เรื่อง: อาทิตยา เพิ่มผล/ Prachatai
รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566 ทางเว็บไซต์ journalismbridges.com
ปัจจุบันสถานการณ์ในไทยเห็นได้ว่าเด็กและเยาวชนออกมาส่งเสียงมากขึ้น ทั้งด้านการเมือง โดยผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเยาวชนที่ทำงานขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน แต่ว่าเสียงของเด็กและเยาวชนได้รับการรับฟัง และได้นำเสียงเหล่านั้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ดีขึ้นหรือไม่
เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ผู้สื่อข่าวชวนคุยกับคนรุ่นใหม่ 3 คนจาก 3 องค์กรและหน่วยงาน ได้แก่ ‘ปอนด์’ รณกฤต หะริตา จากกลุ่ม ‘เสียงไม่แบ่งวัย’ ‘สอง’ ยศวดี ดิสสระ ที่ปรึกษาเยาวชน ‘UNICEF COVID-19 Youth Committee’ และ ‘ฟรองส์ ’ธนวัฒน์ พรหมโชติ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
ทั้งสามคนจะมาร่วมคุยทั้งปัญหาพื้นที่ส่งเสียงของเยาวชนไทยในปัจจุบันทั้งในด้านทัศนคติของทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่ กระบวนการของภาครัฐในการรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ ตลอดจนเงื่อนปมของการคลี่คลายปัญหาอาจอยู่ที่การรับฟังของทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
ทำไมเสียงของคนรุ่นใหม่มีความสำคัญ
ในต่างประเทศมองว่าเสียงของเยาวชนมีความสำคัญ เนื่องจากเยาวชนควรมีช่องทางสื่อสารเพื่อรักษาผลประโยชน์และความต้องการของตัวเอง นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่มักมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์และความตระหนักรู้ทางการเมืองที่มากกว่าผู้ใหญ่บางราย
ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก ข้อ 12 ว่า เด็กและเยาวชนควรมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลต่อชีวิต และส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา และกำหนดด้วยว่า ให้ความคิดเห็นของเยาวชนต้องได้รับการฟังและให้ความสำคัญอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยูเอ็น ระบุด้วยว่า การมีส่วนร่วมของเยาวชนต้องไม่ใช่แค่ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ต้องส่งผลต่อกระบวนการ หรือตัดสินใจด้านต่างๆ โดยไม่ว่าเยาวชนเป็นแกนนำ หรือผู้ใหญ่เป็นแกนนำ หรือเป็นแกนนำร่วมกัน แต่มุ่งเน้นความสำคัญไปที่ว่า ความเห็นของเยาวชนสามารถสร้างผลกระทบอย่างไรได้บ้าง
กำแพงกั้นเสียงของเด็กและเยาวชน ที่เรียกว่า ‘ทัศนคติ’ (?)
เมื่อพูดถึงพื้นที่ส่งเสียงของเยาวชนในไทย เยาวชนและคนรุ่นใหม่มองว่ามีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็น เนื่องด้วยสังคมออนไลน์นั้นทำให้เสียงของคนรุ่นใหม่มีมากขึ้น แต่ยังการรับฟังจากคนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือรัฐบาล อาจยังไม่พอ
‘ปอนด์’ รณกฤต หะริตา อายุ 21 ปี หนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง กลุ่มเสียงไม่แบ่งวัย กลุ่มภาคประชาชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการรับฟังและมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคนได้ส่งเสียงของตนเองออกมา
ปอนด์ แสดงความเห็นที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะทัศนคติของผู้ใหญ่ที่ยังคงมองว่า เด็กต้องทำอะไรตามกรอบที่ผู้ใหญ่กำหนดไว้ เด็กต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เรื่องไหนที่ผู้ใหญ่สนับสนุนแปลว่า ‘ดี’ แต่ถ้าไม่สนับสนุนแปลว่า ‘ไม่เหมาะสม’ ชุดความคิดว่าเป็นเด็กจะไปทำอะไรได้ เด็กทำอะไรต้องอยู่ภายใต้การสนับสนุนของผู้ใหญ่ ดังนั้น แม้ว่าการมีส่วนร่วมของเด็กจะมีการพูดมาตั้งแต่อดีต แต่เป็นเพียงแค่ ‘ไม้ประดับ’
ด้าน ‘สอง’ ยศวดี ดิสสระ อายุ 22 ปี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเยาวชน ‘UNICEF COVID-19 Youth Committee’ เห็นด้วยว่า ประเทศไทยมักจะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ มากกว่าการวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และแสดงออกทางความคิด ถึงแม้บ่อยครั้งอาจจะมีโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก แต่ก็มักจะถูกจำกัดกรอบเอาไว้เสมอ
“ผู้ใหญ่ต้องการให้เราพูดและคิดในสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสม มากกว่าการคำนึงถึงสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้กำลังกัดกินอนาคตของประเทศไทยและบั่นทอนกำลังใจของคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก” ที่ปรึกษาเยาวชนจากยูนิเซฟ ระบุเพิ่ม
นอกจากนี้ ยศวดี กล่าวถึงปัญหาของเสียงของเยาวชนบางกลุ่มที่ยังถูกผู้ใหญ่มองข้าม อย่างเด็กและเยาวชนกลุ่มผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพวกเขาไม่สามารถจะเข้าถึงพื้นที่หรือเวทีในการมีส่วนร่วมได้ เพราะข้อจำกัดบางอย่างในสังคม และอยากให้มองว่า เยาวชนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเยาวชนทุกคนต้องมีสิทธิ์ในการกำหนดอนาคตของพวกเขาเอง
การนำเสียงของเยาวชนไปใช้ในโครงการรัฐ ขาดกระบวนการประเมิน-การหนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน
‘ฟรองส์’ ธนวัฒน์ พรหมโชติ อายุ 24 ปี ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เป็นสภาที่จัดตั้งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา แก้ไขปัญหา และร่วมกำหนดนโยบายด้านเด็กและเยาวชน รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน
ในฐานะประธานของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีมุมมองต่างกันบางส่วน โดยฟรองส์ มองว่าปัจจุบันเยาวชนมีพื้นที่การแสดงออกเยอะขึ้น โดยเฉพาะผ่านกระบวนการสภาฯ อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของรัฐ ยังขาดการให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมิน เเละให้ข้อคิดเห็น ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รัฐได้ทำหน้าที่เต็มศักยภาพมาโดยตลอด ซึ่งส่วนนี้ก็มีล่าช้าบ้าง มีตอบวัตถุประสงค์ของกระบวนการได้น้อยบ้าง
ฟรองส์ อธิบายการทำงานของสภาเด็กและเยาวชนฯ ด้วยว่า ในกระบวนการของสภาเด็กและเยาวชนเอง หลักๆจะมีส่วนร่วมในระดับชาติ เช่น ผู้เเทนเยาวชนจำนวน 3 คน ในคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนเเห่งชาติ หรือเรียกว่า กดยช. ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่ให้ข้อคิดเห็นในมุมมองที่หลากหลายเเละเป็นกำลังสำคัญในการวิเคราะห์ในสิ่งที่เด็กๆ นำเสนอให้มีความเฉียบคม เเละผลักดันร่วมกับผู้เเทนเยาวชนอีกด้วย
นอกจากนี้ สภาเด็กฯ ยังมีในคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการต่างๆ ซึ่งก็จะเป็นช่องทางการส่งเสียงของสภาเด็กฯ ที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงของหน่วยงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
3 ข้อท้าทายถึงรัฐ สร้างกระบวนการติดตาม-ประเมินผล-รักษาการมีส่วนร่วมของเยาวชน
ประธานสภาเด็กและเยาวชนฯ กล่าวถึงข้อท้าทายของรัฐในการเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชน คือการสร้างกระบวนการติดตาม และประเมินผลว่าข้อเสนอแนะของคนรุ่นใหม่จะได้รับการนำไปปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทุกคนจะมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ถึงผลลัพธ์อันเกิดจากประสบการณ์ จนได้ถ่ายทอดให้กับหน่วยงาน
ฟรองซ์ กล่าวเพิ่มว่า อีกประการหนึ่งที่เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน คือ การรักษาความต่อเนื่องของเด็กและเยาวชนให้อยู่ในกระบวนการกลไกการมีส่วนร่วมจนตลอดรอดฝั่ง หรือเสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งมันจะมีปัจจัยในการส่งเสริมหลายประการ เช่น ที่ปรึกษาที่รับฟัง งบประมาณที่สนับสนุนให้พวกเขาได้เเชร์ไอเดีย เเละระบบบริหารจัดการอย่างเป็นมิตรหรือเข้าถึงพวกเขา
สำคัญที่สุดคือเด็กและผู้ใหญ่ต้องรับฟังกันและกัน
ปอนด์ สมาชิกกลุ่ม กล่าวถึงข้อเสนอถึงผู้ใหญ่ หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันประเด็นพื้นที่เสียงของเด็กและเยาวชนให้มากขึ้นว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรับฟังซึ่งกันและกัน” และมองว่าอาจต้องไม่ตั้งเงื่อนไขว่าผู้ใหญ่จะรับฟังเฉพาะเด็กที่ว่านอนสอนง่ายเท่านั้น ผู้ใหญ่จะบอกว่าเป็นเด็กต้องไม่ลืมหน้าที่ และสิทธิ แต่ที่ผ่านมาเด็กพูดถึงสิทธิที่ควรได้รับเท่านั้น
“อยากที่จะส่งเสียงเพื่อเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยของพวกเราในการขับเคลื่อนสังคมให้ดียิ่งขึ้น เพราะพื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ส่งเสียง ที่ทุกคนสามารถส่งต่อความต้องการออกไปสู่สังคม เพราะเสียงของเรา ทุกคนต่างมีคุณค่า เสียงของเด็กเท่ากับเสียงของผู้ใหญ่ เสียงของเราเท่ากัน” ปอนด์ กล่าว
ฟรองส์ มองเช่นกันว่า ทุกฝ่ายต้องหันเข้าหากัน บางครั้งอายุอาจจะไม่แสดงถึงการบรรลุการแสดงศักยภาพตนเอง เพื่อให้ผู้ใหญ่เห็นถึงทัศนคติที่ดี ความสามารถที่มีความเชี่ยวชาญ และเปิดรับความรู้รอบด้าน เป็นส่วนหนึ่งให้ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่
ขณะเดียวกัน ประธานสภาเด็กและเยาวชน มองด้วยว่า ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและแปรเปลี่ยนด้านพฤติกรรม ทำให้ผู้ใหญ่เองสร้างกำแพง เด็กและเยาวชนเองก็มีกำแพงและพื้นฐานทัศนคติของตัวเอง ซึ่งเเนวคิดของเขาที่มีต่อเรื่องนี้ คือ การสื่อสาร เเละการยอมรับความเห็นซึ่งกันเเละกัน เพราะทุกความคิดเห็นไม่ถูกหรือผิดที่สุด เเละจะทำอย่างไรให้เกิดจุดที่สมดุล
เด็กควรอยู่ในทุกสมการของการขับเคลื่อนประเทศ
ที่ปรึกษาเยาวชนจากยูนิเซฟ เสนอว่า อยากให้ทุกหน่วยงานในสังคมนำคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในเส้นทางการขับเคลื่อนงาน ทุกก้าวในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ควรมาจากระดมความคิดเห็นของผู้ใหญ่อย่างเดียว แต่ควรมีคนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมออกแบบและแสดงความคิดเห็น เพราะการสร้างการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก ไม่ใช่แค่การให้พวกเขาพูดในสิ่งที่คิดหรือฟัง ตั้งคำถาม หรือสะท้อนมุมมองเท่านั้น แต่ต้องให้พวกเขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆในสังคม
“ประเทศของเราไม่ได้มีแค่ผู้ใหญ่ แต่ยังมีเด็กและเยาวชนที่เป็นปัจจุบันและอนาคตของประเทศ เราต้องให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของพวกเขาเอง เด็กกับผู้ใหญ่ต้องทำงานร่วมกันถึงจะยั่งยืน ไม่อยากให้กลัวสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เราจะได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่อีกมากมายที่อาจจะนำพาประเทศของเราไปได้ไกลกว่าเดิม ตอนนี้คงไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าหากเราไม่เปิดโอกาสและพื้นที่ในวันนี้ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าประเทศของเรา สังคมของเราจะไปได้ไกลแค่ไหน” ยศวดี กล่าว
ปรับการทำงานของข้าราชการ ผลักดันเสียงของเยาวชนสู่การปฏิบัติจริง
ท้ายสุด ประธานสภาเด็กและเยาวชน เสนอว่า ในระบบราชการ อยากให้ลดข้อจำกัดของการจัดพื้นที่โครงการของเด็กและเยาวชน อันเกิดจากความกลัวผู้บังคับบัญชา หรือเกรงกลัวต่อปัญหาที่เกิดจากการขัดผลประโยชน์ของนักการเมือง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และอยากให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้นเข้าใจผู้ปฏิบัติงาน เพราะพวกเขาคือผู้ปฏิบัติ เเละรวบรวมความคิดของเด็ก ไปสู่เเก่นของปัญหามากยิ่งขึ้น หากข้อจำกัดหรือความกลัวเหล่านี้ลดลง เชื่อว่าการเเก้ไขปัญหาจะเกิดความจริงจัง ความจริงใจ เเละสู่การปฏิบัติได้จริง
จากบทสัมภาษณ์เยาวชนที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมในภาคส่วนต่างๆ พบว่ามีเด็กและเยาวชนบางส่วนไม่รับรู้ถึงสิทธิในการแสดงออกของตนเอง ปัญหานี้อาจเกิดจากค่านิยมในสังคมเองที่มักจะขีดเส้นเเบ่งขั้นกลางระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ โดยเด็กนั้นมักจะให้ตามผู้ใหญ่เสมอ ด้วยค่านิยมที่ว่า “เป็นเด็กควรเคารพผู้ใหญ่” หรือ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็น ด้านความสามารถ หรือเเม้เเต่สิทธิ์ที่จะตัดสินใจในชีวิตของตนเองที่มักจะต้องทำตามผู้ใหญ่
นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ออกมามีส่วนร่วมและแสดงออกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงมีไม่มากพอ ต้องเปิดพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การให้พวกเขาพูดในสิ่งที่คิด ฟังที่พวกเขาตั้งคำถาม หรือสะท้อนมุมมองเท่านั้น แต่ต้องให้พวกเขาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ในสังคมด้วย
สุดท้ายนี้ การขับเคลื่อนร่วมกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และพื้นที่ในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน นอกจากได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่แล้ว เยาวชนเองยังสามารถร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยซึ่งกันและกันเองได้อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล
- https://www.facebook.com/aesimpact
- https://www.facebook.com/SayItJustSayIt
- https://www.facebook.com/CYCT.Thailand
- http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2012/7/2021_5109.pdf
- https://www.goethe.de/resources/files/pdf229/checkoway_2011_what_is_youth_participation_th.pdf