ลาวในวังวนแห่งการขูดรีด: เจาะลึกเบื้องหลังวิกฤตเศรษฐกิจใต้เงาการลงทุนไทย-จีน 

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

“สปป.ลาว วิกฤต!, วิกฤตลาวจมกองหนี้ เศรษฐกิจเสี่ยงล่มสลาย, สปป.ลาววิกฤต เสี่ยงทศวรรษที่สูญหาย”

เหล่านี้คือพาดหัวข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศลาวที่ถูกนำเสนอในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นการนำเสนอความอ่อนค่าของเงินกีบและความพยายามในการทำความเข้าใจเงื่อนไขที่นำไปสู่ความอ่อนค่าของเงินกีบ โดยสำนักข่าวและนักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า เหตุที่ลาวเผชิญกับวิกฤตค่าเงินเสื่อมค่านี้เกิดจากการที่ลาวต้องนำเข้าสินค้าจำนวนมากมาเป็นเวลานานทำให้ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปมากและหนี้สาธารณะที่มีอยู่สูง เงื่อนไขเหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการเงินกีบนั้นลดลงเรื่อย ๆ จนอ่อนค่าไปในที่สุด

บทความนี้มีความตั้งใจจะทำความเข้าใจเงื่อนไขอื่นที่ประกอบสร้างให้ลาวมีสถานภาพทางเศรษฐกิจเป็นเช่นที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้ ผ่านการสำรวจโครงสร้างการลงทุนของประเทศไทยและผู้ลงทุนหน้าใหม่อย่างประเทศจีนที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศลาว ไล่ตั้งแต่การลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟในประเทศลาวไปจนถึงการลงทุนด้านการเกษตรอย่างสวนกล้วยในประเทศลาว เพื่อประกอบสร้างภาพที่สมบูรณ์มากขึ้นในการทำความเข้าใจความเป็นมาของวิกฤตที่ประชาชนลาวกำลังเผชิญอยู่ พร้อมกับชี้ชวนให้ทุกคนเห็นถึงการขูดรีดผลกำไรระหว่างประเทศ ที่ดำรงอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทยและประเทศจีน

การเร่ขายทรัพยากรไปจนถึงอธิปไตยเหนือดินแดนของลาว

ประเทศลาวหรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามจริงแล้วเพิ่งก่อร่างสร้างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ประเทศลาวเพิ่งมีสถานะเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มภาคภูมิเมื่อปี พ.ศ. 2497 หรือเพียง 70 ปีเท่านั้น และในปี พ.ศ. 2518 ประเทศลาวก็ต้องเปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ 11 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2529 ผลจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลของประเทศลาวก็จำเป็นต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจของตนเองให้เป็นระบบตลาดเปิดมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2529 ประลาวจึงได้มีการประกาศแนวคิด “จินตนาการใหม่” ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่ต้องการผลักดันกลไกทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่นำไปสู่การประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียและการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  

การดำเนินนโยบายตามแนวคิดจินตนาการใหม่ของรัฐบาลลาวมุ่งพัฒนาประเทศ ผ่านกระบวนการเร่ขายทรัพยากรทั้งบนแผ่นดินและแม่น้ำของตน รวมถึงกระทั่งเร่ขายอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษให้อยู่ในการดูแลของกลุ่มทุนต่างชาติ โดยยกสถานะให้ภาคเอกชนของต่างชาติเป็นผู้ดำเนินกระบวนการพัฒนาต่าง ๆ เอง ทั้งการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ หรือการสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อาศัยทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ โดยรัฐบาลลาวถอยบทบาทตนเองไปเป็นผู้บริหารจัดการหรือนายหน้า แทนที่จะมีบทบาทนำในการพัฒนา

ประเทศไทยเป็นผู้เปิดทางการลงทุนในประเทศลาวเป็นเจ้าแรก ๆ โดยเฉพาะการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว โดยมีกลุ่มทุนไทยเข้าไปลงทุนและถือหุ้นในเขื่อนผลิตไฟฟ้าและมีรัฐวิสาหกิจของลาวร่วมถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่ากันมาก แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศจีนก้าวเข้ามามีบทบาทหลักในการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศลาวมากขึ้น เนื่องจากประเทศลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในยุทธศาสตร์ BRI ของจีนที่ต้องการเชื่อมต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนสู่นานาชาติ ส่งผลให้ ณ ขณะนี้มีสื่อสารมวลชนและนักวิเคราะห์หลายแห่งประเมินว่าประเทศจีนได้กลายเป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 ของประเทศลาวไปเป็นที่เรียบร้อย

แม้การลงทุนของต่างชาติโดยเฉพาะจีนและอดีตผู้ลงทุนอันดับหนึ่งอย่างไทยจะเข้าไปลงทุนมากมายในประเทศลาว แต่เม็ดเงินหรือผลประโยชน์กลับตกไปถึงกระเป๋าสตางค์ของคนลาวไม่มากนัก เนื่องจากเงินเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือของผู้นำทางการเมืองและเศรษฐีไม่กี่คนในรัฐบาลลาว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้นำทางการเมืองในลาวจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน รูปแบบการลงทุนของต่างชาติในลาวก็ไม่ได้เปิดโอกาสในประชาชนลาวเข้าถึงงานในพื้นที่การลงทุนของประเทศทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นไทยที่ไปลงทุนในโรงไฟฟ้าและเขื่อนในประเทศลาวก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างอาชีพให้กับคนลาวมากนัก ทั้งจากรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากแต่อย่างใด ซ้ำแรงงานมีฝีมือก็เป็นตำแหน่งที่บริษัทในประเทศไทยเลือกใช้คนไทยทำหน้าที่นั้นแทนที่จะเป็นคนลาว กลุ่มทุนของประเทศจีนที่มาลงทุนในลาวยิ่งดำเนินการจ้างงานลักษณะเดียวกับไทย แถมยังทวีความเข้มข้นเสียยิ่งกว่า ด้วยการจ้างงานแรงงานแทบทุกระดับเป็นแรงสัญชาติจีน แทบจะไม่มีตำแหน่งของคนลาวเลย ทำให้เม็ดเงินจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ถูกกระจายลงไปสู่คนลาว จนไม่นำไปสู่การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

เขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ที่มา: https://greennews.agency/?p=30049

ข้อวิจารณ์ต่อการดำเนินนโยบายที่เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายในรูปของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ข้อวิจารณ์ส่วนใหญ่มาจากนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สอดส่องลงไปในเนื้อหาของการชูผลประโยชน์ที่ชาติจะได้รับจากการเปิดทางให้การหลั่งไหลของทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างสะดวก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอัตราการลงทุนของต่างชาติไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของอุตสาหกรรม การกระจายเทคโนโลยีสู่ท้องถิ่นก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นจริง ซ้ำยังอาจทำให้ชุมมชนศูนย์เสียทรัพยากรอย่างที่ดินและโอกาสในการพัฒนาเกษตรกรรม รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนของต่างชาติไม่ได้ครอบคลุมถึงค่าแรงที่เป็นธรรมอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่อย่างขาดธรรมาภิบาลที่ดีอีกด้วย

การทุจริตในกลุ่มผู้นำทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่พบเห็นได้ในประเทศลาว จนนำไปสู่การสูญเสียรายได้ของรัฐและส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในลาว รายงานจาก Radio Free Asia ได้ระบุว่าในปี พ.ศ. 2565 ประเทศลาวสูญเสียเงินจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ไปกว่า 760 ล้านดอลลาร์หรือราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาพสะท้อนชัดเจนของการใช้ทรัพยากรและที่ดินเพื่อสรรหาผลประโยชน์เข้าสู่ชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน มีรายการศึกษาที่ระบุถึงการทุจริตในเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศอื่น ๆ มาช่วยยืนยันความล้มเหลวของการสร้างพื้นที่พิเศษให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อมุ่งหวังพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นการสร้างความมั่งคังให้กับกลุ่มชนชั้นนำแทน อาทิ ประเทศอินเดียหรือฟิลิปปินส์ เป็นต้น ศ.เกียรติคุณ ดร.ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยเปิดประเด็นว่าการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในลาวเป็นสาเหตุให้กลุ่มทุนจีนสีเทาในประเทศลาวเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศลาวจึงเผชิญหน้ากับความย้อนแย้งในตนเองจากการนำเอาแนวคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจกระบวนการเร่ขายทรัพยากรและอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ต้องการให้ประเทศเกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แต่กลับการเป็นชนักติดหลัง ที่ดึงรั้งความก้าวหน้าเศรษฐกิจของตนไปเสีย

หลังจากนี้เราจะลองมาสำรวจนโยบายต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดจินตนาการใหม่ของประเทศลาว เพื่อเผยให้เห็นการลงทุนและการหากำไร/ขูดรีดจากประเทศลาว โดยเล่าผ่านนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินการโดยประเทศไทยและจีน  

แบตเตอรี่แห่งเอเชีย

ประเทศลาวอาศัยปัจจัยที่ตนเองมีแหล่งน้ำจำนวนมากพาดผ่านประเทศโดยเฉพาะแม่น้ำโขงและการมีแหล่งเชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการออกสัมปทานการสร้างโรงไฟฟ้าและการจุดเจาะเหมือง

การลงทุนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เริ่มต้นขายไฟฟ้าให้ไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ที่รัฐบาลไทยเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว โดยคณะกรรมการประสานความร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าในลาว (คปฟ.-ลาว) มีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยนั่งเป็นประธาน และยังมีตัวแทนจากหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศไทยนั่งดำรงตำแหน่งอีกหลายเก้าอี้ ขณะที่ประเทศลาวมีเพียงคณะตรวจสอบการดำเนินงานและประสานความร่วมมือ (Committee for Energy and Electric Power: CEEP) เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม โดยประเทศไทยมีสถานะเหนือกว่าประเทศลาวในฐานะผู้ลงทุนและผู้รับซื้อไฟฟ้า

เขื่อนน้ำงึม 2 หนึ่งในเขื่อนของลาวที่มีสัญญาซื้อไฟฟ้ากับประเทศไทย ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/1495990

แรกเริ่มประเทศไทยมีกำหนดจะรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวในจำนวน 1,500 เมกะวัตต์ แต่ก็เพิ่มจำนวนการรับซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปัจจุบันมีจำนวนการซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 10,500 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าจากกรอบเดิมที่เคยตั้งไว้ในปี พ.ศ. 2536 เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยได้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของการขายไฟฟ้าของประเทศลาว    

โครงการเทิน-หินบูน เป็นเขื่อนแรกที่ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลักของเขื่อนคือ การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (EDL) ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 60 บริษัท Nordic Hydropower AB ถือหุ้นร้อยละ 20 และกลุ่มบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทยถือหุ้นอีกร้อยละ 20

โครงการที่สองที่ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบคือ โครงการห้วยเหาะ มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลักในโครงการนี้คือบริษัทจากประเทศไทยอย่าง บริษัทโกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 67.25 สัดส่วนหุ้นที่เหลือถือโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (EDL) และ บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย ในสัดส่วนร้อยละ 20 และร้อยละ 12.75 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าในโครงการที่สองนี้มีบริษัทจากประเทศไทยเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 80 ฉะนั้นผลกำไรจากการขายไฟฟ้าให้ประเทศไทยเกือบทั้งหมดจึงตกอยู่ในกระเป๋าของบริษัทไทยมากกว่าประเทศลาวแน่นอน การพัฒนาเศรษฐกิจโดยการขายไฟฟ้าของลาวจึงน่าตั้งคำถามว่า ผลประโยชน์ตกไปอยู่ในกระเป๋าใครกันแน่

ประชาติธุรกิจรวบรวมรายชื่อบริษัทของประเทศไทยที่เข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าของประเทศลาว ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-199084

โรงไฟฟ้าอื่นในลาวก็มีสถานภาพไม่ต่างกัน บริษัทในไทยยังคงถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงมากในทุกโรงไฟฟ้าของลาวที่ขายเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ในสถานภาพเช่นที่เป็นอยู่นี้ผลกำไรเกือบทั้งหมดจากการขายไฟฟ้าของลาวคงยากที่จะหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในทางกลับกันผลกำไรเหล่านั้นกลับไหลคือสู่บริษัทของประเทศที่เป็นผู้ซื้อไฟฟ้าอย่างประเทศไทยเสียเองมากกว่า

เขตเศรษฐกิจพิเศษ

เขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศลาวที่ส่วนใหญ่ลงทุนโดยประเทศจีนนั้น มีตั้งแต่เขตเศรษฐกิจพิเศษสวนกล้วยไปจนถึงคาสิโน สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษในลาวเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ก้าวออกไปข้างนอก (Going Out Strategy) ของประเทศจีน สืบเนื่องมาจนถึงนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่รัฐบาลสนับสนุนให้ภาคเอกชนของจีนก้าวออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้จีนได้กลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในเวทีโลก

รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในลาวก็ได้ดำเนินไปในรูปแบบเดียวกับประเทศจีน และผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศลาวเกือบทั้งหมดก็เป็นประเทศจีนเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลจะกำหนดพื้นที่หนึ่งขึ้นมาให้เป็นเศรษฐกิจพิเศษ จากนั้นจึงตีเส้นกั้นบริเวณเขต และถอยตัวเองจากการเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่ ไปเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทหรือกลุ่มทุนจากประเทศจีนเป็นผู้นำในการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นเต็มที่

ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยเขียนหนังสือศึกษาและวิจารณ์การดำเนินนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเอาไว้ โดยเผยให้เห็นว่าภายใต้การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดทางให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนและบริหารจัดการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไล่ตั้งแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อม คนในท้องถิ่นตกงาน การจ้างงานที่เป็นธรรม การแย่งยึดที่ดินจากคนในท้องถิ่น ความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับกลุ่มทุน กระทั่งการขัดขวางการเติบโตของธุรกิจในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เหล่านี้เป็นปัญหาอันเกิดจากการกั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษและเปิดทางให้อำนาจการบริหารเป็นของกลุ่มทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศลาวที่กั้นพื้นที่และยกอำนาจการบริหารพื้นที่ให้กับกลุ่มทุนจีน

ประเด็นหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่นคือ “การแย่งยึดที่ดินของชุมชนเดิม” และ “การใช้ประโยชน์จากที่ดินผิดประเภท” เนื่องที่ดินหลายแห่งที่ถูกแย่งยึดและกั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่แล้วเป็นที่ดินเกษตร แต่กลับถูกปรับเปลี่ยนให้การใช้ที่ดินเป็นไปในรูปแบบอื่น หนึ่งในนั้นคือการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรให้กลายเป็นคาสิโน

เขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศลาว ที่มา: https://investlaos.gov.la/where-to-invest/special-economic-zone-sez/

เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ต้องเผชิญกับการปรับเปลี่ยนที่ดินให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนนำไปสู่ความจำเป็นต้องอพยพออกจากที่ดินเดิมของตน ในช่วงแรกของการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองต้นผึงเป็นเมืองเกษตรกึ่งค้าขาย ที่อาศัยความได้เปรียบทางที่ตั้งที่ติดอยู่กับชายแดนประเทศไทยกับลาว แต่หลังการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวไปเสีย โดยแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งคือ “คาสิโน” ที่ดึงดูดให้นักเสี่ยงโชคทั้งชาวไทยและจีน การปรับเปลี่ยนพื้นที่ในลักษณะนี้นำไปสู่การไล่ที่ของชุมชน จากที่เคยอาศัยและทำการเกษตรยังชีพกลายเป็นคนที่ถูกแขวนเอาไว้ให้รอ “งาน” ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลลาวเคยสัญญาเอาไว้ แต่เมื่อถึงเวลาที่คาสิโนและแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เปิดทำการ แรงงานที่เข้ามาทำงานเกือบทั้งหมดกลับกลายเป็นแรงงานสัญชาติจีนไปเสีย นำไปสู่ทั้งภาวะว่างงานและภาวะเคว้งคว้างของผู้คนในชุมชนเดิมที่ถูกไล่ที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลประโยชน์ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลลาวเคยสัญญาเอาไว้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะแม้แต่งานคนลาวที่ถูกไล่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้

การใช้ที่ดินผิดประเภทจากที่ดินเกษตรกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของทุนท้องถิ่น เพราะต้องหยุดการทำเกษตรและส่งมอบพื้นที่ให้กับกลุ่มทุนต่างชาติอย่างทุนจีน โดยเม็ดเงินที่สร้างได้จากพื้นที่ก็ถูกลำเลียงกลับไปสู่ประเทศจีนผ่านทั้งกลุ่มทุนจีนและแรงงานจีนที่ครอบครองพื้นที่เศรษฐกิจนี้ไป สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลลาวได้เร่ขายอธิปไตยเหนือพื้นที่ของตนให้กลับกลุ่มทุนต่างชาติ ภายใต้ถ้อยคำอันสวยหรูอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และข้ออ้างอย่างการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุน เพียงแต่สินทรัพย์ดังกล่าวกลับกลายเป็นที่ดิน อธิปไตย และค่าเสียโอกาสในการพัฒนาทุนท้องถิ่นไปหมด

เขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองต้นผึ้ง ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่มา: https://bpr.studentorg.berkeley.edu/2024/05/06/the-golden-triangle-special-economic-zone-where-criminals-rule/

นอกจากนั้น รัฐบาลลาวยังมีการเปิดสัมปทานที่ดินให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาทำการเกษตร เพื่อส่งกลับไปยังประเทศจีน หลังจากที่จีนพยายามเลื่อนขั้นตนเองจากประเทศทำการเกษตรเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว จึงผลักดันให้กลุ่มทุนของประเทศจีนมุ่งแสวงหาพื้นที่เกษตรใหม่ ๆ นอกประเทศจีน ทำให้ลาวได้รับเลือกให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรใหม่ของจีนไป

กล้วยเป็นหนึ่งในพืชที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาซื้อสัมปทานที่ดินของประเทศลาว โดยสร้างผลกระทบแก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนโดยรอบอย่างมาก เนื่องจากในกรณีของการปลูกกล้วย กลุ่มทุนจีนเลือกใช้แรงงานชาวลาวเป็นแรงงานหลัก เนื่องจากไม่ต้องใช้ทักษะมากและยังมีค่าแรงที่ถูก ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ถูกมากเนื่องจากแรงงานที่เข้ามาทำงานในสวนกล้วยของกลุ่มทุนจีนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ถูกไล่ที่โดยรัฐบาลลาว โดยอาศัยการบังคับไล่ที่ผ่านการประกาศว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านเหล่านี้อาศัยอยู่เป็นพื้นที่ป่าของรัฐ หลังจากนั้นจึงเปิดสัมปทานป่าให้กลับกลุ่มทุนจีน แล้วกลุ่มทุนก็ค่อยดึงเอาชาวบ้านเหล่านั้นกลับมาเป็นแรงงานของตน นำไปสู่ภาวะที่ชาวบ้านเหล่านั้นถูกมัดมือให้ต้องเลือกเป็นแรงงานในสวนกล้วย ซ้ำยังต้องเผชิญกับสารเคมีจำนวนมหาศาลที่ใช้ในสวนกล้วย ผลกระทบทั้งกับสุภาพของแรงงานและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพื้นที่โดยรอบ เป็นภาพสะท้อนอย่างดีของการขาดธรรมาภิบาลของทั้งรัฐบาลลาวและกลุ่มทุนจีนในการบริหารพื้นที่ และไม่มีความเป็นธรรมในการจ่ายทั้งค่าจ้างและสวัสดิการแก่แรงงานชาวลาว ซ้ำยังเป็นการขัดขวางการเติบโตของกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ทำการเกษตรไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ภาพแรงงานชาวลาวในสวนกล้วยของทุนจีน โดย วิศรุต แสนคำ ที่มา: https://realframe.co/the-forbidden-fruit/

ฉะนั้นเส้นทางที่ประเทศลาวเลือกที่จะเดินมาอย่างที่เป็นมานี้ คงกล่าวได้ว่าเดินมาผิดทางอย่างจัง ทั้งการเร่ขายอธิปไตยเหนือพื้นที่ และการปล่อยให้ประชาชนของตนถูกเอาเปรียบอย่างที่เป็นมา การพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเร่ขายทรัพยากรไปจนถึงอธิปไตยของตนส่งผลให้ประเทศลาวต้องเผชิญกับสภาวะทางเศรษฐกิจแบบทุกวันนี้

ทำไมเราต้องสนใจลาว

เมื่อลองสำรวจการดำเนินนโยบายของลาวไปแล้ว คำถามต่อมาคือ “ทำไมเราต้องสนใจประเทศลาว” คำตอบแบบขวานผ่าซากคงเป็นเพราะเรามีชายแดนติดกัน แต่การมีชายแดนติดกันนี้มีความเชื่อมโยงกับไทยสูงมาก ไม่ว่าจะในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งประเด็นด้านมนุษยธรรม

ในประเด็นด้านเศรษฐกิจ เราคงได้เห็นกันแล้วว่าประเทศลาวกลายเป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์ของบริษัทในประเทศไทย ผ่านการขายไฟฟ้ากลับมาให้ประเทศไทย สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากลาวนับได้ว่าเป็นต้นทุนหนึ่งที่เราทุกคนในฐานะที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับเอาไว้ ยิ่งเราซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าในลาวมากเท่าใด ต้นทุนก็จะย้อนกลับมาที่พวกเราทุกคน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงกลางต้องแบกรับต้นทุนอย่างหนักหน่วง จนอาจส่งผลให้ไม่อาจสะสมทุนและขยายกิจการของตนได้ จนอาจส่งผลให้ศักยภาพทางเศรฐกิจและการผลิตของเราถูกจำกัด หรือค่าแรงของแรงงานต้องถูกกดไว้เท่านี้

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับลาวก็อาจถูกจำกัดเอาไว้ จนไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างที่เราเคยฝันหวานไว้ตอนประกาศแนวคิดอย่าง “อาเซียนร่วมใจ” เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับลาวจะถูกกักขังไว้ แบบที่ฝ่ายหนึ่งกำลังขูดรีดอีกฝ่ายหนึ่งอย่างหยุดย่อน ขณะที่ฝ่ายขูดรีดอย่างประเทศไทยก็ไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจไปไหนได้ไกล ในทางกลับกันยังทำให้เราขาดศักยภาพในการเติบโตไปอีก จะมีเพียงบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถตักตวงผลกำไรจากความไม่เท่าเทียมนี้ไป เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าพลังงานที่เราได้จากลาว ณ ขณะนี้มันกลายเป็นต้นทุนที่เราจ่ายไปอย่างมากมาย

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นร่วมของไทยและลาวที่ต้องเผชิญร่วมกันในฐานะเพื่อนบ้านของกันและกัน โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่ถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นเขื่อนหลายแห่ง มีผู้เคยกล่าวว่าแม่น้ำโข่งตอนนี้เหมือนเสื้อผ้าที่มีแต่รอยตะเข็บ เพราะไล่ตั้งแต่เหนือมาจนถึงกลางแม่น้ำได้มีการสร้างเขื่อนเป็นระยะ ซึ่งส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากมายไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่ลดลงหรือความสมบูรณ์ของพันธ์ปลาก็ลดลงเช่นกัน

ในประเด็นด้านความมั่นคง เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าขณะนี้มหาอำนาจอย่างจีนและอเมริกากำลังขับเคี่ยวกันอยู่ การที่ประเทศลาวเปิดทางให้จีนเข้ามามีบทบาทในประเทศอย่างที่เป็นอยู่ จะสร้างความยากลำบากในทางการทูตและความมั่นคงของไทย เนื่องจากประเทศมีชายแดนติดกับลาว แต่เราก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งการพึ่งพาทางเศรษฐกิจและความมั่นคง การวางตัวทางการทูตและความมั่นคงของประเทศไทยอาจถูกตั้งคำถามจากอเมริกาได้

ประเด็นด้านมนุษยธรรมก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธที่จะมองข้ามได้ ความเป็นสากลของมนุษยธรรมอาจกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของการ เหลียวมองไปจนถึงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในประเทศลาว ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตธรรมาภิบาลและวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้กระทำการสำคัญที่ผลักดันให้เพื่อนชาวลาวต้องเผชิญวิกฤตอย่างที่เป็นอยู่นี้

เราในฐานะเพื่อนบ้านคงต้องทั้งเหลียวมองและช่วยเหลือเพื่อนบ้านของเรา แต่จะด้วยหนทางใดคงต้องทิ้งเป็นคำถามไว้ให้เราช่วยกันคิดต่อไป

อ้างอิง

  • BBC. (2018). Laos profile – timeline. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-15355605
  • BBC News ไทย. (2561). เขื่อนลาวแตก: กี่ทุนไทยที่ไปสร้างเขื่อนผลิตไฟในลาว. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-44982083
  • Radio Free Asia. (2018). Impoverished Laos has lost more than $760 million to corruption since 2016: report. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก Impoverished Laos has lost more than $760 million to corruption since 2016: report — Radio Free Asia (rfa.org)
  • The Intelligent. (2565). ทางการลาวพบการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรัฐมูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านกีบ.  สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://intsharing.co/2023/12/12/ทางการลาวพบการทุจริตคอ/
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2561). Battery of Asia ทุนไทย “พาเหรด” ยึดโรงไฟฟ้าลาว. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.prachachat.net/economy/news-199084
  • วิศรุต แสนคำ. (2562). The Forbidden Fruit กล้วยจีนในแผ่นดินลาว. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://realframe.co/the-forbidden-fruit/
  • ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2559). ทุนนิยมคาสิโน เขตเศรษฐกิจพิเศษจีน กับการสร้างชายแดนเสรีนิยมใหม่ในลาว. ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2561). หลังเขตเศรษฐกิจพิเศษ. กองทุนพัฒนาวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ประชาไท. (2566). รุมค้านเขื่อนผลิตไฟฟ้าลาว เงินเข้ากระเป๋านายทุน ปชช.อยู่ตรงไหน เสนอทางเลือกหนุนโซลาร์เซลล์. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://prachatai.com/journal/2023/12/107136
  • สุขสมร แสงจันทร์. (2556). การพัฒนาชายแดน การอพยพโยกย้ายและการปรับตัวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ : กรณีศึกษาหมู่บ้านกว๊าน เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:119041
  • เสถียร ฉันทะ และพิษณุรักษ์ กันทวี. (2566). ทุนนิยมอุตสาหกรรมเกษตรสวนกล้วยจีนและผลกระทบต่อชุมชนลุ่มแม่น้ำโข่ง ใน ยศ สันตสมบัติ และคณะ, ใต้เงามังกรการขยายอิทธิพลทุนจีนในไทยและอุษาคเนย์. (น. 148-214). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  • สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. (2565). วิกฤตเศรษฐกิจลาวท่ามกลางการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์โลก. สืบค้น 23 กรกฎาคม 2567 จาก https://www.the101.world/laos-economic-crisis/
  • อักษราภัค ชัยปะละ. (2553). นโยบายการสร้างความมั ่นคงทางพลังงานไทย: นัยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน. วารสารวิจัยพลังงาน, 7(2). 1-13. https://so02.tci-thaijo.org/index.php/energy-research/article/view/49337/40933

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง