วิเคราะห์ ‘อบจ.น่าน’ พื้นที่ชายขอบสีแดง

ถิรายุส์ บำบัด อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาพจาก Facebook Tirayoot Bumbud

‘Lanner’ สัมภาษณ์ ถิรายุส์ บำบัด อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ถึงสถานการณ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นายกอบจ.น่าน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมี 5 ผู้สมัครรับเลือกตั้งถือเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด นำโดย นพรัตน์ ถาวงศ์’ เบอร์ 1 จากพรรคเพื่อไทย, อธิวัฒน์ เตชะบุญ เบอร์ 2 ‘สันติภาพ อินทรพัฒน์’ เบอร์ 3. ‘เสนอ เวชสัมพันธุ์’ เบอร์ 4 ‘พิชัย โมกศรี’ เบอร์ 5 

โดยถิรายุส์กล่าวว่า การเมืองและการเลือกตั้งของจังหวัดน่านนั้นสะท้อนภาพของเมืองชายขอบในภาคเหนือซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในแง่ของกระแสทางการเมืองที่แตกต่างจากพื้นที่ใจกลางของภาคเหนืออย่าง เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ที่มักจะมีอิทธิพลของพรรคการเมืองใหญ่ เช่น พรรคแดง แและพรรคสีส้ม ที่เด่นชัดในพื้นที่เหล่านั้น สำหรับน่านและจังหวัดใกล้เคียงอย่าง แพร่ หรือ แม้กระทั่งอุตรดิตถ์ พื้นที่เหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลจากกระแสการเมืองสีแดง สะท้อนให้เห็นว่าผลการเลือกตั้งในพื้นที่ชายขอบภาคเหนือยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยพลังจากพรรคการเมืองสีแดงที่ยังคงมีพลัง

จากยุคความมั่นคงในมือ นรินทร์ สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ นพรัตน์ 

นรินทร์ เหล่าอารยะ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน  นายกอบจ.น่าน 4 สมัย ปี 2543-2563 ภาพจาก Facebook : นรินทร์ เหล่าอารยะ

ในแง่ของสนามการเมืองในจังหวัดน่านนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงสำคัญ โดยช่วงแรกนั้นเป็นยุคของ นรินทร์ เหล่าอารยะ’ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน อบจ.น่าน ที่ดำรงตำแหน่ง มายาวนานถึง 3-4 สมัย ตั้งแต่ปี 2543-2563 ซึ่งถือเป็นยุคที่มีความต่อเนื่องและมั่นคงในแง่ของการเมืองท้องถิ่น หลังจากนรินทร์วางมือจากตำแหน่งนายก อบจ. น่าน การเมืองในจังหวัดน่านก็เข้าสู่ยุคใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งในปี 2563 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อ ‘นพรัตน์ นพรัตน์’ ถาวงศ์ ขึ้นมารับตำแหน่งนายก อบจ.น่านคนปัจจุบัน ปี 2563-2567  โดย นพรัตน์ ถือเป็นคนสนิทของ หมอชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน เขต 2 จากพรรคเพื่อไทย หรือที่คนในพื้นที่รู้จักกันในชื่อ ‘หมอไหล่’

นพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองการบริหารส่วนจังหวัด.น่าน คนปัจจุบัน  ภาพจาก Facebook สจ. นพรัตน์ ถาวงศ์
หมอชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน เขต 2 จากพรรคเพื่อไทย ภาพจาก Wikipedia

ในช่วงที่ผ่านมา การเมืองในจังหวัดน่านเกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการผลักดันของหมอชลน่าน ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน นพรัตน์  ให้ได้เข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองระดับประเทศ การผลักดันจากหมอชลน่านและ ส.ส.คนอื่น ๆ ของจังหวัดน่านนั้นถือเป็นการเคลื่อนไหวสำคัญในครั้งนี้ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีการเมืองดั้งเดิมและเครือข่ายที่มีอำนาจพอสมควร

อย่างไรก็ตามการเมืองในจังหวัดน่านยังคงมีความซับซ้อน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่าง หมอชลน่าน กับ สิรินทร รามสูต อดีต สส.จังหวัดน่าน เขต 1 จากพรรคเพื่อไทย  4 สมัย ที่มีความเกี่ยวข้องกับ ตระกูลโลหะโชติ ตระกูลการเมืองเก่าแก่ของจังหวัดน่าน ซึ่งถือเป็นข่าววงในที่เผยแพร่ออกมา แม้ทั้งสองจะมีความสัมพันธ์ในแง่การเมืองแต่ก็มีบางประเด็นที่ทำให้พวกเขาไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไรนัก 

สิรินทร รามสูต อดีต สส.จังหวัดน่าน เขต 1 ทั้ง 4 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – พ.ศ.2562 ภาพจาก พรรคเพื่อไทย 

ทว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทั้ง 2 สส.จังหวัดน่าน ต่างร่วมมือกันสนับสนุน นพรัตน์  ในการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ซึ่งการสนับสนุนนี้ถือเป็นการรวมพลังจากหลายฝ่ายในพื้นที่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคเพื่อไทยและการเมืองในจังหวัดน่าน 

ส.ส. 3 เขตจังหวัดน่านและการเลือกตั้งที่น่าสนใจในปี 2566

ในเชิงคณิตศาสตร์ทางการเมืองของจังหวัดน่าน การเลือกตั้งระดับชาติ ปี 66 ของจังหวัดน่าน ถ้าคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทยมี 121,439 คะแนน แต่ของพรรคก้าวไกล มี 83,543 คะแนน ในการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต ทั้ง 3 เขตยกจังหวัด โดยเฉพาะในเขตของหมอชลน่าน ที่สามารถดึงคะแนนจากประชาชนได้อย่างถล่มทลาย จนทำให้มีคะแนนสูงสุดในบรรดาทุกเขตของจังหวัดน่าน

อย่างไรก็ตาม เขตเลือกตั้งที่ 1 นั้นก็มีการเฉือนเอาชนะคู่แข่งจากพรรคก้าวไกลไปได้อย่างฉิวเฉียด โดยผลคะแนนที่ออกมานั้นมีการแย่งชิงกันอย่างดุเดือด ซึ่งในครั้งนี้มีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย โดย สิรินธรได้มอบหมายให้สามีคือ ทรงยศ รามสูต สส.เขต จังหวัดน่าน  ลงสมัครในเขตเลือกตั้งนี้แทน ซึ่งเขาก็สามารถชนะผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลด้วยคะแนนที่มากกว่าเพียง 1,226 คะแนนเท่านั้น

ในขณะเดียวกันการเลือกตั้ง นายกอบจ.น่าน นั้นดูเหมือนจะมีความแตกต่างจากจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเรื่องของตัวเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ที่หลากหลาย สำหรับจากการสำรวจความคิดเห็นของพี่น้องชาวจังหวัดน่าน พบว่า จังหวัดน่านมีความตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าจังหวัดแพร่ หากดูจากการสมัครทั้ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ,สมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) หรือ แม้แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ในจังหวัดนี้มีจำนวนผู้สมัครค่อนข้างมาก

ในปี 2563 การเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดน่าน เป็นอีกหนึ่งสนามที่มีการแข่งขันที่เข้มข้น โดยในรอบนั้น ผลคะแนนมีความน่าสนใจและบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดน่านได้อย่างดี อันดับ 1 ตกเป็นของ นพรัตน์ ที่ได้มากถึง 83,698 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่สูงมากและสะท้อนถึงการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่อย่างล้นหลาม อันดับ 2 คือ ‘พิชิต โมกศรี’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ปลัดพิชิต’ ที่ได้ 65,752 คะแนน  ซึ่งแม้จะตามหลังอันดับ 1 อยู่มาก แต่ยังถือว่าเป็นคะแนนที่มีน้ำหนักไม่น้อย ในขณะที่อันดับ 3 ตกเป็นของ ‘สันติภาพ อินทรพัฒน์’ ซึ่งได้ 41,210 คะแนน และถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาชนที่มีความเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์การทำงานของเขา และสุดท้ายในอันดับที่ 4 คือ ‘โสภล ศรีมาเหล็ก’ ได้ 28,709  คะแนน ซึ่งก็ถือว่าเป็นคะแนนที่ดีในระดับหนึ่งสำหรับผู้สมัครที่ลงแข่งขันในสนามนี้ 

 พิชิต โมกศรี หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปลัดพิชิต ภาพจาก Facebook ปลัดพิชิต โมกศรี
สันติภาพ อินทรพัฒน์  อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดน่าน ภาพจาก Facebook : นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ 
โสภล ศรีมาเหล็ก ภาพจาก Facebook : ดร.โสภณ ศรีมาเหล็ก

การกลับมาของทีม สว. ในการเลือกตั้งนายก อบจ. น่าน ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ

หลังจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดน่านในปี 2563 ที่สะท้อนถึงการแข่งขันที่ดุเดือดและผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าสนใจในแต่ละอันดับ ในปีนี้ก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ต้องจับตามอง เมื่อเกิดการรวมพลังครั้งสำคัญจากกลุ่มการเมืองที่มีประสบการณ์และฐานเสียงเหนียวแน่น โดยการรวมตัวของ ‘ชัยวุฒิ ครูอริยกุล’, โสภล และ สันติภาพ 3 อดีตสมาชิกสภาจังหวัด (สว.) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดน่าน

โดย ชัยวุฒิ เป็นคนจากอำเภอเวียงสา และเคยดำรงตำแหน่ง สว.น่าน ในปี 2549 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติหลังจากรัฐประหารของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ (อดีต ผบ.ทบ.) ซึ่งทำให้การเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ชัยวุฒิก็ยังคงได้รับการยอมรับจากประชาชนในจังหวัดน่าน  ส่วน โสภล ก็เป็น อดีต สว.น่าน ที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองของจังหวัดน่าน โดยเขาได้ดำรงตำแหน่ง สว. จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนเป็น สว. แต่งตั้ง โดยในครั้งนั้นโสภลได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในพื้นที่อย่างล้นหลาม และ สันติภาพ อดีต สว.จังหวัดน่าน ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2543 

การรวมตัวของ ชัยวุฒิ, โสภล และ สันติภาพ การรวมพลังครั้งนี้ถือเป็นการรวมตัวของ ‘ทีม สว.’ ซึ่งแต่ละคนต่างมีฐานเสียงจากการทำงานในพื้นที่หลายโซนของจังหวัดน่านและต่างก็มีประสบการณ์การเมืองท้องถิ่นที่ยาวนาน จึงถือเป็นการสร้างทีมที่มีความแข็งแกร่งและฐานเสียงที่มั่นคงในพื้นที่ พวกเขาได้ร่วมกันสนับสนุน สันติภาพ ในการลงสมัคร นายกอบจ. น่าน และเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจโดยทั้งหมดได้เปิดทีมบริหารอย่างเป็นทางการ โดย ชัยวุฒิ และ โสภล  ทั้งสองคนได้เปิดตัวเป็น รองนายก อบจ. เพื่อสนับสนุน สันติภาพ ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งนายก ในปีนี้

ในขณะที่ พิชิต ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะอดีตปลัดเทศบาลเมืองน่าน ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.เบอร์ 5  ได้ลงสมัครอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการลงสมัครในสมัยที่ 3 แล้ว ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พิชิต ได้รับคะแนนสูงถึง 65,752 คะแนน คว้าอันดับที่ 2 ในการแข่งขัน แม้จะไม่ได้ตำแหน่งนายกอบจ. แต่เขาก็ยังคงมีฐานเสียงที่แข็งแกร่งในจังหวัดน่าน โดยเฉพาะจากกลุ่มข้าราชการและฐานเสียงจากพื้นที่เมืองน่านที่เขาเคยทำงานในตำแหน่ง ปลัดเทศบาลเมืองน่าน และ รองนายกเทศมนตรีรวมถึงการได้รับการยอมรับจากเพื่อนพี่น้องในชุมชนที่มีความใกล้ชิดกับเขา

ขณะเดียวกันในสนามการเมืองน่านในปีนี้ นพรัตน์ จาก พรรคเพื่อไทย ยังคงเป็น เต็งหนึ่ง ในการแข่งขัน โดยเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากพรรคเพื่อไทย ที่เลือกใช้ แบรนด์พรรค ในการหนุนหลัง ทั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 เขต เขตเลือกตั้งที่ 1, 2, 3 และเครือข่ายสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ของ นพรัตน์ ที่เคยหมดวาระไปก่อนหน้านี้

ในส่วนของ สันติภาพ  แม้จะเป็นผู้สมัครใหม่ แต่กระแสการสนับสนุนจาก ‘ทีม สว.’ ที่ก็ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  โดยทั้ง 2 ท่านได้รับการเปิดตัวเป็น รองนายก อบจ. ในทีม สันติภาพ ซึ่งทำให้เขามีกระแสที่พุ่งแรงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเขา 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ นพรัตน์ ยังคงเป็น เต็งหนึ่ง แต่การแข่งขันยังคงดุเดือด สันติภาพ กลายเป็น เต็งสอง ที่กระแสแรงขึ้นในทุกวัน ขณะที่ พิชิต ยังคงมีฐานเสียงที่ไม่ธรรมดาและมีคะแนนที่สูงพอสมควรในฐานะอดีตข้าราชการและผู้มีประสบการณ์ในการบริหารท้องถิ่น ดังนั้นการแข่งขันเลือกตั้งนายก อบจ. น่านในครั้งนี้จึงเป็นการดวลกันระหว่างทีมการเมืองที่มีความแข็งแกร่งและเชื่อมโยงกับกลุ่มฐานเสียงที่หลากหลาย และมันยังคงขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวในช่วง สัปดาห์สุดท้าย ว่ากระแสการเมืองจะพลิกผันไปในทิศทางใด

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง