‘รักเขากะลา’ หวั่น EIA ครั้งที่ 2 ไม่ชอบมาพากล! พบเครื่องจักรหนักล้อมที่ประชุม

รายงาน: เมธี กุลฉิม

เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลารวมกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม ตำบลเขากะลา จังหวัดนครสวรรค์ พบความไม่ชอบมาพากล เนื่องจากสถานที่จัดประชุมถูกล้อมด้วยเครื่องจักรหนักทางการเกษตรเหลือช่องแคบใช้เดินเข้า-ออก เพียงทางเดียว เหตุการณ์ต่อมาเกิดลักษณะของการประชุมขึ้นก่อนกำหนดการที่ระบุไว้ และพบชื่อผู้พิการที่สูญเสียการได้ยินและบกพร่องทางการพูด ซึ่งญาติผู้พิการยืนยันว่าลายมือในแบบตอบรับการประชุมเป็นการปลอมลายมือ

25 มิถุนายน 2567 – ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดการจัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 ของโครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม ซึ่งจัดโดยบริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม คำขอประทานบัตรที่ 3/2565 หมายเลขหลักหมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 32335 ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด

เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลาจึงนัดหมายกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่า เขากะลาเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึม เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรพื้นบ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล หากเกิดการสร้างเหมืองหินและระเบิดเขา จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียง ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม รวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งน้ำสัมพันธ์กับบึงบอระเพ็ดในฤดูฝนก็จะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มผู้คัดค้านจำนวนประมาณ 150 คน เคลื่อนขบวนไปถึงสถานที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นก่อนเวลาตามกำหนดการ กลับพบว่า มีการจัดสถานที่เตรียมการประชุมโดยตั้งใจปิดล้อมด้วยเครื่องจักรหนักทางการเกษตร เหลือเพียงช่องแคบใช้เดินเข้า-ออก เพียงทางเดียว ต่อมาพบพฤติกรรมน่าสงสัยเกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด และเจ้าหน้าที่ของโครงการเหมือง พร้อมด้วยกลุ่มคนใส่เสื้อสีคล้ายกันเข้าที่ประชุมก่อนกำหนดการที่ระบุไว้ (เวลาตามกำหนดการ 08.00-11.00 น.) และมีลักษณะของการประชุมเกิดขึ้น อีกทั้งพบชื่อผู้พิการที่สูญเสียการได้ยินและบกพร่องทางการพูดในแบบประเมินหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ซึ่งญาติผู้พิการยืนยันว่าลายมือในแบบประเมินเป็นการปลอมลายมือ เพราะผู้พิการเจ้าของชื่อดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทางเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลาให้เหตุผลการออกมาปกป้องทรัพยากรในครั้งนี้ว่าต้องการยืนยันในสิทธิตาม มาตร 43 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดยได้พยายามปิดสถานที่จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ซึ่งกลุ่มรักเขากะลายังคงกังวลถึงความฉ้อฉลของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้

พร้อมกันนั้น ทางเครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลายังได้ยื่นหนังสือคัดค้านการขอประทานบัตรของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ต่อ บริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด และยื่นต่อตัวแทนผู้ร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยสภาทนายความฯ สส. เขต 1 จังหวัดนครสวรรค์ พรรคก้าวไกล

“การทำเหมืองแร่คือการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การพัฒนา เป็นการทำลายสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของชุมชน เป็นการทำลายทรัพยากรส่วนรวม โดยที่กลุ่มคนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์” เป็นเหตุผลหนึ่งที่กล่าวกันในหมู่ประชาชนที่มาร่วมคัดค้าน

หลังจากนั้น ทางตัวแทนเครือข่ายฯ เข้าลงบันทึกประจำวันที่โรงพัก สภ.นิคมเขาบ่อแก้ว ไว้เป็นหลักฐานการทำ EIA โดยมิชอบ โดยยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป และจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมา ในพื้นที่มีผลกระทบจากการทำเหมือง 4 ประทานบัตรอยู่แล้ว ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงไม่อาจปล่อยให้มีการอนุญาตเพิ่มเติมอีกได้

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ พบว่า ในขณะนี้กำลังมีการยื่นขอเปิดแปลงประทานบัตรเพิ่มอีกถึง 5 แปลง นอกเหนือจากของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด แล้ว ยังพบว่ามี 3 ใบที่ไม่มีการแสดงตัวผู้ขอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง