กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังร้อนแรงล่าสุดในขณะนี้คงหนี้ไม่พ้น กรณีที่นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำแถลงข่าวการปฏิบัติการทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข เพื่อรักษาผู้ป่วยทางเดินหายใจและกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งมาตรการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน อาคารบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยในช่วงที่มีการเปิดโอกาสให้ซักถามนั้นมีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มติชน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนของสื่อมวลชนเชียงใหม่ ตั้งคำถามและข้อสังเกตเกี่ยวกับการพยายามปกปิดข้อมูลสถานการณ์และปัญหาเรื่องมลพิษหมอกควันและไฟป่าของหน่วยงานราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการกล่าวอ้างว่าสื่อนำเสนอข่าวไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือเป็นการนำเสนอข่าวที่เป็นเฟกนิวส์ ทำให้ตัวแทนสื่อมวลชนเชียงใหม่ยืนยันว่าการนำเสนอข่าวเป็นไปตามความเป็นจริงและเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ผู้คนได้รับรู้สถานการณ์ตามความเป็นจริงและเกิดความตระหนักตื่นตัวแล้วสามารถดูแลปกป้องตัวเองได้อย่างถูกต้อง
จากข่าวดังกล่าวที่ออกมาทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้ง ถึงการดำเนินงานและการออกมาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ในภาคเหนือว่าภาครัฐมีความเข้าใจบริบทในพื้นที่หรือไม่ การสั่งการและการจัดสรรงบประมาณมีความคืบหน้าอย่างไร หรือถึงเวลาที่ต้องมีการกระจายอำนาจท้องถิ่นเพื่อตอบสนองมาตรการที่ประชาชนต้องการ
ย้อนมาตราการรัฐยับยั้งเฉพาะหน้าหรือแก้ระยะยาว?
ย้อนกลับไปในปี 2566 ทางฝ่ายราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือและจัดเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 โดยการประชุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เปิดประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm 2.5 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปสำหรับมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 ประกอบด้วย
1.ระบบการบริหารจัดการการเผา โดยกระทรวงมหาดไทย
2.การสร้างมาตรฐานการทำการเกษตรแบบไม่เผาหรือ PM 2.5 Free โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3.มาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
4.การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรในการนำเข้าส่งออกสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์
5.การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละออง PM 2.5 โดยกระทรวงการคลังและสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
6.การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 โดยกระทรวงพลังงาน
มาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 จะมีคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศประชุมติดตามการทำงานทุกสองสัปดาห์ คณะกรรมการได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดโดยมีประธานเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานแก้ปัญหาในระดับจังหวัดอย่างเป็นเอกภาพและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่าในระดับภาค เพื่อบูรณาการฝ่ายความมั่นคงมาช่วยในกรณีเกิดไฟไหม้ไฟป่าขนาดใหญ่ อีกทั้งในจังหวัดเชียงใหม่มีการใช้ระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบแอพพลิเคชั่น Fire-D โดยใช้โมเดลพยากรณ์คุณภาพอากาศและระบบลงทะเบียนล่วงหน้า เพื่อช่วยลดการเผาในช่วงเวลาที่สภาพอากาศไม่เปิดโล่ง
จากการประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดแบบแผนที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เรียกว่า “เชียงใหม่โมเดล” ซึ่งเป็นโมเดลนำร่องที่ทดลองใช้ในปี 2567 เป็นครั้งแรก จุดเด่นของเชียงใหม่โมเดล คือการเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่รอให้ส่วนกลางหรือคนนอกพื้นที่มาเป็นฝ่ายสั่งการ ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด รวดเร็วและตอบโจทย์พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเปลี่ยนจากการสั่งการแบบบนลงล่าง เป็นล่างขึ้นบน ในเรื่องไฟป่าได้มีการทบทวนแนวคิดจาก Zero Burning หรือ ห้ามเผาเด็ดขาด มาเป็น Fire Management หรือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยกำหนดพื้นที่เป็น 1. พื้นที่สำคัญ ห้ามเผา 2. พื้นที่จำเป็น บริหารการเผาแบบควบคุม และ 3. ลดปริมาณเชื้อเพลิง ในส่วนของการบริหารจัดการเผาแบบควบคุม จะใช้ระบบการจองเผาในพื้นที่เกษตรผ่านแอปพลิเคชัน Fire D ที่จะมีข้อมูลพื้นฐานทั้งปริมาณฝุ่น PM 2.5 ฮอตสปอต กระแสลมแบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3-5 วัน ซึ่งจะใช้ประกอบการพิจารณาในการจองคิวเผา ว่าเวลาเผาได้ หรือไม่ควรเผา เป็นการจัดการโดยใช้ข้อมูลวิชาการ โดยทั้งหมดให้ทางพื้นที่เป็นฝ่ายพิจารณาจัดคิวเผาโดยมี 12 ตำบลนำร่องพิจารณาด้วยตัวเอง ส่วนที่เหลือจะเป็นระดับอำเภอเป็นผู้พิจารณา ซึ่งหากเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่การเผาก็จะซอยแปลงให้มีขนาดเล็กลงเพื่อควบคุมดูแลป้องกันการลุกลาม โดยปีที่แล้วมียอดจองเผาผ่านแอปพลิเคชันเพียงแค่ 10 % แต่ ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60% ซึ่งตั้งเป้าจะทำให้ถึง 100% และในส่วนการบริหารป้องกันดูแลไฟป่าและการบริหารจัดการเชื้อเพลิง จากเดิมที่ใช้รูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่แบบตำบล อำเภอ จังหวัด ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่แบบนิเวศป่าที่มี 7 พื้นที่ ได้แก่ 1. กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภออมก๋อย 2. กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภอแม่แจ่ม 3. กลุ่มพื้นที่ป่าดอยอินทนนท์ 4. กลุ่มพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 5. กลุ่มพื้นที่ป่าอำเภอสันทราย 6. กลุ่มพื้นที่ป่าศรีลานนา และ 7. กลุ่มพื้นที่ป่าดอยหลวงเชียงดาว ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลพื้นที่ได้ดีขึ้น
ผลจากการทำงานที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าจะทำให้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้กลับมามีความหวังขึ้น โดยระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำคณะลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับจากจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ได้แสดงความรู้สึกดีใจที่พบว่าในการเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้สถานการณ์ปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ได้โพสต์ทางเฟซบุ๊ก “เศรษฐา ทวีสิน-Srettha Thaveesin” โพสต์แรกระบุว่า “มาเชียงใหม่ครั้งนี้ดีใจที่ PM 2.5 ลดลง โดยถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วถือว่าดีขึ้นมาก ฝุ่นละอองขนาดเล็กลดไป 4-5 เท่าแล้ว นี่เป็นผลจากการที่เราหลายฝ่ายร่วมมือกัน และพยายามเต็มที่ แต่เราก็ไม่นิ่งนอนใจ และจะทำงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อคืนอากาศสะอาดให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้ครับ” ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเป็นความหวังสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
แต่แล้วสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาวิกฤตขึ้นอีกครั้ง โดยวันที่ 16 มีนาคม 2567 จากข้อมูล IQAir พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก พบค่าอยู่ที่ 240 AQI US เป็นระดับที่มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย และตัวเมืองเชียงใหม่ ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน โดยเปิดเผยว่า ปริมาณฝุ่น PM2.5 ลดลงจากปีก่อนกว่า 1 เท่า แม้จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมาจะมีปริมาณฝุ่นเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นผลมาจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานบูรณาการร่วมกันมาตลอด 3-4 เดือน ปัจจุบันจุดความร้อนเหลือสัดส่วน 1 ใน 3 ของปีที่ผ่านมา ถือว่าเจ้าหน้าที่ทำงานได้ดีขึ้น ส่วนการเผาจากต่างประเทศ ได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อพูดคุยและให้ข้อมูลกับรัฐบาลกัมพูชา รวมถึงเตรียมใช้มาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพด เพื่อให้มีการหยุดเผา
“ตนก็ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในต่างประเทศว่าจะต้องพิจารณาดี ๆ ว่าจะห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงไฮซีซั่น (High Season) เพราะไม่อย่างนั้นจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ เคยขู่ไปแล้วว่าจะขึ้นภาษี ก็คงคิดว่าเราคุยเฉย ๆ ปีหน้าคงต้องทำจริง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน คงต้องห้ามนำเข้าข้าวโพด หากไม่จัดการเรื่องพวกนี้เศรษฐกิจเราลำบาก แม้ลดไม่ได้ต้องทะเยอทะยานในการแก้ปัญหา” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ส่วนงบประมาณในการจัดการสถานการณ์นั้น นิรัตน์กล่าวว่า พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 ยังไม่ออกงบประมาณให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดอยู่ระหว่างการของบไปยังรัฐบาล สำหรับภัยที่เป็นฝุ่น PM2.5 ในระเบียบเงินทดรองราชการ กระทรวงการคลัง ไม่มีเขียนไว้ว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากค่าน้ำมันรถเจ้าหน้าที่ เพราะฉะนั้นการประกาศภัยพิบัติเพื่อสู้ฝุ่นไม่เกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ จึงไม่มีความจำเป็น หรือมีน้ำหนักมากเพียงพอ
“ช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้ไม่มีงบเราทุกคนก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ป้องกันการเผา ในเดือนนี้มีการเผาเยอะ เราก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในการดับไฟให้เร็วที่สุด ให้เกิดควันน้อยที่สุด ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าว
นิรัตน์กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้จังหวัดทำอย่างไรนั้น ขั้นแรกได้ปรึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอของบกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กรุณาอนุมัติงบกลางเป็นปีแรกที่รัฐบาลเห็นความจำเป็น ส่วนหนึ่งจะมาจ้างคนไปดูแลป่า ซึ่งทางจังหวัดก็ได้ขออนุมัติงบกลางไปยังคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะออกมาเร็วๆ นี้ เราจะมาเติมเต็มในส่วนที่คนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตอนนี้ยังจ้างไม่หมดมีการจ้างเพิ่ม และหน่วยงานที่เดินเท้าเข้าป่าเป็นค่าน้ำมันรถ
เสียงสะท้อนจากชาวบ้านเมื่อโมเดลแก้ไฟเผาไหม้ผู้คน
ทางด้าน จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวบ้านในพื้นชุมชนบ้านห้วยผาตืน ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายงาน “ฟังเสียงคนอยู่กับป่าในวันที่มาตรการแก้ไฟป่ากำลังแผดเผาผู้คน” โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567 จังหวัดเชียงใหม่ ออกประกาศห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิด ฝ่าฝืนบังคับใช้กฎหมายทุกกรณี ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องเผา ต้องได้รับอนุมัติจากศูนย์บัญชาการฯ อำเภอ โดยลงทะเบียนผ่านระบบ FireD หรือแจ้งความประสงค์ที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งผลที่ตามมาก็คืออุทยานฯ ก็จะมีมาตรการที่ห้ามเข้าอุทยานฯ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่าและมีที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยานฯ ก็ไม่สามารถเข้าป่าเพื่อทำไร่หรือสวนของตนเองได้ ซึ่งหากเทียบกับปีก่อน ๆ ประกาศนี้บังคับใช้เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือน ส่งผลให้ชาวบ้านปรับตัวไม่ทันกับมาตรการที่เกิดขึ้น มาตรการนี้ที่ได้ผลักให้เหล่าผู้คนที่อยู่กับป่านั้นกลายเป็นผู้ร้ายโดยสิ้นเชิง
จรัสศรีกล่าวว่าตนมีวิถีชีวิตอยู่กับป่า ทั้งที่ทำกิน ไร่และสวนอยู่ในเขตอุทยานฯ มาตรการที่ห้ามเข้าอุทยานในช่วงฝุ่นควันนั้นทำให้ชุมชนเกิดความหวาดระแวง และกลัว เหมือนกับการแอบเข้าไปในพื้นที่ป่า ทั้ง ๆ ที่ตรงนั้นเป็นที่ทำกินของตัวเอง นอกจากการเข้าป่าเพื่อไปทำไร่และสวนแล้ว ชุมชนบ้านห้วยผาตืน ก็จะเข้าไปทำแนวกันไฟในป่าในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นต้นน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม
“การที่ไม่ให้พวกเราที่เป็นชาวบ้านเข้าไปในป่า มันมีผลกับวิถีชีวิตกับชาวบ้านแน่นอน มาตรการแบบนี้ก็มองเราเป็นผู้ต้องหา แค่เราเข้าไปแล้วเจอไฟแช็คถือว่าเราเป็นคนจุดหรอ?” จรัสศรี กล่าว
จรัสศรี เล่าว่าการใช้ แอพพลิเคชั่น FireD ในการแจ้งเผา เหมือนจะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการเผาง่ายขึ้นหรือชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการไฟได้มากขึ้น แต่อำนาจในการตัดสินใจที่จะบอกว่าใครสามารถเผาได้หรือเผาไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับ ‘แอดมิน’ อยู่ดี เพราะหากช่วงไหนอากาศปิดก็ไม่สามารถเผาได้
“อย่างช่วงไหนเลขสีแดงขึ้นมาเยอะ ๆ ไม่มีใครสามารถเผาได้เลย สุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าใครเผาได้หรือไม่ได้ ก็มาจากข้าราชการส่วนกลาง มันเป็นแอพที่พยายามจะบอกว่า เราให้มีส่วนร่วมแล้วนะ ถามว่าดีไหมแต่ก็เหมือนเราเป็นผู้ร้าย”
จรัสศรี ยังกล่าวต่อไปอีกว่า อำนาจในการตัดสินใจที่จะเผาไม่ใช่ชาวบ้าน แต่มันคือผู้ว่าฯ หรือทีมเฉพาะกิจที่นั่ง War Room(วอร์รูม) จรัสศรี ตั้งคำถามต่อไปถึงสัดส่วนที่ควบคุมวอร์รูม มีประชาชนที่อาศัยอยู่กับป่าที่อยู่ในวอร์รูมเป็นสัดส่วนเท่าไหร่
“FireD มันแค่บอกว่าเรา(ชาวบ้าน)มีส่วนร่วม แต่ส่วนร่วมของคุณก็แค่ในการแจ้งเผา แต่อำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ฉัน”
จรัสศรี กล่าวว่า เศรษฐาไม่เข้าใจสภาพปัญหาฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ รวมไปถึงสภาวะของการเกิดไฟของภาคเหนือ รวมไปถึงไม่รู้ถึงปัญหาในฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน
“เรามองว่ามาตรการห้ามเข้าป่า กับมาตรการห้ามเผา และมาตรการเผาปรับ 10,000 บาท มันทำให้เราที่อยู่ใกล้กับป่ารู้สึกว่าเป็นผู้ร้ายมาก ๆ เข้าป่าก็รู้สึกผิดแล้วนะ ถามว่าชาวบ้านต้องอยู่บ้านทุกวัน หน้าแล้งชาวบ้านต้องหาเก็บผักเก็บไม้ หาปลา หาอาหารในป่า เราก็โดนคนว่าแล้ว ทำไมไม่มองว่าเราร่วมรักษาเหมือนกันอะ เรารักษาปอดให้คนทั้งเชียงใหม่เหมือนกันนะ” จรัสศรี กล่าวด้วยความน้อยใจจากการที่มาตรการของภาครัฐนั้นได้ตอกย้ำอคติที่มีอยู่ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ด้านผู้ที่เรียกตัวเองว่า ‘คนจนเมือง’ คนหนึ่ง นามสมมติว่า “พี่เอ” ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายงาน “เมื่อฟ้าสีเทาหม่นหมดอำไพ คนจน (เมือง) จะอยู่กันอย่างไรในเวียงพิงค์” ว่า สำหรับมาตราการหรือคำแนะนำเพื่อการป้องกันสุขภาพในช่วงภาวะฝุ่นควันจากภาครัฐประการหนึ่งระบุไว้ว่า เมื่อฝุ่น PM 2.5 มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งหมายความว่าในอากาศมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ดังนั้นประชาชนควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน พี่เอกล่าวว่าทั้งตนเอง ลูกสาว และคนอื่นๆ ในบ้านต่างก็รับรู้มาตรการข้อนี้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่สามารถที่จะเลือกเก็บตัวหลบฝุ่นควันอยู่แต่ในบ้านได้
“ไอ้ที่บอกว่าให้เก็บตัวเองอยู่ในบ้าน งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง พี่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเราต้องทำงาน เราต้องออกไปทำมาหากิน เพราะเราเองก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าอยู่แต่บ้านแล้วเราจะเอาอะไรกิน อีกอย่างภาครัฐก็ไม่ได้การันตีกับเรานะว่าถ้าอยู่บ้านแล้วจะมีเงิน สำหรับพี่ฝุ่นไม่ได้กระทบแค่สุขภาพ แต่มันกระทบไปทั้งหมด” พี่เอกล่าว
ในแง่การติดตามข้อมูลข่าวสาร พี่เอเล่าว่าตนเองได้พยายามติดตามข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่ค่อยได้รับรู้อะไรมาก โดยเฉพาะข่าวสารจากทางจังหวัด ซึ่งพี่เอบอกกับผู้เขียนว่า “พี่ไม่รู้เลยว่าปีนี้เค้ามีเชียงใหม่โมเดล เและอนุญาตให้เผา ให้ใช้ไฟได้ แต่พอรู้แล้วก็ยังคิดไม่ออกว่ามันจะแก้เรื่องฝุ่นได้ยังไง เอาจริง ๆ พี่ก็ได้ยินเค้าพูดกันตลอดเลยนะ เวลาหาเสียงก่อนเลือกตั้งนี่พูดกันทุกพรรคเลยว่าจะทำให้เชียงใหม่ไม่มีฝุ่นอีก ก็ไม่เห็นว่าจะทำได้ มันติดอะไร หรือมันทำไม่ได้จริง ๆ”
นอกเหนือจากเรื่องเชียงใหม่โมเดลแล้ว ยังอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของโครงการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งพี่เอบอกว่าตนเองไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโครงการนี้เลยแม้แต่น้อย โดยพี่เอบอกว่า “จริง ๆ พี่ไปร่วมงานเครือข่ายชุมชน ได้เจอกับเจ้าหน้าที่ เจอกับเพื่อนชุมชนอื่น ๆ บ่อยอยู่นะ แต่พี่ไม่รู้ข่าวเรื่องโครงการห้องปลอดฝุ่นนี่เลยจริง ๆ แล้วพี่ก็อยากรู้ว่าคุณทำห้องปลอดฝุ่น คุณทำไปเพื่อใคร ชาวบ้านตาดำ ๆ แบบเรานี่จะมีทางให้ไดใช้ไหมห้องนี่ คือถ้าคุณอยากจะให้ประชาชน ชาวบ้านเค้ามีสุขภาพดีจริง ๆ คุณต้องแจ้งสิ ต้องบอกพวกเรานะ ประธานชุมชน ประธานหมู่บ้านก็มีคุณก็แจ้งมาสิ แจ้งมาว่ามีห้องปลอดฝุ่นอยู่ตรงนี้นะ สามารถมาใช้ได้ ห้องมันเปิด – ปิดกี่โมง เข้าใช้ได้กี่ครั้ง แจ้งมาให้หมดเลย”
ทั้งนี้ พี่เอได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำห้องปลอดฝุ่นว่า “ที่บอกว่าจะขยายให้มีการทำห้องปลอดฝุ่นในบ้านเรือนด้วย พี่ยังไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่จากที่ไหนลงมากสำรวจพื้นที่ หรือให้ความรู้ หรือแจ้งข่าวอะไรให้ชาวบ้านรู้เรื่องเลย แล้วที่บอกว่าจะรณรงค์ให้มีห้องปลอดฝุ่นในห้างและร้านค้าต่าง ๆ นี่ทำเพื่ออะไร ทำไมไม่มาเน้นที่ชาวบ้าน ถ้าให้พี่เสนอนะ พี่ว่าในหนึ่งชุมชนนี่มาทำห้องปลอดฝุ่นให้สักห้องหนึ่งก็ยังดี สร้างให้มันเป็นออฟฟิศ เป็นสำนักงานของชุมชนไปเลย จะดัดแปลงลานกลางหมู่บ้าน ดัดแปลงอาคารอเนกประสงค์ชุมชนมาทำเป็นห้องปลอดฝุ่นไปเลย หรือจะเอาไปสร้างไว้ในพื้นที่วัดก็ได้ เพราะวัดก็เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนอยู่แล้ว”
หรือทางออกคือกระจายอำนาจ?
กรณีตัวอย่างการกระจายอำนาจที่เห็นชัดที่สุดคือกรณีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการจัดการปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมชั้นนำของโลก ญี่ปุ่นมีประชากร 130 ล้านคน มี 12 กระทรวง มีข้าราชการ 3.5 ล้านคน โดยส่วนกลางมีแค่ 5 แสนคน แต่ส่วน “ท้องถิ่น” หรือ “เมือง” มีเจ้าหน้าที่ถึง 3 ล้านคน กระจายความรับผิดชอบให้แต่ละเมืองแข่งขันพัฒนากันด้วยศักยภาพของเจ้าหน้าที่และประชาชนในเมืองนั้น โดยรับนโยบายจากรัฐบาลส่วนกลาง แต่วิธีคิดและวิธีการบริหารจัดการเป็นเรื่องของเมืองให้ทำได้อย่างอิสระ เป้าหมายคือตัวชี้วัดที่สัญญากันไว้ จะทำให้เกิดการแข่งขันกัน เพื่อให้เมืองของตนเป็นแชมเปียนของประเทศในด้านต่างๆ ดังนั้น ความคิดใหม่ๆของแต่ละเมืองจะเกิดขึ้นทุกวัน โดยมีประชาชนในเมืองร่วมคิดร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหากับผู้บริหารซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ส่วน “ประเทศไทย” มีประชากร 65 ล้านคน มี 22 กระทรวง มีข้าราชการ 2.4 ล้านคนแต่อยู่ส่วนกลางและภูมิภาคถึง 2 ล้านคน ส่วนท้องถิ่นมีเจ้าหน้าที่เพียง 4 แสนคน ผู้บริหารจังหวัดมาจากการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลาง ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ภายใต้การกำกับของกรมการปกครอง เช่น การดูแลป่าไม้หรือดับไฟป่าต้องมาจากกระทรวงทรัพย์ฯเท่านั้น การจะสร้างโรงงาน ต้องมาจากกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ เป็นพื้นที่ของท้องถิ่นแต่ไม่มีสิทธิ์ดำเนินการได้เต็มที่เพราะไม่มีอำนาจ
สำหรับการดำเนินงานเชิงรุกของภาครัฐที่มีการใช้ในปีนี้เป็นปีแรก นับว่าประสบความสำเร็จในระยะแรกในช่วงที่เกิดฝุ่น PM 2.5 เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นสองเสียง ทั้งชื่นชมการทำงานในปีนี้และติการใช้มาตรการที่ขัดกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการจากส่วนกลางอาจไม่สามารถแก้ปัญหาตามพื้นที่ได้ และการกระจายอำนาจก็ไม่อาจแก้ไขต้นตอของปัญหาบางประการเช่นกัน โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยกล่าวผ่านบทความในเว็บไซต์ THE 1o1.World “ต่อให้กระจายอำนาจก็แก้ PM2.5 ไม่ได้” ไว้ว่าส่วนตัวเชื่อว่ากระจายอำนาจบางส่วนบางด้านมายังท้องถิ่นจะช่วยให้จัดการปัญหานี้ได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ดังที่ อบต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่ผมได้มีโอกาสพานักศึกษาไปลงพื้นที่เมื่อเทอมที่ผ่านมา ในฐานะภาพเล็กๆ แทนความตั้งใจจริงของท้องถิ่น ท่ามกลางการลอยตัวอยู่เหนือปัญหาของราชการส่วนอื่น
สถิติจุดความร้อนที่พบใน อ.แม่วางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560-2565 ในปีนี้ก็มีน้อยกว่าอำเภออื่น ถามว่าทำไมถึงน้อย คำตอบอาจอยู่ที่การทำ ‘หนังสือทะเบียนประวัติการใช้ที่ดินตำบลแม่วิน’ ที่มี อบต.แม่วิน เป็นเจ้าภาพผลักดัน (แนบท้ายข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน พ.ศ. 2560) ซึ่งบอกพิกัดได้เกือบหมดว่าบริเวณไหนในตำบลมีใครบ้างครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ ถึงแม้ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ แต่ชาวบ้านก็อยากได้ เพราะพอจะเอาไปใช้ยันกับหน่วยงานอื่น (ที่ไม่ใช่ป่าไม้, อุทยานฯ) เพื่อแสดงตนว่าเป็นเกษตรกรเข้ารับการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ ขณะเดียวกันก็ช่วยทาง อบต.ให้ติดตามจัดการปัญหาหลายเรื่องได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะถ้าไฟป่าเกิดบนที่ใคร คนนั้นต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ อบต.แม่วินยังยกระดับการจัดการไฟป่าให้ได้ผล ด้วยการทำแนวกันไฟ และสืบสานประเพณีบวชป่า รวมไปถึงการสร้างอาชีพเสริมที่เชื่อมโยงแนวคิดรักษาป่าเข้าด้วย นั่นคือ การทำผ้าลายจากใบไม้แห้ง (ที่เป็นเชื้อเพลิงสะสมในป่า)
ความสำเร็จเบื้องต้นสืบเนื่องจากหลายปัจจัย 1) นายก อบต.มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของพื้นที่ 2) ภาคประชาสังคม (มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) หนุนเสริมด้านองค์ความรู้ และเครื่องไม้เครื่องมือ และ 3) ชุมชนชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นต้น
จากการสัมภาษณ์ล่าสุด (9 เมษายน 2567) ณัฐกร ยังมองว่าการกระจายอำนาจสามารถแก้ไขปัญหาตามพื้นที่ได้ แต่ส่วนที่การกระจายอำนาจเข้าไม่ถึงคือปัญหาฝุ่นควันข้ามพรหมแดนและการคืนสิทธิในที่ดินทำกินแก่กลุ่มชาติพันธุ์
“เราเชื่อว่ากระจายอำนาจแก้ได้ แต่ส่วนหนึ่งยังมีส่วนที่คิดว่ากระจายอำนาจก็เข้าไปไม่ถึงก็คือหมอกควันข้ามแดน ต่อให้กระจายอำนาจแต่ปัจจัยในประเทศมันก็มีความสลับซับซ้อน อีกอย่างผมคิดว่ามันมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สำคัญที่สุดคือการปฏิรูปที่ดินของพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งต่อให้คุณมี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต่อให้คุณกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่ว่าคุณไม่คืนสิทธิในที่ทำกิน จะทำให้แก้ไขระยะยาวไม่ได้ ปัญหามันก็ยังคงจะอยู่” ณัฐกร กล่าว
ณัฐกร ได้อธิบายเสริมถึงปัจจัยของฝุ่นควันข้ามแดนว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องข้าวโพด เพราะเข้าโพดส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังประเทศจีน หมายความว่าต่อให้ไทยไม่รับซื้อข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านเลยหมอกควันก็จะยังคงอยู่ จึงต้องไปคุยกับประเทศจีนถึงเรื่องนี้ ซึ่งเราเป็นประเทศเล็ก ๆ จะไปโน้มน้าวประเทศมหาอำนาจให้เห็นปัญหาของบ้านเราคงเป็นไปได้ยาก
ฮอตสปอตส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าปิด ไม่รับแนวคิดเรื่องคนอยู่กับป่า ในการกระจายอำนาจที่ผ่านมา ป่าสงวนในเชิงภารกิจถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่นไปหมดแล้ว สามารถเข้าไปดับไฟป่าได้ทันที ซึ่งไปแค่ภาระกิจแต่เงินไม่ได้ให้ตามไปจึงกลายเป็นปัญหา ในหลายพื้นที่ที่มีนายกทำงานอย่างจริงจังก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ตั้งแต่การทำแนวกันไฟไปจนถึงการเข้าไปดับไฟ ขณะที่ปัญหาในป่าปิดหรืออุทยาน ซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รัฐบาลได้มีการปลดล็อกป่าอนุรักษ์ในเชียงใหม่ให้สามารถเข้าไปจัดการไฟป่าได้เลยตามอำนาจที่ประกาศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ติดอำเภอเมือง เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ทางความรู้สึกของชาวเชียงใหม่
“มันต้องกระจายอำนาจ เพราะพื้นที่ป่าสงวนฮอตสปอตมันน้อยกว่าเนื่องจากมีการกระจายอำนาจ ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็น แต่อุทยานที่เกิดไฟป่ามากกว่าเพราะมันยังไม่ถูกกระจายอำนาจ ยังไม่ได้ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเข้าไปจัดการและควบคุมไฟป่า ซึ่งพื้นที่นี้ก็ยังเป็นปริศนาเพราะเจ้าหน้าที่ต้องดูแลไม่ให้ใครเข้าไป แต่ทำไมมันถึงยังไหม้” ณัฐกร กล่าว
ณัฐกร ได้ทิ้งท้ายว่าสถานการณ์นี้เป็นการเมืองเรื่องตัวเลข โดยข้อมูลของฝั่งจังหวัดพยายามจะทำให้สถานการณ์ทุกอย่างมันดูดีด้วยการที่ในบางตัวเลขก็กำหนดนิยามให้แคบ เช่น เรื่องผู้ป่วย จะนับเฉพาะโรคที่พบได้ยาก ทำให้ตัวเลขมันน้อยลง ส่วนคนที่ป่วยนิดหน่อยกลับไม่ถูกนับ จึงเป็นการเมืองเรื่องตัวเลขที่จะทำให้ดูเหมือนดีขึ้น อีกส่วนคือตัวเลขฮอตสปอตปีที่แล้วที่รายงานแบบเต็ม แต่ในปีนี้กลับตัดฮอตสปอตที่เกิดในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแกไป จะนับเฉพาะฮอตสปอตที่นอกเหนือจากการควบคุม แล้วจึงนำไปเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้เกิดค่าที่น้อยกว่า ซึ่งถ้านับจริง ๆ แล้วของปีนี้มีค่าเกิดกว่าปีที่แล้ว และสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย
ด้าน ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ยอมรับว่ามีข้อจำกัดมากในการแก้ไขสถานการณ์แม้ว่าจะพยายามทำเต็มที่ ข้อจำกัดขั้นแรกคือภายใต้โครงสร้างการจัดการที่แยกหน่วยงานส่วนกลางมาตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 157 หน่วย แต่มีเพียง 23 หน่วยงานที่ผู้ว่าฯ ที่สามารถสั่งการได้ ข้อจำกัดขั้นที่สองคือการรองบประมาณจากส่วนกลาง รอความเห็นจากส่วนกลาง รอนโยบายจากส่วนกลาง ซึ่งถ้าสามารถกระจายอำนาจได้จะสามารถทำให้ชุมชนในท้องถิ่นที่อยู่ในริมป่าสามารถมีกองทุน หรือมีการดำเนินการต่อสถานการณ์ไฟป่าได้เลย สามารถลดข้อจำกัดได้เยอะขึ้น
“ถ้าจังหวัดเลือกตั้งผู้ว่าได้ ความรับผิดชอบต่อประชาชนมันจะชัดเจนมากกว่านี้ เพราะว่าตอนนี้ต้องยอมรับว่าระบบราชการของเรามันเป็นระบบที่ต้องฟังกรุงเทพเป็นหลัก เป็นระบบที่มีการเคลื่อนย้ายในระหว่างทางมีการเปลี่ยนบุคคลากร ซึ่งทำให้ต้องเริ่มใหม่ตลอดเวลา มันไม่ไหว อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะเห็นความต่อเนื่อง ยั่งยืน ถ้ามีการกระจายอำนาจมันจะมีความชัดเจนมากกว่า” ชัชวาล กล่าว
ชัชวาล ทิ้งท้ายไว้ว่าผู้ว่าท่านนี้เปิดให้มีการทำงานแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น ฟังข้อเสนอมากขึ้น แต่ภายใต้ระบบราชการมันยังมีข้อจำกัด ซึ่งต้องฟังกรุงเทพเป็นหลักจึงทำให้ล่าช้า จึงต้องรณรงค์ พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพื่อให้ได้ผู้ว่าที่เลือกตั้งมารับผิดชอบต่อประชาชน ข้อเรียกร้องของประชาชนจะได้รับการตอบสนองอย่างชัดเจนและมีความไวต่อสถานการณ์
ท้ายที่สุด อีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้าก็จะเข้าสู่ฤดูฝน สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือก็จะเบาบางลงและไม่ได้การแก้ไขให้หมดไปเช่นเดียวกับปีที่ผ่าน ๆ มา อีกทั้งการเตรียมการที่ต้องรับมือในปีถัดไปก็ต้องเริ่มขึ้น เมื่อวันเวลาผ่านไปฝุ่นควันก็พัดลอยมาโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว หวังว่าภายในปีหน้านี้ทุกฝ่ายจะสามารถหาทางออกสำหรับวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 ให้ผ่านพ้นไปได้
นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น