เรื่องและภาพ: พินิจ ทองคำ
เมื่อผู้คนกล่าวถึงจังหวัดลำปาง หนึ่งในสิ่งที่นึกถึงจังหวัดแห่งนี้ คือ แม่เมาะ ที่ไม่ได้หมายถึงอำเภอ แต่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “แม่เมาะ” โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกยกระดับความสำคัญถึงขั้นเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดลำปาง ในประโยคที่ว่า “ถ่านหินลือชา” ด้วยความภาคภูมิใจที่แม่เมาะมีปริมาณถ่านหินมหาศาลที่จะแปรสภาพเป็นไฟฟ้านำความสุขให้คนไทยอย่างยาวนาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดลำปาง 22 % เกิดจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ความยิ่งใหญ่ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น ตำแหน่งที่สำคัญ คือ การเป็นเหมืองลิกไนต์แบบเปิด (open pit mining) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของคนลำปาง ดึงดูดผู้คนทั่วสารทิศมาขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ความยิ่งใหญ่ของโรงไฟฟ้าขยายออกผ่านการใช้พื้นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนที่อยู่รอบข้างมีการอพยพย้ายถิ่นเพื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากระยะห่างของโรงไฟฟ้า แต่กลับเกิดปัญหาขึ้นในหลากหลายส่วนภายใต้ระบบราชการที่มีความซับซ้อน หลากหลายหน่วยงานต้องมาเกี่ยวข้อง บางประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายปี ส่งผลให้เกิดบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง แม่เมาะ จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษา “การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนแม่เมาะ” ซึ่งกำเนิดเกิดขึ้นจากการต่อสู้ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นทางออกร่วมกันระหว่างประชาชนในพื้นที่และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
ภายใต้สถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลง พลังงานสะอาดถือเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทั่วโลกในการปรับตัวและปรับยุทธศาสตร์การใช้พลังงาน โรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงมีการปรับตัวผ่านโครงการนำร่องที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Solar Farm แม่เมาะ” ภายใต้การใช้เนื้อที่จำนวน 490 ไร่ เพื่อนำร่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในฐานะพลังงานทดแทน ซึ่งโครงการนำร่องครั้งนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะเท่านั้น สอดคล้องกับแนวทางเป้าหมายของรัฐบาลเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวบนเวที COP26 เมื่อปี พ.ศ.2564) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero GHG emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 ระบบดังกล่าวของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ถูกออกแบบมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันสลับกับการใช้โครงข่ายไฟฟ้า (Power Grid) ในช่วงกลางคืนและช่วงกลางวันที่ไม่มีแดด กำลังการผลิตไฟของโครงการ solar farm อยู่ที่ 38.50 MWac แนวทางการนำร่องโครงการ solar farm ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ในเวทีระดับโลก
เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนคนแม่เมาะและผู้สนใจในเรื่อง Solar Farm เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ อาหารหอประชุม วิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เปิดพื้นที่ให้ตัวแทนภาคประชาชนมาร่วมถกประเด็นเสนอความคิดเห็นต่อโครงการ Solar Farm หลากหลายมุมมอง อาทิ พื้นที่ไม่ได้ใช้งานของโรงไฟฟ้่ามีหลายพื้นที่ เพราะเหตุใดจึงนำโครงการดังกล่าวมาตั้งบนพื้นที่ป่า ซึ่งประชาชนใช้ในการประกอบอาชีพ, เห็นด้วยกับการนำร่องโครงการดังกล่าว เพราะเป็นแนวทางสู่การใช้พลังงานสะอาดในอนาคต แต่ไม่ควรจะเกิดการทำลายป่า, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ สามารถขอใช้พื้นที่ป่าในการดำเนินกิจการได้โดยง่าย ส่วนประเด็นปัญหาของประชาชนที่มีปัญหาที่ดินอยู่ในที่ป่า ไม่สามารถดำเนินการได้, พื้นที่การจัดทำ Solar Farm เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ขอวิงวอนให้โรงไฟฟ้าจัดสรรพื้นที่ใหม่สำหรับการเลี้ยงสัตว์, ภายในพื้นที่อำเภอแม่เมาะมีอัตราการว่างงาน การเกิดขึ้นของโครงการควรจะต้องเปิดรับประชาชนมาร่วมทำงาน โดยพิจารณาจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นลำดับแรก
ภูฐาน อุดถาน้อย เยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ บอกกล่าวถึงมุมมองของตนต่อโครงการดังกล่าวว่า อยากให้แผงโซลาร์เซลล์อยู่บนหลังคาบ้านเรือนของประชาชนเพื่อจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะมากกว่า เพราะ ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการโดยตรง ทุกวันนี้ประชาชนคนแม่เมาะจ่ายค่าไฟในอัตราเดียวกันกับประชาชนทั่วประเทศ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นใด ทั้งที่ต้องสูญเสียทรัพยากร สูญเสียพื้นที่และสภาพแวดล้อม แม้แต่พื้นที่ดำเนินการของโครงการเป็นพื้นที่ป่า จึงไม่มัั่นใจว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อันใดจากโครงการนี้
ขณะที่ วัชรพงค์ แก้วมาลา ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ให้ความเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานสะอาด มีความยินดีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะนำร่องโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นพลังงานทดแทนที่เป็นจริงมากที่สุด แต่ขอเรียกร้องให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนที่ได้รับจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะด้วย ตอนนี้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พร้อมกับคำถามที่ค้างคาใจว่า เพราะเหตุใดต้องใช้พื้นที่ดังกล่าว ทั้งการดำเนินการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน เกิดขึ้นภายหลังจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินการปรับพื้นที่แล้วเสร็จ กลายเป็นว่าแนวทางสู่การขับเคลื่อนพลังงานสะอาดต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้จำนวนมาก จึงเรียกร้องให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินการแก้ปัญหาตามที่บอกกล่าวกับประชาชนในพื้นที่ไว้
ด้านผู้แทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีการนำเสนอข้อมูลประโชน์ที่ประชาชนจะได้รับ อาทิ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) , ชุมชนรอบโครงการจะได้รับงบประมาณสนับสนุน, รับประโยชน์จากโครงการ Mae Moh smart city เช่น การปลูกสนุนไพรใต้แผงโซลาร์เซลล์ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน , โครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โครงการ Solar Farm จะจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า อัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตน์ต่อปี ในระยะการก่อสร้าง และอัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการ
จารุเกียรติ ปัญญาดี พลังงานจังหวัดลำปาง กล่าวต่อทุกภาคส่วนในงานรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวว่า “ช่วงที่ผ่านมาเกิดวิกฤตพลังงาน ประเทศไทยผลิตพลังงานไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ต้องนำเข้ามาเสริมกับการผลิตที่ไม่เพียงพอ หากไม่เพียงพอนั้นจะเกิดผลกระทบต่อประชาชน การนำเข้าราคาสูงดังนั้นการขายพลังงานมีการปรับราคาสูงขึ้น นโยบายของพรรคการเมืองหลายพรรคมีการนำเสนอเรื่องพลังงานทดแทน หลังจากนี้จะมีการขับเคลื่อนมากกว่าอดีตที่ผ่านมา สำหรับอำเภอแม่เมาะมีความตื่นตัวต่อพลังงานทดแทน โครงการที่ประชาชนเสนอผ่านกองทุนรอบโรงไฟฟ้ามีการนำ solar cell มาใช้หลายโครงการ อนาคตหวังว่าอำเภอแม่เมาะจะเป็น solar district นำร่องของประเทศไทย”
ปัจจัยความผันผวนทางด้านพลังงานในรัฐไทย จากการเปิดเผยของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีวว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ว่า “ประเทศไทยเผชิญภาวะผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มเอเปคพลัส ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและค่าครองชีพของประชาชน… กระทรวงพลังงานต้องมีการปรับปรุงบทบาทขององค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) พร้อมกับการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
นโยบายของรัฐบาลชวนให้มองเห็นภาพและคิดต่อว่า อนาคตของแม่เมาะจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางนโยบายที่ออกมาโปรโมตอย่างต่อเนื่องด้านการใช้พลังงานสะอาด พื้นที่มหาศาลของโรงไฟฟ้าแม่เมาะในอนาคตจะถูกใช้ไปเพื่อกิจการเช่นใด ภายหลังจากเวลาคาดการณ์ถ่านหินลิกไนต์หมดในปี พ.ศ. 2592 เป็นสิ่งที่น่าถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างยิ่งโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่อาศัยรอบข้างของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เสียงของพวกเขาสำหรับการกำหนดชะตากรรมควรดังกว่าเสียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อประชาชนเสียสละ สิ่งที่รัฐจะต้องทดแทน ควรเป็นรูปธรรมชัดเจนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่าน ความเป็นธรรมและความยุติธรรมจึงเป็นทางออก
อ้างอิง
ก.พลังงานเปิดแผนปี 66 ผ่าน 4 มิติผลักดันไทยสู่ Net Zero
https://unfccc.int/sites/default/files/resource/THAILAND_cop26cmp16cma3_HLS_EN.pdf
เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
คอลัมน์ de Lampang เรื่องราวที่ลำปาง ผ่านมุมมองของนักสงสัยอิสระโดย พินิจ ทองคำ ชวนพุ่งตรงกับประเด็นอย่างตรงไปตรงมา ค้นคว้าค้นหาอย่างสนุกสนาน นำเสนอข้อมูลด้วยความกล้าหาญ วันนี้จึงขอชวนทุกคนเป็นนักสงสัยไปด้วยกัน พร้อมกับการเจริญเติบโตของลำปางและรัฐไทย
ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง