การสร้างความสัมพันธ์ผ่านการสมรสกันระหว่างเจ้าเมือง ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้สร้างอำนาจการปกครองในช่วงแรกของการครองราชย์ และในวันนี้ (26 สิงหาคม 2566) ถือเป็นวันคล้ายวันประสูตรของ “เจ้าดารารัศมี” หนึ่งในเจ้าเมืองที่อยู่ในกระบวนการเสริมสร้างอำนาจการปกครองดังกล่าวผ่านการเป็น “เมียโปลิซี” โดย Lanner จะขอหยิบยกประวัติของเจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่คนนี้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน
เจ้าดารารัศมีประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 ณ คุ้มหลวง กลางนครเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และแม่เจ้าทิพเกสร (เทพไกรสร) ทรงได้รับการศึกษาจากพระชนกชนนีในเรื่องอักษรไทยเหนือและใต้เช่นเดียวกับกุลบุตรกุลธิดาในสมัยนั้น เมื่อเจ้าดารารัศมีทรงเจริญชันษาได้ 11 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าอินทวิชยานนท์จัดพิธีโสกันต์ พร้อมกับพระราชทานเครื่องโสกันต์ระดับเจ้าฟ้าให้เจ้าดารารัศมีทรงในพิธีอีกด้วย เมื่อเจ้าดารารัศมีได้ตามเสด็จพระบิดาซึ่งเสด็จมาร่วมงานพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในในฐานะเจ้าจอม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 เจ้าดารารัศมีมีพระราชธิดาพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่ทรงเจริญพระชันษาเพียง 3 ปีเศษ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์
บทบาทที่สำคัญของเจ้าดารารัศมีในหน้าประวัติศาสตร์ คือการที่เธอมีส่วนในการปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐไทยเข้ามามีบทบาทในการปกครองเมืองเชียงใหม่ก็ไม่ผิดนัก ผ่านการถวายตัวเจ้าดารารัศมี ที่แม้จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2429 แต่เชื่อว่ามีการวางแผนการและเตรียมการต่างๆ ไว้นานแล้ว ทั้งฝ่ายเชียงใหม่และฝ่ายกรุงเทพฯ
ดังปรากฏว่า เจ้าดารารัศมีได้ไว้จุกตามขนบธรรมเนียมของกรุงเทพฯ และเมื่อมีพระชนม์ได้ 11 ชันษา รัฐบาลสยามจึงได้มีคําสั่งให้พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่ จัดงานพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แก่เจ้าดารารัศมี
การพิธีโสกันต์นี้รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระกุณฑลเป็นของขวัญ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงวันศุกร์ เดือน 12 แรม 9 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 (23 พ.ย. 2426) พระราชทานไปยังพระยาราชสัมภารากร ให้อัญเชิญกระแสพระบรมราชโองการไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์และเจ้าทิพเกสร ซึ่งสร้างความเข้าใจโดยทั่วไปว่านั่นไม่ใช่เป็นแค่ของขวัญธรรมดา แต่หมายความถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “หมั้นหมาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะไม่ใช่แบบอย่างประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือ มีแต่เจ้าดารารัศมีพระองค์เดียวที่เข้าพิธีนี้อย่างราชประเพณีของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี ก่อนที่ 3 ปีถัดมาในพ.ศ. 2429 ก็มีการถวายตัวเจ้าดารารัศมี อย่างเป็นทางการ
พ.ศ. 2429 เป็นปีที่สยามเริ่มมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น ด้วยสาเหตุที่กลุ่มอํานาจเดิมเสียชีวิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตําแหน่งวังหน้า และสถาปนาตําแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารแทน เมื่อมีงานสมโภชในวโรกาสสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมี มีพระชนม์ได้ 13 ชันษา ทรงติดตาม พระเจ้าอินวิชยานนท์พระบิดามาร่วมพระราชพิธีสมโภช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าดารารัศมีเข้ารับราชการฝ่ายใน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีความสําคัญต่อล้านนามาก เพราะถือว่าเป็นพระธิดาของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าประเทศราชที่ราชสํานักสยามได้พยายามจูงใจเพื่อให้ยอมรับแบบแผนใหม่ๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่ (Treaty of Chiangmai) ฉบับแรก พ.ศ. 2416 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2426 ที่สยามทํากับอังกฤษ
มิสเตอร์อาเชอร์ กงสุลอังกฤษในขณะนั้นกล่าวถึงการถวายตัวของเจ้าดารารัศมีว่าเป็น “Important step” เนื่องจากพระราชโอรสหรือพระราชธิดาที่ประสูติจะขึ้นเป็น “Rightful ruler” ของเมืองเชียงใหม่ และได้รับความเคารพอย่างสูงสุดเนื่องจากเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีพระองค์หนึ่ง
การเข้ารับราชการฝ่ายในของเจ้าดารารัศมี เริ่มต้นด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ให้ประทับที่ “ห้องผักกาด” (พระที่นั่งดํารงสวัสดิ์ อนัญวงศ์) ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระตำหนักของพระองค์เป็นตำหนักขนาดใหญ่ก่ออิฐฉาบปูนสูง 4 ชั้น โดยสร้างแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกภายในตกแต่งด้วยไม้สักที่ส่งมาจากเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังโปรดให้นำวัฒนธรรมล้านนาไปใช้หลายประการ ด้วยพระเจ้าอินวิชยานนท์ต้องการให้พระธิดามีพระเกียรติสมฐานะเจ้านายเมืองเชียงใหม่ มิใช่ “อีลาว” ดังที่มีการซุบซิบนินทาในราชสำนักฝ่ายใน การนี้รัชกาลที่ 5 ทรงไม่ขัดข้องใดๆ มีเพียงข้อทักท้วงว่าเจ้าดารารัศมี “ใช้เงินเป็นเบี้ย” และทรงเรียกเจ้าดารารัศมีเป็นการส่วนพระองค์ว่า “เมียโปลีซี”
พ.ศ. 2432 เจ้าดารารัศมีขณะมีพระชนม์ 16 ชันษา ประสูติพระราชธิดา รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี” แปลว่าผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกันก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศจากเจ้าจอม เป็น “เจ้าจอมมารดา”
อ้างอิง
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...