เรื่อง: ปุณญาพร รักเจริญ
งบประมาณแผ่นดินถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนความเจริญในแต่ละพื้นที่จังหวัดในประเทศไทยรวมถึงขับเคลื่อนนโยบายจากรัฐบาลไปสู่พื้นที่เป้าหมายในแต่ละท้องถิ่นได้ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. หน่วยงานที่มี่ความเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละจังหวัดมากที่สุด เพราะมีหน้าที่หลักในการให้บริการสาธารณะ การจัดหาระบบน้ำประปา การดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยในแต่ละพื้นที่ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้ระบุถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีอิสระในการกำหนดนโยบายการบริหารงานเป็นการเพิ่มอำนาจการบริหารในท้องถิ่นตามหลักพัฒนาอย่างยั่งยืน พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มีจุดมุ่งหมายให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 35
แต่จากการจัดสรรงบประมาณ ในปี พ.ศ. 2567 นี้ คิดเป็น 29.06% และงบประมาณในปี พ.ศ. 2568 มีการประมาณการรายได้ท้องถิ่นที่ 839,265.5 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นแค่ 29.07% หรือเพิ่มเข้ามาเพียง 0.01% จะเห็นได้จาก วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในการจัดสรรเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ช่วงงบประมาณ พ.ศ. 2557-2567) ซึ่งงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเป็นจำนวน 49,027.9 ล้านบาท (6.2%) โดยจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนใหแก่อปท.จำนวน 378,020.5 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐบาลกับ อปท. แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีปีงบประมาณใดเลยที่มีสัดส่วนตาม 35% ที่รัฐบาลระบุไว้เลย
ส่องงบประมาณแผ่นดินปี 2567
ข้อมูลจาก สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงที่มาของการจัดสรรงบประมาณไทยประจำปี 2567 มีมูลค่ารวม 3,478,609,892,000 บาท ซึ่งปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวน 3,183,658,607,900 บาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 294,951,284,100 บาท (9.2%)
เมื่อจำแนกงบประมาณประจำปี 2567 ออกมาจะพบว่า กรุงเทพมหานคร คือพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด คือ 1,851,637,930,600 (53.2%) ซึ่งงบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งถูกกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯและจังหวัดนนทบุรีที่ได้รับงบประมาณ 251,842,669,200บาท (7.24%) ซึ่งทั้งสองพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งรวมความเจริญทั้ง สถานที่ราชการ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญมากมาย และพบว่านอกจากกรุงเทพฯและนนทบุรี ไม่พบจังหวัดใดเลยที่ได้รับงบประมาณมากกว่า 1% ของงบประมาณทั้งหมด ดังนั้นการกระจุกตัวของงบประมาณเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นรัฐรวมศูนย์ของไทย
และเมื่อพิจารณาจากการจัดสรรงบประมาณที่ถูกแบ่งไปตามจังหวัดต่าง ๆ แล้ว ด้วยเม็ดเงินจำนวนมากในพื้นที่ กรุงเทพฯ และ จังหวัดต่าง ๆ พบว่ามีความต่างกันกว่าครึ่งนึง แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณไปยังท้องถิ่น จึงส่งผลให้คนไทยในจังหวัดเล็กได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอและต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดใหญ่ซึ่งหากเปรียบเทียบระหว่างงบประมาณภาพรวมกรุงเทพ ฯ – ภาคเหนือ เราจะพบช่องว่างที่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีลักษณะกระจุกตัวและยังคงเป็นปัญหาสำคัญของรัฐไทย
ในขณะที่งบประมาณลงพื้นที่จังหวัดได้ถูกจัดแบ่งให้กับ 75 จังหวัดทั่วประเทศไทย 888,047,464,200 บาท คิดเป็น 25.53% จากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด โดยในพื้นที่ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่ได้รับงบประมาณเป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 192,590,760,025 บาท (5.54%) และภาคกลาง 389,088,964,100 บาท (11.19%) ซึ่งจำนวนงบประมาณที่ภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดได้รับคิดเป็นเม็ดเงิน 131,947,366,475 บาท หรือคิดเป็นเพียง 3.79% ของงบประมาณทั้งหมด ดังนี้
อันดับ | จังหวัด | งบประมาณพื้นที่จังหวัด (บาท) | ร้อยละ | งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (บาท) |
1 | เชียงใหม่ | 23,784,688,550 | 0.68% | 1,620,540,200 |
2 | เชียงราย | 17,868,628,825 | 0.51% | 1,184,603,200 |
3 | นครสวรรค์ | 11,762,877,800 | 0.34% | 1,270,288,400 |
4 | พิษณุโลก | 9,497,419,500 | 0.27% | 813,094,800 |
5 | เพชรบูรณ์ | 7,686,346,200 | 0.22% | 774,895,500 |
6 | ลำปาง | 7,210,396,100 | 0.21% | 1,119,996,200 |
7 | พะเยา | 6,245,914,000 | 0.18% | 594,781,800 |
8 | กำแพงเพชร | 6,211,867,400 | 0.18% | 766,028,500 |
9 | สุโขทัย | 5,868,528,100 | 0.17% | 694,854,400 |
10 | น่าน | 5,715,959,700 | 0.16% | 589,054,900 |
11 | อุตรดิตถ์ | 5,447,980,200 | 0.16% | 594,648,000 |
12 | ตาก | 5,189,585,400 | 0.15% | 749,116,200 |
13 | แพร่ | 4,876,552,700 | 0.14% | 625,685,300 |
14 | พิจิตร | 4,662,360,700 | 0.13% | 794,039,900 |
15 | อุทัยธานี | 3,923,201,000 | 0.11% | 344,742,500 |
16 | ลำพูน | 3,325,010,700 | 0.1% | 389,949,600 |
17 | แม่ฮ่องสอน | 2,670,049,600 | 0.08% | 237,364,400 |
จากบทความ เปิดประตูสู่การพัฒนา กระจายอำนาจให้ชาวเหนือ ได้ระบุว่าคนภาคเหนือต้องการการกระจายอำนาจมากที่สุด และเป็นภูมิภาคที่เกิดความเหลื่อมล้ำจากการกระกระจายอำนานที่ไม่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ภาคเหนือเกิดการกดทับในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม และพบว่าร้อยละ 25.26 เป็นคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยอยู่จำนวนมาก ในจังหวัดที่มีขนาดเล็ก เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับงบประมาณไม่เกิน 0.1% ของงบประมาณทั้งหมดทำให้ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาและเติบโตได้เทียบเท่ากรุงเทพฯ ได้
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าทีมวิจัยภาคเหนือ สกสว. กล่าวในบทความนี้ว่า “จุดเจ็บปวดของคนเหนือ เรื่องแรกคือฝุ่นควัน ที่เป็นมานานและยังไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรดี เศรษฐกิจไม่เป็นธรรม บริหารโดยผู้ที่ไม่เข้าใจ ผู้กุมขบวนเป็นคนจรเข้ามา ไม่ใช่คนพื้นที่ ทำให้ไม่เข้าใจ ไม่ต่อเนื่อง ทำไปเช่นนั้นแหละ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระบบการจัดการบ้านเมืองซึ่งสำคัญมาก”
อีกทั้งยังพบว่าปัญหาและความท้าทายของคนเหนือมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐที่ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้พวกเขาสามารถจัดการทรัพยากรที่มีเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณที่ถูกจัดสรรไปยัง อปท. ได้ถูกจำกัดโดยการบริหารรราชการส่วนกลางและท้องถิ่นไม่สามารถบริหารบุคลากรของพวกเขาได้ งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอยู่ในการดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการดูแลงบประมาณในระดับจังหวัดและถูกบริหารโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัดที่ไม่ได้มาจากตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ทำให้งบประมาณเหล่านี้ไม่ได้นำไปแก้ปัญหาให้แก่คนท้องถิ่นได้จริง และการถูกควบคุมจากรัฐบาลส่วนกลางทำให้ อปท. ที่มีหน้าที่ครอบคลุมหลายมิติไม่สามารถพัฒนาใช้ทรัพยากรของตนเองและสามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง
จากบทความวิชาการ เรื่อง การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดและความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรมนุษย์ (Provincial Budgetary Allocation and Inequality in Human Development) โดย มีชัย ออสุวรรณ, อุมาพร บึงมุม และภูเบต เส็นบัตร ระบุว่า งบลงพื้นที่จังหวัดที่จัดสรรผ่านหน่วยงานเป็นงบประมาณแบบบนสู่ล่าง (top-down approach) คือกระทรวงและหน่วยงานราชการส่วนกลางผู้รับผิดชอบ ดังนั้นงบลงพื้นที่จังหวัดที่จัดสรรผ่านหน่วยงานในลักษณะนี้ไม่มีความสอดคล้องกับแนวคิดการกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นอีกทั้งเป็นการลดบทบาทขององค์กรส่วนท้องถิ่นลงซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดส่งผลให้กลไกการทำงานและการผลิตบริการสาธารณะโดยหน่วยงานท้องถิ่นย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าราชการส่วนกลางอย่างแน่นอน
อีกทั้งในบทความนี้ยังระบุว่า ลักษณะทางภูมิศาสตร์ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต หลายจังหวัดในภาคเหนือมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา ทําให้เกิดอุปสรรคในการเดินทางและการขนส่งนําไปสู่การเข้าไม่ถึงบริการจากภาครัฐ ดังนั้นแล้วการกระจายงบประมาณอย่างเท่าเทียมนั้นจะเป็นรากฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเท่าเทียมทางโอกาสให้กับประชาชนทุกคนในสังคมภายในจังหวัดและระดับประเทศ
สุดท้ายแล้วความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่เกิดขึ้นมายาวนานในประเทศไทยได้ดำเนินมากว่าทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สังคม รายได้ ซึ่งความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่เหล่านี้เองได้ส่งผลให้คนไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน การขาดโอกาสในการใช้ชีวิตการสร้างงานสร้างอาชีพ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งในท้ายที่สุดท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อคนท้องถิ่นด้วยกันเอง งบประมาณประจำปีพ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังพัฒนาถอยหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปีพ.ศ. 2568 เป็นจำนวนเงิน 3,752,700 ล้านบาท ในปีงบประมาณใหม่นี้ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2.7 แสนล้านบาท ในด้านของเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดสรรให้จำนวน 378,170.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 33,877.57 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.84
จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่างบประมาณแผ่นดินคือตัวสะท้อนการพัฒนาของประเทศ การกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นไม่เพียงแค่เป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการการกระจายความเจริญที่สามารถให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารทรัพยากรของท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ลดความแออัดของผู้คนในกรุงเทพฯ เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนทุก ๆ พื้นที่ในประเทศไปได้อย่างพร้อม ๆ กัน แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณมากขึ้นเพียงใด ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศก็จะยังคงมีอยู่ต่อไปหากรัฐไทยไม่สามารถกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง
- วิเคราะห์ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจําปˣงบประมาณ พ.ศ. 2568. https://web.parliament.go.th/assets/portals/82/news/1496/1_1496.pdf
- เปิดประตูสู่การพัฒนา กระจายอำนาจให้ชาวเหนือ. (2023, April 21). THECITIZEN.PLUS. https://thecitizen.plus/node/78540
- ออสุวรรณ, ม. (2021). การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่จังหวัดและความเหลื่อมล้ำ . สถาบันพระปกเกล้า.
เด็กฝึกงานจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ที่มาเรียนในจังหวัดที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์ทุกปี และขอทายว่าถึงแม้จะเรียนจบแล้วค่าฝุ่นก็ไม่น่าลดลง