มพน.-สกน. แถลงหยุดแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ ต้นเหตุน้ำป่าไหลหลาก

25 กันยายน 2567 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ออก แถลงการณ์เรื่อง “จงหยุดพฤติกรรมแปะป้าย ‘ไร่หมุนเวียน’ เป็นสาเหตุน้ำป่าไหลหลากอย่างไร้สามัญสำนึก” จากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากในชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ม.7 ต.บ้านโป่ง ผอ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา จนเกิดความเสียหายเป็นภาพประจักษ์แก่สาธารณะ ภายหลังได้มีการระดมความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มพี่น้องปกาเกอะญอเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดในนั้นได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากร รวมถึงสร้างรูปธรรมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่ยอมรับของหลายภาคส่วนในช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กลับมีคนบางส่วนใช้เหตุการณ์นี้ผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์และวาทกรรม ‘แปะป้าย’ วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเกษตรดั้งเดิมอย่าง ‘ไร่หมุนเวียน’ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุหลักของน้ำป่าไหลหลากและอุทกภัยที่กระทบคนในเมืองด้วย อาทิ เพจเฟซบุ๊กเพจหนึ่งได้ใช้ภาพมุมสูงของชุมชนบ้านห้วยหินลาดในไปอธิบายผูกโยงกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนภูเขาหัวโล้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมบางคนที่เปิดตัวเลขการสูญเสียพื้นที่ป่าและเหมารวมรูปแบบการเกษตรทุกประเภทพร้อมกล่าวโทษประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าเป็นต้นเหตุอย่างไม่รู้จักแยกแยะ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางคนนำรูปกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังหยอดข้าวในไร่หมุนเวียนมาร่วมกันก่นด่า และสื่อสาธารณะช่องหนึ่งยังเดินหน้าผลิตซ้ำข่าว ‘ป่าต้นน้ำเวียงป่าเป้าหาย’ เป็นเหตุน้ำป่าเวียงป่าเป้า

การกระทำของกลุ่มคนดังกล่าวข้างต้น ได้ซ้ำเติมปัญหาของประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากภัยพิบัติอยู่แล้วให้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่มีจิตใจโอบอ้อมอารีเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมด้วยกัน ไม่ยืนอยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักวิชาการ รวมถึงการนำรูปของชุมชนไปใช้ในทางสร้างความเสื่อมเสียโดยไม่ขออนุญาตจากชุมชนก่อนถือเป็นการกระทำที่ไร้สามัญสำนึก ส่วนการปฏิบัติงานของสื่อสาธารณะและสื่อมวลชนอื่นๆ ที่มุ่งสร้างอคติเหมารวมทำลายกลุ่มชาติพันธุ์โดยไม่แสดงศักยภาพเพียงพอในการเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงที่รอบด้านจากในพื้นที่ อาจถือเป็นการกระทำที่ไร้จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ และการกระทำนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความลำเอียงทางการสื่อสารจนสร้างผลกระทบต่อคนที่ไม่อำนาจต่อรองทางสังคม หมายถึงการขาดความกล้าหาญในการพูดถึงต้นเหตุของปัญหา ทำได้เพียงนำภาพของชุมชนและภาพไร่หมุนเวียนมาจับแพะชนแกะ สร้างแพะรับบาปในปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเลือดเย็นท่ามกลางความทุกข์ร้อนแสนสาหัสอยู่แล้วที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่แล้ว

อนึ่ง ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เคยถูกรัฐไทยให้สัมปทานป่าไม้จนป่าเสื่อมโทรม เป็นประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอในพื้นที่นั้นเองที่ฟื้นฟูป่าจนกลับมาอุดมสมบูรณ์ และคัดค้านการให้สัมปทานป่าไม้โดยรัฐจนมีนโยบายป่าการสัมปทานไปในที่สุด ในพื้นที่การจัดการทรัพยากรของชุมชนทั้ง 10,279.7 ไร่นั้น มีพื้นที่ป่าที่อุมดมสมบูรณ์มากถึง 8,635.37 ไร่ นอกนั้นคือพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่เป็นระบบการเกษตรเพื่อการสมดุลนิเวศ พื้นที่สวนวนเกษตร และพื้นที่อยู่อาศัย รูปธรรมนี้ได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาจิ รวมถึงชุมชนได้เป็นพื้นที่นำร่องประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง รวมถึงยังมีหลายงานวิจัยที่ยืนยันว่าระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน ดูดซับฝุ่นและคาร์บอน และยังสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจนได้เป็นหนึ่งในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนของชาติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยอมรับ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี 2556 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ 

และพึงสำนึกว่า รูปธรรมที่ชุมชนจัดการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิต การเข้าไม่ถึงโครงสร้างและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแบบที่คนในเมืองได้รับ เข้าไม่ถึงสิทธิ์ในที่ดินของบรรพชน และเกิดขึ้นท่ามกลางแรงเสียดทานจากมายาคติทางสังคมที่อยากได้พื้นที่ป่าแต่ชอบกล่าวหาคนดูแลป่า เราขอถามกลับไปยังกลุ่มคนที่จ้องทำลายรูปธรรมความดีงามเช่นนี้ของกลุ่มชาติพันธุ์และสังคมไทยว่า ทั้งชีวิตของคุณเคยทุ่มเทอะไรบ้างในการดูแลรักษาป่าเหมือนที่ชาวบ้านห้วยหินลาดในและกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ทำมาตลอดชีวิต

เราในนามองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชนผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ขอเรียกร้องความรับผิดชอบและสามัญสำนึกของกลุ่มคนดังกล่าว ดังนี้

1. จงรับผิดชอบการกระทำของตนเองโดยการหยุดพฤติกรรมการนำรูปของชุมชนไปใช้โดยไม่ขออนุญาต สื่อสารอย่างไม่ตรงกับความเป็นจริงในระดับพื้นที่และวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ จนทำให้เกิดอคติเหมารวมระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนเป็นพืชเชิงเดี่ยว ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าคนดอยตัดไม้ทำลายป่า

2. สื่อมวลชนทั้งหลายจงตระหนักถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพของตนเองให้มั่น เสาะแสวงหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องก่อนการนำเสนอข่าวสารสู่สาธารณะโดยขาดความตระหนักรู้ถึงความละเอียดอ่อนของปัญหา เพราะการกระทำอันขาดความรอบคอบของท่านกำลังเป็นตัวช่วยผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

3. จงแสดงความกล้าหาญในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ เสาะแสวงหาข้อมูลการเอื้อกันของรัฐบาลและกลุ่มทุนว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างไร การหายไปของพื้นที่ป่าว่าเกิดจากอะไร การส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะข้าวโพดเกิดจากบริษัทใด และรัฐบาล หน่วยงานรัฐมีส่วนอุ้มชูกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่นี้อย่างไร แล้วตีแผ่ให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา

เรายืนยันว่า การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสามารถเดินหน้าควบคู่กับการร่วมกันทลายมายาคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่ทุกภาคส่วนกำลังร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สู่วาระ 2 สภาผู้แทนราษฎร 

หยุดพฤติกรรมอันไร้สามัญสำนึกนี้เสีย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง