ขยายภาพ ‘2475’ นอกพระนคร ส่องเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ‘2476’ ระหว่างเจ้านายและข้าราชการในล้านนา

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

ในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี บนหน้าสื่อโซเชียลมีเดียของประชาชนภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเรา ๆ ก็คงจะมีบทความประวัติศาตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขนาดสั้นบ้างยาวบ้างแสดงขึ้นมาให้ได้อ่านกันไม่มากก็น้อย 

แต่บทความเหล่านั้นโดยส่วนมากก็คงจะเป็นลำดับเหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเรื่องราวของบุคคลสำคัญผู้มีบทบาทเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ที่หลายคนเรียกว่า “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” หรือสมาชิกคนหนึ่งคนใดของกลุ่ม “คณะราษฎร”  

ข้อสังเกตมีอยู่ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรามักได้อ่านหรือเห็นผ่านตากันนั้นมักเป็นสิ่งที่ได้รับรู้กันมาแล้วผ่านแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา และเรื่องราวเหล่านั้นก็พูดถึงเฉพาะเหตุการณ์ในวันดังกล่าว และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนกลางเป็นสำคัญ

ด้วยข้อสังเกตดังกล่าว ผู้เขียนจึงใคร่จะทดลองขีดเขียนอะไรบางอย่างเพื่อขยายภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกสักหน่อย โดยเน้นไปที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476 พร้อมกับใช้เลนส์ที่มีกลิ่นอายของท้องถิ่น (ล้านนา) นิยมนิด ๆ ในการมอง  เพื่อสะท้อนภาพให้เห็นและได้รู้จักกับเจ้านายและข้าราชการล้านนาผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งแรก จนได้เป็นผู้แทนราษฎรชุดแรกของภาคเหนือในบางมิติ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสยามเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2476

การเลือกตั้งครั้งแรกของสยามเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ซึ่งการเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เนื่องจากรัฐบาลคณะราษฎรได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นจึงจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร โดยให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลในจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง การที่ราษฎรโดยทั่วไปยังไม่สามารถเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงนั้นเพราะราษฎรโดยส่วนยังไม่คุ้นชินกับการเลือกตั้งมากนัก

ในการเลือกตั้งครั้งแรกมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 4,278,231 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิเป็นจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คือมีเพียง 1,773,532 คน แต่ถึงแม้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียงเท่านั้นก็ถือได้ว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงสำหรับยุคแรกรุ่งอรุณของประชาธิปไตย  

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอขยายความเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงสมัครเป็นผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร เพื่อให้สามารถจินตนาการได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎรในยุคนั้นเป็นใคร และมีตำแหน่งที่อย่างไรในทางสังคม โดยจะแสดงให้เห็นคุณสมบัติดังกล่าวในตารางเปรียบเทียบดังนี้

คุณสมบัติผู้แทนตำบลผู้แทนราษฎร
เป็นผู้มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
อายุ 20 ปีบริบูรณ์
อายุ 23 ปีบริบูรณ์
ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะที่มีการเลือกตั้ง
ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ในขณะมีการเลือกตั้ง
ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
มีความรู้ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 10 
ที่มา: กระทรวงมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 1, พระนคร: โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500.

เจ้านายและข้าราชการท้องถิ่นกับสถานะผู้แทนราษฎรในดินแดนล้านนายุคแรก

ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทางอ้อมปี พ.ศ.  2476 เสร็จสิ้น ปรากฏว่าทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน และอุตรดิตถ์ ได้มีผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนครบทุกจังหวัด ตามรายนามดังนี้

จังหวัดเขตชื่อ
เชียงราย1พระดุลยธรรมปรีชาไวท์ (ยม สุขานุศาสน์)
เชียงใหม่12พระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันท์)หลวงศรีประกาศ (ฉันทร์ วิชยาภัย)
น่าน1เจ้าจำรัส มหาวงศนันท์
แพร่1เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์
แม่ฮ่องสอน1นายบุญสิริ เทพาคำ
ลำปาง1เจ้าสร้อย ณ ลำปาง
ลำพูน1เจ้าบุญมี ตุงคนาคร
อุตรดิตถ์1นายฟัก ณ สงขลา
หมายเหตุ: เชียงใหม่ซึ่งผู้แทนราษฎรมี 2 คน เนื่องจากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งจังหวัดออกเป็น 2 เขต ขณะจังหวัดอื่นๆ แบ่งเขตเลือกตั้งทั้งจังหวัดเพียง 1 เขต และขณะนั้นพะเยามีสถานะเป็นอำเภอหนึ่งของเชียงราย จึงไม่มีผู้แทนราษฎร

จากรายนามข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้แทนราษฎรในยุคแรกของล้านนา (ซึ่งในที่นี้หมายถึงพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น) ประกอบไปด้วยคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเจ้านาย และกลุ่มข้าราชการ

กลุ่มเจ้า มี 4 คน ได้แก่ 

1.เจ้าจำรัส มหาวงศนันท์ ส.ส.น่าน 

2.เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ส.ส.แพร่

3.เจ้าสร้อย ณ ลำปาง ส.ส.ลำปาง 

4.เจ้าบุญมี ตุงคนาคร ส.ส.ลำพูน 

โดยชาติกำเนิดแล้ว ส.ส. กลุ่มเจ้ามักสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายหรือข้าราชการชั้นสูงที่เคยมีบทบาททางการเมืองการปกครองของหัวเมืองต่างๆ ของล้านนา เมื่อครั้งมีสถานะเมืองประเทศราชของสยาม เช่น เจ้าบุญมี ตุงคนาคร สืบเชื้อสายมาจากทิพจักราธิวงศ์ หรือตระกูลเจ้าเจ็ดตน อันเป็นตระกูลผู้ปกครองนครลำปาง  นครเชียงใหม่ และนครลำพูน, เจ้าวงศ์ แสนสิริพันธุ์ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวงเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ (ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2348 – 2359) และเจ้าจำรัส มหาวงศนันท์ สืบเชื้อสายมาจากเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน (ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2381 – 2394) เป็นต้น

เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธุ์ ส.ส.แพร่ ที่มาภาพ: วิกิพีเดีย
เจ้าหนานบุญมี ตุงคนาคร ที่มาภาพ: ห้องฮูปลำพูน
เจ้าจำรัส มหาวงศนันท์ ส.ส.น่าน ที่มาภาพ: คุ้มเจ้าทองย่น

ชาติกำเนิดเช่นนี้ทำให้ ส.ส. กลุ่มเจ้าเป็นผู้มีเครือข่ายทางสังคม และเศรษฐกิจมาก มีการศึกษาดี กระทั่งมีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น เจ้าวงศ์ แสนสิริพันธ์ุ ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และเป็นศิษย์เอกของภราดา ฟ. ฮีแลร์ 

ดังนั้นแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งผูู้แทนราษฎรขึ้นคนกลุ่มนี้จึงได้ครอบครองพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของโควต้าผู้แทนราษฎรใน 8 จังหวัดภาคเหนือ

กลุ่มข้าราชการ มี 5 คน ได้แก่

– พระดุลยธรรมปรีชาไวท์ (ยม สุขานุศาสน์) ส.ส.เชียงราย

– พระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันท์) และ หลวงศรีประกาศ (ฉันทร์ วิชยาภัย) ส.ส.เชียงใหม่

– นายบุญสิริ เทพาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน

– นายฟัก ณ สงขลา ส.ส.อุตรดิตถ์

ในส่วนของ ส.ส. กลุ่มข้าราชการ เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังแล้วก็พบว่าโดยมากแล้วมีสถานะเป็นข้าราชการในพื้นที่ที่ตนเองลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรมาก่อนแล้วระยะหนึ่งทั้งสิ้น ทำให้เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป ทั้งที่บางคนมิได้กำเนิดและเติบโตขึ้นในจังหวัดนั้น ๆ 

ยกตัวอย่างเช่น หลวงศรีประกาศ (ฉันทร์ วิชยาภัย) เดิมเป็นคนจังหวัดจันทบุรี แต่ได้ติดตามพระยามโหสถศรีพิพัฒน์ (เชิญ ปริชญานนท์) มาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มจากการเป็นเสมียนศาลมณฑลพายัพ ต่อมาได้เป็นทนายความ, กรรมการสุขาภิบาล, ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่อีก 6 สมัย คือระหว่างปี พ.ศ. 2483 – 2487 ยกเว้นปี พ.ศ. 2486 

นอกจากนี้ ยังได้มีธุรกิจโรงแรมเป็นกิจการส่วนตัวอีกแห่งหนึ่งคือ โรงแรมศรีประกาศ ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานนวรัฐระหว่างชายขอบของสามชุมชน คือสันป่าข่อย วัดเกต และท่าสะต๋อย 

หลวงศรีประกาศ (ฉันทร์ วิชยาภัย) คนสวมพวงมาลัยทางซ้าย และ พระพินิจธนากร (บุญเพ็ง ยุกตะนันท์) คนสวมพวงมาลัยทางขวา ผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ชุดแรก ปี พ.ศ. 2476 ที่มา: แฟนเพจเฟซบุ๊ก ศรีประกาศ Sriprakard Chiangmai

อีกตัวอย่างคือ นายบุญสิริ เทพาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน ซึ่งบุญจิรา ทองเขียว (เทพาคำ) บุตรสาวของนายบุญสิริ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่งว่านายบุญสิริเกิดและมีช่วงชีวิตวัยเด็กที่จังหวัดลำพูน แต่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ จนจบได้เป็นแพทย์และมียศเป็นทหารรักษาพระองค์อยู่ในวัง และได้ย้ายมาเปิดคลินิกรักษาคนไข้ที่อำเภอแม่สะเรียง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2476 จึงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยการสนับสนุนจากประชาชน     

บทบาท (และทัศนะท้องถิ่นนิยม) ของผู้แทนราษฎรล้านนา ผ่านการแสดงปาฐกาหลังปิดวาระประชุมสมัยสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476

เมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว ผู้แทนราษฎรล้านนาหรือผู้แทนราษฎรจากภาคเหนือก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกันผู้แทนราษฎรโดยทั่วไป เช่น เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2476 และได้จัดคำปาฐกถาเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ระบอบการปกครองตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญในท้องที่ของตน ตามที่กรมโฆษณาการได้ขอให้ผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัดจัดทำขึ้น 

ซึ่งปาฐกถาของผู้แทนราษฎรทั้ง 8 คน ตามที่พอจะสามารถหาข้อมูลได้ มีเนื้อหา (โดยสรุปที่น่าสนใจ) ดังนี้

ปาฐกถาของผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 

เริ่มต้นด้วยการบรรยายสภาพจังหวัดเชียงใหม่ และประวัติความเป็นของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวไว้ถึงขึ้นที่ระบุว่า “…เชียงใหม่เคยเป็นเอกราชมีอำนาจอิสระมาแต่โบราณ…” จากนั้นก็ชี้ให้เห็นความเท่าเทียมกันระหว่างพระนคร (กรุงเทพฯ) และเชียงใหม่ในแง่ที่ว่าการศึกษาที่คนเชียงใหม่ได้รับนั้นไม่ต่างจากการศึกษาในเขตพระนคร ก่อนจะปิดท้ายด้วยการกล่าวถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับจำลอง ซึ่งผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ทั้ง 2 คน ได้รับมอบมาให้ประจำไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่างานฉลองจะมีขบวนแห่อย่างมโหฬาร  จะจัดงานทั้งหมด 5 วัน ภายในขบวนจะมีบุคคลทุกชาติ ทุกชั้น เข้าร่วม จะมีขบวนแห่ช้าง ม้า ล้อเลื่อน ตลอดจนรถต่างๆ รวมทั้งมีการประกวดสาวงาม และการปวดพืชพันธุ์สัตว์ต่างๆ ด้วย

ปาฐกถาของผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน 

เนื้อหาการบรรยายจะเน้นไปที่การแนะนำให้รู้เมืองลำพูน ในแง่ของสภาพภูมิประเทศ อากาศ ประชากร และลักษณะทั่วไปอื่นๆ หากแต่มีข้อโดดเด่นตรงที่ว่า ส.ส.ลำพูนผู้นี้มิได้กล่าวสรรเสริญระบอบการเมืองใหม่ หรือกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนทำกิจกรรมใดๆ ในวันฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างจากผู้แทนราษฎรในจังหวัดอื่นๆ

ปาฐกถาของผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่

มีเนื้อหาเริ่มต้นการบรรยายที่ว่าด้วยความเป็นมาของจังหวัดตนเองเช่นเดียวกับผู้แทนราษฎรในจังหวัดอื่น ๆ หากแต่ได้เชื่อมโยงการเป็นที่รับรู้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้ากับการเป็นสถานที่คุมขังนักโทษทางการเมืองที่รัฐบาลได้ส่งขึ้นมา พร้อมกับชี้ให้เห็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ไม่มีผู้พิพากษาอยู่ประจำ โดยเฉพาะที่ศาลอำเภอแม่สะเรียง และยังกล่าวถึงความทุกข์ยากของราษฎรผู้ต้องหาที่ต้องทนถูกคุมขังเพื่อรอการไต่สวนคดีละหลายๆ เดือน 

นอกจากนี้ นายบุณสิริ เทพาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน ยังได้ชี้ให้เห็นปัญหาการคมนาคมอันไม่สะดวก ปัญหาการมีระบบไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ แต่ไม่สามารถใช้การได้ในหน้าฝน รวมไปถึงปัญหาหารขาดแคลนโรงเรียนและครู สำหรับโรงเรียนเท่าที่มีอยู่ก็ชี้ให้ว่าได้ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ทั้งนี้ เนื้อหาปาฐกถาของ ส.ส.แม่ฮ่องสอนก็มิได้กล่าวถึงงานเฉลิมฉลองวันรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ในทัศนะของผู้เขียน ปาฐกถาข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าแม้ผู้แทนราฎษรยุคแรกของภาคเหนือจะเป็นผู้ที่มาจากชนชั้นนำทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยการเป็นผู้แทนฯ พื้นที่หรือจังหวัดของตนเองก็ทำให้สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นนิยมแบบอ่อน ๆ ในปาฐกถาดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น 

แม้วัตถุประสงค์สำคัญของการแสดงปาฐกถานี้ ตามที่กรมการโฆษณาระบุไว้คือ “เพื่อการส่งเสริมและเผยแพร่ระบอบการปกครองตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญในท้องที่ของตน”  กลับจะเห็นได้จากปาฐกถาว่าผู้แทนราษฎรได้ยกเอาเรื่องราวในจังหวัดของตนเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวที่หวานบ้างเปรี้ยวบ้าง กล่าวคือ ว่าด้วยเรื่องอันดีงาม หรือชี้ให้เป็นประเด็น ก็ตาม

อนึ่ง ผู้เขียนต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าจุดมุ่งหมายของงานชิ้นนี้คือ เพื่อสะท้อนภาพให้เห็นและได้รู้จักกับเจ้านายและข้าราชการล้านนาผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งแรก จนได้เป็นผู้แทนราษฎรชุดแรกของภาคเหนือในเพียงบางมิติเท่านั้น และงานเขียนชิ้นยังมิใช่งานที่สมบูรณ์มากในการจะกล่าวถึงผู้แทนราษฎรยุคแรกของภาคเหนือ สำหรับในประเด็นนี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาและการรวบรวมข้อมูลที่เป็นระบบกว่าอีกมาก ซึ่งผู้เขียนจะขอฝากไว้ให้เป็นภารกิจของใครสักคนในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง