เรื่อง: พินิจ ทองคำ
ถนนสายยาวพาดผ่านชุมชน ทิวเขาสองข้างทางขนาบด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เรียงราย หลักกิโลเมตรกำลังบ่งบอกว่าระยะทางใกล้ถึง “แม่เมาะ” อยู่ไม่ไกล ถัดมาอีกนิด ป้ายเขตอำเภอแม่เมาะรอต้อนรับผู้มาเยือน พื้นที่อันยิ่งใหญ่ของการผลิตไฟฟ้าหล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายทศวรรษ กำลังประจักษ์อยู่ตรงหน้า เลยโซนอยู่อาศัยของผู้คนแม่เมาะมาไม่ไกล พื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเข้ามากระทบสายตา เห็นกองดินเรียงรายริมถนน หลุมลึกหลังกองดินเป็นพื้นที่หลักหมื่นไร่ในตัวเหมือง เคลื่อนไหวด้วยผู้คนและเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กำลังทำงาน
ปากปล่องโรงไฟฟ้าพ่นควันสีข้าวฟุ้งกระจาย เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเฉดสีของท้องฟ้าไร้เมฆบดบัง ชีวิตของประชาชนและบุคลลากรของโรงไฟฟ้าดำเนินไปอย่างเป็นปกติ ความครึกครื้นก่อเกิดอยู่ทุกช่วง เดินทางต่ออีกไม่ไกล มาถึงจุดชมวิวเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ภาพเหมืองแม่เมาะกว้างขวางชัดเจนตรงหน้า กวาดสายตามองวิวเส้นแนวตรง ยิ่งใหญ่เหลือเกิน “เหมืองถ่านหินแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ครั้งหนึ่ง ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลไทยบนเวทีด้านสิ่งแวดล้อม COP26 ยืนยันความพร้อมของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน ต่อการยกระดับทำงานมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใน ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ส่งผลให้การดำเนินงานส่วนปฎิบัติการต้องสอดรับกับนโยบายแห่งรัฐ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น (Anthropogenic Greenhouse Gas) หมายรวมถึงก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วย
นับตั้งแต่การค้นพบถ่านหินลิกไนต์เมื่อปี 1917 แม่เมาะกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ จนมีการประกาศพระราชโองการสงวนแหล่งถ่านหิน และเริ่มมีการขุดถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 1954 เวลาล่วงเลยมาหลายทศวรรษ ตราบเท่าที่ต้นทุน วัตถุดิบ และทรัพยากรดำเนินไป วัฏจักรของการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินยังคงดำเนินอยู่
สถาบันธรรมาภิวัฒน์ ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไม่ไกลนัก หากลากแถบเส้นตรงไม่รวมระยะถนน ห่างกันไม่ถึงห้ากิโลเมตร ปกติสถาบันศาสนาจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน อบรมบ่มเพาะความเป็นศาสนาให้ศาสนิก แต่สถาบันแห่งนี้มีความแตกต่าง กลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะถ่ายทอดสติปัญญา องค์ความรู้ ความเข้าใจต่อสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้ของประชาชนคนธรรมดา
พระสาธิต ธีรปัญโญ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ จากการสัมผัส พบเห็น สถาบันแห่งนี้มีแรงดึงดูดถึงความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการปฎิเสธไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่กลับใช้พลังงานทางเลือกที่มาจากความบริสุทธิ์
“ปัจจุบัน การไฟฟ้าแม่เมาะต้องมุ่งเน้นเรื่องพลังงานทางเลือก ภารกิจที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อย่างน้อยที่สุดให้ประชาชนมีงานทำหล่อเลี้ยงชีพ หรือมองให้ไกลกว่านั้น ในการส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่น ใช้หลังคาบ้านเรือนประชาชนเป็นพื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์” พระสาธิตให้ข้อมูลด้วยความคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้อำนาจการตัดสินใจเรื่องพลังงานเป็นเรื่องของทุกคน
“ในทุกตำบลของอำเภอแม่เมาะ ควรมีพื้นที่วิสาหกิจชุมชนอย่างน้อยตำบลละ 1 แห่ง ในการเป็นศูนย์กลางที่ประชาชนสามารถเข้ามาดำเนินการได้ การไฟฟ้าแม่เมาะควรจะต้องจัดหาตลาด สร้างความยั่งยืน ที่ดำเนินการมาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะสั้น ใช้ทุนเยอะ การคืนทุนใช้เวลานาน เมื่อก่อน ยุคหนึ่งเคยมีข้อเสนอให้มีการจัดทำโซลาร์ฟาร์มทุกตำบลเลยด้วยซ้ำ”
“ความเป็นแม่เมาะ ทุกวันนี้มันสลายหายทิ้งไปหมด วัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ พลวัตของสังคม ท้องถิ่นไม่เหลือความเป็นตนเอง สิ่งที่จะแก้ไขได้ คือ การจัดให้มีการศึกษาที่ดี ทรัพยากรของแม่เมาะยังคงมีอยู่ อาจจะต้องนำไปใช้ให้ถูกจุดมากขึ้น อย่างเรื่องพื้นที่เหมือง อนาคตถ้าการไฟฟ้าแม่เมาะไม่ใช้พื้นที่ คงจะร้าง พนักงานจะหายไปเยอะ เหลือเพียงหลักร้อยคน แต่ถ้าหากวันนี้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน สร้างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศึกษาผลกระทบธรรมชาติ ให้คนไทยและต่างประเทศมาใช้พื้นที่ตรงนี้เรียนรู้ จะเป็นอีกความยั่งยืนหนึ่งที่เราจะไปได้” พระสาธิต ธีรปัญโญ กล่าวปิดการสนทนาอย่างน่าสนใจ
หลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการปรับแผน เพื่อรองรับต่อการใช้พลังงาน แผน PDP (Power Development Plan) หรือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ถูกนำมาปรับแก้กันอีกครั้ง ท่ามกลางการถกเถียงจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ขาดหาย คือ การรับฟังเสียงประชาชนคนธรรมดาโดยเฉพาะชาวแม่เมาะ ที่ชะตาและวิถีชีวิตกำลังตกอยู่ในกรอบของแผนดังกล่าว
สิ่งหนึ่งที่ร่างแผน PDP2024 กำหนดไว้อย่างน่าเจ็บปวด คือ การที่ยังไม่มีแผนการปลดระวางการใช้ถ่านหินทั้งหมด และไม่มีกำหนดการปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้การคาดการณ์ต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ยังคงเป็นเพียงความฝัน หรือหลักการภาพใหญ่ของร่างแผน PDP2024 จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนไทยผู้ใช้พลังงานทั้งประเทศ หลายองค์กรจึงออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องร่วมกันในการเสนอความเห็นก่อร่างการเปลี่ยนแปลงต่อแผนดังกล่าว แม้แต่ความจริงใจต่อการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน ครอบคลุม เป็นธรรม ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นเพียงการรับความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ จัดทำกันอย่างเงียบ ไร้การประชาสัมพันธ์ นิยามได้ว่า ความคิดเห็นดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง
หากปล่อยให้ร่างแผน PDP2024 ประกาศใช้เท่ากับว่า เราทุกคนกำลังสร้างความชอบธรรมต่อการให้อำนาจกระดาษฉบับนี้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย
ห่างจากตำบลสบป้าดมาไม่นาน บ้านใหม่ฉลองราชเป็นเป้าหมายของการเดินทาง หมู่บ้านแห่งนี้อยู่ในหน้าสื่ออย่างสม่ำเสมอ จากการเรียกร้องเอกสารสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการอพยพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้า ระยะเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ จนถึงวันนี้ เอกสารสิทธิ์ยังคงเป็นความฝันความหวังของผู้คนอยู่ เรานัดหมายกับบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นแกนนำของประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ หากกล่าวถึงแม่เมาะคงไม่มีใครไม่รู้จัก “มะลิวรรณ นาควิโรจน์”
ความเป็นอยู่ของประชาชนคนแม่เมาะ ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน หน่วยงานราชการ เหมืองแม่เมาะ และโรงไฟฟ้า เชื่อมประสานความสัมพันธ์ผ่านการจัดทำโครงการในรูปแบบต่าง ๆ ใน 5 ตำบลของอำเภอแม่เมาะ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมวลชนสัมพันธ์ตำบล สำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภค มีการดำเนินงานผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ป้ายโครงการที่มีสัญลักษณ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในฐานะที่มีหน้าที่กำกับดูแลกองทุน ฯ ตั้งอยู่หน้าโครงการที่มีการใช้งบประมาณของกองทุน ฯ จากการคาดการณ์ของหลายฝ่าย คาดว่ากองทุน ฯ ดังกล่าวจะมีจำนวนเงินที่ลดลงตามแนวทางการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงด้วยเช่นกัน ข้อมูลการแถลงผลงานกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเป็นประธาน ฯ ปีงบประมาณ 2023 มีการอนุมัติโครงการกว่า 1,295 โครงการเป็นงบประมาณ 700,444,491 บาท
“เงินเยอะแยะที่เคยมีมากมาย ถูกคอรัปชั่นโกงกินจนหมดเช่นกัน” เสียงของคุณมะลิวรรณ นาควิโรจน์ บอกกล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงดุดัน จากนั้นได้เริ่มอธิบายข้อมูลประกอบ “หลายโครงการเป็นโครงการทิพย์ มีการทำโครงการปลอมขึ้นมาแต่ขอรับงบประมาณเต็ม ขนาดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ผ่านก็มี” กองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า มีแนวทางในการนำงบประมาณของกองทุน เพื่อพัฒนาสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
เมื่อเราตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วอนาคตของคนแม่เมาะ อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เรามีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับผู้คนระหว่างการเดินทาง “เงียบเหงา เป็นเมืองร้าง ขนาดมีแหล่งท่องเที่ยวผู้คนยังไม่มา ร้านอาหารเสาร์อาทิตย์ยังไม่เปิด อีกหน่อยน่าจะแย่กว่านี้” เสียงจากประชาชนตำบลจางเหนือคนหนึ่งให้ข้อมูลกับเรา ความคึกคักที่มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาทำงานในเหมือง บางคนทำงานประจำ บางคนทำงานชั่วคราว รถราเดินทางบนท้องถนนไม่ขาดสาย มิติทางเศรษฐกิจที่แม่เมาะกำลังดำเนินอยู่ จะเกิดผลกระทบหรือไม่ ผู้คนท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร
“ภาพวัยเด็กที่จดจำแม่เมาะกำลังบูม เศรษฐกิจแม่เมาะดีมาก มีผู้คนหลั่งไหลมาทำงาน เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ” เสียงจากคนรุ่นใหม่ในฐานะประชาชนตำบลแม่เมาะคนหนึ่ง ขยายภาพความชัดของความเป็นแม่เมาะที่ทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่เปิดรับผู้คนมาแสวงหาโอกาสการทำงาน “อีก 10 ปี จะบอกว่าแม่เมาะเป็นเมืองท่องเที่ยวคงไม่ใช่ ระยะทางจากอำเภอเมืองไม่ไกลก็จริง แต่คนมาเที่ยวไม่ได้มากมายอะไร คึกคักบ้างในช่วงมีเทศกาลหรือกิจกรรม ขนาดทุกวันนี้ยังแบ่งโซนอย่างชัดเจน ผังเมืองวางแนวเขตเป็นโซนหน่วยงานราชการ โซนค้าขาย โซนอยู่อาศัย เลยออกไปเป็นโซนเหมือง หากอนาคตเหมืองปิดไป คงกลายสภาพเป็นเมืองร้าง”
หลายคนเห็นตรงกันว่า อนาคตของแม่เมาะคงไม่ห่างไกลกับคำว่าเมืองร้าง ภาพความเป็นท้องถิ่นหรือผู้คนมีการโยกย้ายอพยพไปยังพื้นที่ตามโซนต่าง ๆ หลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ประชากรของแม่เมาะตามทะเบียนราษฎร์มีประมาณ 39,000 คน สถานะการเป็นอำเภอถูกยกระดับเมื่อปี 1984 คงเป็นความท้าทายไม่น้อยต่อผู้เชี่ยวชาญและประชาชนต่อการพัฒนาเมือง ไม่เพียงแต่เฉพาะอำเภอแม่เมาะ ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดลำปางยังคงผูกอยู่กับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมากจากการดำเนินงานกว่า 22%
แม้ว่าความพยายามเปลี่ยนผ่านพลังงาน มีการนำร่องโครงการ Solar farm พื้นที่กว่า 490 ไร่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการส่งมอบหนังสือแสดงเจตจำนงค์ (LOI) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025 ซึ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาด แต่ประชาชนในพื้นที่มีการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องว่าจะเป็นความยั่งยืนที่จะทำให้แม่เมาะมีสถานะเป็นเมืองพลังงานต่อหรือไม่ จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีหลายหน่วยงานพยายามผลักดันให้อำเภอแม่เมาะเป็นพื้นที่นำร่องเรื่องอำเภอแห่งการใช้โซลาร์เซลล์ของประเทศไทย แต่ทุกอย่างยังคงเป็นความไม่แน่นอน จนกว่าถ่านหินลิกไนต์จะหมดจากการคาดการณ์ในปี 2049 และการปิดเหมืองในปี 2051
“เหมืองหมด โรงไฟฟ้าหมด แม่เมาะกลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนต่างถิ่นย้ายฐานหนี กองทุนหมดชาวบ้านทยอยตาย คนรุ่นใหม่หางานต่างจังหวัดทำ ที่เหลือ คือ คนไม่มีที่ไป” มะลิวรรณกล่าวทิ้งท้าย
ล่าสุด ความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคม นำโดย JustPow ได้ร่วมผลักดันการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่มีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องทบทวนร่างแผน PDP2024 ในประเด็นสำคัญ อาทิ ต้องมีสัดส่วนภาคประชาชนในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากกว่า 16 % รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคา หยุดโรงไฟฟ้าก๊าซ หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ซื้อไฟฟ้าจากลาว
เมื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้งหมด จึงร่วมกันยื่นความเห็นต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อส่งต่อ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลหรือกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด
ท้ายที่สุด การเปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน มิอาจตัดสินใจได้จากผู้มีอำนาจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงทางเดียว การรับฟังประชาชนถือเป็นทางเลือกที่สำคัญที่สุด ผู้มีส่วนได้เสียจะมีโอกาสได้มาเสนอความเป็นจริงให้ทุกภาคส่วนรับรู้ เมื่อระยะเวลาเร่งรัดให้ทุกอย่างต้องเดินหน้า หน่วยงานของรัฐต้องเดินพร้อมกันกับประชาชน ให้ประชาชนตัดสินใจกำหนดอนาคตของตนเอง ที่ผ่านมาการเสียสละของประชาชนทั้งร่างกาย สุขภาพ ชีวิต ทรัพย์สิน ดำเนินมามากจนล้นเกินที่มนุษย์หนึ่งคนจะให้ได้ เพียงแค่กลับมาฟังเสียง เสียงประชาชนอาจไม่ใช่เสียงสวรรค์ แต่เสียงประชาชนคือฉันทามติอันเป็นที่สุด
อ้างอิง
- https://www.greennetworkthailand.com/cop26-ประเทศไทย/
- https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/63118#:~:text=ก๊าซเรือนกระจกมีทั้ง,ถ่านหินในกระบวนการการผลิต
- https://www.maemoh-erc.org/aboutus/
- https://web.archive.org/web/20120201004956/http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2527/A/096/10.PDF
- https://thaipublica.org/2024/07/tdri-takes-a-closer-look-at-pdp-2024/
- เสียงจากประชาชน 5 ภูมิภาค ต่อร่างแผน PDP2024
ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง