่ ก่อนจะแจ้งว่าได้รับคำสั่งให้มาสลายการชุมนุม ครั้งนั้นหมอหม่อง-นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้จัดกิจกรรมถึงกับตั้งคำถามว่า ‘การดูนก เป็น อาชญากรรม?’
ไม่เพียงแต่การกระทำที่ดูเหมือนจะปิดกั้นเสรีภาพทางการแสดงออก หรือการรวมกลุ่มกัน แต่ประกาศหลาย ๆ ครั้งก็ไปในทิศทางเดียวกัน จากประกาศฉบับใหม่เรื่อง “การขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งข้อสังเกตว่า ประกาศฉบับใหม่นี้มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากในประกาศข้อที่ 4 การจัดงานชุมนุมในมหาวิทยาลัยต้องได้รับอนุมัติก่อนล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3 ชม. ซึ่งตามปกติแล้วการจัดการชุมนุมสาธารณะไม่ต้องขออนุมัติอนุญาต เป็นเพียงแค่การแจ้ง
รวมไปถึงการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณาจารย์คุณภาพจากคณะนิติศาสตร์ ที่มีผลงานทางวิชาการทั้งในรูปแบบงานวิจัยและหนังสือในช่วงปี พ.ศ.2543 – 2561 มากมาย แบ่งเป็นงานวิจัย 11 หัวข้อ และหนังสืออีก 9 เล่ม แต่กระนั้นเองการขอตำแหน่งทางวิชาการก็ถูกแช่แข็งยาวนานกว่า 8 ปี ซึ่งมีการยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ไปเมื่อปีเดือนตุลาคม 2558 จนถึงวันนี้ (24 มกราคม 2567) ก็เป็นการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ครบรอบ 100 เดือนแล้ว
เช่นเดียวกับตอนเลือกตั้งอธิการบดี ครั้งนั้นมีการออกเกณฑ์ห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือการหยั่งเสียงอธิการบดีไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หากผู้ใดมีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะต้องถูกตัดชื่อออกจากรายชื่อผู้ที่จะได้รับการพิจารณา หรือหากเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยก็จะถือว่ามีความผิดทางวินัย ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการหยั่งเสียงไม่ได้เป็นการกระทำที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งแต่อย่างใด ภายหลังมีการฟ้องศาลกันเกิดขึ้น ทางมหาวิทยาลัยรีบแก้ไข
สังเกตได้ว่าการกระทำรวมถึงกฎเกณฑ์หลายครั้งที่ประกาศออกมามักไม่สนใจและขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากแต่แท้จริงนั้นมหาวิทยาลัยควรยึดมั่นต่อหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก
นี่เป็นเพียงไม่กี่เรื่องตลอด 60 ปี ที่มีสภาวะหกเหิน เหินขึ้นฟ้า หรือจะเหินลงดิ่ง ทั้งนี้ทั้งนั้นเองเรื่องราวหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีการแก้ไขและถูกบันทึกอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
บรรณานุกรม
- กลุ่มสนทนาประสา มช. รุ่นเดอะ. (2565). ทศวรรษแรกชีวิตนักศึกษามช. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะทำงานหนังสือ “50 ปี มช. รหัส 13”. (2563). ๕๐ ปี มช. รหัส ๑๓. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบีย. (ม.ป.ป). รักน่ารัก (2525). https://thaibunterng.fandom.com
- ประชาไท. (2565). ‘ตัดโซ่‘ หอศิลป์ มช. ไม่จบ ตร. ออกหมายเรียก 2 อาจารย์ – 1 นศ. ข้อหาบุกรุก อดีต ‘คณบดีวิจิตร ศิลป์‘ เป็นคน ‘แจ้ง‘. https://prachatai.com/journal/2022/11/101316
- ประชาไท. (2566). มช. ออกกฎชุมนุมฉบับใหม่ ห้าม ‘แตะต้อง‘ สถาบันกษัตริย์ ‘สมชาย‘ ระบุ ขัดรัฐธรรมนูญ. https://prachatai.com/journal/2023/07/104852
- ประวัติความเป็นมา. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://www.cmu.ac.th/th/cmu/history
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2565). เมื่อ “นกสีฟ้า” ปะทะ “ออกข่วง” ในเสี้ยวประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://www.cmu.ac.th
- รู้สึกสบายดี. (2560). รักน่ารัก. https://feelgoodbytornop.wordpress.com
- สมโชติ อ๋องสกุล. (2565). จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประวัติศาสตร์ยุคเรียกร้องมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ และ ประวัติบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอ็น.พี.ที.ปริ้น.ติ้ง
- หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา). ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://library.cmu.ac.th
- Infinity Podcast. (2563). What’s Up Chiangmai? 03: ตำนานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์. https://podcastaddict.com
- Chiangmai news. (2561). 14 กม.แห่งความทรงจำ “รับน้องขึ้นดอย” ความภูมิใจของ ลูกช้าง มช. https://www.chiangmainews.co.th
- Chiangmai news. (2561). มาแล้ว “ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ 2561”. https://www.chiangmainews.co.th
- Fine art. (2566). FOFA CMU ART FESTIVAL. https://www.finearts.cmu.ac.th
- Sanook. (2561). โก้อย่างเคย งานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์60 “ลูกทุ่งไทยไชโย” สนั่นทั่วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://www.sanook.com
- Thai PBS. (2565). “นพ.รังสฤษฎ์” งง ถูกรปภ.มช. ไล่คณะดูนก อ้าง “ได้รับคำสั่งให้มาสลายการชุมนุม“. https://www.thaipbs.or.th/news/content/320287
- ขอ ศ. นานที่สุดของประเทศ? ‘สมชาย’ ทวง อธิการบดี มช. อย่าลืมวิจัยหลายชิ้นคว้ารางวัลเป็นหน้าตามหา’ลัย https://www.lannernews.com/26092566-02/
- ช้างเผือก: สัญลักษณ์อาณานิคมประจำจังหวัดเชียงใหม่ https://www.the101.world/lanna-history-10/