ลำปาง ย้ำ! ไม่เอา คทช. หยุดสร้างความเดือดร้อนก่อนได้ข้อยุติ

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ลำปาง ร้องผู้ว่าฯ ถูก จนท. ป่าไม้ข่มขู่ให้ปลูกป่าทับที่ทำกิน ขอชะลอดำเนินการนโยบาย คทช.

25 เม.ย. 2566 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดลำปาง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ร้องถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ข่มขู่คุกคามให้ปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของตนเอง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยเป็นกรณีที่เกิดขึ้น ณ ชุมชนบ้านแม่หมีใน และแม่หมีจกปก หมู่ 6 ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ตั้งแต่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา

หนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาป่าไม้ – ที่ดิน ชุมชนบ้านแม่หมีใน และแม่หมีจกปก ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้มีการหารือพูดคุยและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันมา จนกระทั่งได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยเฉพาะข้อ 1. เห็นชอบในหลักการข้อเสนอของพีมูฟ กรณีขอให้ยกระดับโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการที่ดินตาม มาตรา 10 (4) ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562

นอกจากนั้นที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคในพื้นที่ความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 และได้มีแนวทางร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชาวบ้าน

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ได้มีการจัดประชุมดำเนินการ คทช. ของเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) พร้อมให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อเพื่อยินยอมในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐดังกล่าว ซึ่งมีชาวบ้านที่ลงลายมือทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ด้วยความไม่เข้าใจในการดำเนินดังกล่าว โดยในขณะนั้นกลุ่มตัวแทนชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยจึงรวมตัวกันในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และได้ยื่นหนังสือเพื่อยืนยันคัดค้านและให้ชะลอการดำเนินการ คทช. ในพื้นที่ จนกว่าจะมีแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนของรัฐบาล โดยเฉพาะแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 เรื่องการดำเนินการแนวทางโฉนดชุมชนตาม พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ตาม มาตรา 10 (4) และให้ดำเนินการตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 ได้มีประกาศสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) เรื่องการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยอ้างว่ามีการเข้าทำประโยชน์ก่อนมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 จำนวน 28 ราย 39 แปลง และ หลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 จำนวน 34 ราย 62 แปลง ไม่มาแสดงตนในการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หากไม่มาแสดงตนภายใน 90 วัน นับจากวันที่ติดประกาศ โดยติดประกาศไว้ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และทำหนังสือแจ้งเจ้าของแปลงที่ดินทราบแล้ว หากไม่มาแสดงตนตามเวลาที่กำหนดสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) จะได้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่าและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการขอคืนพื้นที่ เพื่อนำพื้นที่มาปลูกป่า ฟื้นฟูสภาพป่า หรือจัดตั้งป่าชุมชน ตามความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป

“ซึ่งการมีหนังสือดังกล่าวเป็นลักษณะการกดดัน ข่มขู่ ให้ชุมชนต้องปฏิบัติตามหน่วยงานที่เข้าไปดำเนินการเท่านั้น และภายหลังยังกดดันให้ชาวบ้านที่มีความประสงค์ไม่ร่วมแนวทาง คทช. มีความกังวล และสร้างความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติ” สกน. ลำปางระบุ

นอกจากนั้น สกน. ลำปางยังย้ำว่า ข้อเท็จจริงแล้ว ชาวบ้านได้มีการยื่นหนังหนังสือ ที่ สกน.พิเศษ / 2566 เมื่อในการประชุมวันที่ 23 มี.ค. 2566 เพื่อแสดงความเจตจำนงในการดำเนินการในพื้นที่ โดยยื่นเป็นหนังสือแล้ว ตามแนวทางการดำเนินการที่แก้ไขปัญหากับรัฐบาลที่ผ่านมากับตัวแทนหน่วยงานที่เข้ามาจัดเวทีกับชุมชน

ดังนั้น ชุมชนบ้านแม่หมีใน และแม่หมีจกปก ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงมีข้อเรียกร้องกับท่านดังนี้

1. ยุติการข่มขู่ คุกคาม บังคับ ชาวบ้านในชุมชนบ้านแม่หมีใน และแม่หมีจกปก ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง จากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

2. ตัวแทนชุมชนบ้านแม่หมีใน และแม่หมีจกปก ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงยืนยันไม่ดำเนินการ ตาม คทช. ในพื้นที่ของชุมชน

3. การดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าด้วยเรื่องโฉนดชุมชน และ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่จะสร้างความเดือดร้อนและความขัดแย้งระหว่างคนในชุมชน และชุมชนกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

หลังจากนั้น ชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตัวแทนรับหนังสือ และรับปากว่าจะนำเรื่องร้องเรียนไปพิจารณาต่อไป

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง