เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว
ภาพ: กัญญ์วรา หมื่นแก้ว
กลิ่นหอมฉุน เผ็ดซาบซ่า และชาลิ้น หรืออาการ ‘เด้าลิ้น’ สัมผัสรับรสที่หาได้ใน ‘มะแขว่น’ พืชที่อยู่คู่ครัวคนเหนือ ใช้ในการประกอบอาหาร อาทิ ลาบ หลู้ ส้า ยำจิ้นไก่ แกงผักกาด ไก่ทอดมะแขว่น สามารถรับประทานได้สด ๆ จิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาดองน้ำปลารับประทานแกล้มกับลาบ ถือว่าเป็นพืชที่สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ก่อนจะเกิดกระแสทำให้พืชชนิดบินไกลไปทั่วฟ้าเมืองไทยสร้างความเด้าลิ้นทุกหนระแหงอย่างน่าจดจำ
มะแขว่นพบมากได้ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้ง จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน และลำปาง สามารถเติบโตได้เองตามธรรมชาติในบริเวณป่าดิบแล้งหรือป่าดิบเขา ในพื้นที่สูง 800-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในพื้นที่กลางแจ้ง อากาศค่อนข้างเย็น มีความชื้นในอากาศสูง และไม่ต้องการน้ำมาก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum limonella อยู่ในวงศ์ Rutacea เป็นไม้ขนาดกลาง ลำต้นและกิ่งมีหนาม สูงได้ถึง 10 เมตร
ซึ่งมีพื้นที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องการคงไว้ซึ่งความเด้าลิ้นของมะแขว่นมากกว่าพื้นที่อื่น นั้นก็คือ หมู่บ้านแม่ส้าน ตําบลบ้านดง อําเภอแม่เมาะ จังหวัดลําปาง ที่ยึดพืชชนิดนี้เป็นอาชีพหลักสืบทอดกันมากว่า 100 ปี แต่กระนั้นเองบนการพัฒนาที่ไม่เห็นความสำคัญของประชาชนและพืชชนิดนี้ บ้านแม่ส้านกำลังถูกคืบคลานโดยประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
มะแขว่นแม่ส้าน พืชเศรษฐกิจหล่อเลี้ยงชีวิต
“ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยายทวดมาเลยเป็นร้อยปีได้แล้ว ส่วนมากมันจะขึ้นบนไร่หมุนเวียน เป็นรายได้หลักของชุมชนเลย ถ้าไม่มีมะแขว่นก็คงจะลำบากอยู่แหละเพราะว่ารายได้อย่างอื่นก็มีเงินแค่รายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ” ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวบ้านชุมชนแม่ส้าน เล่าถึงอาชีพปลูกมะแขว่นที่ถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ณัฐนนท์ เล่าต่อว่าต้นมะแขว่นมีอายุยาวนาน หากดูแลรักษาอย่างดีสามารถยืนต้นอยู่ได้ถึง 100 ปี หากมะแขว่นต้นไหนอายุมากขนาดของลำต้นก็จะเติบโตตาม ดอกของมะแขว่นแบ่งเป็นตัวผู้และตัวเมียซึ่งจะเก็บเฉพาะตัวเมีย สามารถเก็บได้ต้นละประมาณ 60 กิโลกรัมต่อต้น การปลูกต้นมะแขว่นมักจะทำเป็นครอบครัว แต่ละบ้านจะมีต้นมะแขว่นเป็นของตนเอง บางบ้านมีต้นมะแขว่นมากกว่า 100 ต้น เก็บในช่วงปลายปี ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม
ณัฐนนท์ เล่าต่ออีกว่ามะแขว่นสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก รายได้ขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อปี หากครอบครัวไหนมีต้นมะแขว่นหลายต้นก็จะมีรายได้สูงถึง 80,000 บาท ซึ่งหากนำไปตากแห้งราคาก็จะยิ่งสูงกว่าแบบสด ราคาแบบสดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนราคาแบบแห้งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท
มะแขว่นของหมู่บ้านแม่ส้านนั้นถูกส่งออกไปยังหลากหลายพื้นที่ทั่วภาคเหนือ อย่างในจังหวัดลำปางก็มี อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ อำเภองาว ส่วนต่างจังหวัดจะส่งไปที่ พะเยา ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ นอกจากพื้นที่ภาคเหนือ เครื่องเทศเมืองเหนือชนิดนี้ก็ได้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานครผ่านพ่อค้าคนกลางที่จะเข้ามารับผลผลิตในชุมชน
“เขาทำลาบขายอยู่ที่กรุงเทพฯ ปีหนึ่งเขาสั่งแบบแห้งเป็น 100 กิโล คือเขาเอาไปที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าประจำทุกปี เขาสั่งกับพี่ทุกปี เขาให้พ่อมาสั่งไว้ก่อนเขาจะขึ้นมาเอาด้วยตัวเอง ช่วงปลายปีนี้แหละ” ยุพิน ลาภมา ชาวบ้านในชุมชนแม่ส้าน
มะแขว่นของหมู่บ้านแม่ส้านนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติและสัมพันธ์กับการทำไร่หมุนเวียนวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต หากมีการเผาเพื่อทำไร่หมุนเวียน ชาวบ้านมักนำกาบกล้วยมาห่อต้นมะแขว่นเพื่อป้องกันไฟจากการเผา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่หมู่บ้านแม่ส้านปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนาน
ซาบซ่าที่หายไปแทนที่ด้วยประกาศอุทยานฯ ถ้ำผาไท
หมู่บ้านแม่ส้านมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เผยว่า ในอดีตมีชาวกะเหรี่ยงอพยพมาจาก หมู่บ้านสลก-สลอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มาตั้งรกรากอยู่ที่หมู่บ้านห้วยเกี๋ยง จํานวน 5 หลังคา ต่อมามีชาวบ้านมาตั้งรกรากในพื้นที่ตรงนั้นเพิ่มขึ้นทำให้เกิดความขัดแย้งในการปกครองและทางศาสนา จึงเกิดการแบ่งกลุ่ม บางกลุ่มแยกย้ายไปยัง หมู่บ้านกลาง หมู่บ้านห้วยตาด และหมู่บ้านแม่ฮ่าง ส่วนที่เหลือย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่ห้วยแม่ส้าน ซึ่งต่อมาเกิดโรคอหิวาตกโรคและไข้มาลาเรียระบาด ทำให้ชาวบ้านในชุมชนอื่น ๆ อพยพมาอยู่ที่หมู่บ้านแม่ส้านจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันบ้านแม่ส้านมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 128 มีเนื้อที่ทั้งหมดที่ดูแลรักษา 18,102 ไร่ ชุมชนอยู่ห่างจากตัวอําเภอแม่เมาะ 80 กิโลเมตร
ถึงกระนั้น ความกระสับกระส่ายเกิดขึ้นเมื่อการคืบคลานเข้ามาของอุทยานฯถ้ำผาไท ในปี 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชภายใต้รัฐบาลเผด็จการ คสช. ได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติเตรียมประกาศทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงอุทยานฯถ้ำผาไทก็ถูกนับรวมในการประกาศนี้ด้วย ซึ่งพื้นที่กว่า 758,750 ไร่ หรือ 1,241 ตารางกิโลเมตร ทำให้หมู่บ้านแม่ส้านก็จะถูกนับรวมในประกาศฯฉบับนี้
“กังวลมากเลย ว่าสักวันหนึ่งถ้าอุทยานฯประกาศทับที่เนี่ย ที่ทำกินที่อยู่อาศัยของเรานั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์ไม่มีโฉนด ถ้าหากว่าถูกประกาศทับที่วันไหนปุ๊บ ก็เป็นปัญหากระทบหนักเลย” ณัฐนนท์ กล่าวหลังพูดคุยกันถึงเรื่องอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
ย้อนกลับไปวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท(เตรียมการ) เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ… และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิกถอนป่าสงวนแหงชาติที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จนกระทั้งมีการชี้แนวเขตอุทยานถ้ำผาไทในปี 2560 และถูกปรับปรุงแผนที่แนวเขตอีกครั้งในปี 2562 ตามข้อเสนอขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เนื่องจากแนวเขตมีการคาดเคลื่อน
ในปีเดียวกันนั้นเอง ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช. ได้มีมติผ่านกฏหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานรัฐ เพิ่มโทษ สามารถตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น กำหนดเกณฑ์การใช้ทรัพยากรของประชาชน หลังจากกฏหมาย 2 ฉบับนี้ผ่านมติ ภาคประชาชนได้ออกมาคัดค้านเนื่องจากเนื้อหาไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงสร้างความกังวลแก่ประชาชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นอย่างมาก รวมไปถึงชาวบ้านในอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
ณัฐนนท์ เล่าว่าอุทยานฯ อ้างว่าชาวบ้านในพื้นที่ดูแลป่าไม่ได้ประสิทธิภาพ จึงต้องมีการประกาศพื้นที่อุทยานฯ และยังมีข้อกำหนดที่มากจนไม่สามารถให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่ของอุทยานฯรวมถึงชาวบ้านในชุมชนแม่ส้าน แต่ณัฐนนท์เล่าว่าในชุมชนมีการบริหารจัดการ มีกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการป่าและบริหารไฟป่า มีทำแนวกันไฟและดับไฟป่าทุกปี มีการดูแลไร่พื้นที่กว่า 18,000 กว่าไร่ ซึ่งเป็นระบบการจัดการไฟของชุมชนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
การต่อต้านของประชาชน ผู้รักมะแขว่น ไม่เอาอุทยานฯถ้ำผาไท
“น่าจะเปิดประเด็นจับเข่าคุยกันคงจะเข้าใจความลึกซึ้งของชาวบ้านมากขึ้น แต่เขาบ้าอำนาจไปหน่อย อุทยานฯหรือกระทรวงทรัพฯเนี่ยอยากได้ผลงาน อยากได้ป่ามาเป็นของตัวเอง ก็เลยอยากประกาศทับที่ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ นโยบายของรัฐที่ว่า เพิ่มป่า จริง ๆ มันไปทับที่ของชาวบ้าน” ณัฐนนท์ กล่าว
ประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทถูกประชาชนในพื้นที่แย้งมาตลอดเนื่องจาก การประกาศในครั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบวิถีชีวิตของตนเอง จนกระทั่งในปี 2566 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ชุมชน 7 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ประกาศของอุทยานฯถ้ำผาไทรวมถึงชุมชนแม่ส้านได้มีการยื่นหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีผ่าน อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการแก้ไขได้นำไปพิจารณาในการยกร่างระเบียบในคณะทำงานฯ โดยมีข้อเสนอหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทให้เกิดกระบวนการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตการเตรียมการประกาศ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และพิจารณากันพื้นที่ชุมชนประมาณ 87,531 ไร่ ออกจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ก็จะคลายความกังวลในการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนไปอย่างมาก
ถัดมาในปีเดียวกันในวันที่ 29 สิงหาคม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง ได้จัด เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จ.ลำปาง โดยมีกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 4-8 กันยายน ทั้งหมด 5 เวที 5 อำเภอ
แต่แล้วในเที่ยงวันของวันที่ 6 กันยายน ระหว่างมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นเวทีที่ 3 จัดขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม จ.ลำปาง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ได้รับแจ้งข้อมูลจากสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้าน บ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้รับแจ้งจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ขอเลื่อนการจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกําหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง ในระหว่างวันที่ 4-8 ก.ย. นี้ออกไปก่อน เนื่องจากกระบวนการในระดับพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับกลุ่มชาติพันธุ์และผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ หลังจากการเรียกร้องของชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่อุทยานฯถ้ำผาไทตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน ได้มีการสะท้อนปัญหาและผลกระทบจากการประกาศอุทยานฯ และไม่ยินยอมให้ประกาศอุทยานฯ ทับพื้นที่ชุมชน และต้องกันพื้นที่ตามที่ชุมชนเสนอ
ถือเป็นชัยชนะแรกของประชาชนและชุมชนทั้ง 7 ชุมชน รวมถึงชัยชนะของมะแขว่นที่ยังยืนหยัดต่อสู้ส่งเสียงของพลังประชาชนให้รัฐบาลทราบถึงปัญหาและผลกระทบของประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบวิถีชีวิตของตนเอง นี่ถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่ต้องการยืนหยัดในวิถีชีวิตของตนเอง รวมไปถึงการปกป้อง มะแขว่น พืชเศรษฐกิจหลักของชุมชนที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้การปกป้องพื้นที่ชุมชนแม่ส้าน และอีก 6 ชุมชนอาจจะไม่ใช่การปกป้องแค่การปกป้องวิถีชีวิต แต่หากเป็นการปกป้องผู้ที่มีรสนิยมชมชอบรสชาติเด้าลิ้นของมะแขว่นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
อ้างอิง
- มะแขว่น เครื่องเทศของชาวเหนือ
- สายพันธุ์และลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเคมีมะแขว่น
- บ้านแม่ส้าน ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ
- TIMELINE อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ)
- ประมวลเหตุการณ์ ‘เวทีรับฟังความเห็น อุทยานฯถ้ำผาไท’
- Breaking News: เลื่อนเวทีรับฟังความเห็นอุทยานฯ ถ้ำผาไท เหตุขัดแย้งในพื้นที่ กระบวนการในชุมชนไม่ชัดเจน ปลัด ทส. แจงขอนัดหารือชุดเล็กที่กระทรวง
- พีมูฟลำปาง ยื่นรัฐบาล ดัน โฉนดชุมชน-แก้อุทยานฯ ทับที่-เปิดทางบริหารจัดการเชื้อเพลิง
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ