‘วาระเชียงใหม่’ เปิด 6 ประเด็นพัฒนาเชียงใหม่ ส่งถึงมือว่าที่ผู้สมัคร อบจ. โชว์วิสัยทัศน์หมัดต่อหมัด เชื่อหลายเรื่องทำได้ทันที

25 มกราคม 2568 ภาคประชาชน ‘วาระเชียงใหม่’ จัดเวทีวาระพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่สู่นโยบาย อบจ.เชียงใหม่ เพื่อเปิดข้อเสนอของภาคประชาชน 6 วาระ ต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.เชียงใหม่ทั้ง 3 คน คือ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครหมายเลข 1 พรรคประชาชน พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ผู้สมัครหมายเลข 2 พรรคเพื่อไทย และ พนม ศรีเผือด ผู้สมัครหมายเลข 3 ในนามอิสระ

ชีวิตดีๆ ที่เชียงใหม่มีได้กี่โมง?

ศุภลักษณ์​  บำรุงกิจ​ ตัวแทนจากสหภาพแรงงานบาริสต้า​และเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ นำเสนอวาระ 1 คุณภาพชีวิต, ความหลากหลาย, ชาติพันธุ์, สังคมสูงวัย, สุขภาพ และแรงงาน

ศุภลักษณ์​ ระบุว่า เป้าประสงค์หลักคือการสร้างสังคมที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนเชียงใหม่ดั้งเดิม ผู้ย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้พิการ คนไร้บ้าน หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการพื้นฐานอย่างถ้วนหน้ากันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ศุภลักษณ์ระบุว่า อบจ. ควรเป็นตัวอย่างที่ดี โดยยกระดับการจ้างงานภายใน อบจ. เอง เช่น ให้พนักงานมีค่าจ้างที่ไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท/เดือน พร้อมทั้งสนับสนุนสิทธิวันลาคลอด 180 วันสำหรับทั้งพ่อและแม่ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ขณะเดียวกัน อบจ. ควรจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานสำหรับคนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานและชมรมหรือสมาคม ถัดมาที่ข้อเสนอสวัสดิการพื้นฐานและสาธารณสุข อบจ. ควรมุ่งเน้นการจัดหาสวัสดิการพื้นฐาน โดยเฉพาะการเข้าถึงน้ำประปาสะอาดดื่มได้ในทุกพื้นที่ การแจกกล่องของขวัญแรกเกิด ผ้าอนามัยฟรี และการสร้างศูนย์เด็กเล็กฟรี เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กและสนับสนุนแม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

ในมิติสุขภาพ เสนอให้เปิดหน่วยบริการสุขภาพที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ และชนเผ่าพื้นเมืองที่ตกหล่นออกจากระบบประกันสุขภาพหลัก พร้อมพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เพิ่มบริการสุขภาพจิต และการคัดกรองมะเร็งปอด สำหรับข้อเสนอด้านการส่งเสริมพหุวัฒนธรรม เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมภายใน อบจ. เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อความหลากหลายชาติพันธุ์ เพศสภาพ อายุ ฐานะ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการมีส่วนร่วม เมืองแห่งการเรียนรู้ สังคมที่น่าอยู่และเท่าเทียม

สำหรับการตอบข้อเสนอในวาระแรก พิชัย กล่าวว่า ในฐานะอดีตนายกอบจ.เชียงใหม่ที่เคยดำรงตำแหน่งมาแล้ว 4 ปีเต็ม  การตอบโจทย์ข้อเสนอในเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาบทบาทและอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน รวมถึงการศึกษาเรื่องงบประมาณให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะในด้านแรงงานและสวัสดิการพื้นฐาน ในข้อเสนอด้านแรงงาน อาทิ การสนับสนุนสิทธิวันลาคลอด 180 วันสำหรับทั้งพ่อและแม่ หรือการพัฒนาสวัสดิการด้านแรงงานอื่นๆ จำเป็นต้องพิจารณาหลักการตามกระทรวง ทบวง กรม เนื่องจาก อบจ.เป็นหน่วยงานท้องถิ่นจึงต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ตามหน่วยงานดังกล่าว

ในด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น การจัดทำน้ำประปาดื่มได้ ต้องตรวจสอบว่าท้องถิ่นสามารถทำได้หรือไม่ หากทำได้ ก็จะทำให้ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ

การบริหารของผม ผมเน้นการทำงานแบบ unity ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน 4 ปีที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าผมทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ทุกสิ่งทุกอย่างผมถือว่าเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง

พันธุ์อาจ กล่าวว่า ชีวิตดีๆ ในเชียงใหม่ ในบริบทนี้มีผู้สมัครสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) หลายคนที่พร้อมทำหน้าที่ในการออกข้อบัญญัติ ข้อบัญญัติหลายฉบับ อาทิ ข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ เด็ก เยาวชน ผู้สูงวัย แรงงาน และสุขภาวะ สามารถออกได้โดย ส.อบจ. ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่ตนอยากจะให้มีข้อบัญญัติเฉพาะภายในจังหวัดที่ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอในเชียงใหม่

และ พนม ระบุว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในส่วนนี้ตนตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 2 แสนกว่าคนในจังหวัด ผ่านการจัดกิจกรรมเฉพาะ เช่น การพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุและการส่งเสริมบทบาทใหม่ให้กับผู้สูงวัย สำหรับประเด็นด้านสุขภาพ หากได้เป็นนายกอบจ. ก็จะจัดสรรพื้นที่ว่างในเมืองสำหรับจัดกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพ นอกจากนี้ก็จะยกระดับมาตรฐาน รพ.สต. ให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน

เศรษฐกิจสีเขียว – ท่องเที่ยวจมปัญหา

ในส่วนของวาระเศรษฐกิจสีเขียวท่องเที่ยวสร้างสรรค์ วารุณี คำเมรุ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การท่องเที่ยวถือเป็นหัวใจสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัดที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นระดับฐานรากอย่างแท้จริง ดังนั้นในวาระนี้จึงอยากนำเสนอประเด็นการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้แก่การท่องเที่ยว ดังนี้

ประเด็นแรก วารุณีกล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ประชาชนในจังหวัดประสบอย่างไร นักท่องเที่ยวก็ประสบอย่างนั้น ภาคการท่องเที่ยวจึงต้องการให้ อบจ. จัดการกับปัญหานี้อย่างชัดเจนและจริงจังทั้งในด้านการป้องกัน แก้ไข และการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและนักท่องเที่ยว ส่วนในเรื่องสนามบินเชียงใหม่ ในนามของ อบจ. จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างอุโมงค์ลอดเชื่อมสนามบิน เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ทั้งนี้ยังเสนอให้เร่งรัดการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ ขุดลอกแม่น้ำปิง และสร้างผนังกั้นน้ำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อพร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วม

วารุณีกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยากเห็นเพื่อที่จะนำพาเชียงใหม่ให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นคือ การพัฒนาเชียงใหม่สู่เมืองเทศกาล 12 เดือน 12 กิจกรรม ประกอบกับการสนับสนุนงบประมาณและส่งเสริมตลาดต่างประเทศจาก อบจ. เนื่องด้วยเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีสินค้าท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการผลักดันไปสู่เวทีระดับโลก ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวจึงต้องการให้ อบจ. จัดสรรงบฯ 30% จากภาษีท้องถิ่นที่จัดเก็บจากโรงแรม เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตลาดในงานตลาดท่องเที่ยวระดับโลก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เข้ามาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น

โดย พันธุ์อาจ ได้ตอบคำถามนี้โดยมุ่งไปที่งบประมาณจากภาษีท้องถิ่น 30% สามารถกลับไปที่การออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การดูแลสิ่งแวดล้อม และการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ได้ เพื่อทำให้เกิดการแบ่งรายได้ระหว่างกัน และทำประชาชนและชุมชนมีสิทธิในการออกแบบธุรกิจของตนเอง

ขณะเดียวกันในเรื่องของการพัฒนาเชียงใหม่สู่เมืองเทศกาล 12 เดือน 12 กิจกรรม พันธุ์อาจระบุว่า การจัดกิจกรรมควรเน้นให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้จัดงานเอง เพื่อลดการจ้างงานออแกไนเซอร์จากภายนอก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentives, Conventions, Exhibitions) ที่ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัด

ทางด้าน พนม มุ่งไปที่ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ช่วง 2 – 3 เดือนต่อปีส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ปัญหานี้ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง พนมยังระบุอีกว่าอยากเห็นเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าเดิน พร้อมชี้ว่าโครงสร้างพื้นฐานในตัวเมืองต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยว สืบเนื่องมาที่ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือ ที่ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ควรสร้างถนนให้รถจอด

พนมทิ้งท้ายว่า อยากเห็นเชียงใหม่จัดกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ให้มีชื่อเสียงระดับโลก ในส่วนนี้ตนมองว่า อบจ. สามารถทำได้

โดย พิชัย ซึ่งกล่าวถึงผลงานในอดีตเพื่อเชื่อมโยงการสานต่อการทำงานในอนาคต เมื่อ 4 ปีที่แล้วตนได้ทำข้อตกลงกับทางผู้ว่าราชการเชียงใหม่ตามอำนาจหน้าที่ที่มีเพื่อพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ผ่านการจัดงาน Charming Chiang Mai ซึ่งสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจได้หลายด้าน ส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง พิชัยยังเน้นว่า ตนไม่ได้เน้นการดำเนินการที่แค่ อบจ. ที่เดียวเท่านั้น แต่ยังเน้นในพื้นที่อำเภออื่นๆ ด้วย

เชียงใหม่จมฝุ่น

วาระแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ ปริศนา  พรหมมา สภาลมหายใจเชียงใหม่ พูดถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่เน้นบทบาทสำคัญของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ ประสบปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังพล เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลป่า 5,000 ไร่ ทำให้การจัดการไฟป่าและฝุ่นควันไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรเป็นกำลังสำคัญในกระบวนการนี้ ดังนั้น ข้อเสนอในวาระนี้จึงมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่ 1. สนับสนุนชุมชน/หมู่บ้านในการจัดการไฟป่าฝุ่นควัน โดยจัดทำข้อบัญญัติสิ่งแวดล้อม และข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2. สนับสนุนบริหารจัดการพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ เพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวและศักยภาพในการดูดซับฝุ่น โดยใช้องค์ความรู้การดูแลตามหลักรุขกรรม และ 3. นำร่องการคัดกรองมะเร็งปอดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในการกำกับดูแลของ อบจ. และจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะ”

พนม ตอบวิสัยทัศน์ต่อประเด็นนี้ว่า ปัญหาฝุ่นเกิดจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดฝุ่น ควรดำเนินการเรื่องของการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุไฟป่า โดยให้ทุกองค์กรนำกำลังพลมาช่วยกันตั้งจุดตรวจและจุดสกัดในพื้นที่เสี่ยง มากกว่าการมุ่งเน้นแค่การดับไฟเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าและฝุ่นควันในระยะยาว และควรส่งเสริมให้พื้นที่เกษตรสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้นำพืชผลที่เหลือจากการเกษตรมานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งหากตนเข้าไปเป็นนายกอบจ. ก็สามารถที่จะจัดสรรสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ได้

พนมทิ้งท้าย “เรื่องมะเร็งปอด ผมคิดว่าในช่วงระยะสั้นและระยะกลาง เราก็ต้องจัดการตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย

พิชัย ระบุว่า สมัยดำรงตำแหน่งเป็นนายก อบจ. ตนเคยได้ดำเนินการร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ในการสนับสนุนงบประมาณสำหรับชุดดับไฟป่าในกว่า 770 หมู่บ้าน พร้อมกับการตั้ง War Room แก้ไขปัญหาไฟป่า นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่เพื่อซื้อเศษใบไม้และวัสดุการเกษตร เพื่อลดการเผาและไฟป่าในพื้นที่ ในเรื่องการคัดกรองมะเร็งปอดใน รพ.สต. อำนาจหน้าที่ของ อบจ. สามารถทำได้ในเรื่องนี้

และพันธุ์อาจ กล่าวว่า มีนโยบายหลัก 2 ข้อที่สำคัญ โดยหนึ่งในนโยบายหลักคือการส่งเสริมการดูแลป่า โดยเน้นการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อจัดตั้งและดูแลป่าชุมชน เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าและลดฝุ่นควันในช่วงฤดูแล้ง อีกหนึ่งมิติสำคัญคือการส่งเสริมการทำศูนย์แจ้งเตือนแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้การแจ้งเตือนภัยไฟป่าและมลพิษทางอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“อยากทำให้เกิดหมู่บ้านแฝดดูแลป่าชุมชน โดยการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนในเขตเมืองที่ไม่มีพื้นที่ป่ากับชุมชนในพื้นที่ที่มีป่า เพื่อดูแลและปกป้องพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน แนวคิดนี้ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ อบจ. แต่เน้นการร่วมมือกันในระดับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลป่าและระบบนิเวศ”

พันธุ์อาจทิ้งท้ายว่า ตั้งเป้าหมายที่จะลดฝุ่นควันจากการเผาไร่และการใช้พืชเชิงเดี่ยว โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายชนิดที่สามารถนำออกมาขายได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยลดการเผาและลดการปล่อยฝุ่นควันจากการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

เชียงใหม่กับการเป็นเมืองมรดกโลก

วาระการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และการเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม  เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ระบุว่า หัวข้อที่สำคัญไม่แพ้การขับเคลื่อนมรดกโลกก็คือเรื่องของการศึกษา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจฐานรากได้ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอในเรื่องของการส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาส และเพิ่มวิชาที่เหมาะสมกับการบริบทพื้นที่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับการประกอบอาชีพในอนาคต พร้อมทั้งสร้างระบบและกลไกสนับสนุน เพื่อเผยแพร่ผลงานและดูแลสวัสดิการพ่อแม่ครูภูมิปัญญาล้านนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

เรื่องของมรดกโลก ก็จำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนการเป็นมรดกโลกด้วยความโปร่งใส ยึดหลักการประโยชน์ของเมือง ปราศจากวาระทางการเมือง ท้ายที่สุดจากข้อเสนอเหล่านี้ 8 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จะนำเสนอสู่การเป็นมรดกโลกอยู่นี้ควรได้รับการสนับสนุนและบริหารจัดการจาก อบจ. อย่างไรทั้งในเรื่องของการรับข้อเสนอ แผนงบประมาณ และการสื่อสาร

โดย พิชัย นั้นเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ยิ่งได้เป็นเมืองแห่งมรดกโลกก็เป็นสิ่งที่ดี จากประสบการณ์ที่ทำงานมาสี่ปี ในส่วนของการศึกษาสามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ก็ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย

พันธุ์อาจ กล่าวว่า เชียงใหม่มีความหลากหลายทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ซึ่งเสริมสร้างซึ่งกันและกันได้ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะดั้งเดิมและร่วมสมัย ต้องทำผ่านการสนับสนุนศิลปินให้สามารถอยู่ได้และสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ควรต้องคำนึงถึงการดูแลและรักษาวัฒนธรรมในท้องถิ่น พันธุ์อาจทิ้งท้ายว่า หากได้เข้าไปเป็นนายก อบจ. ตนจะทำสิ่งที่เรียกว่า Chiangmai Provincial Lab เพื่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวัฒนธรรมอย่างแท้จริง 

และ พนม ซึ่งกล่าวว่า 8 แหล่งวัฒนธรรมที่กำลังนำเสนอสู่การเป็นมรดกโลกนั้นอันที่จริงน่าจะเป็นมานานแล้วด้วยซ้ำ และในเรื่องการศึกษา โรงเรียนอบจ.ต้องเป็นต้นแบบในการพัฒนามาตรฐานการศึกษา เพื่อให้เด็กในพื้นที่สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องออกไปเรียนในเมือง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา และขยายโอกาสทางการศึกษาภายในพื้นที่ เพื่อให้เด็กในทุกพื้นที่ของเชียงใหม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

การเดินทางเมืองที่เป็นธรรมสำหรับคนเชียงใหม่ 

จีรกร สุวงษ์ กลุ่ม We Green นำเสนอประเด็นสิทธิการเดินทางเมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยนำเสนอแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ มุ่งหวังให้บริการขนส่งสาธารณะในเขตเมืองมีความครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศการเดินทางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต

หนึ่งในข้อเสนอสำคัญคือการให้บริการรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (EV Bus) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการหลังการเลือกตั้ง โดยมีการยื่นขอเส้นทางเดินรถและกำหนดอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังจะจัดทำคูปองสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก เพื่อให้สามารถใช้บริการได้ฟรี

ในวาระนี้ พันธุ์อาจ กล่าวว่า การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายและสามารถเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของตน พร้อมที่จะยกระดับคุณภาพรถโดยสาร ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ด้วยการนำรถอีวีมาใช้ในระบบขนส่ง

พันธุ์อาจกล่าวเพิ่มเติมในด้านการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมของชุมชนว่า อยากให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อออกแบบจุดจอดรถสาธารณะที่เหมาะสม รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบขนส่ง

“ในส่วนของการสร้างระบบขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด จะมีการหารือบริษัทพลังงานตั้งจุดชาร์จ โดยที่อบจ.ไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่จะทำงานในรูปแบบไตรภาคีร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อให้การพัฒนาระบบขนส่งไฟฟ้าเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึง”

ทางด้าน พนม อธิบายว่า ระบบขนส่งในเชียงใหม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นของเอกชน แต่การพัฒนาระบบขนส่งที่มีประโยชน์จริงๆ สำหรับเชียงใหม่ต้องเน้นการใช้เทคโนโลยีทันสมัย โดยเสนอให้พื้นที่ห่างไกลใช้รถอีวี แม้ว่าจะไม่สามารถทำกำไรสูงในทันที แต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและลดค่าโดยสาร ทั้งยังสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ดำเนินการได้ ทั้งนี้ พนมระบุว่า การขับเคลื่อนระบบสาธารณะมีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการรองรับนักเรียนในอำเภอเมือง

ทั้งนี้พนมยังมีแนวคิดในการนำระบบขนส่งทางน้ำมาใช้ เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งแม่น้ำปิงมักแห้งลง แต่การขุดลอกแม่น้ำและพัฒนาเป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำอาจเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งยังสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดได้ด้วย

และ พิชัย กล่าวว่า โครงการจัดทำขนส่งสาธารณะในสมัยดำรงตำแหน่งเดิมของตน ได้รับการอนุมัติจากสภาอบจ.เรียบร้อยแล้ว และกำลังเตรียมที่จะขออนุญาตเส้นทางจากกรมการขนส่งทางบก ในเรื่องนี้อบจ.สามารถทำได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ พิชัยยังมีโครงการพัฒนาโครงการสวนสาธารณะในพื้นที่ที่การรถไฟได้ยกให้แก่ อบจ. เพื่อใช้เป็นสวนสาธารณะ โดยจะใช้งบประมาณจากอบจ.ในการดำเนินการ จ้างบริษัทดำเนินการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน ตนมั่นใจว่าแผนเหล่านี้สามารถทำได้ทันที หากได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและการประสานงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระจายอำนาจ – จังหวัดจัดการตนเอง ผู้สมัครอบจ.พร้อมไหม?

ปิดท้ายด้วย วาระที่ 6 การกระจายอำนาจจังหวัดจัดการตนเอง โดย อภิบาล สมหวัง คณะก่อการล้านนา ผู้นำเสนอวาระ กล่าวว่า อยากเริ่มต้นวาระนี้ด้วยการเสนอให้อบจ.จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการรวมตัวและการรวมกลุ่มทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวของสหภาพแรงงานเพื่อการต่อรองกับนายจ้าง หรือการรวมตัวของพี่น้องชาติพันธุ์ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาป่าและที่อยู่อาศัย รวมถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง การรวมกลุ่มของผู้คนที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่

อภิบาลกล่าวต่อว่า การจัดการโครงการหรือกิจกรรมที่มีการลงทุนสูงและอาจส่งผลกระทบทั้งในด้านดีและไม่ดี ดังนั้นในวาระนี้จึงอยากเสนอให้มีการกลั่นกรองโครงการเหล่านี้ผ่านกรรมาธิการและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีความเข้าใจในปัญหา โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและกลุ่มต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและกำหนดทิศทางของโครงการ เพื่อให้ผลประโยชน์ตกแก่คนในพื้นที่จริงๆ

ทั้งนี้ อภิบาล ยังมอบคำถามให้แก่ผู้สมัครนายกอบจ.ทั้งสามว่า “พร้อมหรือไม่ ที่จะร่วมในการแสดงจุดยืนขยับวาระกระจายอำนาจ ให้เชียงใหม่และรวมถึงทุกจังหวัดสามารถมีอนาคตเป็นของตัวเองผ่านผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง ถ่ายโอนอำนาจส่วนภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง?

โดย พนม กล่าวว่าต้องดูบริบทประเทศไทยว่าเราเป็นอาณาจักร เป็นรัฐ เราสามารถจัดการตนเองได้บางเรื่อง บางส่วนเท่านั้น เราสามารถดำเนินการในด้านอื่นๆ ได้ ถึงแม้เราจะมีรัฐบาลกลางก็จริง แต่รัฐบาลกลางก็ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการกระจายอำนาจเลยที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะพูด คิดแบบนี้

ผมไม่ได้ตอบแบบนี้เพราะเคยเป็นทหาร แต่ผมยังยึดมั่นในกฎหมายความมั่นคงที่จำเป็นต้องมี แต่เรื่องอื่นๆ เราเห็นด้วย เรื่องของการศึกษา เรื่องอะไรต่างๆ ให้รัฐบาลกลางมาสนับสนุนงบประมาณ เขาสนับสนุนอยู่แล้วตรงนี้

ด้าน พิชัย กล่าวว่า สำหรับวาระการกระจายอำนาจจังหวัดจัดการตนเองที่ผู้เสนอวาระได้สอบถามว่าพร้อมไหมสำหรับจังหวัดจัดการตนเอง ในส่วนตัวตนเห็นด้วย แต่ทั้งนี้ การที่จะพร้อมหรือไม่พร้อมต้องดูว่าอำนาจหน้าที่ของในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เราคืออะไร การที่จะไปแก้ไขกฎหมายก็ต้องผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

คือในส่วนของจังหวัดจัดการตนเอง การกระจายอำนาจ ผมเห็นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ที่ สส. สว. ในการที่จะแก้ไขหรือว่าในส่วนของรัฐธรรมนูญ

ปิดท้ายด้วย พันธุ์อาจ กล่าวว่า พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ ที่มีการปรับปรุงมาแล้ว ถ้าดูมาตรา 17 จะพูดถึงบทบาทและหน้าที่ของอบจ. หลายส่วนมาก ไม่ใช่ทำงานแค่น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก ในบริบทนี้ต้องถามว่าอบจ.ทำงานครบแล้วหรือยัง ส่วนตัวตนคิดว่ายังไม่ครบ เพราะฉะนั้นการที่เรามองจากบริบทที่มันอยู่ใน ข้อเสนอมันตอบคำถามในตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้นั่นก็คือ การที่เรามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตของเรา ทำนโยบาย โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือ การที่เรามี ส.อบจ. เข้าไปกำหนดข้อบัญญัติที่มาจากการมีส่วนร่วมของคนเชียงใหม่ทั้ง 25 อำเภอ ดังนั้นถ้าเรามีข้อบัญญัติเหล่านี้มันก็เป็นการทำให้มีการเป็นหุ้นส่วนในการทำนโยบายเชิงรุก

จังหวัดจัดการตนเองไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเปลี่ยนแปลงพ.ร.บ.ใดๆ แต่เราทำให้คนเชียงใหม่พร้อมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเชียงใหม่ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมานั่งเถียงกันเรื่องความมั่นคงหรือมันไม่ใช่ความมั่นคง แต่มันเป็นเรื่องของการที่เราดูแลสิทธิของคนเชียงใหม่ทั้งหมด

ทั้งนี้วาระเชียงใหม่ ยังทิ้งท้ายเวทีในครั้งนี้ว่า อยากชวนประชาชนเชียงใหม่ทุกคนไปร่วมกันเลือกตั้งนายก อบจ. และช่วยกันจับตาดูข้อเสนอในแต่ละวาระว่าจะนายก อบจ. คนต่อไปจะสานต่อสิ่งที่ประชาชนต้องการหรือไม่ พร้อมกับเชิญชวนจับตา วาระเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ในเดือนพฤษภาคมนี้ต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง