ความสัมพันธ์ล้านนา-สยาม : ไข้ทรพิษสู่การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่ พ.ศ.2410 -2450 

ไข้ทรพิษ โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิศ (Small pox หรือ Variola) โดยคำว่า Variola มาจากภาษาละติน แปลว่า จุด หรือตุ่ม โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีอาการหลักของผู้ป่วย คือ มีผื่นที่เป็นตุ่มหนองขึ้นตามผิวหนังและผื่นก็สามารถแพร่เชื้อได้ด้วย โรคนี้ติดต่อกันได้ค่อนข้างง่าย มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ยังไม่มียารักษา มีวัคซีนสำหรับป้องกันได้ แต่ในปัจจุบันโรคนี้ได้ถูกกำจัดให้สูญสิ้นไปแล้ว จึงไม่มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนในประชากรทั่วไปอีก 

ลักษณะของ ไข้ทรพิษ ที่มา (ภาพ : Science Museum) อ้างใน หมอบรัดเลย์ และความสำเร็จของการปลูกฝี ไข้ทรพิษ ครั้งแรกในสยาม Sarakadee Lite.

ในประวัติศาสตร์มนุษย์โรคนี้ระบาดหลาย ๆ ครั้ง โดยพบหลักฐานที่กล่าวถึงการป่วยเป็นไข้ทรพิษของบุคคลสำคัญหรือการระบาดของไข้ทรพิษในหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างเช่น   ในช่วงปลายศตวรรษที่ 15 กรณีการพระชวรเป็นไข้ทรพิษของจักรพรรดิคังซี  ซึ่งเป็นสมัยราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีนในขณะนั้น หรือ ในปลายศตวรรษปี 16 สงครามประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกัน ที่กล่าวถึงกองทัพของชาวอาณานิคมที่ได้รับผลกระทบจากไข้ทรพิษ  เป็นต้น 

การจัดการไข้ทรพิษ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ การแยกผู้ป่วย และวิธีที่สำคัญคือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ในลักษณะของการ “ปลูกฝี” การปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ ในปี พ.ศ. 2341 (ค.ศ.1798) นายเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ได้ค้นพบว่า หญิงรีดนมวัวซึ่งเป็นวัวที่ติดเชื้อฝีดาษกลับไม่ติดโรคฝีดาษจากวัว จึงสกัดหนองฝีจากวัวมาปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษในคน นำมาสู่การประดิษฐ์วัคซีนโรคฝีดาษ ลำดับถัดมา 

ภาพเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Dr. Edward Jenner) กำลังปลูกฝี ที่มา Edward Jenner vaccinating his young child. Coloured engraving by C. Manigaud after E Hamman. / CC BY-SA (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)

การปรากฏขึ้นของไข้ทรพิษบนหน้าประวัติศาสตร์สยาม

จากการกล่าวถึงไข้ทรพิษในข้างต้น ในหัวข้อจะกล่าวถึงไข้ทรพิษที่ปรากฏในหลักฐานในไทยตั้งแต่ยุคจารึก พบหลักฐานต่าง ๆ ในสยามที่กล่าวถึงไข้ทรพิษ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พบหลักฐานการระบาดของไข้ทรพิษอีกหลายครั้ง เช่น 

ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐระบุว่า

“ศักราช ๘๑๖ จอศก ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก”

พบพงศาวดารกล่าวถึงการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ดังนี้

“ศักราช ๘๗๕ ปีระกา เบญจศก สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงประชวรทรพิษเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๕ ปี ” 

สงครามหงสาวดี-กรุงศรียุทธยา มีหลักฐานกล่าวถึงไข้ทรพิษดังนี้

“ลุศักราช ๙๒๑ ปีมะแมเอกศก ขณะนั้นสมเด็จพระนะเรศวรเป็นเจ้าทรงพระประชวรทรพิษ พระเจ้าหงษาวดีตรัสให้สมเด็จพระมหาธรรมราชากับสมเด็จพระนะเรศวรเป็นเจ้าเสด็จคืนมายังพระนครศรีอยุธยา ”

ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีหลักฐานกล่าวถึงไข้ทรพิษดังนี้ 

“ปีระกา จ.ศ.๙๘๓ (พ.ศ. ๒๑๖๔) เศษ ๓ ออกฝีตายมาก ปีจอ จ.ศ. ๙๘๔ (พ.ศ. ๒๑๖๕) เศษ ๘ ช้างเผือกล้ม คนออกฝีตายมาก ”

จากการกล่าวถึงหลักฐานสยามในยุคจารีต แสดงให้เห็นบันทึกการระบาดของไข้ทรพิษที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุทธยา 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หมอบรัดเลย์ได้บันทึกถึงเรื่องการปลูกฝีกันไข้ทรพิษไว้เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2381 (ตรงกับสมัยรัชกาลของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ตอนหนึ่งไว้ว่า

“สมัยนี้เป็นสมัยเกิดไข้ทรพิษชุกชุม พวกมิชชันนารีได้พยายามที่จะช่วยป้องกันพวกมิชชันนารีคิดหาวิธีฉีดหนองเชื้อเข้าไปในตัวโค แล้วเอาหนองโคนั้นมาใช้ฉีดกันไข้ทรพิษ วิธีนี้คิดและทดลองอยู่ถึง 5 ปีจึงได้สำเร็จ ได้ใช้หนองนั้นฉีดกันพวกบุตรธิดาของตนไว้ได้เป็นอันมาก พอพวกมิชชันนารีคิดเรื่องหนองฝีสำเร็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบก็ดีพระทัยมาก โปรดให้หมอหลวงทั้งหมดมาหัดฉีดหนองฝีกันไข้ทรพิษแล้วจะให้ไปปลูกทั้งในวังและนอกวัง”

จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นได้ การรักษาไข้ทรพิษข้างต้นจะเป็นการรักษาเป็นการใช้วัคซีน เนื่องจากเป็นช่วงที่หลังจากที่ ค้นพบการรักษาไข้ทรพิษหรือวัคซีน คือ การปลุกฝีหนอง และการปลุกฝีเป็นการรักษาในลักษณะ“วัคซีน”ที่เผยแพร่ผ่านในสยามในระยะเวลาดังกล่าวผ่านกลุ่มมิชชั่นนารีชาวอเมริกัน

การบันทึกปลูกฝีกันไข้ทรพิษที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่สยามมีความมั่นคง การค้าขายและการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งพ่อค้าชาวจีน และ พ่อค้าชาวตะวันตก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับมิชชั่นนารี อเมริกันเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ซึ่งจะกล่าวถึงตัวอย่างบทบาทของมิชชั่นนารีในหัวข้อถัดไป 

การปลุกฝีหนองในสยามในช่วงทศวรรษปี 2430 นอกจากการรักษาและการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศแล้ว ในช่วงต่อมา สยามในช่วงปีพุทธศักราช พ.ศ.2436  มีจดบันทึกจดหมายเหตุกล่าวถึงไข้ทรพิษและการส่งเจ้านายไปปลูกฝีดังต่อไปนี้  

“หมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ในเมืองชุมพร เดือนมิถุนายน มีไข้ทรพิษระบาด ต่อมาในเดือนกรกฎาคม มีหมู่บ้านเพื่ออีก 2 หมู่บ้าน มีผู้ป่วยตายไป 50 คนชาวบ้านอพยพออกไปอยู่ที่ปลายนา จึงมีการส่งหม่อมเจ้าปานจากสยาม ออกไปปลูกฝีไข้ทรพิษ ”

“การเดินทางของหม่อมเจ้าปานโดยเกวียนไปยังเมืองชุมพร ผ่านเมืองต่าง ๆ และอยู่ทำการปลูกฝี จนถึงเดือนธันวาคม ปีพุทธศักราช พ.ศ.2436 โดยจำนวนราษฎรที่ปลูกได้ทั้งหมดจำนวน 10,676 คน ถึงแม้ว่าจำนวนการรักษาอาจจะเห็นว่ามีราษฎรจำนวนมากไว้ใจที่จะเข้ามารักษากับหมอปานแต่ยังมีคนอีกกลุ่มจำนวนไม่น้อยอีกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่หายขาดจากโรคนี้และเกิดการตายจากโดยไข้ทรพิษ เช่น ที่บ้านหาดพังไกร มีพระสงฆ์มรณะ 6 รูป กรรมการ 2 คน และประชาชน 25 รวมทั้งหมด 33 คน เป็นต้น” 

จากหลักฐานข้างต้นได้กล่าวถึงไข้ทรพิษระบาดในชุมพร ปี 2436 ทางราชสำนักได้ส่งเจ้านาย ไปปลูกฝี และได้มีหลักฐานเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต นอกจากกรณีชุมพร ยังค้นพบจดหมายเหตุที่กล่าวถึงการส่งเจ้านายไปปลุกฝีที่กรุงเก่าดังนี้ กรณีที่ส่งหม่อมเจ้าปราณีไปปลูกฝีที่แขวงกรุงเก่า ระยะเวลาที่ได้ไปปลูกคือวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2436 และกลับสู่กรุงเทพฯวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2437 โดยปลูกฝีให้ราษฎรไปทั้งหมด 4,175 คน โดยระหว่างการปลูกฝีได้มีการพักอยู่ที่วังจันทร์เกษม 

ต่อมา โรคไข้ทรพิษที่เกิดขึ้นในเมืองน่าน เริ่มด้วยที่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้เริ่มรายงานถึงไข้ทรพิษเมื่อน่าน ค้นพบหลักฐานสรุปได้ดังนี้ วันที่ 2 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2437 ได้รับมอบเอกสารจากพระยาพรหมสุรินทร์ข้าหลวงรักษาราชการเมืองนครเมืองน่าน วันที่ 7 เมษายนรัตนโกสินทร์ศก 113 นำส่งสำเนารายงานถึงหมอสุดไปปลูกไข้ทรพิษ และได้ใบเสร็จรับเงิน 2 ฉบับ กับใบบอกเจ้าราชวงศ์นครเมืองน่านอีก 2 ฉบับ ซึ่งมีข้อความคล้ายๆกันว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 พระยาพรหมสุรินทร์ได้ไปตรวจเมืองเชียงของกับ เมืองชัย พระยาพรหมสุรินทร์เห็นว่า มีไข้ทรพิษลำบากถึงกับชีวิต พระยาพรหมสุรินทร์จึงให้หมอสุดไปปลูกไข้ทรพิษให้เป็นทานแก่ราษฏร เพื่อจะได้ปรากฏเป็นเช่นอย่างให้ลาวเลื่อมใส ให้เป็นความดีแห่งการปลูกไข้ทรพิษสืบไป และจะได้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง 

จากหลักฐานที่กล่าวถึงไข้ทรพิษข้างต้น การให้เจ้านายเป็นผู้ไปปลูกหนองฝีกับราษฎรในต่างเมือง แสดงให้เห็นว่าสยามให้ความสำคัญกับการระบาดดังกล่าว  สำหรับการปลูกฝีหนองและการแพร่เผยศาสนา รวมถึงความเป็นพลวัตในล้านนา จะกล่าวในหัวข้อถัด ๆ ไป

ตัวอย่างบทบาทและความสัมพันธ์ของมิชชั่นนารี ในสยาม 

ในหัวข้อจะยกตัวอย่างบทบาทและวามสัมพันธ์ของมิชชั่นนารีของนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือหมอปลัดเล ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และ นางโซเฟีย แบรดลีย์ (Sophia Bradley) โดยจะยกอัตชีวประวัติเบื้องต้นดังนี้ 

นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือ คนสยามเรียกว่า หมอบรัดเลย์ เดินทางถึงกรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2378 พร้อมด้วยนางเอมิลี รอยส์ ผู้เป็นภรรยา นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ มีบทบาทสำคัญต่อสยาม ได้แก่ การผ่าตัดแขนพระในปีพ.ศ.2379-2380 เนื่องจากอุบัติเหตุปืนใหญ่ระเบิดในวัด ณ งานฉลองวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร  ในช่วงการระบาดของไข้ทรพิษ ได้ทำการทดลองปลุกฝีไข้ทรพิษและได้แต่งหนังสือเรื่อง “ตำราปลูกฝีโคให้กันโรคธระพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้ ”เพื่อเป็นตำราในการทำความเข้าใจการปลุกฝีแก่ขุนนางและหมอในสยาม และการก่อตั้งโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์อย่างบางกอกรีคอร์ดเดอร์ในปี พ.ศ. 2387 

นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ มีบุตรีท่านหนึ่งที่ได้สมรสกับศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี คือ นางโซเฟีย แบรดลีย์ สำหรับนางโซเฟีย แบรดลีย์ เป็นบุตรีคนหนึ่งของนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ และนางเอมิลี รอยส์ เธอเกิดในปี พ.ศ.2380 เธอสามารถพูดภาษาไทยได้ 

สำหรับศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี เดินทางเข้ามาในสยามในปี พ.ศ.2401 ได้พักที่เดินทางมาการเผยแพร่ศาสนาในสยามในพื้นที่ใกล้เคียง ในปี พ.ศ. 2410 ได้เดินทางไปยังเชียงใหม่พร้อมด้วยนางโซเฟีย แบรดลีย์ (Sophia Bradley) เขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางมายังสยามและเชียงใหม่ได้แก่ “ภาคพายัพ แสนไกล”และเรื่อง A Half Century Among the Siamese and the Lao ที่ได้จะกล่าวถึงมุมมองต่อสังคมชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวสยามและชาวล้านนาหรือชาวลาว 

ในปี ระหว่างปี พ.ศ.2409-2410 มีหลักฐานกล่าวถึงคณะเจ้านายเชียงใหม่เดินทางลงมาถวายเครื่องบรรณาการกับราชสำนักสยาม โดยบริเวณที่คณะเจ้านายเชียงใหม่ใกล้เคียงกับเรือนพำนักของนายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ ดังหลักฐานที่กล่าวถึงจุดประสงค์ที่ตรงกันระหว่างเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่และมิชชันนารี สรุปได้ดังต่อไปนี้ 

1.เดิมมิชชันนารีอเมริกันสนใจมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาทางล้านนา หนึ่งในนั้นคือหมอบรัดเลย์

2.ในปี 2410 คณะเจ้านครเชียงใหม่ลงมาถวายเครื่องบรรณาการที่กรุงเทพ คณะพักใกล้กับที่ตั้งสำนักงานมิชชันของนายแพทย์บรัดเลย์ ด้วยเหตุนี้ศาสนาจารย์แมคกิลวารี แมคกิลวารีและนางโซเฟีย แมคกิลวารี(บรัดเลย์) มีโอกาสคลุกคลีกับเจ้านายและข้าราชบริพารจากนครเชียงใหม่ 

3. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ สนใจในการแพทย์สมัยใหม่ของมิชชันนารี พระองค์จึงมีความประสงค์ให้วิทยาการทางการแพทย์นี้ไปเผยแพร่ในเชียงใหม่ 

จากการยกตัวอย่างบทบาทและความสัมพันธ์ของมิชชั่นนารีข้างต้น ได้แสดงเห็นการรับวิทยาการตะวันตกของสยามในช่วงรัฐจารีต ทั้งการรักษาโดยการปลุกฝี ศาสนาคริสต์และการพิมพ์ โดยมิชชันนารีอเมริกัน สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการต่อปรับปรุงประเทศสยาม และเป็นการนำเสนอความมุ่งมั่นของมิชชั่นนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในภาคเหนือในเวลาถัด ๆ มา ถึงว่าเป็นครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สยาม ที่วิทยาศาสตร์ ศาสนา และการเมือง มาบรรจบกัน และวิทยาการดังกลายจะเดินทางขึ้นไปยังเชียงใหม่และจะส่งผลต่าง ๆ ตามมาดังจะกล่าวในหัวข้อถัดไป 

การยกตัวอย่างของกลุ่มมิชชันนารีอเมริกันในสยามในศตวรรษที่ 17 ระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่สยามมีความมั่งคง เนื่องจากประเทศที่เป็นคู่สงครามกับสยามติดสงครามหรือตกอยู่ภายใต้ของอิทธิของอังกฤษ สยามจึงกลายเป็นเมืองหนึ่งที่มีชาวตะวันตกหลาย ๆ เชื้อชาติเข้ามาพักอาศัย การเข้ามาของชาวต่างเช้าเหล่านี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองในภูมิภาค การเมืองในสยามและประวัติศาสตร์ไทย รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน 

การปลูกฝีหนองในเชียงใหม่ การเผยแพร่ศาสนาของศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี และความเป็นพลวัติ 

สังคมล้านนาก่อนมีการรักษาแบบตะวันตก จากการค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับทัศนคติของชาวล้านนาหรือชาวลาวในยุคจารีต พบหลักฐานที่กล่าวถึงทัศคติของชาวล้านนาต่อการรักษาพยาบาลในสายตาของมิชชั่นนารีดังต่อไปนี้ 

“ชาวลาวปราศจากความรู้เรื่องอวัยวะและร่างกายในมุมมองวิทยาศาสตร์ นำไปสู่ใช้การคาดเดาเหตุการณ์ ว่าอวัยวะและร่างกายเป็นเรื่องของธาตุทั้งสี่ การทดลองภายใต้การคาดเดาและประสบการณ์จะเป็นกลไกในการรักษาของชาวลาว นั้นคือการรักษาผู้ป่วย ”

จากหลักฐานข้างต้นได้แสดงให้มุมมองต่อการรักษาของชาวล้านนาหรือชาวลาว โดยเป็นการรักษาโดยการคาดเดาอาการของผู้ป่วยและรักษาตามธรรมชาติ ทั้งนี้ในกรณีที่รักษาแล้วแต่อาการยังไม่บรรเทาลงจะกลายเป็นหน้าที่ของคนทรง ดังนี้ 

“ในกรณีที่เกิดผู้ป่วยจากที่พวกเขาไม่สามารถอธิบายได้จะมีการเรียกหมอผี หรือ คนทรง การอธิบายผู้ป่วยของหมอผีคนทรงใช้การคาดเดาและความบังเอิญในการอธิบายโรคที่เกิดขึ้นถูกหรือผิดก็เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยนั้น ในที่นี้หมอมิชชันนารีไม่สามารถอธิบายได้ว่าการรักษาโรคนั้น หมอผีเหล่านี้อธิบายและรักษาได้อย่างไร เพราะว่า คนที่จะมาเป็นหมอผีหรือคนทรงจะไม่เฝ้าดูอาการหรือตรวจสอบการทดลองอาการผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ”

“พวกเขายอมรับการอธิบายความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติและวิธีทางไสยศาสตร์ ความเชื่อนี้จะทำให้ผู้คนละเลยการศึกษาสาเหตุของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ในขณะเดียววิธีการนี้จะแพร่อยู่ในภูมิศาสตร์เขตร้อนชื้น ด้วยเหตุที่การวิ่งวอนต่อสิ่งเหนือธรรมชาติจะเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในเขตร้อนชื้นที่มี โรคที่เหมือนกันจึงทำให้ ความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติและวิธีทางไสยศาสตร์จะทรงพลังอย่างมาก และเนื่องจากปรากฏที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติมีความเข้าใจว่าเป็นสิ่งเห็นธรรมชาติ การปรากฏขึ้นของโรคที่ร้ายแรงและความถี่ของโรคระบาดจะเป็นหลักประกันของความเชื่อนี้ เพราะฉะนั้นงานใด ๆ ในกิจการการแพทย์สมัยใหม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีวิธีทางการใด ๆ เลยที่จะส่งผลกระทบต่อไสยศาสตร์ไปมากกว่าหลักเหตุและผล ”

จากหลักฐานข้างต้นได้แสดงให้เห็นมุมมองการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนล้านนาในอดีต มุมมองของมิชชั่นนารีต่อการรักษาและเผยแพร่ศาสนาในล้านนายุคจารีต รวมถึงความเห็นที่ว่า จะต้องมีความชำนาญในการรักษาผู้ป่วย เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในหลักเหตุและผล รวมถึงศาสนา หลักฐานชิ้นนี้จึงแสดงให้เห็นทัศนคติของคนล้านนาก่อนการเข้ามาของการรักษาแบบตะวันตกหรือความเป็นวิทยาศาสตร์ และยังแสดงให้เห็นอุปสรรคในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในล้านนาในช่วงเวลาขณะนั้น  

การปลุกฝีหนองในเชียงใหม่ และ การเผยแพร่ศาสนาของศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี หลักฐานได้กล่าวถึง ศาสนาจารย์แดเนียลและนางโซเฟีย แมคกิลวารีพร้อมด้วยครอบครัวออกเดินทางจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2410 ถึงเชียงใหม่ในวันที่ 3 เมษายน ปีเดียวกัน  ครอบครัวแมคกิลวารี พักอาศัยที่ศาลา “ย่าแสงคำมา” อยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำปิง  การมาเชียงใหม่ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์ได้แก่ “การสอนศาสนา การจัดตั้งโรงเรียน และรักษาคนเจ็บป่วย “การประกาศศาสนาคริสต์และการรักษาของศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารี ได้รับความสนใจจากชาวล้านนาเป็นอย่างมาก 

ภายหลังจากคณะมิชชั่นนารีเดินทางถึงเชียงใหม่ ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารีปฏิบัติสัมพันธ์กับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ จากการตั้งสถานีเผยแพร่ศาสนาคริสต์แล้ว มีงานศึกษาที่กล่าวถึงการปลุกฝีหนองให้แก่เจ้านายในราชสำนักเชียงใหม่ โดยการปลูกฝีหนองดังนี้ 

“เนื่องจากพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ทรงอนุญาตให้ ศาสนาจารย์แดเนียล แมคกิลวารีปลูกฝีหนองแก่พระราชนัดดา การปลูกฝีดูจะดำเนินไปด้วยดีแต่ขั้นตอนสุดท้ายของการตกสะเก็ด พระนัดดาทรงท้องร่วงอย่างแรง พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ทรงให้ พระนัดดาอยู่ในความดูแลของหมอพื้นบ้าน โดยที่เดเนียล แมคกิลวารี ตั้งข้อสังเกตว่าอาการดังกล่าว หากใช้ยาแก้ปวดหรือยาอื่น ๆ ตามแบบแผนตะวันตก พระนัดดาน่าจะหายป่วย อย่างไรก็ตาม เดเนียล แมคกิลวารีไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการรักษาท้ายที่สุดพระนัดดาเสียชีวิต”

ภาพถ่ายขาวดำ การปลูกฝี เมื่อ 120 ปีก่อน ประมาณปี พ.ศ.2450 โดยหลวงอนุสาร สุนทรกิจ ชัวย่งเส่ง สตูดิโอ เชียงใหม่ สำเนาภาพจากหนังสือภาพถ่ายฟิล์มกระจก เมืองเชียงใหม่ โดย หลวงอนุสารสุนทรกิจ อ้างใน เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น

การเดินทางออกไปปลูกฝีหนองในหมู่บ้านตามชนบทต่าง ๆ ภายหลังจากการเผยแพร่ศาสนา การตอบคำถามอย่างเป็นเหตุเป็นผลและการรักษาผู้ป่วยตามการรักษาหลักแพทย์ตะวันตก ทำให้มีผู้รับความเชื่อและรับบัพติสมาเป็นคริสเตียน ได้แก่ หนานอินต๊ะซึ่งเคยเป็นผู้บวชเรียนมาก่อน ยังมีคนที่รับเชื่อเป็นคริสเตียนต่อมาจนถึงต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2412 รวม 7 คน แต่ในเดือน กันยายน พ.ศ. 2412 คริสเตียนสองคนคือน้อยสุยะกับหนานชัย ถูกพระเจ้ากาวิโรรส สั่งประหารนำไปสู่เหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างมิชชั่นนารีและชนชั้นนำในเชียงใหม่ ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นนำเชียงใหม่กับคริสศาสนิกชนในเชียงใหม่ 

(1) พ.ศ. 2412 กรณีประหารชาวคริสต์สองคนคือน้อยสุยะกับหนานชัย  เนื่องจากทั้งสองคนเป็นบุคคลในสังกัดของเจ้านายเชียงใหม่ การเข้ารีตของไพร่ในสังกัดผู้ครองเมืองเชียงใหม่อาจจะส่งผลต่อกลไกเชิงอำนาจเนื่องจากการเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ของชาวคริสต์ในเชียงใหม่จะทำให้ไพร่ได้หยุดงาน ซึ่งส่งผลต่อการเกณฑ์แรงงานได้ 

เหตุการณ์ตึงเครียดดังกล่าว สิ้นสุดภายหลังจากพระเจ้ากาวิโลรสถึงแก่พิราลัย ในปี 2413 ขณะเดินทางกลับเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ได้ถวายพระเศวตวรรณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2412 ภายหลังจากพระเจ้ากาวิโลรสถึงแก่พิราลัย พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ในลำดับถัดมา อนุญาตให้มิชชันนารีเผยแพร่กิจการศาสนาต่อไป   

ต่อมา (2) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2413 จะมีพิธีแต่งงานแบบคริสเตียนครั้งแรกระหว่างนางสาวคำติ๊บ (บุตรสาวของหนานอินต๊ะ) กับน้อย อินทจักร ศิษย์ ของศาสนาจารย์แมคกิลวารีที่กำลังรับการฝึกอบรมเพื่อเป็นศาสนาจารย์หรือนักบวชของคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ เจ้าเทพวงศ์ซึ่งเป็นมูลนายสูงสุดของครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวไม่ยินยอมให้มีการแต่งงานจนกว่า จะมีการเสียผีตามประเพณีความเชื่อของคนเมืองเสียก่อน กลุ่มมิชชันนารีเองไม่ยอมอ่อนข้อในเรื่องนี้ ในที่สุดมีการฟ้องร้องไปยังราชสำนักรัชกาลที่ 5 ที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง

ภายหลังจากปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิธีราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2418 ได้ประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา พ.ศ. 2421 โดยมีบางตอนกล่าวไว้ดังนี้ 

“ผู้ใดเห็นว่าศาสนาใดจะถูกต้องก็ถือตามชอบ ใจของผู้นั้น ผิดถูกก็อยู่แก่ผู้ที่ถือศาสนานั้นเอง ในหนังสือสัญญาแลธรรมเนียมในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ห้าม ปรามคนที่จะถือศาสนา ถ้าผู้ใดเห็นว่าศาสนาพระเยซูดี ก็ให้เขาถือตามชอบใจ เมื่อมีราชการบ้านเมืองต้องใช้ ผู้ที่ถือศาสนาพระเยซูนั้นก็ใช้ได้ ศาสนาหาเป็นที่ขัดขวางห้ามปรามในราชการไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ถ้าผู้ใดจะชอบใจถือศาสนาใด ก็ให้ผู้นั้นถือตามชอบใจ อย่าให้เจ้านายพระยาลาวท้าว แสนและราษฎร ซึ่งเป็นญาติพี่น้องแลมูลนายของผู้ที่ถือศาสนาพระเยซูนั้นขัดขวางห้ามปรามการสิ่งใด ซึ่ง ศาสนาพระเยซูห้ามไม่ให้ถือไม่ให้ทำ คือไหว้ผีเลี้ยงผีทำการงานต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ ก็อย่าให้กดขี่บังคับให้ ถือให้ทำ เป็นอันขาด เว้นเสียแต่เป็นการศึกสงคราม แลเป็นการสำคัญจำจะต้องใช้ผู้นั้นในวันอาทิตย์ก็ใช้ได้”

จากประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา พ.ศ. 2421 จะเห็นได้ว่ามีบางประโยคที่กล่าวถึงเหตุการณ์ความตึงเครียดในลาว ได้แก่ “อย่าให้เจ้านายพระยาลาว ท้าวแสนและราษฎร ซึ่งเป็นญาติพี่น้องแลมูลนายของผู้ที่ถือศาสนาพระเยซูนั้นขัดขวางห้ามปรามการสิ่งใด ซึ่งศาสนาพระเยซูห้ามไม่ให้ถือไม่ให้ทำ” ได้แก่ การไม่ให้เจ้านายห้ามไพร่นับถือศาสนาคริสและการเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ ยกเว้นในกรณีสงคราม จากพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา พ.ศ. 2421 ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า สยามมีความเข้าใจว่าตึงเครียดของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ ภายใต้ระบบไพร่อันเป็นระบบกลไกลอำนาจผู้ปกครองเมืองและขุนนางในขณะนั้น  ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งทางขนบประเพณีระหว่างมิชชันนารีอเมริกันกับชนชั้นนำในเชียงใหม่จึงจบลง ภายหลังจากพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาจากราชสำนักสยาม

เมื่อความตึงเครียดระหว่างมิชชันนารีและชนชั้นนำล้านนาลดลงภายหลังจากการประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา พ.ศ. 2421 ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ดังนี้ 

1.ภายหลังการประกาศพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา พ.ศ. 2421 แสดงให้เห็น อำนาจของราชสำนักสยามที่เหนือเมืองเชียงใหม่ ผ่านเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างชนชั้นนำเมืองเชียงใหม่กับมิชชันนารี เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจความอันซับซ่อนที่เกิดขึ้น ระหว่างราชสำนักสยามและเชียงใหม่ในยุคจารีต โดยมีสาเหตุมาจากเผยแพร่วิทยาการตะวันตก อันได้แก่ การปลุกฝีหนอง การรักษาแบบตะวันตก การพิมพ์และการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ซึ่งมีผู้นับถือมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 จะมีการตั้งคริสตจักรที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากชาวคริสเตียน จำนวนหนึ่ง ในอาคารคริสตจักรที่ 1 ในปัจจุบันอยู่ในโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน 

รวมถึงการศึกษา ซึ่งจะกล่าวในประเด็นถัดไป 

2.พบความเชื่อมโยงระหว่างพระบรมราชโองการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา พ.ศ. 2421 กับการตั้งโรงเรียนหนึ่งที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2421  โดยนางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี ได้ตั้งโรงเรียนสตรี มีเป้าหมายทำให้นักเรียนมีรู้หนังสือ ทักษะการเย็บปัก การคำนวณ การท่องคัมภีร์และการร้องเพลง 

เนื่องจากการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่นั้น ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารีและภรรยา พบว่ามีสตรีในเชียงใหม่เพียง 2 คนที่สามารถอ่านออกเขียนได้ (น่าจะเป็นเจ้าอุบลวรรณาและเจ้าทิพไกสร บุตรีของพระเจ้ากาวิโลรส สริยะวงศ์) โดยในช่วงแรก ได้ให้การศึกษาทักษะความรู้ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แก่ลูกหลานของบ่าวไพร่ในเรือนประมาณ 6-8 คน ในปี พ.ศ.2413 ตั้งโรงเรียนสตรีในปี พ.ศ.2421  และพ.ศ. 2422 คณะมิชชันนารีส่ง Miss Edna Sarah Cole และ Miss Mary Margaretta Campbell มารับผิดชอบและจัดระบบโรงเรียน และต่อมาในปี 2452 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียน “พระราชชายา” และปี 2466 เปลี่ยนชื่อเป็นดาราวิทยาลัย โรงเรียนได้เปิดให้การศึกษาแก่นักเรียนตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน 

การตั้งโรงเรียนดังกล่าวได้ส่งผลให้ต่อมาได้แก่ (1) การตั้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ทำให้ชาวคริสเตียนในเชียงใหม่ เป็นกลุ่มแรกที่สามารถอ่านออกเขียนได้  (2) ราชสำนักสยามได้เห็นความสำคัญของการศึกษา ในเชียงใหม่ จึงมีตั้งโรงเรียนอื่น ๆ ตามมา

3.กิจการการรักษาของมิชชันนารี ภายหลังจากปี พ.ศ.2421 ยังคงดำเนินควบคุมไปกับการเผยแพร่ศาสนา โดยการตั้งโรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น” (American Mission Hospital) หรือโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ในปี พ.ศ.2431 

โดยการดำเนินกิจการของโรงพยาบาล พบการกล่าวถึง นายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน (Dr.James W. McKean) ในการปฏิบัติกิจการโรงพยาบาลในเชียงใหม่ ดังนี้

“พ.ศ. 2447 หมอแมคเคนริเริ่มสร้างห้องทดลองผลิตวัคซีนสำหรับปลูกฝีดาษ ซึ่งใช้เวลาถึง 10 ปีจึงสำเร็จ หมอแมคเคนให้การฝึกหัดคนปลูกฝี และส่งไปบำบัดผู้ป่วยตามหมู่บ้านที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังนำเครื่องจักรเข้ามาผลิตยาควินินสำหรับใช้รักษาคนไข้มาลาเรียในเชียงใหม่ ” 

กิจการการรักษายังคงดำเนินในเวลาถัด ๆ มา แสดงให้เห็นกิจการของการรักษาที่เติบโต ขยับขยาย และแสดงให้เห็นความต้องการรักษาผู้ป่วยของหมอชาวต่างชาติในสยาม 

จากประเด็นสืบเนื่องจากความเป็นพลวัตข้างต้น การดำเนินกิจการตามจุดประสงค์ของมิชชันนารีเหล่านี้ มีผลต่อประวัติศาสตร์ในแง่ต่าง ๆ ทั้งการรักษา การเผยแพร่ศาสนา และการตั้งโรงเรียนเป็นผลมาจากจุดประสงค์ของมิชชันนารีและได้มีผลสืบเนื่องต่อประวัติศาสตร์ในอนาคต สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นวิทยาการตะวันตกที่เดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ วิทยาการตะวันตกต่าง ๆ ที่กล่าวถึงจะมีปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นนำและสามัญชน และกลายเป็นประวัติศาตร์หน้าสำคัญหน้าหนึ่งของเชียงใหม่  

จากการค้นคว้าข้อมูลไมโครฟิล์มและหลักฐานอื่น ๆ ที่กล่าวถึงไข้ทรพิษในเชียงใหม่และน่านข้างต้น นำมาสู่การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และประเด็นเรื่อง โศกนาฏกรรม กระทั้งการประกาศ “พระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา ” (Edict of Toleration) งานศึกษาค้นคว้านี้ จึงแสดงให้เห็นประเด็นต่าง ๆ เช่น 1.หลักฐานการระบาดของไข้ทรพิษในล้านนาศตวรรษที่ 18 2.การรักษาและความเชื่อในการรักษาประชาชนในล้านนาที่มีความแตกต่างกับการรักษาแบบตะวันตก 3.การเผยแพร่ศาสนาและประเด็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่เข้ารีดศาสนาคริสต์และเจ้าครองนครเชียงใหม่ในระยะเวลาดังกล่าว 4.ประเด็นเรื่องการจัดการรัฐชาติสมัยใหม่ หรือ จัดการล้านนาในฐานะอาณานิคมของสยามผ่านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ประเด็นเหล่านี้ แสดงเห็นความสัมพันธ์ในหลาย ๆ วงการเช่น ศาสนา การแพทย์ ประวัติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ที่เชื่อมโยงต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อ้างอิง 

  • ประวัติศาสตร์น่าน .(ม.ป.ป).จังหวัดน่าน. 
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา : ฉบับหลวงสารประเสริฐและฉบับกรมพระปรมานุชิตฯ และพงศาวดารเหนือฉบับพระวิเชียรปรีชา. (2504). กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา,
  • คณะทำงานเอกลักษณ์น่าน. (2549). “นครน่าน พัฒนาการเป็นนครรัฐ” . ม.ป.ป
  • ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์”
  • คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, (2559), ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ที่ 5
  • ธัชชัย ยอดพิชัย, (2552), “โอสถศาลาหมอบรัดเลย์” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 มกราคม 2552 
  • ธันวา วงศ์เสงี่ยม, (2557), เกร็ดความรู้จากประว้ติศาสตร์ ‘ไข้ทรพิษ ในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา’ 
  • สำนักกรมศิลปากร วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๗ ฉบับ ก.ค. – ส.ค. ๕๗,น.๖๗-๗๗
  • ตรี อมาตยกุล, (2507),“พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับเป็นสมบัติของบริติชมิวเซียม” กรุงลอนดอน กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า 
  • หลวงประเสริฐอักษรนิติ์, (มปป),“พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ฯ / กีรติ เกียรติยากร บรรณาธิการ” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว
  • ประสิทธิ์ พงศ์อุดม,(มปป.), “ประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาในเชียงใหม่”.หน่วยงานจดหมายเหตุประวัติศาสตร์และวิจัย สภาคริสตจักรในประเทศไทย สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2561
  • สุกัญญา ตีระวนิช ,(2529), “หมอบรัดเลกับการหนังสือพิมพ์กับกรุงสยาม” กรุงเทพ : มติชน
  • สรัสวดี อ๋องสกุล ,(2558),“ประวัติศาสตร์ล้านนา” กรุงเทพฯ พิมพ์ครั้งที่ 11: อมรินทร์
  • ศรีสักดิ์ วัลลิโภดม,(2545), “ล้านนาประเทศ”กรุงเทพฯ : มติชน

บทความนี้ปรับปรุงจากรายงานการค้นคว้าภายใต้กระบวนวิชา 004372 ประวัติศาสตร์ล้านนา  นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับสยามผ่านการเข้ามาของมิชชันนารี โดยพบว่า ในช่วงศตวรรษที่ 19 เกิดการระบาดของไข้ทรพิษในภูมิภาคต่าง ๆ ในสยาม รวมถึงเชียงใหม่และน่าน ภายใต้การปกครองของสยาม ผู้ครองเมือง จึงได้ขอมิชชั่นนารีชาวต่างชาติและตัวยาเพื่อเข้าไปรักษา นำมาสู่เหตุการณ์สำคัญของการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในภาคเหนือ เหตุการณ์ประหารชาวคริสตเตียนในเชียงใหม่ และพระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา ” (Edict of Toleration) ในระยะเวลาต่อมา ประเด็นเหล่านี้ แสดงให้เห็น การสื่อสารและความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสยามกับล้านนา ในการจัดการรัฐล้านนาของสยามในช่วงรัชกาลที่ 5

ข่าวที่เกี่ยวข้อง