เรื่อง: ภู เชียงดาว
Summary
- ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ปี พ.ศ.2556 ชี้ว่าจังหวัดที่มีความสุขที่สุดในประเทศไทยคือ “แม่ฮ่องสอน” เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ยังอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เรียบง่าย และความปลอดภัยในทรัพย์สิน โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่มีความโดดเด่น ทั้งเรื่องสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม รวมถึงประชากรที่มาจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนอุดมไปด้วยเสน่ห์ที่ใครๆ ก็อยากเดินทางไปสัมผัส
- ช่วงปี 2546-2565 เป็นต้นมา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดอยู่อันดับ 5 จังหวัดแรกที่สัดส่วนคนจนมากที่สุดติดต่อกันเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 19 ปีเต็มๆ! ยิ่งไปกว่านั้น “จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ยังเคยติดอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดยาวนานถึง 9 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2549-2557 โดยในปี 2550 เคยมีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 หรือ 3 ปีต่อมาก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนที่แทบไม่ต่างกันที่ 70.39% อีกด้วย
- “เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้ อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึงทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป”
‘แม่ฮ่องสอน’ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ผมหลงรักและมักเดินทางไปเยือนอยู่บ่อยครั้ง เมื่อพูดถึงแม่ฮ่องสอน หลายคนจะนึกถึงสิ่งใดมาก่อนเป็นลำดับแรก เมืองสามหมอก เมืองแห่งชาติพันธุ์ เมืองชายแดน เมืองแห่งประวัติศาสตร์ เมืองแห่งความสุข แน่นอนเหล่านี้ ล้วนเป็นเสน่ห์ของแม่ฮ่องสอน ที่หลายคนชอบไปเยือนกันบ่อยๆ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละอำเภอนั้น มีจุดเด่น มีความหลากหลาย ที่น่าสนใจแตกต่างกันไป
การท่องเที่ยว เป็นจุดแข็ง จุดขาย และแหล่งรายได้หลักของแม่ฮ่องสอน ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว: Center of Tourism Research and Development สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เห็นว่าครึ่งปีแรกของปี 2567 แม่ฮ่องสอนมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประมาณ 3,113.50 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 2,211.37 ล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 904.15 ล้านบาท
‘การค้าและการท่องเที่ยวชายแดน’ เสน่ห์อีกด้านของแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา การค้าส่วนใหญ่ดำเนินผ่านด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน และด่านแม่สะเรียง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สรุปภาพรวมการค้าชายแดนว่า ในปี 2566 การค้าชายแดนมีมูลค่ารวมประมาณ 622.38 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 320.92 ล้านบาท และการนำเข้า 301.46 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง, เบียร์, รถแทรกเตอร์, รถยนต์ใช้แล้ว, และสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะสินค้านำเข้าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นแร่ดีบุก และสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าปศุสัตว์ ทำให้เห็นว่า ‘การค้าชายแดน’ เป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญของแม่ฮ่องสอน
เช่นเดียวกับ ‘การท่องเที่ยวชายแดน’ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของแม่ฮ่องสอนไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางผ่านจุดผ่านแดนถาวร เช่น ด่านบ้านน้ำเพียงดิน (ติดกับชายแดนเมียนมา) เน้นการเดินทางแบบไป-กลับและค้าขายชายแดน ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกจากการท่องเที่ยวชายแดน ได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการค้าชายแดนและการจ้างงานในภาคบริการ เช่น ร้านค้า โรงแรม และการขนส่ง
แม้ว่าการท่องเที่ยวจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนแม่ฮ่องสอนทุกคนจะมีรายได้เยอะตามไปด้วย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัด ยังคงเข้าทำนอง “รวยกระจุก จนกระจาย” อยู่เหมือนเดิม ทำให้เรามองเห็นเส้นแบ่งของความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนคนจนสูงถึง 24.64% ระหว่างปี 2546-2565 เป็นต้นมา โดยแม่ฮ่องสอนถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรก ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุด ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 19 ปีเต็ม
ยิ่งไปกว่านั้น แม่ฮ่องสอน ยังเคยถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดนานถึง 9 ปีติดต่อกัน เมื่อช่วงปี 2549-2557 โดยในปี 2550 มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดถึง 74.40% และในปี 2551-2553 ก็ยังคงมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 70.39% เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนที่แทบไม่แตกต่างกันเลย
สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนและคนทำสื่อ เธอเป็นคนแม่ฮ่องสอน เกิดและเติบโตที่อำเภอแม่สะเรียง เล่าให้ผมฟังอย่างว่า พอได้กลับมาทำข่าวในพื้นที่แม่ฮ่องสอน ก็เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือการที่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจนในระดับต้นๆ ของประเทศมาเป็นสิบๆ ปีเลย และยังคงติด Top 10 ของจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศมาโดยตลอด
“มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา ทำไมมันถึงจนซ้ำซาก มันดิ้นกันไม่หลุดแล้วหรือ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนพุ่ง ทำให้แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ เมื่อเทียบสัดส่วนประชากรนะ จนหลายคนอาจจะตกใจว่า ทำไมเมืองเล็กๆ แบบนี้ถึงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง”
สร้อยแก้ว บอกอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด และสิ่งที่ตามมาจากปัญหานี้ คือการที่ ‘คนจน’ ถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนแม่ฮ่องสอนที่ต่อให้จะรักบ้านเกิดแค่ไหน ก็ไม่อยากอยู่ที่นี่ เพราะต้องการหาลู่ทางให้หลุดพ้นจากความจน ด้วยการออกไปอยู่พื้นที่อื่น ที่มีโอกาสมากกว่านี้
“แต่เราก็คิดว่าต้องทํายังไง ให้บ้านเมืองที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติแล้วก็ทรัพยากรด้านวัฒนธรรมที่ดีมากขนาดนี้ มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มันมีโอกาสที่จะทําได้นะ เพียงแต่ยังไม่มีใครขับเคลื่อนขนาดนั้น ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นบ้างแล้วว่ามีใครพยายามขับเคลื่อนอยู่ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมตรงนี้ เพราะเราทําสื่ออยู่ ก็เลย ได้ลงไปคลุกคลีในพื้นที่มากขึ้น”
‘ปาย’ เมืองสวรรค์ของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้มหาศาล
ชัยวิชช์ สัมมาชีววัฒน์ อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวของอำเภอปายตั้งแต่ปี 2565-2566 ถือว่าคึกคักมาก มีนักท่องเที่ยวโซนยุโรปและสหรัฐอเมริกาเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่มาด้วยรถโดยสารประจำทาง เส้นทางปาย-เชียงใหม่ (ไป-กลับ) วันละไม่ต่ำกว่า 30 เที่ยว รวมถึงการเช่ารถทั้งมอเตอร์ไซค์และรถตู้
ปัจจุบันอำเภอปายมีสถานพักแรมราว 250 แห่ง จำนวนห้องพัก 3,500 ห้อง มียอดจองต่อเนื่องเฉลี่ย 80-90% มีร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 37 แห่ง ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 ล้านคน เฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 4,100 คน ทำให้ปายมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 4,200 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเป็นวันละประมาณ 11.5 ล้านบาท
ในมุมมองของคนทั่วไปนั้นมักจะมองว่า ปาย เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับจังหวัดและประเทศ แต่ในมุมมองของคนท้องถิ่น นั้นต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่างไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
“เมืองปายตอนนี้เปลี่ยนไปมาก ปกติคนปายพอทำสวนทำนากันมาเหนื่อยๆ ต้องการพักผ่อน เขาก็เข้านอนกันแต่หัวค่ำแล้ว แต่ตอนนี้มันนอนไม่ได้ เสียงมันดัง อึกทึก นักท่องเที่ยวเขาร้องรำทำเพลงกันจนดึกดื่น”
พ่อครูใจ อินยา อดีตครูประชาบาล และยังเป็นประธานสภาวัฒนธรรม กรรมการสภาวัฒนธรรมแม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน คนปายดั้งเดิมในพื้นที่เล่าว่า การใช้ชีวิตของคนปายในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตเยอะมาก จากเมืองที่สงบกลับกลายเป็นเมืองที่ถูกรบกวนจากการเข้ามาของแหล่งท่องเที่ยว จนคนในพื้นที่ก็ทยอยกันย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแทน
“เมื่อฝรั่ง นักท่องเที่ยว นักลงทุนมาเห็นทำเลดี เขามาขอซื้อ ขอเช่า ให้ราคาดี จนตอนนี้คนปาย ต้องยอมขายที่ดินให้นายทุน คนเก่าแกต้องอพยพย้ายออกไปอยู่ข้างนอก บวกกับคนที่เขาทนเสียงดังไม่ไหว ก็พากันอพยพย้ายไปอยู่ตามเชิงเขาแทน”
พ่อครูใจ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับปายในตอนนี้ คือ การที่เด็กและเยาวชนในเมืองปายสามารถเข้าถึงสิ่งเย้ายวนได้ง่ายมากขึ้น เพราะการเข้ามาอย่างรวดเร็วของความเจริญ และสื่อต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้ผ่านการกรองมากนัก ทำให้เด็กบางคนที่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ อาจหลงไปกับสิ่งเย้ายวนเหล่านั้นได้ง่ายมากขึ้น
“ความเจริญเข้ามา ความเสื่อมก็ตาม ชาวบ้านปรับตัวกันไม่ทัน สู้กับความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างพ่อครูตอนนี้ก็แก่แล้ว จะให้คนแก่ไปเรียกร้องต่อสู้อะไรก็ไม่ได้มาก เมืองปายกับการท่องเที่ยว มันต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องมานั่งพูดคุยวางแผนในการจัดการกันอย่างจริงๆ จังๆ”
ด้าน สมชาย บุษกร อิหม่ามมัสยิดอัล-อิสรออฺ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้นำทางศาสนาและประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมในเมืองปาย ก็เห็นตรงกันว่าผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในปาย ส่วนใหญ่ตกอยู่กับคนนอกที่เข้ามาตักตวงหาประโยชน์จากปายมากกว่าคนท้องถิ่น เพราะฉะนั้นต้องประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาระดมความคิด เพื่อแก้ไขปัญหาก่อน แล้วค่อยพัฒนาต่อไป
“ทุกวันนี้คนเข้ามาขุดทอง คิดแค่เรื่องเงิน คนหลงใหลไปกับระบบทุนนิยม ขายที่ดินทำกิน แล้วสุดท้ายทำได้อย่างเดียวคือเป็นลูกจ้าง ที่นี่ค่าแรงสูง แต่ค่าครองชีพก็สูงตามไปด้วย นี่ไม่ใช่วิถีชีวิตจริงๆ ของชาวบ้าน นานๆไป ปายเสื่อมโทรมไม่ดูแลรักษาทรัพยากร เพราะทุกคนต่างหาประโยชน์อย่างไร้ขอบเขต นักลงทุนเงินหนาก็จะย้ายไปลงทุนที่อื่น ท้องถิ่นก็ไม่เหลืออะไร”
นั่นเป็นเสียงสะท้อนจากคนเมืองปาย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม ที่บอกเล่าความรู้สึกให้รับรู้ว่า ปายกำลังเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง ในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
คนท้องถิ่น เรียนรู้ปรับตัว มีส่วนร่วม เน้นรากเหง้า ต้นทุนวัฒนธรรม
เมื่อชีวิตยังมีความหวัง คนแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ ก็พยายามเรียนรู้และปรับตัว เพื่อค้นหาทางรอด และทางออกของปัญหาให้กับตัวเอง ด้วยการหันกลับมามองหารากเหง้า และนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ มาพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ให้กับชุมชนของตนเอง
ครอบครัวของ แม่สว่าง- ศศิเขมณัฐ กันญณัฏฐิ์ เจ้าของร้าน ‘แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า อำเภอแม่สะเรียง’ ได้สืบทอดขนมพื้นบ้าน ‘เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า’ ว่ากันว่า ขนมทั้งสามอย่างนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศพม่า ต่อมามีการปรับปรุงสูตรเดิมจนทำให้ขนมมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น และแตกต่างจากขนมประเทศต้นทาง ที่สำคัญคือ ขนมทั้งสามอย่างนี้ ไม่ใช่ขนมที่หากินได้ง่ายๆ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะในวิธีการทำ และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำเป็น ดังนั้น ถ้าอยากกินขนมสามอย่างนี้ ก็ต้องมาที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น
ทุกวัน นอกจากแม่สว่างจะขายขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า อยู่หน้าร้านแล้ว แม่สว่างยังรับออเดอร์จากหน่วยงานของภาครัฐ ไม่ว่าโรงเรียน เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ เพื่อจะนำไปเป็นอาหารว่างสำหรับการประชุมหรือหากมีแขกบ้านเมืองมาเยือน หรือบางครั้งก็มีออเดอร์มาจากเชียงใหม่กันด้วย หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนอำเภอแม่สะเรียง สามารถแวะไปอุดหนุนลิ้มลองขนม เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่ากันได้เลย ร้านตั้งอยู่ตรงสี่แยกเทศบาลเมืองแม่สะเรียง หรือติดตามได้ที่เพจ แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า
ล่องเรือสาละวิน ชมทะเลหมอกสองแผ่นดินที่กลอเซโล มิติใหม่ท่องเที่ยวชายแดน สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน
พงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เล่าว่า หลายปีที่ผ่านมา รัฐได้ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และการท่องเที่ยวชายแดน เพราะมองว่าเป็นจุดเด่น และจุดแข็งของท้องถิ่น ไม่ว่าจะในเรื่องของการล่องเรือชมความสวยงามของแม่น้ำสาละวินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้งสองฟากฝั่งของแม่น้ำไปจนถึงการค้าชายแดนที่แม่สามแลบ
“‘แม่น้ำสาละวิน’ เป็นเหมือนตัวเชื่อมให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากของคนสองฝั่งชายแดน เพราะผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งสาละวิน เขาก็จะมีเอกลักษณ์ของความเป็นอยู่ ก็จะเป็นจุดเด่นที่นำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และดึงดูดความสนใจของคนที่อยากมาเที่ยวชมบรรยากาศความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติกันมากขึ้น”
นอกจากนั้น แม่สามแลบ ยังเป็น ‘จุดผ่อนปรนการค้าชายแดน’ ด้วย ถ้าพูดถึงการเดินทางสัญจรจากในตัวเมืองมาถึงจุดท่าเรือแม่สามแลบ ถือว่าเป็นจุดที่ใกล้ที่สุดในของพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน การเดินทางก็สะดวก ปลอดภัย จึงทําให้การท่องเที่ยวในแถบนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
“กลอเซโล ถือว่าเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกที่งดงามแห่งใหม่ของอำเภอสบเมย ที่ในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวเดินมาพักกางเต็นท์ ชมความงามของทะเลหมอกเป็นจำนวนมาก ก็เกิดการให้บริการเช่ากางเต็นท์ จำหน่ายของที่ระลึก การรับจ้างขนส่งนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และชุมชนท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง”
‘กลอเซโล’ คืออีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของแม่ฮ่องสอน ที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติพากันไปเยือนไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และพงษ์พิพัฒน์ ก็มองว่า มิติท่องเที่ยวชายแดนนี้จะช่วยหนุนเสริมในเรื่องการสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ เพราะทุกๆ ปี จะมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวที่นี่เยอะมาก ส่วนใหญ่จะอยากมาสัมผัสพื้นที่ใหม่ๆ ที่มีความอุดมเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ
ห้วยปูแกง ท่องเที่ยวชายแดน ชาติพันธุ์กะยัน เน้นวิถีชุมชน ประเพณี วัฒนธรรมและโฮมสเตย์
บ้านห้วยปูแกง หมู่บ้านชาวกะยันหรือที่หลายคนเรียกกันในชื่อ กะเหรี่ยงคอยาว เป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ เป็นส่วนหนึ่งการท่องเที่ยวชายแดน ที่เน้นวิถีชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรมชองชาติพันธุ์กะยัน
สร้อยแก้ว คำมาลา เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ชาวกะยันพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เธอเล่าว่า ความน่าสนใจของชุมชนนี้ คือกะเหรี่ยงคอยาว ที่กลายเป็นภาพจำของพื้นที่แห่งนี้ จนคนเข้าใจไปว่าพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มีรากเหง้าดั้งเดิมอยู่ที่นี่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามประวัติศาสตร์ พี่น้องชาวกะยัน มีรากเหง้าอยู่ที่รัฐกะเรนนีของเมียนมา แต่อพยพมาอยู่แม่ฮ่องสอน เพราะปัญหาจากสงครามการเมือง
“พวกเราทุกคนล้วนแต่มีบรรพบุรุษที่ย้ายถิ่นฐานมาตลอดอยู่แล้ว พี่น้องห้วยปูแกงส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชน ที่ทํากินก็มีไม่เยอะ แล้วพื้นฐานก็ยากจน เลยต้องอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันก็ไม่พอ จนมาเจอโครงการแผนสื่อศิลปะวัฒนธรรมของ สสส. เขาก็มาร่วมสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ให้ชาวบ้านที่นี่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ก็คือทำควบคู่กันไปทั้งการท่องเที่ยวชุมชนด้วย แล้วก็สร้างรายได้จากสินค้าผลิตภัณฑ์ของเขาไปด้วย”
สร้อยแก้ว เล่าอีกว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะจดจำชาวกะยันว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีผู้หญิงสวมห่วงทองเหลืองใส่คอยาวๆ โดยที่ไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีหรือวัฒนธรรมของเขามากนัก เพราะจริงๆ แล้วชาวกระยันมีวัฒนธรรมด้านดนตรีที่ไพเราะมาก นอกจากนั้นยังมีอาหารที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง น้ำพริกกะยัน ที่ใครได้ทานแล้วก็มักจะติดใจ
สร้อยแก้ว ย้ำว่า แม่ฮ่องสอนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย และอุปนิสัยที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันไป แต่สิ่งสําคัญที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกันหมดเลยก็คือ ทุกคนค่อนข้างจิตใจดี มีอัธยาศัยไมตรีดี คนแม่ฮ่องสอนค่อนข้างยิ้มแย้มแล้วก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
“เราก็อยากเชิญชวนทุกคนมาเที่ยวแม่ฮ่องสอนกันเยอะๆ เพราะว่าแม่ฮ่องสอนนั้นน่าเที่ยวทุกฤดูเลย อยากให้ทุกคนได้ลองเที่ยวชมชุมชนต่างๆ ในแต่ละอำเภอของแม่ฮ่องสอน เพราะมันสามารถช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนได้ด้วย”
ทางออกของท้องถิ่น ถึงความหวังของคนแม่ฮ่องสอน
ด้าน ชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก็ได้เน้นการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาอย่างต่อเนื่อง และยังได้แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีแนวทางสำคัญด้านการพัฒนาคนและสังคม โดยจะเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล เช่น โครงการ “ถนนดิจิทัล” ที่ช่วยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการศึกษาออนไลน์ จัดตั้งเวทีสานฝันเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะ
ในด้านการสร้างรายได้และพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็จะสนับสนุนอาชีพและการสร้างรายได้ในชุมชน เช่น การเกษตรเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวชุมชน และงานหัตถกรรมท้องถิ่น จัดตั้งโครงการ “โคบาลคืนถิ่น” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ปาย ปางอุ๋ง และแม่สะเรียง เป็นต้น
ในเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อวางแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ โดยใช้ฐานข้อมูล “TPMAP” (Thai People Map and Analytics Platform) เพื่อติดตามและวางแผนแก้ปัญหาความยากจนอย่างแม่นยำ
รวมไปถึงส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมไปถึงการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับชาติ เช่น การเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการพื้นฐาน และเน้นการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ด้วยแนวทางเหล่านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นย้ำว่า มีเป้าหมายในการลดอัตราความยากจนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
ซึ่งเราก็หวังว่า ในอนาคตของแม่ฮ่องสอน จะเป็นไปเหมือนที่คนคาดหวัง
เหมือนกับ สร้อยแก้ว คำมาลา ที่บอกย้ำเอาไว้อย่างหนักแน่นและจริงจัง…
“เราในฐานะคนแม่ฮ่องสอนคนหนึ่งที่มีความรักและผูกพันกับบ้านเกิด ก็อยากให้ทุกคนในบ้านเมืองนี้มีความสุข อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้ อยากให้การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่อยากให้มันกระจุกที่ใดที่หนึ่ง มีการเฉลี่ยรายได้ให้ทั่วถึงทุกๆ คน รวมถึงเป็นจังหวัดที่มีการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนตลอดไป”
'ภู เชียงดาว' เป็นนามปากกาของ 'องอาจ เดชา' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner