เปิดตัวนิทรรศการ “อยู่กับป่า” สะท้อนวิถีคนอยู่กับป่า และการผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

24 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการ “สู่นโยบายเอื้ออนุรักษ์มรดกทางสิ่งแวดล้อม: แรงผลักดันจากปฏิบัติการของชนพื้นเมืองในประเทศไทย” พร้อมทั้งการจัดนิทรรศการภาพถ่ายหัวข้อ ‘อยู่กับป่า’ (Living with the Forest) เพื่อแสดงภาพถ่ายที่สะท้อนวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ซึ่งรุ่มรวยไปด้วยภูมิปัญญาของสองกลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอบ้านสบลาน บ้านแม่ยางห้า ม้งบ้านแม่สาน้อย แม่สาใหม่และบ้านหนองหอยเก่า

ภายในงานมีเวทีเสนอผลลัพธ์การศึกษาเพื่อยกระดับความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมของทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็น “มรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อม” ซึ่งมีรากฐานมาจากการสรุปความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา วิถีชีวิต สำนึกร่วมในการอยู่กับป่า และกระบวนการสืบทอดวัฒนธรรมการปกป้องรักษาผืนป่าต่อคนรุ่นหลัง และระบุถึง กระบวนการสร้างความเข้าใจต่อสังคมวงกว้างเป็นเรื่องจำเป็น เพราะยังพบการตีตราผ่านวาทกรรม ‘ชาวเขาเผาป่า’ ‘ไร่เลื่อนลอย ภาพลบ อคติตีตราไร่หมุนเวียน’ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการใช้อำนาจกฎหมายของรัฐอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อสร้างทางเลือกที่เป็นทางออกของประเด็นขัดแย้งเรื่องพื้นที่ทำกินกับวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า 

ทั้งนี้คณะวิจัยในโครงการประกอบไปด้วย Asst. Prof. Dr. Marco J. Haenssgen, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ ,รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา, Asst. Prof. Dr. Ta-Wei Chu จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันชวนพูดคุยถึงผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายจากโครงการ “Towards Heritage-Sensitive Conservation Policy: Impulses from Indigenous Practice in Thailand”

18.00 น. วงเสวนาในหัวข้อ “โอกาสการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์” ซึ่งเป็นการร่วมกันหาแนวทางการผลักดันความรู้ภูมิปัญญาการอยู่กับป่า ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกับป่า และรัฐก็ได้ประโยชน์จากการมีผู้ร่วมดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ใกล้ชิดติดพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกร้อนฉบับประชาชน และ การอนุมัติร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

ศรีโสภา โกฏคำลือ สส. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อุปสรรคที่จะเข้ามาคุกคามพี่น้องชาติพันธ์ุคือการคุกคามของเทคโนโลยี ยกตัวอย่างพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีการทำไร่แบบวิถีชีวิตดั้งเดิมไม่มีการใช้สารเคมี แต่การทำเกษตรแบบรุ่นใหม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิปัญญาของพี่น้องชาติพันธุ์ อีกทั้งยังมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ยกตัวอย่างอำเภออมก๋อย มีการประท้วงการทำแร่ดีบุกซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ต้องย้ายถิ่นฐานและต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต สุดท้ายการผลักดันเรื่องเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้หากขาด สส. หลายพรรคที่ร่วมกันสนับสนุน ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยกำลังเร่งผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และเพิ่มงบประมาณสนับสนุนแก่ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร เพื่อทำข้อมูลและทำวิจัยพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ 

ศรีโสภา โกฏคำลือ

อรพรรณ จันตาเรือง สส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทุกส่วนมีความพยายามยกระดับภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่ท้าทายคือผลลัพธ์ที่อาจเป็นปัญหาขึ้น เนื่องจากเด็กรุ่นหลังที่เรียนแล้วส่วนมากไม่กลับมาอยู่ในพื้นที่เดิมของตัวเองและคนในพื้นที่ส่วนมาเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าหากจะสืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมดั้งเดิมต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่ต้องกลับไปพื้นที่เดิมของตัวเอง เมื่อกลับไปก็อยากลงทุนทำธุรกิจหรือใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ที่นอกเหนือจากการเกษตร แต่กลับติดปัญหาทางด้านกฎหมายที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองได้ ดังนั้นต้องอาศัยคนหลายกลุ่มช่วยผลักดันด้านกฎหมายเพื่อเปิดทางให้พี่น้องชาติพันธุ์สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้

อรพรรณ จันตาเรือง

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ความท้าท้ายสำคัญคือกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีที่เกิดขึ้นกับบ้านสบลานจะพบได้ว่าการปะทะกันในพื้นที่ทางกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วเป็นการปะทะกันของอุดมการณ์ความเชื่อ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องปะทะกันไปอีกนาน จึงต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มคนภายนอกด้วยไม่เพียงแค่ในสภาอย่างเดียว 

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการภูมิวัฒนธรรม ประจำวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่ามี 7 ประเด็นที่นำมาแลกเปลี่ยน 1.การจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นคนกับธรรมชาติ หรือคนกับคน ความจริงแล้วเป็นมรดกของชาติและของโลก โดยถ้าเราอยู่ในสังคมที่มองเห็นคุณค่าของความหลากหลาย เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาทั้งหลาย เราจะไม่ต้องมาคุยเรื่องนี้กัน แต่กลายเป็นว่าสังคมเรามองความแตกต่างมองความหลากหลายเป็นภัยของสังคม และพยายามให้สังคมเป็นหนึ่งเดียว จึงทำให้มรดกที่เป็นภูมิปัญญาหรือเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์นั้นกลายเป็นชายขอบและไม่ถูกยอมรับ เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม 2.การไม่ยอมรับจากคนภายนอกยังส่งผลให้คนภายในไม่รู้จักตระหนักในองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาที่มีอยู่ คนภายในไม่กล้าใช้ไม่กล้าทำภูมิปัญญาเพราะกลัวผิดกฎหมายและถูกจับ กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม ทำให้เห็นว่ามรดกทางภูมิปัญญาหรือวิถีชีวิตจากบรรพบุรุษมันนำมาใช้ไม่ได้ในสังคมยุคนี้ 3.นอกจากสังคมไม่ยอมรับแล้ว ยังไปด้อยค่า ขัดขวาง และลดทางเลือก หลายชุมชนอยากทำวิถีแบบดั้งเดิมแต่กลับไม่มีทางเลือกเพราะจะถูกดำเนินคดี 4.เราต้องยกระดับให้กลายเป็นมรดกของชาติในสังคมนี้ ซึ่งหลายประเทศได้ให้ไร่หมุนเวียนเป็นมรดกของชาติไปแล้ว ทำให้เราต้องยกระดับอำนาจการตัดสินใจของคนในท้องถิ่น มรดกเหล่านี้มันถึงจะยกระดับไปด้วย 5.ต้องมีพื้นที่ในการปฏิบัติการที่จะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นมรดกของชาติ เพื่อให้นำมาสู่ในชีวิตจริงไม่เพียงแต่อยู่ในกระดาษ 6.การยกเป็นมรดกของชาติจะต้องมีพลังของตัวมัน ต้องมีกฎหมายรองรับการใช้ได้อย่างปลอดภัย และต้องไม่ถูกแช่แข็ง สามารถพัฒนาเติบโตต่อไปได้ 7.ต้องเปลี่ยนวิธีคิดทุกคนในสังคม โดยใช้หลัก 3 ศัก คือ ศักดิ์สิทธิ ศักดิ์ศรี และศักยภาพ 

สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

โดยโครงการวิจัยนี้ มีข้อเสนอให้ยกระดับความรู้ภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมทางสิ่งแวดล้อม ที่คนชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมในพื้นที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดกระบวนการส่งต่อความรู้ สร้างความเข้าใจในสังคมวงกว้าง และสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการภาพถ่าย จัดแสดง ณ​ เวิ้งคุณนลี (หลังมช.) ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2567 สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ 

สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการภาพถ่ายได้ที่ คุณนานา 099-103-0823 บริษัท ไทยคอนเซนท์จํากัด หรือข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยได้ที่ คุณไอซ์ 061-843-8885 นักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง