ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา : ว่าด้วยเรื่องราวจาก “เจ้าพระยา” สู่ “พิงคนที” จากนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของ “สุนทรภู่” สู่คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของ “พระยาพรหมโวหาร”

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันต่อต้านยาเสพติดแล้ววันดังกล่าวนี้ยังตรงกับ “วันสุนทรภู่” อันเป็นวันที่มักจะอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คนหากเมื่อย้อนกลับไปหวนถึงชีวิตช่วงวัยเรียน ตัวผู้เขียนเองหรือใครก็ตามที่เคยเป็นเด็กนักเรียนสายกิจกรรมเจ้าประจำของกลุ่มสาระวิชาภาษาไทยของโรงเรียน ก็มักจะไม่พลาดหลายสิ่งอย่างที่สร้างโอกาสให้แสดงความสามารถพิเศษด้านทักษะการใช้ภาษาไทย อย่างเช่น การแต่งกลอนวันสุนทรภู่ การประกวดเขียนเรียงความ การโต้วาที ฯลฯ พอผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาแล้วมีการย้อนกลับไปตั้งคำถามว่า เหตุใดระบบการศึกษาไทยจึงต้องให้พื้นที่ความรู้เพื่อสร้างการรู้จักมักคุ้น แต่เพียงกวีหรือนักเขียนแค่ไม่กี่คน ไม่กี่ยุคสมัยและไม่กี่รูปแบบ เช่น เรามักรู้จักมักคุ้นและให้การจดจำกวีในยุคต้นรัตนโกสินทร์เพียงแค่ “สุนทรภู่” หรืออาจจะพิเศษหน่อยก็คงมากไปกว่านี้ไม่เกิน 5 คน แถมยังเป็นกวีเพศชายโดยไร้พื้นที่ทำความรู้จักกับกวีสตรีเพศอย่าง “คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง” ในขณะที่เนื้อหาสาระซึ่งเกี่ยวข้องกับผลงานของกวีก็ยังคงเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับวรรณคดีหรือวรรณกรรมยุคก่อนสมัยใหม่มากกว่าจะพากันม่วนชวนกันอ่านวรรณคดียุคสมัยใหม่หรือวรรณคดีร่วมสมัย ตลอดจนให้คุณค่าและพื้นที่ต่องานเขียนหรือนักเขียนกระแสรอง (ซึ่งก็คงพอที่จะมีช่องทางสำหรับการสร้างความรู้ของเราบรรดาผู้สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย) 

ขณะเดียวกันก็มีหลายกรรมหลายวาระที่ผู้สนใจประเด็นทางวิชาการภายใต้จุดยืน “ท้องถิ่นนิยม” หรือ “นิยมท้องถิ่น” ที่คอยเปิดประเด็น (ซึ่งดูจะไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่สักเท่าใดนัก) ในทางสาธารณะเกี่ยวกับวิวาทะระหว่าง “พระญาพรหมโวหาร ยอดกวีแห่งล้านนา” กับ “พระยาภู่ ยอดกวีแห่งรัตนโกสินทร์” ไว้เมื่อหลายปีก่อน หลากหลายร่องรอยของข้อถกเถียงและบทสนทนาก็จึงมักปรากฏผ่านแง่มุมหรือท่าทีที่คนส่วนหนึ่งยังคงยึดติดอยู่ท่ามกลางกับดักอยู่กับความคิดแบบท้องถิ่นนิยมที่มักยกเอากวีแก้วของล้านนาอย่าง “หนานพรหมมินทร์” ไปข่มกวีศรีสยามอย่าง “เจ้าคุณภู่” ที่หากแม้นเทียบเคียงลีลา ความงามและอรรถรสของบทกวีโวหารของท่านทั้งคู่แล้วต่างก็มีความเป็นเอกและความโดดเด่นอันเป็นที่ซาบซึ้งกินใจและแฝงไปด้วยคติธรรมคำสอนที่หลากหลาย แน่นอนว่าความเป็นกวีที่มีอยู่ในตัวของท่านทั้งสองนั้นก็คงเป็นต้นทุนทางความคิดในการรังสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงความอ่อนไหวในจิตใจได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ผู้เขียนกลับคิดเล่น ๆ ว่า จิตใจอ่อนไหวเฉกเช่นเรื่องการโหยหาอาลัยในความรักและกามตัณหานั้น พระญาพรหมโวหารคงจะถือไพ่ในสุนทรียรสที่เหนือชั้นมากกว่า มากเสียจนล้นเกินและล้ำเส้นจนต้องระทมซมซานเพราะความรักและการพลัดพรากมากกว่าสุนทรภู่เสียอีก ในขณะที่ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่มีต่อโลกทัศน์และจินตนาการของสุนทรภู่นั้น กลับดูมีความเหนือชั้นมากกว่าพญาพรหมโวหารมากอีกโขนัก นั่นเป็นเพราะว่าเขาเกิดในรัฐเมืองใต้ใกล้ทะเล เป็นกระฎุมพีผู้ดีมีถิ่นกำเนิดที่วังหลัง เงื่อนไขพิเศษที่ว่ามานี้จึงทำให้สุนทรภู่กลายมาเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีผลงานที่สะท้อนการมีอยู่ของโลกทัศน์แบบกระฎุมพีและจินตนาการอันกว้างไกลมากไปกว่ากวีรุ่นก่อนหน้าในยุคอยุธยาตอนปลาย อันเป็นที่มานิทานคำกลอนขนาดยาวอย่างเช่นเรื่อง “พระอภัยมณี” ที่สร้างความนิยมอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นตราประทับประจำตัวของเขาเลยก็ได้ เสมือนหนึ่งว่ากวีเอกอย่างสุนทรภู่คือผู้ก่อกำเนิดที่ถ่ายทอดชีวิตและลมหายใจให้แก่ตัวละครในท้องเรื่องดังกล่าว

นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ได้รับความนิยมในพื้นที่ภาคกลางและมีการคัดลอกต้นฉบับเป็นจำนวนมากซึ่งถูกสำเนาซ้ำผ่านสมุดไทยของหอสมุดแห่งชาติมากถึง 292 เล่ม โดยมีการนำไปเผยแพร่ยังท้องถิ่นต่าง ๆ อีกด้วยทั้งภาคใต้[1] พบหนังสือบุดดำ หนังสือบุดขาวและสำเนาเรื่องพระอภัยมณี จำนวน 13 ฉบับ ทั้งหมดแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนและเป็นการบันทึกจากต้นฉบับของสุนทรภู่  ส่วนภาคอีสาน[2] กวีท้องถิ่นชื่อ อ.กวีวงศ์ หรือ อินตา กวีวงศ์ แต่งนิทานเรื่องพระอภัยมณีศรีสุวรรณโดยกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการแต่งว่า ต้นฉบับเดิมเป็นคำกลอนภาษาไทยมีความยาวมากจึงนำมาย่อแล้วแต่งเป็นกลอนลำจำนวน 2 เล่ม โดยตัดเนื้อความจากเดิม 132 ตอน เหลือ 48 ตอน ตลอดจนในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวโดยละเอียดต่อไป นอกจากนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีจะได้รับความนิยมแล้วยังมีการดัดแปลงเป็นการแสดงต่าง ๆ เช่น ลิเก ละคร หุ่นกระบอก ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาด้านการสื่อสารมวลชนเรื่องพระอภัยมณีจึงได้ดัดแปลงและเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น การ์ตูนภาพในหนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูนภาพลายเส้น การ์ตูนภาพเคลื่อนไหว และภาพยนตร์[3]

ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของสองกวีผู้มีชื่อระบือระบิลทั้งในถิ่นรัตนโกสินทร์และถิ่นล้านนา กล่าวคือ สุนทรภู่และพระญาพรหมโวหารซึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของคนทั้งสองนี้ มีความคล้ายคลึงทั้งเรื่องลีลาชีวิต สุรา นารี ตลอดจนการเป็นข้าหลายเจ้าบ่าวหลายนายอันหมายมีโชคชะตาเป็นเครื่องชี้นำกำกับ ทว่าเรื่อง “รัก ๆ ใคร่ ๆ” กลับกลายเป็นสาเหตุในการเล่นงานคนอย่างพระญาพรหมโวหารหรือ “หนานพรหมมินทร์” ให้เกือบถึงแก่ชีวิตในหลายกรรมหลายวาระ คนอย่าง “หนานพรหมมินทร์” จึงมีชีวิตที่ต้องระเหเร่ร่อนทิ้งบ้านทิ้งเมืองที่ให้ยศถาบรรดาศักดิ์ไปทีละเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยความรู้และความสามารถที่มีอยู่ในตัวของเขาเอง เลยทำให้เขาได้เป็นกวีประจำราชสำนักทั้งนครลำปาง นครแพร่ และนครเชียงใหม่ในท้ายที่สุดภายใต้การอุปถัมภ์จากพระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าแม่ทิพเกสร พระชายาในเจ้าอินทวิชยานนท์ (และเป็นพระมารดาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) เป็นอย่างดีซึ่งราวปี พ.ศ. 2420 การนำเอานิทานคำกลอนพระอภัยมณีของสุนทรภู่ขึ้นมายังเชียงใหม่โดยเจ้าแม่ทิพเกสร พระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ด้วยความที่เจ้าแม่ทรงโปรดการละครแบบกรุงเทพจึงได้มีพระประสงค์ให้พระญาพรหมโวหารแต่งคร่าวพระอภัยมณีขึ้นมาใหม่ในราวปี พ.ศ. 2420–2425  พอพระญาพรหมโวหารได้รับคำสั่งจากเจ้าแม่มาแล้ว ก็เลยทำการรื้อสร้างนิทานคำกลอนชื่อดังของสุนทรภู่ลงไปถึง ระดับเค้าโครงบางประเด็นเพื่อแต่งใหม่ (Re-Creation) รวมทั้งมีการดัดแปลงแต่งเนื้อหาจากนิทานคำกลอนขนาดยาวให้กลายเป็น “คร่าวซอพระอภัยมณี” ไม่เพียงแค่นั้นก็ยังดัดแปลงเรื่องราวให้กลายเป็นเสมือนหนึ่งว่า “ชาดกนอกนิบาตร” โดยในขณะที่ดัดแปลงแต่งเติมและสร้างสรรค์เนื้อหาคร่าวซอดังกล่าวนี้ขึ้นมาใหม่ พระญาพรหมโวหารมีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และท่านก็ปรารภถึงปัญหาสุขภาพของท่านในช่วงท้ายบทอยู่หลายครั้ง[4] 

แม้คร่าวซอพระอภัยมณีในเวอร์ชั่นพระญาพรหมโวหารจะมีการดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ที่เหมือนกับนิทานคำกลอนของพระอภัยมณีในแบบต้นฉบับของสุนทรภู่ แต่หากเปรียบเทียบเนื้อเรื่องของกวีทั้งสองก็จะพบว่า คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพระยาพรหมโวหารนั้นดำเนินเนื้อเรื่องตั้งแต่พระอภัยมณีและศรีสุวรรณเล่าเรียนวิชาและจบถึงเพียงแค่ตอนการอภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษราเท่านั้น ในขณะที่พระอภัยมณีอันเป็นต้นฉบับของสุนทรภู่กลับดำเนินเรื่องราวยาวไปจนถึงตอนพระอภัยมณีออกบวช นั่นอาจจะเป็นความตั้งใจของพระญาพรหมโวหารที่แต่งคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีจบที่ศรีสุวรรณได้อภิเษกกับนางเกษราซึ่งถือเป็นการจบเรื่องอย่างสมบูรณ์มิได้ขาดอยู่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ มากไปกว่านั้น พระญาพรหมโวหารยังจัดวาง “ศรีสุวัณณ์” กลายมาเป็นตัวเอกของเรื่องอีกด้วย โดยรูปแบบการนำเสนอของพระญาพรหมโวหารได้กล่าวถึงพระโอรสองค์น้องมีชื่อว่า “ศรีสุวัณณ์” (ที่ไม่ได้นามสกุลว่า “จรรยา”) นั้น เป็นผู้ที่มีผิวพรรณวรรณะงามดั่งพระจันทร์และเป็น “หน่อเจ้าโพธัญ” อันแปลความได้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ตามขนบขอกวรรณคดีชาดกนอกนิบาตรนั่นเอง ซึ่งเมื่อ “ศรีสุวัณณ์” อันเป็นตัวละครเอกของเรื่องรบชนะ “ท้าวอุเทน” หรืออุศเรนเจ้าเมืองลังกาในต้นฉบับเดิมของสุนทรภู่แล้ว เรื่องราวจึงต้องจบลงด้วยการอภิเษกระหว่างศรีสุวัณณ์กับนางเกษราอย่าง “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง”

คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณี ยังเป็นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในล้านนาเป็นอย่างยิ่งโดยว่ากันว่าเมื่อครั้งที่พระญาพรหมโวหารแต่งคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณี โรงพิมพ์หมอสมิธก็ได้พิมพ์พระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่ออกจำหน่ายในกรุงเทพฯ แล้ว แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเผยแพร่ไปถึงล้านนามากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยก็คงติดไม้ติดมือแม่เจ้าทิพเกสรและพ่อเจ้าอินทวิชยานนท์ขึ้นมาถึงเมืองเชียงใหม่บ้าง ในคราวที่เสด็จลงไปถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองแด่กษัตริย์สยามเมื่อคราวนั้น และต่อให้จะมีพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่ในล้านนาเองก็ตาม แต่ประชาชนที่สามารถอ่านหนังสือภาษาไทยได้ในขณะนั้นก็จะยังมีไม่มากนัก เพราะช่วงก่อนเป็นมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.2337-2442) นั้น อิทธิพลของภาษาไทยก็ได้แทรกเข้ามาในล้านนา โดยเฉพาะหมู่ผู้คนในราชสำนักและประชาชนกลุ่มที่ได้รับการศึกษาจากพวกมิชชันนารี ขณะที่คนทั่วไปส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ตัวอักษรธรรมและตั๋วเมืองเป็นหลัก

ต่อมาเมื่อล้านนาเป็นมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.2442-2475) ได้มีการนำอักษรไทยมาใช้มากขึ้น ผู้ที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการต้องรู้จักอ่านและเขียนภาษาไทย และมีการบังคับให้เด็กทุกคนต้องเข้าโรงเรียนและเรียน

หนังสือไทยตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2464 ประเด็นนี้ได้ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถละเลยข้อสงสัยบางประเด็นต่อความรู้และความสามารถของ พระญาพรหมโวหารไปได้หรือว่าพญาพรหมนั้น รู้หนังสือไทยใต้มากน้อยเพียงใดและร่ำเรียนมาจากไหน แม้ไร้ซึ่งก็ยืนยันที่ชัดเจนแต่การอ่านนิทานคำกลอนของรัตนกวีแห่งเมืองใต้นั้นย่อมส่งผลต่อรูปแบบการใช้ภาษา ถ้อยคำ การเล่นสัมผัส ตลอดจนก่อให้เกิดรสวรรณคดีแบบฟิวชั่นใหม่ ๆ ให้กับคำประพันธ์ล้านนาอย่างแน่นอน ซึ่งพบว่าคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพระยาพรหมโวหารได้รับอิทธิพลด้านฉันลักษณ์จากพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่อยู่เล็กน้อย กล่าวคือในการแต่งคร่าวซอบทขึ้นต้นของบทที่ 1 และบทที่ 2 ผู้แต่งได้ขึ้นต้นที่วรรคที่ 3 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการขึ้นต้นเรื่องพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่ที่มีการขึ้นต้นที่วรรครับหรือวรรคที่ 2 ซึ่งเป็นลักษณะของการแต่งนิทานคำกลอน

XXXX                   XXXX               ปฐมะ               มูลละกล๋อนจ๋า

ค่อยฟังเทอะน้อง       ที่ข้องโลกา          จักไขวาทา          แต่งเค้าเบื้องเบ้า

จักสำแดงคุณ           พุทธะกูรเจ้า            เมื่อสมพารยัง          หนุ่มน้อย

ขอเชิญนาย             สายส้อยดาวย้อย       ไขโสกส้อย              ดาฟัง

ป๋างล่วงแล้ว            มากเมินหนาหนำ      เช่นสาสนัง              เมธังเงื่อนเหง้า

ยังมีรัฏฐา               เมืองหนึ่งเน่อเจ้า       หลวงทีฆา               ใหญ่นัก

พหุชน                   เตียวหนบ่พัก           เต๋มทั่วห้อง             ธานี

สนุกม่วนล้ำ             ดูรุ่งเรืองสี               ตังขวางยาวรี           ห้าร้อยเส้นถ้วน

มีภูเขาหลวง            แวดวงจอดจ้วน        เป็นก๋ำแพงเมือง       เจื่องท้าว

เกษมสุข                สนุกชื่นย้าว             ผับทั่วด้าว              ธานี

บ่าวสาวร้าง            หยั่งหย้องเรืองสี        สุขสบายดี              ในเมืองท่านเจ้า

การเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่โดยพระญาพรหมโวหารมาสู่คำประพันธ์ประเภทคร่าว จึงนับว่าเป็นการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับท้องถิ่นล้านนาโดยการรับจารีตนิยมของท้องถิ่นล้านนาเข้าไปผสมผสานในคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพระยาพรหมโวหารได้รับจารีตนิยมในการแต่งคร่าวซอเข้าไปผสมผสาน เช่น จารีตนิยมในการบอกที่มาของเรื่อง จารีตนิยมในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้แต่งกับผู้ฟัง ฯลฯ ทั้งนี้พระอภัยมณีฉบับล้านนาซึ่งเป็นสำนวนร้อยกรองนั้น ถูกจัดพิมพ์ในชื่อเต็มว่า “คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีและศรีสุวัณณ์” เพื่อเน้นย้ำความเป็นตัวละครเอกของเรื่อง โดยได้มีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือออกวางขายจากโรงพิมพ์ของนายเมืองใจ ชัยนิลพันธุ์ โดยมีบทคร่าวทั้งสิ้นจำนวน 1,512 บทแบ่งออกเป็น 24 ตอน โดยพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2473 โดยได้ทำการพิมพ์รวมเล่มกับ “ค่าวคำสอนสีลธัมม์ภะทัดห้าเส้น” ผลงานของน้อยปัญญา

ทั้งนี้พระอภัยมณีฉบับล้านนาในแบบฉบับสมบูรณ์นั้นปรากฏพบอยู่ 3 สำนวนด้วยกัน[1] คือ พระอภัยมณีฉบับของพระยาพรหมโวหาร (แต่งเป็นสำนวนร้อยกรองล้านนาประเภท “คร่าวซอ”)  พระอภัยมณีชาดกฉบับวัดบ้านเอื้อมและพระอภัยมณีชาดกฉบับวัดน้ำโท้ง (แต่งเป็นสำนวนร้อยแก้วโดยได้รับอิทธิพลจากงานสำนวนร้อยกรองของพระยาพรหมโวหาร) พระอภัยมณีฉบับล้านนาหรือชื่อตามใบลานเรียกว่า“พระอภัยมณีและศรีสุวัณณ์”    ซึ่งมีลักษณะเป็นสำนวนร้อยแก้วแต่งเป็นนิทานชาดกที่มีความยาวกว่า โดยมีคาถาภาษาบาลีและมีอรรถกถาร้อยแก้วภาษาล้านนาอธิบายมูลเหตุของการเล่านิทานชาดกว่า พระพุทธเจ้าทรงได้ยินภิกษุสนทนากันว่าการเกิดมาแล้วต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ญาติพี่น้องก็เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าเรื่องพระอภัยมณีเพื่อให้ทราบว่าการเกิดมาแล้วต้องพลัดพรากพ่อแม่ญาติพี่น้องนั้นมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบันชาติเท่านั้น แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตชาติซึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเล่าตั้งแต่พระอภัยมณีและศรีสุวรรณออกไปร่ำเรียนวิชาตามพระประสงค์ของพระบิดาจนสำเร็จวิชาแล้วกลับมาจึงถูกพระบิดาขับไล่ออกจากเมืองเป็นเหตุให้พระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไปศรีสุวัณณ์ได้ออกเดินทางตามหา จนกระทั่งจบเรื่องราวที่ศรีสุวรรณได้พบกับพระอภัยมณี ทั้ง 2 คนอาศัยอยู่ที่เมืองรมจักรจึงได้หมั่นทำความดีจนกระทั่งตายไปจึงได้เกิดบนสวรรค์ ทั้งนี้ เรื่องราวของพระอภัยมณีและศรีสุวัณณ์ในล้านนาจึงถือว่าเป็นชาดกนอกนิบาตร ซึ่งตอนท้ายของเรื่องก็ได้มีการประชุมชาดกเพื่อแจกแจงรายละเอียดของตัวละครในนิทานชาดกเรื่องนั้น ๆ ว่าได้เกิดมาเป็นใครในพระชาติสุดท้ายของการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโคตมะบ้าง โดยประชุมชาดกของพระอภัยมณีฉบับล้านนาได้กล่าวว่าท้าวอุเทนได้เกิดเป็นท้าวเทวทัต ท้าวสุทัศน์ได้เกิดเป็นพระเจ้าสุทโธทนะ นางดวงไกรษรได้เกิดเป็นพระนางสิริมหามายา นางเกษราได้เกิดเป็นนางยโสธราพิมพา และศรีสุวรรณได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า

ทั้งนี้ คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีดำเนินเรื่องผ่านการสร้างความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กล่าวคือ เริ่มจากความขัดแย้งของพระอภัยมณีและศรีสุวัณณ์ที่มีต่อพระบิดาซึ่งมีความเห็นต่างกันในเรื่องคุณค่าของวิชาความรู้ ความขัดแย้งของระหว่างศรีสุวัณณ์กับท้าวอุเทน (หรืออุศเรน) ที่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงนางเกษราและความขัดแย้งของศรีสุวัณณ์กับท้าวทศวงศ์เรื่องความเหมาะสมกันระหว่างศรีสุวัณณ์กับนางเกษรา พระญาพรหมโวหารได้มีการตัดทอนความซับซ้อนและวางโครงเรื่องที่ดำเนินไปอย่างมีรายละเอียดที่ดูประหนึ่งว่าพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่ไม่มีแก่นเรื่องหลัก หากแต่มีการใช้ตัวละครอย่างพระอภัยมณีเป็นแกนหลักเพื่อผูกโยงเรื่องราวจากส่วนต่างเข้าด้วยกันมากกว่า ทว่าคร่าวซอพระอภัยมณีฉบับล้านนา กลับวางอย่บนแก่นเรื่องอย่างชัดเจนที่การผจญภัยของตัวละครเอก (ศรีสุวัณณ์และนางเกษรา) จนได้คู่ครองและครองเมืองอย่างความสุข โดยมีตัวละครทั้งหมด 18 ตัว แบ่งเป็นตัวละครเอก คือ ศรีสุวัณณ์ 1 ตัว ตัวละครรอง คือ พระอภัยมณี 1 ตัว และตัวละครประกอบ 16 ตัว ขณะเดียวกันกลับไม่พบการปรากฏของตัวละครอย่างสินสมุทรและพระฤๅษี ในคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพระยาพรหมโวหาร นอกจากนี้ตัวละครทุกตัวมีลักษณะภายนอก ลักษณะนิสัย และพฤติกรรมต่าง ๆ ใกล้เคียงกับต้นฉบับของสุนทรภู่ทว่าแตกต่างกันที่รายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น

คร่าวซอเรื่องพระอภัยมณียังนำเสนอเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับศรีสุวรรณมากกว่าพระอภัยมณี เพราะเนื่องจากพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรจับตัวไปทำให้บทบาทของพระอภัยมณีน้อยลง ฉะนั้นการที่พระอภัยมณีฉบับล้านนามีศรีสุวัณณ์เป็นตัวละครเอกนั้น ก็เนื่องมาจากลักษณะของศรีสุวัณณ์เองที่มีความสอดคล้องกับพระเอกที่ปรากฏในวรรณคดีล้านนาเรื่องอื่น ๆ มากกว่าพระอภัยมณี กล่าวขยายความได้ คือ ศรีสุวัณณ์เป็นตัวละครที่มีรูปโฉมหล่อเหล่า มีอุปนิสัยที่เข้มแข็งกล้าหาญ มีความสามารถในการรบและมีความพยายามจะให้ความรักของตนสมหวังด้วยการอาสาต่อสู้กับท้าวอุเทนจนชนะและได้อภิเษกกับนางเกษรา

ส่วนพระอภัยมณีนั้น แม้ว่ามีรูปโฉมงามเช่นเดียวกันแต่รูปลักษณ์ภายนอกของพระอภัยมณีไม่เข้มแข็ง ขี้ขลาด มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและไม่กล้าตัดสินใจ แม้แต่เรื่องความรักของพระอภัยมณีก็มาในลักษณะบังเอิญมากกว่าการต่อสู้หรือพยายามให้ได้มาด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ ลักษณะของศรีสุวัณณ์จึงคล้ายกับพระเอกในวรรณคดีที่คนล้านนาเคยรู้จัก คือ พระเอกจะมีความสามารถในการรบมีไหวพริบและสติปัญญาดี มีความเพียรพยายาม และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเฉกเช่นเดียวกันกับตัวละครในท้องเรื่องเจ้าหงส์หิน อันเป็นผลงานของพระญาโลมาวิสัยผู้ซึ่งเป็นครูของพระญาพรหมโวหารก็เป็นได้

นอกจากนี้ คร่าวซอพระอภัยมณีฉบับล้านนา ยังใช้ฉากของเมืองรัตนา เมืองรมจักร และฉากของท้องทะเลเป็นส่วนใหญ่คือคล้ายคลึงกับพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่โดยทั้งพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่และคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพระยาพรหมโวหารได้แสดงให้เห็นบรรยากาศของท้องทะเลที่อ้างว้างและมีสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น ปลาโลมา ปู ปลา เงือก ฯลฯ ซึ่งประเด็นนี้อาจนำมาสู่อีกหนึ่งข้อสงสัยว่าตัวของพระญาพรหมโวหารเองมีจินตนาการหรือความรับรู้เกี่ยวกับท้องทะเลมหาสมุทรในรูปแบบใดนั่นจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนผ่านภาษาและสำนวนโวหารซึ่งบรรยายให้เห็นภาพได้ใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่เป็นอย่างมาก ประเด็นดังกล่าวนี้จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาและสำนวนในการแต่งคร่าวซอเรื่องพระอภัยมณีของพระยาพรหมโวหารเป็นอย่างมากจนทำให้ผู้วิจัยเชื่อว่าในขณะที่พระยาพรหมโวหารแต่งคร่าวซอเรื่องอภัยมณี พระยาพรหมโวหารได้ถือต้นฉบับพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่แล้วแปลงความเป็นคร่าวซอ หากมีเนื้อหาส่วนใดเห็นว่าไม่เหมาะสมก็จะตัดทิ้งทั้งเหตุการณ์ 

อย่างไรก็ตาม พระอภัยมณีในแบบฉบับล้านนาที่นำเสนอผ่านคำประพันธ์ล้านนาประเภท “คร่าว” ที่แม้ว่าพระญาพรหมโวหารนี้ได้รับอิทธิพลจากพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่ในเชิงของเนื้อหาสาระ แต่เบื้องหลังของวิธีคิดของการนำเสนอนั้นกับแฝงไปด้วยความอัจฉริยภาพและชั้นเชิงของกวีล้านนาอย่างพระญาพรหมโวหารอย่างหาตัวจับได้อยากซึ่งสามารถรื้อถอนโครงสร้างของเรื่องราวต้นฉบับเพื่อการดัดแปลงและปรับให้เข้ากับความเป็นท้องถิ่นของล้านนา ทั้งยังนำเสนอเรื่องราวผ่านความงดงามทางวรรณศิลป์และชายให้เห็นภาพสะท้อนทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนาได้เป็นอย่างดี ขณะที่อิทธิพลด้านภาษาก็ปรากฏการเล่นเสียงสัมผัสเพื่อความไพเราะ การคำซ้ำ การใช้คำภาษาล้านนา และการซ้อนคำภาษาไทยกับภาษาล้านนา และมีการใช้ความเปรียบเพื่อแสดงความงามอารมณ์ความรู้สึก และบอกปริมาณ โดยส่วนใหญ่แล้วความเปรียบนั้นจะกล่าวเปรียบเทียบกับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในสังคมล้านนา

แม้นิทานคำกลอนของสุนทรภู่จะแผ่อิทธิพลมาสู่วัฒนธรรมการสร้างคำประพันธ์ในสังคมและวัฒนธรรมล้านนา แต่พื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนานี้ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเชื่อทั้งในเรื่องพระพุทธศาสนา เรื่องเทพยดา ตลอดจนเรื่องไสยศาสตร์ การสร้างสรรค์เรื่องราวพระอภัยมณีที่ถูกเล่าใหม่ในเวอร์ชั่นคร่าวซอนั้นยังคงเป็นการไว้ซึ่งค่านิยมทางสังคม คติธรรมคำสอนประเพณีการแต่งงาน อาหาร และอาวุธที่ใช้ในสงคราม จุดเด่นสัมพันธ์คือการทำให้นิทานคำกลอนที่สะท้อนจินตนาการและโลกทัศน์แบบกระฏุมพีทำให้กลายเป็นวรรณคดีทางด้านพุทธศาสนาที่วางลงบนทางความเชื่อระดับเบื้องต้นที่คนส่วนใหญ่เชื่อถือ เช่น เรื่องการทำดี การละเว้นชั่ว ซึ่งมิใช่หลักธรรมที่ลึกซึ้งมากอันชี้ให้เห็นว่าการถ่ายทอดวรรณคดีท้องถิ่นล้านนากับวรรณคดีภาคกลาง วรรณคดีล้านนาและวรรณคดีภาคกลางมีความสัมพันธ์กันหลายเล่มทั้งในด้านการแปลภาษาและการแปลงเรื่องราวของท้องถิ่นหนึ่งไปยังท้องถิ่นหนึ่ง อีกทั้งยังมีวรรณคดีหลายเรื่องที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันมหาชาติเวสสันดรชาดกที่ถูกแปลและนำเสนออย่างหลากหลายสำนวนหรือแม้กระทั่งนิทานเรื่องพระลอและลิลิตพระลอ เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนอยากจะขอขอบคุณงานวิชาการ 2 ชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่งซึ่งถือว่าเป็นเป็นรากฐานในการสร้างข้อเขียนที่ได้นำเสนอมา กล่าวคือ วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตหัวข้อ “การศึกษาเปรียบเทียบพระอภัยมณีฉบับล้านนากับพระอภัยมณีฉบับสุนทรภู่” ของสุภาวดี เพชรเกตุ (2557) แห่งสาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์คำซ้อนในค่าวซอเรื่องพระอภัยมณีและศรีสุวัณณ์ โดยณัฐพงษ์ ปัญจบุรี (2562) ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาหลักสูตร การสอนและการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนคิดเห็นว่าการกลับไปอ่านงานวิชาการทั้งสองนี้น่าจะช่วยทำความเข้าใจที่ผู้เขียนพยายามจะนำเสนอหรือเล่าได้ดีมากขึ้น


  • [1] ศิรินทิพย์ สุขีรัตน์. (2547). ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมนิทานภาคใต้กับวรรณกรรมสุนทรภู่และภาพสะท้อนของวัฒนธรรมท้องถิ่น. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • [2] อินตา กวีวงศ์ . (2503). นิทานพระอภัยมณีศรีสุวรรณ. ขอนแก่น : คลังนานาวิทยาคลังนานาธรรม,2503)
  • [3] เปรม สวนสมุทร. (2547). ผู้เสพกับการดัดแปลงเนื้อหาและตัวละครเรื่องพระอภัยมณีในวัฒนธรรมประชานิยมในช่วงปีพุทธศักราช 2545-2546.วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • [4] เมื่อครั้นกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงพิเศษขึ้นมาจัดระเบียบการปกครองในเขตเมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน และเมืองนครเชียงใหม่ เจ้าราชบุตร (ขัตติยวงศ์) ได้มอบหมายให้หนานพรหมินทร์แต่งคร่าวรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เมื่อพ.ศ. 2427 โดยได้รับรางวัล เป็นเงิน 20 แถบซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของหนานพรหมินทร์และหนานพรหมินทร์ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านในซอยข้างวัดเชตุพน เมืองเชียงใหม่ในวันที่ 12 เมษายนปีพ.ศ. 2430 สิริอายุ 85 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง