’40 ยังเสว’ ความทรงจำ 40 ปี ‘ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์’ ที่เสวไม่จาง

“โปรดเถิดดวงใจโปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน

อย่าด่วนหลับนอนอย่าด่วนทอดถอน ฤทัย

จำเสียงของพี่ได้หรือเปล่า จำเพลงรักเก่าเราได้ไหม

เคยฝากฝังไว้แนบในกลางใจนาง”

ฉากร้องเพลงของ ‘ไข่ย้อย’ พ่อหนุ่มเซอร์ผมยาวรวบตึง ผู้ร้องเพลง ‘โปรดเถิดดวงใจ’ โดย ทูล ทองใจ บนเวทีงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ได้ไหม ‘เพื่อนสนิท (2548)’ ภาพยนตร์ที่ถือเป็นตำนานที่ใครหลายคนยังนึกถึงเสมอ ถึงแม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานาน เสียงแห่งความสุขและความทรงจำจากคนรุ่นก่อนยังคงตราตรึงและประทับในใจ 

จนมาถึงปัจจุบัน คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกลับมาแสดงความยิ่งใหญ่ในงาน มหกรรมดนตรีเฉลิมฉลอง 40 ปี ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในตอน “ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ 40 ยังเสว” ที่มาพร้อมกับบทเพลงดนตรีลูกทุ่งย้อนยุคเก่า-ใหม่ที่ยังคงความเสวตลอด 40 ปี

ความทรงจำ: จากคนรุ่นแรก

รองศาสตราจารย์ ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์รุ่นที่ 2 ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ What’s up Chiangmai ของ The infinity ว่า เมื่อย้อนกลับไปตอนนั้นคณะวิจิตรศิลป์มีนักศึกษาในแต่ละรุ่นเพียงห้าสิบคน ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่รวมกันมีมากกว่าหนึ่งพันคน เริ่มแรก ในปี พ.ศ.2529 งานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ได้กำเนิดขึ้น จากการรวมตัวกันของนักศึกษา เพื่อทำกิจกรรมสร้างความสามัคคีและหาทุนการศึกษา เนื่องจากนักศึกษาทุกคนต่างมีความสามารถในการร้อง การเต้น เล่นดนตรี ในปีแรกที่เราจัดขึ้นที่ศาลาอ่างแก้ว ในราคาบัตร 29 บาท การตอบรับถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก บัตรจำนวน 500 ใบหมดเกลี้ยง จึงต้องใช้ยางลบก้อนมาแสตมป์เป็นบัตรเข้างานมาแก้ไขเฉพาะหน้า โดยเสน่ห์ของงานลูกทุ่งวิตรศิลป์ คือนักศึกษาทุกชั้นปีมีส่วนร่วมในการทำงาน   

ความทรงจำ: จากรุ่น 40 ปียังเสว

ปาลิดา เม็นไธสง นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และนายวงกิจกรรมมหกรรมดนตรี 40 ปี ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ ตอน 40 ยังเสว กล่าวถึงแนวคิดของการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ของคณะวิจิตรศิลป์ว่า เป็นการนำดนตรีเพลงลูกทุ่งผสมผสาน Artwork แบบ Digital Street นำมา Mix & Match กับเพลงลูกทุ่งยอดฮิตในอดีตถึงปัจจุบัน โดยภายในงานนอกจากแสง สี เสียง จากคอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่งแล้ว ยังมีอาหาร เครื่องดื่ม และงานศิลปะให้เลือกซื้อกันได้  ปาลิดากล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเขามีความรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็นส่วนนึงในการจัดงานนี้ เพราะเป็นกิจกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ถึงความเป็นคณะ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และความสนุกสนาน อีกทั้งยังเป็นสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องในคณะ และ คณาจารย์ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันรวมถึงเจ้าหน้าที่และบุคลากรภายในคณะอีกด้วย  

โดยคำว่า เสว ที่ประกอบในชื่อของตอนในปีนี้ เป็นแสลงที่มาจากคำว่า เสียว เป็นการเล่นคำให้มีลูกเล่น และมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

ความทรงจำ: จากดวงใจของโฆษก

เกียรติศักดิ์ อินเมฆ ตำแหน่งโฆษก 4 สมัยซ้อนของงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ กับความทรงจำที่ไม่เลือนรางไปเลยสักนิด ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ถือได้ว่าสร้างตำนานไว้อย่างมากมาย โดยเกียรติศักดิ์เล่าว่า บรรยากาศในปีแรก พ.ศ. 2529 ที่โรงหนังฟ้าธานีควบกับหนัง ผีเสื้อและและดอกไม้ เป็นการจัดงานง่าย ๆ อุปกรณ์ดนตรียังไม่พร้อมมากนัก เรื่องของเสื้อผ้าก็ต้องนำมาตัดเย็บเองจากเศษผ้าร้านของเพื่อน แต่มีความสนุกสนาน และมีการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมงาน ฮือฮาขนาดเขาขี่มอเตอร์ไซต์ไปในมหาวิทยาลัย สาวแมสคอมปี 1 ชวนไปกินข้าว เขากล่าวปนเสียงหัวเราะ ไปไหนก็มีแต่คนทัก ด้วยเอกลักษณ์ผมยาวของหนุ่มวิจิตรศิลป์

ปี พ.ศ.2530 ที่โรงหนังสุริวงศ์กับหนัง เพื่อนแพง ปีนี้คนก็รอติดตามกันแล้ว เพื่อนแพง 2531 กับหนังเรื่อง อินทรีทอง ที่ศาลาอ่างแก้ว ไม่ต้องไปเสียค่าเช่า เกิดอุบัติเหตุคือ กำลังเล่นดนตรีอยู่แล้วไฟดับ แก้ปัญหาโดยการที่แม่ค้าขายส้มตำ เอาไฟจากหน้ารถมาส่องบนเวทีให้เรา พวกนักดนตรีก็บรรเลงเพลงคลอไปก่อนช่วยกัน กับลูกทุ่งเต็มวงที่ศาลาอ่าง เป็นครั้งที่มีการจัดงานยิ่งใหญ่ มีซุ้มยาดอง ในสมัยนั้นที่ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ในมหาวิทยาลัยได้ ช่วงฟังเพลงลูกทุ่งสนุกสนานกันทั้งคืน และปี พ.ศ.2532 ก็มีเพิ่มเติมเป็นการจัดประกวดร้องเพลง 

ความทรงจำของเราคือการตอบรับที่ดีจากผู้ชม คณะวิจิตรศิลป์กลายเป็นที่รู้จัก เป็นที่หมายปองของสาว ๆ  เกียรติศักดิ์พูดปนตลก พร้อมกับเสียงอุทานแทรกออกมา เพราะในระหว่างการสัมภาษณ์มีคู่ใจข้างเคียงเป็นสาวแมสคอมร่วมสนทนาอยู่ด้วย จริง ๆ แล้วความประทับใจคือการได้พบปะกับผู้คนที่หลากหลาย ช่วงหลังถึงแม้เราไม่ได้ทำตรงนี้แล้ว อาจจะมีได้รับเชิญไปขึ้นบนเวทีในปีหลัง ๆ บ้าง แต่ก็ยังเป็นความทรงจำที่ดีเสมอพอย้อนกลับไปในเวลานั้น

ความทรงจำ: จากนายวง ที่ไม่คิดเคยลืม

“ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ เป็นความทรงจำที่น่าชื่นใจที่สุดในมช.ของพี่แล้ว” 

สันติ วิกาหะ อดีตนายวงลูกทุ่งวิจิตร ปี พ.ศ.2532 กล่าวถึงนิยามของความเป็นลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ว่า ทุกอย่างคือความทรงจำที่ดี มันไม่ได้หมายถึงลูกทุ่งวิจิตรศิลป์อย่างเดียว แต่รวมไปถึงผู้คนที่เข้ามาข้องเกี่ยว เข้ามาร่วมงานในสมัยนั้น มันเต็มไปด้วยความปราบปลื้มใจทั้งหมด เขายังจำความรู้สึกว่า พองานมันเลิกแล้ว ยังนั่งยิ้มเป็นชั่วโมง นั่งมองอยู่กับเวที จอหนัง คนนี้ คนนั้น เขามาช่วยกันเก็บของ เก็บกวาดขยะ ก่อนที่เราจะตื่นมาตอนเช้าด้วยความ 

“กูน่าจะดังในคืนเดียวแล้ว”

ย้อนกลับไปในอดีต เพลงลูกทุ่งยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แทบจะหาคนฟังได้ยาก เพราะส่วนใหญ่วัยรุ่นมักจะฟังเพลงสตริง ยุค 90 ในการทำงาน สันติมีหน้าที่เป็นคนหาเพลงทั้งหมดที่จะเล่น ซึ่งสรุปได้ว่าจะเล่นเพลงเก่าในยุคทองของลูกทุ่ง ยุคครูสุรพล ชาตรี ศรคีรี แม่ผ่องศรี ซึ่งในปี พ.ศ.2532 ก็ถือได้ว่าเป็นเพลงตกยุค ด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์เครื่อวดนตรี และงบประมาณ ทำให้ต้องมีการแก้ไข พลิกแพลงตามบริบท โดยการไปเจรจาขอนักดนตรีจาก CMU Band ให้พวกเขามาช่วยเล่นดนตรีประเภทเป่า ตอนนั้นยังมีรุ่นพี่ทั้งมือเบส มือกลอง มือแอคคอเดียน ต่างช่ำชองในการเล่นกันมาหลายปี สามารถไว้ใจฝีไม้ลายมือได้เป็นอย่างดี แต่ในการเล่น 16-20 เพลง ต้องซ้อมเป็นเดือน ๆ สันติกล่าวด้วยความปลื้มใจว่า ต้องใจมาก ๆ ถึงจะเล่นเพลงมากขนาดนั้น

คืนซ้อมใหญ่ ที่ศาลาอ่างแก้วติดตั้งแผงฉากรูปวาดสวยงามฝีมือน้อง ๆ รุ่น 6 ที่รับหน้าที่ออกแบบบัตรและเวทีแสดง เครื่องฉายและจอหนังถูกเซ็ตให้อยู่ตรงข้ามหันหน้าเข้าเวที บนเวทีมีโพเดียมของนักดนตรีแต่ละคน เป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ที่เต็มรูปแบบครั้งแรก แค่ซ้อมใหญ่ผมก็อิ่มเอมมากแล้ว การได้เห็นนักร้องนักดนตรีวงใหญ่ซ้อมพร้อมกันมันโคตรแกรนด์ เป็นครั้งแรกที่เล่นเต็มวง หลังจากที่ผ่านมา เครื่องเป่าเขาทำโน้ตแยกซ้อมของเขาเอง

อีกหนึ่งตำนานงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ ปี พ.ศ.2532 วันแสดง ศาลาอ่างแก้วถูกล้อมด้วยผ้าใบลายขาวน้ำเงิน เพลงบรรยากาศคือเพลที่จะเล่นในคืนนั้นทั้งหมดเปิดวนไป สันติอยู่ศาลา ตื่นเต้นมาก คอยถามไถ่คนที่เพิ่งมาถึงว่าข้างนอก “เป็นไงบ้าง จะมีคนมาดูเยอะไหมวะ” เพราะบัตรขายไปเพียงส่วนหนึ่ง ที่เหลือเอามาขายหน้างาน การแสดงตั้งแต่ต้นจนจบเรียกเสียงปรบมือ เสียงฮา เสียงกรี๊ด สลับกันไปมา ช่วงที่กรี๊ดดังที่สุด น่าจะเป็นช่วงที่ข้างนอกฝนตกหนักลมแรง จู่ๆ ‘ไฟดับ’

“บางครั้งธรรมชาติมันก็เปิดโอกาสให้เราสร้างความประทับใจอย่างไม่คาดคิดมาก่อน”

ในตอนแรกที่มีรู้สึกใจเสียอยู่บ้าง เพราะเพิ่งแสดงได้ไม่ถึงครึ่งทาง พวกเราอยู่ท่ามกลางความมืดและเสียงเซ็งแซ่ของคนดูอยู่หลายนาที คนดูไม่หนี เพราะไปไหนไม่ได้ ข้างนอกทั้งฝนทั้งลม ขนาดโต๊ะเครื่องเซ่นนอกศาลายังปลิวไม่เหลือ ทันใดนั้น ผ้าใบด้านหนึ่งข้างเวทีก็เปิดออก พร้อมกับรถแห่เมื่อตอนเย็นขับเข้ามาจอดเทียบเวที อาศัยเสียงไมค์จากรถแห่ ทั้งกลองและเครื่องเป่าก็เริ่มบรรเลงเพื่อทำลายความเงียบที่ไร้จุดหมาย จึงเล่นสด ๆ เล่นเพลงที่พอจะนึกออก ไม่ได้ซ้อมมาก่อน คนดูนั่งปรบมือร้องตาม ขณะที่สันติยืนลุ้นข้างเวที ตอนนี้เขาไม่มีแผนสำรองอะไรอีกแล้ว นอกจากรอว่าเมื่อไหร่ไฟจะมา ผ่านไปไม่เกินครึ่งชั่วโมงไฟก็มา ท่ามกลางความโล่งใจของทุกคน ถึงตอนนั้นเหมือนสนุกขึ้นกว่าเดิม ต้องรีบตักตวงความสุขทุกนาทีให้คุ้มค่า เพราะไม่แน่ใจว่า ไฟจะดับอีกเมื่อไหร่

สันติ วิกาหะ ผู้ที่มีความผูกพันกับลูกทุ่งวิจิตรศิลป์มายาวนาน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า 30 กว่าปีแล้ว เขาไม่สามารถจำรายละเอียดทุกคิวการแสดง มันล่องลอยเหมือนดรายไอซ์ที่เรี่ยพื้นเวที ถึงจะเลือนรางแต่เป็นสุข และขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นทุกท่าน และใครหลายคนที่ได้พบปะพูดคุยกันเพื่อเป็นความทรงจำของกันและกัน เขาเพิ่มเติมว่างานประกวดร้องเพลงในค่ำคืนนั้น ผู้ที่ชนะได้แก่ นิพนธ์ สุวรรณรังษี หรือดีเจลูกหมู FM.100 รายการมาลัยลูกทุ่งที่ใครหลายคนคุ้หู รวมไปถึงเพื่อนรูมเมท อภิชาติ แสงไกร หรือหนึ่ง นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ปี พ.ศ.2532 ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในงานครั้งนั้น เห็นดีเห็นงามกับเขาทุกเรื่อง ถึงแม้จะจากไปแต่ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าในช่วงเวลานั้นเสมอ

ความทรงจำ: จากนักร้องรางวัลชนะเลิศ

“แม้แต่คนที่ไม่ชอบเพลงลูกทุ่ง แต่ถ้าเขามาอยู่ในบรรยากาศของงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ มันคือความประทับใจที่ไม่อยากให้งานมันจบ”

หากใครได้อ่านบทความของสำนักข่าว Lanner ของเรา คงเคยเห็นบทสัมภาษณ์ดีเจลูกหมู นิพนธ์ สุวรรณรังษี มาบ้าง ดีเจคลื่น FM.100 ของคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากจะมีความสามารถในการจัดรายการแล้ว ยังมีดีกรีได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์อีกด้วย ถึงแม้จะเรียนแมสคอม แต่ก็มีความผูกพันด้านดนตรี เนื่องจากเป็นหัวหน้า CMU Band นำนักดนตรีไปช่วยวงให้ใหญ่ขึ้น และการประกวดร้องเพลง ถึงแม้ในช่วงที่ผันตัวจากนักศึกษาไปเป็นดีเจแล้ว ยังให้การสนับสนุนเรื่องแผ่นเทป อัดเทป รวมถึงการเป็นแขกรับเชิญบนเวที สำหรับเขาแล้ว ลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ เสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแหล่งความทรงจำ ความสุข ความสนุกสนาน ที่ใครหลายคนต่างก็เฝ้ารอคอยให้มีการจัดงานขึ้น

งานลูกทุ่งวิจิตรศิลป์ถือได้ว่าเป็นงานที่เริ่มต้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ที่อยากต้องการโชว์ของฝีไม้ลายมือในการร้องเล่นเต้นเพลงลูกทุ่งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ของกลุ่มนักศึกษา และศิษย์เก่า จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ร่วมกันผลักดันความเสวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ปี และในปีนี้เป็นครั้งที่ 14 ที่ถึงแม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 40 ปี แต่ก็ยังคง ความสนุกสนาน ความเมามันส์ ความสร้างสรรค์ และความเสว ของชาววิจิตรศิลป์ไม่ให้จางหายไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง