เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
‘ขยะ’ สำหรับหลายคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่ดูไร้คุณค่าและไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งในชุมชนบ้านหนองเต่า ขยะคือสิ่งที่มีมูลค่าและเป็นเหมือนเงินตราที่สามารถนำมาใช้แลกเปลี่ยนบทเรียนใหม่อย่างการเล่นดนตรี ที่ช่วยสร้างทักษะและพัฒนาประสบการณ์ชีวิตให้กับพวกเขา นอกเหนือจากการเรียนรู้จากในห้องเรียนทั่วไป อีกทั้งยังสร้างมิตรภาพของเด็กในชุมชนผ่านการออกไปช่วยกันเก็บขยะมาคัดแยกประเภทและการร่วมทำวงดนตรีด้วยกัน
‘วงขยะลอแอะ’ วงดนตรีของเยาวชนปกาเกอะญอบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่นำเอาขยะในหมู่บ้านมาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรี สร้างเสียงเพลงขับกล่อมชุมชน เพื่อฟื้นฟูและส่งต่อวัฒนธรรมการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง ‘เตหน่า’ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา พร้อมกับถ่ายทอดความสวยงามของจิตวิญญาณการรักษาผืนป่าซึ่งเป็นหัวใจของชาวปกาเกอะญอ โดยกฎของการเป็นสมาชิกวงนี้มีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวคือ ‘นักเรียนทุกคนต้องเก็บขยะมาจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนดนตรี’
วงขยะลอแอะ วงขยะน่ารัก
เราได้คุยกับ ครูครุ-เก่อเส่ทู ดินุ ครูประจำโรงเรียนบ้านหนองเต่า ผู้ก่อตั้งวงดนตรีขยะลอแอะ ขณะที่เขากำลังพาเด็กๆ มาทำการแสดงดนตรีที่ร้านสุดสะแนน ร้านกินดื่มในตำนานเชียงใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้วงดนตรีในท้องถิ่นมีโอกาสได้แสดงผลงานของตนเอง เพื่อถามถึงที่มาที่ไปของวงขยะลอแอะ ครูครุเล่าว่า การที่เขาตั้งชื่อวงว่า ขยะลอแอะ ก็เพราะคำว่า ‘ลอแอะ’ ในภาษาปกาเกอะญอนั้นแปลว่า ‘น่ารัก’ ดังนั้นวงดนตรีขยะลอแอะ จึงหมายถึง ‘วงดนตรีขยะน่ารัก’ เพราะอยากให้เด็กในหมู่บ้าน รวมทั้งคนอื่นๆ ได้เห็นว่า ขยะไม่ใช่ของสกปรก แต่เป็นสิ่งที่น่ารักและมีคุณค่า โดยเขามักจะสอนเด็กๆ รู้คุณค่าของขยะ ด้วยการปลูกฝังให้นักเรียนแยกขยะและทิ้งขยะให้เป็นที่
“จริงๆ แล้วสิ่งที่เราเรียกว่าขยะก็มีคุณค่า มีประโยชน์ในแบบของมัน เราก็เอาพวกของที่ใช้ไม่ได้แล้ว เอาขวด หม้อ ถัง กะละมัง มาทำเป็นเครื่องดนตรี สร้างคุณค่าให้มัน ทำให้ของที่ถูกมองว่าไม่มีค่า ได้มีคุณค่าใหม่ แล้วก็เป็นประโยชน์กับเด็กๆ ด้วย พวกเขาก็จะมีเครื่องดนตรีเล่น ไม่ต้องไปซื้อแพงๆ ด้วย”
คืนชีพ ‘เตหน่า’ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เปลี่ยนขยะเป็นค่าเล่าเรียน
ครูครุเล่าว่าก่อนที่เขาจะทำวงดนตรีขึ้นมานั้น ในหมู่บ้านหนองเต่ามีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ความเจริญเข้ามาถึง แม้ว่าความเจริญจะช่วยให้ถนนในหมู่บ้านดีขึ้น ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านสะดวกสบายมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ปริมาณขยะที่เยอะขึ้นและจิตสำนึกของผู้คนที่เปลี่ยนไป ครูครุเลยอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหมู่บ้านของเขาด้วยการเดินทางไปทั่วหมู่บ้านเพื่อเก็บเอาขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดทั้งขยะที่ขายได้ และขยะที่ไม่สามารถขายได้ โดยเอามารวมไว้ที่บ้านของเขาเอง จากนั้นก็ได้แยกประเภทของขยะเพื่อนำไปจัดการอย่างถูกวิธี
“ในวันหนึ่งผมนั่งเล่นเตหน่าอยู่ที่บ้าน แล้วก็มีเด็กสองคนเขาตามมากับเสียงเพลง เขาบอกผมว่า เขาอยากฝึกเล่นดนตรี ช่วยสอนเขาหน่อยได้ไหม เราก็บอกว่าได้สิ นัดวันมาได้เลย แต่มีข้อแม้ก็คือ ครูจะสอนเล่นดนตรีให้ แต่เราต้องไปช่วยครูเก็บขยะในช่วงเช้าเป็นการแลกเปลี่ยน”
‘เตหน่ากู’ หรือที่มักเรียกสั้นๆ ว่า ‘เตหน่า’ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย มีคอยาวโค้งงอคล้ายพิณของพม่า เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของพี่น้องปกาเกอะญอที่ใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ประกอบในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ลักษณะของเตหน่ากูที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นแต่ละชิ้น จะแตกต่างกันออกไปตามความชื่นชอบของผู้เล่น แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะทำให้ออกมามีรูปร่างคล้ายไก่
ชาวปกาเกอะญอมักจะเล่นเตหน่าควบคู่ไปกับการท่อง ‘บทธา’ หรือบทกวีของปกาเกอะญอ วัฒนธรรมท้องถิ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ ของชาวปกาเกอะญอ เพื่อย้ำเตือนไม่ให้หลงลืมความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง หนึ่งสิ่งสำคัญที่มักถูกสอนผ่านบทธานั่นคือ ‘การดูแลรักษาป่า’ เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอส่วนใหญ่นั้นสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกันกับป่า ดังคำกล่าวที่ว่า “โอ้ทิ๊ง แฌแชที๊ง เจเท่อ เคเกล้ กแบ แฌแซ อ้ะ” ดื่มน้ำรักษาน้ำ อยู่กับป่ารักษาป่า ที่เป็นคำสอนของชาวปกาเกอะญอจากรุ่นสู่รุ่น
ในปัจจุบัน ผู้ถ่ายทอดบทธาให้คนในชุมชนมีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คนรุุ่นใหม่ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมสมัยใหม่มากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนในชุมชนที่พยายามจดจำและศึกษาบทธาเพื่อสืบทอดให้อยู่กับชุมชนต่อไป โดยการใช้แสดงต้อนรับแขกที่มาเยือนภายในชุมชน
ครูครุเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากสืบสานเครื่องดนตรีเตหน่าและบทธาในชุมชนบ้านหนองเต่าให้คงอยู่ต่อไป โดยครูครุเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสอนดนตรีของเขาว่า เริ่มขึ้นจากการที่มีเด็กนักเรียนสองคนเดินเข้ามาขอให้เขาสอนเล่นดนตรี ครูครุเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้สืบสานเครื่องดนตรีพื้นเมืองให้เด็กรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน เลยเสนอให้เด็กๆ มาช่วยเก็บขยะเพื่อจ่ายแทนค่าเรียนดนตรี เพื่อที่จะได้เป็นการปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะให้กับพวกเขาไปในตัวด้วย ในตอนแรกที่เด็กๆ ได้ยินแบบนั้นก็เกิดอาการอ้ำอึ้ง เพราะพวกเขาไม่เคยทำสิ่งนี้มาก่อน แต่สุดท้ายก็ตกลงที่จะทำเพราะอยากเรียนดนตรี แล้วกลายเป็นสนุกไปกับการออกไปเก็บขยะในตอนเช้าและกลับมาเล่นดนตรีในช่วงบ่าย
จากการเปิดสอนเด็กแค่สองคนในตอนแรก ห้องเรียนดนตรีของครูครุก็ได้รับความสนใจจากเด็กในชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นยังมีเด็กจากหมู่บ้านใกล้เคียงที่เข้ามาขอเรียนด้วย กิจกรรมนี้ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 7 ปี มีนักเรียนที่เรียนจบไปแล้วและยังคงเรียนอยู่เกือบ 50 คน ปัจจุบันเด็กๆ ที่ยังเรียนอยู่มีประมาณ 16-17 คน
“ตอนแรกเราก็เป็นห่วงว่ามันจะหายไปหรือเปล่า เพราะคนที่เล่นเตหน่าได้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรุ่นผมแล้วก็รุ่นที่โตกว่าผมขึ้นไป ดีที่ในตอนนั้นเด็กๆ เขาเข้ามาขอให้เราสอน เราเลยทำเตหน่าเพิ่มเพื่อเอามาสอนเด็กๆ จากตอนแรกที่เตหน่าในหมู่บ้านเกือบหายไป ก็เพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนเด็กๆ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม เครื่องดนตรีเตหน่าก็เลยกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น”
สืบสานและพาดนตรีมาสู่สายตาผู้ชม
สำหรับครูครุ ความฝันของนักดนตรีคือการได้บรรเลงดนตรีบนเวทีเพื่อส่งมอบเสียงเพลงให้กับคนฟังอย่างเป็นที่ประจักษ์ ครูครุเล่าว่าเขาได้พยายามหาโอกาสให้เด็กๆ ไปลองเล่นดนตรีบนเวทีต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้สึกว่าการเรียนดนตรีของพวกเขานั้นมีคุณค่าและมีความหมาย จะได้มีแรงบันดาลใจ มีเป้าหมายในการตั้งใจฝึกซ้อมฝีมือของตัวเองกันต่อไป โดยส่วนใหญ่เวทีที่ครูครุมักพาเด็กๆ ไปแสดงดนตรีนั้นจะเป็นเวทีในหมู่บ้าน ตามงานเทศกาลต่างๆ ทุกครั้งที่เด็กๆ ขึ้นแสดงเสร็จ พวกเขาก็มักจะได้รับขนมหรือเงินตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทน
“ถ้าเราสอนเด็กเล่นดนตรีแต่ไม่มีเวทีให้เด็ก ไม่ได้พาเขาไปเล่นที่ไหน เขาก็รู้สึกว่าเรียนไปทำไม เขาพอไม่มีเป้าหมายเขาก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะเลิกเล่นไปเลย เครื่องดนตรีมันก็จะกลับไปที่จุดเดิม คือหยุดนิ่ง แล้วก็ค่อยๆ เลือนหายไปอีกครั้ง เราเลยสนับสนุนพวกเขาให้ได้ขึ้นไปเล่นบนเวที เด็กๆ ก็ได้ขนม ได้เงินตอบแทนนิดหน่อย พวกเขาก็ดีใจ ได้มีเงินซื้อขนม”
ครูครุได้กล่าวทิ้งท้ายกับเราว่าสิ่งที่เขาอยากเห็นต่อจากนี้ คือการที่เด็กๆ ในหมู่บ้านเกิดความรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นของพวกเขา และอยากให้พวกเขาร่วมมือกันพัฒนาเครื่องดนตรีเหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในอนาคตครูครุก็ยังคาดหวังว่าจะได้พาเด็กๆ ไปสู่เวทีที่กว้าง ในสกานที่ใหม่ และไกลออกไปจากเดิม เพื่อพาบทเพลงของพวกเขาไปสู่สายตาเหล่าคนรักดนตรีกลุ่มใหม่ๆ โดยไม่ลืมที่จะตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอันเป็นหัวใจสำคัญของชาวปกาเกอะญออีกด้วย
“ในอนาคตถ้ามีโอกาสเราก็อยากให้พวกเขาได้ไปในเวทีที่ใหญ่ ไปในที่ที่เปิดกว้างมากขึ้น ให้เขาพาตัวเองและดนตรีของเราไปเจอโลกใหม่ให้เยอะขึ้น เด็กๆ จะได้มีประสบการณ์ เกิดการเรียนรู้ แล้วก็เอามาพัฒนาดนตรีของเรา ทั้งเตหน่าหรือแม้แต่เครื่องดนตรีจากขยะที่เราทำขึ้นมาให้ไปไกลกว่าเดิม”
ความรู้สึกของศิลปินรุ่นจิ๋วจากวงดนตรีขยะลอแอะ
“ผมมาเรียนเพราะเห็นพี่มาเรียนก่อน ตอนเรียนดนตรีก็รู้สึกสนุกเหมือนตอนได้ออกไปวิ่งเล่น ผมชอบเรียนดนตรีมากครับ” แอะนุ-สุรพงษ์ นักเรียนชั้นป.5 จากวงขยะลอแอะ กล่าว
“ผมอยากไปแสดงที่ใหม่ๆ ไกลๆ ตอนขึ้นเวทีผมตื่นเต้นครับ กลัวจะทำไม่ได้ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ครั้งหน้าก็เอาใหม่ได้” เก่อปอ-นภากร นักเรียนชั้นป.6 จากวงขยะลอแอะ กล่าว
เมื่อเราได้ไปคุยกับน้องๆ นักดนตรีวัยประถมจากวงขยะลอแอะ เพื่อถามถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้เรียนดนตรี เด็กๆ เล่าว่าพวกเขาชอบที่ได้เรียนดนตรีกับครูครุมาก การเรียนดนตรีทำให้พวกเขารู้สึกสนุกพอๆ กับการได้ออกไปเล่น และยิ่งรู้สึกดีใจมากขึ้นไปอีกตอนที่รู้ว่าจะได้ไปเล่นบนเวทีต่างๆ พวกเขาบอกว่าตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เจอเวทีใหม่ แม้บางครั้งอาจจะมีความกังวลว่าจะทำได้ไม่ดี แต่เมื่อผ่านมาได้ก็กลายเป็นประสบการณ์ที่ดี และพวกเขาก็อยากไปเล่นดนตรีแบบนี้อีกเรื่อยๆ โดยหวังว่าในวันข้างหน้า จะมีเวทีที่พร้อมโอบกอดและต้อนรับบทเพลงจากเครื่องดนตรีของพวกเขา
ในวันที่ 19 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เด็กๆ วงขยะลอแอะก็ได้ไปร่วมแสดงดนตรีในงานการแสดงดนตรีสดของตัวเองครั้งแรกที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ การแสดงครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกในวงขยะลอแอะ ได้มีพลังพัฒนาทักษะและฝีมือ เพื่อฝึกฝนดนตรีพื้นบ้านของชุมชนให้ดียิ่งขึ้น
สามารถติดตามผลงานของวงขยะลอแอะได้ที่ Facebook Fanpage: โรงเรียนขยะลอแอะ
สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร