‘ชาติพันธุ์’ กลุ่มคนที่ถูกเขียนบนประวัติศาสตร์โดยคนอื่น

เรื่อง: พีรดนย์ กตัญญู

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเดินทางและการสื่อสารกลายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมากขึ้น โลกในยุคปัจจุบันขยับกลับกลายเป็นสังคมไร้พรมแดน ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเป็นพลเมืองโลกของตนเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แบ่งแยกให้มนุษย์ยังคงความหลากหลายอยู่ คือคำว่า “ชาติพันธุ์”

ชาติพันธุ์ ในความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติและสัญชาติเข้าด้วยกัน” ซึ่งถ้าหากแปลตรงตามนิยามที่พจนานุกรมให้ไว้ จะหมายความว่า “กลุ่มผู้คนสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง จากการจำแนกตามเชื้อชาตินั้นๆ”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากพูดถึงคำว่าชาติพันธุ์ตามความหมายของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยนั้นหมายถึง “กลุ่มผู้คนที่มีเชื้อชาติต่างจากเชื้อชาติไทย” หรือ “ชนกลุ่มน้อย” ซึ่งมีอยู่มากกว่า 70 กลุ่มชาติพันธุ์ หรือตีเป็นตัวเลขประมาณ 6.1 ล้านคนในประเทศไทย

ชาติพันธ์ุแต่ละกลุ่มมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม จึงส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่แห่งความหลากหลาย ซึ่งสามารถนำมาเป็นจุดขายในการหารายได้ภาคการท่องเที่ยวให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญกลุ่มชาติพันธุ์ยังถือได้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญในการผลิตวัตถุดิบอาหารที่สำคัญให้กับประเทศ ดังกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เช่น ปกาเกอะญอ ม้ง ที่ประกอบอาชีพเพาะปลูกอย่าง ข้าว ผักและผลไม้ เป็นส่วนใหญ่ หรือกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายฝั่งทะเลอย่าง อูรักลาโว้ย มอแกน ที่ทำอาชีพหลักอย่างการทำประมงปลาน้ำเค็ม นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคบริการ ดังกรณีที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในภาคเหนือนิยมจ้างชาวไทใหญ่เข้ามาทำงานในธุรกิจกิจการของตนเอง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์เองก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ในทางกลับกัน กลุ่มชาติพันธุ์กลับมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีจากสายตาของผู้คนในสังคมอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งถ้าหากสังเกตติดตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร ละคร หรือภาพยนตร์ กลุ่มชาติพันธุ์มักจะถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนชายขอบ มีวิถีชีวิตล้าหลัง และปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และเจ้าหน้าที่รัฐเกิดมาจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในด้านของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้แล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ยังคงพบกับปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การถูกเหยียดหยามดูหมิ่น การถูกมองข้ามไม่ให้ความสำคัญจากผู้คนในสังคม  หรือแม้กระทั่งการถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง ทั้งๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นก็เป็นผู้คนที่เกิดและโตในแผ่นดินไทยและสร้างคุณูปการให้กับประเทศมาเป็นเวลาช้านาน

ในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก (International Day Of The World’s Indigenous People) โดยในวันดังกล่าวได้มีการจัดวงเสวนา “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากชาวเขาสู่ชนพื้นเมือง” ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมเสวนา คือ ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อาจารย์นเรศ สงเคราะห์สุข ผู้ทรงคุณวุฒิทีมภาคเหนือตะวัน และสหายอรุณ หรือ วงเดือน ประกอบกิจ อดีตสหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งการเสวนาพูดคุยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและถกเถียงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เช่น การไม่ได้รับการยอมรับตัวตน การถูกปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง การถูกลิดรอนสิทธิที่ดินทำกิน เป็นต้น

กำเนิด “ชนกลุ่มน้อย”

ในอดีตนั้น กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของตนเอง อาศัยอยู่กันเป็นหมู่บ้านหรือชุมชน มีผู้นำเป็นของตนเอง และมีอัตลักษณ์อย่างวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิต ที่แตกต่างกันออกไป จนกระทั่งการเข้ามาของกระบวนการสร้างรัฐชาติ (State Building) ที่ทำให้อัตลักษณ์บางอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์ค่อย ๆ สูญหายไป

รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ต้องจงรักภักดีต่อชาติเพียงอย่างเดียว ต้องละทิ้งความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองไป เพื่อให้เข้าใกล้ความเป็นไทยมากขึ้น” รศ.ดร.ขวัญชีวัน อธิบายถึงพฤติกรรมที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต้องทำ หลังจากพบเจอกับกระบวนการสร้างรัฐชาติไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นกระบวนการที่หล่อหลอมให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตแดนไทยมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เจ้านายฝ่ายเหนือฟ้อนในพิธีทูลพระขวัญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 คราวเสด็จประพาส (ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม)

จากแนวคิดการสร้างชาติดังกล่าว ส่งผลทำให้รัฐส่วนกลางพยายามเข้ามาสร้างอำนาจเหนือท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งคนไปรับราชการในพื้นที่ การจัดเก็บภาษี การบังคับให้ใช้ภาษาไทยกลาง การจัดการศึกษาโดยใช้หลักสูตรจากรัฐ การนำทรัพยากรจากในพื้นที่ไปใช้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการค่อยๆแทรกแซงอำนาจจากรัฐที่พยายามลดทอนอำนาจเดิมภายในท้องถิ่น ในขณะกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นชาวล้านนาในมณฑลพายัพ ชาวลาวในภาคอีสาน ชาวมลายูปาตานี และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ จำใจต้องละทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นชาติของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และยอมปฏิบัติตามคำสั่งของส่วนกลางเพื่อป้องกันการถูกคุกคาม ดังเช่นกรณีของหะยีสุหลง ผู้นำทางศาสนาและการเมืองของปาตานีที่ถูกบังคับให้สูญหาย

“หะยีสุหลง” ผู้นำคนสำคัญของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามกระบวนการสร้างรัฐชาติดังกล่าวได้ส่งผลทำให้เกิดภาวะ “ความเหลื่อมล้ำทางด้านเชื้อชาติ” เนื่องจากบางนโยบายของรัฐไม่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่นั้นๆ เช่นกรณีของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่บัญญัติคำนิยามของคำว่าป่าไว้ว่า “ที่ดินที่ยังไม่มีผู้ใดได้มาตามกฎหมาย” ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถเข้ามาจัดการพื้นที่ทำกินในบริเวณดังกล่าวได้

“แม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ถูกยัดเยียดความเป็นไทยจากรัฐ แต่กลับไม่ได้รับการปฏิบัติจากรัฐเหมือนกับคนไทยอื่นๆ ทั้งยังเกิดอคติทางสังคมที่มองมายังชาติพันธุ์ว่าด้อยค่ากว่า เพียงเพราะว่าไม่ได้มีความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ 100% ทำให้มองว่าเป็นกลุ่มด้อยพัฒนาและมองอย่างแบ่งแยกว่าไม่ใช่ไทย” รศ.ดร.ขวัญชีวัน กล่าว

ชื่อที่ถูกคนนอกนิยาม

ถึงแม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มจะมีชื่อกลุ่มเป็นของตนเองตามภาษาที่กลุ่มของตนเองใช้ เช่น ที่มาของชื่อชนเผ่ากะเหรี่ยงขาว หรือ “ปกาเกอะญอ” มาจากความหมายตามภาษาของตนเองที่แปลว่า “คน” แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หรือ “คนนอก” มักจะตั้งชื่อเรียกชื่ออื่นให้กับกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเสมอ ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ได้ยกตัวอย่างชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกคนนอกนิยามไว้ดังนี้

“ชาวเขา” นำมาใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงโดยรวม ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ ชาว “เขา” ที่ถูกมองทำให้เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย 

“แม้วแดง” มาจากชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่บริเวณแถบชายแดนประเทศไทย-ลาว ที่ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงสงครามเย็น โดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งดังกล่าวเป็นตัวแทนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการสู้รบกับเจ้าหน้าที่ทหารรัฐบาลไทยที่เป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย

(ภาพ : AP) การฝึกซ้อมการใช้อาวุธของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น

“ปลูกฝิ่น” เกิดขึ้นในช่วงในช่วงสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาจากการที่กลุ่มทุนสัมปทานโรงปลูกฝิ่นและรัฐบาลไทยร่วมกันทำสัญญาการค้าและส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงปลูกฝิ่น เนื่องจากในขณะนั้นฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมาย มีโรงปลูกฝิ่นอยู่ทั่วประเทศ และมีผู้สูบเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้ฝิ่นในขณะนั้นกลายเป็นสินค้าที่มีผู้คนต้องการและมีราคาสูง

“ไร่เลื่อนลอย” เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างคนภายนอกและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งกลุ่มคนภายนอกมักมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ทำการเกษตรไร่เลื่อนลอย หรือถางพื้นที่ป่าไปเรื่อยๆ เพื่อทำการเพาะปลูก ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ทำการเกษตรไร่หมุนเวียน หรือการทำการเพาะปลูกแบบหมุนเวียนจากพื้นที่หนึ่งไปยังพื้นที่หนึ่งและกลับมาพื้นที่เดิม

(ภาพ : บัญชา มุแฮ) ชาวกะเหรี่ยงกำลังหยอดเมล็ดพันธุ์ในไร่หมุนเวียน

ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่กล่าวมา เป็นชื่อที่ถูกนิยามโดยกลุ่มคนกลุ่มอื่นๆ โดยนำภาพจำในด้านลบของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ มานิยามชื่อ แม้ประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ชื่อเรียกดังกล่าวยังคงใช้กันในสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยที่กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้มีความรู้สึกยินดีกับชื่อที่ถูกคนนอกตั้งให้แม้แต่น้อย

ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ภาพลักษณ์และมายาคติเชิงลบเช่นนี้ เกิดจากการสร้างโดยคนนอกมาอย่างยาวนาน การรื้อประวัติศาสตร์ และการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่สร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอคติทางชาติพันธุ์ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นมากขึ้น” ผศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าว

เป็นคนร้ายโดยไม่รู้ตัว

ในมายาคติของคนไทย กลุ่มชาติพันธุ์มักจะถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดผิดกฎหมาย ภาพจำเหล่านี้เป็นผลมาจากการโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็นของรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ประกาศบังคับใช้กฎหมายให้ฝิ่นกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยฉับพลันเมื่อปี พ.ศ. 2501 หลังจากประเทศไทยถูกองค์การสหประชาชาติเรียกร้องกดดันให้จัดการกับพื้นที่ปลูกฝิ่นที่สำคัญอย่างบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในจังหวัดเชียงราย ซึ่งผลจากการบังคับใช้กฎหมายให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมายอย่างฉับพลัน ส่งผลทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายโดยที่พวกเขาไม่ทันตั้งตัว ทั้งๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น

อาจารย์นเรศ สงเคราะห์สุข ผู้ทรงคุณวุฒิทีมภาคเหนือตะวัน

“เรื่องยาเสพติดกับชาติพันธุ์ มันมีกระบวนการทำให้เห็นว่า เขา(ชาติพันธุ์) เป็นเหมือนตัวการในการสร้างปัญหา เพราะฉะนั้นจึงชอบธรรมอย่างมากที่รัฐจะปฏิบัติกับพี่น้องชาติพันธุ์เหมือนเป็นสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์ และรัฐจะกระทำอะไรก็ได้อย่างง่ายดาย กระบวนการนี้ยังส่งต่อความเข้าใจให้สังคมเชื่อว่าพี่น้องชาติพันธุ์เป็นตัวการเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งทำให้สังคมสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อชาติพันธุ์ในการปราบปรามยาเสพติด” อาจารย์นเรศ กล่าว

นอกจากประเด็นเรื่องยาเสพติดแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ยังถูกทำให้เป็นจำเลยกับกับประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องป่าไม้ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มักถูกตกเป็นจำเลยในฐานะของผู้บุกรุก ทั้งๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตป่าไม้มาเป็นเวลายาวนาน และถูกขึ้นสถานะเป็น“ผู้บุกรุก”ภายหลังจากการประกาศให้พื้นที่ป่าที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่งผลทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆต้องอพยพย้ายครัวเรือนออกจากพื้นที่ดังกล่าวตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังเช่นกรณีบังคับอพยพชาวกะเหรี่ยงบางกลอยออกจากพื้นที่บ้านใจแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี

(ภาพ: วิศรุต วีระโสภณ) ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
(ภาพ: วิศรุต วีระโสภณ) ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

หรือแม้กระทั่งประเด็นใกล้ตัวอย่างฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคเหนือ ที่ผู้คนมักมองว่าการเผาวัชพืชไร่หมุนเวียนตามฤดูกาลของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นต้นตอสาเหตุที่สำคัญของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งขัดแย้งกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่พบว่าต้นเหตุของปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดมาจากไฟป่าที่ลุกลามในพื้นที่ป่า การเผาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง เช่น ไร่พืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ เป็นต้น และในทางกลับกัน กลุ่มชาติพันธุ์มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยเหลือภาครัฐดับไฟป่า

(ภาพ: THAI NEWS PIX) อาสาสมัครในพื้นที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กำลังเร่งดับไฟป่า

จะรื้อประวัติศาสตร์ฉบับเดิมอย่างไร?

ความอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ย่อมส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และส่งผลให้สังคมล้วนมีภาพจำต่อกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการพยายามเผยแพร่ชุดข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อแก้ไขเกี่ยวกับเหล่าภาพจำดังกล่าว แต่นั่นอาจเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งอาจจะต้องแก้ไขไปโดยไม่รู้จบ

“ถ้ามีแนวทางในการเคลื่อนไหวแบบซอฟต์ๆ เช่น วงเสวนาวิชาการ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐ ทำไปเรื่อยๆ บ้าง จัดเวทีวัฒนธรรมบ้าง หรือแม้แต่การทำงานเป็นภาคีเครือข่าย NGOs นักวิชาการ สื่อมวลชน ก็มีผลระดับหนึ่งในการสร้างความเข้าใจต่อสังคม ให้เห็นถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงการมีส.ส.ชาติพันธุ์เข้าไปเป็นตัวแทนในสภา ที่ไปเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้านในพื้นที่ได้ และน่าจะสามารถผลักดันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ต่าง ๆ ได้ เมื่อเราจะพูดถึงความเป็นชาติพันธุ์และต่อรองกับอำนาจรัฐ ต้องอ้างถึงปฏิญญาสากล อนุสัญญาว่าด้วยการละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาใช้ด้วย” ผศ.ดร.ประสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้แล้ว การแก้ไขปัญหามายาคติดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งผู้คนในสังคมเอง เพื่อให้ภาพจำที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จนนำไปสู่การสลายสิ่งที่กำลังกดทับอยู่และทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยดังกล่าวได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่ควรจะเป็น

สหายอรุณ หรือ วงเดือน ประกอบกิจ
อดีตสหายร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

“การสร้างฐานมวลชนให้หนักแน่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถต่อรองเชิงอำนาจกับโครงสร้างข้างบนได้มากขึ้น ดังคำสอนปราชญ์ชาวปกาเกอะญอที่มีการคำสอนในบทธาว่า ไม้ไผ่ลำเดียวทอดข้ามลำน้ำไม่ได้ ข้าวเปลือกเม็ดเดียวต้มเป็นเหล้าก็ไม่ได้ และ สาละวินใหญ่ หลงตนว่าใหญ่เอง น้ำโขงใหญ่ หลงตนว่าใหญ่เอง แต่ใหญ่เพราะห้วยน้อยไหลลงสู่ มากเพราะหนองน้ำน้อยไหลลงสู่ ห้วยน้อยหนองน้อยหากไม่ไหลลงสู่ ใหญ่ ๆ ก็จะแห้งตายไปเอง” สหายอรุณ หรือ วงเดือน ประกอบกิจ กล่าวจากมวลประสบการณ์ที่ตนเองได้ร่วมทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์มาในช่วงเวลาสงครามเย็น

ถึงแม้ว่าปัจจุบันภาพจำของกลุ่มชาติพันธุ์ในสายตาของผู้คนในสังคมจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงพบกับความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสิทธิที่ดินทำกิน หรือปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอาจไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงภาพจำเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลลัพธ์อีกด้วย 

(ภาพ: The Reporters) ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้แทนรัฐสภาในการผลักดันร่างกฎหมายพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

ดังเช่นกรณีที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้รัฐสภาหยิบยกร่างกฎหมาย “พระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ขึ้นมาพิจารณาในรัฐสภาอีกครั้ง โดยใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้คือการจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในการสะท้อนปัญหาที่กลุ่มของตนเองประสบพบเจอไปยังหน่วยงานภาครัฐ อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างทั่วถึง สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมผูกพัน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ที่หลายประเทศทั่วโลกร่วมกันตกลงเอาไว้ว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลคนอื่น ขณะที่ยอมรับถึงสิทธิของผู้คนทั้งปวงว่ามีความแตกต่างกัน พิจารณาว่าพวกตนก็มีความแตกต่างและพึงได้รับความเคารพเช่นกัน”

ปัจจุบันปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยประสบพบเจอ แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราช่วยเหลือทำให้พวกเขามีความเท่าเทียมกันกับผู้คนอื่นๆในสังคม เพื่อเป็นการยืนยันกับคำพูดที่ว่า “ไม่ว่าคุณจะมาจากส่วนไหนของประเทศไทย คุณก็จะยังเป็นคนที่เท่าเทียมกัน”

อ้างอิง

1.https://theactive.net/data/get-to-know-the-indigenous-peoples-of-thailand/

2.https://thestandard.co/hill-tribe-reputation-on-drug-of-thai-government/

3.https://www.bbc.com/thai/47837452

4.https://prachatai.com/journal/2022/06/99181

5.https://www.silpa-mag.com/history/article_28713

6.https://theactive.net/read/the-indigenous-peoples-of-thailand/

7.https://www.facebook.com/100064321257045/posts/pfbid02jW5LXgThYvDfhfGM4uhdHXXsvV2H9EE12Gin9q3kUea143YESMnMaiBLKf7gATQKl/?mibextid=cr9u03


โดยผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนานักสื่อสารทางสังคม (Journer) ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB) สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 5 สำนักข่าว คือ Prachatai, The Isaan Record, Lanner, Wartani และ Louder เพื่อร่วมผลิตเนื้อหาข้ามพื้นที่ และสื่อสารประเด็นข้ามพรมแดน สนับสนุนโดยสถานทูตของเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ รวมถึงยูเนสโกและโครงการร่วมที่นำโดย United Nations Development Programme (UNDP) ดูโครงการเพิ่มเติมได้ที่ https://journalismbridges.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง