ไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกคุกคาม ว่าด้วย ‘ไอดอล’ กับการถูกคุกคามและปัญหาจากกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่หนุนผู้ถูกกระทำ

เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน

พิมพ์นารา ร่ำรวยมั่นคง หรือ ลาติน สมาชิกวง CGM48 กล่าวในไลฟ์บนแอพพลิเคชั่น iAM48 เรื่องถูกแฟนคลับคนหนึ่งคุกคามทางเพศและเรื่องที่ตนเองโดนแซะว่าเป็นทอมบอย โดยเนื้อหาของไลฟ์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2024 ลาตินเล่าว่าตนแบนแฟนคลับคนหนึ่งที่เข้ามาไฮทัช(Hi Touch)แต่ไม่ได้มองหน้าของตน จนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พี่ AR จึงเอาเสื้อคลุมมาให้ นอกจากนี้ยังมีการเล่าถึงว่ามีคนเข้ามาแซะว่าเป็นทอมบอยซึ่งไม่ควรที่จะเป็นแบบนั้น

เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นกับลาตินเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับไอดอลและศิลปิน อย่างในกรณีของ โมบาย พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค (อดีตสมาชิกวง BNK48) ถูกส่งข้อความคุกคามทางเพศผ่านช่องคำถามในอินสตาแกรม (IG) ว่า “อยากกินฉี่ของน้องโมบายจังอร่อย” หลังจากที่โมบายได้โพสต์ออกไป มีผู้หญิงหลายคนออกมาพูดว่าโดน account เดียวกันกับที่โพสต์คุกคามโมบายเข้าไปโพสต์ในลักษณะคุกคามเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับ อร พัศชนันท์ เจียจิรโชติ และ วี วีรยา จาง อดีตสมาชิกวง BNK 48 ที่มีแชทหื่นส่งของลับมาคุกคามทางเพศ ทางบริษัทฯ จึงได้ดำเนินคดีเพื่อเป็น case study ต่อไป หรือในอีกกรณีหนึ่งของ มินตัน มินตรา เชื้อวังคำ เน็ตไอดอลสาวชื่อดังที่ถูกคุกคามโดย อดีต รปภ. แม้จะถูกดำเนินคดีไปแล้ว แต่เมื่ออดีต รปภ คนนี้พ้นคุกมา ก็ยังทำเช่นเดิมอยู่ 

หรือในต่างประเทศ ไอดอลวง OmegaX จากประเทศเกาหลีถูกประธานบริษัทรวมทั้งสตาฟฟ์ในค่ายทำร้ายร่างกายและคุกคามทางเพศ ทำให้สมาชิกมีอารมณ์แปรปรวนถึงขั้นแพนิค ในบางครั้งที่มีการจัดคอนเสิร์ตในต่างประเทศต้องหลบตัวอยู่แต่ในโรงแรมจนกลับประเทศเกาหลี จึงเกิดเป็นแฮสแท็ค #ProtectOMEGAX ขึ้นมาเพื่อปกป้องศิลปิน อีกเคสหนึ่งที่น่าสนใจจากญี่ปุ่นคือสมาชิกจากวง AKB48 คาวาเอะ รินะ อิริยามะ แอนนา และพนักงานชายอีกหนึ่งคน ถูกชายคนหนึ่งใช้เลื่อยทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บในงานจับมือที่เมือง ทาคิซาวะ ในจังหวัดอิวาเตะ คนร้ายถูกจับได้และตั้งข้อหาพยายามฆ่า แต่ไม่ได้มีการบอกถึงสาเหตุและแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้

กฎหมายไม่ครอบคลุมหรือศีลธรรมยังไม่ดี

ปัจจุบันยังไม่มีตัวบทกฎหมายที่ลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นการเฉพาะ แต่สามารถกำหนดความผิดเป็นรายกรณีไปได้ ดังนี้

-พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ
ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ที่มา กฏหมายน่ารู้ กระทรวงยุติธรรม)

นอกจากนี้การรวบรวมหลักฐาน การตามระบุตัวตนบนโลกออนไลน์ที่ทำได้ยาก บวกกับขั้นตอนการรับการแจ้งเหตุที่ทำให้ผู้แจ้งไม่สะดวกใจที่จะแจ้ง จากบทความเรื่อง “สู้ให้ชนะ” บนความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายในคดีคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ ของ ดร.บุญวรา สุมะโน และ ชาตบุษย์ ฮายุกต์ กล่าวว่าการแจ้งความเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนั้นตำรวจจะถามถึงพยานหลักฐาน หากเป็นแชทคุกคามหรือการสะกดรอยตาม ตำรวจจะมองว่าไม่เป็นรูปธรรม ต่างจากการกอดจูบ ที่เป็นรูปธรรมมากกว่า กระบวนการสืบหาหลักฐานที่ต้องให้ผู้เสียหายเล่าซ้ำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระบวนการพิจารณาที่ต้องพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำจริง และบทลงโทษกับการชดใช้ค่าเสียหายที่ไม่จูงใจให้เกิดการเอาผิด

เรื่องการคุกคามเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม จริยธรรมด้วย ซึ่งในประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนไว้ในหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มีการสอนในเรื่องของความอดทนอดกลั้น การรู้จักข่มใจตนเอง แต่การสอนกลับไม่ส่งผลเท่าใดนักเนื่องจากไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจนและเป็นหลักสูตรแฝง นั่นอาจจะเป็นผลให้การก่อเหตุคุกคามได้ง่ายยิ่งขึ้นเพราะขาดความเข้าใจด้านคุณธรรรม จริยธรรม

ทำอย่างไรให้ทุกคนปลอดภัยจากการถูกคุกคาม

จากที่กล่าวมานั้น กระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกคุกความทางเพศมากนัก ในบางครั้งยังเป็นการผลิตซ้ำสิ่งที่เกิดขึ้น มุมมองของพนักงานสอบสวนที่ต้องการหลักฐานที่เป็นรูปธรรมแต่ในความเป็นจริงการคุกคามนั้นเกิดขึ้นจากการถูกสะกดรอยตามหรือจากการส่งข้อความซ้ำๆ ฟาโรต์ จากช่อง The Common Thred ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการคุกคามและการสะกดรอยตามไว้ในรายการ Life Crysis (EP.08 “การติดตาม”ไม่เท่ากับ”ความโรแมนติก”) ว่าจริงๆ แล้วในไทยสามารถขอคำสั่งศาลให้ยับยั้งป้องกันการคุกคามได้ แต่ติดในเรื่องของการบังคับใช้กฏหมายที่ล่าช้า ไม่รวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งฟาโรห์ได้ยกตัวอย่างในหลายๆ ประเทศว่ามีการติดเครื่องติดตามตัวกับผู้ที่เคยมีประวัติคุกคามโดยจะแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นกับผู้ที่เคยถูกคุกคามหรือมีการออกประวัติแจ้งกับผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบนั้นและการสอนเรื่องสิทธิเหนือร่างกายกับเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งคล้ายกันกับ ตาออม เบญญาภา อุ่นจิตร สมาชิกวง 4EVE ทีให้สัมภาษณ์กับ WorkpointTODAY ว่าถึงจะเป็นไอดอลแต่ไม่ใช่ว่าจะเอาไปทำอะไรก็ได้ เอาไปเติมเต็มความสุขของคุณในด้านนั้น มันคือสิทธิของเรา ร่างกายของเรา 

ย้อนกลับมาที่ ลาติน สมาชิกวง CGM48 ยังกล่าวไว้ว่าการแต่งตัวเป็นสิทธิที่ใครจะแต่งอะไรก็ได้ แต่เพราะเรื่องเล็กๆอย่างการถูกคุกคามทำให้ความเท่าเทียมระหว่างหญิงกับชายเกิดขึ้นจริงไม่ได้ 

ผู้เขียนในฐานะโอตะมองว่าเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไอดอลบ่อยครั้งมากจนเกินไป แต่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวประเด็นนี้มากนัก แน่นอนว่าเกิดผลกระทบและความกังวลกับลาตินเพราะเกิดขึ้นหลายครั้ง ลาตินก็ไม่สามารถใส่ชุดที่ตัวเองอยากใส่ในงานจับมือได้ ต้องมาเลือกชุดที่รัดกุมมากขึ้น ทั้งที่ตัวลาตินเองไม่ได้ทำอะไรผิด โอตะเองก็คาดหวังว่าจะได้เห็นน้องใส่ชุดสวย ๆ น้องมีความสุขกับการใส่ชุดที่ชอบ ก็จะไม่ได้เห็นแบบนั้นอีก การคุกคามจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการร่วมมือกันทั้งโอตะด้วยกันเองและคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะทุกคนก็รักโอชิของตน และไม่อยากให้มาเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น คงต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำอะไรซักอย่างที่จะช่วยปกป้อง โอชิ คามิ ของเราไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

ท้ายที่สุดนี้การคุกคามไม่ได้เกิดกับไอดอลเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย จึงต้องร่วมใจกันปกป้อง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก  

อ้างอิง

Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง