สรุปเสวนา ‘นิติสงครามมุมกลับ: จะใช้กฎหมายต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมได้อย่างไร’

24 กุมภาพันธ์ 2566

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘นิติสงครามมุมกลับ: จะใช้กฎหมายต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมได้อย่างไร’ ณ Law Coffee Club คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เวลา 13.30 – 16.00 น. ผู้ร่วมเสวนาโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และผู้ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เสวนาในครั้งนี้มีจุดประสงค์เนื่องจากในสังคมปัจจุบันพบว่ามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกับประชาชนขึ้นอย่างกว้างขวาง ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะใช้กฎหมายมาต่อกรกับรัฐ

สุมิตรชัย กล่าวว่า คำว่า ‘นิติสงคราม’ นั้นเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ มีความหมายที่น่าสนใจคือ ใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อจัดการฝ่ายตรงข้าม ซึ่งรัฐได้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจกับกลุ่มคนหลากหลายที่ถือว่าเป็นศัตรูของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายป่าไม้ในการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าหรือพื้นที่ล่อแหลมต่อมุมมองของรัฐที่ถือว่าเป็นพื้นที่หวงห้าม ทั้งในรูปแบบบังคับหรือจับกุมดำเนินคดีต่าง ๆ ซึ่งมีมาตั้งแต่ในยุคอาณานิคมต่อเนื่องมาถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎร แต่ช่วงที่มีความเข้มข้นที่สุดคือ ช่วงการเกิดกฎหมายอุทยานในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นบริบทในช่วงสงครามเย็น การออกกฎหมายนี้คือการยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการรบรูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตงานของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบมากในภาคเหนือ จึงทำให้เป้าหมายที่รัฐจับตามองคือ กลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีการนำกฎหมายป่าไม้มาใช้ปราบปรามคนกลุ่มนี้ เพราะพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์มีการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากในยุคนั้น 

จุดนี้ทำให้เห็นว่ากฎหมายเป็นอาวุธที่รัฐได้ใช้ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามมานานแล้ว รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ พรบ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่รัฐได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้ามในทางอุดมการณ์ ซึ่งมีทั้งความรุนแรงและสิทธิต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นภัยต่ออะไรก็ตาม รัฐมีการใช้ทั้ง Lawfare และ Warfare แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเพียงการใช้ Lawfare เท่านั้น

“ในมิติที่เกิดขึ้นผมให้ความสำคัญกับกฎหมาย ผมสังเกตุได้ว่ามันเกิดขึ้นในยุคเผด็จการทั้งสิ้น”

ปิยบุตร เสนอว่า ไอเดียของ Lawfare นั้นมาจากอเมริกา ซึ่งเป็นความหมายในแง่บวกที่จะไม่ให้มีการเสียเลือดเสียเนื้อ แต่มันกลับมีผลเสียจากการใช้กฎหมายนั้นเอง ปัจจัยที่เสริมให้มิติสงครามมันกระจายก็คือคือ การนำเรื่องประเด็นทางการเมืองไปอยู่ในประเด็นของศาล โดยมีวิธีการทำงานคือ เริ่มจากการตั้งข้อหา โดยมีเป้าหมายคือการหยุดไม่ให้มีการประท้วง จนอาจทำให้ประเด็นการประท้วงเริ่มเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ยังมี ‘การฟ้องแบบหว่าน’ ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้บทบาทของนิติสงครามทำงานมากขึ้น และแม้แต่ ‘สื่อ’ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การตัดสินบิดเบือนไปจากกฎหมาย ซึ่งการขับเคลื่อนของ Lawfare จะเป็นในรูปแบบนี้

ข้อเสนอการตอบโต้ปัญหาของการใช้ Lawfare

สุมิตรชัย เสนอว่า ที่ผ่านมามีความพยายามใช้สิ่งที่เรียกว่า สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกปลูกฝังเพื่อที่จะตอบโต้การใช้อำนาจของรัฐ แต่ตัวกฎหมายก็ยังมีการออกข้อกฎหมายที่ล่วงล้ำสิทธิมนุษยชน ทำให้อำนาจรัฐยังมีการแผ่ขยายมากขึ้น ซึ่งการที่จะต่อสู้นั้นต้องมองอยู่ 2 ส่วนคือ คลังของกฎหมายที่อยู่ต้องทำให้กลับมาอยู่ในความเป็นกลาง และเนื่องจากกำลังของเรานั้นมีน้อย จึงจำเป็นต้องการจัดตั้งภาคีนักกฎหมาย เพื่อจะเป็นกำลังที่จะมาต่อกรกับการใช้อำนาจของรัฐ

โดยปิยบุตรมีข้อเสนอในเรื่องนี้ 3 ข้อ ได้แก่

1. ต้องหยุดการใช้อาวุธของรัฐ โดยการยกเลิกกระบวนการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลานานและต้องใช้เสียงข้างมากด้วย นอกจากการยกเลิกกระบวนการแล้วก็ต้องมีการเติมข้อกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้อำนาจของรัฐอีกด้วย

2. ปฏิบัติการ Direct Action หรือปฏิบัติการตรง เช่น การประท้วง แต่ในประเทศไทยที่มีการนิยามความหมายของสันติวิธีที่ค่อนข้างแคบ ซึ่งนิยามแท้จริงของสันติวิธีคือ การไม่ใช้อาวุธ แต่วิธีนี้เป็นเพียงวิธีการกดดันเท่านั้น

3. การใช้กฎหมายโจมตีกลับหรือการฟ้องกลับ ซึ่งไม่ใช่การฟ้องหมิ่นประมาท แต่เป็นการบอกว่าอำนาจรัฐไม่ได้ถูกใช้อย่างถูกต้อง ซึ่งเห็นได้จากการที่รัฐได้เข้ายุติการชุมนุมโดยไม่ได้ประกาศข้อกฎหมาย แต่ปัญหาคือ เราจะสร้างทรัพยากรในการย้อนกลับนี้อย่างไร เช่น ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรงบประมาณ

ทางด้าน กฤษณ์พชร มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากประเด็นที่ปิยบุตรได้เสนอว่า การที่ภาคประชาชนจะชนะคดีในภาครัฐนั้นเกิดขึ้นน้อยมากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งเรารับรู้เสมอว่า กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างทางสังคม แต่ปัญหาคือ มันจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมได้อย่างไร

นอกจากนี้กฤษณ์พชรยังเสนออีกว่า ต้องใช้ระบบกฎหมายทำลายอุดมการณ์ที่รัฐยึดถือ ลดอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐที่จะใช้ปราบปรามประชาชน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ในเรื่องของอุดมการณ์มันยังมีเรื่องที่ต้องต่อสู้ทางกฎหมายอีกมาก เช่น การตีความทางกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามฝ่ายประชาชน การนิยามของความมั่นคงต่อประชาชน และการปฏิเสธความรุนแรงที่เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างกำลังกายภาพระหว่างรัฐและประชาชน 

สุดท้ายกฤษณ์พชรได้มีข้อเสนอถึงอุดมการณ์ที่ฝ่ายประชาชนสามารถยืนยันได้ 4 ข้อ ได้แก่

1. ปฎิเสธความรุนแรงจากรัฐ ต้องมีการยืนยันให้หนักแน่นว่า ‘รัฐต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน’

2. การนิยามถึงความหมายในเรื่องของความมั่นคงใหม่ ซึ่งต้องไม่ใช่ในทางกฎหมายเท่านั้น

3. ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะประชาชนไม่ได้มีความปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็นออกมาตรง ๆ 

4. ต้องมีการคิดถึงทางเลือกใหม่ที่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของศาล เพื่อที่จะทำให้ศาลเป็นอิสระจากสถาบันหรือรัฐ

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง