24 กันยายน 2565
24 กันยายน 2565 กลุ่มรักษ์บ้านแหง จัดงานฉลอง 12 ปี แห่งการสู้เหมือง ตั้งแต่วันที่ 23-24 กันยายน 2565 ณ โรงเรียนบ้านแหงเหนือ อ.งาว จ.ลำปาง โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังประสบการณ์การต่อสู้ของกลุ่มคนรักษ์บ้านแหง อาทิ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู แก่งเสือเต้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กลุ่มบ้านกลาง แม่เมาะ กลุ่มต่อสู้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กลุ่มแม่ลาน้อย กลุ่มขวัญคีรี เครือข่าย NGOs ต่างๆ และชาวบ้านบ้านแหง ม.1 และ 7 ประมาณ 500 กว่าคน
กิจกรรมวันแรก เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 16.00 น. ได้จัดรถไถจากชาวบ้านจำนวน 6 คันพาผู้เข้าร่วมงาน เข้าไปสำรวจพื้นที่ที่มีการขออนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ พร้อมจำลองสถานการณ์การรับมือกับบริษัทเอกชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาในพื้นที่
กิจกรรมวันที่สอง เริ่มต้นด้วยพิธีทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ตั้งแต่เวลา 07.00 น. หลังจากเสร็จพิธีได้มีการทานอาหารร่วมกันระหว่างชาวบ้านและผู้ร่วมงาน หลังจากทานอาหารร่วมกันก็มีการจัดเวทีเสวนา “ถอดรหัส การต่อสู้กลุ่มรักษ์บ้านแหง 12 ปี แห่งชัยชนะ”
เวลา 09.50 น. เริ่มเวทีเสวนา โดย คุณจุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้ถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ถึงการต่อสู้กับอะไร มียุทธวิธีในการต่อสู้ และแผนการในการรับมือต่อไปในอนาคต
ด้านตัวแทนจากกลุ่มรักษ์บ้านแหง จาก จ.ลำปาง กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ต่อสู้กับเหมืองแร่ลิกไนต์ ซึ่งวิธีในการต่อสู้ คือ การตั้งด่านและปิดถนนทางเข้าออกที่เชื่อมไปยังหมู่บ้านอื่นทั้งทางเข้าหมู่ 1 และ หมู่ 7 และอีกวิธีคือการส่งตัวแทนเข้าสู้สนามการเมืองผ่านการเป็น ส.อบต. และผู้ใหญ่บ้าน ส่วนวิธีในการรับมือและแผนการต่อสู้ในอนาคต คือ การทำเกษตรกรรมในรูปแบบของอินทรีย์
ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จากจ.เลย กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ต่อสู้กับเหมืองแร่ทองคำ เดิมทีนั้นทางบริษัทฯได้รับการสัมปทานรอบหนึ่งแล้วและได้หมดสัญญาประทานบัตรไปแล้ว แต่บริษัทยังคงขนแร่ออกจากเหมืองอยู่ ซึ่งวิธีในการต่อสู้ คือ ช่วงแรกได้ทำกำแพงปิดเหมืองไปถึง 3 กำแพง เพื่อกันไม่ให้มีการขนย้ายแร่ออกจากเหมือง ต่อมามีการจัดเวรยามทั้งกลางวันและกลางคืนโดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อม” การทำผ่านบทเพลงเพื่อกล่าวถึงการต่อสู้กับเหมืองแร่ และขั้นตอนสุดท้ายคือการฟ้องคดีต่อศาล ส่วนวิธีในการรับมือและแผนการต่อสู้ในอนาคต คือ การใช้วิธีการฟื้นฟูซึ่งมาจากประชาชนเองไม่ใช่มาจากรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐใดๆ และกล่าวต่อว่า “ปิดเหมืองว่ายากแล้วแต่การฟื้นฟูยากกว่า”
ด้านตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จาก จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ต่อสู้กับเหมืองหินอุตสาหกรรมฯมาแล้ว 28 ปี กว่าจะหยุดเหมืองได้ ซึ่งวิธีในการต่อสู้ คือ การเดินปิดเหมือง และปิดทางเข้าออกเหมืองโดยการตั้งแคมป์นอนหน้าทางเข้าเหมืองมาถึง 2 ปีแล้ว ยึดเหมืองหินและโรงโม่ อีกทั้งยังมีการบุกยึดสภาอบต.อีกด้วย และใช้วิธีกระบวนการทางศาล ส่วนวิธีในการรับมือและแผนการต่อสู้ในอนาคต คือ การฟื้นฟูป่าและทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ตัวแทนจากลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จาก จ.สกลนคร กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ต่อสู้กับเหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นเหมืองที่นายทุนจีนมาขอสัมปทาน โดยอ้างว่าเข้ามาทำแบบถูกกฎหมาย แต่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นเลย ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการขอประทานบัตรโดยต่อสู้มาแล้ว 4 ปี ซึ่งวิธีในการต่อสู้ คือ การยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านมีการไปสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับแร่และข้อมูลของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงข้อมูลต่างๆเหล่านี้ และการใช้วิธีการทางกฎหมาย ส่วนวิธีในการรับมือและแผนการต่อสู้ในอนาคต คือ ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ตัวแทนจากกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำลา จาก จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ต่อสู้กับแร่ฟลูออไรต์ เดิมทีมีการเข้ามาทำแล้วครั้งหนึ่งแต่หมดอายุการสัมปทานไปรอบหนึ่งแล้วครั้นนั้นไม่มีการทำประชาคมอะไรเลย บริษัทฯปัจจุบันเข้ามาขอสัมปทานอีกครั้ง ซึ่งวิธีในการต่อสู้ คือ การใช้กองทุนหมู่บ้านในการขับเคลื่อนด้านการต่อสู้ ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ และใช้พิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆของชาวบ้าน ส่วนวิธีในการรับมือและแผนการต่อสู้ในอนาคต คือ การทำกระเทียมน้ำแร่ให้เป็นสินค้าของจังหวัด และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
และตัวแทนจากกลุ่มแก่งเสือเต้น จาก จ.แพร่ ทางกลุ่มได้ต่อสู้กับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งวิธีในการต่อสู้ คือ การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ศึกษาจากผู้มีความรู้ ใช้พิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆของชาวบ้าน เช่นการบวชป่า ล้มเวทีหน่วยงานรัฐทุกเวที ปิดทางการเข้าออกเหมือง ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เพิกถอน ลาดตะเวนเพื่อตรวจดูคนเข้าออกนอกหมู่บ้านโดยคนข้างนอกที่จะเข้ามาในชุมชนได้นั้นจะต้องทำหนังสือแจ้งมาล่วงหน้าก่อนหากไม่มีหนังสือแจ้งมาจะไม่มีการรับรองความปลอดภัย ปัจจุบันกำลังจะมีแผนกลับมาสร้างอีกครั้ง ซึ่งเราต้องสู้ต่อไป ส่วนวิธีในการรับมือและแผนการต่อสู้ในอนาคต คือ กำลังจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมวิสาหกิจชุมชน
และแลกเปลี่ยนความเห็นด้านกฎหมายโดยทนายส. รัตนมณี พลกล้า จากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ที่สุดในการต่อสู้ แต่สิ่งที่พี่น้องมีด้านเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมสิ่งนี้ก็สามารถใช้ต่อสู้ได้ และได้ให้ความรู้เกี่ยวกับยุทธวิธีในการต่อสู้ทางด้านกฎหมายให้กับชาวบ้าน
หลังจากรับประทานอาหารเที่ยงเสร็จ มีการจัดกิจกรรม “รำวงระดมทุน” ตลอดทั้งบ่าย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...