ที่ศาลปกครองสูงสุดวันนี้ (26 ก.ย. 67) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กว่า 13 พื้นที่ พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เดินทางเข้ายื่นฟ้องให้ ‘ยกเลิกนโยบายแร่เพื่อแก้โลกเดือด’ เพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2
โดยก่อนเข้ายื่นฟ้องได้มีการจัดแสดงละครคุณธรรมภายใต้ชื่อตอน ‘ชีวิตมันแย่เพราะแผนแม่บทแร่มันห่วย มีกินมีใช้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีกี่โมง’ นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘ทำไมต้องฟ้องเพิกถอนแผนแม่บทแร่’ โดย สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ พรชิตา ฟ้าประทานไพร กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย จวน สุจา เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากภาคเหนือ สมัย พันธโคตร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากภาคอีสาน อับดุลเลาะห์ ปะดุกา กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากภาคใต้ และ จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้
เปิดข้อมูลแหล่งแร่ในประเทศไทยมีมากถึง 4,388 แห่ง ซึ่งเกือบ 1 ใน 3 กำลังดำเนินการอยู่
จุฑามาส กล่าว่า การฟ้องคดีและเวทีเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพราะเห็นว่า สถานการณ์เหมืองแร่ในประเทศไทยกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ช่วงรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ปัจจุบันเหมืองในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 4,388 แห่งซึ่งเกือบ 1 ใน 3 กำลังดำเนินการอยู่ และสร้างผลกระทบมากมายในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการรวมตัวกันของเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลก็จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากพระราชบัญญัติแร่ ที่ไม่มีมาตรฐานและการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ก็ยังทำลายหลักการและเจตนารมณ์สำคัญในพระราชบัญญัติแร่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่เรามายื่นฟ้องในครั้งนี้ซึ่งในวันนี้ตัวแทนของแต่ละพื้นที่จะร่วมกันสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งเป้าหมายของการฟ้องครั้งนี้
‘เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา’ เปิดข้อมูลแม่น้ำสายหลักคนแม่ฮ่องสอนรับผลกระทบหนักจากเหมืองแร่ฟลูออไรต์
ด้าน จวน กล่าวว่า พื้นที่แม่ลาน้อยเคยเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ฟลูออไรต์ที่สร้างผลกระทบมาแล้ว พวกเราจึงอยากจะให้มีการเอาพื้นที่ออกจากแผนแม่บทแร่ เพราะในบริเวณใกล้เคียงมีโรงเรียน มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและใช้ทำการเกษตรของคน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่ลาน้อย แหล่งน้ำนี้เป็นป่าต้นน้ำ ป่าน้ำซับซึมของชาวอำเภอแม่ลาน้อย
โดยชาวบ้านพยายามที่จะรักษาแหล่งน้ำแห่งนี้ไว้ เพราะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนที่นี่ และที่สำคัญเมื่อมีการทำเหมืองจะมีการนำรถขนาดใหญ่มาใช้เส้นทางสัญจรร่วมกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ เหมืองแร่แห่งนี้ยังทำลายสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศของแม่น้ำ เพราะจะทำให้ปูปลา กุ้ง หอย ได้รับผลกระทบ แหล่งน้ำนี้เคยเป็นสีแดง ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่มีการทำเหมือง เพราะระยะเวลาในการทำสัมปทานเหมืองยาวนานถึง 30 ปี นอกจากนี้แล้ว ยังอาจผลกระทบกับกระเทียม GI ที่ปลูกได้ดีในเฉพาะพื้นที่แม่ลาน้อยจากการทำเหมืองด้วย และในกระบวนการทำเหมืองจะมีกรวด หิน ดิน ทราย ไหลลงสู่พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘แม่น้ำแม่ลาน้อย’ เป็นแหล่งน้ำที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่นี่ มันจึงไม่ควรที่จะให้มีสัมปทานเหมืองอีกต่อไป เราจึงมาร่วมฟ้องยกเลิกแผนแม่บทแร่ในครั้งนี้
‘กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย’ ระบุ ชุมชนควรมีสิทธิจัดการพื้นที่ของตนเอง-แผนแม่บทแร่ปัจจุบันต้องกำหนดให้ชัดเจน ชี้ พื้นที่ป่าน้ำซับซึม ป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน แหล่งโบราณสถาน โบราณคดี ไม่ควรทำเหมือง
ขณะที่ พรชิตา กล่าวว่า เมื่อพูดถึงภาคเหนือทุกคนจะนึกถึงภูเขาแต่รู้หรือไม่ว่าภาคเหนือในหลายพื้นที่กำลังจะถูกทำสัมปทานเหมืองเนื่องจากถูกกำหนดให้อยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ยกตัวอย่างเช่น เหมืองแร่ถ่านหินที่บ้านแหง จังหวัดลำปาง เหมืองแร่ฟลูออไรต์ อ.แม่ลาน้อย เหมืองหินที่ อ.แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เหมืองแร่แบร์ไรต์ที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ และเหมืองแร่ถ่านหิน ที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และเป็นพื้นที่ทำกินของชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการต่อสู้และเราต่อสู้มายาวนานแล้วถึง 5 ปี
ถ้าพูดถึงแผนแม่บทแร่แล้ว ตามมาตรา 17 วรรค 4 แห่ง พรบ.แร่ เขียนถึงเขตห้ามทำเหมืองแร่ไว้อย่างชัดเจน คือพื้นที่อุทยาน พื้นที่แหล่งน้ำซับซึม หรือพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งพื้นทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้น เป็นพื้นที่ที่มีคุณภาพของแหล่งน้ำซับซึม พื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณสถานและโบราณคดีที่ควรถูกกันออกตามกฎหมาย และในปัจจุบันทั่วโลกมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ถ่านหินและพลังงานฟอสซิลและให้หันมาใช้พลังงานสะอาด เพราะว่าโลกของเราเดือดขึ้นทุกวัน โดยไทยก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการลดใช้ถ่านหิน แต่ในปัจจุบันภาคเหนือของเราเองซึ่งมีความสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรป่าไม้กลับถูกกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในหลายพื้นที่ เราเลยเห็นความสำคัญของพื้นที่เหล่านี้ว่าควรจะถูกกันไว้ให้ชุมชนได้อยู่อาศัย ให้มีแหล่งน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้ดื่มใช้กิน ไม่อยากให้มีการทำเหมืองแร่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ๆ และเราคิดว่าท้ายที่สุดแล้วสิทธิของชุมชนควรมีสิทธิในการจัดการพื้นที่ของตนเอง โดยแผนแม่บทแร่ฉบับปัจจุบันจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ควรถูกเอาไปทำเหมือง
‘กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย’ เผยข้อมูลผลกระทบ ‘เหมืองโปแตช-เหมืองหิน’ ชี้ทำลายแหล่งน้ำใต้ดิน โบราณสถาน โบราณวัตถุ
ด้าน สมัย กล่าวว่า ในพื้นที่ของตนก็มีปัญหาเหมือนกับหลาย ๆ พื้นที่ ตนอาศัยอยู่ที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมูแปลง 2 โดยพื้นที่ป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์มากเป็นแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้านที่นี่ มีเห็ด แมงแคง แมงทับ หน่อไม้ และล่าสุดมีเห็ดเผาะที่หาได้เป็นตัน ๆ และยังเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านที่นี่อีกด้วย ที่สำคัญมีแหล่งน้ำซับซึมที่มีน้ำสะอาดและบริสุทธิ์มากไม่ปนเปื้อนสารเคมีใดๆเลย ซึ่งแหล่งน้ำซับซึมแห่งนี้เป็นน้ำสายหลักที่ชาวบ้านสองหมู่บ้านกว่า 300 ครัวเรือน ใช้อุปโภคบริโภค ได้ตลอดทั้งปีไม่มีวันแห้ง แม้แต่เทศบาลยังต้องมาเอาน้ำที่นี่ไปแจกจ่ายให้กับหมู่บ้านอื่น ๆ เมื่อครั้งที่มีภัยแล้ง และกรมทรัพยากรบาดาลได้มาสำรวจน้ำซับแห่งนี้แล้ว บอกว่ามีน้ำที่ไหลออกมาจากผืนดินจริง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับซึม ตามกฎหมายแร่มันทำไม่ได้ มันต้องถูกกันออกจากการสำรวจและทำเหมืองแร่
ไม่เฉพาะพื้นที่ของตนแต่ในภาคอีสานยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการทำเหมืองแร่ในพื้นที่แหล่งน้ำซับซึม และโบราณสถานเช่น พื้นที่ด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชที่จะกระทบต่อระบบน้ำใต้ดิน และพื้นที่อำเภอวังสะพุงจังหวัดเลยมีตาน้ำอยู่บนภูเขา และได้มีการทำเหมืองทำให้เกิดมลพิษจากการทำเหมืองไหลลงสู่ชุมชน
นอกจากนี้ในภาคอีสานเรายังมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณสถานและโบราณคดีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แต่ก็ถูกทำให้กลายเป็นที่ทำเหมือง หรืออยู่ในพื้นที่ขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง เช่น ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ที่มีภาพเขียนสีและโบราณวัตถุที่สำคัญและได้รับผลกระทบจากการเหมืองหินในพื้นที่แล้วและพื้นที่ ต.ดงลาน อ.สีชมพู
จ.ขอนแก่น ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหิน เราจึงเข้ามาร่วมฟ้องเพื่อให้การมีการยกเลิกแผนแม่บทแร่ในครั้งนี้เช่นกัน
‘กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง’ ชี้ผลกระทบเหมือง-ตั้งข้อสังเกตุกรณีเพิกถอนเขตป่าชุมชนก่อนให้สัมปทานเหมือง
ด้าน อับดุลเลาะห์ กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ครั้งแรกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 เจ้าหน้าที่จะนั่งจิ้มอยู่ในห้อง ตนเองก็ไม่ทราบ แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงแล้วพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำเหมืองแร่ในภูเขาลูกนี้ เพราะอยู่กลางชุมชนและอยู่ติดกับโรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามซึ่งห่างแค่ 200 เมตรและในโรงเรียนแห่งนี้มีเด็กนักเรียนจำนวน 1,700 กว่าคน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้มีการเรียนการสอนตลอดและมีนักเรียนพักประจำอยู่ด้วยจำนวน 500 คน ทั้งยังมีชุมชน
ซึ่งภูเขาลูกนี้เป็นรอยต่อระหว่างอำเภอควนกาหลง กับอำเภอควนโดน ก่อนหน้าภูเขาลูกนี้เป็นป่าชุมชนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ชาวบ้านใช้ประโยชน์โดยหาพันธุ์พืช ผลไม้ และเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีตาน้ำที่ไหลออกมาด้วย มีคลองน้ำประปาที่เป็นคลองหลักซึ่งชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ไว้ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ และเมื่อมีการมาขอสัมปทานทำเหมืองหินปรากฏว่าป่าชุมชนกลับถูกยกเลิกไป ด้วยวิธีการหรือกระบวนการแบบไหนตนก็ไม่สามารถทราบได้มารู้อีกทีคือถูกยกเลิกไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีป้ายป่าชุมชนปักไว้อย่างชัดเจน แต่ประชาชนอยากที่จะอนุรักษ์ไว้ให้กับลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในภูเขาลูกนี้ และที่สำคัญป่าชุมชนแห่งนี้มีน้ำซับซึมอย่างชัดเจน แล้วไหลลงไปสู่คลองสายหลักที่คนสตูลใช้ทั้งจังหวัด และประปาส่วนภูมิภาคของจังหวัดสตูลก็สูบน้ำจากคลองนี้ไปหล่อเลี้ยงคนทั้งจังหวัด นี่จึงเป็นเหตุผลพี่พวกตนต้องขึ้นมาฟ้องยกเลิกแผนแม่บทแร่ในครั้งนี้ ตนอยากให้จะมีการพิจารณาใหม่ ตามหลักศาสนาอิสลามของพวกเรามีความเชื่อว่าภูเขาเป็นตะปูยึดแผ่นดินของโลกเราเอาไว้ เรากำลังทำหลายหมุดยึดแผ่นดินของโลก ต้องสร้างภูเขาให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาทำลาย ถ้าคุณสร้างภูเขาไม่ได้ก็ไม่ควรมาทำลายภูเขา
‘เครือข่ายประชาชน’ ตั้งคำถาม กฎหมายแร่ตอบสนองกลุ่มทุนหรือประชาชน?
ด้าน สมบูรณ์ กล่าวว่า ที่พี่น้องในแต่ละชุมชนเล่าให้เราฟังในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กล้าออกมาเรียกร้องปกป้องสิทธิของตนเอง แต่ตนเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ออกมา ซึ่งพี่น้องในแต่ละเครือข่ายที่มาในวันนี้หากย้อนกลับไปดูพื้นที่แต่ละแห่งเป็นฐานทรัพยากรของพี่น้องในพื้นที่ทั้งหมด แต่รัฐยังกล้าที่จะเอาทรัพยากรเหล่านั้นไปให้เอกชนทำลาย ไม่ว่าจะเป็นสายน้ำที่อยู่กลางภูเขาหรือการระเบิดภูเขา โดยเฉพาะป่าไม้ที่หายไปจากการถูกสัมปทานทำเหมืองเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นป่าสมบูรณ์ และบางแห่งในพื้นที่สตูลก็เป็นที่อยู่อาศัยของชาติพันธุ์มานิด้วย ทำให้พี่น้องชาติพันธุ์มานิไม่มีที่อยู่ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่ามันกระทบไปกับทุกส่วนหมด นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังโหยหากัน ตนเห็นว่าภาคเอกชน นักธุรกิจ นักการเมือง รณรงค์ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต เรื่องของการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้ดูดซับคาร์บอนเครดิต กลัวโลกร้อน กลัวโลกเดือด ซึ่งเราก็เห็นผลของความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในบ้านเรา อย่างกรณีน้ำท่วม ดินสไลด์ เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อน
ที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมา เรียกร้องให้มีการยกเลิกแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ว่า มันมีความฉ้อฉลอยู่ในการสัมปทานเหมืองแร่ ถ้าหากไปสืบค้นดูจะเห็นว่ามีกระบวนการที่ฉ้อฉลของกลุ่มทุนและอาศัยช่องว่างของกฎหมาย อาศัยการลงทุนกับสัมปทานเหมืองแร่ที่ลงทุนต่ำแต่ได้รายรับสูง ยกตัวอย่าง
“ที่บ้านผม นายทุนคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของสัมปทานหลายเหมืองถึงขั้นพูดในเวลาที่แม้จะมีกรรมการสิทธิเรียกไปให้ข้อมูล เขาพูดแบบไม่เกรงใจเลยว่า เขาลงทุนไปกับเหมืองนี้ 50 ล้านแล้ว และจะให้เขาถอยให้ได้อย่างไร” สมบูรณ์กล่าว
สมบูรณ์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้เขตแหล่งแร่ที่เคยปรากฏอยู่ในแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 1 ก็ยังถูกนำมาใช้ในแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 2 และในแผนแม่บทฉบับนี้ ก็เอื้อประโยชน์มากกว่า เพราะนอกจากแผนที่แนบท้ายแผนแม่บทพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกกำหนดก็ยังสามารถเข้าคำนิยามเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้ ซึ่งความหมายว่าทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องมาศาลปกครองกันในวันนี้ การสู้เรื่องเหมืองแร่แม้มันจะใช้เวลานาน บางแห่งใช้เวลา 10 ปี 20 ปี แต่ชาวบ้านก็ยังยืนหยัดที่จะต่อสู้และได้สร้างคนรุ่นใหม่ รุ่นลูก รุ่นหลาน เพื่อต่อสู้ต่อไปอีกด้วย
ทนายเปิดเหตุผล ‘ฟ้องยกเลิกแผนแม่บทแร่ฉบับ 2’ ชี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม
ขณะที่ สุทธิเกียรติ กล่าวว่า จริง ๆ ความเดือดร้อนเสียหายที่พูดมาทั้งหมดในการฟ้องคดี พอมาดูเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายมีอะไรบ้าง ตนคิดว่ามีอยู่ 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ พ.ร.บ.แร่ 2560 มาตรา 17 ที่บอกให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ทำแผนแม่บทขึ้นมาในการบริหารจัดการศักยภาพแร่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง หรือแหล่งแร่ที่ควรสงวนหวงห้ามอนุรักษ์ไว้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า โบราณสถาน พื้นที่ที่กฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ความมั่นคงแห่งชาติ และพื้นที่ป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 17 วรรค 4 ที่หลายๆ คนได้พูดไป
สุทธิเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า ถามว่าตั้งแต่มีพ.ร.บ.แร่ 2560 ขึ้นมามีการจัดทำแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 1 เขาได้ตัดพื้นที่เหล่านี้ออกไปหรือไม่ ที่ห้ามกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อทำการเหมือง แต่เขาก็ไม่ได้มีการตัดออกไป เนื่องจากเพิ่งประกาศใช้ จึงทำไม่ทัน เราก็หวังว่าแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 2 จะมีการสำรวจทบทวนใหม่และมีการตัดพื้นที่ต้องห้ามทางกฎหมายออกไปทั้งหมด แต่แล้วก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นบางพื้นที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดีและถูกขึ้นทะเบียนก็ยังถูกประกาศให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองอยู่
สุทธิเกียรติกล่าวอีกว่า พื้นที่ที่มีปัญหากับหน่วยงานรัฐมากที่สุด คือ ป่าต้นน้ำ แหล่งน้ำซับซึม หน่วยงานให้เหตุผลว่าไม่สามารถที่จะให้คำนิยามได้ ใครก็ไม่สามารถให้คำนิยามได้เพราะพื้นที่ทั่วประเทศมีระบบนิเวศแตกต่างกัน ชุมชนนิยามคำว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมแตกต่างกัน หน่วยงานรัฐไม่เคยลงมาสำรวจพื้นที่ใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ 2560 มันก็เลยเป็นปัญหาว่า แทนที่หน่วยงานรัฐควรที่จะคำนึงถึงดุลยภาพทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน มันกลับจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมตามที่ชาวบ้านได้พูดไป ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมสุขภาพประชาชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว จึงทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมฟ้องในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำเหมือง ซึ่งบางพื้นที่ยังเป็นคำขอพื้นที่ได้อาชญาบัตร พื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรแล้วและเกิดผลกระทบแล้ว และปัจจุบันก็ยังเกิดผลกระทบอยู่ เช่น ด่านขุนทด เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้มีการตรวจสอบและยังคงกำหนดให้พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง
อีกทั้งยังมีพื้นที่ทำเหมืองไปแล้ว เหมืองปิดไปแล้ว และอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่สมควรกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไปอีกแล้ว แต่ก็ยังถูกกำหนดในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เหมือนเป็นการไปซ้ำเติมชุมชนที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วให้มากกว่าเดิมและสิ่งที่ควรจะคำนึงถึงคือมาตรา 17 นั้นก็ไม่มี
สุทธิเกียรติกล่าวเพิ่มอีกว่า ประเด็นที่ 2 ในการจัดทำแผนแม่บทแร่ฉบับใหม่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย ในกฎหมายกำหนดไว้ให้มีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติชุมชนที่ไดัรับผลกระทบเหล่านี้ที่ร่วมกันฟ้องมีบางพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับรู้รับทราบ มีบางพื้นที่ไม่เคยได้รับจดหมาย รู้ตัวอีกทีตอนที่จะมีการมาฟ้องแล้ว มีคนอื่นอธิบายให้ฟังว่ามีแผนแม่บทแร่ฉบับที่ 2 และมีการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อทำเหมืองโดยกำหนดพื้นที่ของตนเองให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองนี่เป็นประเด็นถัดมา
สุดท้ายในการฟ้องคดีครั้งนี้ คนที่ได้รับความเสียหายเหล่านี้จากการขาดการมีส่วนร่วมในการทบทวน คุณไปสัญญากับประชาคมโลกว่า คุณจะทำตามเป้าหมาย SDG แต่คุณไม่ได้ทำ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีในปัจจุบันก็ถูกรับรองจากองค์การสหประชาชาติ สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชนบัญญัติสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิมนุษยชน ตอนนี้คุณกำลังที่จะละเมิดสิทธิมนมุษยชน คุณไม่ได้ทำตามหลักการป้องกันไว้ก่อนเพราะการตัดพื้นที่เหล่านี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ต้องใช้หลักป้องกันไว้ก่อน ไม่ใช่ว่าตัดแล้วคุณไปให้ประทานบัตรแล้วเกิดผลกระทบตามมา ถามว่าจะแก้ไขเยียวยาในภายหลังได้อย่างไร ซึ่งมันไม่ได้มีแค่ผลกระทบที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้น ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่สำคัญว่ามาตรา 17 กำหนดให้ คนร. (คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ) จัดทำแผนแม่บทและเสนอครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ในขั้นตอนกระบวนการจัดทำทั้งหลายนี้ไม่ได้มีการทบทวนเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ไม่ได้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เราจึงฟ้องในคดีนี้ 2 หน่วยงาน คือ คณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นคนที่เห็นชอบในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 และฟ้อง คนร.ที่จัดทำแผนแม่บทและเสนอต่อครม.
“ซึ่งในคำฟ้องที่เราได้ยื่นฟ้องมีคำขอข้อ 1 คือให้มีการเพิกถอนมติครม.ที่เห็นชอบแผนแม่บทฉบับนี้
ข้อ 2 ให้มีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ขึ้นใหม่โดยให้มีกระบวนการทบทวน สำรวจ และให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ไม่ใช่แค่จัดกระบวนการมีส่วนร่วมให้พอเป็นพิธี ดังนั้นมันไม่ได้ประสิทธิภาพและไม่ได้บรรลุผลจัดทำแผนแม่บทแบที่คุณอ้างว่าอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ ให้ประชาชนตัดสินใจจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้นเราก็หวังว่าศาลปกครองแห่งนี้จะมีการพิจารณาอย่างรวดเร็วจะมีการคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างรวดเร็วก่อนที่แผ่นแม่บทฉบับที่ 3 ฉบับที่ 4 ต่อไปที่จะมีโดยเอาเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองเดิมที่ไม่ได้ถูกทบทวนและไม่ได้มีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้าไปบรรจุไว้เหมือนเดิมและมันจะเกิดผลกระทบทีหลัง” สุทธิเกียรติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้เป็นตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองและได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 จากภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ จำนวน 13 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มรักษ์ดงลาน กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น กลุ่มอนุรักษ์ภูเต่า กรณีเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรม จ.มุกดาหาร กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร กรณีเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรม กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กรณีเหมืองแร่โปแตส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ภูซำผักหนาม กรณีเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กลุ่มอนุรักษ์เขาหินจอก อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำลา แม่ลาน้อย กรณีเหมืองแร่ฟลูออไรต์ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย เหมืองแร่ถ่านหิน อมก๋อยเชียงใหม่ กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง กรณีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (โปแตช) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู (หินปูน) และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย (ทองคำ)
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...