Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่อยากสื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com
เรื่อง: แก้วกัลยา ชมพระแก้ว ,ปวีณา บุหร่า
บทนำ
บทความชิ้นนี้มุ่งศึกษาน้ำมนต์ และความศรัทธาต่อน้ำมนต์ของวัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร จนนำไปสู่การพัฒนาวัดหรือท้องถิ่น เพื่อเป็นการทำความเข้าใจถึงคนที่มีความศรัทธาต่อน้ำมนต์ และเกิดความเชื่อ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนจึงหลั่งไหลเข้ามามาก ซึ่งพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร เป็นพระเกจิที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้วัดเกิดการพัฒนาด้วยความสามารถของท่านที่ได้พรมน้ำมนต์ให้กับคนที่มา เนื่องจากท่านตามองไม่เห็นทั้งสองข้าง และท่านยังเป็นพระที่มีจิตใจเมตตา ช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกล เพราะด้วยความศรัทธาของคนที่มีต่อน้ำมนต์และต่อตัวท่าน ท่านจึงได้นำปัจจัยที่คนมาถวายสังฆทาน และทำบุญ กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาให้วัดมีความเจริญรุ่งเรือง
ในการศึกษาโดยใช้วิธีทางประวัติศาสตร์ในการศึกษาหาข้อมูล เช่น การลงพื้นที่สัมภาษณ์ คำบอกเล่า เอกสารงานวิจัย และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้น้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนให้วัดเกิดการพัฒนาไปในทางที่ดี เช่น มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนานั้นเกิดจากคนที่ศรัทธาต่อน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร
น้ำมนต์เดิมสันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในลัทธิพราหมณ์ โดยถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่บริสุทธิ์เป็นน้ำที่สามารถล้างบาปได้ แต่ในทางศาสนาพุทธได้เกิดการริเริ่มการนิยมน้ำมนต์ จากภายหลังพุทธปรินิพพานได้ปรากฏเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำมนต์ว่าในสมัยพุทธกาลนั้นเกิดทุพภิกขภัย ภัยข้าวยากหมากแพง อมนุสภัย ภัยภูตผีปีศาจ และอหิวาตกโรค ที่เมืองไพศาลี สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์แคว้นมคธ กษัตริย์ลิจฉวีจึงส่งคนไปอาราธนาพระพุทธองค์ เพื่อเสด็จมาสู่แคว้นของตนเพื่อที่จะอาศัยพุทธานุภาพช่วยระงับภัย เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่แคว้นวัชชีฝนก็ตกลงมา เพราะอาศัยพุทธานุภาพช่วยชะล้างซากคนและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เมื่อพระพุทธองค์เสร็จถึงกรุงไพศาลี จึงรับสั่งให้พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากท่องจำรัตนสูตร ให้เอาบาตรใส่น้ำเสกเป่า แล้วนำไปประพรมทั่วนครไพศาลี ปรากฏว่า บรรดาภูตผี เมื่อถูกน้ำพระพุทธมนต์ต่างก็ปลาสนาหนี [3] ด้วยเหตุนี้อานุภาพของน้ำมนต์ จึงสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล จึงนำมาสู่ความเชื่อเรื่องน้ำมนต์ ที่มีอานุภาพช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย
ในสังคมไทยการพรมน้ำมนต์เป็นที่นิยมอย่างมาก และมีอิทธิพลต่อสังคมไทย เพราะเนื่องจากในปัจจุบันคนต้องการหาที่พึงทางใจในรูปแบบที่สามารถทำได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บรรลุธรรมอย่างแท้จริง แต่สามารถหาทางออกด้วยวิธีการพรมน้ำมนต์ เพราะเชื่อว่าเมื่อได้พรมน้ำมนต์จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนว่าน้ำมนต์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจ ในสมัยก่อนคนอาจจะหาที่พึงทางใจในรูปแบบการทำบุญตักบาตร ไหว้พระ แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงไป น้ำมนต์นอกจากใช้ประพรมแล้ว ยังมีการนำมาใช้กิน หรืออาบเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี ความเป็นอัปมงคล และยังใช้ในงานพิธีกรรมที่เป็นมงคล เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง ทำบุญอายุ ซึ่งในสังคมไทยเชื่อกันว่าการพรมน้ำมนต์เพื่อต้องการให้เกิดความสบายใจ ความเป็นสิริมงคล ปัดเสนียดจัญไร รวมถึงการสะเดาะเคราะห์ภัยให้กลายเป็นดี ซึ่งย่อมแล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละบุคคล แต่อย่างน้อยเมื่อได้พรมน้ำมนต์ก็ย่อมทำให้เกิดความสบายใจ คลายทุกข์ [4]
น้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร จึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้คนเกิดความศรัทธา เคารพนับถือ เพราะคนส่วนใหญ่มาพรมน้ำมนต์กลับไปชีวิตดีขึ้น จึงเกิดความศรัทธาคนหลั่งไหลเข้ามา น้ำมนต์ของท่านมีทั้งน้ำมนต์มงคลและน้ำมนต์ถอน ส่วนมากคนที่มาจะพรมน้ำมนต์มงคล เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล เสริมดวงให้กับชีวิต หรือในเรื่องอื่น ๆ เช่น ค้าขาย เมื่อคนมาพรมเกิดรู้สึกชีวิตดีขึ้นจึงนำปัจจัยมาถวาย ปัจจัยส่วนนั้นพระครูสังฆรักษ์อุทัย ปภงฺกโร ได้นำไปใช้ประโยชน์และมีการกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ฉะนั้นน้ำมนต์จึงมีบทบาทอย่างมากเพราะเป็นจุดที่ทำให้วัดศรีมฤคทายวันและท้องถิ่นเกิดการพัฒนา ที่เกิดจากความเชื่อความศรัทธาของคนที่มีต่อน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร
ดังนั้นผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาน้ำมนต์ของวัดศรีมฤคทายวัน ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ของคนที่มีความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ต่อน้ำมนต์ ผลที่ได้จากคนที่มาพรมน้ำมนต์เมื่อเกิดความศรัทธาจึงนำปัจจัยมาถวายและได้นำไปสู่การพัฒนาวัดศรีมฤคทายวันและท้องถิ่น
น้ำมนต์
น้ำมนต์สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในลัทธิพราหมณ์ ก่อนที่จะได้รับการตกทอดมายังศาสนาพุทธ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพาน ดังปรากฏในรัตนสูตรที่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร นครราชคฤห์ เมื่อนครเวสาลี แคว้นวัชชี เกิดทุพภิกขภัย และโรคระบาดอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายเกิดซากศพปฏิกูลตามถนน ประชาชนต่างพากันกล่าวโทษพระราชาที่ประตูราชวังว่า ภัยพิบัติ ได้เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้ขึ้น กษัตริย์ลิจฉวีจึงอันเชิญพระพุทธองค์ เพื่อเสด็จมาสู่แคว้นของตน เป็นเพียงเวลา 3 วัน [5] เพื่ออาศัยพุทธานุภาพพระพุทธองค์ช่วยระงับภัย เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงฝนก็ตกลงมา ชะล้างซากศพ และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เมืองสะอาดขึ้น โรคระบาดระงับลง ด้วยพุทธานุภาพของพระองค์ เย็นวันนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทกับพระอานนท์ให้ศึกษารัตนสูตร อันว่าด้วยพระคุณของพระรัตนตรัย เพื่อขจัดโรคร้ายและอำนวยสวัสดิมงคลแก่ชาวเมืองไพศาลี พร้อมประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบกำแพงเมือง ก่อนหน้าพระอานนท์เดินสวดรัตนสูตรและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ฝนได้ตกลงมาชะล้าง [6] เมื่อพระอานนท์เริ่มสวด มนุษย์ที่กำลังประสบภัย และภูตผีปีศาจ พอถูกน้ำมนต์ประพรมเท่านั้นก็หายจากโรคภัย บรรดาวิญญาณร้ายก็ปลาสหนีจากประตูเมืองทั้ง 4 ทิศ[7] หลังจากนั้นบ้านเมืองกลับมาสงบสุข ราษฎรต่างพากันชื่นชมพระอานนท์ ซึ่งในตำนานดังกล่าวระบุเพียงว่า พระอานนท์ถือบาตรของพระพุทธเจ้าที่เต็มไปด้วยน้ำแล้วก็สวดรัตนสูตรไปด้วย แต่ไม่ได้อธิบายว่าน้ำในบาตรนั้นได้ผ่านพิธีสวดมนต์ หรือมีการหยดเทียนลงไปในน้ำอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน [8]
ต้นกำเนิดน้ำมนต์ที่ปรากฏในวัฒนธรรมไทย เมื่อพุทธศาสนานิกายเถรวาทเข้ามายังประเทศไทยในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตศักราช ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ในสมัยนั้นพระพุทธศาสนาเจริญสมัยพระองค์ ท่านได้ส่งพระธรรมทูตไปจำพรรษหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือสุวรรณภูมิ ประเทศไทย พระธรรมทูตไม่เพียงแต่นำพระไตรปิฎกมา แต่ยังนำจารีต วัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธเข้ามาด้วย โดยส่วนมากเป็นภาษาบาลี ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันยังคงใช้ภาษาบาลีในการสวดมนต์ และทำพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อมีการแก้ไขพระธรรมวินัยฉบับบาลี พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งในศรีลังกา พระภิกษุให้ความสนใจมากขึ้น และทรงนำเอาจารีตรูปแบบการสวดประเทศของตนมาใช้ นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของน้ำมนต์ที่ปรากฏขึ้น รวมทั้งรูปแบบการทำน้ำมนต์ในประเทศไทยมักมีความโดดเด่นในเรื่องการใช้พระรัตนสูตร โดยมีการแก้ไขภาษาและเพิ่มคาถาเข้าไป [9] การทำน้ำมนต์ไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธพุทธเพียงศาสนาเดียว แต่ศาสนาอื่น เช่น คริสต์ พราหมณ์ ก็มีความเชื่อในเรื่องการทำน้ำมนต์เหมือนกัน เช่น ในศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำบริสุทธิ์ ที่ไหลมาจากสรวงสรรค์ นอกจากจะเป็นน้ำที่บริสุทธิ์แล้วยังเป็นน้ำที่ไหลตกลงบนเศียรพระศิวะแล้วจึงไหลผ่านสู่มนุษย์โลก จึงกลายเป็นแม่น้ำที่บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ เป็นน้ำที่สามารถล้างบาปได้ ผู้ใดได้อาบก็จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ บาปกรรมที่ทำมาก็จะถูกชำระล้างให้ออกหมด [10] แต่ในแง่ของศาสนาพุทธเราเชื่อว่าเรื่องบาปกรรมเป็นกรรมที่มีทั้งดีและชั่ว ล้างกันไม่ได้ แต่ใช้น้ำมนต์หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข และความสดชื่นสบายใจ ความสุขมาจากความบริสุทธิ์ของจิต โดยการทำสมาธิจากพระที่ท่องพระสูตร เมื่อผู้ประพรมน้ำมนต์แล้วก็จะรู้สึกสบายใจ สดชื่น และเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
การทำน้ำมนต์แบบดั้งเดิมนั้น เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์และเป็นส่วนหนึ่งของการสวดพระปริตร ซึ่งพระพุทธศาสนารับเอาแนวคิดเรื่องพระปริตรมาจากศาสนาพราหมณ์ ที่กล่าวในคัมภีร์อถรรพเวท ตอนว่าด้วยรักษ์มนต์ โดยนำมาดัดแปลงให้เข้ากับหลักพระพุทธศาสนา คือมีการใช้บทสวดที่บรรยายพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ตลอดถึงคำสอนต่าง ๆ เหมือนเป็นการสอนธรรมะอย่างหนึ่ง ซึ่งในการทำน้ำมนต์แต่ละครั้งต้องเชิญเทวดาเข้ามาร่วมด้วย เพื่อมาเป็นพยาน น้ำมนต์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์และเทวดาช่วยกันสร้างขึ้นเป็นพลังอำนาจขึ้นมา [11] การที่จะทำน้ำมนต์ต้องใช้น้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่ที่เรียกกันว่าน้ำมนต์ เพราะมีการเสกเป่ามนต์คาถาเข้าไปแทรกภายในน้ำ [12] คาถาที่ใช้สวดนั้นเพื่อนำมาใช้ให้ความเป็นสิริมงคล หรือป้องกันภยันตราย และจิตต้องเป็นสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ มนต์คาถาจึงจะสำเร็จประโยชน์ [13] รวมทั้งต้องมีพลังอานุภาพในพระรัตนตรัย 3 ประการ อานุภาพพระพุทธคุณ ช่วยรอดปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ อานุภาพพระธรรมคุณ สามารถปกป้องคุ้มครองชีวิตจากโรคภัยที่เกิดขึ้น และอานุภาพพระสังฆคุณ ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัย และมนต์คาถาจึงส่งผลให้น้ำมนต์เกิดความศักดิ์สิทธิ์สามารถช่วยขจัดปัดเป่าภัยอันตราย โดยเฉพาะในสังคมไทยเชื่อว่าน้ำมนต์ที่ผ่านการปลุกเสกจะช่วยป้องกันภัยและเสริมความเป็นสิริมงคลได้ [14]
พระกับน้ำมนต์
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุประกอบติรัจฉานวิชชา เพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ถึงแม้ว่าติรัจฉานวิชชาบางอย่างจะเป็นที่พึ่งของมนุษย์ ก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริง [15] แต่ในความเป็นจริงในสังคมไทยคนต้องการมาพึ่งน้ำมนต์ ไม่ได้ต้องการหลุดพ้นอย่างแท้จริง แต่เป็นการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเกิดความสบายใจ ฉะนั้นในปัจจุบันน้ำมนต์ยังคงมีบทบาทต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก ดังกรณี วัดศรีมฤคทายวันที่มีพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร เป็นพระเกจิที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องการพรมน้ำมนต์ เพราะคนที่มาพรมน้ำมนต์กลับไปชีวิตดีขึ้น รู้สึกสบายใจ เสริมความเป็นสิริมงคล และเป็นที่พึ่งทางใจ ยิ่งไปกว่านั้นน้ำมนต์ของท่านมีสองประเภท ไม่เพียงแต่เป็นน้ำมนต์มงคลที่ช่วยให้คนรู้สึกดี สบายใจ เสริมดวงชะตา สะเดาะเคราะห์ หรือในเรื่องการค้าขาย แต่น้ำมนต์ของท่านยังมีน้ำมนต์ที่ใช้ในการถอน ช่วยถอนให้คนที่โดยของเข้า น้ำมนต์ท่านมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ คนจึงให้ความศรัทธาต่อน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ อุทัย ปภงฺกโร นอกจากจะให้ความศรัทธาต่อน้ำมนต์แล้ว คนที่มาต่างก็ให้ความศรัทธาเคารพนับถือท่านเนื่องจากท่านเป็นพระเมตตา พระผู้สร้าง และเก่งมีความสามารถที่ทำให้คนเกิดความเคารพนับถือถึงแม้ว่าท่านตามองไม่เห็น แต่ท่านสามารถพรมน้ำมนต์ให้กับคนที่มาได้ จึงเป็นเหตุให้คนเกิดความเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก โดยทุกวันนี้จะมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปจากทุกทั่วสารทิศมาให้ท่านได้เคาะหัว พรมน้ำมนต์หรือมาถวายสังฆทาน เพราะเชื่อว่าทำสิ่งนี้แล้วกลับรู้สึกดีขึ้น เป็นที่พึ่งทางใจในรูปแบบที่สามารถทำได้ง่าย
ดังกรณีวัดโพธาราม ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หญิงสาวคนหนึ่ง มีอาการคล้ายกับโดนผีเข้า มือไม้สั่น พูดจาไม่รู้เรื่องเป็นเวลาหลายวันพาไปหาหมอได้ยามาก็เอาไม่อยู่ ไปวัดไหนก็ไม่ได้ผล จนสุดท้ายมาที่วัดโพธาราม ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ให้ พระปลัดสัญชัย อติภัทโท เจ้าอาวาส ช่วยเหลือด้วยการตั้งขันน้ำมนต์ เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งระหว่างทำพิธี หญิงสาวคนนี้ออกอาการทุรนทุรายเหมือนของโดนของ แต่พอเจอน้ำมนต์ไปก็อ่อนลง เริ่มถามตอบรู้เรื่อง พอเสร็จพิธีก็ถึงกับสลบและกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ [16] ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าน้ำมนต์ไม่เพียงแต่ช่วยทางด้านจิตใจ หรือทำให้เกิดความสบายใจ แต่ยังสามารถช่วยในเรื่องทางไสยศาสตร์ มนต์ดำ ซึ่งการปลุกเสกจะต่างกันของพระแต่ละรูป ส่วนความขลังและศักดิ์สิทธิ์นั้นขึ้นอยู่กับคนที่ให้ความศรัทธาต่างกันออกไป
ในสังคมไทยปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนช่วยให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ที่กำลังมีความทุกข์ใจหรือไม่สบายใจ ก็จะยิ่งทำให้มีความสบายใจขึ้น เนื่องจากสังคมไทยได้ปฏิบัติกันมาอย่างสม่ำเสมอและถือเป็นเรื่องปกติของสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน นับว่าเป็นที่พึ่งทางสังคมได้ระดับหนึ่ง คือ ทำให้เกิดความสบายใจ มีกำลังใจในการใช้ชีวิต เป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจของคนไทยที่ควบคู่ไปกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ปฏิเสธได้ยาก เมื่อคนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย มีความต้องการที่พึ่งทางใจมาก เช่น บางคนรู้สึกไม่ดี อยากจิตใจที่สงบ สบายใจ ก็หันไปพรมน้ำมนต์ การที่คนหันมาพึ่งพาสิ่งเหล่านี้เพราะเป็นสิ่งปฏิบัติง่าย สะดวก สามารถคลายทุกข์ได้ น้ำมนต์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เป็นทางออกสำหรับคนที่ต้องการที่พึ่งทางใจ [17] ดังนั้นเมื่อน้ำมนต์เป็นสิ่งที่เป็นทางออกสำหรับคนแล้ว ย่อมส่งผลให้พระสงฆ์มีบทบาทในสังคมไทย เพราะพระกับน้ำมนต์เป็นของคู่กันโดยธรรมชาติ เมื่อคนประสบปัญหาชีวิตทางด้านจิตใจก็ต้องการที่พึ่ง ซึ่งพระสงฆ์มักจะทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พรมน้ำมนต์ สวดมนต์ เพราะช่วยให้รู้สึกชีวิตดีขึ้นทางด้านจิตใจ หากไม่มีพระทำหน้าที่พรมน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ คนก็ไม่สามารถรับได้ เนื่องจากพระกับน้ำมนต์เป็นของคู่กัน การกระทำจึงค่อนข้างที่เคร่งครัด ฉะนั้นพระย่อมเป็นที่คู่ควรแก่การเคารพมากกว่าคนทั่วไป [18]
น้ำมนต์พระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร วัดศรีมฤคทายวัน
การเริ่มทำน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร เนื่องจากที่ท่านได้ เรียนหนังสือจากหลวงพ่อฟุ้งและจากพระด้วยกัน ด้วยความพยายามและหมั่นเพียร ชั่วพรรษาแรกจบเจ็ดตำนานธรรมจักรและโพชฌงค์ พรรษาที่ 2 ได้ปาฏิโมกข์ พรรษาที่ 3 สวดปาฏิโมกข์ได้ และท่านได้ปรึกษากับพระผู้ใหญ่ พระผู้ใหญ่บอกให้ท่านทำน้ำมนต์ เพราะท่านสวดเก่ง ซึ่งคาถาได้มาจากหลวงปู่แทน ( ปาฏิโมกข์ ) คาถาเมตตา ได้มาจากหลวงพ่อป่อง และครูอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ในตอนนั้นที่ท่านเริ่มทำน้ำมนต์อยู่ในช่วงเจ้าอาวาสรูปแรก ( หลวงตาฟุ้ง ) พ.ศ. 2514 – 2535 ซึ่งการทำน้ำมนต์ของท่านเป็นการทำแล้วตั้งไว้หน้าโบสถ์และมีคนนำไปใช้ เมื่อคนรู้สึกว่าได้ผลดี ก็มากันเรื่อย ๆ หลังจากนั้นน้ำมนต์ก็เป็นที่รู้จักคนเริ่มศรัทธาจึงเริ่มทำเป็นพิธี โดยน้ำมนต์เริ่มรู้จักช่วงหลวงตาฟุ้งเจ้าอาวาสรูปแรก แต่ยังไม่รู้จักมากเป็นเหมือนการทำตั้งไว้ แต่ต่อมาเมื่อถึงเจ้าอาวาสรูปสอง ( หลวงตาเปรื่อง ) พ.ศ. 2535 – 2545 น้ำมนต์เริ่มดัง เริ่มเป็นที่รู้จักของคน และเมื่อถึงเจ้าอาวาสรูปสามปัจจุบัน ( พระปลัด สุมิตร สมจิตฺโต ) พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน น้ำมนต์จึงมีความโด่งดังมากยิ่งขึ้น คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านั้นการพรมน้ำมนต์ของท่านอยู่ภายในโบสถ์หลังเก่า หลังจากนั้นได้เริ่มย้ายการทำพิธีการพรมน้ำมนต์มายังศาลา การมีพิธีพรมน้ำมนต์นั้นเริ่มมีตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปที่สอง ( หลวงตาเปรื่อง ) จนถึงปัจจุบัน
น้ำมนต์ท่านจะมีทั้งน้ำมนต์มงคล และน้ำมนต์ถอน ซึ่งน้ำมนต์มงคลจะมีการทำพิธีให้กับคนที่มา นอกจากจะโดนคุณไสย จะทำแยกกับน้ำมนต์มงคล บทสวดหรือคาถาจึงไม่เหมือนกับน้ำมนต์มงคล น้ำมนต์มงคลจะเป็นการปัดเป่าทุกข์โศก เสริมดวงชะตาชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคล [19] ตอนพรมจะมีคาถา พุธธัง ธัมมัง สังฆัง อะระหัง เป็นที่พึ่ง เอหิ จงมา เอหิเมตตา เอหิ สวาหะ เมตตา มิ มิ เมตตา พุทธะ จิตตัง ปิยัง มะมะ อุ เป็นคาถาเมตตาที่ใช้ในการท่องเคาะศีรษะ ในสมัยก่อนตอนทำพิธีพรมน้ำมนต์จะเป็นการสวดจบ 9 รอบ รอบแรกจะเป็นการสวดปัดเป่า รอบสองสวดการเสริมดวงชะตา แต่ในปัจจุบันเป็นการสวด 1 จบแล้ววนกลับมาใหม่ [20] การพรมน้ำมนต์ของท่านจะเป็นการพรมเป็นชุด เช่น คนที่มาชุดแรกก็จะได้พรมก่อน ชุดที่สองต่อจากชุดแรก ไล่ไปทีละคน ซึ่งคนที่มาส่วนใหญ่มักจะมาพรมน้ำมนต์มงคล เพราะต้องการให้ชีวิตมีความเป็นสิริมงคล เสริมดวงชะตา ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เหมือนเป็นการหาที่พึ่งทางใจในรูปแบบการพรมน้ำมนต์ น้ำมนต์ของท่านทำแล้วได้ผลดี เพราะพุทธคุณท่านเก่ง และพุทธคุณแรง จิตนั่ง จึงต่างกับพระรูปอื่น ซึ่งแต่ละที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่เหมือนกัน แล้วแต่คาถาวิชา น้ำมนต์พระรูปอื่นอาจจะหมุน แต่น้ำมนต์ของท่านจะนิ่ง สิ่งที่บอกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำมนต์ท่าน ดูจากคนที่มาพรมกลับไปชีวิตดีขึ้น หรือบางคนถูกคุณไสย มาหาท่าน ท่านจะทำพิธีพรมน้ำมนต์และมีการท่องคาถาทำพิธีให้ เมื่อหายคนก็คิดว่านี้เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าพรมไม่หายก็ถือว่าไม่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใหญ่คนที่มาพรมน้ำมนต์เพราะมีความศรัทธา ต้องการสะเดาะเคราะห์ เสริมดวง เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อพรมน้ำมนต์เสร็จจะได้ของศักดิ์สิทธิ์กลับไป คือ นิล สีผึ้ง รูปของหลวงพ่อ และแร่ ถือว่าเป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่พอ ๆ กับน้ำมนต์ [21]
สรรพคุณที่เลื่องลือของน้ำมนต์ท่าน สามารถนำไปพรมรถ พรมบ้าน กิน อาบ หรือใช้พรมทั่วไป และมีความศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป ประเภทพวกแม่ค้าขายของ โดยคนที่มาพรมน้ำมนต์เป็นบุคคลทั่วไปตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้ใหญ่ หรือบางครั้งพวกข้าราชการ และประชาชนทั่วไปที่มาพรมน้ำมนต์กับท่าน ก่อนที่ท่านจะเริ่มพรมน้ำมนต์จะต้องมีการบูชาพระรัตนตรัยก่อนทุกครั้ง [22] ถึงเริ่มพรมน้ำมนต์ให้คนที่มาได้ ซึ่งอีกสาเหตุหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มาเพราะท่านเป็นพระเมตตา พระผู้สร้าง และมีความศักดิ์สิทธิ์ทางน้ำมนต์ เมื่อน้ำมนต์ได้ผลดีก็ดังจนถึงปัจจุบัน
น้ำมนต์ของท่านจะทำได้ตลอด แต่โดยมากทำน้ำมนต์วันเสาร์ อังคาร เพราะเป็นวันแข็ง ช่วงเวลาตี 3 – 4จุดเทียนแล้วก็สวด เอาเทียนหยดพอเทียนสั้นก็ปล่อยลง น้ำที่ใช้จะใช้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ เทียนที่ใช้เทียนขาว การทำน้ำมนต์ท่านจะสวดปาฏิโมกข์แล้วทำมนต์และสวดกับพุทธคุณ 108 เป็นการอันเชิญเทวดา พระรัตนตรัย พอได้ 9 จบ ก็คั้นด้วยปาฏิโมกข์ แล้วสวดคาถาชินณบัญชร เมตตาใหญ่ ซึ่งคาถาของท่านมีการถ่ายทอดให้กับพระรูปหนึ่ง ชื่อ หลวงพระต้น วัดหนองบัวค่าย อำเภอจอมบึง [23] ลักษณะการเก็บน้ำมนต์จะเก็บใส่โอ่งที่มีฝาปิดมีสายสิญจน์พัน และแบ่งแยกน้ำมนต์ระหว่างน้ำมนต์มงคลและน้ำมนต์ถอน ชาวบ้านหรือคนทั่วไปสามารถกรอกใส่ขวดนำกลับบ้านได้ น้ำมนต์ท่านไม่มีการขาย แต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาที่จะนำปัจจัยมาบริจาค โดยเงินปัจจัยที่ได้จะนำไปทำประโยชน์ เหมือนกับเป็นการทำบุญสู่สังคม
ความเชื่อ ความศรัทธาน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร
น้ำมนต์ที่เป็นจุดทำให้คนเกิดความเชื่อ และความศรัทธา เพราะเมื่อคนที่มาเกิดรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น การทำงานราบรื่น คนจึงหลั่งไหลเข้ามาเหมือนเป็นการพูดปากต่อปากว่าน้ำมนต์ที่วัดศรีมฤคทายวัน ของพระครู สังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง ทำให้สบายใจ เป็นที่พึ่งทางใจ หรือมีการเคลื่อนไหวทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นจุดทำให้คนเกิดความเชื่อว่าน้ำมนต์ของท่านนั้นศักดิ์สิทธิ์จริง จากสื่อออนไลน์ที่มีข่าวดังอยู่ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับวัตถุมงคล นั้นคือเสืออุ้มทรัพย์ พบว่าประชาชนต่างพากันขอให้ หลวงพ่ออุทัย นั้นได้ทำพิธีประพรมน้ำมนต์ให้ ทั้งที่ปกติเป็นวันพระ หลวงพ่ออุทัยจะหยุดประพรมน้ำมนต์ เนื่องจากในแต่ละวันที่ผ่านมานั้นมีประชาชนเดินทางมาขอให้หลวงพ่อประพรมน้ำมนต์และมาขอเช่าเสืออุ้มทรัพย์รวมทั้งวัตถุมงคลอื่น ๆ อย่างไม่ขาดสาย [24] ซึ่งเห็นได้ว่าน้ำมนต์ของท่านก็ยังถือได้ว่าศักดิ์สิทธิ์ และขลัง โดยดูจากลูกศิษย์ท่านมากมายที่ต่างพากันมาพรมน้ำมนต์ และสิ่งที่บ่งบอกถึงความเชื่อว่าน้ำมนต์ท่านศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมาพรมแล้วรู้สึกชีวิตดีก็กลับมาพรมซ้ำบ่อย ๆ และเหตุที่คนให้ความศรัทธา พึ่งพิง เนื่องจากในปัจจุบันบทบาทน้ำมนต์ได้ขยายกว้างมากขึ้น เช่น ในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นพิธีมงคลนิยมใช้น้ำมนต์มาประกอบพิธีกรรม รวมทั้งในสังคมไทยปัจจุบันคนต้องการที่จะหาทางออกในการแก้ปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นซึ่งทางออกของแต่ละคนต่างกันออกไป บางคนหาทางออกด้วยวิธีไหว้พระ บางคนขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ หรือบางคนพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นทางออกของชีวิต ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำแล้วให้เกิดความสบายใจขึ้น คลายความทุกข์ที่เกิดขึ้น น้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่คนให้ความศรัทธา และเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งในปัจจุบันคนก็ยังให้ความศรัทธาต่อน้ำมนต์ท่านเรื่อยมา
เนื่องด้วยเพราะบารมีของหลวงพ่ออุทัย ที่เป็นพระเกจิ ท่านเป็นพระตาบอดทั้งสองข้าง แต่ท่านสามารทำให้คนเกิดความเชื่อ ความศรัทธาต่อตัวท่านได้ ซึ่งท่านจะพรมน้ำมนต์อย่างเดียวภายในศาลา มีประชาชนทั่วไปทั้งคนในจังหวัด ต่างจังหวัดมากมาย ได้เข้ามาเพื่อให้ท่านพรมน้ำมนต์ ท่านจึงเป็นที่นับถือ และศรัทธาของญาติโยมเป็นจำนวนมาก มีการเล่าขานกันว่าน้ำมนต์ของหลวงพ่ออุทัยท่านนั้นศักดิ์สิทธิ์ ขลัง การที่บอกว่าน้ำมนต์ของหลวงพ่ออุทัยศักดิ์สิทธิ์นั้นดูจากประชาชนที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งล้วนแต่มาพรมน้ำมนต์กับท่านเพื่อความเป็นสริมงคล เสริมดวงชะตาให้กับชีวิต และบางคนพรมเพื่อความสบายใจคลายทุกข์ หรือนำน้ำมนต์ของท่านไปใช้ประโยชน์ในด้าน ๆ ต่าง เช่น อาบ กิน พ่อค้าแม่ค้านำไปพรมของขายเพื่อให้ขายดี ดังคำให้การสัมภาษณ์ดังนี้
ประเภทความสบายใจ เสริมดวงชีวิต ความเป็นสิริมงคล
จากการค้นคว้าข้อมูล หรือคำให้การสัมภาษณ์ มีการนำเสนอความเชื่อในเรื่องการพรมน้ำมนต์ ที่ทำให้คนเกิดความสบายใจ เป็นสิริมงคล เสริมหน้าที่การงาน และในเรื่องค้าขาย รวมทั้งการรักษาโรคที่เกี่ยวกับคุณไสย เมื่อคนที่มาเกิดความรู้สึกชีวิตดีขึ้น จึงเกิดความศรัทธาในน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์อุทัย ปภงฺกโร ( หลวงพ่ออุทัย ) ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีการพูดถึงสรรพคุณน้ำมนต์ท่านตามประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
“ … มาหาหลวงพ่อ 9 ปีแล้ว พรมน้ำมนต์ของหลวงพ่อแล้วทำให้ธุรกิจดีขึ้น สุขภาพกาย สุขภาพใจดี… ” [25]
“ … เดินทางมาให้หลวงพ่ออุทัย ประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล… ” [26]
“ … เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ได้มีโอกาศ ไปกราบและร่วมทำบุญสร้างพระอุโบสถ กับหลวงพ่ออุทัย และได้รับปะพรมน้ำพุทธมนต์กับหลวงพ่ออุทัย เพื่อรับสิ่งดี ๆ ในปี 2564… ” [27] ( หมายเหตุคำที่เขียนผิดเป็นการค้นคว้าข้อมูลมาจากคำสัมภาษณ์ )
“… ได้ไปกราบหลวงพ่ออุทัยมาให้ท่านเคกหัวมารู้ศึกสบายใจดี …” [28] ( หมายเหตุคำที่เขียนผิดเป็นการค้นคว้าข้อมูลมาจากคำสัมภาษณ์ )
“ … มาพรมน้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเสริมหน้าที่การงาน… ” [29]
ประเภทค้าขาย
จากการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า “ … บางคนมาเอาน้ำมนต์จากท่าน ช่วยในเรื่องการค้าขาย ค้าขายไม่ดีก็นำน้ำมนต์ของท่านไปพรมก็ขายดี ดังกรณีผู้ให้สัมภาษณ์ นำน้ำมนต์ของท่านไปพรมดอกไม้ พวงมาลัย ที่จะขายตามตลาดนัด เมื่อพรมน้ำมนต์ของท่าน กลับขายดี… ” [30]
จากผู้สัมภาษณ์เล่าว่า “ … นำดอกไม้ไปส่งที่ตลาดนัด แล้วพรมน้ำมนต์ของหลวงพ่อท่านให้ แล้วนำไปแขวนขายร้านเขาก็ขายดี … ” [31]
ประเภทถอน
จากการสัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าว่า “ … คนที่ถูกของมาหาท่าน ท่านจึงให้อาบน้ำมนต์หรือมีการทำพิธี 3 – 7 วันก็หายดีเป็นปกติ… ”
ผู้สัมภาษณ์เล่าว่า “ … มีคนต่างจังหวัดโดนของมา พอโดนน้ำมนต์ของหลวงพ่อท่าน ค่อย ๆ หมอบลง แล้วก็หาย หลังจากนั้นก็ไม่กลับมาอีก เพราะอาการที่โดนของได้หายลง… ” [32]
ดังนั้นเมื่อคนเกิดความศรัทธาต่อน้ำมนต์ จึงนำเงินมาบริจาค ร่วมทำบุญ ซึ่งเงินที่คนร่วมบริจาคแล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละคน จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่า เงินบางส่วนที่ได้จากความศรัทธาของคน หลวงพ่อท่านได้กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เป็นการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อื่น โดยส่วนใหญ่เงินที่ได้มักมาจากการพรมน้ำมนต์ของท่าน จึงอาจกล่าวได้ว่าน้ำมนต์เป็นเหตุที่ทำให้คนหลั่งไหลเข้ามาและนำเงินมาบริจาค ทำบุญ เป็นผลที่ทำให้นำไปสู่การพัฒนาวัด และท้องถิ่น สร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่สังคม รวมทั้งนำไปช่วยเหลือทหาร และตำรวจตระเวนตามชายแดน เงินที่คนทำบุญเหมือนเป็นการคืนสู่สังคม เพราะด้วยความศรัทธาทำให้วัดได้เงินเยอะ และความศรัทธาของคน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของวัดที่มีน้ำมนต์เป็นตัวขับเคลื่อน
การพัฒนาวัดและท้องถิ่น
เมื่อเกิดความศรัทธาจากประชาชน จึงนำมาสู่การพัฒนาวัดที่ได้ปัจจัยจากคนที่มาพรมน้ำมนต์ ถวายสังฆทาน ทำบุญ พระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ( หลวงพ่ออุทัย ) ท่านได้ทำให้วัดศรีมฤคทายวัน ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดการพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งท่านยังได้ทำให้พื้นที่อื่น ๆ เกิดการพัฒนาโดยมีการกระจายเงินไปช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งการที่วัดเกิดการพัฒนาสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างภายในวัดศรีมฤคทายวัน ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้นั้น เป็นผลมาจากคนที่เกิดความเชื่อ และศรัทธาต่อน้ำมนต์ของท่าน ที่เชื่อว่าน้ำมนต์ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเป็นเช่นนั้นคนจึงหลั่งไหลเข้ามามาก และนำเงินมาถวาย ทำบุญ ท่านจึงนำเงินส่วนที่คนมาถวายนี้กระจายไปทำประโยชน์ต่าง ๆ
เหตุที่ท่านมีความโดดเด่น และช่วยพัฒนาวัดศรีมฤคทายวัน ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพราะเนื่องจากท่านเป็นพระผู้ใหญ่ ใน ปี พ.ศ. 2536 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ถวายเกียรติบัตรรางวัลชมเชยบุคคลพิการ นับได้ว่าเป็นพระภิกษุรูปแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลนี้ ปี พ.ศ. 2541 ได้รับการแต่งตั้งดำรงสมณศักดิ์ “ พระครูครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ” ปี พ.ศ. 2545 ได้รับมอบเสาเสมาธรรมจักร และโล่ประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะพระภิกษุสงฆ์ผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 [33]
จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า “ …สิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นภายในวัด เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2532 นั้นคือศาลาเมรุ ที่ได้เงินจากการพรมน้ำมนต์ หลวงพ่อท่านเก็บ และก็นำเงินไปสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้น และระหว่างช่วงนี้ได้สร้างศาลาหน้าวัด ในปี 2539 แต่ยังไม่แล้วเสร็จและก็ได้มีการนำเงินกระจายแบ่งไปสร้างส่วน ๆ ภายในวัดอีกด้วย… ” [34]
ดังนั้นพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ( หลวงพ่ออุทัย ) ท่านจึงสามารถหาเงินเข้าวัดด้วยความสามารถจากการพรมน้ำมนต์ของท่าน เพื่อช่วยให้วัดเกิดการพัฒนา เพราะท่านเป็นพระเมตตา พระผู้สร้าง พระผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม เพื่อต้องการให้วัดเป็นที่รู้จัก และมีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งผลงานการพัฒนาของท่านมีทั้งภายในวัดและภายนอกจำนวนมาก ซึ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน
จากการลงพื้นที่พบว่า สิ่งปลูกสร้างเริ่มในช่วงเจ้าอาวาสรูปแรก แต่สิ่งปลูกสร้างยังเพิ่มขึ้นน้อย พอมาในช่วงเจ้าอาวาสรูปสองเริ่มมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น เช่น ศาลาการเปรียญ ( หน้าวัด ) แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อถึงเจ้าอาวาสรูปที่สาม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ศาลาการเปรียญได้แล้วเสร็จ และในช่วงเจ้าอาวาสรูปสาม สิ่งปลูกสร้างเพิ่มมากขึ้นจากแต่ก่อน ซึ่งผลงานการพัฒนาของท่านยังมีอีก แต่ผู้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลมาบางส่วน
ซึ่งพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ( หลวงพ่ออุทัย ) ท่านเป็นพระที่น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก ลูกศิษย์ท่านมากมาย ชุมชนหรือพื้นที่ใดเดือนร้อนท่านจะช่วยเหลือทันที เพราะท่านเป็นพระที่มีแต่ให้ เป็นพระเมตตา และท่านได้ให้คำสอนใจไว้ว่า
“ ทำดีมีคนเห็น ทำดีได้ดี มีคนดีมาช่วยทำ จำเป็นต้องทำ เพราะมีกรรม ทำรอผู้ใจบุญมีเมตตา มาช่วยทำหมดกรรมเอย ” [35]
นับตั้งแต่ที่พระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ( หลวงพ่ออุทัย ) ท่านได้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้วัดเกิดการพัฒนา โดยจุดเริ่มต้น คือการเริ่มพรมน้ำมนต์เพื่อหาเงินเข้าวัด ช่วยพัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรือง น้ำมนต์ท่านต้องศักดิสิทธิ์เพราะดูจากสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้น สิ่งปลูกสร้างที่ท่านได้เริ่มสร้างขึ้น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ที่เป็นศาลาเมรุหลังเก่า แต่ปัจจุบันเป็นศาลาที่ท่านได้ใช้ทำพิธีพรมน้ำมนต์ให้ลูกศิษย์ที่มา หรือประชาชนทั่วไป แต่ในปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างภายในวัดได้มีเพิ่มมากขึ้น ผลที่ทำให้สิ่งปลูกสร้างมีความเจริญเติบโต เพราะความเชื่อ ความศรัทธาต่อน้ำมนต์ของท่าน และบารมีท่านที่ทำให้คนหลั่งไหลเข้ามามาก จึงเป็นจุดทำให้วัดศรีมฤคทายวัน ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งบทบาทการพัฒนาของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ( หลวงพ่ออุทัย ) ได้สร้างสาธารณูปโภคขึ้นภายในวัดมากมาย จนวัดมีความเจริญ ใหญ่โตสามารถเป็นที่ให้ชาวบ้าน หรือประชาชนเข้ามาใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างสะดวก พร้อมทั้งยังสนับสนุนการช่วยเหลือในพื้นที่อื่น ๆ ที่ห่างไกล เช่น การบริจาควิทยุสื่อสารให้ตำรวจ หรือทหารตระเวนชายแดน
สรุป
การศึกษาน้ำมนต์ ศรัทธา และการพัฒนาวัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กรณีศึกษา พระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร เพื่อเป็นการทำให้ทราบถึงความศรัทธาของผู้คนที่มีความเชื่อต่อน้ำมนต์ท่าน และยังมีความเลื่อมใสต่อท่านเนื่องจากท่านเป็นพระเกจิที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องการพรมน้ำมนต์ เป็นพระเมตตา พระผู้สร้าง โดยส่วนใหญ่คนที่มาพรมน้ำมนต์เพราะมีความศรัทธา ต้องการสะเดาะเคราะห์ เสริมดวง เพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อมาพรมน้ำมนต์แล้วได้ผลดีก็ดังจนถึงปัจจุบัน น้ำมนต์จึงเป็นจุดที่ทำให้คนเกิดความเชื่อ และความศรัทธา เพราะเมื่อคนที่มาเกิดรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น การทำงานราบรื่น คนจึงหลั่งไหลเข้ามามาก เมื่อคนเกิดความศรัทธาต่อน้ำมนต์ จึงได้นำเงินมาบริจาค ร่วมทำบุญ ซึ่งเงินบางส่วนที่ได้จากความศรัทธาของคน หลวงพ่อท่านได้กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เป็นการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อื่น และพัฒนาภายในวัด โดยส่วนใหญ่เงินที่ได้มักมาจากการพรมน้ำมนต์ของท่าน เสมือนว่าน้ำมนต์เป็นตัวขับเคลื่อนที่ทำให้วัดเกิดการพัฒนา นอกจากน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร แล้วท่านยังมีพวกวัตถุมงคลต่าง ๆ เช่น พระเครื่อง เต่า เสือ ที่มีความโด่งดัง เทียบกับน้ำมนต์ แต่ที่ผู้ศึกษาเลือกศึกษาน้ำมนต์ของคนที่ศรัทธา เนื่องจากน้ำมนต์นั้นเป็นจุดขายของวัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามา จนทำให้วัดเติบโต มีความเจริญรุ่งเรือง โดยมีพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ที่เป็นพระผู้มีความสามารถทำให้คนเกิดความเคารพนับถือถึงแม้ว่าท่านตามองไม่เห็น แต่ท่านสามารถทำให้คนเคารพนับถือ เป็นลูกศิษย์ และศรัทธาต่อน้ำมนต์หรือศรัทธาต่อตัวท่านได้ นอกจากนี้หลวงพ่อท่านเป็นพระเกจิที่รู้จักในวงกว้างในเรื่องการพรมน้ำมนต์ถ้าให้พูดถึงภายในตำบลธรรมเสน ถือว่าเป็นที่โด่งดังมาก หรือในพื้นที่บริเวณอื่น ๆ
ทั้งนี้น้ำมนต์เป็นจุดที่ทำให้คนเกิดความศรัทธา และให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ท่านเป็นพระเกจิที่มีความสามารถ เก่งในเรื่องน้ำมนต์ ถึงแม้ตาท่านจะมองไม่เห็นแต่ท่านสามารถทำให้คนศรัทธาได้ เพราะด้วยความสามารถของท่านที่นั่งพรมน้ำมนต์ให้กับคนที่มา จึงเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจมากเมื่อคนมาแล้วรู้สึกว่า ท่านตามองไม่เห็นแต่สามารถพรมน้ำมนต์ได้ คนเกิดความศรัทธาและเคารพนับถือ จึงนำปัจจัยนั้นมาทำบุญ ถวายสังฆทาน พรมน้ำมนต์ ส่วนปัจจัยที่ได้ท่านนำไปช่วยพัฒนาวัดหรือช่วยเหลือบริจาคในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร ที่มีเรื่องเล่าถึงความเชื่อ ประเภทของน้ำมนต์ที่ใช้ในการพรม และใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมศาสนา รวมทั้งขั้นตอนกระบวนการทำน้ำมนต์ เช่นเดียวกับงานของ สุชาติ บุษย์ชญานนท์ [36] ความเชื่อเรื่องน้ำพุทธมนต์สำหรับพุทธศาสนิกชน ที่กล่าวว่า น้ำมนต์นำมาใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นมงคล โดยชาวพุทธเชื่อว่าเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ ปัดเป่าสิ่งไม่ดี รวมทั้งขั้นตอนกระบวนการทำน้ำมนต์ที่ต้องผ่านการปลุกเสก สวดคาถา ซึ่งสอดคล้องกับงานของ ใจอารีย์ [37] ที่กล่าวถึง น้ำมนต์ในการนำมาใช้ประกอบพิธีกรรม นำมาพรมเพื่อเกิดสิริมงคล แต่จะเป็นไปตามความปรารถนาหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละบุคคล และขึ้นอยู่กับพลังกระแสจิตของพระที่ทำน้ำมนต์ นอกจากนี้มีการพูดถึงน้ำมนต์ที่มีมูลเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เฉกเช่นเดียวกับงาน Phra Tai Issaradhammo Dhammakij Phramaha Nantakorn Piyabhani, Dr.,Pali VIII, Assoc. Prof. Dr. Suvin Ruksat [38] ที่กล่าวว่า กรรมวิธีการทำน้ำมนต์ทั้งในสมัยพุทธกาลและปัจจุบัน โดยพระสงฆ์จะเป็นผู้ปลุกเสกทำน้ำมนต์ การใช้น้ำมนต์ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ทำให้ผู้คนสัมผัสได้ถึงกระบวนการเปลี่ยนนามธรรมให้เป็นวัตถุในรูปแบบของน้ำมนต์ คนมักเลือกใช้น้ำมนต์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข สบายใจ ปัจจุบันบทบาทการทำน้ำมนต์ได้แพร่ขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ในบางพื้นที่ใช้น้ำมนต์ในการอาบน้ำหรือใช้บริโภค บางคนเก็บไว้เป็นที่ระลึกเพื่อเตือนพุทธคุณในด้านพุทธสติ ไม่ว่าจะบูชาในรูปแบบไหนน้ำมนต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้คนนิยม ซึ่งในงานของ พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร [39] ที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุประกอบติรัจฉานวิชชา เพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ถึงแม้ว่าติรัจฉานวิชชาบางอย่างจะเป็นที่พึ่งของมนุษย์ ก็ยังไม่ใช่ที่พึ่งอย่างแท้จริง แต่ในความเป็นจริงในสังคมไทยคนต้องการมาพึ่งน้ำมนต์ ไม่ได้ต้องการหลุดพ้นอย่างแท้จริง แต่เป็นการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อเกิดความสบายใจ เมื่อพูดถึงน้ำมนต์แล้ว ย่อมต้องเกิดความเชื่อ ความศรัทธา ของคนที่มีต่อน้ำมนต์ กรณีความเชื่อ ความศรัทธาน้ำมนต์ของพระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร นั้นที่เป็นตัวดึงคนให้เกิดความเชื่อ ความศรัทธา เสมือนว่าน้ำมนต์เป็นที่พึ่งทางใจ เมื่อคนที่มาเกิดรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น การทำงานราบรื่น คนจึงหลั่งไหลเข้ามาเหมือนเป็นการพูดปากต่อปาก จนทำให้มีอิทธิพลทางความเชื่อเกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานของ ลัญจกร นิลกาญจน์ [40] วัฒนธรรมความเชื่อ กับการจัดการศรัทธาของชุมชน ที่กล่าวว่า ความเชื่อ และความศรัทธา มีผลต่อสภาพจิตใจในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ อิทธิพลและพลังของความเชื่อผันแปรไปตามสถานการณ์ทางสังคม บทบาทความเชื่อจะอยู่ในจิตสำนึกของแต่ละกลุ่มคน ความเชื่อคือพลังชีวิต ทำให้รู้สึกสบายใจ เกิดความมุ่งมั่น ศรัทธา ความเชื่อจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิด และพยายามเผยแพร่ความเชื่อนั้น ๆ ออกไป จึงเกิดการขยายความเชื่อที่มีอยู่ เช่น ในชุมชน ได้ขยายแพร่ไปยังพื้นที่บริเวณอื่น ๆ
สำหรับบทบาทการพัฒนาวัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กรณีศึกษา พระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร การพัฒนาวัดของท่านนั้น เกิดขึ้นได้เนื่องจากความศรัทธาของคนที่มีต่อน้ำมนต์ท่าน หรือต่อตัวท่าน ที่เหล่าลูกศิษย์ให้ความเคารพนับถือ จนเป็นที่รู้จัก จึงทำให้ท่านได้พัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรือง ด้วยแรงศรัทธาของคน เมื่อเกิดความศรัทธาจากญาติโยมจึงได้นำปัจจัยมาร่วมทำบุญ พระครูสังฆรักษ์ อุทัย ปภงฺกโร จึงทำประโยชน์โดยการพัฒนาภายในวัด ร่วมทั้งท่านยังได้มีการส่งเสริมการช่วยเหลือในพื้นที่บริเวณอื่นที่นอกเหนือจากภายในวัด เช่น การสร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิ ภายในวัด หรือในพื้นที่อื่น ๆ เช่น การช่วยเหลือบริจาคสิ่งของ การสร้างป้อมตำรวจภายในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับงานของ ฐากร สิทธิโชค , วิทวัส นิดสูงเนิน [41]การดำรงอยู่ของความเชื่อต่อหลวงพ่อเปี่ยม อินทสุวรรณโณ ของคนในท้องถิ่นทุ่งหลวง ที่กล่าวถึง การดำรงอยู่ของความศรัทธาต่อหลวงพ่อเปี่ยม อินทสุวรรณโณ ของคนในท้องถิ่น ที่ท่านได้เป็นที่ยอมรับของผู้คนในท้องถิ่นและบริเวณโดยรอบ ที่เกิดจากความเชื่อและความศรัทธาต่อตัวท่าน ท่านเป็นพระเกจิที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาชุมชน ที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือภายใต้ความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อเปี่ยม อินทสุวรรณโณ ท่านได้ช่วยเหลือภายในท้องถิ่น ท่านเป็นพระนักพัฒนา มีความสามารถ จึงทำให้มีผู้เลื่อมใสศรัทธา มีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก จึงทำให้วัดทุ่งหลวงเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น เช่น บูรณะวัด จัดตั้งโรงเรียน และสอดคล้องกับงานของ พระณัฐนันท์ คุณากโร ( เพชรสวัสดิ์ ) [42] บทบาทพระครูวิสุทธิบุญดิตถ์ ( นวล ปริสุทฺโธ ) ในการพัฒนาชุมชน ที่ได้ศึกษาเรื่อง บทบาทและผลงานการพัฒนาชุมชนของพระครูวิสุทธิบุญดิตถ์ พบว่า พระครูวิสุทธิบุญดิตถ์ ถือว่าเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาสังคม เช่น สร้างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายในวัด เช่น ศาลา กุฏิ และพื้นที่อื่น ๆ ด้วยความที่พระครูวิสุทธิบุญดิตถ์เป็นพระผู้สร้าง พระผู้ให้ จึงเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ท่านมีความเมตตาช่วยเหลือ เมื่อพลังแห่งศรัทธาของศิษยานุศิษย์ที่มีต่อหลวงพ่อท่านเพิ่มมากขึ้น ท่านก็เป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างมากทำให้คนหลั่งไหลเข้ามาหาท่าน
บทความฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีโดย แก้วกัลยา ชมพระแก้ว นิสิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ปวีณา บุหร่า อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บรรณานุกรม
หนังสือ , หนังสือพิมพ์ในโอกาสพิเศษ
- ใจอารีย์. ต่างเรื่อง ต่างรส. ม.ป.ป. พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508 . ( นางเสงี่ยม สรรพศิริ พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ นายจิตร สรรพศิริ วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2508 )
- สำราญ ละมั่งทอง และคณะ. ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอกกฐินสามัคคี ณ วัดศรีมฤคทายวัน ( เกาะตาพุด ) ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี. ม.ป.ท. : ม.ป.ป. , ไม่ปรากฏเลขหน้า ( กฐินสามัคคี คณะที่ 19 จัดพิมพ์เพื่อบูชาพระคุณหลวงพ่ออุทัย ปภงฺกโร จำนวน 500 ชุด วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2548 )
บทความวารสาร
- สุชาติ บุษย์ชญานนท์. “ความเชื่อเรื่องน้ำพุทธมนต์สำหรับพุทธศาสนิกชน,” วนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ 5,1 ( มกราคม – มิถุนายน 2561 ) : 33-35.
- ลัญจกร นิลกาญจน์. “วัฒนธรรมความเชื่อ กับการจัดการศรัทธาของชุมชน, ” นาคบุตรปริทรรศน์ 10,2 ( กรกฎาคม – ธันวาคม 2561 ) : 12 – 19.
- ฐากร สิทธิโชค และวิทวัส นิดสูงเนิน. “การดำรงอยู่ของความเชื่อต่อหลวงพ่อเปี่ยม อินทสุวรรณโณ ของคนในท้องถิ่นทุ่งหลวง,” วารสารจันทรเกษมสาร 27, 1 ( มกราคม – มิถุนายน 2564 ) : 66 – 72.
วิทยานิพนธ์
- พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร. ติรัจฉานวิชชา : ศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะและแนวปฏิบัติในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544.
- พระณัฐนันท์ คุณากโร ( เพชรสวัสดิ์ ). บทบาทพระครูวิสุทธิบุญดิตถ์ ( นวล ปริสุทฺโธ ) ในการพัฒนาชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2561.
สัมภาษณ์
- นางสาวชลลดา ฉายแก้ว. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2566.
- นายจิตพิทักษ์ ช่วยพิชัย. อดีตปลัดอำเภอโพธาราม. สัมภาษณ์, 7 มกราคม 2566.
- นายสำอาง ไพรวรรณ์. สัมภาษณ์, 3 มกราคม 2566, 19 เมษายน 2566.
- นายสุชิน เรืองเทศ. สัมภาษณ์, 10 มีนาคม 2566.
เว็บไซต์
- คนแห่เช่า “เสืออุ้มทรัพย์” ที่วัดเกาะตาพุด ต้องผิดหวังเพราะหมด เผยราคาเช่าพุ่งร่วมหมื่นแล้ว. เนชั่นออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.nationtv.tv/news/378485568. เข้าถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566.
- คนแห่เช่า “เสือนักฟุตบอล” หลวงพ่ออุทัย แน่นวัดเกาะตาพุด. MGR Online. สืบค้นจาก https://mgronline.com/local/detail/959000000508. เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566. เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากนายสุชาติ บรรดาศักดิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.นนทบุรี
- เปิดภาพพระพรมน้ำมนต์หลังสาววัย30ถูกผีเข้า. สยามรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/343936. ชเข้าถึงเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2566.
- วัดเกาะตาพุด. Google. สืบค้นจาก https://shorturl.at/zMPT3. เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566. เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากนายธวัชชัย อารีย์
- วัดเกาะตาพุด. Google. สืบค้นจาก https://shorturl.at/zMPT3. เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566. เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากจาก Jirasin Wongpairoj
- สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก. ตำนาน “ รัตนสูตร ” ปัดเป่าเภทภัยยุคพุทธกาล ถึงการประพรมน้ำพระพุทธมนต์. ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นจาก https://www.silpamag.com/culture/article_47044. เข้าถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566.
- เสฐียรพงษ์ วรรณปก. การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก. มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_268490. เข้าถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566.
- หลวงพ่ออุทัย (วัดเกาะตาพุด. LNW SHOP. สืบค้นจาก http://www.armamulet.com/category/17. เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566. เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากนาย บุญพร้อม ตันหราพันธุ อายุ 61 ปี
- Phra Tai Issaradhammo DhammakijPhramaha Nantakorn Piyabhani, Dr.,Pali VIII, Assoc. Prof. Dr. Suvin Ruksat. “ The Beliefs and Practices of Making Holy Waterin Theravāda Buddhism. ” JIABU 1,12 ( January – June, 2019 ) : 313 , 315 – 316, 319.
- [3] นาค ใจอารีย์, ต่างเรื่อง ต่างรส, ม.ป.ป. ( พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508 ), หน้า 59 – 62. ( พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ ในงานฌาปนกิจศพ นายจิตร สรรพศิริ วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2508 )
- [4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 58 – 59.
- [5] สุชาติ บุษย์ชญานนท์, “ความเชื่อเรื่องน้ำพุทธมนต์สำหรับพุทธศาสนิกชน,” วนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ 5,1 ( มกราคม – มิถุนายน 2561 ) : 28-29.
- [6] เสฐียรพงษ์ วรรณปก, การประพรมน้ำพุทธมนต์ครั้งแรก, มติชนสุดสัปดาห์, สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_268490, ( เข้าถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566 ).
- [7] Phra Tai Issaradhammo DhammakijPhramaha Nantakorn Piyabhani, Dr.,Pali VIII, Assoc. Prof. Dr. Suvin Ruksat, “ The Beliefs and Practices of Making Holy Waterin Theravāda Buddhism,” JIABU 1,12 ( January – June 2019 ) : 313.
- [8] สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, ตำนาน “รัตนสูตร” ปัดเป่าเภทภัยยุคพุทธกาล ถึงการประพรมน้ำพระพุทธมนต์, ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_47044, ( เข้าถึงวันที่ 7 มีนาคม 2566 ).
- [9] Phra Tai Issaradhammo DhammakijPhramaha Nantakorn Piyabhani, Dr.,Pali VIII, Assoc. Prof. Dr. Suvin Ruksat, “ The Beliefs and Practices of Making Holy Waterin Theravāda Buddhism,” JIABU 1,12 ( January – June 2019 ) : 313.
- [10] นาค ใจอารีย์, ต่างเรื่อง ต่างรส, ม.ป.ป. (พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508 ), หน้า 60 – 61. ( พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ ในงานฌาปนกิจศพ นายจิตร สรรพศิริ วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2508 )
- [11] พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร, “ติรัจฉานวิชชา : “ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะและแนวปฏิบัติในสังคมไทย,” ( วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 102.
- [12] นาค ใจอารีย์, ต่างเรื่อง ต่างรส, ม.ป.ป. (พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508 ), หน้า 63. ( พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ ในงานฌาปนกิจศพ นายจิตร สรรพศิริ วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2508 )
- [13] พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร, “ติรัจฉานวิชชา : “ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะและแนวปฏิบัติในสังคมไทย,” ( วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 103.
- [14] สุชาติ บุษย์ชญานนท์, “ความเชื่อเรื่องน้ำพุทธมนต์สำหรับพุทธศาสนิกชน,” วนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ 5,1 ( มกราคม – มิถุนายน 2561 ) : 33-35.
- [15] พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร, “ติรัจฉานวิชชา : “ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะและแนวปฏิบัติในสังคมไทย,” ( วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 21.
- [16] เปิดภาพพระพรมน้ำมนต์หลังสาววัย30ถูกผีเข้า, สยามรัฐออนไลน์, สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/343936, ( เข้าถึงเมื่อ 9 เมษายน พ.ศ. 2566 ).
- [17] พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร, “ติรัจฉานวิชชา : “ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะและแนวปฏิบัติในสังคมไทย,” ( วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 33 , 139 – 141, 153,163,167.
- [18] Phra Tai Issaradhammo DhammakijPhramaha Nantakorn Piyabhani, Dr.,Pali VIII, Assoc. Prof. Dr. Suvin Ruksat , “ The Beliefs and Practices of Making Holy Waterin Theravāda Buddhism,” JIABU 1,12 ( January – June 2019 ) : 319.
- [19] สัมภาษณ์นายสำอาง ไพรวรรณ์ อายุ 78, ชาวบ้านที่ขายพวงมาลัยที่วัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี, วันที่ 3 มกราคม 2566.
- [20] สัมภาษณ์นายจิตพิทักษ์ ช่วยพิชัย, อดีตปลัดอำเภอโพธาราม, วันที่ 7 มกราคม 2566.
- [21] สัมภาษณ์นายสำอาง ไพรวรรณ์ อายุ 78, ชาวบ้านที่ขายพวงมาลัยที่วัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี, วันที่ 3 มกราคม 2566.
- [22] สัมภาษณ์นายจิตพิทักษ์ ช่วยพิชัย, อดีตปลัดอำเภอโพธาราม, วันที่ 7 มกราคม 2566.
- [23] สัมภาษณ์นายสุชิน เรืองเทศ อายุ 62, ชาวบ้านที่ขายของบริเวณภายในวัดศรีมฤคทายวัน ต. ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี วันที่ 10 มีนาคม 2566.
- [24] คนแห่เช่า “เสืออุ้มทรัพย์” ที่วัดเกาะตาพุด ต้องผิดหวังเพราะหมด เผยราคาเช่าพุ่งร่วมหมื่นแล้ว, เนชั่นออนไลน์, สืบค้นจาก https://www.nationtv.tv/news/378485568, ( เข้าถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ).
- [25] หลวงพ่ออุทัย(วัดเกาะตาพุด) , LNW SHOP , สืบค้นจาก http://www.armamulet.com/category/17, ( เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566 ). เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากนาย บุญพร้อม ตันหราพันธุ อายุ 61 ปี
- [26] คนแห่เช่า “เสือนักฟุตบอล” หลวงพ่ออุทัย แน่นวัดเกาะตาพุด , MGR Online , สืบค้นจากhttps://mgronline.com/local/detail/9590000005087, ( เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566 ). เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากนายสุชาติ บรรดาศักดิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.นนทบุรี
- [27] วัดเกาะตาพุด, Google, สืบค้นจาก https://shorturl.at/zMPT3, ( เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566 ). เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จากนายธวัชชัย อารีย์
- [28] วัดเกาะตาพุด, Google, สืบค้นจาก https://shorturl.at/zMPT3, ( เข้าถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566 ). เป็นการค้นคว้าข้อมูลคำสัมภาษณ์จาก Jirasin Wongpairoj
- [29] สัมภาษณ์นางสาวชลลดา ฉายแก้ว อายุ 41, ชาวบ้าน, วันที่ 22 เมษายน 2566.
- [30] สัมภาษณ์นายสำอาง ไพรวรรณ์ อายุ 78, ชาวบ้านที่ขายพวงมาลัยที่วัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี, วันที่ 3 มกราคม 2566.
- [31] สัมภาษณ์นายสำอาง ไพรวรรณ์ อายุ 78, ชาวบ้านที่ขายพวงมาลัยที่วัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี, วันที่ 19 เมษายน 2566.
- [32] สัมภาษณ์นายสำอาง ไพรวรรณ์ อายุ 78, ชาวบ้านที่ขายพวงมาลัยที่วัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี, วันที่ 19 เมษายน 2566.
- [33] สำราญ ละมั่งทอง และคณะ, ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอกกฐินสามัคคี ณ วัดศรีมฤคทายวัน ( เกาะตาพุด ) ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี, ม.ป.ท. : ม.ป.ป. , ไม่ปรากฏเลขหน้า ( กฐินสามัคคี คณะที่ 19 จัดพิมพ์เพื่อบูชาพระคุณหลวงพ่ออุทัย ปภงฺกโร จำนวน 500 ชุด วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2548 )
- [34] สัมภาษณ์นายสำอาง ไพรวรรณ์ อายุ 78, ชาวบ้านที่ขายพวงมาลัยที่วัดศรีมฤคทายวัน ต.ธรรมเสน อ. โพธาราม จ.ราชบุรี, วันที่ 19 เมษายน 2566.
- [35] สำราญ ละมั่งทอง และคณะ, ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอกกฐินสามัคคี ณ วัดศรีมฤคทายวัน ( เกาะตาพุด ) ต.ธรรมเสน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี, ม.ป.ท. : ม.ป.ป. , ไม่ปรากฏเลขหน้า ( กฐินสามัคคี คณะที่ 19 จัดพิมพ์เพื่อบูชาพระคุณหลวงพ่ออุทัย ปภงฺกโร จำนวน 500 ชุด วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2548 )
- [36] สุชาติ บุษย์ชญานนท์. “ความเชื่อเรื่องน้ำพุทธมนต์สำหรับพุทธศาสนิกชน,” วนัมฎองแหรกพุทธศาสตรปริทรรศน์ 5,1 ( มกราคม – มิถุนายน 2561 ) : 26 – 38.
- [37] ใจอารีย์. ต่างเรื่อง ต่างรส. ม.ป.ป. พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2508 . ( นางเสงี่ยม สรรพศิริ พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ นายจิตร สรรพศิริ วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2508 )
- [38] Phra Tai Issaradhammo DhammakijPhramaha Nantakorn Piyabhani, Dr.,Pali VIII, Assoc. Prof. Dr. Suvin Ruksat. “ The Beliefs and Practices of Making Holy Waterin Theravāda Buddhism. ” JIABU 1,12 ( January – June, 2019 ) : 312 – 321.
- [39] พระมหาทวีศักดิ์ ใครบุตร, “ติรัจฉานวิชชา : “ ศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะและแนวปฏิบัติในสังคมไทย,” ( วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), หน้า 21.
- [40] ลัญจกร นิลกาญจน์ , “วัฒนธรรมความเชื่อ กับการจัดการศรัทธาของชุมชน, ” นาคบุตรปริทรรศน์ 10,2 ( กรกฎาคม – ธันวาคม 2561 ) : 12 – 19.
- [41] ฐากร สิทธิโชค และวิทวัส นิดสูงเนิน, “การดำรงอยู่ของความเชื่อต่อหลวงพ่อเปี่ยม อินทสุวรรณโณ ของคนในท้องถิ่นทุ่งหลวง,” วารสารจันทรเกษมสาร 27, 1 ( มกราคม – มิถุนายน 2564 ) : 66 – 72.
- [42] พระณัฐนันท์ คุณากโร ( เพชรสวัสดิ์ ), “บทบาทพระครูวิสุทธิบุญดิตถ์ ( นวล ปริสุทฺโธ ) ในการพัฒนาชุมชน,” ( วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2561 ), หน้า 4,28,45 ,49,59,65,71,78,81-82.