ละลานล้านนา: ย้อนรอยงานฤดูหนาวและสุนทรียภาพแห่งความรื่นเริงยามค่ำคืนในหน้าหนาวของชาวเชียงใหม่

เรื่อง: ปวีณา หมู่อุบล

เพียงวูบหนึ่งของลมหนาวช่วงเดือนธันวา งานกิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่างๆ ก็บานสะพรั่งไปทั่วเชียงใหม่ ชนิดที่ไม่ว่าจะหันไปทางใดก็สามารถพบเจองานกิจกรรมรื่นเริง ทั้งในตอนกลางวันและยามค่ำคืน โดยแต่ละงานก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาแตกต่างกันออกไป แต่งานที่ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากทั้งในหมู่ชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือนก็จะคงเป็นงานคราฟท์

‘งานคราฟท์’ ในที่นี้หมายถึงงานแสดงผลงาน (สินค้า) ศิลปะที่ได้ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน โดยมักมีแรงบันดาลใจหรือเรื่องราวเป็นฉากหลังการออกแบบ ซึ่งงานคราฟท์นี้อาจจะมีรูปแบบเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ไอเทมกระจุกกระจิกต่างๆ ตลอดไปจนถึงอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มบางประเภท เช่น เบียร์ และโคล่า

ปัจจุบันงานคราฟท์ในหน้าหนาวกลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ และอาจถึงขั้นกลายเป็น a must สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะต้องมาเยือนเชียงใหม่ในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะในบริบทที่ความคราฟท์ได้ขยับขยายออกไปอย่างกว้างขวางมีการก่อตั้งพื้นที่ทางกายภาพแบบคราฟท์ๆ ตามย่านต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ทั้งพื้นที่ถาวรและแบบชั่วคราว หากแต่พื้นที่ที่นิยมกันมาก เห็นจะเป็นพื้นที่งานคราฟท์แบบชั่วคราวในลักษณะอย่างตลาดนัด งานมหกรรม หรืองานเทศกาล ที่จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ

แต่รู้หรือไม่ว่างานรื่นเริงหรือเทศกาลในหน้าหนาวที่มีบุคลิกภาพแบบคราฟท์ๆ จนได้ชื่อว่าเป็นสุนทรียภาพของเชียงใหม่อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากงานรื่นเริงหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะกว่า 90 ปี อย่าง ‘งานฤดูหนาว’ นั่นเอง

งานฤดูหนาวเชียงใหม่: งานคราฟท์ที่มาก่อนกาล

งานฤดูหนาวเป็นงานรื่นเริงประจำปีของเชียงใหม่ มักจัดขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีอากาศเย็น โดยกิจกรรมหลักในงานฤดูหนาว ได้แก่ การออกร้านแสดงผลงานและปศุสัตว์ของหน่วยงานราชการและเอกชน การออกร้านขายอาหารและครื่องดื่มของบรรดาพ่อค้าแม่ขาย การแสดงมหรสพและดนตรี การละเล่นต่างๆ  เช่น ปาลูกโป่ง บ้านผีสิง รถไต่ถัง ชิงช้า และม้าหมุน และกิจกรรมสำคัญที่เป็นเอกลักษ์ของงานคือ การประกวดนางสาวเชียงใหม่

งานฤดูหนาวจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราวปี 2473 – 2477 และยังคงมีจัดอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน เพียงแต่ความนิยมอาจลดลงจากที่เคย เพราะปัจจุบันมีงานรื่นเริงอื่นๆ ที่ดึงดูดใจผู้คนได้มากกว่า โดยเฉพาะงานรื่นเริงแบบคราฟท์ๆ แต่ถึงอย่างนั้น หากลองพิจารณารูปแบบกิจกรรมของงานฤดูหนาวดู จะเห็นได้ว่างานฤดูหนาวโดยตัวของมันเองก็มีลักษณะแบบคราฟท์ๆ ผสมอยู่ โดยเฉพาะในส่วนการจัดแสดงพืชผลการเกษตร ปศุสัตว์ และงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งหากใครเคยไปงานฤดูหนาว ก็จะเห็นว่าทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนต่างคัดสรรเอามาแต่ผลงานที่ผ่านการผลิตอย่างพิถีพิถัน ประณีต และสร้างสรรค์ มาจัดแสดงประชันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร ดังนั้นจึงไม่ผิดนักถ้าจะถือว่า งานฤดูหนาว คือ งานคราฟท์ที่มาก่อนกาล

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกลายเป็นงานรื่นเริงประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงหน้าหนาว บริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัดอย่างทุกวันนี้ งานฤดูหนาวได้มีประวัติศาสตร์แล้วเรื่องราวในตัวของมันเอง ด้วยเพราะได้เดินทางผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นานัปประการในช่วงระยะเวลากว่า 90 ปี โดยที่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

งานแสดงพืชผล: ต้นเก๊าความรื่นเริงในงานฤดูหนาวของชาวเชียงใหม่

จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับงานรื่นเริงในหน้าหนาวของชาวเชียงใหม่ พบว่าเมื่อราวปี 2473 มีงานรื่นเริงหนึ่งที่มักจัดขึ้นในช่วงหน้าหนาว คือ ‘งานแสดงพืชผล’ ซึ่งเป็นงานประกวดผลผลิตต่าง ๆ ของครูและนักเรียนจากโรงเรียนฝึกหัดครูช้างเผือก (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) โดยกิจกรรมหลักในงานคือ การแสดงผลงานของครูและนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าว

ภายหลังงานแสดงพืชผลขยายใหญ่ขึ้น เนื่องจากมีการเชิญชวนชาวไร่ ชาวนาจากอำเภอต่างๆ ให้นำพืชผักผลไม้และปศุสัตว์มาเข้าร่วมประกวด พร้อมกันนั้นยังได้มีชุดการแสดงของนักเรียนหญิงจากโรงเรียนต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เช่น โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ มาร่วมด้วย

กระทั่งในปี 2474 พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลพายัพ ได้ปรับให้งานแสดงพืชผลกลายเป็นงานรื่นเริงประจำปีของชาวเชียงใหม่ โดยกำหนดให้จัดงานขึ้นในช่วงหน้าหนาวตามเดิมแต่เปลี่ยนชื่องานใหม่ โดยให้ชื่อว่า ‘งานฤดูหนาว’

พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาสนจินดา) ปลัดมณฑลพายัพช่วงก่อน 2475

งานฤดูหนาวในระยะแรกมีกิจกรรมหลักๆ ได้แก่ การออกร้านของหน่วยงานรัฐและเอกชน การแสดงผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ การประกวดศิลปหัตกรรมของนักเรียน ในบางปีก็จะมีการแสดงมหรสพ เช่น การแสดงละครญี่ปุ่น และการละเล่นต่างๆ อาทิ รถไต่ถัง  การฉายภาพยนตร์ และการชกมวย 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้งานฤดูหนาวเป็นที่นิยมมาก คือ บัตรผ่านประตู ในยุคนั้นงานฤดูหนาวจะขายบัตรเข้างาน ซึ่งในบัตรจะมีหมายเลขกำกับเพื่อใช้ในการออกรางวัล ดังนั้นจึงมีผู้สนใจซื้อบัตรเข้างานฤดูหนาวเป็นจำนวนมาก แม้แต่กรรมการผู้จัดงานที่สามารถเข้าได้ฟรีต่างก็พากันซื้อบัตรผ่านเพื่อร่วมลุ้นของรางวัลด้วย ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในปี 2480 มีการจำหน่ายบัตรผ่านประตูเข้างานฤดูหนาวใบละ 10 สตางค์ และด้วยความนิยมทำให้สามารถขายบัตรได้เป็นเงินจำนวนกว่า 80,000 บาท[1] 

ภาพหอแสดงสินค้าในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
การออกร้านของโรงงานสุรา ในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
การออกร้านของบริษัทรถยนต์ ในงานฤดูหนาว ปี 2480 ที่มา บุญเสริม สาตราภัย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2477 เป็นต้นมา งานฤดูหนาวได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมอีกครั้ง โดยได้เพิ่มงานกิจกรรมสำคัญที่ทุกคนต่างเฝ้ารอและถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของงานฤดูหนาวมาจนปัจจุบัน นั่นคือ การประกวดสาวงามประจำร้านค้า ที่ต่อมารู้จักกันในนาม ‘การประกวดนางสาวเชียงใหม่’ 

และกิจกรรมการประกวดสาวงามนี้เองที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่างานฤดูหนาวของเชียงใหม่สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองและสังคมช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยเฉพาะการที่รัฐบาลคณะราษฎรได้มีจัดให้งานรื่นเริงเพื่อการประชาสัมพันธ์และสื่อสารความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครองใหม่ขึ้น ในชื่อว่า ‘งานฉลองรัฐธรรมนูญ’ และการจัดให้มีการประกวดสาวงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2477 โดยใช้การประกวดชื่อว่า ‘นางสาวสยาม’ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญและนางสาวสยาม กับ งานฤดูหนาวและนางสาวเชียงใหม่ 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ นับเป็นงานรื่นเริงขนาดใหญ่ของราษฎรที่จัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายปี กระทั่งลดบทบาทอย่างมากในช่วงทศวรรษปี 2490 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของงานให้กลับไปสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากชื่องานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2490 ที่มีชื่อว่า ‘โครงการงานสมโภชน์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและฉลองรัฐธรรมนูญ 2490’ และหลังจากนั้นเพียง 3 ปี ก็ไม่มีงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ อีกต่อไป

 ภาพบรรยากาศงานรัฐธรรมนูญครั้งแรก 10 ธันวาคม 2475 ที่มา มูลนิธิพระยาพหลพลพยุหเสนา และท่านผู้หญิงบุญหลง
ภาพทางเข้าลานพระราชวังดุสิตในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2483 ที่มา เฟซบุ๊ก ภาพถ่าย “ศรีจามร”

งานฉลองรัฐธรรมนูญถือเป็นงานรื่นเริงแบบใหม่ในยุคนั้น และได้มีอิทธิพลต่อการจัดงานรื่นเริงตามจังหวัดต่าง ๆ ในแง่ของรูปแบบกิจกรรมภายในงาน โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลคณะราษฎรได้สร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองขึ้น แล้วจัดส่งไปประจำไว้ตามแต่ละจังหวัด จำนวน 69 จังหวัด ตามที่ ‘จำรัส มหาวงศ์นันทน์’ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน เสนอว่าเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงอยู่ได้ รัฐบาลควรให้ผู้แทนราษฎรแต่ละคนอัญเชิญรัฐธรรมนูญไปสู่จังหวัดของตนเอง 

การส่งรัฐธรรมนูญฉบับจำลองไปให้แต่ละจังหวัด นำมาซึ่งงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเป็นการจัดงานที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ แต่ได้ประยุกต์เข้ากับความเป็นท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ภาคอีสานใช้กิจกรรมประกวดกลอนลำด้วยภาษาถิ่นในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ หรือในภาคใต้ใช้การแสดงละครมโนราห์ในการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว 

ในกรณีของเชียงใหม่ พบว่าไม่ค่อยปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญมากนัก หากแต่มีข้อมูลปรากฏว่าในช่วงปี 2477 ได้มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางอย่างในงานฤดูหนาวให้สอดคล้องกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ คือ มีการเปลี่ยนชื่อการประกวดสาวงามภายในงานฤดูหนาว จากเดิมคือ ‘สาวงามประจำร้าน’ เป็น ‘นางสาวเชียงใหม่’

การประกวดสาวงามในรื่นเริงช่วงฤดูหนาวของเชียงใหม่สามารถย้อนไปได้ไกลถึงช่วงปี 2473 ซึ่งในยุคนั้นเป็นการประกวดสาวงามประจำร้าน อันหมายถึงร้านขายสินค้าต่าง ๆ ภายในงาน ขณะที่การประกวดนางสาวเชียงใหม่มีขึ้นครั้งแรกในงานฤดูหนาว ปี 2477 เป็นการประกวดเพียงวันเดียว และผู้ชนะการประกวดในปีแรกๆ จะได้รับรางวัลเป็นเงินสด สายสะพายประจำตำแหน่ง ขันน้ำ และพานรอง ต่อมาในปี 2477 การประกวดดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘สาวงามประจำร้าน’ เป็น ‘นางสาวเชียงใหม่’ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการประกวดนางสาวสยามในการงานฉลองรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏเหตุผลที่แน่ชัดว่าเหตุใดจึงการเปลี่ยนชื่อการประกวดดังกล่าว หากแต่ก็สะท้อนได้ว่าเป็นอิทธิพลมาจากการประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั่นเอง

การประกวดนางสาวเชียงใหม่ภายในงานฤดูหนาว ปี 2508  จากภาพนำโดย อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2508  และขบวนผู้ชนะการประกวดนางสาวเชียงใหม่ตามลำดับ  ที่มา บุญเสริม สาตราภัย
อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทยปี 2508 สวมสายสะพายให้แก่สาวงามผู้ชนะการประกวด ในงานฤดูหนาว ปี 2508 ที่มา: บุญเสริม สาตราภัย

ปัจจุบันงานฤดูหนาวเชียงใหม่ลดความนิยมลงไปมากด้วยเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เนื่องจากมีงานรื่นเริงอื่นๆ ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเวทีประกวดนางงามก็คลายมนต์เสน่ห์ลงไป แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อว่างานงานคราฟท์ที่มาก่อนกาลนี้ ยังจะคงเป็นหนึ่งในตัวเลือกของใครอีกหลายคนที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศงานรื่นเริงยามค่ำคืนท่ามกลางอากาศหนาวช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคมของเชียงใหม่

อ้างอิง

[1] วีระยุทธ ไตรสูงเนิน. งานฤดูหนาวเชียงใหม่ ดอกไม้ ลมหนาว สาวงาม. กรมศิลปากร. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/ 

เกษราภรณ์ กุณรักษ์. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับจำลอง. กรมศิลปากร. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่  https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/30194 

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. งานรื่นเริงของพลเมืองในระบอบใหม่ เพื่อชาติและรัฐธรรมนูญ. สถาบันปรีดี พนมยงค์. ออนไลน. เข้าถึงได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1164 

The Capital of Craft เสน่ห์ Art and Craft เมืองเชียงใหม่. Qoqoon. ออนไลน์. เข้าถึงได้ที่ https://qoqoon.media/art-lifestyle/the-capital-of-craft/  

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง