24 กันยายน 2566 กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์, กรีนพีซ ประเทศไทย, EarthRights International, ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดงาน ‘Omkoi Coal or Home นิทรรศการ 4 ปี การต่อสู้และเสียงคนอมก๋อย’ ที่ลานหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทบทวนการต่อสู้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของชาวอมก๋อย สร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อสาธารณชนถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีโครงการเหมืองถ่านหินที่ตำบลกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเรียกร้องรัฐบาลใหม่ฟังเสียงชุมชน ยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินในทันที
‘โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ เป็นโครงการภายใต้คำขอประทานบัตรที่ 1/2543 ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา โดยมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งขอใบประทานบัตรและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ (EIA) ใช้ระยะเวลาในการยื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี โดยมีชุมชน 2 แห่ง ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรจากพื้นที่เหมือง คือ บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน
คำปิดประกาศของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย ในปี 2561 เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 สร้างความประหลาดใจให้คนที่อยู่ในพื้นที่อำเภออมก๋อยเป็นจำนวนมาก หลังจากทราบข่าวชาวบ้านกะเบอะดินและชาวอมก๋อยที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“4 ปีที่ผ่านมา เราต่อสู้ตามสิทธิของตัวเองและสู้เพื่อชุมชนของเรา เราคิดว่าไม่ควรมีชุมชนไหนควรได้รับผลกระทบจากถ่านหินหรือการพัฒนาของรัฐที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุนควรเข้าใจบริบทชุมชน วิถีชุมชน และคำนึงถึงตัวชุมชนมาก ๆ และไม่เอาเปรียบชาวบ้าน สำหรับ 4 ปีที่ผ่านมา เราแลกมาเยอะเลยค่ะ เราต้องมีบทบาทหน้าที่หรือภารกิจเพื่อจะหยุดยั้งการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ทั้งการทำข้อมูล การสร้างความเข้าใจ การเดินทางไม่หยุดหย่อน และ เสียโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตประจำวันของเราไป” พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนจากหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ กล่าว
ในงานมีการเปิดเผยข้อมูลจากรายงานวิจัย ‘อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ: แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยกรีนพีช ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นครั้งแรก โดยระบุว่าหากมีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้น ชุมชนกะเนอะดินและชุมชนโดยรอบที่ดำรงชีวิตด้วยเกษตรกรรมแบบพึ่งพิงธรรมชาติจะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงด้านมลพิษทางอากาศและน้ำที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม
“โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จากจำนวนวันที่มีค่าความเข้มข้นของ PM2.5 และ PM10 เกินค่าที่ยอมรับได้ถึง 200 วันใน 1 ปี และส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินพื้นที่เกษตรกรรมจากการตกสะสมของกรดจากในไตรเจนออกไซด์ (NO2) รวมทั้งความเสี่ยงจากการบริโภคปลาปนเปื้อนปรอท อาจจะส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก โครงการวิจัยนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ครบถ้วนของการประเมินผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว ซึ่งไม่มีการประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์การปลดปล่อยมลพิษที่เป็นไปได้เหล่านี้ และยังไม่มีการประเมินสภาพการตามธรรมชาติของการปนเปื้อนโลหะและกึ่งโลหะพิษในพื้นที่เกษตรกรรม จึงไม่สามารถสร้างแผนที่ความเสี่ยงเพื่อเป็นข้อมูลให้ชุมชน และผู้อนุมัติอนุญาตมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ ทำให้ EIA ดังกล่าวไม่สามารถทำหน้าที่ทางวิชาการตามกฎหมายได้” รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว
ภายในงาน ‘Omkoi Coal or Home นิทรรศการ 4 ปี การต่อสู้และเสียงคนอมก๋อย’ ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย ทั้งกิจกรรมศิลปะการแสดง กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมของคนอมก๋อยผ่านภาพถ่าย ดนตรี ภาพยนตร์ ยำมะเขือส้มสูตรเด็ด การทอล์ค ‘#ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน: สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมที่หายไป’ และการแสดงจุดยืนไม่ต้องการเหมืองถ่านหินผ่านกิจกรรมสู่ขวัญ #ฟาดฝุ่น ประติมากรรมช้างเปื้อนมลพิษสีดำ สัญลักษณ์ของแคมเปญ #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน ซึ่งมุ่งขยายการรับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของคนอมก๋อยมาสู่คนรักเชียงใหม่
ในช่วงทอล์ค #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมที่หายไป” ประกอบด้วยตัวแทน 7 คนที่ร่วมเปล่งเสียงว่า ‘บ้าน’ ที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและรุ่มรวยวัฒนธรรมมีค่ามากกว่า ‘ถ่านหิน’ ได้แก่ ณัฐทิตา วุฒิศีลวัต ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่, อรพรรณ มุตติภัย ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่, ผศ. นัทมน คงเจริญ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ. ณัฐกร วิทิตานนน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, วัชราวลี คำบุญเรือง นักกฎหมายอิสระ ผู้ต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในพื้นที่, ชนกนันท์ นันตะวัน กลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่ และพีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย
เนื้อหาในการพูดคุยประกอบด้วยคำประกาศของตัวแทนเยาวชน บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย ที่ไม่ต้องการให้บ้านเป็นเหมืองถ่านหิน, ประเด็นการกระจายอำนาจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมที่ขาดหายไปของเชียงใหม่, กระบวนการทางกฎหมายที่ไม่ได้เคารพต่อสิทธิในการมีชีวิตที่ดีของประชาชน และการเปิดเผยข้อมูลงานวิชาการด้านมลพิษทางอากาศชิ้นล่าสุดที่ชี้ผลที่จะเกิดขึ้นหากมีเหมืองถ่านหินขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
“อยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบริษัทที่ที่จะเข้ามาทำโครงการเหมืองแร่ เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านกะเบอะดินที่เขาอยู่มาก่อน เราอยากปกป้องรักษาพื้นที่ตรงนี้” – ณัฐทิตา วุฒิศีลวัต ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
“ชุมชนของเราใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำจากลำห้วยเราใช้อุปโภค บริโภค ป่าเราใช้ทำไร่หมุนเวียน ทำสวน ดินเราใช้ทำเกษตร อากาศเราใช้หายใจ ตอนนี้ชาวบ้านกำลังคัดค้านและมีข้อกังวลใจว่าถ้ามีเหมืองจะมีผลกระทบตามมา” – อรพรรณ มุตติภัย ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
“รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านไปตั้งแต่ปี 43 โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ EIA นั้นเป็นภาษาที่แม้กระทั่งเรายังไม่เข้าใจ เป็นภาษาที่ยากพอสมควร แล้วชุมชนเป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ คนพูดไทยได้มีน้อยมาก เพราะฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นในรายงาน EIA ทำแค่ 2 ครั้ง มันไม่เพียงพอ มันแทบจะไม่ได้สร้างความเข้าใจต่อชุมชนเลย” – วัชราวลี คำบุญเรือง นักกฎหมายอิสระ ผู้ต่อสู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในพื้นที่
“เราจะไม่ยอมแพ้กับการถูกละเมิดสิทธิ การริดรอน การคุกคามสิทธิชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม เราจะอยู่เคียงข้างทุก ๆ เครือข่าย พ่อแม่พี่น้อง เราจะคอยให้กำลังใจ คอยสนับสนุนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคมในเชียงใหม่และคนกะเบอะดินต่อไป” – ชนกนันท์ นันตะวัน กลุ่มสม-ดุลเชียงใหม่
“การเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย อาจเปลี่ยนเชียงใหม่จากเมืองที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ให้เป็นเมืองปลดปล่อยมลพิษแห่งใหม่ ทั้งสารพิษ และโลหะหนักต่าง ๆ สู่อากาศ ผืนดิน และแหล่งน้ำ ส่งผลต่อต้นทุนชีวิตของทุกคน เราจึงอยากเห็นการประกาศปลดระวางถ่านหิน ซึ่งการประกาศนี้จะสะท้อนเจตจำนงทางการเมืองที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดประชาธิปไตยทางพลังงานของรัฐบาล” – พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย
“การทำเหมืองยิ่งตอกย้ำ ทำร้าย สร้างให้เกิดฝุ่นในบ้านเรามากขึ้น ที่อมก๋อยควรจะเป็นปอดของคนเชียงใหม่ แทนที่จะเป็นการทำร้ายคนและชุมชนโดยฝุ่นของเหมือง” – ผศ. นัทมน คงเจริญ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ผมคิดว่าอำนาจในการจัดการทรัพยากรมันไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น อย่างน้อยในเรื่องที่เป็นเรื่องไม่ใหญ่โตมันควรที่จะให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ ที่สะท้อนปัญหาการกระจายอำนาจ” – ผศ. ณัฐกร วิทิตานนน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ ชุมชนและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจะร่วมจัดกิจกรรม “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้” 4 ปีแห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน ณ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 28 กันยายนนี้ สามารถติดตามการต่อสู้ของชุมชนกะเบอะดินใต้ที่ เพจกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์
อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินกำลังจะเข้ามายึดครองพื้นที่แห่งชีวิตของชาวบ้านกะเบอะดิน โครงการเหล่านี้จะสร้างแผลใจและฝากร่องรอยความเจ็บปวดเอาไว้ให้กับชุมชนในรูปแบบของสภาพแวดล้อมที่หันไปทางไหนก็เจอแต่มลพิษ ภูเขาที่ต้นไม้ส่วนใหญ่เหี้ยนเตียนไปกับผืนดิน หรือมากไปกว่านั้น ภูเขาลูกนี้อาจหายกลายเป็นเพียงบ่อหลุม แล้วแบบนี้ เราจะยอมแลกอมก๋อยกับโครงการเหมืองถ่านหินจริง ๆ หรือ ?
หมายเหตุ
สามารถดาวน์โหลดรายงานอมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ : แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ตำบลกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ที่ https://act.gp/omkoi-report-press
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...