บริเวณภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบนในปัจจุบันมีแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถึง 4) แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย 2) อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย 3) อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและที่ล่าสุด 4) อุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ
นอกเหนือไปกว่านั้นยังมีเมืองโบราณคดีในพื้นที่นี้อีกหลายแห่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางนัก อาทิเช่น อุทยานเมืองเก่าพิจิตร เมืองโบราณเวสาลี ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่บทความนี้พยายามจะเขียนถึงคือเมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติศาสตร์ของเมืองตาคลีมีความน่าสนใจและค่อนข้างมีความหลากหลาย สามารถสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (รอยต่อของยุคเหล็กกับวัฒนธรรมทวารวดี) แต่ถึงกระนั้น เมืองนี้ถูกข้ามมาอธิบายอีกครั้งในยุคพัฒนาและสงครามเย็น ผ่านละคร สารคดี วรรณกรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย บทความนี้จึงเปิดประเด็นอีกแง่มุมหนึ่งที่คนมักไม่ค่อยพูดถึงกันมากนัก คือแหล่งโบราณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้
ทำความรู้จักเมืองโบราณจันเสนและยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์
เมืองโบราณจันเสนตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านเรียกว่า “โคกจันเสน” เนื่องจากเมืองโบราณมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมุมมนจนเกือบเป็นวงกลมและมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สูงกว่าบริเวณโดยรอบ เกิดจากการขุดคูน้ำล้อมรอบจากนั้นจึงนำดินที่ขุดคูน้ำนั้นมาถมพื้นที่ในเมืองบางส่วนแทนการสร้างคันดินสูงที่มักพบได้จากทั่วไปตามเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกัน เมืองนี้มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งใต้สุดของจังหวัดนครสวรรค์ [1]
ภายนอกคูเมืองโบราณจันเสนด้านทิศตะวันออกมีบึงน้ำรูปสีเหลี่ยมพื้นผ้าขนาดใหญ่เรียกว่า “บึงจันเสน” คันบึงด้านทิศใต้มีคันดินโบราณที่เรียกว่า “คันคูหณุมาณ” สันนิฐานว่าน่าจะเป็นคันดินรับน้ำหลากจากพื้นที่ทางเหนือให้ไหลสู่บึงจันเสน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดการน้ำที่ใช้ได้ตลอดทั้งปี ส่วนด้านอื่น ๆ มีสระน้ำ หนองบึงและเส้นทางน้ำจำนวนมาก มีคูน้ำสายสั้น ๆ และทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศะวันตกเฉียงใต้มีคลองที่ต่อเนื่องมาจากคูเมือง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “คลองบ้านคลอง” [2]
เมืองนี้นักโบราณคดีหลายคนระบุว่าเป็นเมืองสมัยทวารวดีตอนต้นที่ค่อนช้างเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีพัฒนาการมาจากชุมชนยุคโลหะตอนปลายจนมาถึงสมัยทวารวดีซึ่งเมืองนี้เป็นช่วงรอยต่อยุคโลหะ อันมีหลักฐานที่สำคัญคือเครื่องปั้นดินเผา และเศษภาชนะเดียวกันกับที่พบได้ในอินเดียและแคว้นฟูนัน
ในขณะเดียวกัน ยังพบเครื่องปั้นดินเผาขนาดพิเศษคือ สิงโตเผา รูปปั้นขนาดเล็กเป็นรูปพระนางลักษมีหรือพระนางสิริมหามายา และยังพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมากมีความพิเศษคือ เป็นไหตกแต่งด้วยลวดลายที่ประทับลงไป พบได้ที่จันเสนและลพบุรีเท่านั้น[3]
ปัจจุบันนี้ไม่พบซากโบราณสถานภายในเมืองเนื่องจากมีการขุดทำลายจนหมด แต่ก็ยังปรากฏหลักฐานเช่น อิฐดินเผา เศษปูนปั้น หลงเหลืออยู่บ้างทำให้ทราบว่าเคยมีโบราณสถานมาก่อน ชาวบ้านในโคกจันเสนพบวัตถุบริเวณผิวดินและใต้ดินเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม การลักลอบขุด และการซื้อขายโบราณวัตถุ ทำให้โบราณจากเมืองโบราณจันเสนหายไปเป็นจำนวนมาก[4] มีเพียงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในวัดจันเสน บริเวณชั้นล่างของพระมหาธาตุเจดีย์จันเสน โดยจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและโบราณวัตถุเพียงเท่านั้น
ประวัติศาสตร์ของการขุดค้นเมืองโบราณจันเสนสมัยสงครามเย็น
เบน แอนเดอร์สัน[5] (Benedict Anderson) กล่าวถึงกำเนิดของวิชาโบราณคดีในยุคอาณานิคมช่วงศตวรรษที่ 19 (พ.ศ.2300-2400) การเข้ามาขุดค้นบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่าง ๆ ในดินแดนอาณานิคม ไทยได้ประโยชน์จากตรงนี้ถึงแม้จะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมในทางตรงก็ตาม
เมื่อเกิดการสำรวจศึกษาทางโบราณคดีแล้ว สิ่งที่ตามมาคือโบราณสถานได้ถูกสร้างความเป็นประวัติศาสตร์และเผยแพร่ความรู้นี้ไปสู่ประชาชน พิพิธภัณฑ์คือเครื่องมือหนึ่งของรัฐที่จะทำให้มองเห็นถึงจินตนาการความเป็นรัฐชาติที่ถูกผลิตไว้แสดงต่อประชาชนในชาติรวมไปถึงนักท่องเที่ยว [6]
เมาริซิโอ เปเลจจี [7] อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ พยายามเสนอว่าองค์ความรู้ทางโบราณคดีไทยนั้นมาพร้อมกับสภาวะอาณานิคมทางความรู้จากสหรัฐอเมริกาช่วงเวลาสงครามเย็น ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงซึ่งเมืองโบราณคดีหลายแห่งถูกขุดค้นกันอย่างจริงจังในช่วงเวลานี้ เมืองโบราณจันเสนก็เป็นเมืองโบราณแห่งหนึ่งที่ขุดค้นในช่วงเวลานี้ด้วยโดยขุดค้นในปี 2509 โดยนายเบรนเนท บรอนสัน และกรมศิลปากร
ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม[8] ให้ความเห็นต่อการขุดค้นในครั้งนั้นเมื่อปี 2542 ว่า “ความเด่นของชุมชนจันเสนมีที่มาจากการที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นเมืองโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทวารวดีกับวัตถุมงคลของเจ้าอาวาสวัดจันเสน คือ หลวงพ่อโอด (พระครูนิสัยจริยคุณ) กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิวาเนีย สหรัฐอเมริการ่วมมือกันขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองโบราณจันเสน แต่ภายหลังการขุดค้น แสดงผลงานทางโบราณคดี และตีพิมพ์รายงานทางให้เป็นที่รู้จักของผู้คนแล้ว ทุกสิ่งก็คืออยู่ในสภาวะปกติก็คือ ความเงียบงันที่ผสมผสานไปกับการสูญสลายของหลักฐานทางโบราณคดีเพราะกรมศิลปากรได้รวบรวมเอาสิ่งของที่พบได้ไปเก็บไว้เป็นของรัฐหมด ในขณะเดียวกันก็มีพ่อค้านักเล่นของเก่าเข้ามาซื้อของเก่าจากชาวบ้าน”
น่าสนใจที่ว่าศรีศักดิ์พูดเรื่องปัญหาของเมืองโบราณที่หายไปอันเกิดจากรัฐไม่ให้ความสำคัญกับแหล่งโบราณคดีเล็ก ๆ มามากกว่า 20 ปีแล้ว ในช่วงเวลาหนึ่งมีการขุดค้นเพื่อ “ขุด” หาอดีตมาใช้การดำรงอยู่ของชาติ แต่พอถึงจุดอิ่มตัวก็ละทิ้งเรี่ยราดประหนึ่งว่าไม่มีความหมายใด ๆ และปล่อยให้ชุมชนดูแลกันเอง ท้ายสุดแล้ว ยังมีแหล่งโบราณที่ยังไม่เป็นที่รู้จักอีกมาก และเมืองโบราณที่ไม่ค่อยรู้จักนี้เองอาจช่วยเพิ่มมิติของประวัติศาสตร์ให้หลากหลายมากกว่าที่รับรู้กันอยู่แต่เดิมก็อาจเป็นไปได้
อ้างอิง
- ข้อมูลจาก มูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์, https://lek-prapai.org/home/view.php?id=499 (เข้าถึงเมื่อ 20/4/2567).
- เรื่องเดียวกัน (เข้าถึงเมื่อ 20/4/2567).
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), จันเสน-พิพิธภัณฑ์จันเสน, https://communityarchive.sac.or.th/community/Chansen (เข้าถึงเมื่อ 20/4/2567).
- ข้อมูลจาก มูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์, https://lek-prapai.org/home/view.php?id=499 (เข้าถึงเมื่อ 20/4/2567).
- เบน แอนเดอร์สัน, ชุมชนจินตกรรม: บทสะท้อนว่าด้วยกำเนิดและการแพร่ขยายของชาตินิยม, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการแปล (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)
- เรื่องเดียวกัน, หน้า326-339.
- เมาริซิโอ เปเลจจี, การขุดค้นยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุค สงครามเย็น: โบราณคดีอเมริกันในประเทศไทยที่เป็นอาณานิคมใหม่. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ฉบับที่1 ปี2564.
- ศรีศักร วัลลิโภดม, เปิดประเด็น : ภราดรภาพที่จันเสน, มูลนิธิเล็กประไพ วิริยะพันธุ์, https://lek-prapai.org/home/view.php?id=505&fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR0qhhxdQykcET2Jc0StqEscvY_E-glR5N-UDGpK3OyvUVIKm8dOlxl1y6w_aem_Aen1Ya2ke6oUUlIWOdMIv0uSY6VLHb1X-faXL_xf9U3XlRCZ-AdDWXdPUkkgTC3xQBGkTQu8v2tcbjYisdomOZHD. (เข้าถึงเมื่อ 20/4/2567).
ชอบอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดา และงานวรรณกรรมวิจารณ์ ตื่นเต้นทุกครั้งที่อ่าน มาร์กซ์ ฟูโกต์ และแก๊ง post modern ทั้งหลาย ใช้สมุนไพรเป็นเครื่องช่วยเยียวยาจิตใจในโลกทุนนิยมอันโหดร้าย