Rocket Media Lab ชวนส่องข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย 485 คน ว่าเป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?

จากการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3-7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้ง 387 คน และบัญชีรายชื่อ 98 คน ของพรรคภูมิใจไทยว่าเป็นใคร มาจากไหนบ้าง เป็นผู้สมัครพรรคเดิม หน้าใหม่ หรือย้ายพรรค?



เลือกตั้ง 66 พรรคภูมิใจไทยมีผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคกว่า 30%

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 Rocket Media Lab จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. โดยแยกกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ผู้สมัครจากพรรคเดิม หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น

2. ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น หมายถึง อดีต ส.ส. และอดีตผู้สมัคร ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 หรือปีที่เก่ากว่านั้น โดยนับปีล่าสุดที่ผู้สมัครคนนั้นลงสมัคร ส.ส. 

3. ผู้สมัครหน้าใหม่ หมายถึง ผู้ที่ไม่เคยลงสมัคร ส.ส. มาก่อน ทั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อแยกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คน จากพรรคภูมิใจไทย ในปี 2566 ตามการจัดประเภทดังกล่าว พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 76 คน คิดเป็น 19.64% มีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 128 คน คิดเป็น 33.07% และมีผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 183 คน คิดเป็น 47.29%

และเมื่อแยกตามภูมิภาค จะเห็นได้ว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 28.57% ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคภูมิใจไทยได้จำนวน ส.ส. เขตมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2562 ถึง 16 คน และน้อยที่สุดที่ภาคเหนือ คิดเป็น 5.4% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา (ไม่รวมการย้ายพรรคและเลือกตั้งซ่อม) พรรคภูมิใจไทยไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. จากภาคเหนือเลย

ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 2566 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคตะวันตกคิดเป็น 52.63

% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยได้มา 2 ที่นั่ง และน้อยที่สุดที่ภาคใต้คิดเป็น 18.33% ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. ภาคใต้ถึง 8 ที่นั่ง 

และในส่วนของผู้สมัครหน้าใหม่ จะพบว่า มีสัดส่วนมากที่สุดที่ภาคใต้ คิดเป็น 58.33% และน้อยที่สุดที่ภาคตะวันตกคิดเป็น 31.58%

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า พรรคภูมิใจไทยใช้ผู้สมัครพรรคเดิมมากที่สุดในภูมิภาคที่พรรคเคยได้ที่นั่งมากที่สุดจากการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ในภูมิภาคที่ไม่เคยได้ ส.ส. เลย หรือได้จำนวนหนึ่งในการเลือกตั้งปี 2562 ก็จะใช้ทั้งผู้สมัครหน้าใหม่และผู้สมัครที่มาจากการย้ายพรรคในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ที่นั่ง ส.ส. มากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม 



เมื่อพิจารณาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คนจากพรรคภูมิใจไทย เทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มาจากพรรคเดิม จำนวน 76 คน ของพรรคภูมิใจไทย สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1. ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 35 คน คิดเป็น 46.05%

2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมจากปี 2562 จำนวน 29 คน คิดเป็น 38.15%

3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน คิดเป็น 1.32%

4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน คิดเป็น 1.32%

5. อดีต ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3 คน คิดเป็น 3.95%

6. อดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 7 คน คิดเป็น 9.21%

จากข้อมูลจะเห็นว่า ผู้สมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้ง 2566 ของพรรคภูมิใจไทย ที่มาจากพรรคเดิม เป็น ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเดิมในปี 2562 มากที่สุด แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทยที่มีจำนวน 39 คน จะพบว่า มี ส.ส. ปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทยที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคเดิม สูงถึง 35 คน เลยทีเดียว 

และเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน ส.ส. เดิมในปี 2562 รายภูมิภาค ก็จะพบว่าภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก มี ส.ส. เดินจากปี 2562 กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 ครบตามจำนวนที่นั่งเดิม ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ก็หายไปเพียงภาคละ 2 ที่นั่งเท่านั้น 

ในขณะเดียวกัน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทย ที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทย จำนวน 4 คนนั้น พบว่าย้ายไปพรรคอื่นเพียง 1 คน คือ อภิชา เลิศพชรกมล โดยย้ายไปพรรคเพื่อไทย และอีก 3 คน ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว 

จากนั้นเมื่อพิจารณาอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย จำนวน 311 คน จะพบว่า กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2566 นี้เพียง 29 คนเท่านั้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนมากที่สุด 16% และน้อยที่สุดคือภาคกลาง 3.12% 

ในจำนวนอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในปี 2562 ของพรรคภูมิใจไทย 311 คน มี 282 คน ที่ไม่ได้กลับมาลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคภูมิใจไทยอีกในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ โดยสามารถแยกเป็น ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วมากที่สุด 219 คน ย้ายไปลงพรรคอื่นๆ 55 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 13 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 12 คน พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน พรรคไทยสร้างไทย 5 คน พรรคเสรีรวมไทย 2 คน พรรคก้าวไกล ไทยศรีวิไลย์ พลเมืองไทย พลังเพื่อไทย พลังสหกรณ์ เพื่อชาติไทย และเพื่อไทรวมพลัง พรรคละ 1 คน และย้ายไปลงสมัครแบบบัญชีรายชื่ออีก 8 คน 

นอกจากนี้ยังมี อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 1 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 1 คน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ 3 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 7 คน ที่ถือเป็นผู้สมัครพรรคเดิมของพรรคภูมิใจไทยที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 นี้ 

ผู้สมัคร ส.ส. ที่มาจากการย้ายพรรค



เมื่อพิจารณา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 387 คนจากพรรคภูมิใจไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่ามีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ย้ายมาจากพรรคอื่น 128 คน ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. ส.ส. เดิม จากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 49 คน คิดเป็น 38.28%

2. อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 74 คน คิดเป็น 57.81%

3. อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 1 คน คิดเป็น 0.78%

4. อดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 4 คน คิดเป็น 3.13%

จากข้อมูลจะพบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 128 คนของพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก

1. พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 46 คน คิดเป็น 35.94%

2. พรรคพลังเพื่อไทย จำนวน 19 คน คิดเป็น 14.84%

3. พรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 17 คน คิดเป็น 13.28%

4. พรรคพลังประชาธิปัตย์ จำนวน 8 คน คิดเป็น 6.25%

5. พรรคชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ เพื่อชาติ และเสรีรวมไทย พรรคละ 3 คน คิดเป็น 2.34 %

6. พรรคประชาธิปไตยใหม่ พลเมืองไทย และพลังชาติไทย พรรคละ 2 คน คิดเป็น 1.56%

7. พรรคความหวังใหม่ ชาติพัฒนา ไทรักธรรม ประชาภิวัฒน์ ประชาราช พลังไทสร้างชาติ พลังธรรมใหม่ พัฒนาประเทศไทย ภูมิพลังเกษตรกรไทย ราษฎร และพรรคเสรีธรรม พรรคละ 1 คน คิดเป็น 0.78% 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทยที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่นนั้น มาจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 46 คน คิดเป็น 35.94% รองลงมาก็คือ พรรคพลังเพื่อไทย จำนวน 19 คน คิดเป็น 14.84% และพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 17 คน คิดเป็น 13.28%

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นอดีต ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 49 คน ก็จะพบว่า มาจากพรรคพลังประชารัฐ มากที่สุด จำนวน 25 คน รองลงมาคือจากพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล จำนวน 12 คน ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเสรีรวมไทย พรรคละ 1 คน 

ส่วนผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 ที่มาจากการย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 74 คน พบว่ามาจากพรรคไทยพลังประชารัฐ มากที่สุด 21 คน รองลงมาก็คือพรรคเพื่อไทย 9 คน ตามมาด้วยพรรคไทยรักษาชาติ 8 คน 

ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นอดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 1 คน มาจากพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 มีจำนวน 4 คน มาจากพรรคความหวังใหม่ พรรคประชาราช พรรคราษฎร และพรรคเสรีธรรม พรรคละ 1 คน

ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ 



เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคภูมิใจไทยเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรคภูมิใจไทย 183 คน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้*

1. นักการเมืองระดับท้องถิ่น 85 คน คิดเป็น 46.45%

2. นักธุรกิจ 28 คน คิดเป็น 15.3%

3. ประกอบอาชีพส่วนตัว 27 คน คิดเป็น 14.75%

4. ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 25 คน คิดเป็น 13.66%

5. ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 22 คน คิดเป็น 12.02%

6. เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ 20 คน คิดเป็น 10.93%

7. เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น 10 คน คิดเป็น 5.46%

8. บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม 5 คน คิดเป็น 2.73%

9. นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/สังคม 4 คน คิดเป็น 2.19%

10. นักวิชาการ/นักวิจัย 3 คน คิดเป็น 1.64%

*ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 183 คนมาจากกลุ่มนักการเมืองระดับท้องถิ่นมากที่สุด 85 คน คิดเป็น 46.45% โดยเป็นอดีตคนที่ทำงานใน อบจ. อบต. ในตำแหน่งต่างๆ รวมไปถึงอดีตผู้สมัคร นายก อบจ. อบต. และ ส.อบจ. ส.อบต. อีกด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายพื้นที่ก็จะพบว่า ผู้สมัครหน้าใหม่ในประเภทนี้มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในทุกภาค

รองลงมาก็คือ นักธุรกิจ 28 คน คิดเป็น 15.3% ประกอบอาชีพส่วนตัว 27 คน คิดเป็น 14.75%

ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่นๆ 25 คน คิดเป็น 13.66% ซึ่งในหมวดหมู่นี้ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ช่วย ส.ส. หรือเคยทำงานให้พรรคการเมืองอื่นๆ มาก่อน ตามมาด้วย ข้าราชการ/หน่วยงานรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 22 คน คิดเป็น 12.02% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร ตำรวจ และหน่วยงานราชการอื่นๆ 

ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คน



เมื่อพิจารณาว่า ว่าที่ที่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คนจากพรรคภูมิใจไทย เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า เป็นหน้าใหม่มากที่สุด 40 คน โดยเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่เคยทำงานเป็นข้าราชการประจำ/หน่วยงานของรัฐ มาก่อนมากที่สุด รองลงมาก็คือนักการเมืองระดับท้องถิ่น และนักธุรกิจ 

อันดับต่อมาคือผู้สมัคร แบบบัญชีรายชื่อที่มาจากการย้ายพรรค และพรรคเดิม ซึ่งมีจำนวนเท่ากันที่ 29 คน ในส่วนของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย ที่มาจากการย้ายพรรคนั้น แยกเป็น พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย เท่ากันที่พรรคละ 7 คน พรรคประชาชาติ 3 คน พรรคเพื่อไทย 2 คน และพรรคความหวังใหม่ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ไทยรักษาชาติ ประชาธิปัตย์ ประชาภิวัฒน์ พลเมืองไทย พลังประชาชน เพื่อชาติ และอนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 1 คน 

และในส่วนของพรรคเดิมนั้น มาจากอดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 8 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 21 คน 

ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/ 

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง