‘อากาศที่ดี’ ต้องมีให้แก่ทุกคน ปอดประชาชนไม่ใช่เครื่องกรองฝุ่น PM2.5

เรื่อง: พนัชพรรณ ธนวโรดม

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ภาคเหนือของไทยได้เผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 เป็นเวลายาวนาน และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้มีคุณภาพอากาศเสื่อมโทรมและรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งไม่ได้รับการจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนมาโดยตลอด เช่น สุขภาพของประชาชน คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มักจะรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวและต้นฤดูร้อน ช่วงเดือนดังกล่าวเป็นช่วงที่สภาพอากาศเอื้อให้เกิดการสะสมของฝุ่นในอากาศ เพราะอากาศนิ่งและแห้ง มีความกดอากาศสูง เกิดไฟป่าง่าย อีกทั้งยังมีการเผาภาคเกษตรในช่วงนั้น

ภาพ: สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และจำนวนจุดความร้อนในภาคเหนือ เปรียบเทียบปี 2564-2566

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และจำนวนจุดความร้อนในภาคเหนือในช่วงปี 2564-2566 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน โดยในปี 2566 ช่วงวิกฤตปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2566 พบว่า ฝุ่น PM2.5 มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 62 มคก./ลบ.ม ในขณะที่ปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 30 มคก./ลบม นอกจากนี้ มีจำนวนวันที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในปี 2566 ก็สูงกว่าปี 2565 อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐานถึง 112 วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเพียง 70 วัน 

สำหรับจุดความร้อนสะสม (hotspot) ในปี 2566 พบจุดความร้อนสะสมถึง 109,035 จุด เทียบกับปี 2565 ที่มีจุดความร้อนสะสมเพียง 23,913 จุดเท่านั้น โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีพื้นที่เผาไหม้รวมทั้งสิ้น 9,769 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 207% โดย 5 จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน 1,761,039 ไร่, ตาก 1,406,010 ไร่, เชียงใหม่ 1,168,624 ไร่, ลำปาง 767,100 ไร่ และน่าน 708,367 ไร่ ตามลำดับ

พื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ อันเป็นผลจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน รวมถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ทำให้การเตรียมพื้นที่และกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรมักใช้วิธีการเผา นอกจากนี้ยังมีการเผาในพื้นที่ป่าเพื่อการล่าสัตว์และหาของป่า รวมถึงการเผาในพื้นที่รอบป่าที่ลามเข้าไปจนกลายเป็นไฟป่า พื้นที่เผาไหม้รองลงมา ได้แก่ พื้นที่เกษตร ซึ่งมีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตร

ภาพ: จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เขตสุขภาพที่ 1 ปี พ.ศ. 2567

หากดูจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเขตสุขภาพที่ 1 ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน, พะเยา, เชียงราย และแม่ฮ่องสอน จะพบว่า จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่มีผู้ป่วยสูงสุดถึง 199,183 ราย ตามมาด้วยจังหวัดเชียงรายที่มีผู้ป่วย 132,107 ราย ลำปาง 79,183 ราย พะเยา 71,384 ราย น่าน 55,907 ราย แพร่ 53,368 ราย ลำพูน 46,981 ราย  ขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุดเพียง 30,928 ราย

ภาพ: จำนวนผู้ป่วยจำแนกกลุ่มโรคตามรายโรค เขตสุขภาพที่ 1 พ.ศ. 2567

โดยจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ จำแนกกลุ่มโรคตามรายโรคในเขตสุขภาพที่ 1 มีข้อมูลดังนี้

1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 32,103 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 21,083 ราย ลำปาง 15,706 ราย ลำพูน 8,585 ราย น่าน 8,405 ราย พะเยา 7,982 ราย แพร่ 7,459 ราย และแม่ฮ่องสอน 5,274 ราย

2. โรคหอบหืด เชียงรายมีผู้ป่วยจำนวน 2,246  ราย รองลงมาคือ เชียงใหม่ 1,564 ราย พะเยา 788 ราย ลำปาง 470 ราย น่าน 289 ราย ลำพูน 224 ราย แม่ฮ่องสอน 169 ราย และแพร่ 110 ราย

3. โรคปอดอักเสบ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 10,194 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 4,598 ราย พะเยา 4,397 ราย ลำปาง 3,502 ราย แพร่ 3,070 ราย น่าน 2,747 ราย ลำพูน 2,604 ราย และแม่ฮ่องสอน 1,515 ราย

4. โรคไข้หวัดใหญ่ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 4,722 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 4,598 ราย พะเยา 2,507 ราย ลำปาง 2,370 ราย แพร่ 1,625 ราย น่าน 1,519 ราย ลำพูน 941 ราย และแม่ฮ่องสอน 316 ราย

5. โรคคออักเสบ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 18,658 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 9,886 ราย แพร่ 6,340 ราย ลำปาง 5,643 ราย พะเยา 5,233 ราย แม่ฮ่องสอน 5,060 ราย น่าน 4,948 ราย และลำพูน 4,811 ราย 

6. โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 3,605 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 1,413 ราย พะเยา 783 แพร่ 290 ราย แม่ฮ่องสอน 155 ราย ลำปาง 135 ราย น่าน 92 ราย และลำพูน 33 ราย 

7. โรคหลอดลมอักเสบ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 13,290 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 9,626 ราย น่าน 4,369 ราย ลำปาง 4,274 ราย ลำพูน 4,021 ราย แม่ฮ่องสอน 3,016 ราย พะเยา 2,723 ราย และแพร่ 2,313 ราย 

8. โรคหลอดเลือดหัวใจ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 353 ราย รองลงมาคือ ลำพูน 269 ราย เชียงราย 192 ราย ลำปาง 117 ราย พะเยา 60 ราย น่าน 59 ราย แพร่ 42 ราย และแม่ฮ่องสอน 42 ราย

9. โรคหลอดเลือดสมอง เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 27,772 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 19,007 ราย ลำปาง 11,903 ราย พะเยา 10,569 ราย แพร่ 7,489 ราย ลำพูน 5,497 ราย น่าน 3,817 ราย และแม่ฮ่องสอน 1,758 ราย

10. กลุ่มโรคตาอักเสบ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 32,255 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 24,352 ราย พะเยา 14,352 ราย ลำปาง 13,074 ราย น่าน 11,339 ราย ลำพูน 8,306 ราย แพร่ 8,258 ราย และแม่ฮ่องสอน 4,792 ราย

11. กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 47,214 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 29,462 ราย พะเยา 20,826 ราย น่าน 17,398 ราย ลำปาง 17,031 ราย แพร่ 15,277 ราย ลำพูน 11,669 ราย และแม่ฮ่องสอน 8,405 

12. กลุ่มโรคอื่นๆ เชียงรายมีผู้ป่วยจำนวน 1 ราย 

13. มะเร็งปอด เชียงใหม่มีผู้ป่วยจำนวน 7,453 ราย รองลงมาคือ ลำปาง 4,958 ราย เชียงราย 3,174 ราย พะเยา 1,164 ราย แพร่ 1,095 ราย ลำพูน 1,063 ราย น่าน 925 ราย และแม่ฮ่องสอน 426 ราย

ภาพ: จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เขตสุขภาพที่ 2 ปี พ.ศ. 2567

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เขตสุขภาพที่ 2 ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์, ตาก, สุโขทัย, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ พบว่า จังหวัดพิษณุโลก มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดถึง 127,160 ราย ตามมาด้วยจังหวัดเพชรบูรณ์ที่มีผู้ป่วย 92,281 ราย ตาก 56,270 ราย สุโขทัย 55,517 ราย ขณะที่จังหวัดอุตรดิตถ์มีจำนวนผู้ป่วยน้อยที่สุดเพียงแค่ 43,083 ราย 

ภาพ: จำนวนผู้ป่วยจำแนกกลุ่มโรคตามรายโรค เขตสุขภาพที่ 2 พ.ศ. 2567

โดยจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ จำแนกกลุ่มโรคตามรายโรคในเขตสุขภาพที่ 2 มีข้อมูลดังนี้

1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพชรบูรณ์มีผู้ป่วยจำนวน 9,977 ราย รองลงมาคือ ตาก 9,943 ราย พิษณุโลก 8,029 ราย สุโขทัย 7,142 ราย และอุตรดิตถ์ 5,496 ราย

2. โรคหอบหืด พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 1,754 ราย รองลงมาคือ ตาก 886 ราย เพชรบูรณ์ 621 ราย สุโขทัย 331 ราย และอุตรดิตถ์ 113 ราย 

3. โรคปอดอักเสบ เพชรบูรณ์มีผู้ป่วยจำนวน 4,162 ราย รองลงมาคือ พิษณุโลก 3,740 ราย สุโขทัย 3,083 ราย ตาก 2,781 ราย และอุตรดิตถ์ 2,363 ราย 

4. โรคไข้หวัดใหญ่ พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 6,319 ราย รองลงมาคือ เพชรบูรณ์ 5,158 ราย สุโขทัย 3,266 ราย อุตรดิตถ์ 1,921 ราย และตาก 1,635 ราย 

5. โรคคออักเสบ พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 21,258 ราย รองลงมาคือ เพชรบูรณ์ 13,194 ราย ตาก 5,918 ราย สุโขทัย 5,485 ราย อุตรดิตถ์ 3,036 ราย

6. โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 3,092 ราย รองลงมาคือ ตาก 1,154 ราย เพชรบูรณ์ 230 ราย สุโขทัย 178 ราย และอุตรดิตถ์ 116 ราย

7. โรคหลอดลมอักเสบ เพชรบูรณ์มีผู้ป่วยจำนวน 6,922 ราย รองลงมาคือ ตาก 5,778 ราย พิษณุโลก 4,014 ราย สุโขทัย 3,586 ราย และอุตรดิตถ์ 2,205 ราย

8. โรคหลอดเลือดหัวใจ พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 414 ราย รองลงมาคือ เพชรบูรณ์ 162 ราย สุโขทัย 156 ราย อุตรดิตถ์ 106 ราย และตาก 55 ราย 

9. โรคหลอดเลือดสมอง เพชรบูรณ์มีผู้ป่วยจำนวน 17,929 ราย รองลงมาคือ พิษณุโลก 17,884 ราย สุโขทัย 11,049 ราย ตาก 8,023 ราย และอุตรดิตถ์ 6,892 ราย 

10. กลุ่มโรคตาอักเสบ พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 23,710 ราย รองลงมาคือ เพชรบูรณ์ 15,273 ราย สุโขทัย 10,808 ราย อุตรดิตถ์ 9,646 ราย และตาก 8,927 ราย

11. กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 33,050 ราย รองลงมาคือ เพชรบูรณ์ 17,398 ราย ตาก 10,170 ราย สุโขทัย 9,425 ราย และอุตรดิตถ์ 9,399 ราย 

12. มะเร็งปอด พิษณุโลกมีผู้ป่วยจำนวน 3,896 ราย  รองลงมาคือ อุตรดิตถ์ 1,790 ราย เพชรบูรณ์ 1,255 รายตาก 1,164 ราย และสุโขทัย 1,028 ราย

ภาพ: จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เขตสุขภาพที่ 3 ปี พ.ศ. 2567

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ เขตสุขภาพที่ 3 ปี พ.ศ. 2567 ในแต่ละจังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดชัยนาท, นครสวรรค์, อุทัยธานี, กำแพงเพชร และพิจิตร พบว่า จังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ในเขตสุขภาพที่ 3 อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 116,750 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 79,378 ราย พิจิตร 72,148 ราย อุทัยธานี 50,573 ราย และชัยนาท 49,459 ราย

ภาพ: จำนวนผู้ป่วยจำแนกกลุ่มโรคตามรายโรค เขตสุขภาพที่ 3 พ.ศ. 2567

โดยจำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ จำแนกกลุ่มโรคตามรายโรคในเขตสุขภาพที่ 3 มีข้อมูลดังนี้

1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 12,328 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 8,289 ราย พิจิตร 8,123 ราย อุทัยธานี 5,764 ราย และชัยนาท 5,720 ราย

2. โรคหอบหืด นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 1,346 ราย รองลงมาคือ ชัยนาท 818 ราย กำแพงเพชร 524 ราย พิจิตร 391 ราย และอุทัยธานี 145 ราย 

3. โรคปอดอักเสบ นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 5,313 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 4,119 ราย ชัยนาท 2,396 ราย อุทัยธานี 2,147 ราย และพิจิตร 2,042 ราย

4. โรคไข้หวัดใหญ่ พิจิตรมีผู้ป่วยจำนวน 5,207 ราย รองลงมาคือ นครสวรรค์ 5,203 ราย ชัยนาท 2,144 ราย กำแพงเพชร 1,967 ราย และอุทัยธานี 1,369 ราย 

5. โรคคออักเสบ นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 16,057 ราย รองลงมาคือ พิจิตร 10,356 ราย กำแพงเพชร 10,266 ราย ชัยนาท 7,568 ราย และอุทัยธานี 6,373 ราย 

6. โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง อุทัยธานีมีผู้ป่วยจำนวน 928 ราย รองลงมาคือ นครสวรรค์ 239 ราย ชัยนาท 115 ราย พิจิตร 102 ราย และกำแพงเพชร 60 ราย

7. โรคหลอดลมอักเสบ นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 7,250 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 6,529 ราย พิจิตร 5,862 ราย ชัยนาท 4,228 ราย และอุทัยธานี 3,725 ราย 

8. โรคหลอดเลือดหัวใจ นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 244 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 123 ราย ชัยนาท 91 ราย พิจิตร 74 ราย และอุทัยธานี 56 ราย

9. โรคหลอดเลือดสมอง นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 19,863 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 12,994 ราย อุทัยธานี 9,754 ราย พิจิตร 8,183 ราย และชัยนาท 4,706 ราย 

10. กลุ่มโรคตาอักเสบ นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 19,419 ราย รองลงมาคือ พิจิตร 12,285 ราย กำแพงเพชร 11,822 ราย อุทัยธานี 8,017 ราย และชัยนาท 7,740 ราย 

11. กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 26,084 ราย รองลงมาคือ กำแพงเพชร 22,079 ราย พิจิตร 19,805 ราย ชัยนาท 13,755 ราย และอุทัยธานี 11,995 ราย

12. มะเร็งปอด นครสวรรค์มีผู้ป่วยจำนวน 3,917 ราย รองลงมาคือ พิจิตร 800 ราย กำแพงเพชร 606 ราย ชัยนาท 435 ราย และอุทัยธานี 417 ราย

ข่าวสาร : แพทย์ มช. ห่วง วิกฤตฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แนะนำประชาชนป้องกันตนเอง เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากสถิติค่าฝุ่น PM 2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ และข้อมูลสถิติจากการเจ็บป่วยของกระทรวงสาธารณสุข (ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2567) พบว่า ในแต่ละปีมีแนวโน้มและความรุนแรงของปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมาตรการที่ออกมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงคุณภาพอากาศในภาคเหนือดีขึ้นตลอดทั้งปีจึงยังคงเป็นความท้าทาย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นมลพิษทางอากาศมากขึ้น

ปัญหานี้ส่งผลให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิในการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์ตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงบางเดือนเท่านั้น โดยในวันที่ 10 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในคดี ‘ฟ้องฝุ่นเหนือ’ ว่า ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง การฟ้องร้องครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งได้ละเลยหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 พิพากษาหรือคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลใดดำเนินการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์

ประเด็นสำคัญของคดีนี้มี 2 ประเด็น คือ 1. นายกรัฐมนตรี ละเลยหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หรือไม่ และ 2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือไม่ 

ศาลพิพากษาวันที่ 19 มกราคม 2567  ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข หรือบรรเทาภยันตรายจากฝุ่น PM2.5 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก 

แต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน 2567 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ได้ยื่นคำขอให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดต่อศาลปกครองสูงสุด

ประกอบกับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุดว่า  “คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมาตรการฉุกเฉินดังกล่าวเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และนำเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น”

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีความเห็นว่า “การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จึงมิได้เป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง หรือจะเป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ กรณีนี้จึงมีเหตุผลสมควรที่จะมีคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้”

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ท้ายที่สุดแล้ว นอกเหนือจากคำพิพากษา เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจ ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันดำเนินการรักษาคุณภาพอากาศและลดมลพิษ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกคน นอกจากนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชนในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ และผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์และปลอดภัยต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน

🏔 แอ่ว . เชียงใหม่ . หน้าฝน 🌈 - Pantip

“อากาศที่เราหายใจคือของขวัญจากธรรมชาติ
อย่าปล่อยให้มันกลายเป็นพิษจากการกระทำของเรา”

ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง