25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพผ่านกลุ่ม ‘เชียงใหม่108 CM108’ ระบุว่า “หลุมบริเวณหน้า รพ. เชียงใหม่ราม อันตรายมากนะคะไม่มีที่กั้น ถามถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบนะคะ ว่าสายไฟกับคนอะไรจะลงดินก่อนกันคะ?” ต่อมาทีมข่าว Lanner ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่บริเวณหลุมดังกล่าว พบว่าถนนได้ถูกซ่อมแซมและมีการนำแผ่นเหล็กมาปิดทับไว้เพื่อให้รถสามารถสัญจรไปมาได้
โครงการนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงใต้ดิน อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ วงเงินลงทุน 3,978 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ประกอบไปด้วยงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 2 สถานี, งานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 KV แบบเคเบิลใต้ดิน, งานปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน และงานปรับปรุงระบบจำหน่ายเหนือดิน โดยจะดำเนินการบริเวณถนนรอบคูเมือง และถนนสายหลักในพื้นที่คูเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมและโบราณสถานที่สำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2568
ด้านเพจ ‘เชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ’ เปิดเผยข้อมูลเวลาในการดำเนินการโครงการนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงใต้ดินเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่าถนนรอบคูเมืองทั้งฝั่งในและฝั่งนอก ระยะทางประมาณ 12.6 กม. อาจจะใช้เวลาในการดำเนินการถึง 7-15 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งในขณะนี้ผ่านไปได้เพียง 1 ปีเศษเท่านั้น นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ที่เริ่มการก่อสร้าง
การก่อสร้างไม่เพียงแต่ทำให้การจราจรติดขัดในบริเวณการก่อสร้าง แต่ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ในช่วงหนึ่งคือเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 ได้มีรถจักรยานยนต์ตกหลุมบ่อพักสายไฟที่กำลังก่อสร้าง บนถนนรอบคูเมืองฝั่งด้านใน บริเวณหน้าร้านโจ๊กสมเพชร เวลาประมาณ 03.00 น. ซึ่งเป็นเวลากลางคืนแต่จุดก่อสร้างมีแสงสว่างไม่เพียงพอทำให้ผู้สัญจรที่ไม่ทราบว่ามีการขุดเปิดถนนตกหลุมจนได้รับบาดเจ็บ โดยบริษัทผู้รับเหมาตามสัญญาเป็นผู้รับผิดชอบในการเยียวยาค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ในวันที่ 24 มีนาคม 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติ ขับขี่รถจักรยานยนต์ตกหลุมถนนรอบคูเมืองด้านนอก ในตัวเมืองเชียงใหม่ ช่วงประตูช้างเผือก ทำให้รถเกิดเสียหลักและได้รับบาดเจ็บ
ในโลกออนไลน์ได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เช่น
“ยังมีอีกหลายจุดครับ ทั้งหลุม ทั้งแผ่นเหล็ก คำถามคืองานแบบนี้บนท้องถนนต้องมีหน่วยงานกำกับคุณภาพเพราะเป็นถนนสัญจร ถนนทั่วเมืองพังหมด และเชื่อว่าอีกหน่อยปัญหาถนนทรุดตัวมีแน่นอนหลังทำการส่งมอบงาน”
“มอไซผมนี่พังเพราะหลุมรอบคูเมืองนี่แหละ โดนหน้าสตาร์บัคส์ก่อนถึงโรงบาลรามอย่างบ่อย ลงหลุมทีไส้แทบเคลื่อน ห่วยแตกสุด ๆ”
“ถ้าแย่ขนาดนี้ ผมว่าคืนพื้นผิวจราจรให้เหมือนเดิม เอาสายไฟไว้ที่เดิมดีกว่า รถพังหมดแล้ว ช่วงล่าง เอาเงินภาษีมาทำถนนให้ดีกว่าเดิม เพิ่มความสว่างในซอย และติดกล้องวงจรปิด ให้ครอบคลุม เวลาเกิดเหตุอะไรต้องขอกล้องหน้ารถคันอื่นบ้างหรือบ้านใกล้เคียงบ้าง งบมีมากมาย แต่กล้องเสียบ้าง ไม่ชัดบ้าง และ มาปรับปรุงท่อระบายน้ำให้ระบายดีขึ้น ฝนตกหนักทีไร ท่วมทุกที ปรับทัศนียภาพให้สวยงาม นี่โชคดีที่ไม่มีอุบัติเหตุ อย่าวัวหายแล้วล้อมคอก อย่ารอให้เหตุมันเกิดแล้วค่อยแก้ ผู้คนสัญจรทั้งวันทั้งคืน”
จากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่าทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะออกมาแก้ไขอย่างไร ประชาชนยังต้องรออีกนานแค่ไหนหลังจากมีอุบัติเหตุและเสียงร้องเรียนหลายต่อหลายครั้ง และท้ายที่สุดหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่
อ้างอิง
วิทยธรรม ธีรศานติธรรม. (2567). ‘เชียงใหม่เมืองสวยไร้สาย’ ความเจริญ ปลายทาง ที่แลกกับเสียสละ “ระหว่างทาง” ของคนใช้ถนนและคนในพื้นที่. เข้าถึงจาก https://www.lannernews.com/02122566-01/?fbclid=IwY2xjawEQNGZleHRuA2FlbQIxMAABHSlxZf5xSFlaaTwBurAYWv2vLQKc3Fcch_t6oLMmBQ4vp1mop1MMBpMrAg_aem_2L0RLQFY6sGRvPgOBHBC_w
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...