หมื่นสารในมุมที่ไม่เคยเห็น หมื่นสาร หมื่นเรื่อง ที่คุณอาจไม่เคยรู้

สัมผัสเสน่ห์ขุมทรัพย์ประวัติศาสตร์ของชุมชนวัดหมื่นสาร พิพิธภัณท์ทหารญี่ปุ่น สถูปอัฐิครูบาศรีวิชัย และศาลาเงิน พุทธศิลป์จากอัตลักษณ์วิถีชุมชน

21 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มผู้ดำเนินโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดกิจกรรม นโนบายท่องเที่ยวชุมชน: หมื่นสาร ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech Transfer to Community) ณ ชุมชนวัวลาย รอบวัดหมื่นสาร จังหวัดเชียงใหม่

ภาพจาก: www.chiangmaiwecare.com

กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้มีลักษณะเป็น Sandbox ทดลองเส้นทางศึกษาชุมชน โดยการพาผู้เข้าร่วมเดินสำรวจเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัดหมื่นสาร เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนโดยเฉพาะการประกอบอาชีพช่างเครื่องเงิน รวมไปถึง workshop การตอกลายเครื่องเงินในตอนท้าย

ประวัติศาสตร์วัดหมื่นสารในช่วงที่พม่าปกครองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2101-2317) ยังไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับวัดหมื่นสารหรือคนในชุมชนหมื่นสารเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าได้มีการทำนุบำรุงวัดหมื่นสาร ทั้งนี้เพราะมีร่องรอยศิลปะแบบพม่าที่เจดีย์ของวัด

จนถึงในช่วงที่เจ้ากาวิละเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2324-2358) ได้ปรากฏเรื่องราวของคนในชุมชนหมื่นสารอย่างชัดเจนว่า ในปี พ.ศ. 2342 ชาวบ้านวัวลายในแถบลุ่มน้ำคงหรือแม่น้ำสาละวินในปัจจุบัน ได้ถูกกวาดต้อนให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณรอบ ๆ วัดหมื่นสาร ต่อมาเจ้าเมืองอังวะได้ยกทัพมายึดเมืองปุ และตั้งเจ้าฟ้าคำเครื่องเป็นเจ้าเมือง พระเจ้ากาวิละได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสุวัณณะคำมูลผู้เป็นหลานชาย คุมทัพไปตีเมืองปุ เสร็จแล้วก็ข้ามแม่น้ำคงไปกวาดต้อนผู้คนจากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคง เช่น บ้านวัวลายเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง และได้นำผู้คนมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณวัดหมื่นสาร และเรียกชื่อชุมชนว่า “บ้านงัวลาย” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมที่ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคง (แม่น้ำสาละวิน) ทำให้เกิดชุมชนบ้านงัวลายตั้งแต่นั้นมา โดยมีวัดหมื่นสารเป็นศูนย์กลางของชุมชน นอกจากนั้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2520 สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พบคัมภีร์ใบลานของวัดหมื่นสารจำนวน 163 รายการ หรือ 815 ผูก และมีเอกสารใบลานที่ระบุปี จ.ศ.1187 (พ.ศ. 2368) หรือประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา (สมโชติ อ๋องสกุล, 2558; อนุ เนินหาด, 2558)

นอกจากเจดีย์แบบศิลปะพม่าแล้ว ภายในวัดหมื่นสารยังมีพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ทางประวัติศาสตร์ชุมชน

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) นั้น วัดหมื่นสารได้ถูกกองทัพญี่ปุ่นจัดทำเป็นโรงพยาบาลเพื่อรักษาทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บจากการสู้รบและเจ็บป่วยด้วยโรค จากคำบอกเล่าของชาวบ้านวัดหมื่นสารว่า ประมาณเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 ทหารญี่ปุ่นแต่งเครื่องแบบแบกปืนเดินกันเป็นขบวนเข้ามายังวัดหมื่นสาร มีการจัดทำสถานพยาบาล ที่ชาวบ้านเรียกว่า “โฮงยาทหารญี่ปุ่น” โดยมีการจัดทำที่พักแรมและสถานพยาบาลที่ทำเป็นโรงด้วยไม้ไผ่และมุงด้วยใบตองตึง ด้านข้างปิดด้วยใบตองตึง โดยมีแคร่ไม้ไผ่ยาวตลอดโรง อีกทั้งมีการสร้างโรงเก็บศพในลักษณะเดียวกัน เมื่อมีทหารญี่ปุ่นที่เจ็บป่วยก็จะถูกนำมาส่งที่สถานพยาบาลแห่งนี้ โดยมีหมอทหารและพยาบาลประจำอยู่ประมาณ 20-30 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทหารญี่ปุ่นจะเจ็บป่วยด้วยโรคไข้จับสั่นหรือโรคมาลาเรีย และโรคขาดอาหาร เพราะต้องเดินเท้าผ่านป่าจากพม่าเข้ามาสู่พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

เมื่อทหารญี่ปุ่นตายก็จะมีการนำศพมาเก็บไว้ที่โรงเก็บศพที่ทำด้วยไม้ไผ่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีชาวบ้านที่ทำหน้าที่สัปเหร่อมานำศพใส่โลงศพแล้วนำไปวางบนกงล้อเข็น ที่มีวงล้อ 2 อันและมีไม้วางตรงกลางระหว่างกงล้อสำหรับวางโลงศพ โดยสัปเหร่อจะวางพร้อมกัน 2 โลง แล้วเข็นไปเผาที่สุสานช้างคลาน โดยผ่านถนนวัวลาย ถนนราชเชียงแสน เข้าสู่ถนนระแกงไปสู่สุสานช้างคลาน

ภายหลังสงครามได้มีลูกของทหารที่เสียชีวิตได้เดินทางมาทำพิธีคารวะบิดาที่เสียชีวิตที่วัดหมื่นสาร ซึ่งต่อมามีการสร้างกู่หรือหอเก็บวิญญาณของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิต ปัจจุบันมีการนำเอาศาลาวัดหมื่นสารมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (จากคำบอกเล่าของลุงสูน บุญทา อายุ 79 ปี โดยมีลุงศรีพล บุญเฉลียว เป็นผู้บันทึก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) 

นอกจากนี้วัดหมื่นสารยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เก็บบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย ซึ่งอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัยที่สามารถรวบรวมได้ถูกแบ่งออกเป็น 7 ส่วน เพื่อไปบรรจุตามวัดต่างๆ ทั่วแผ่นดินล้านนา ดังนี้

ส่วนที่ 1 บรรจุที่ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน

ส่วนที่ 2 บรรจุที่ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่

ส่วนที่ 3 บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง

ส่วนที่ 4 บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา

ส่วนที่ 5 บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

ส่วนที่ 6 บรรจุที่ วัดน้ำฮู จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ส่วนที่ 7 บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ชาวบ้านในชุมชนวัดหมื่นสารเล่าสืบต่อกันมาว่าในขณะที่มีการพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัยที่ลำพูนนั้น ครูบาขาวปีหรือครูบาอภิชัย (พ.ศ. 2432-2520) ซึ่งเป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัยได้มา ‘นั่งหนัก’ เพื่อบูรณะวัดหมื่นสารร่วมกับครูบาอินตา อินทปญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2489-2492 เมื่อมีการแบ่งอัฐิครูบาศรีวิชัยนั้น ครูบาขาวปีกับนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ ไปรับอัฐิครูบาศรีวิชัยกลับมาถึงยังวัดหมื่นสาร

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2492 ได้มีการจัดขบวนแห่อัฐิครูบาศรีวิชัยจากวัดหมื่นสารเพื่อนำไปไว้ที่วัดสวนดอกตามวัตถุประสงค์เดิม เมื่อขบวนมาถึงวัดสวนดอกจึงได้มีการอัญเชิญอัฐิธาตุลงใส่ไว้ในสถูปที่มีช่องเปิด-ปิดได้ ระหว่างนั้นทางวัดสวนดอกก็มีการจัดงานมหรสพฉลองสมโภชเป็นเวลา 15 วัน 15 คืน โดยมีนายอินทร์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

อย่างไรก็ตามเมื่อในช่วงที่มีการอัญเชิญอัฐิครูบาศรีวิชัยไปไว้ที่วัดสวนดอกนั้น เป็นช่วงที่วัดสวนดอกยังไม่มีเจ้าอาวาส จึงขาดผู้นำที่จะดูแลรักษาอัฐิธาตุ ครูบาขาวปีกับนายอินทร์ ดำรงฤทธิ์ เจ้าของผอบจึงอัญเชิญอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัยมามอบให้ครูบาอินตา เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารและเจ้าคณะตำบลหายยาเก็บรักษาไว้ตามเดิม ครั้นเวลาล่วงเลยไป 7 ปี ก็ไม่มีผู้ใดมาทวงคืนอัฐิธาตุดังกล่าว ทางครูบาอินตาจึงจัดให้มีการสร้างสถูปบรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัยไว้ที่วัดหมื่นสาร โดยมีคณะศรัทธาวัดหมื่นสารได้ร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงินสำหรับการก่อสร้างสถูปดังกล่าวจนแล้วเสร็จและมีการทำพิธีบรรจุเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2496

ชาวชุมชนวัดหมื่นสารจึงถือว่าอัฐิครูบาศรีวิชัยที่บรรจุอยู่ในสถูปภายในวัดเป็นของแท้ และเป็นที่เคารพสักการะของชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2545 พระครูโอภาสคณาภิบาล เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารคนปัจจุบันจึงได้ร่วมใจกันสร้างรูปปั้นของครูบาศรีวิชัยและได้สร้างศาลาเงิน (หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานและเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ซึ่งปัจจุบันก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ทางสถาปัตยกรรมชุมชน

กิจกรรมต่อมาหลังเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัดหมื่นสาร ผู้เข้าร่วมได้เดินทางสำรวจเรียนรู้วิถีอาชีพชุมชน เยี่ยมชมการทำงานของสล่า(ช่าง)เครื่องโลหะที่แม้จะเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนตั้งแต่อดีต แต่ในปัจจุบันก็ยังมีหลายครัวเรือนทำอาชีพดังกล่าวอยู่ รวมถึงมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพผลักดันเครื่องเงินและโลหะเป็นสินค้าของชุมชนด้วย

หลังจากศึกษาวิถีชุมชน ทางชุมชนได้เตรียมสำรับอาหารท้องถิ่นอย่าง ‘เมี่ยงคำ’ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีโอกาสลิ้มลองความเป็นท้องถิ่นผ่านรสสัมผัส และกิจกรรมในตอนท้ายคือ workshop ตอกลายเครื่องเงิน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทางชุมชนเองได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ โดยหวังให้ผู้เข้าร่วมสามารถเข้าถึงและรับประสบการณ์จากชุมชนได้อย่างรอบด้านมากที่สุด

(ผศ.ดร. สุพิชฌาย์ ปัญญา (ขวา))

ผศ.ดร. สุพิชฌาย์ ปัญญา อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มผู้จัดกิจกรรมได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของกิจกรรมว่า

“กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อนำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้าสู่ชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ให้ไปสำรวจว่ามีชุมชนไหนที่อยากจะฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ศึกษามักจะไปสำรวจชุมชนด้านนอกเมือง แต่ส่วนตัวคิดว่าในเมืองก็เป็นพื้นที่ที่สำคัญ หลาย ๆ พื้นที่ที่เคยมีเศรษฐกิจชุมชนคึกคัก แต่กลับซบเซาลง เราจึงมาสำรวจในพื้นที่นี้คือ ชุมชนวัวลาย มันก็มีปัญหา เช่น ช่วงโควิด-19 ส่งผลจนถึงปัจจุบันทำให้ชุมชนไม่มีลูกค้า รวมถึงการผูกขาดจากนายทุนที่มาจากคณะทัวร์ทำให้การซื้อขายเครื่องเงินซึ่งเป็นสินค้าจากอัตลักษณ์วัฒนธรรมชุมชนถูกโก่งราคาเยอะมาก จึงคิดหาทางแก้ปัญหาโดยการออกแบบเว็บไซต์ที่นอกจากจะโปรโมทชุมชนได้แล้ว ยังสามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีของชุมชนอย่างแท้จริงได้ด้วย โดยเป็นกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวมา Workshop อย่างเช่นกิจกรรมในวันนี้ที่มีการตอกเครื่องเงิน การร่วมรับประทานเมี่ยงคำแบบชาวบ้าน นอกจากจะสอดแทรกวิถีและอัตลักษณ์ชุมชนแล้ว ยังเป็นการให้สัมผัสกับประสบการณ์จริง ทำให้นักท่องเที่ยวที่มารู้สึกเข้าถึง สร้างการจดจำชุมชนได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ สุพิชฌาย์ได้ระบุเพิ่มเติมถึงการเลือกพื้นที่ชุมชนวัวลายว่า ภายในเขตชุมชนมี 3 วัดสำคัญคือ วัดศรีสุพรรณ วัดนันทาราม และวัดหมื่นสาร ซึ่งแต่ละวัดก็มีจะชุมชนโดยรอบบริเวณวัดที่แตกต่างกันไป สำหรับวัดหมื่นสารนับว่าเป็นวัดที่มีทุนทางสังคมของตนเองที่น่าสนใจหลายอย่างคือมีวิหารเงิน มีพิพิธภัณฑ์ทหารญี่ปุ่น อัฐิครูบาศรีวิชัย แต่กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกหลงลืม เพราะผู้คนและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะไปชุมชนรอบบริเวณวัดอื่น ๆ ที่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่าชุมชนรอบวัดหมื่นสาร ส่วนตัวจึงมีความพยายามอยากจะช่วยฟื้นฟูจึงเลือกตัดสินใจมาที่ชุมชนบริเวณวัดหมื่นสาร

“ก่อนที่เราจะมาทำกิจกรรมในวันนี้ เราได้ทำการสำรวจข้อมูลว่าชุมชนมีทุนทางสังคมอะไร มีเศรษฐกิจชุมชนอะไรที่น่าสนใจเพื่อที่จะนำไปใส่ในเว็บไซต์ และเพื่อให้เป็นฐานการออกแบบกิจกรรม โดยการสำรวจเราได้ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรม Sandbox ทดลองเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน แต่ในอนาคตเราก็อยากให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน สามารถออกแบบกิจกรรมรวมถึงการโปรโมทผ่านเว็บไซต์ที่เราได้มีการจัดทำไว้ให้”

ทั้งนี้ กิจกรรมภายใต้โครงการวิจัยเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าสู่ชุมชนในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างกระบวนการค้นคว้าข้อมูล ประวัติศาสตร์ของชุมชนที่จะเป็นประโยชน์ทั้งผู้จัดกรรม ชาวบ้านในชุมชนและผู้ศึกษาชุมชนในอนาคต ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างแนวทางเพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้จากทุนทางสัมคมที่มี โดยภายหลังจากนี้ สุพิชฌาย์ได้ระบุว่าจะมีการถ่ายทอดผลงานเว็บไซต์ให้กับชุมชน โดยให้ผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานและฟังก์ชันต่าง ๆ เพื่อให้สามารถออกแบบกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวชุมชนและนำเสนอผ่านเว็บไซต์ได้ ขณะที่ผู้จัดทำโครงการวิจัยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางสนับสนุน ช่วยประชาสัมพันธ์ชุมชนต่อไป

อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง