24 ธันวาคม 2565
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 มีการจัดเสวนาวิชาการ “การศึกษาไทยใต้เงาปฏิวัติ 2475 : อำนาจ ความรู้ ผู้คน พลเมือง ผ่าน Facebook Live เพจสังคมศึกษา ราชภัฏลำปาง V2 ตั้งแต่เวลา 13.30 – 16.00 น. โดยมีผู้นำเสนอคือ รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.ดร.พิสิษฏ์ นาสี สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย อ.ธิติญา เหล่าอัน คณะครุศาสตร์ ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดขอนแก่น
โดยเนื้อหาการเสวนานั้น ภิญญพันธุ์ได้เสนอข้อเสนอออกมาเป็น 5 ประเด็นจากหนังสือฉบับร่างเนื่องในครบรอบ 90 ปี ปฏิวัติ 2475
ว่าด้วย “การศึกษา”กับ“การปฎิวัติ” เพราะ“การปฏิรูป” ยังไม่เพียงพอ
ภิญญพันธุ์ เกริ่นว่า เพื่อเตรียมถกเถียงกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพวกที่ต่อต้านกระแสการปฎิวัติ การปฎิรูปในสังคมไทยมีการพยายามมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่ก็ประสบความล้มเหลว การปฏิวัติ 2475 นั้นในสังคมไทยเพิ่งจะเริ่มเป็นกระแสมาไม่นานนี้ ชาตรีได้เสนอว่าการปฏิวัติ 2475 เริ่มเป็นกระแสหลังปี 2549 หรือ 2557 ซึ่งมันเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวงการครูหรือวงการศึกษาได้พูดถึงมิตินี้กับการปฎิวัติน้อยมากอย่างน่าประหลาดใจ แต่อาจพบได้บ้างแต่ก็น้อยมากจนผิดสังเกต เราพบงานวิจัยจำนวนมากในสายการศึกษา แค่ในประวัติศาสตร์ก็น้อยมากที่จะกล่าวถึงปี 2475 มีงานศึกษาที่กล่าวถึงการศึกษาทางประวัติศาสตร์ก็จริง แต่งานเหล่านี้ถูกเขียนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ 2475 เป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้มาก ๆ และเป็นประวัติศาสตร์ที่มันยังกระอักกระอ่วนอยู่ การพูดถึง 2475 แบบมองอุดมการณ์ยังไม่มีใครทำจริงจัง ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหรือน่าเขินอายเลยที่วงการศึกษาถึงยังไม่ปรากฎ
ต่อมา ภิญญพันธุ์ ได้นำเสนอประเด็นการปฎิวัติฝรั่งเศสว่า ถึงแม้ว่าการปฎิวัติ 2475 และปฎิวัติฝรั่งเศสไม่สามารถนำมาเทียบกันได้ซะทีเดียว แต่การพูดถึงการปฎิวัติฝรั่งเศสอาจทำให้เห็นร่องรอยบางอย่างในมิติเหล่านั้นได้ ผ่านหนังสือ The Improvement of Humanity Education and the French Revolution ของ R.R.PALMER มาประกอบการนำเสนอ ซึ่งสามารถสรุปโดยเข้าใจได้คือ การศึกษานั้นคือการดวลกันทางการเมือง ซึ่งการดวลนั้นไม่ใช่เฉพาะระหว่างฝ่ายปฏิวัติและปฏิปักษ์ แต่กลุ่มที่ปฏิวัติมาด้วยกันก็มีการห้ำหั่นกัน เพื่อที่จะกำหนดว่าการศึกษาที่ควรจะเป็นของมนุษยชาติหรือชาติฝรั่งเศสนั้นควรจะเป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้พยายามที่จะแบ่งการจัดการการศึกษาในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสออกเป็น 4 ธีม ได้แก่ กระบวนการสร้างชาติ (nationalization) , กระบวนการทำให้เป็นการเมือง (politicization) , กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) , กระบวนการทำให้ทันสมัย (modernization)
ภิญญพันธุ์ เสนอต่อว่า บางข้อคล้ายกับสิ่งที่เราจะศึกษาในสังคมไทยได้ เช่น กระบวนการสร้างชาติ แต่เอาเข้าจริงในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนการปฏิวัติ ได้มีการสร้างความเป็นชาติของฝรั่งเศสขึ้นมาเช่นเดียวกัน แต่ชาติที่ว่านั้นไม่ใช่ประชาชน ชาติจะไปสัมพันธ์กับชนชั้นสูงหรืออภิสิทธิ์ชนเสียมากกว่า แต่ภายหลังจะให้ความสำคัญกับประชาชนมากขึ้น การที่จะพยายามผลักดันแผนการศึกษาหรือโครงสร้างการศึกษาใหม่นั้นไม่ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับจากทุกคน แต่มีการสู้กันในสภาจนทำให้เกิดแผนต่าง ๆ ขึ้นมาและมีกลุ่มที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยนักการศึกษาในยุคนั้นมาพร้อมกับทฤษฎีการสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษา ซึ่งไปขัดแย้งกับความเท่าเทียมและความเสมอภาค ทำให้หลายกลุ่มเห็นว่าบางแผนมันสร้างอภิสิทธิ์ชนใหม่มารึเปล่าและในยุคของการสร้างประชาธิปไตยและความเท่าเทียมที่มีความเข้มข้นสูงก็ยิ่งมีการถกเถียงกันมากขึ้นไปอีก จนทำให้แผนต่าง ๆ ถูกยกเลิกไปจนเหลือเพียง Bouquier Law ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาชั้นประถมและการมีส่วนร่วมในที่สาธารณะ ในช่วงนี้ภาษาฝรั่งเศษมีบทบาทในการสร้างความเป็นชาติมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาระดับสูงที่ชาวบ้านไม่ได้รับการเข้าถึงในฐานะภาษาพูดหรือภาษาเขียนและภาษาฝรั่งเศสมักจะถูกผลิตซ้ำแล้วแพร่ขยายผ่านทางหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ถูกพบว่ามีการกระจายตัวอยู่ในกองทัพมากและกองทัพในช่วงนั้นมีการขยายตัวมาก โดยมีการเกณฑ์พลเมืองเข้าประจำการอยู่ในกองทัพของประชาชนเป็นจำนวนมาก
ฝรั่งเศสได้พยายามปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการมองโลกและจัดยุคสมัยให้กับตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายวิธีการเหล่านี้ไม่มีความยั่งยืน จนกระทั่งเกิดการยึดอำนาจด้วยความรุนแรงของนโปเลียน นโปเลียนได้เข้ามาจัดการทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งในยุคนี้ได้มีการใช้กฎหมาย 3 Brumaire of the Year IV ที่มีการครอบคลุมมากกว่า Bouquier Law นโปเลียนมีเป้าหมายที่ใช้การศึกษาในการสร้างบุคลากรในระบอบใหม่ โดยเฉพาะนักการทหาร ผู้พิพากษา ข้าราชการ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และผู้จัดการด้านอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันนโปเลียนได้มีการต่อรองกับอำนาจอนุรักษ์นิยมแบบเดิม มีข้อถกเถียงหนึ่งที่จะนำไปถกเถียงในสยามด้วยคือ มีกลุ่มอยู่ 2 กลุ่ม คือ the Ideologue และ the Democrats กลุ่ม Ideologue มีแนวคิดว่าการศึกษาควรรวมศูนย์กลางอยู่ที่ปารีสและมีการเก็บเงิน ขณะที่กลุ่มที่เรียกว่าสภาห้าร้อย (Conseil des Cinq-Cents) หรือ Democrats มีแนวคิดว่าให้เน้นการสร้างมหาลัยที่กระจายไปยังหัวเมืองต่าง ๆ และควรให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา ในยุคนี้ยังเกิดการเกิดขึ้นของหอจดหมายเหตุแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ เพื่อเป็นสถานที่กักเก็บโบราณวัตถุที่ได้จากการบุกโจมตีอียิปต์โดยนโปเลียน เกิดมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ เราสามารถที่จะยืนยันได้เลยว่าคณะราษฎรได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศสมาไม่น้อย โดยเฉพาะมิติการศึกษาและการจัดองค์ความรู้ ต่อมาจะเป็นการหันหัวไปสู่การปฏิวัติ 2475
วัด กระดานชนวน และการปฏิรูป การศึกษา อำนาจความรู้ ก่อนปฏิวัติ 2475
ภิญญพันธุ์ เสนอเรื่อง การสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเป็นการสร้างกลไกระบบราชการเพื่อรัฐสมัยใหม่ เราไม่ได้ต้องการพลเมือง แต่ต้องการพสกนิกรที่เชื่อฟัง พึงประสงค์ และจงรักภักดี ทำให้ในยุคตั้งไข่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มีคำถามเกิดขึ้นว่า จะมีโรงเรียนไปทำไมในเมื่อมีโรงเรียนวัดอยู่แล้ว ปรากฏว่าเราต้องการผลิตข้าราชการเพื่อตอบสนองระบบราชการที่กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังเป็นระบบที่ไม่เข้าที่ เพราะรัชกาลที่ 5 ยังไม่สามารถรวมอำนาจและสร้างรัฐบาลในฝันได้ แต่ต่อมาก็เริ่มมีการค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากการสร้างโรงเรียนหลวงเพื่อสอนลูกหลานเจ้านายและชนชั้นสูงแล้วจึงปรับระบบให้มีโรงเรียนวัดสำหรับพวกไพร่ได้เข้าเรียน แต่สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญคือ การให้ความสำคัญกับการศึกษาต่างประเทศของพวกเจ้าและนักเรียนทุนโดยมีจุดประสงค์ในด้านหนึ่งคือต้องการใช้ผู้ที่ไว้วางใจได้ในการบริหารประเทศและลดการว่าจ้างชาวตะวันตกเข้ามา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเกณฑ์การคัดเลือกนั้นเลือกจากชาติตระกูลและชาติกำเนิด รัชกาลที่ 5 บอกว่าใครที่เป็นลูกหลานระดับเจ้าฟ้าขึ้นไป ให้มีการศึกษาด้านการทหารไว้ก่อนเผื่อว่ามีการคิดร้ายหรือเปลี่ยนระบบการปกครอง แล้วยังมีความคิดที่ว่าเจ้าฟ้านั้นหากดำรงตำแหน่งทหารจะได้รับเกียรติมากกว่าการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือน อย่างไรก็ตามการส่งบุตรหลานไปศึกษาที่ต่างประเทศไม่มีความเป็นระบบ จนกระทั่งกรมศึกษาธิการได้มีการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนตามเสด็จไปยุโรป จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าทุนเล่าเรียนหลวง (King’s scholarship) ในปี 2441 พบว่ามีการจัดระเบียบนักเรียนทุนใหม่เป็น 2 แบบ คือ นักเรียนทุนที่สังกัดกระทรวงการศึกษาและนักเรียนที่สังกัดทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งนักเรียนทุนที่สังกัดกระทรวงการศึกษาได้รับเงินทุนจากกระทรวง ส่วนนักเรียนที่สังกัดทุนเล่าเรียนหลวงมีการให้เปล่า ผมได้พยายามปะติดปะต่อจากหลักฐานว่า ในปี 2469 มีเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาผู้รับทุนประกอบไปด้วย การสอบคัดเลือก คุณงามความดีของผู้สมัคร ความดีความชอบของบิดามารดา และความเกื้อกูลจากผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ที่สามารถไปศึกษาต่างประเทศนั้นต้องไม่ใช่คนเก่งอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่ามาจากชาติตระกูลใดด้วย กรณีนี้อาจเป็นกรณีที่หาได้ทั่วไป แต่หากมองไปที่ญี่ปุ่นพบว่าญี่ปุ่นมีระบบที่น่าสนใจมากคือ การส่งคนไปเรียนอย่างเป็นระบบหรือใช้ระบบที่เรียกว่าถ่ายวิชาที่ไปศึกษาจากยุโรปมาสำเร็จ กระทรวงศึกษาได้ส่งคนไปตามประเทศในยุโรปและอเมริกาโดยให้เลือกศึกษาตามวิชาที่ญี่ปุ่นขาดแคลน แล้วได้มีพันธกิจว่ากลับมาต้องเป็นครูถ่ายทอดวิชาและแปลตำราจากภาษาที่เรียนออกมาเป็นภาษาท้องถิ่น ที่ญี่ปุ่นได้วางระบบแบบนี้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้ที่ไปศึกษาได้ความรู้หรือเกียรติยศเฉพาะตัว แต่มองจากระบบว่าจะมาสัมพันธ์อย่างไรกับรัฐและประเทศ กระบวนการจะมีการเตรียมความรู้ให้แน่นในประเทศก่อนจึงส่งไปศึกษาที่ต่างประเทศ แต่ของสยามเป็นการส่งไปศึกษาตั้งแต่ยังเด็กเพื่อเรียนตัวของภาษาทำให้มีทั้งผู้ที่เรียนจบและไม่จบ หากมองในเชิงเศรษฐศาสตร์นั่นคือการสิ้นเปลืองและไม่มีประสิทธิภาพ แต่บางหน่วยงานในสยามก็มีวิธีการที่คล้ายกับระบบของญี่ปุ่นทำให้ผลลัพธ์คือ มีการประสบความสำเร็จบ้างผสมกับผู้ที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว พบว่าปัญหาของการศึกษาต่อต่างประเทศนั้นมีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 1.รัฐไม่มีนโยบายที่แน่นอน 2.ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือระบบอุปถัมภ์ 3.การศึกษาภายในประเทศไม่ได้มาตรฐาน 4.คนดูแลนักเรียนไร้ความสามารถ ในประเด็นที่ว่า การศึกษาแผนตะวันตก กับ การเมืองของการจัดการศึกษาสยาม ภิญญพันธุ์ เสนอว่า การศึกษาในยุคนี้ยังมีการแบ่งชนชั้น ชาติกำเนิด และระบบอุปถัมภ์ คนชั้นสูงก็จะเรียนอยู่ในโรงเรียนหลวง ส่วนคนที่เป็นประชาชนทั่วไปก็จะเรียนตามโรงเรียนวัด อย่างไรก็ตามรัฐได้มีจุดหมายอยู่ 2 อย่างคือ เราจะยกระดับคนขึ้นมาหรือจะยกบางคนขึ้นมาให้มีความรู้ ที่นั้นสำคัญคือรัฐบาลไม่ค่อยมีทุนสนับสนุนด้วย ดังนั้นเนื่องจากมีการศึกษาภายในวัดอยู่แล้ว ทำให้รัฐพยายามที่จะผลักดันให้วัดเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนั้นได้มีข้อเสนอจาก เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เสนอไอเดียจากตะวันตกให้มีการขยายโรงเรียนออกไปตามหัวเมืองต่างๆ แต่รัชกาลที่ 5 ไม่ได้ยอมรับข้อเสนอ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ลอกจากตะวันตกมากเกินไปและงบประมาณไม่เพียงพอ หากจะทำให้งบเพียงพอก็ต้องเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเพิ่ม ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎร ทำให้รัชกาลที่ 5 ให้ความสำคัญกับวิธีการของ สมเด็จฯกรมพระวชิรญาณวโรรสและสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพมากกว่า โดยทั้ง 2 ท่านนี้ก็จะรับผิดชอบอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนคณะสงฆ์และมหาดไทย ข้อเสนอคือ ไม่ต้องสนใจการเรียนระดับสูง ในทางโลกให้มหาดไทยรับผิดชอบและการเรียนด้านศาสนาให้คณะสงฆ์รับผิดชอบ ส่วนโรงเรียนระดับสูงให้กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบ วิธีคิดนี้มีฐานว่าการศึกษาระดับสูงนั้นทำให้คนออกจากอาชีพตนไปทำงานราชการ ทิ้งครอบครัว ทิ้งอาชีพของครอบครัว ทำให้ในยุคนั้นชนชั้นนำของสยามมองว่าการศึกษานั้นควรมีต้นทุน โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ให้แค่สามารถอ่านออกเขียนได้และแบบระดับสูงสำหรับราชการ ซึ่ง ภิญญพันธุ์คิดว่าระหว่างความคิดของเจ้าพระยาภาสกรวงษ์และรัชกาลที่ 5 เกิดจากฐานความคิดที่ต่างกัน ความขัดแย้งระหว่าง Technocrats กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยเฉพาะกษัตริย์และคณะรัฐมนตรีนั้นมีอยู่เสมอ จึงทำให้ระบบการศึกษาไม่มีทางเป็นการศึกษาแบบมวลชนได้ ในปี 2452 อธิบดีกรมศึกษาธิการได้เสนอกับรัชกาลที่ 5 ว่าให้ใช้เงินปีละ 1 แสนบาท รัชกาลที่ 5 ก็ไม่ยอมรับและให้นครบาล มหาดไทย และคณะสงฆ์ทำงานอย่างเดิม ทำให้เกิดคำว่า “การที่จะออกเงินแผ่นดินสอนคนทั้งชาติให้มีความรู้ดีนั้น มันก็เหลือที่จะทำได้” ทำให้เกิดคำวิจารณ์จากหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศว่า วิธีการของรัฐบาลแบบนี้เป็นการผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบตนเอง รัชกาลที่ 5 ก็รู้ที่มีคำวิจารณ์และก็กล่าวว่า ข้อเสนอแบบนี้เป็นผลจากการรับการศึกษาแบบผิด ๆ ของตะวันตกมาใช้และการศึกษาที่ดีต้องขจัดความคิดที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะความขัดแย้งกับรัฐบาล เมื่อเปลี่ยนรัชสมัยเสนาบดีก็มีการเปลี่ยนเช่นกันคือ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (เปีย มาลากุล) ได้ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งนามสกุลนี้จะมีอิทธิพลอย่างสูงกับวงการศึกษา พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ได้เสนอแผนที่ใหญ่มาก คือ แผนการศึกษายาว 31 ปี(2455-2486) โดยใช้งบปีละ 1 ล้านบาท จึงทำให้เสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ ไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ใช่ว่าไม่มีคนเห็นด้วยกับการศึกษามวลชน แต่ผู้ที่เห็นด้วยนั้นไม่มีอำนาจตัดสินใจและฉันทามติจากรัฐบาลกลางในการดำเนินการ ความเข้มข้นของการศึกษาในระบอบ
สมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงกระจายเป็นเหมือนพีระมิดที่ผู้ที่อยู่บนยอดเท่านั้นที่จะได้รับการศึกษา เราก็พบว่าแม้จะเปลี่ยนเสนาบดีก็ยังเห็นถึงความสำคัญการศึกษาแบบมวลชนและการลงทุนด้านการศึกษา แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของอย่างอื่นมากกว่า ในสมัยของรัชกาลที่ 7 ก็เช่นกันเนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นในเรื่องของการศึกษาก็ไม่ได้รับความสำคัญเช่นกัน ทำให้นี่เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำอาจจะมีอคติบางอย่างแบบการเป็นตะวันตก ซึ่งอาจเป็นเพราะชนชั้นนำมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ตะวันตก ภิญญพันธุ์ กล่าวถึงวิชาชั้นสูงที่ผู้ที่ได้เรียนเป็นคนกลุ่มน้อยและเป็นที่ขาดแคลนด้วย เราพบว่าระบอบเก่าไม่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามวลชน มีการแบ่งชั้นที่เจ้านายชั้นสูงได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดจากโลกตะวันตก ข้าราชการระดับกลางก็เรียนในประเทศ ราษฎรก็ศึกษาในระดับมูลศึกษา ดังนั้นได้มีหลายคนได้พยายามเสนอ แต่ก็ถูกตีตกหมดเพราะไม่มีอำนาจทางการเมืองที่จะผลิตมันขึ้นมา จะเห็นได้ว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะต่อรองกับเสนาบดีฝ่ายอื่น เสนาบดีทั้งหลายไม่ได้เห็นการศึกษามวลชนเป็นเรื่องสำคัญ ในแต่ละยุคสมัยย่อมมีความรู้ต้องห้าม
รัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ: การศึกษาบนฐานการปฏิวัติ 2475 กับอำนาจอนาธิปไตยเป็นของปวงชน
การศึกษาถือเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรตั้งใจที่จะยกระดับชาวไทย ผ่านการผลักดันแผนการศีกษาชาติต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะมีการเห็นความสำคัญของการศึกษามวลชน แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดที่แตกต่างจากเดิมที่เลือกผู้ที่ควรได้รับการศึกษาหรือสร้างยอดพีระมิดที่คนข้างล่างได้รับการศึกษาที่แค่อ่านออกเขียนได้ แต่ในยุคนี้เราเห็นว่าควรที่จะยกระดับมวลชนเหล่านั้นที่มีความสามารถให้ทั่วถึง ที่น่าสนใจคือภาพศึกษาพฤกษ์-ต้นไม้แสดงแผนการศึกษาชาติ มันทำให้เห็นถึงความชัดเจนของจุดมุ่งหมายของรัฐบาล ต้นไม้แห่งการศึกษาที่สร้างพลเมืองในระบอบใหม่ขึ้นมาได้ โดยแบ่งเป็นสายสามัญและสายวิสามัญ (สายอาชีพ) ในปี 2479 แผนก็ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นโดยการบรรจุอายุลงไปในแผน นี่คือการแสดงให้เห็นถึงความเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการผลักดันแผนและการจัดกล่องของนักเรียนต่าง ๆ ให้อยู่ในระบบ สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วงก่อนปี 2475 ได้มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าหลักวิชาการนั้นมีความสำคัญ แต่มันได้ถูกละเลยและให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์มากกว่า
ดังนั้นในระบอบใหม่ผู้ที่เคยอยู่ในระบอบเดิมก็เห็นถึงความสำคัญของหลักวิชามากและเห็นว่าหลักวิชาไม่จำเป็นต้องไปกับหลักวิชาการที่เน้นความจงรักภักดี แต่ควรเน้นประสิทธิภาพและความรู้ที่มาจากหลักวิชามากกว่า สิ่งหนึ่งที่มันล้อไปกับการปฏิวัติฝรั่งเศสนั่นคือว่าการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ราชบัณฑิตยสถาน เดิมนั้นไม่ใช่ว่าสยามไม่เคยมีแต่สยามมีสิ่งที่เรียกว่า ราชบัณฑิตยสภา ในระบอบเก่านั้นราชบัณฑิตยสภาเป็นองค์ประกอบของหอสมุดและกรมราชบัณฑิตที่ทำหน้าที่รักษาพระไตรปิฎก ดังนั้นราชบัณฑิตแบบเดิมจึงเป็นการจัดการองค์ความรู้แบบเดิมที่เป็นความรู้ปิดและมีการผูกขาด แต่ราชบัณฑิตยสถานมีไอเดียที่ต่างไป ราชบัณฑิตยสถานมีการแยกงานศิลปะออกและตั้งเป็นกรมศิลปกร ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มยูนิตด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมา ราชบัณฑิตมีการแบ่งเป็น 3 สำนัก คือ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง วิทยาศาสตร์ และศิลปกรรม วิชาเหล่านี้ก็จะประกอบไปด้วยวิชาย่อยต่าง ๆ แล้วมีสิ่งที่เรียกว่าภาคีสมาชิกบรรจุอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ดังนั้นราชบัณฑิตยสถานจึงเป็นรูปร่างหรือองค์กรที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่าหลักวิชาที่ยุคนี้ให้ความสำคัญ อย่างนักกฎหมายหรือการเมืองก็ถือว่าเป็นผลผลิตของการจัดการโครงสร้างอุดมศึกษาใหม่ นั่นคือคณะราษฎรได้ดึงคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มาอยู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยที่จุฬาลงกรณ์ก็เน้นสอนวิทยาศาสตร์ไปเลย ดังนั้นธรรมศาสตร์กับจุฬาลงกรณ์จึงเป็นคู่ขนานกันของสายวิทย์และสายศิลป์ ซึ่งธรรมศาสตร์บัณฑิตจะเป็นฐานความรู้ที่กว้างขวางเกี่ยวกับบ้านเมืองที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมและพัฒนาประเทศ มีการจัดตั้งกรมศิลปากรในปี 2476 และนำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (มหาวิทยาลัยศิลปากร) ภิญญพันธุ์ เสนอว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับการปฏิวัติ เราพบว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนมีบทบาททางการเมือง ซึ่ง อ.ณัฐพล ใจจริง ก็ได้เขียนบทความเอาไว้แล้ว อย่างเช่น ตั้ว ลพานุกรม และประจวบ บุนนาค ก็จบปริญญาเอกเคมีเช่นเดียวกัน ซึ่งก็มีบทบาทอยู่พอสมควร เรื่องใหญ่ที่สำคัญมาก ๆ เลยก็คือ การเมืองการจัดการเกษตรกรรม เห็นได้ชัดที่สุดคือ สมุดปกเหลืองของ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่หากมองในข้อเสนอของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็แสดงให้เห็นว่าสมุดปกเหลืองนี่แหละที่เป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งของ ปรีดี พนมยงค์ ที่ทำให้รัฐบาลมันเป๋ไปอย่างรวดเร็ว มันเป็นข้ออ้างสำคัญในการกล่าวหาว่าทั้งปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์และรัฐบาลมีปัญหา และก่อให้เกิดกบฏบวรเดชด้วย อย่างไรก็ตามความขัดแย้งทางการเมืองในด้านทางการเกษตรของสมุดปกเหลืองที่ต้องการจะสร้างให้ชาวนาได้รับเงินเดือนเหมือนข้าราชการคล้ายกับ Community แบบคอมมิวนิสต์หรือแบบฝ่ายซ้ายก็ถูกปัดตกไป ในที่สุดวิธีการมองเกษตรก็เหลือเพียงมิติทางเทคโนโลยีการเกษตร
ภิญญพันธุ์ นำเสนอประเด็นต่อมาคือ “ปฏิวัติที่ปลายลิ้น” ว่าด้วยโภชนาการ เรือนร่างและความแข็งแรงพลเมือง แม้แต่กองทัพก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดด้วยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ทุกวันนี้เราจะพบว่าทำไมทหารที่จบมาถึงได้วุฒิวิทยาศาสตร์บัณฑิต ส่วนหนึ่งก็มาจากช่วงนี้ทีมีการตั้งโรงเรียนเทคนิคทหารบก ก่อนที่เทคนิคทหารบกจะไปรวมตัวอยู่กับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชื่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าก็เพิ่งมีการตั้งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงหลังจากคณะราษฎรหมดอำนาจไปแล้ว โรงเรียนเทคนิคทหารบกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับวิทยาการการรบใหม่ ๆ โดยสัมพันธ์กับเหล่าทหารปืนใหญ่ ช่าง และทหารสื่อสาร ใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งต่างจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเดิมที่เรียนแค่ 2 ปี ดังนั้นเราจะเห็นว่า 3 ปีที่ถูกเพิ่มมานั้นคือการให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการทางการทหารสมัยใหม่ ดังนั้นทหารในยุคนั้นจะเป็นทหารที่มาพร้อมกับโลกตะวันตก วิทยาการสมัยใหม่ และรวมถึงอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย ทหารบกมีการสร้างหอวิทยาศาสตร์ขึ้นมาและในตอนนั้นกองทัพเรือก็มีหอวิทยาศาสตร์ ในเวลาต่อมาได้มีการยกระดับจากหอวิทยาศาสตร์กลายเป็นกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกและโรงเรียนวิทยาศาสตร์ทหารบกต่อไป
ภิญญพันธุ์นำเสนอประเด็นต่อมาคือ วิชาชีพครู ทรัพยากรที่สำคัญ ในระบอบใหม่ จากรากฐานระบอบเก่า ในระบบการศึกษาที่มีการยกระดับและขยายจำนวนนักเรียนหรือครูมากขึ้น ก็ต้องมีการฝึกครูป้อนเข้าไปด้วย มีการขยายเรือนฝึกหัดครู ในปี 2484 มีการตั้งกรมฝึกหัดครู ซึ่งในเวลาต่อมาพวกวิทยาลัยครูก็อยู่ในความรับผิดชอบของกรมฝึกหัดครู ที่น่าสนใจคือครูหลายคนมีบทบาทมากในทางการเมือง ทำให้เห็นว่าครูมีบทบาททางการเมืองสำคัญมากๆ ประเด็นต่อมาคือ การศึกษาพลเมือง และสถานศึกษาระดับต่าง ๆ จากสถิติพบว่ามีนักเรียนและครูเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี ภิญญพันธุ์ นำเสนอภาพการศึกษาประชาบาล และเทศบาล มันหมายความว่าการศึกษาที่กระจายอำนาจนั้นเทศบาลจะอยู่ที่ท้องถิ่นและประชาบาลจะอยู่กับนายอำเภอ ทำให้เห็นถึงการศึกษาที่ขยายตัวไปยังชนบทด้วย ระดับมัธยมก็มีการขยายเช่นกัน ในระดับอุดมศึกษาความน่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลแบบหนึ่งที่จะมีผู้ที่รับผิดชอบตรงกลางในการบริหารคือ สภามหาวิทยาลัย สำหรับจุฬาใช้ชื่อว่า สภามหาลัย แต่ของธรรมศาสตร์ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการมหาลัย มันมีความคล้ายคลึงกับคณะรัฐมนตรีของประเทศนั้นๆ ที่น่าสนใจคือ กลไกเหล่านี้ไม่ได้มาจากประชาชนแต่กรรมการสภาที่รักษาการณ์อยู่จะต้องถูกแต่งตั้งจาก สส. ในสภา โดยรัฐมาตรีกระทรวงศึกษาดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภาในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ในขณะที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะถูกเลือกผ่าน สส.บนรัฐสภา มธก.(มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) ก็ได้ซื้อที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จุฬาฯมีการโอนกรรมสิทธิ์รับสินจากพระมหากษัตริย์มาเป็นของจุฬาฯ ผ่านการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาประเด็นเรื่องแบบเรียนในระบอบใหม่ อ.ณัฐพล ใจจริง ได้เสนอว่าหนังสือในยุคนี้เป็นการเปิดประตูโลกที่ทลายข้อจำกัดของความรู้ที่มีอยู่ในระบอบเดิม ความรู้ต่าง ๆ ยังมีการเพิ่มพูนผ่านวารสารวิชาการอีกด้วย เราอาจจะเห็นผ่าน ทัณฑวิทยา โยธาธิการ ข่าวช่าง นาวิกศาสตร์ และจดหมายเหตุทางแพทย์ นอกจากนั้นยุคนี้ยังเป็นยุคที่คนอ่านอย่างจริงจัง ทำให้ตลาดการอ่านมีการขยายตัว โดยสิ่งพิมพ์ที่ปรากฏจะเป็นรูปแบบวรรณกรรมหรือนิยาย ดังนั้นยุคนี้จึงเป็นยุคของความใหม่ทางด้านการศึกษา การรู้หนังสือ นอกจากที่ว่ามีประโยชน์แล้วยังแฝงไปด้วยความสนุกผ่านตัวอักษร หนังสือพิมพ์ก็ถูกทำให้เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้คนและวิพากษ์วิจารย์รัฐบาลไปด้วย หากมองตัวเลขของงบประมาณกระทรวงศึกษาในปี 2475 มีการลดลงต่ำในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงสุดในช่วงปี 2481 ที่น่าสนใจคือ ในปีต่อมางบถูกลดลงไปถึง 7 ล้านบาท โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ที่น่าสนใจคือตัวเลขในปี 2483 ที่เป็นงบที่รัฐบาลตั้งไว้ซื้ออาวุธให้แก่กองทัพในช่วงทำสงครามกับฝรั่งเศส ในยุคดังกล่าวพื้นที่ของวังต่างๆได้ถูกทำให้กลายเป็นสถานที่ราชการหรือเป็นโรงเรียน ในยุคปลายนั้นเป็นยุคที่คณะราษฎรประกาศเอกราช มันเทียบได้กับประเทศอาณานิคมทั้งหลายที่ปลดแอกจากตะวันตกที่เราได้ปลดแอกจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีการแต่งเพลงชาติ เริ่มมีรัฐนิยม มีการเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย มีการฉลองวันชาติ และพิธีกรรมต่างๆ จุดนี้ก็จะสอดคล้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงที่มีการเฉลิมฉลองในเวทีที่สอง ในประเด็นเรื่อง ความรู้ต้องห้าม ในยุคนี้ได้เกิด พรบ.คอมมิวนิสต์ ในปี 2476 ในช่วงคดีสมุดปกเหลือง มี พรบ.การพิมพ์ ปี 2476 ในช่วงที่มีการต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านก็คือ กบฏบวรเดช โดยมีการเขียนโจมตีคณะราษฎรและคณะราษฎรก็พยายามเซ็นเซอร์
ไฟสงคราม และการได้ดินแดนคืน
ภิญญพันธุ์ เสนอ ประเด็นการทำสงครามกับฝรั่งเศสหรือสงครามอินโดจีน ที่น่าสนใจคือในช่วงสงครามอินโดจีน ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องดินแดน เป็นการเรียกร้องเพื่อนำดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ในตอนนั้นฝรั่งเศสได้เพลี้ยงพล้ำทางการทูตและแพ้สงคราม ส่วนใหญ่ผู้ที่ออกมาคือ นิสิตจุฬาฯและนักศึกษาธรรมศาสตร์ จนสุดท้ายก็มีการสู้รบกันจริง ๆ และเได้ไปเจรจาสงบศึกที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้ให้โอกาสแก่เราและทำให้เราได้ดินแดนกลับคืนมา ปราสาทเขาพระวิหารก็ได้กลับมาช่วงนั้นเช่นกัน เราก็เข้ารบกับฝ่ายอักษะและก้าวเดินสู่การเป็นเจ้าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในปี 2485 การปรับปรุงอักษรไทยในปี 2485 ซึ่งถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมโจมตีว่าเป็นอักขระวิบัติ หากเรามามองการศึกษาไทยในยุคนี้ เราจะพบว่าการศึกษาไทยนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นและอยู่ในโหมดความร่วมมือทางวัฒนธรรม นักเรียนมีการลดลงอย่างสำคัญในปี 2487 โดยเฉพาะโรงเรียนราษฎร์ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนจีน ซึ่งในตอนนั้นคนจีนถูกปราบปรามและประกาศเขตหวงห้าม ทำให้คนจีนต้องออกจากเขตพื้นที่นั้นไป โรงเรียนต่าง ๆ ถูกทำให้เป็นพื้นที่ทางการทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการให้เด็กเรียนยุวชนทหาร มีการริเริ่มฝึกทหารในปี 2478 มี พรบ.เครื่องแบบยุวชน มีการตั้งยุวชนนารีหรือทหารหญิงและปรับให้เป็นมัธยมปลาย หากมองจากตารางเทียบจำนวนนักเรียนระหว่างปี 2475-2483 จะแสดงให้เห็นเครื่องแบบของยุวชนทหารที่ชัดเจนและมี พรบ.ยุวชนทหาร มันนำมาซึ่งการยึดครองดินแดนที่เป็นอาณานิคมของไทยในตอนนั้นทำให้เราได้ดินแดนคืน จึงจำเป็นจะต้องส่งข้าราชการไปเป็นครูและมีครูที่อาสาตัวเองเข้าไปเป็นครูอยู่โรงเรียนในดินแดนต่าง ๆ ที่ยึดครองอยู่ ในขณะที่ฝรั่งเศสมีการพยายามสร้างความชอบธรรม เพราะในดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศสมีการยึดครองอยู่และฝรั่งเศสได้โจมตีว่าคนลาวที่ตกอยู่ในดินแดนไทยถูกบังคับให้เรียนหนังสือของไทย อย่างไรก็ตามเราพบว่าภาษาไทยไม่ได้มีความนิยมมากนัก เพราะพอญี่ปุ่นมีอำนาจ คนในพระตะบองที่แต่เดิมนิยมเรียนภาษาไทยก็ได้ไปเรียนกับญี่ปุ่นแทน ครูในคราบเสรีไทยคือ เตียง สิริขันธ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2486 ได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีก 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยในช่วงปี 2486 มีการวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ พบว่าจะไม่มีการส่งคนจากสภา ทำให้สภาไม่มีสิทธิ์เลือกกรรมการภายนอกได้อีกแล้ว แต่จะกลายเป็นคำว่าโปรดเกล้าแทน ทำไมถึงใช้โปรดเกล้าหรือเป็นการส่งเสริมเรื่องเจ้า การโปรดเกล้านั้นสุดท้ายผู้มีอำนาจคือนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการที่จะเข้าไปแทรกแซงอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกและการส่งคนของตนเองเข้าไป ส่วน พรบ.ราชบัณฑิตยสถาน ก็มีการปรับโครงสร้างให้กระชับขึ้นและมีการจัดตั้งราชบัณฑิต เดิมเป็นเพียงแค่ภาคี การเกิดขึ้นของ พรบ.ครู ในช่วงปี 2488 เป็นช่วงใกล้สิ้นสงครามและมีการจัดตั้งคุรุสภากันในยุคนี้
ยอดเขาของการปฏิวัติการศึกษา และความล้มเหลวของการสถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยในการศึกษาไทย
ภิญญพันธุ์เสนอว่า เหตุผลที่ใช้คำว่ายอดเขาคือ เราได้ข้ามยอดเขาแรกไปแล้วนั่นคือ การปฏิวัติและการนำการศึกษามวลชนเข้ามาสู่ประเทศไทย การนำมาสู่การจัดระบบมหาวิทยาลัยในวิชาชีพและวิชาการต่าง ๆ การแพร่หลายของการศึกษาแบบใหม่ แต่อย่างไรก็ตามพอเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ขึ้น เช่น การเกิดสงคราม การสร้างจักรวรรดิความเป็นไทย มันคอยลดทอนการกระจายอำนาจลง เพราะในตอนนั้นมันมีความเป็นทหารสูงและมีการรวมอำนาจศูนย์กลาง แล้วยิ่งมากขึ้นอีกตอนจบสงคราม เกิดคดีสวรรคต เกิดการรัฐประหาร คณะรัฐประหารได้เข้ามาและทำลายความต่อเนื่องของประชาธิปไตยที่มันแย่อยู่แล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมันส่งผลแน่นอนในเรื่องของการศึกษา การกระจายอำนาจ การกำหนดความรู้ว่าควรที่จะต้องรู้อะไร นักศึกษาควรต้องเป็นเช่นไร และการมองระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ข้อเสนอและข้อแลกเปลี่ยนจากผู้ร่วมเสวนา
ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอว่างานของ ภิญญพันธุ์ คือการศึกษาไทยใต้เงาปฏิวัติ 2475 เริ่มด้วยการมองในภาพปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคณะราษฎรศึกษา โดยเป็นไอเดียประมาณว่า ต้องรณรงค์ให้มีการศึกษายุคคณะราษฎรหรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 15 ปีให้มันมากขึ้น เป็นไอเดียที่เริ่มมานานมากแล้วของ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ซึ่งในการรณรงค์ประเด็นในการพูดถึงคณะราษฎรศึกษาในแบบนั้นมันก็มีอยู่หลายประเด็น ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าคณะราษฎรศึกษาก็คือ ปัญหาว่าด้วยความต่อเนื่องและรอยแยกในการมองการปฏิวัติ 2475 ในจุดนี้หมายความว่าตัวคณะราษฎรหรือการปฏิวัติ 2475 ก่อนที่จะมาเป็นกระแสหลักคือ การเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของคณะราษฎรหลังรัฐประหารปี 2549 ข้อเท็จจริงที่ว่าก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้จักคณะราษฎรนั้นความจริงแล้วไม่ใช่ เพียงแต่คำอธิบายในยุคก่อนหน้านั้นที่ยังเป็นกระแสหลักในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันก็คือว่า การปฏิวัติ 2475 นั้นไม่ได้สร้างรอยแยกหรือความแตกต่างอะไรไปจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในคณะราษฎรล้วนแล้วแต่เป็นความต่อเนื่องจากสิ่งที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้วางมาอย่างยาวนานแล้ว กฎหมายสมัยใหม่ที่มีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้ว แต่เพื่อให้เป็นสมัยใหม่สิ่งที่คณะราษฎรทำนั้นไม่ได้ทำอะไรต่างจากเดิมเลยเพียงแค่ทำต่อเนื่องนิดเดียว ทั้งที่หลักการเปลี่ยนแปลงการปกครองนัยยะของความแตกต่างที่สำคัญคือ การปฏิรูปกฎหมายที่ทำให้เราสามารถจะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตหรือเราได้เอกราชสมมุติทางการศาลได้ มันจะถูกอธิบายว่าเป็นความต่อเนื่องมาโดยตลอด งานที่สำคัญที่สุดของงานชิ้นนี้คือ เป็นความพยายามที่จะพูดถึงรอยแยกที่แตกต่างหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในพื้นที่การศึกษามากกว่าการพยายามที่จะเสนอความต่อเนื่องทางการศึกษาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นการเข้าไปพยายามหักล้างภาพเดิม ๆ ในกระแสหลักที่เวลามีการพูดถึงการศึกษาก็จะมีภาพของความต่อเนื่องเช่นกัน หากมองไปถึงประวัติของโรงเรียนระดับอุดมศึกษาก็จะเห็นถึงความต่อเนื่องอันยาวนานมาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ ภิญญพันธุ์ เสนอในหนังสือก็คือ พยายามที่จะทำให้เห็นความแตกต่างซึ่งแท้จริงนั้นหากเราดูในโซเชียลมีเดียในหลาๆ อย่าง กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาก็พยายามแสดงให้เห็นถึงรอยแยกตรงนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นภาพใหญ่ในหนังสือของ ภิญญพันธุ์ ก็จะเข้ามาจัดอยู่ในความพยายามในการนำเสนอรอยแยกระหว่างการปฏิวัติ 2475 และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเด็นที่ว่าด้วยการศึกษา สมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือช่วงก่อน 2475 ภาพการศึกษามันจะเหมือนพีระมิดที่มียอดอยู่ทางด้านบน เป็นคนจำนวนน้อยผู้มีอภิสิทธิ์และการศึกษาแบบมวลชนเป็นเพียงการให้เฉพาะสิ่งที่จำเป็นเพื่อไปตอบสนองต่อชนชั้นนำ แต่ในขณะที่หลัง 2475 ภาพของต้นไม้ที่เป็นโปสเตอร์จะแสดงมุมกลับกันเหมือนกับว่าตัวยอดนั้นจะเบ่งบานและแตกกอต่อยอดออกไปเป็นการศึกษาในระดับวงกว้าง เพราะฉะนั้นนี่เป็นภาพที่ชี้ชัดให้เห็นถึงเนื้อหาบทที่สำคัญที่สุดของ ภิญญพันธุ์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ทำให้เห็นภาพที่ชัด
ชาตรีได้เสนอความคิดเห็นในงานเขียนของ ภิญญพันธุ์ ไว้ว่า ควรที่จะเปลี่ยนการเรียบเรียงหัวข้อที่นำเสนอเป็นการยกประเด็นหรือหัวข้อในช่วงก่อน 2475 และหลัง 2475 เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงจากช่วง 2475 ทั้งในเรื่องโครงสร้างและการบริหารต่าง ๆ แม้ว่าจะมีการนำเสนอเรื่องโครงสร้างบทที่แยกและสรุปเป็นประเด็นใหญ่ มีการเชื่อมโยงประเด็นในหลากหลายพื้นที่และมิติ แต่อีกด้านหนึ่งคือ บางประเด็นพอเปลี่ยนประเด็นจะทำให้จับประเด็นได้ยาก การปรับโครงสร้างแบบนี้จะทำให้การเชื่อมประเด็นมันชัดขึ้น หากทำให้จุดนี้จุดนี้ชัดเจนจะทำให้เห็นถึงประเด็นที่เป็นบริบทสำคัญและเป็นพื้นหลังที่จะโยงสู่การศึกษา ในหลายส่วนของหนังสือเล่มนี้ยังให้เนื้อหาที่มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรคือพื้นหลังและบริบท เช่น ในช่วงไฟสงครามที่ไม่ได้เจาะจงกับประเด็นการศึกษามากนัก ช่วงไฟสงครามระบบการศึกษามันมีลักษณะอย่างไรและมีความแตกต่างอย่างไรกับช่วงคณะราษฎร หลังจากได้อ่านในบทที่ 3 และ 4 ก็เกิดคำถามว่า มีความเกี่ยวข้องกับการหันไปหาญี่ปุ่นหรือไม่ หากนำข้อเสนอจาก อ.ณัฐพล ใจจริง ว่านโยบายทางการเมืองของคณะราษฎรเหมือนกับการหันหลังให้ยุโรปและหันหน้าเข้าญี่ปุ่น มีความน่าสนใจที่ ภิญญพันธุ์ อาจจะต้องเข้าไปถกเถียงตรงนี้ว่าในแง่มุมหรือพื้นที่การศึกษาที่ได้เสนอว่าเป็นความเข้าใจแบบเดียวกันหรือไม่ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่ ภิญญพันธุ์ ไม่ควรที่จะมองข้าม
อีกประเด็นหนึ่งคือ ในส่วนที่คล้าย ๆ กับการรีวิว literature (วรรณกรรม) ภิญญพันธุ์ได้อธิบายโดยให้เนื้อที่กับหนังสือThe Improvement of Humanity Education and the French Revolution ของคุณ R.R.PALMER โดยอธิบายและรีวิวหนังสืออย่างละเอียดไว้มากถึง 10 หน้า ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีความน่าสนใจและอาจารย์อธิบายประกอบไว้ในส่วนที่รีวิวไว้อยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะนำเสนอว่าการนำมาประกอบการนำเสนอมันก็ดี แต่เนื้อหาในบทต่อ ๆ มาไปจนบทสรุปเนื้อหานี้ไม่ได้แสดงถึงความแตกต่างที่เป็นไปตามการปฏิวัติ 2475 มากพอกับการให้ความสำคัญของหนังสือของ R.R.PALMER
ต่อมา พิสิษฏ์ นาสี ได้เสนอว่า โดยรวมแล้วงานชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ของการศึกษาได้เป้นอย่างดีและขยายพื้นที่และมิติทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับราษฎรศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นประเด็นมิติของการศึกษาไม่ค่อยที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับราษฎรศึกษาเท่าที่ควร งานชิ้นนี้ได้ให้พื้นที่ไว้เยอะมากและอาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจและศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนประวัติศาสตร์ไทยและความต่อเนื่องจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาถึงช่วงปฏิวัติ 2475 โดยเฉพาะวงการทางการศึกษาที่ในตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจประวัติศาสตร์ทางการศึกษาและพยายามศึกษามากขึ้น งานชิ้นนี้ก็จะช่วยเติมเต็มในประเด็นเหล่านี้และส่วนมากเป็นการอ่านเพื่อที่จะหาประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทางการศึกษาในปัจจุบันนั้นมีรากเหง้ามาจากตรงไหน เป็นการศึกษาในเชิงวิพากษ์ที่ทำให้เห็นถึงทางเลือกที่จะท้าทายกับการศึกษาในปัจจุบันที่ยังมีปัญหาอีกมาก ข้อสะท้อนจากการได้อ่านผลงานของ ภิญญพันธุ์ คือการขยายตัวของการศึกษาที่กว้างขวางในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ในแง่ที่น่าสนใจคือ เราเห็นการขยายตัวของการศึกษาภาคมวลชนหรือภาคประชาชนที่กว้างขวางมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับยุคก่อนหน้านี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเปิดฉากการศึกษาสำหรับสามัญชนในสังคมไทย นักการศึกษาหลายคนก่อนหน้านี้อาจจะบอกว่ามันคือ กระบวนการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา นอกจากนี้ก็จะเห็นถึงโครงการศึกษาที่จะทำให้เป็นบ่อเกิดของชนชั้นกลางของสังคมไทยขึ้นมาอย่างมหาศาล โดยเฉพาะหากมองผ่านครู การขยายโรงเรียนฝึกหัดครูไปหลาย ๆ พื้นที่มันคือบ่อเกิดของชนชั้นกลาง เพราะว่าครูเองก็ถือว่าเป็นอาชีพและข้าราชการที่กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทในท้องถิ่นและบทบาททางการเมือง นอกเหนือจากบทบาททางการเมืองก็จะพบในท้องถิ่นค่อนข้างมากโดยเฉพาะครูในท้องถิ่น เราจะศึกษาผ่านงานต่าง ๆ อย่างครูในท้องถิ่นที่มีบทบาทเป็นแขนเป็นขาให้กับองค์กรและรัฐอย่างมาก ในบริบทของรัฐชาติในสมัยใหม่การศึกษาถูกผูกติดอยู่กับอำนาจอุดมการณ์ของชาติเสมอเช่นเดียวกันคือ การศึกษาคือกลไกการสร้างชาติที่สำคัญที่สุด
และเสริมต่อว่า งานของ ภิญญพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงการสร้างระบบการศึกษาแห่งชาติสมัยใหม่ที่เริ่มต้นอย่างจริงจังในสมัยคณะราษฎร แต่ในมุมกลับกันจะเห็นได้ชัดถึงอุดมการณ์ที่ผูกติดกับเรื่องของชาตินิยมและความรักชาติ ในขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นอื่นให้กับวัฒนธรรมอื่นๆที่อยู่ในเส้นเขตแดนประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ถูกบรรจงใส่ลงไปในระบบการศึกษาและการศึกษาก็ขยายไปในพื้นที่ต่าง ๆ หากมองในมุมมองแบบนี้ เราก็จะเห็นว่าในแง่หนึ่งนั้นมันคือการสร้างอาณานิคมภายใน การศึกษาส่วนกลางที่มาพร้อมกับกระบวนการกลืนกลาย นี่ถือเป็นหายนะทางวัฒนธรรมได้อย่างหนึ่ง เพราะว่าประสบการณ์เหล่านี้มันคือประสบการณ์ของคนท้องถิ่นที่ถูกกดทับทางวัฒนธรรม การบังคับให้วัฒนธรรมสูญหาย พร้อมกันกับการสร้างภาพตัวแทนของวัฒนธรรมส่วนภูมิภาคผ่านแบบเรียน วัฒนธรรมของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มันถูกสร้างมาอย่างตายตัวและบางทีได้ถูกบิดเบือน นอกจากนี้เมื่อนำไปสอนแล้วมันก็ทำให้เด็กที่อยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ในวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างและหลากหลาย ขาดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเองอย่างมาก ในขณะที่วัฒนธรรมไทยมาตรฐานกลับกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นการพูดสำเนียงภาษาไทยที่ชัดเจนขึ้น นี่คือกระบวนการในการสร้างคติทางวัฒนธรรม หากพูดในมุมมองแบบ multiculturalism หรือ criticism theory นี่คือกระบวนการการสร้างความไม่เป็นธรรมในการศึกษาอย่างหนึ่ง แม้จะบอกว่าเป็นการขยายการศึกษาให้ทั่วถึงมากขึ้น แต่ว่าในส่วนของความเป็นธรรมก็ยังเกิดคำถามว่ามันถูกต้องหรือไม่ นี่ยังไม่นับรวมการศึกษาที่มีรูปแบบมาจากต่างประเทศที่มีการแบ่งวิชาเป็นต่าง ๆ และปลูกฝังแนวคิดทุนนิยมเข้าไปในนั้นด้วย การขยายการศึกษาส่วนหนึ่งก็คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นคนไทยที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นรอง ๆ ก็มีผลกระทบจากการใช้ระบบการศึกษาแห่งชาติเหล่านี้ นอกจากนี้หากมองเนื้อหาในแบบเรียนก็จะเห็นว่าเนื้อหาแบบเรียนที่รัฐไทยส่งมาไม่ได้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่นและไม่ได้ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง แต่มันกลายเป็นการศึกษาเรื่องของเจ้าที่กรุงเทพฯ พุทธแบบที่เป็นทางการ วัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ควรต้องรู้ เช่น มารยาทไทย การทักทาย และการแต่งกาย การเรียนรู้ระบบอำนาจแบบใหม่ และระบบราชการแบบใหม่ ในขณะเดียวกันก็ค่อย ๆ พรากการศึกษาออกจากชุมชน อิทธิพลที่น่าสนใจก็คือ ในพื้นที่ที่ไกลออกเป็นของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เราจะเห็นว่าครูมีการบังคับให้เด็กเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็นภาษาไทย โดยให้เหตุผลว่าเรียกง่ายและชื่อของเขาไม่มีความหมาย แต่ในความเป็นจริงนั้นมีงานของอาจารย์ที่อยู่ที่คณะสังคมเขาได้ศึกษาและบอกว่า การเปลี่ยนชื่อและนามสกุลของเขาทำให้ระบบแซ่ตระกูลที่เชื่อมโยงกับระบบเครือญาติและความสัมพันธ์ของคนในชุมชนสูญหายไป นี่ก็เป็นผลกระทบจากการศึกษาแห่งชาติที่มีผลกระทบ การศึกษามันค่อนข้างที่จะล้มเหลวในการส่งเสริมอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย แต่หลายคนได้พูดว่าอาจจะเป็นความสำเร็จของรัฐไทยในการสร้างชาติผ่านการศึกษา โดยการหว่านเพาะอุดมการณ์ชาตินิยมให้เกิดขึ้นในระดับกว้างและกลายเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในทศวรรษต่อมา เราจะเห็นว่าคนกลุ่มนี้พยายามที่จะอ้างอิงความเป็นไทยที่ถูกรังสรรค์มาในช่วงนี้เยอะมาก โดยให้วัตถุประสงค์ว่าเพื่อเน้นและบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้ เป็นมรดกทางปัญญา รักษาและสืบสาน ในที่นี้บรรพบุรุษที่แท้จริงคือใครก็ไม่ทราบ ที่น่าสนใจคืออิทธิพลเหล่านี้ไหลมาและเป็นปัญหาอยู่ การศึกษาผ่านโรงเรียนฝึกหัดครูได้สร้างชนชั้นกลางขึ้นมา การที่ได้เรียนวิทยาลัยครูมันคือสถานะที่ยิ่งใหญ่มากในชนบทสมัยนั้น เราก็จะเห็นว่าครูได้เข้าไปมีบทบาทในชุมชนอย่างมากในฐานะข้าราชการ ครูมักจะยินดีที่จะทำงานสนองรัฐโดยเห็นว่า ครูแข็งขันมากในการทำงานสนองรัฐแม้ว่างานเหล่านั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหน้าที่การสอนของเขาเลย ครูมีความพร้อมใจอย่างมากที่จะถูกดึงออกจากห้องเรียนเพื่อไปทำหน้าที่อย่างอื่น แต่พอพูดถึงงานของตนกลับกลายเป็นว่าปรับตัวช้า ทำให้การสร้างห้องเรียนก็เป็นห้องเรียนที่ตัดขาดจากสังคมที่ไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับปัญหาสังคม รวมถึงไม่ได้พัฒนาความเป็นวิชาชีพ ทำให้เกิดคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ นี่ถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ยังไม่รวมถึงการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ที่ครูได้กระทำผ่านวาทกรรมความหวังดี เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ในระบบการผลิตครู ในตอนนี้ก็ยังไม่มีใครศึกษาวิพากย์ระบบการผลิตครูในประเทศไทยมากนัก
ประเด็นสุดท้ายที่ได้อ่านคู่มากับงานอีกหนึ่งชิ้นของ ดร.รัตนา แซ่เล้า เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปอุดมศึกษาของไทยชิ้นสำคัญ ทำให้ได้เห็นประเด็นที่ควบคู่กับงานของ ภิญญพันธุ์ คือเรื่องวัฒนธรรมการยืมซึ่งชัดเจนว่าตั้งแต่การออกแบบการศึกษาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงช่วงสร้างชาติหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มันมีจุดเน้นแค่เรื่องของการถ่ายโอนความรู้โดยการเลียนแบบความรู้จากตะวันตกมากกว่าที่จะสร้างความรู้ โครงสร้างของอุดมศึกษาไทยที่ ภิญญพันธุ์ ได้กล่าวถึงนั้นมันเป็นไปเพื่อที่จะผลิตข้าราชการพลเรือนมากกว่าการเน้นผลิตความรู้หรือการวิจัยใหม่ ๆ นอกจากนี้งานของ ดร.รัตนา แซ่เล้า ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างมากและมีอิทธิพลต่อการศึกษาของไทยในระดับอุดมศึกษานั่นคือ การนำเข้าแนวคิดการวิจัยและการพัฒนา (Research And Development) ปรากฏว่ารัฐไทยมีประสิทธิภาพน้อยมากที่จะรับแนวคิดเหล่านี้ เพราะขาดแคลนงบในการส่งเสริมการวิจัยต่าง ๆ นอกจากนี้มันคือวัฒนธรรมที่มันแฝงฝั่งที่ยังให้ความสำคัญกับการสอนมาก ดังนั้นเราจะเห็นความสอดคล้องกับงานของ ภิญญพันธุ์ ก็คือ ทำไมการศึกษาไทยถึงยังไม่พัฒนาปัญญาชนมากกว่าการพัฒนาข้าราชการรับใช้รัฐ มหาวิทยาลัยยังเน้นการรับเอาความรู้มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตก ในขณะที่ผู้บริหารก็ยังมีความพึงพอใจที่จะลอกเลียนการพัฒนาจากประสบการณ์ของต่างประเทศ มันคือส่วนหนึ่งของการรักษาอำนาจและตำแหน่งของตนเองไว้ ในปัจจุบันแม้จะเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีการขยายไปมากแล้ว แต่เราก็ยังเห็นว่าอุดมศึกษาของไทยยังเน้นบทบาทของการสอนมากกว่าการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ ๆ คำถามสุดท้ายที่เป็นสนใจคือ ในเนื้อหาของเอกสารนั้นมีเสียงของผู้หญิงออกมาปฏิรูปหรือวางแผนการศึกษาในช่วงหลัง 2475 หรือไม่? มีหลักฐานหรือไม่? หากว่ามีจะพอมีความเป็นไปได้หรือที่จะทำให้เสียงของผู้หญิงเข้ามามีบทบาทตรงนี้บ้างนอกเหนือจากรัฐมนตรีที่เป็นผู้ชายทั้งหมด
จากข้อเสนอของผู้ร่วมแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ท่าน ภิญญพันธุ์ ได้ให้เหตุผลว่าประเด็นที่ว่าเรื่องการหันเข้าหาญี่ปุ่นและผู้หญิงที่มีบทบาทในการศึกษาไทยสามารถพบหลักฐานได้น้อยมาก เท่าที่พบในหลักฐานผู้หญิงไม่ได้มีบทบาทเท่ากับตัวละครในฐานะที่เป็นครู บทบาทของผู้หญิงนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในภายหลัง แต่ไม่ได้ชัดเจนมากเท่าบทบาททางการเมืองของผู้ชาย ในประเด็นของญี่ปุ่นนั้น ภิญญพันธุ์ ได้ให้เหตุผลว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่มีอิทธิพลมาก แต่ไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนที่สามารถนำมายืนยันโดยตรงได้ แนวโน้มที่ส่งผลทั้งเรื่องเครื่องแบบ การเข้าแถวหน้าเสาธง และทรงผมน่าจะเป็นอิทธิพลจากญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏมากนัก แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมายืนยันได้อยู่ดี ในส่วนที่ ชาตรี ได้เสนอความคิดเห็นเรื่องการนำเสนอนั้น ภิญญพันธุ์ เสนอว่าวิธีการนำเสนองานเขียนนั้นเป็นปัญหาของทุกงานเขียน ปัญหาที่ถูกนำเสนอออกมานั้นจะขึ้นอยู่กับการนำเสนออยู่เสมอ หากนำเรื่องของประเด็นเป็นตัวตั้ง อีกเรื่องที่ผมต้องทำแน่นอนก็คือ เรื่องของ R.R.PALMER ที่ว่านำเสนออกมาอย่างไร เท่าที่ผมเห็นนั้นตัวของคณะราษฎรไม่ได้พูดถึงการปฎิวัติฝรั่งเศสออกมาโดยตรงผ่านเอกสารใดๆ อย่างมากก็อาจจะเขียนให้เห็นถึงความสอดคล้องบางอย่าง เราไม่เห็นหลักฐานที่บันทึกว่าราษฎรนำไปเปรียบเทียบกับการปฏิวัติ 2475 อย่างไรแบบเป็นลายลักษณ์อักษร
ชาตรี ได้เสนอเพิ่มเติมว่า การศึกษาในช่วงหลัง 2475 นั้นแม้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเป็นการศึกษามวลชน แต่การศึกษาในโรงเรียนนั้นก็ยังแฝงไปด้วยอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยม ในวงการการศึกษาหากไม่นับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีการนำเสนอด้านนี้โดยชัดเจน สถานศึกษาแห่งอื่นก็ยังมีลักษณะอำนาจนิยมสูงมาก ต้องมีการอธิบายจุดนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น
โดยมีคำถามจากทางเพจ Facebook ว่า คณะราษฎรประสบผลสำเร็จหรือว่าล้มเหลว จากการพยายามสถาปนาอุดมการณ์ใหม่ผ่านระบบการศึกษาภายหลังการเปลี่ยนแปลง 2475 ภิญญพันธุ์ ได้เสนอว่าต้องมองอยู่ 2 มิติคือ มิติหลังจากการปฏิวัติและมิติในตอนนี้ หากมองจากมิติในตอนนี้คือ ล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะแม้แต่คณะราษฎรยังไม่ถูกจดจำในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่นำประชาธิปไตยมาให้จนต้องมารื้อฟื้นกันในภายหลัง ส่วนในสมัยนั้นคิดว่าปัญหาของคณะราษฎรหรือการเมืองไทย พบปัญหาค่อนข้างมาก ตัวคณะราษฎรไม่ได้ปฏิวัติแล้วทุกอย่างราบเรียบ มันมีปฏิปักษ์ทางการเมืองตั้งแต่ความขัดแย้งสมุดปกเหลือง กบฎบวรเดช รวมไปถึงการนำประเทศเข้าสงคราม นี่อาจจะตอบข้อสงสัยของ ชาตรีได้ว่าเหตุใดการศึกษาจึงมีลักษณะเป็นอำนาจนิยม ทั้งนี้อำนาจนิยมอาจจะไปสัมพันธ์กับความอำนาจนิยมในคณะราษฎรที่มันสูงขึ้นในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงครามหรือช่วงรัฐนิยม ในการบังคับเรื่องการแต่งกายที่รวมศูนย์มากขึ้น ในมุมมองของผมนั้นส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของคณะราษฎรในการศึกษาคือ การกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนเทศบาล การตั้งสภามหาวิทยาลัย การแต่งตั้งกรรมการภายนอกมาจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจุดนี้มันหายไปในช่วงปี 2486 เพราะคณะราษฎรและเทศบาลได้ถูกลดความสำคัญหลังช่วงสงคราม ในช่วงสงครามรัฐไม่ยอมกระจายอำนาจ แต่กลับรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางพร้อมกับเรื่องระบบรัฐนิยม ดังนั้นผมคิดว่าบทที่จะทำให้ชัดเรื่องไฟสงครามจะทำให้เห็นว่ามิติการกระจายอำนาจหรือความเสมอภาค ภารดรภาคแบบเดิมนั้นจะใช้ไม่ได้หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะคณะราษฎรมีการเปลี่ยนไปในทางอำนาจนิยมมากขึ้น จากที่ อ.ชาตรี กล่าวว่าจากรัฐธรรมนูญนิยมและเสรีนิยมเปลี่ยนไปสู่อำนาจนิยมมากขึ้น ช่วงที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีน้อยมากโดยสิ้นสุดตรงช่วงสงครามโลกเป็นเวลา 9 ปี หลังจากนั้นก็เป็นช่วงรัฐประหาร 2490 และต่อเนื่องมาอีกเป็นทศวรรษ คณะราษฎรได้แบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ในช่วงแรกไปแล้วจนไม่สามารถปะคองอำนาจทางการเมืองรวมถึงอำนาจทางการศึกษาก็โดนไปด้วย ดังนั้นผมคิดว่ามิติทางการเมืองนั้นมีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดความอำนาจนิยมหรือไม่ ดังนั้นย้อนไปตอบคำถามที่ว่า คณะราษฎรได้ประสบความสำเร็จในบางประการและล้มเหลวอยู่หลายประการ ประการหนึ่งคือ ไม่สามารถที่จะรักษาอำนาจมากพอที่จะธำรงอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของคณะราษฎรทีเดียว ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมได้เผชิญหน้ามาตลอด ในเรื่องของการสู้กันทั้ง 2 ส่วนที่พยายามที่จะเน้นเรื่องประชาธิปไตยหรือการกระจายอำนาจมากขึ้น เน้นความเป็นมนุษยนิยมและความเป็นส่วนกลาง
คำถามต่อมาเป็นคำถามแบบชวนคุยที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายของ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย กับรายวิชาประวัติศาสตร์ว่า สามารถถอนรากกระแสการศึกษาปฏิวัติ 2475 กับคณะราษฎรหรือไม่ หมายความว่านโยบายของ ตรีนุช ที่พูดเน้นถึงเรื่องเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ที่ไปเน้นในเรื่องของความภาคภูมิใจของชาติ มันไปสัมพันธ์กับรายวิชาประวัติศาสตร์นั้นอย่างไรและมันจะไปสู่การถอนรากกระแสการศึกษาปฏิวัติ 2475 อย่างไรบ้าง
ภิญญพันธุ์ กล่าวว่า ผมยังไม่สามารถตอบได้โดยตรง เพราะผมยังไม่เห็นรายละเอียดตรงนี้เห็นแค่เพียงข่าวเท่านั้น ดังนั้นหากผมจะประเมินนโยบาย 8+1 ผมคิดว่ามันคล้ายกับช่วงที่มีกระแสจากราชินี โดยอยากจะให้เน้นวิชาประวัติศาสตร์และสุดท้ายก็ได้แยกออกมาจากวิชาย่อย ๆ ของสังคม ในที่นี้ผมไม่แน่ใจว่ารายละเอียดมันเป็นยังไง แต่ว่าโดยหลักแล้วแน่นอนว่าวิชาประวัติศาสตร์ที่เขามอง เขาไม่ได้มองแบบประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แต่เขาได้มองประวัติศาสตร์แบบเรื่องเล่าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐและแกนนำหลักของชาติ ดังนั้นหากเทียบกับ 2475 แล้วนั้นประวัติศาสตร์ในช่วง 2475 ไม่ได้มีพื้นที่อยู่ในแบบเรียนอยู่แล้ว ดังนั้นผมคิดว่ามันไม่ได้กระทบ แต่มันแค่จะไปถ่างขาเนื้อหาซ้ำ ๆ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเรียนหรือตัวชี้วัด เนื้อเรื่องมันจะซ้ำกันมาก ๆ บางทีเราจะเห็นว่าเรียนสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เราจะเรียนซ้ำกันตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงมัธยมปลาย ดังนั้นผมคิดว่ามันจะเป็นแค่การขยายความสิ่งที่เขาเล่าไปอีกแบบ แต่ไม่ได้ไปทับซ้อนเรื่องใดเพราะไม่เคยมีในหลักสูตร 2475 ที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว หากมี 2475 ผมก็จะไม่ติดเพราะเป็นเรื่องที่แบบไม่ชิงสุกก่อนห่าม ดังนั้นผมไม่คิดว่ามันเป็นการถอนรากกระแส เพราะมันไม่เคยมีกระแสการศึกษาการปฏิวัติ 2475 ในแบบเรียนแบบที่เรียนจะเป็นอยู่แล้ว ถึงมันจะมีมันก็ไม่ได้เป็นหัวใจของแบบเรียนเดิมอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าในตอนนี้เขาอาจจะมองว่ากระแสเรื่องประวัติศาสตร์ทวนกระแสและประวัติศาสตร์คณะราษฎรมันกลับมา เขาจึงอาจจะต้องการที่จะย้ำในสิ่งที่เขาก็ไม่รู้ว่าพูดถึงอะไรอยู่หรือเขาสอนอะไรอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่กระตุกให้คนเรียนประวัติศาสตร์กลับไปคิดอีกด้านหนึ่งให้ได้ ดังนั้นถ้าถามว่ามันจะถอนรากประวัติศาสตร์ได้หรือไม่อาจจะไม่เกี่ยว แต่ในด้านหนึ่งอาจจะทำให้เกิดกระแสตีกลับก็ได้ โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมขึ้นไปกับการเรียนประวัติศาสตร์
พิสิษฏ์ นาสี เสนอในประเด็นเรื่องของนโยบายของ ตรีนุช ว่า เท่าที่ได้ฟังก็คิดว่ามีความน่าสนใจที่วิชาประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้ถูกสอนโดยนักประวัติศาสตร์หรือผู้ที่จบประวัติศาสตร์มา ทำให้ในช่วงหลังมานี้ได้ถูกสอนโดยครูวิชาสังคม ซึ่งผลิตโดยคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ เพราะฉะนั้นมันเหมือนเป็นการเรียนคู่ขนาน การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยนั้นแม้จะมีความก้าวหน้าและมีการร่วมผลิตกับคณะครุศาสตร์ขนาดไหน แต่เราไม่เห็นถึงกระบวนการผลิตครูเพราะการผลิตครูวิชาประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่เพียงการนำเด็กมาเรียนที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ เมื่อกลับไปต้องไปทำ Micro teaching ต้องไปทำแผนการสอน ต้องไปถูกครูนิเทศอีกหลายอย่าง และตัวของหลักสูตรที่กำกับ ดังนั้นผมไม่แน่ใจว่ามันจะขยับอย่างไรหากเราพูดถึงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่พอมีความก้าวหน้า มันจะขยับมาช่วยทำให้การผลิตครูสังคมมีความก้าวหน้าไปด้วยได้อย่างไร พอจะแนวคิดเชิงวิพากษ์ที่จะมากระตุ้นเรื่องเกี่ยวกับการสอนประวัติศาสตร์ได้บ้างอย่างไร เพราะสุดท้ายหากนโยบายเข้ามา ครูสังคมก็น้อมรับได้เพียงอย่างเดียว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...