จากโรงไฟฟ้าหงสาถึงวาระการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ทุนพลังงานไทยที่ไม่เคยหายไปไหนในร่าง PDP2024

แผน PDP2018 หรือแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับปี พ.ศ.2561-2580 ระบุว่า ภาคเหนือตอนบนพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นหลัก โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักของภาคเหนือตอนบนมีอยู่ 2 โรงไฟฟ้าด้วยกัน ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าในประเทศไทย 1 แห่ง คือโรงไฟฟ้าแม่เมาะ อันเป็นโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีกำลังการผลิตอยู่ราว 2,180 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าอีก 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าความร้อนหงสา เครื่องที่ 1-3 เป็นโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว ที่ กฟผ. มีสัญญาซื้อขาย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1,473 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าหงสาได้รับการเปิดเผยว่า เป็นโรงไฟฟ้าที่กลุ่มทุนในประเทศไทยมีสัดส่วนการร่วมลงทุนสูงมาก และเพิ่งได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปเมื่อปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มทุนของประเทศไทยที่ร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสาต่างได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายไฟฟ้าในสัญญาดังกล่าว

(โรงไฟฟ้าหงสา รูปภาพจาก Green News https://greennews.agency/?p=23255)

สำหรับโรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างข้อถกเถียงในกลุ่มภาคประชาสังคมและกลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาผลกระทบจากการพัฒนาอย่างมาก ทั้งจากประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในพื้นที่ มิหนำซ้ำโรงไฟฟ้าหงสายังนับได้ว่าสร้างผลกระทบระดับที่กว้างกว่านั้น เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะผลกระทบระดับข้ามชาติ/ข้ามพรมแดน และผลประโยชน์แอบแฝงในการลงทุนข้ามชาติของกลุ่มทุนไทย

สถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อเสวนาในหัวข้อ ความเสี่ยงข้ามแดนและการกำกับดูแลอนาคตร่วมกันของอาเซียน: กรณีโรงไฟฟ้าหงสา สมพร เพ็งค่ำ หนึ่งผู้ร่วมเสวนาและเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนจากกรณีโรงไฟฟ้าหงสาได้เผยให้เห็นว่า นอกจากชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าหงสาแล้วหมู่บ้านน้ำรีพัฒนาและน้ำช้างพัฒนา ซึ่งเป็นหมู่บ้านในจังหวัดน่านที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทย-ลาวต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าหงสาส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนข้ามชาติของกลุ่มทุนไทย เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศลาวโดยที่มีผลประโยชน์แอบแฝง

โรงไฟฟ้าหงสาในประเทศลาวถือได้ว่าสัมพันธ์กับกลุ่มทุนในประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสามีบริษัทในประเทศเป็นผู้ถือหุ้นกู้อยู่กว่าร้อยละ 80 ของหุ้นทั้งหมด ประกอบด้วยบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 40 และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 40 เช่นกัน ส่วนหุ้นอีกร้อยละ 20 ที่เหลือรัฐวิสาหกิจของประเทศลาวเป็นผู้ถือ นอกจากโรงไฟฟ้าแล้วกลุ่มทุนไทยทั้ง 2 ยังถือหุ้นเหมืองขุดเจาะถ่านหินลิกไนต์ที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าหงสาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับสัดส่วนโรงไฟฟ้าหงสาด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นธนาคารที่เป็นแหล่งเงินกู้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าหงสาก็เป็นธนาคารของประเทศไทยมากถึง 9 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์ กรุงไทย กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ธนชาต และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) เราจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มทุนในประเทศไทยจำนวนมากที่ร่วมกันลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสา โดยกลุ่มทุนไทยเหล่านี้ถือหุ้นกว่าร้อยละ 80 แถมยังมีสถานะเป็นผู้ให้กู้อีกด้วย

(รูปจาก Posttoday https://www.posttoday.com/business/402188)

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2564 ดำเนินการจนมีกำไรกว่า 1,175 ล้านบาท โดยกำไรส่วนใหญ่มาจากการดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าหงสาร่วมกับเหมืองภูไฟที่กำไรอยู่ที่ 1,112 ล้านบาท หรือเกินร้อยละ 90 จากกำไรทั้งหมดที่บริษัทดำเนินกิจการในไตรมาสดังกล่าว ขณะที่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่บริษัทได้ลงทุนกลับฟันกำไรได้เพียง 20 ล้านบาท ดังนั้นกำไรบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ เกือบทั้งหมดในปี พ.ศ. 2564 มาจากโรงไฟฟ้าหงสา จนหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นในคำนิยามหุ้นของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ ว่า “หงสาฯ พารวย”

สำหรับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ แล้วโรงไฟฟ้าหงสาดูจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ฟันกำไรโดยตลอดมา และเปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของบริษัทที่สูบฉีดกำไรให้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ในปี พ.ศ. 2565 ที่กำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาช่วยพยุงให้บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ ยังคงฟันกำไร แม้จะมีผลประกอบการที่ขาดทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในประเทศจีน ยิ่งตอกย้ำว่าโรงไฟฟ้าหงสาช่วยหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนกำไรในกับบริษัทหงสาเพาเวอร์ แม้บริษัท บ้านปูเพาเวอร์จะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าอื่น ๆ แต่ก็ยังอาจปฏิเสธความผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากโรงไฟฟ้าหงสา

ในส่วนของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าหงสาอยู่อีกร้อยละ 40 ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าหงสา พร้อมกันนี้บริษัท ราช กรุ๊ป ยังเป็นบริษัทที่ผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งคือ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตมาจากโรงไฟฟ้าหงสาอีกด้วย แม้บริษัท ราช กรุ๊ป จะมีโรงไฟฟ้าที่ตัวบริษัทเข้าไปถือหุ้นหลักหรือเป็นเจ้าของจำนวนมาก แต่โรงไฟฟ้าหงสาก็ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าสำคัญที่ป้อนกำไรให้กับบริษัท เห็นได้จากการที่โรงไฟฟ้าหงสาต้องปิดปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ.2566 ประกอบกับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้กำไรของบริษัทในไตรมาสที่ 3 ของปีนั้นลดลงกว่า 1 พันล้านบาท ทั้งที่กำไรจากโรงไฟฟ้าอื่นของบริษัทมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นเครื่องยืนยันหนึ่งว่า โรงไฟฟ้าหงสาเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าสำคัญที่อาจกำหนดผลกำไรของบริษัท ราช กรุ๊ป ได้ 

ทั้ง บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่างได้รับผลประโยชน์จากสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าที่ กฟผ. ได้เซ็นสัญญากับโรงไฟฟ้าหงสา โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเครื่องที่ 1 กับ 2 ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2558 และเครื่องที่ 3 เริ่มเดินเครื่องเมื่อต้นปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา มีระยะเวลาซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญายาวนานถึง 25 ปี ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองกำไรที่บริษัททั้ง 2 จะได้รับไปตลอดระยะสัญญา อันจะไปสิ้นสุดสัญญาที่ราวปี พ.ศ. 2588 ต้องไม่ลืมว่าบริษัททั้ง 2 ก็ยังมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับ กฟผ. ในประเทศไทยอีกหลายแห่งซึ่งนับเป็นผลกำไรมหาศาลที่จะไหลเข้าสู่บริษัทหรือกลุ่มทุนพลังงาน

การซื้อขายไฟฟ้าของกลุ่มทุนพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกลับมาที่แผนพัฒนากำลังไฟฟ้าหรือแผน PDP ที่เสมือนเป็นแผนแม่บทในการจัดหาไฟฟ้าและกำหนดเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า พร้อมกับกำหนดประเภทและขนาดโรงไฟฟ้าที่จะรับซื้อเข้าสู่ระบบไฟฟ้าด้วย เช่นนั้นหาก แผน PDP กำหนดให้ไฟฟ้าที่จะจัดสรรเข้าสู่ระบบต้องมาจากโรงไฟฟ้าของต่างประเทศและต้องผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหิน โรงไฟฟ้าหงสาที่ตรงตามข้อกำหนดก็จะเป็นโรงไฟฟ้าที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าสู่ระบบทันที ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ณ ปัจจุบัน ดังนั้นหากจะมองหากลุ่มทุนที่ได้รับผลประโยชน์จากแผน PDP ทั้ง 2 บริษัทไทยที่ไปลงทุนและถือหุ้นทั้งในโรงไฟฟ้าหงสาและเหมืองลิกไนต์ก็คงไม่พ้นไปจากวิสัยแน่นอน

นอกเหนือจากกลุ่มทุนทั้ง 2 ที่ไปลงทุนและถือหุ้นในโรงไฟฟ้าหงสาแล้ว ยังมีกลุ่มทุนไทยอีกจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดียวกัน คือการเข้าไปลงทุนและถือหุ้นในโรงไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นก็ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าเหล่านั้นกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย กระบวนการดังกล่าวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจได้ผาดหัวบทความด้วยคำว่าทุนไทย “พาเหรด” ยึดโรงไฟฟ้าลาว โดยกลุ่มทุนต่างขยายทุนของตัวเองออกไปหากำไรจากโรงไฟฟ้าและทรัพยากรในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบ้านปู เพาเวอร์ บริษัทราช กรุ๊ป บริษัทผลิตไฟฟ้า (EGCO) บริษัทเอ็ม ดี เอ็กซ์ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือบริษัท บางกอก เอ็กเพรสเวย์ เหล่านี้ต่างเป็นกลุ่มไทยที่มุ่งหากำไรจากการโรงไฟฟ้าต่างประเทศที่นำไฟฟ้าเข้ามาขายในไทย

การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าถือเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่ฟันกำไรสูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจประเภทอื่น แม้อาศัยการลงทุนที่สูงแต่ผลตอบแทนก็สูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงไฟฟ้าผูกโยงอยู่กับนโยบายรัฐสูงมาก ฉะนั้นจึงถือเป็นธุรกิจที่ผูกติดกับการดำเนินแผนนโยบายรัฐ แผน PDP ที่เป็นแผนจัดหาไฟฟ้าจึงเป็นช่องทางแสวงหากำไรของกลุ่มทุนพลังงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในทางกลับกันการที่รัฐจำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้ในการจัดหาไฟฟ้า ส่งผลให้รัฐและประชาชนต้องพึ่งพากลุ่มทุนพลังงานด้วยเช่นกัน ซึ่งการพึ่งพิงกันในลักษณะนี้ดำเนินมาตลอดจนถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มจะสืบทอดต่อไปอีกในอนาคต 

กลุ่มทุนยังไม่หายไปไหน ในวาระการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

หากเราตั้งข้อสังเกตต่อร่าง แผน PDP2024 ฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ แม้จะมีการเปิดทางให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามาสู่ระบบไฟฟ้าไทย แต่กลุ่มทุนพลังงานของไทยก็เริ่มปรับตัวโดยการเปิดโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเตรียมขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเหมือนที่เคยดำเนินมาตลอด

ข้อน่าสังเกตหนึ่งคือ แผน PDP ฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้คือแผน PDP2018 แก้ไขครั้งที่ 1 ยังไม่มีแผนที่เป็นรูปธรรมในการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แต่ 4 ปีต่อมาในวาระการรับฟังความคิดร่าง PDP2024 กลับเปิดช่องทางให้พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้พลังงานหมุนเวียนถูกนำเสนอให้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามานานมากแล้ว ประเทศเยอรมนีออกกฎหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในชื่อ Renewable Energy Sources Act (Erneuerbare–Energien–Gesetz: EEG) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยมุ่งส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน และที่สำคัญกฎหมายฉบับดังกล่างมุ่งให้การซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนมาจากประชาชนโดยตรง ไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานของรัฐหรือกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้นที่ได้รับสิทธิ์ โดยดำเนินนโยบายการซื้อไฟฟ้าผ่านมาตราการรับซื้อไฟฟ้า (Feed-in Tariff; FiT) แต่สำหรับประเทศไทยร่าง แผน PDP2024 มาตราการรับซื้อไฟฟ้าก็ยังไม่ถูกพูดถึงแต่อย่างใด พร้อมกับช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมาสำนักข่าวมากมายเปิดเผยแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มทุนพลังงานกลุ่มเดิมที่เคยผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล 

ในวาระการเปลี่ยนผ่านพลังงานมิติหนึ่งที่เรามิอาจละเลยได้เลยคือ การกระจายอำนาจทางพลังงาน ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเสนอการเปลี่ยนผ่านเพียงแค่การเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิต แต่ไม่กล่าวถึงมิติการกระจายอำนาจทางพลังงาน ทั้งที่ในต่างประเทศโดยเฉพาะเยอรมนีและเดนมาร์กมิติด้านการกระจายอำนาจทางพลังงานถือเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อลดการพึ่งพิงทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิลและกลุ่มทุนพลังงาน โดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านจะดำเนินผ่านการให้ประชาชนหรือกลุ่มทุนขนาดเล็กมีสิทธิ์ที่จะขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนแก่รัฐโดยตรง แต่ในประเทศไทยมิติด้านนี้กลับถูกละเลยไป นำไปสู่การไม่เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างแท้จริง เพราะเพียงแค่การเปลี่ยนแหล่งเชื้อเพลิงมิอาจนำไปสู่การลดการพึ่งพิงกลุ่มทุนพลังงานได้แต่อย่างใดเลย 

พร้อมกันนี้โรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลก็มิได้ลดจำนวนลงอย่างที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานควรจะเป็น ในร่างแผน PDP2024 โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังคงอยู่ในระบบไฟฟ้าต่อไป โดยยังมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ถึงร้อยละ 49 จากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เราอาจอนุมานได้ว่าประเทศไทยก็ยังจะต้องพึ่งพิงกลุ่มทุนพลังงานต่อไป พร้อมกับเปิดทางให้กลุ่มทุนพลังงานเหล่านี้มีแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ที่บรรดากลุ่มทุนจะเข้าไปขุดเจาะเอา “กำไร” มาเพิ่ม 

อ้างอิง

  • Green News. (2564). ส่องทุนไทยในลาวผ่าน “หงสา” เห็นอนาคต “ความเสี่ยงข้ามแดน” หลากมิติ. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://greennews.agency/?p=23255
  • Thairath Money. (2566). RATCH กำไรหด 47% เหลือ 1.18 พันล้าน หยุดซ่อมโรงไฟฟ้าหงสา ต้นทุนดอกเบี้ยพุ่งถล่มซ้ำ. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://www.thairath.co.th/money/investment/stocks/2740430
  • ข่าวหุ้น. (2564). BPP หงสาพารวย.!?. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://www.kaohoon.com/column/467875
  • ข่าวหุ้น. (2565). BPP กำไรปี 65 พุ่ง 84% บุ๊กรายได้โรงไฟฟ้า “Temple I-หงสา” เล็งปันผล 0.30 บ. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://www.kaohoon.com/news/590664 
  • คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ. (2550). ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์. มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2550 (ครั้งที่ 119). ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2558). เริ่มแล้ว! โรงไฟฟ้าหงสาส่งไฟฟ้าจากหน่วย 2 เข้าระบบไทย-ลาว. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://mgronline.com/local/detail/9580000121916
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2561). Battery of Asia ทุนไทย “พาเหรด” ยึดโรงไฟฟ้าลาว. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://www.prachachat.net/economy/news-199084
  • ประเสริฐ แรงกล้า. (2566). พลังงานหมุนเวียนและความคลุมเครือของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน. วารสารพัฒนศาสตร์, 6(2), 1-22.
  • มิติหุ้น. (2566). BPP บุ๊กโรงไฟฟ้าเพิ่ม377.5MW ต้นทุนลดดันกำไรโตระเบิด. สืบค้น 23 มิถุนายน 2567 จาก https://www.mitihoon.com/2023/10/15/411232/
  • สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน. (2563). แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2579 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1. ไม่ปรากฏสำนักพิมพ์

เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP2024) และร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024). (12 มิถุนายน 2567).  กรุงเทพฯ: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง