คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2568 โดยอัตราสูงสุดของประเทศอยู่ที่ 400 บาท และต่ำสุด 337 บาท เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ภาคเหนือยังไม่มีจังหวัดใดที่ได้ค่าแรงถึงระดับนี้
วานนี้ (23 ธันวาคม 2567) คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อ 23 ธันวาคม 2567 กำหนดให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งเป็นการพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด
บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้มุ่งให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลส่งผลกระทบเชิงบวกกับแรงงานกว่า 3,760,679 คนทั่วประเทศ
สำหรับปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับแนวทางการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับจังหวัด ทั้งหมด 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอจากแต่ละพื้นที่มาประกอบการตัดสินใจอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง
- กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง
- กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ยังไม่มีจังหวัดใดได้รับอัตราค่าแรงดังกล่าว ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำในภาคเหนือถูกกำหนดให้แบ่งออกเป็น 7 ระดับ โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ดังนี้
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด ปี 2568 | |
จังหวัด | ค่าจ้างขั้นต่ำปี (บาทต่อวัน) |
เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมือง) | 380 |
เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมือง) | 357 |
เชียงราย | 352 |
ตาก | 352 |
พิษณุโลก | 352 |
นครสวรรค์ | 350 |
ลำพูน | 350 |
เพชรบูรณ์ | 349 |
กำแพงเพชร | 347 |
พิจิตร | 347 |
แม่ฮ่องสอน | 347 |
ลำปาง | 347 |
สุโขทัย | 347 |
อุตรดิตถ์ | 347 |
อุทัยธานี | 347 |
น่าน | 345 |
พะเยา | 345 |
แพร่ | 345 |
ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โจทย์ใหญ่ที่ต้องมองไกลกว่าแค่ตัวเลข
วรวิทย์ เจริญเลิศ คณาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดมุมมองถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท กับ Lanner ไว้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นก้าวที่ควรผลักดัน แต่ต้องไม่ลืมมองลึกไปถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ วรวิทย์ เผยว่าไทยนั้นเติบโตจากการใช้แรงงานราคาถูก แต่กลับเผชิญหน้ากับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหากจะแก้ปัญทั้งหมด ต้องมองไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย เนื่องจากการส่งออกในตลาดโลกนั้นซบเซาผลจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อจำกัด
ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้จากภาวะดังกล่าว วรวิทย์ เผยว่าผู้ประกอบการยังใช้วิธีเก่าคือต้องการกำหนดให้ค่าแรงถูก และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นฐานอุตสาหกรรมไม่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งหากไทยจะเดินหน้าในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการฝึกทักษะใหม่ หากมาดูที่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วรวิทย์ เผยว่าไม่ถึงกับสูงมากหากเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่มากในปัจจุบัน
วรวิทย์ ยังมองไปเรื่องของการศึกษาที่เป็นการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้สัมพันธ์กับค่าแรงที่สูงตาม ซึ่งต้องใช้การ Training และ Re-Training ที่การอบรมต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ ในหลายประเทศใช้วิธีการให้นายจ้างและตัวแทนของลูกจ้างเป็นคณะกรรมการในการปรับทักษะภายในโรงงาน แต่หากมาย้อนมองดูในไทย การอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของราชการทำให้ไม่ตอบโจทย์
วรวิทย์ ยังเสริมไปที่ระบบการศึกษาที่อาศัยแต่ความจำในเนื้อหาการเรียนการสอน แต่กลับขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการผลิตบัณฑิตที่เน้นแต่ปริมาตรและเป็นธุรกิจมากกว่าส่งเสริมการเรียนรู้ และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตนั้นเป็นผลมาจากระบอบอำนาจนิยม เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ อำนาจที่ทับซ้อนกันที่ยังเป็นปัญหาอยู่
วรวิทย์ เผยว่าการที่ไทยต้องการแรงงานราคาถูกแต่กลับขาดแคลนแรงงานจึงมีการเปิดพรมแดนให้แรงงานข้ามชาติเข้ามา ซึ่งประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถึงแม้แรงงานข้ามชาติอาจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครอบคลุม รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีอำนาจต่อรอง รวมไปถึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
การจะแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันต้องมองการบริโภคและผลิตภายในให้มากขึ้น ซึ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการกระจายรายได้ และอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากมามองที่รัฐบาลในปัจจุบันก็คล้ายกับว่าจะมีแนวความคิดดังกล่าว อย่างนโยบายเงินดิจิตอล แต่ก็ทำได้แค่แจกแต่ยังไม่เห็นในมุมของการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาล วรวิทย์ มองว่าเป็นการมองแค่เป้าหมายแต่ไม่มองกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...