ภาพ: กุลธิดา กระจ่างกุล
25 เมษายน 2568 ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีการประชุมสาธารณะครั้งสำคัญว่าด้วยการกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ครั้งที่ 2/2568 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน นักสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วม
การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชน ซึ่งดำเนินมากว่า 30 ปี นับตั้งแต่มีการประกาศเตรียมจัดตั้งอุทยานในปี 2532 โดยครั้งนี้รัฐและชุมชนสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในเรื่องแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ ได้เป็นครั้งแรก
ธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานถ้ำผาไท กล่าวว่า การประชุมเป็นไปตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับเป็นพัฒนาการสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีบทบาทร่วมกำหนดแนวเขตอุทยานฯ อย่างแท้จริง โดยการลดพื้นที่อุทยานฯ จากเดิมกว่า 750,301 ไร่ เหลือประมาณ 448,910 ไร่ หรือคิดเป็นลดลงกว่า 40% เป็นผลจากการเจรจาและตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอย่างละเอียด
“วันนี้ถือเป็นอีกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่รัฐและชุมชนสามารถพูดคุยด้วยความเข้าใจ ใช้ทั้งแผนที่ดาวเทียม แผนที่ทหาร และการเดินสำรวจภาคสนามร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวเขตที่ทุกฝ่ายยอมรับได้” ธนากรกล่าว
หลังการประชุม ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงยอมรับแนวเขต และเริ่มฝังหมุดหมายแนวเขตจริง พร้อมระบุพิกัด GPS เพื่อเตรียมนำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นระดับตำบลและอำเภอ ก่อนเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณาประกาศพื้นที่อย่างเป็นทางการต่อไป
สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้นำชุมชนบ้านกลาง กล่าวว่า “วันนี้เราชนะแล้ว หลังจากต่อสู้มากว่า 30 ปี เราไม่ได้ต้องการครอบครองป่า แต่ต้องการอยู่กับป่าในแบบของเรา เพื่อรักษาไว้ให้รุ่นลูกหลาน”
ด้านอรรณพ กันฑะวงศ์ ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า แม้คดีร้องเรียนเดิมไม่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ แต่ทางกรรมการได้เสนอแนวทางให้กรมอุทยานฯ คุ้มครองสิทธิชุมชนตามมติ ครม. และกระบวนการที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ถือว่าสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน
พชร คำชำนาญ ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) กล่าวเสริมว่า การปักหมุดและกันพื้นที่วันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติอื่น ๆ เพราะชุมชนไม่ได้คัดค้านการมีอุทยาน แต่ขอเพียงมีพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ
“การต่อสู้กว่า 30 ปีของบ้านกลางและแม่ส้านวันนี้ถือว่าสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่เรายังต้องติดตามขั้นตอนต่อไปในระดับอำเภอและคณะกรรมการกลาง เพื่อยืนยันสิทธิอย่างสมบูรณ์” พชรกล่าว
เขาย้ำว่า แม้จะยังไม่ใช่ชัยชนะสุดท้าย แต่การยืนยันแนวเขตร่วมกันได้ในวันนี้ ถือเป็น “หมุดหมายสำคัญ” ที่ทำให้ชุมชนได้มีความหวังและพลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...