“โรงไฟฟ้าแฮ๋มหม้อ” ชาวลำพูนย้ำ เฮาบ่เอาโรงไฟฟ้าขยะ พร้อมไล่โครงการดังกล่าวออกจากลำพูน

25 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น. พี่น้องตำบลท่าขุมเงินร่วมกับกลุ่มคนลำพูนไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ และเครือข่ายภาคประชาสังคมลำพูน กว่า 100 คนได้นำขบวนรถ จำนวน 31 คัน ออกจากวัดทาสบเมย อ.แม่ทา จ.ลำพูน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้า นโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรมกับชุมชน เพื่อแสดงเจตจำนงต่อประเด็นโรงไฟฟ้าขยะ ที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ และปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน ณ ศาลากลางจังหวัดลำพูน

ต่อมาเวลา 09.13 น.ได้มีการปราศัยหน้าเทศบาลทาขุมเงิน พร้อมประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และ 9 ข้อกังวล ดังนี้ 

3 ข้อเสนอจากเครือข่าย ดังนี้ 

1. ทบทวนเพื่อยุติโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าจังหวัดลำพูน

2. ให้จังหวัดเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการหาทางออกในการจัดการขยะของจังหวัดลำพูนร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ให้เป็นวาระของจังหวัด

3. ส่งเสริมและยกระดับองค์ความรู้ ในเรื่องจังหวัดสะอาด และชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะให้ครอบคลุมทุกตำบลหมู่บ้าน

9 ข้อกังวลผลกระทบต่อชุมชน ดังนี้ 

1. ตำแหน่งพื้นที่ในการสร้างอยู่ใกล้ชุมชน และสถานที่สำคัญ อาทิ โรงเรียนบ้านแม่เมย ชุมชนบ้านแม่เมย และบ้านสบเมยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 300 เมตร จากตำแหน่งที่คาดว่าจะสร้างโรงไฟฟ้า มีประชากรโดยรวมประมาณ 2,000 คน และมีประชากรทั้งตำบลทาขุมเงินที่อยู่ในรัศมี 1-5 กิโลเมตรประมาณ 6,000 คน

2. พื้นที่ตำบลทาขุมเงินตามผังเมืองรวมลำพูนปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว และเขียวคาดขาว เป็นพื้นที่ชนบทเกษตรกรรม เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ จึงไม่เหมาะสมที่จะมีโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งเพราะจะกระทบต่อพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน และระบบนิเวศน์ของชุมชนโดยรอบทั้ง ดิน น้ำ ป่า อากาศ

3. ด้านมลพิษทางอากาศ จากการเผาขยะ บริบทชุมชนเป็นพื้นราบระหว่างช่องเขา อากาศถ่ายเทได้ยาก โดยเฉพาะช่วงที่ความกดอากาศต่ำ หากมีการปลดปล่อยมลพิษจึงมีความเสี่ยงสูง ที่จะกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ประกอบกับในช่วงฤดูหมอกควัน ไฟป่า จะทำให้ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ และเรื่องฝุ่นควันมีความรุนแรงขึ้น ทุกปีจะมีระยะเวลาการห้ามเผา แต่ข้อเท็จจริงคือเราไม่สามารถห้ามโรงไฟฟ้าเผาได้ แม้สภาพอากาศจะแย่เพียงใดก็ตาม  โรงไฟฟ้าขยะจะทำให้เพิ่มปริมาณค่าPM.2.5 ในชุมชนสูงขึ้น มีความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน

4. ผลกระทบจากการใช้น้ำ โรงไฟฟ้าขยะ ใช้น้ำปริมาณมากในการหล่อเตาเผา (ประมาณ2ล้านลิตร/วัน) ซึ่งจะกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้ ปริมาณน้ำใต้ดิน รวมถึงน้ำเพื่อเกษตร แม้น้ำที่ผ่านการใช้จะมีการบำบัดก็ตาม แต่เป็น น้ำตาย (น้ำที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตลงเหลืออยู่) และมีโอกาสที่น้ำจากโรงไฟฟ้าจะปนเปื้อนแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำน้ำแม่เมยและลำน้ำแม่ทา

5. การสัญจรในพื้นที่ ความปลอดภัยในชุมชน รถขนขยะที่มาจากทั่วสารทิศ 99 เปอร์เซ็นต์ ขยะมาจากนอกพื้นที่ รถบรรทุกขยะผ่าน เข้า ออกชุมชน (ขยะ500ตัน /รถบรรทุกคันละ10-20ตัน) ไม่น้อยกว่า 50คัน/วัน เข้าออก เส้นทางที่รถขนขยะผ่าน ชุมชนมีความกังวลเรื่องกลิ่น ควัน เสียง และการจราจรปัจจุบันถนนเข้า-ออกหมู่บ้านมีความคับแคบ มีหลายเส้นทางฤดูฝนเกิดน้ำท่วม สะพานไม่สามารถใช้ได้

6. ขยะไม่สามารถเผาได้ทั้งหมด ขยะที่ไม่มีระบบคัดแยกที่ดี 100 ตัน จะเผาได้จริงแค่ 30-70 ตันเท่านั้น ที่เหลือต้องหาที่ฝังกลบในพื้นที่อยู่ดี และขยะจากการเผา10-15 เปอร์เซ็นต์จะเหลือเป็นขี้เถ้า ต้องหาที่ทิ้ง สรุปคือ ขยะไม่ได้หายไปไหน มีความเป็นไปได้ว่าในแต่ละวันจะต้องมีการขนขยะเข้ามามากกว่า 500 ตันต่อวัน เพื่อคัดแยก ก่อนเผา ซึ่งในข้อเท็จจริงโรงไฟฟ้าขยะไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้รัฐเป็นหลัก มาตราการการส่งเสริมการคัดแยกขยะ รีไซเคิล ที่ผ่านมาจะไร้ความหมาย

7. ความไม่มั่นใจในการกำกับดูแลตรวจสอบ ของ ท้องถิ่น ภาครัฐ ให้เป็นไปตามมาตราฐาน เพราะหากมีการละเลย จะทำให้เกิดการปลดปล่อยมลพิษ ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ทางนายทุนโรงไฟฟ้าหรือหน่วยงานจะให้ความมั่นใจในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ทุกเทคโนโลยีมีความเสื่อม และอายุการใช้งาน ระบบการตรวจสอบจึงเป็นหัวใจสำคัญ และต้องมีความโปร่งใสสูงมาก

8. โอกาสในการพัฒนาของชุมชนโดยรอบ ไม่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ ชุมชนโดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมีแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน นันทนาการ ที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำแม่เมย ขัวแตะวัดทาสบเมย วัดทาขุมเงิน โครงการโรงไฟฟ้าขยะจะกระทบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ฟาร์มเสตย์ รีสอร์ทต่างๆ หรือธุรกิจร้านอาหารเพราะคงไม่มีใครอยากมาพัก มาเที่ยวในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าขยะ รวมถึงอาจส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต

9. โรงไฟฟ้าขยะหากตั้งที่ไหนแล้ว จะอยู่กับชุมชนตลอดไป และมีแนวโน้มที่จะขยายใหญ่ขึ้นๆ เพื่อรองรับขยะที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ชุมชนโดยรอบจะกลายเป็นเมืองศูนย์รวมขยะ

ดังนั้นจึง ฝากข้อความดังกล่าวถึงกลุ่มฝ่ายบริหาร ขอให้รับฟังเสียงชาวบ้าน  เพราะการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องบ้านและเสียงของตัวเอง เป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ และได้เน้นย้ำว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นการจัดการอย่างยั่งยืนที่แท้จริง หลังจากนั้นจึงเดินทางไปยื่นหนังสือต่อที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง