ภาพ: IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2567) ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่ม ‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ หรือ สปช. แถลงการณ์เรียกร้องต่อ ครม.สัญจร ของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิก ‘พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์’ หรือ พระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิชุมชนและอาจสร้างความขัดแย้งในการจัดการป่า พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอุทยานและจัดตั้งคณะทำงานร่วม
สำหรับจุดเริ่มต้นของ พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์ กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์นี้มีต้นกำเนิดจากช่วงการเมืองไม่ปกติหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งในยุคนั้น ได้ผลักดันกฎหมายหลายฉบับ รวมถึงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2562
ตัวกฎหมายมีเป้าหมายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่อยู่ในเขตป่าซ้อนทับกับพื้นที่อนุรักษ์ แต่กระบวนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่ดินทำกินกลับล่าช้าและซับซ้อน แม้กำหนดกรอบเวลาไว้ 240 วัน แต่จนถึงปัจจุบันปี 2567 ยังไม่แล้วเสร็จ และเกิดปัญหาการขยายเวลาหลายครั้ง
คณะกรรมาธิการ การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.ฎ. ว่าอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์เดิม โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นโครงการอนุรักษ์ตามกฎหมาย และจำกัดพื้นที่การครอบครอง เช่น ต้องจำกัดพื้นที่การครอบครองไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว และไม่เกิน 40 ไร่ต่อครัวเรือน นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและความเป็นอยู่ของประชาชนที่เคยอาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาก่อน
ในแถลงการณ์ สชป. ชี้ว่า พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนกว่า 462,444 ครัวเรือน หรือ 1,849,792 คน ที่อาศัยและทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ โดย ระบุว่า กฎหมายนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 29 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็นวันประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดเชียงใหม่ สชป. จะเตรียมเข้าพบ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพื่อยื่นข้อเสนอ 3 ประการสำคัญ ได้แก่
1. ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย ในส่วนที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว 6 แห่งนั้น ให้มีกระบวนการติดตามผลการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ
2. ให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเร่งปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และใช้กลไกรัฐสภาที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนมีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
3. ให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
สำหรับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ สปช. คาดว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มเดินทางมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เย็นวันที่ 28 พ.ย. ก่อนจะเคลื่อนขบวนในวันรุ่งขึ้น เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในการประชุม ครม.สัญจร วันที่ 29 พ.ย. นี้ และในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ทางแกนนำย้ำว่า การชุมชนเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการรวมพลังอย่างสันติวิธี เพื่อแสดงความกังวลต่อผลการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...